คำคมที่คลายความคมไปเสียแล้ว: บทเรียนจากเบอร์ลิน

คำคมที่คลายความคมไปเสียแล้ว: บทเรียนจากเบอร์ลิน

concert

                                            บน: Concertgebouw  Orchestra

                                            ล่าง: Bayerisches Rundfunk Symphonieorchester


เจตนา นาควัชระ

                                                                      เบอร์ลิน 9 กันยายน 2556 

             ผมเคยอ้างคำคมเหล่านี้ไว้ในงานเขียนหลายชิ้น และก็มีเพื่อนร่วมงานหลายคนที่เห็นด้วยกับคำคมชุดนี้ และนำไปอ้างกันต่อๆไป คำคมชุดแรกว่าด้วยเสียงของวงดนตรี “เสียงของวงดนตรีฟิลาเดลเฟียก็คือผมเอง” (The Philadelphia sound — it’s me.) ผู้พูดก็คือ ยูจีน ออร์มันดี (Eugene Ormandy: 1899-1985) นักไวโอลินและวาทยกรชาวฮังกาเรียนซึ่งย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และรับตำแหน่งวาทยกรประจำวง PhiladelphiaOrchestra เป็นเวลานานถึง 44 ปี ระบบดั้งเดิมของวาทยกรประจำ ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆกันเช่น Chief Conductor, Conductor-in-Chief, Music Director, Artistic Director, General Music Director (ตามภาษาเยอรมันว่า Generalmusikdirektor) อยู่ประจำกับวงจริงๆ ในแต่ละปีจะกำกับวงหลายสิบครั้งในรายการที่หลากหลาย ใกล้ชิดกับนักดนตรีทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นองค์คณะ รู้จุดอ่อน-จุดแข็งของพวกเขา สามารถที่จะปรับแก้ปรับแต่งให้ได้คุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นก็มักจะเปิดโอกาสให้วงได้บรรเลงกับวาทยกรรับเชิญอยู่เป็นประจำ เพื่อที่นักดนตรีจะได้รับแรงกระตุ้นจากวาทยกรอื่นๆ ที่มีวิธีการบรรเลงและการตีความที่แตกต่างออกไป เป็นการสร้างความมั่งคั่งทางดุริยางคศิลป์ให้แก่นักดนตรี ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าจะพูดถึงเสียงของวงแล้วละก็ย่อมหนีไม่พ้นการที่วงจะรับเอาบุคลิกภาพทางดนตรีของวาทยกรเข้ามาเป็นสมบัติของตน

          เสียงของวงดนตรีบางวงที่มีลักษณะเฉพาะเป็นสิ่งที่มีจริง ผมเองไม่เคยได้มีโอกาสฟังวงดนตรี  ฟิลาเดลเฟียเล่นสด แต่ผู้รู้ก็ยืนยันเรื่องนี้มาตลอด ผมมีประสบการณ์ที่เทียบเคียงกันได้กับวง ฮัลเล (Hallé Orchestra) ของเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ซึ่งมีเซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลี (Sir John Barbirolli: 1899-1970) นักดนตรีชาวอังกฤษเชื้อสายอิตาเลียนเป็นวาทยกรประจำ เสียงของวง ฮัลเล ออกทางหวานแต่บาง ไม่หนักและก้องกังวานเช่นวงเยอรมัน วาทยกรชาวอังกฤษรุ่นพี่ เซอร์ โธมัส บีแชม (Sir Thomas Beecham: 1879-1961) กล่าวถึงบาร์บิรอลลี เมื่อเขากลับมารับตำแหน่งที่เมืองแมนเชสเตอร์ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า “จอห์นได้ปรับวงฮัลเลให้เป็นวงดนตรีเชมเบอร์ที่ดีที่สุดของประเทศ” “John has turned the Hallé into the best chamber orchestra in the country.” ซึ่งความจริงเซอร์โธมัสจงใจตำหนิว่าวง “แผ่ว” ลงไป ทั้งนี้เพราะวงดนตรีวงนี้ ผู้ก่อตั้งก็เป็นชาวเยอรมันชื่อ เซอร์ ชาร์ลส์ ฮัลเล (Sir Charles Hallé: 1819-1895) และวาทยกรคนต่อมาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่วงมากก็คือ ศิษย์เอกของวากเนอร์ ชื่อ ฮันส์ ริชเตอร์ (Hans Richter:1843-1916) แต่การที่เซอร์โธมัสนำคำว่า chamber orchestra มาใช้กับวงฮัลเลนั้นกลับเป็นการยกย่องทั้งวาทยกรและทั้งวงดนตรี เพราะว่าเสียงของวงเป็นเช่นนั้นจริงๆ โปรงใส ละเมียด และพรักพร้อม แม้เวลาเล่นเต็มวงจะใช้นักดนตรีถึง 80-90 คน แต่เสียงก็ยังคงความโดดเด่นของวงประเภทเชมเบอร์อยู่ เซอร์จอห์นไม่เคยกล่าว่า “The Hallé Sound — it’s me.” แต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมทึ่งมากกับบุคลิกภาพอันเกลียวกลมระหว่างวาทยกรกับนักดนตรี โปรแกรมของวงหลากหลายมาก งานที่ผมได้ฟังที่เบอร์ลินมาเมื่อกี่วันมานี้ ผมก็เคยได้ฟังมาแล้วที่แมนเชสเตอร์

