เมื่อถูกฉีกออกจากบริบท ตัวบทก็หลงทาง หรือ เมื่อราซีนถูกกระทำโดยคณะละครเยอรมัน

เมื่อถูกฉีกออกจากบริบท  ตัวบทก็หลงทาง หรือ เมื่อราซีนถูกกระทำโดยคณะละครเยอรมัน

254_0s

เจตนา นาควัชระ

เบอร์ลิน 15 กันยายน 2556

     ใครก็ตามที่ได้เรียนวรรณคดีฝรั่งเศสยุคคลาสสิกมาย่อมจะต้องรู้ดีว่า ละครเรื่องแฟดร์ (Phèdre) ของ ฌอง  ราซีน (Jean Racine: 1639-1699)  คือยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งละครฝรั่งเศส  และก็ช่างเป็นฝรั่งเศสเสียจริงๆ  เพราะถ้านำไปแปลแล้วแสดงเป็นภาษาต่างประเทศจะเกิดอาเพศต่างๆ นานา  ที่พูดมาอย่างนี้มิใช่เป็นเรื่องของความเชื่อถือโชคลางอันใด  แต่ต้องการจะตอกย้ำว่างานวรรณกรรมบางเรื่องผูกติดอยู่กับบริบทต้นกำเนิดเสียจนทำให้คนต่างชาติจนปัญญา  แปลไปอ่านกันได้  และเรื่องแฟดร์นี้มหากวีเยอรมัน  ฟรีดริค  ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller) ก็ได้แปลเป็นภาษาเยอรมันเอาไว้  แม้ฝีมือขนาดนั้นก็ยังทำได้เพียงแค่ปรับงานของราซีนให้เป็นวรรณกรรมแปล  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในฐานะละครเวทีในเยอรมนี  มันเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก  เพราะในทางกลับกัน  งานของชิลเลอร์นั้นได้รับการนำไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง  มาริอา สจวต (Maria Stuart) นั้น  ตั้งแต่มีการนำออกแสดงเป็นพากย์ฝรั่งเศสเมื่อปี 1820  ก็กลายเป็นสมบัติของวงการละครฝรั่งเศสมาจนถึงปัจจุบัน  ผมเองได้ดูละครเรื่องนี้ของชิลเลอร์ที่โรงละครแห่งชาติฝรั่งเศส (ซึ่งรู้จักกันในนามของ Comédie Française)  ในราวต้นทศวรรษที่ 1960  และก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกอันใดเลยว่าเป็นของต่างแดนเข้ามาอยู่อย่างแกนๆ ในบริบทของวงการละครฝรั่งเศส  ในทางตรงข้ามผมประทับใจกับการแสดงครั้งนั้นราวกับเป็นงานของ ราซีน  หรือของคอร์ไนย์ (Pierre Corneille: 1606-1684) ก็ไม่ปาน

          การถ่ายทอดละครข้ามชาตินั้นมีประวัติของความสำเร็จไว้เป็นหลักฐานอยู่มาก  โดยเฉพาะกรณีของละครเชกสเปียร์  ซึ่งได้มาตุภูมิที่สองในเยอรมนีมาตั้งตแศควรรษที่ 18  คนเยอรมันดื่มด่ำกับงานของ
เชกสเปียร์เสียจนเรียกกวีชาวอังกฤษท่านนี้ว่า “เชกสเปียร์ของเรา” (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า
Unser Shakespeare แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Our Shakespeare) สำหรับงานละครของฝรั่งเศสขอฝรั่งเศสที่ถ่ายทอดข้ามชาติ  โดยเฉพาะข้ามแม่น้ำไรน์มายังดินแดนเยอรมันได้ก็เห็นจะมีแต่ละครชวนหัวบางเรื่องของโมลิแอร์ (Molière: 1622-1673) การจะหาคำตอบจากการ “นั่งเทียน” นั้น  เป็นไปไม่ได้แน่  ผมเองพอจะได้คำตอบอย่างเลาๆ จากการได้ไปชมละครเรื่อง แฟดร์เป็นภาษาเยอรมัน  ที่โรงละคร  Renaissance Theatre กรุงเบอร์ลิน  เมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน 2556 นี่เอง

          โรคระบาดที่ปราบเท่าไรก็ไม่หมดในหมู่ผู้กำกับการแสดงเยอรมันก็คือ  ไม่ว่าจะมีบทอะไรอยู่ในมือ  จะต้องทำให้บทนั้นเป็นเรื่องของสมัยปัจจุบันให้ได้  บางครั้งถึงกับเปลี่ยนบทไปเลย  เพราะไหนๆ ผู้แต่งก็ตายไปนานแล้ว (ในช่วง 50 ปี หลังจากมรณกรรมของแบร์ทอลท์ เบรชท์  ลูกสาวเขาใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ปรามพวกผู้กำกับการแสดงที่ตั้งใจจะเปลี่ยนบทของพ่อเธอ  ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเบรชท์ขึ้นมาในเยอรมนีตะวันตก)  นอกจากเรื่องการทำให้เป็นสมบัติของยุคเราแล้ว  ผู้กำกับการแสดงเยอรมันจะต้องสร้างนวัตกรรมที่ทำให้คนดูเกิดความตื่นเต้น  ถ้ารายการไหนสามารถทำให้คนดูส่วนหนึ่งโกรธ  จนถึงกับกระทืบเท้าเดินออกจากโรงละครไปได้ละก็  พวกเขาจะพออกพอใจเป็นอันมาก  และแสดงความยินดีกับตนเองว่าประสบความสำเร็จ  และก็จะมีกลุ่มนักวิจารณ์ที่เป็นพวกพ้องกันคอยเป็นลูกคู่หรือกองเชียร์ให้

          ในกรณีของ แฟดร์  ที่ผมได้ดูในครั้งนี้  ผู้กำกับการแสดงคือผู้ออกแบบฉาก  กระโดดเข้ามารับหน้าที่กำกับการแสดงแทนผู้กำกับการแสดงตัวจริงซึ่งมีความจำเป็น  (ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของโรงละคร Renaissance แห่งนี้)  ต้องถอนตัวไป  เขาใจไม่ถึงในเรื่องที่จะแปลงบท  เพราะบทของราซีนนั้นแปลงได้ยากมาก  ทุกบท  ทุกตอน  ทุกตัวอักษร  เป็นสิ่งที่กวีฝรั่งเศสคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง  ทบทวน  ตรวจทาน มาอย่างดีแล้ว  จึงกล้านำขึ้นเวทีแสดง  เพราะนักวิจารณ์ฝรั่งเศสในสมัยศตวรรษที่ 17 นั้น โหดเหี้ยมมาก  ยิ่งไปกว่านั้น  เขาก็เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ซึ่งโปรดละครของเขา (แต่ก็มีคนกระซิบกันว่า  ท่านทรงแสร้งทำโปรดปรานโศกนาฏกรรมไปอย่างนั้นเอง  แท้ที่จริงท่านโปรดละครชวนหัวของโมลิแอร์  โดยเฉพาะเรื่องที่มีการตีหัวกัน และเตะกันบ้าง!)  ราซีนจะทำงานโดยไม่ประณีตไม่ได