          วาทยกรที่เป็น “เจ้าของเสียง” ของวง ต้องเป็นวาทยกรประจำวงจริงๆ มิใช่เพียงแต่ให้ยืมป้ายชื่อมาแขวนไว้เป็นยันต์กันผีอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน แล้วตัววาทยกรก็บินว่อนไปทำกับวงทั่วโลก หาชื่อเสียง (และหาเงิน) ให้กับตัวเอง ที่ว่าเป็นวาทยกรประจำนั้น อาจจะกำกับวงปีละ 10-12 ครั้ง เท่านั้นก็ถือว่ามากพอแล้ว เสียงของวงจะสะท้อนบุคลิกภาพทางดนตรีของวาทยกรได้อย่างไร

          เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ผมได้ฟังวงคอนแซร์ตเกอเบาว์จากอัมสเตอร์ดัม (The Royal Concertgebouw Orchestra Amsterdam) ซึ่งในครั้งนี้กำกับวงโดยวาทยกรรับเชิญชาวอิตาเลียน       ดานิแอลล์ กัตตี (Daniele Gatti) (ผมได้เขียนถึงวงดนตรีวงนี้ไว้โดยพิสดารแล้วในบทความชื่อ “The Concertgebouw Is  the Real Thing” ลงในเว็บไซต์นี้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555) วาทยกรประจำวงคือ มารีสส์ ยานซันส์ (Mariss Jansons) ครั้งนี้เขามาเบอร์ลินกับวงดนตรีอื่น คือ วงซิมโฟนีประจำสถานีวิทยุบาวาเรีย (Bavarian Radio Symphony Orchestra) ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งวาทยกรประจำเช่นกัน ในโลกสมัยใหม่ผู้ยิ่งใหญ่สามารถที่จะ “กินเมือง” ได้พร้อมกันหลายเมือง วงจากสถานีวิทยุบาวาเรียแสดงที่โรง ฟิลฮาร์โมนี (Philharmonie) เช่นกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ต้องกล่าวว่ายานซันไม่แน่จริง ถ้าแน่จริงแล้วละก็ควรจะทำหน้าที่ประจำให้กับวงดนตรีทั้ง 2 วงไปเลยในช่วงห่างกัน 2 วัน จะได้เห็นว่า วงดนตรีทั้งสองเสียงคล้ายกันหรือไม่อย่างไร เพราะมีวาทยกรประจำวงคนเดียวกัน

          ความจริงมีอยู่ว่าวงดนตรีทั้ง 2  วง เสียงต่างกันมาก วงคอนแซร์ตเกอเบาว์ เสียงแน่น ก้อง กระชับ หลากสีสัน วงดนตรีวิทยุบาวาเรียเสียงค่อนข้างกร้าน ขาดเอกภาพ ไม่มีความหลากหลายในด้านของสีสันนัก กล่าวอย่างชาวบ้านก็คือ วงดนตรีสองวงนี้อยู่คนละระดับเลยทีเดียว นักวิจารณ์ดนตรีชื่อ   เคลาส์ ไกเทล (Klaus Geitel) ให้สัมภาษณ์ผมไว้เมื่อ 8 ปีก่อนว่า ในบรรดาวาทยกรของยุคใหม่ ยานซันส์อยู่ในระดับแนวหน้า ผมคิดว่าเขากำกับวงคอนแซร์ตเกอเบาว์เมื่อปีที่แล้วได้ผลคนละชั้นกันเลยกับการบรรเลงของวงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรีย นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดมากว่าวาทยกรระดับแนวหน้าของโลก (?) ไม่สามารถยกระดับของวงดนตรีที่ตนกำกับ (อยู่เป็นประจำ?) ขึ้นมาได้ ผมมีวิเดโอการซ้อมของวงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรียกับวาทยกรรับเชิญชาวอิตาเลียน ริกการ์โด มุติ (Riccardo Muti) ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่า วงดนตรีวงนี้ยังอ่อยด้อย แม้แต่ในระดับของเทคนิค เครื่องลมทองเหลืองเพี้ยนบ่อยครั้ง จนถึงกับมุติต้องให้กลุ่มนี้เป่าให้เขาฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งกว่าจะหายเพี้ยน (การแสดงเมื่อคืนวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาเดียวกัน) มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มุติอารมณ์เสีย ถึงกับอุทานออกมาว่า “นี่มันระดับโรงเรียนเราดีๆนี่เอง” คือเขาต้องมาสอนนักดนตรีอาชีพราวกับสอนนักเรียน ผมเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมของนครมิวนิค ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินกิจการของวงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรียอยู่ด้วย เธอกล่าวกับผมด้วยความภาคภูมิใจว่า  “เราไม่ลังเลที่จะหาวาทยกรระดับโลกมากำกับวงดนตรีของเรา เท่าไหร่ก็เท่ากัน” ในตอนนั้นเพิ่งจะเซ็นสัญญากับลอริน มาแซล (Lorin Maazel) เวลาผ่านไปร่วมทศวรรษแล้ว วงก็ยังอยู่ในระดับเดิม วาทยกรประจำที่ไม่ประจำจริงๆ ทำอะไรไม่ได้มากนักหรอก ถ้าเขามาถามผมว่า จะหาใครดีมาทำหน้าที่ต่อจาก มาริสส์ ยานซันส์ ผมจะตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า อิโคตาโร ยาซากิ (Ikotaro Yazaki) ซึ่งสามารถจะทำให้นักเรียนดนตรีของไทยเล่นได้ราวกับนักดนตรีอาชีพเพียงช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์

          คำคมชุดใหม่ที่ผมกำลังจะเสนอก็คือ “The Bavarian Sound – it’s the musicians’ sound” และในทำนองเดียวกัน “The Concertgebouw Sound – it’s the musicians’ sound” วาทยกรประจำวงมิได้มีอิทธิพลอันใด เขาเพียงแต่ทำหน้าที่เท่ากับ วาทยกรรับเชิญที่ได้รับเชิญบ่อยครั้ง และวาทยกรรับเชิญที่หลักแหลมพอที่จะใช้ความสามารถที่มีอยู่แล้วของนักดนตรีให้เป็นประโยชน์ ก็สามารถสร้างงานที่โดดเด่นเป็นพิเศษขึ้นมาได้ดังเช่น Daniele Gatti ในการแสดงเมื่อคืนวันที่ 4 กันยายน รายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมดนตรีประจำปี ซึ่งเน้นดนตรีสมัยใหม่ เมื่อปีที่แล้วเน้นดนตรีอเมริกันในศตวรรษที่ 20 ปีนี้เป็นดนตรียุโรปยุคใหม่ โดยเฉพาะ วิทอลด์ ลุทอซวัฟสกี(Witold Lutosławski:1913-1994 )คีตกวีท่านนี้ใช้ชีวิตอยู่ในยุคคอมมิวนิสต์มีอำนาจ และก็ได้ผ่านความโหดเหี้ยมของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาด้วย ดนตรีของท่านจึงเป็นทั้งการแสดงของอารมณ์ที่ถูกกดดัน ในขณะเดียวกันก็มุ่งหาแสงสว่างจากอุตรภาพไปพร้อมกันด้วย ลุทอซวัฟสกีเปิดใจออกรับแรงกระตุ้นจากดนตรีทุกกระแส รวมไปถึงนวัตกรรมของ อาร์โนลด์ เชินแบร์ก (Arnold Schönberg: 1874-1951) เขาเป็นที่พึ่งให้กับนักดนตรีรุ่นใหม่ ด้วยการสร้างงานชิ้นใหม่ให้อยู่เสมอตามที่ได้รับการขอร้อง เช่น สาวงามชาวเยอรมัน อันเนอ โซฟี มุตเตอร์ (Anne-Sophie Mutter) ก็ไปขอให้เขาเขียนไวโอลินคอนแชร์โตให้กับเธอ (ซึ่งเธอก็นำมาบรรเลงในมหกรรมครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ผมเดินทางมาถึงช้าไป 1 วัน จึงไม่ได้มีโอกาสฟัง)

          รายการในคืนวันที่ 4 กันยายน เริ่มด้วยงานที่ตั้งชื่อไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Musique funèbre pour orchestre à cordes in Memoriam Béla Bartók (1958)  หมายถึงดนตรีมรณพิธีสำหรับวงเครื่องสาย เพื่อรำลึกถึง เบลา บาร์ทอค ถึงสำเนียงจะเป็นสมัยใหม่ แต่ใครก็ตามที่คุ้นกับการฟังดนตรีคลาสสิกจะไม่รู้สึกว่าแปร่งหูเลย เป็นดนตรีที่ชวนให้เรามีอารมณ์ร่วม สัญลักษณ์บางตอนที่ใช้ แม้แต่ส่วนที่เป็นบันไดเสียง และชื่อของกระบวนต่างๆ มีนัยแฝงไว้ ว่าผู้แต่งพยายามจะแสวงหาไออุ่นของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางระบบการเมืองที่ห่างไกลจากความเป็นมนุษย์มาก งานนี้ใช้เครื่องสายแค่เพียงอย่างเดียว และผมก็ต้องสารภาพไว้เป็นหลักฐานเลยว่า ยังไม่เคยฟังวงดนตรีวงใดที่สร้างความหลากหลาย สีสัน ความละเมียด และความลึกซึ้งของเสียงได้เท่ากับกลุ่มเครื่องสายของวงคอนแซร์ทเกอเบาว์ ในการแสดงครั้งนี้เลย ผมไม่มีความรู้ทางด้านดนตรีพอและไม่มีโน้ตมาเปรียบเทียบก็เลยไม่อาจทราบได้ว่า คีตกวีเรียกร้องความหลากหลายมากถึงเพียงนี้ หรือวงสนองความต้องการของผู้แต่งได้ละเมียดกว่าที่ต้องการเสียด้วยซ้ำ ดนตรีชิ้นนี้น่าจะผลัก Serenade for Strings ของไชคอฟสกีตกเวทีไปเสียตั้งนานแล้ว น่าเสียดายที่วงดนตรีส่วนใหญ่ (หรือวาทยกรส่วนใหญ่) ไม่รู้จักดุริยางคนิพนธ์บทนี้ เราควรจะได้มีโอกาสฟังบ่อยครั้งกว่านี้ แต่จะมีวงดนตรีที่ทาบได้กับคอนแซร์ทเกอเบาว์สักกี่วงในโลกของดนตรีตะวันตก

          งานชิ้นต่อไปเป็นปัญหาอย่างแน่นอน คือเปียนโนคอนแชร์โตหมายเลข 3 ของ เบลา บาร์ทอค (Béla Bartók: 1881-1945) ทั้งนี้เพราะผู้แต่งถึงแก่กรรมเสียก่อนที่จะแต่งจบ แม้ว่าจะเหลือส่วนที่ยังแต่งไม่จบอยู่เพียงน้อยนิด แต่บาร์ทอคไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบงานทั้งหมดโดยถ้วนถี่ ดังที่ท่านทำกับงานทุกชิ้นของท่าน ปัญหาใหญ่ที่สุดคือความสมดุล (balance) ระหว่างวงดนตรีกับเปียโน บาร์ทอคใช้วงขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องเคาะจังหวะหลากหลายพร้อมกันไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็เขียนส่วนของเปียโนให้เล่นอย่างละเมียด สุขุม ผลที่ออกมาก็คือบางตอนเปียโนถูกกลบ นักวิจารณ์ของมหานครเบอร์ลินได้ทีก็เลยถือโอกาสเล่นงานวาทยกรรับเชิญชาวอิตาเลียนเสียเลยว่ากำกับวงไม่เป็นหรือไม่ดี สำหรับนักแสดงเดี่ยวชาวอิสราเอล (เกิดที่ประเทศอุซเบกิสถาน) เยฟิม บรอนฟ์มัน (Yefim Bronfman) นั้นมีความคิดเกี่ยวกับบาร์ทอค โดยเฉพาะงานช่วงท้ายของท่าน (เรียกว่า late Bártók) อย่างชัดเจนว่าต้องการจะไปทางลึก คือเล่นให้พลิ้ว เล่นให้ซึ้ง วงจะตามได้หรือไม่ฉันไม่รับรู้ ซึ่งวงก็ตามได้บ้างไม่ได้บ้าง อันมิใช่การขาดความจัดเจนในทางเทคนิคของวงและของวาทยกรอย่างแน่นอน แต่น่าจะเป็นเรื่องของตัวโน้ตที่ยังไม่ลงตัว งานชิ้นนี้เป็นประดุจพินัยกรรมที่บาร์ทอคมอบให้กับโลกดนตรี มีการย้อนหลังไปเชื่อมโยงกับงานคลาสสิกหลายสมัย รวมถึงเบโธเฟนด้วย ไม่มีอะไรที่บาร์ทอคจะต้องโอ้อวดอีกแล้ว เพียงแต่จะบอกว่าข้าพเจ้าขอเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีอันยิ่งใหญ่ของดนตรีตะวันตก ถ้าเขียนเป็นโซนาตาอาจจะออกมาชัดเจนกว่านี้ก็ได้

          งานชิ้นสุดท้ายของรายการเป็นที่รู้จักกันดี คือ ดนตรีจากบัลเลต์ Romeo and Juliet ของ     เซอร์แจ โพรโคฟิแอฟ (Sergei Prokofief: 1891-1953) แทนที่จะเลือกตอนที่น่าตื่นเต้นมาแสดง วาทยกรกัตติรู้ดีว่ามีวงดนตรีชั้นหนึ่งอยู่ในมือ จึงตัดสินใจเน้นไปในตอนที่บทบาทของความรักโดดเด่น หมายความว่าต้องการจะแสดงออกถึงอารมณ์อันลึกซึ้งแบบโรแมนติก ซึ่งวงคอนแซร์ทเกอเบาว์ก็ตอบสนองได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ถูกใจนักวิจารณ์แห่งกรุงเบอร์ลิน ซึ่งตำหนิการแสดงของวงว่ามีลักษณะของสิ่งที่ไร้รสนิยม (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Kitsch)  คนดู-คนฟัง (ซึ่งไม่เต็มโรง เพราะคนเบอร์ลินจะฟังเฉพาะวง Berlin Philharmonic ของตัว โรคร้ายนี้ไม่มีวันจะรักษาให้หายได้) กลับแสดงความพึงพอใจ ลุกขึ้นยืนปรบมือ (ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า standing ovation) นานมาก แสดงว่ามหาชนผู้สนใจดนตรีอาจจะฟังดนตรีได้โดยปราศจากอคติ ในขณะที่นักวิจารณ์กลุ่มที่ผมกล่าวถึงนี้มีอคติอย่างแน่นอน และอาจจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่ก็ได้ ซึ่งคนนอกอย่างผมไม่มีวันที่จะเข้าถึงได้

          สำหรับรายการที่ 2 นั้น ผู้จัดรายการเลือกผลงานของ ลุตทอซวัฟสกี และบาร์ทอคที่มีชื่อเดียวกันว่า Concerto for Orchestra มาแสดงในคอนเสิร์ตเดียวกัน งานของบาร์ทอคเขียนขึ้นในช่วงปลายชีวิต ในปี 1941-1943 เมื่อบาร์ทอคต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาทั้งป่วยทั้งยากจนข้นแค้น มีเพื่อนนักดนตรีด้วยกันเพียง 2 คน ที่ช่วยเปิดทางให้บาร์ทอคมีรายได้จากการสร้างงานชิ้นใหม่ขึ้นมา คนแรกคือนักไวโอลิน เยฮูดิ เมนูฮิน (Yehudi Menuhin: 1916-1999 ต่อมาถือสัญชาติอังกฤษและได้รับแต่งตั้งให้เป็น Lord) ซึ่งกล่าวไว้อย่างเปิดเผยว่า ไม่ได้เรียกร้องให้บาร์ทอคเขียนงานขนาดใหญ่และสลับซับซ้อนอะไร เพราะรู้ว่าสุขภาพไม่ดี แต่ที่ไหนได้ บาร์ทอคเขียนงานเสร็จออกมาในรูป Sonata for Solo Violin ซึ่งกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่ยังสร้างความประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ คนที่ 2 คือวาทยกรชาวรัสเซีย เซอร์แจ คุสเซวิทสกี (Sergei Koussevitzky: 1894-1951) วาทยกรประจำวง Boston Symphony Orchestra ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันจนมาถึงปัจจุบันว่าเป็นหนึ่งในวงดนตรีชั้นยอด 5 วง ของอเมริกา บาร์ทอคตอบสนองด้วยการแต่งคอนแชร์โตสำหรับวงออรเครสตรา  คือให้วงดนตรีทั้งวงบรรเลงดนตรีในระดับที่โดดเด่นเท่ากับนักแสดงเดี่ยว (soloists) เลยทีเดียว ดุริยางคนิพนธ์บทนี้มิได้มุ่งเน้นแต่จะแสดงให้เห็นศักยภาพของวงดนตรีซิมโฟนียุคใหม่ แต่เนื้อหามีทั้งความไพเราะ ความลึกซึ้งทางอารมณ์และความน่าตื่นเต้น ผมเองเคยฟังวง  Hallé Orchestra  แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ บรรเลงงานชิ้นนี้ 2 ปีต่อกัน นั่นก็หลายทศวรรษมาแล้ว การได้ฟังวงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรียก็ยิ่งซาบซึ้งกับงานยิ่งขึ้น แปลกที่ว่างานชิ้นนี้หลับตาฟังได้รสไม่น้อยไปกว่าลืมตาดู นักดนตรีนั้นต้องต่อสู้กับความยากของตัวงานอย่างแน่นอน ถึงอย่างไรก็ตามผมไม่คิดว่าวงดนตรีวงนี้ถนัดการบรรเลงคีตนิพนธ์สมัยใหม่นัก มองไปที่วงแล้วไม่เห็นว่านักดนตรีเล่นด้วยความหฤหรรษ์ ไม่ว่าวาทยกรจะกำกับวงไปในแนวทางใด

          การนำงานชื่อเดียวกันของ ลุทอซวัฟสกีมาบรรจุไว้ในรายการเดียวกับงานของบาร์ทอคมีตรรกะที่รับฟังได้ แต่พอได้สัมผัสกับของจริงแล้ว ผมก็ต้องลงความเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับ ลุทอซวัฟสกี เพราะฝีมือในการแต่งเพลงของเขาไม่อาจทาบได้กับบาร์ทอค (ซึ่งลุทอซวัฟสกียกย่องไว้ในระดับครูของเขาอยู่แล้ว) เท่ากับจับเขามาขึ้นเขียง ไม่ว่าจะบรรเลงก่อน หรือหลังงานของบาร์ทอค ก็ได้ผลเท่ากัน ฝ่ายจัดการแยบยลพอควรทีเดียวที่ทำให้วงบรรเลงผลงานของลุทอซวัฟสกีก่อน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่างานของเขายังอยู่ในระดับของการทดลอง มีการใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลาย โดยเฉพาะเครื่องเคาะจังหวะ นักวิชาการที่อาสาเขียนสูจิบัตรให้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะพรรณนาถึงเบื้องหลังชีวิตของการต่อสู้กับทรรัฐทั้งฝ่ายโซเวียตและฝ่ายโปแลนด์เอง งานนี้จึงสะท้อนให้เห็นความกดดันและความพยายามของศิลปินที่จะปลดปล่อยโลกของศิลปะจากเผด็จการรูปแบบต่างๆ ลุทอซวัฟสกีเดินตามบาร์ทอคในการนำดนตรีของชาวบ้านมาสอดใส่ไว้ในรูปแบบที่คงแก่เรียนไม่น้อยเลย จะคาดหวังให้วงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรียนำองค์ประกอบอันหลากหลายดังที่กล่าวมานี้มาเผยแสดงให้เต็มที่ ก็ดูจะเป็นการเรียกร้องที่เกินพอดีไป แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า มีวงดนตรีอื่นที่ทำได้ อันได้แก่วง Philharmonia Orchestra จาก London  ซึ่งผมจะเขียนถึงในคราวต่อไป

          ประเด็นที่ยังค้างอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือคำคมของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler: 1860-1911) ที่ว่า “วงดนตรีที่เลวนั้นไม่มีหรอก มีแต่วาทยกรที่เลว” มาห์เลอร์เป็นทั้งคีตกวี ทั้งวาทยกรระดับแนวหน้าของโลกตะวันตก ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก โดยเฉพาะช่วงรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงอุปรากรแห่งกรุงเวียนนา คงได้สัมผัสทั้งวาทยกรที่เรียกว่าเป็น “ของจริง” และวาทยกรประเถท “ของปลอม” มามาก ดังที่กล่าวมาในตอนต้นของบทความนี้ ยุคสมัยที่วาทยกรประจำยังทำงานประจำจริงๆ นั้น วาทยกรย่อมมีบทบาทสูงมากในการสร้างอิทธิพลต่อวง (ดังที่ผมได้อภิปรายในส่วนที่เกี่ยวกับ “เสียง” ของวงมาแล้วข้างต้น) ในเมื่อโลกปัจจุบันวาทยกรอยู่กับที่นานๆ ไม่ได้ อิทธิพลของเขาที่มีต่อวงดนตรีก็ลดถอยลงไปอย่างแน่นอน วาทยกร “มืออาชีพ” ในปัจจุบัน ถูกบีบบังคับ (โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน) ให้นำวงออกแสดงให้ได้หลังการซ้อมเพียงครั้งเดียว กลเม็ดเด็ดพรายในการหลอกล่อให้ผู้ฟังหลงตามจึงเป็นกลยุทธแบบใหม่ของวาทยกร รวมทั้งการแสดงท่าทางที่ชวนชมบนเวทีด้วย วาทยกรจะดีหรือเลวในขณะนี้วัดยากมาก ต่อให้เก่งแสนเก่ง แต่ถ้าได้โอกาสซ้อมเพียงครั้งเดียว ก็ไม่สามารถที่จะสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ได้ คำคมของมาห์เลอร์จึงหมดความหมายไปมากแล้ว

          ในอีกด้านหนึ่ง การศึกษาดนตรีมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างแน่นอน จากบารมีที่สั่งสมมาเป็นศตวรรษในการเล่นเครื่องดนตรี การแข่งขันเข้าทำงานก็รุนแรงขึ้น การจะได้ตำแหน่งในวงดนตรีชั้นนำนั้น ผู้ที่มีฝีมือระดับแนวหน้าเท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ วงดนตรีส่วนใหญ่เลือกนักดนตรีจากทั่วโลก นักดนตรีชาวญี่ปุ่นที่ผ่านการทดสอบเข้าไปแสดงในวงดีๆมีอยู่จำนวนไม่น้อย บางคนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าวง (concertmaster) เสียด้วยซ้ำ วงดนตรีที่ใช้นักดนตรีจาก“สำนัก”เดียวกันเกือบทั้งหมด เหลืออยู่เพียงวงเดียวคือ Vienna Philharmonic Orchestra สำหรับวงดนตรีอื่นๆ ถ้านักดนตรีเกาะตัวกันดี เวลาซ้อมและเล่นตั้งใจฟังซึ่งกันและกัน หรือหาโอกาสแตกวงออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อเล่นดนตรีแชมเบอร์ (chamber music) ซึ่งไม่ต้องพึ่งวาทยกร พวกเขาก็จะรักษามาตรฐานร่วมของวงเอาไว้ได้ วง          คอนแซร์ทเกอเบาว์เป็นตัวอย่างที่น่าทึ่ง ถึงจะเปลี่ยนวาทยกรไปกี่คน เสียงของวงก็ไม่เปลี่ยนตาม สำหรับวาทยกรไม่โดดเด่นนั้น พวกนักดนตรีก็อาจจะสร้างกุศลด้วยการช่วยพยุงให้การแสดงดำเนินไปได้ด้วยดี

          ริกคาร์โด มุติ กล่าวไว้ในการซ้อมกับวงดนตรีสถานีวิทยุบาวาเรียว่า วาทยกรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับตัวเองมากเกินไป รวมทั้งสร้างภาพให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะถ้ามีการถ่ายทอดโทรทัศน์ (ผมเดาว่าเขามีภาพของวาทยกรรุ่นอาวุโสนามกระเดื่องคนหนึ่งที่แสดงความซึ้งด้วยการหลับตากำกับวง!) เขาถึงกับพูดสิ่งที่ไม่น่าฟังว่า “เราคือเผ่าพันธุ์ที่ควรจะสูญจากโลกไปได้แล้ว เราทำอะไรที่งี่เง่าเอาไว้มาก” (We are the race that should disappear. We do a lot of stupid things.) ผมมาเบอร์ลินเพียงไม่กี่วันก็ได้อาหารทางความคิดอย่างเต็มอิ่มเลยทีเดียว

          มีหลายครั้งที่ผมอดคิดแทนคนเบอร์ลินไม่ได้ว่า ที่เขาไม่ได้ไปไกลกว่านี้ และไม่สามารถสร้างมาตรฐานเท่ากับยุคทองของพวกเขาเอง ในทศวรรษที่ 1920 ได้ ก็เป็นเพราะว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้วหลังสงครามโลก เขาตัดสินใจผิดที่เลือก แฮร์แบร์ท ฟอน คารายาน (Herbert von Karajan: 1908-1989) เป็นวาทยกรประจำวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก แทนที่จะเลือกอัจฉริยะชาวรูเมเนีย แซร์จู เซลิบิดาเค (Sergiu Calibidache: 1912-1996) ผู้ที่ช่วยกู้วงเอาไว้ไม่ให้ล่มสลายไปเมื่อตอนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง อะไรๆ มันดูจะเดินไปในทางที่ริคคาร์โด มุติกล่าวเองไว้ วาทยกรที่เริ่มต้นดีแต่ไปเสียคนกลางทางมีอยู่จำนวนไม่น้อย และสิ่งที่ทำให้เสียคน คือ ความโลภกับความหลง ใครเล่าจะกล้าเตือนยักษ์ใหญ่แห่งวงการดนตรี ในเมื่อพวกเขาก็ไม่เตือนกันเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *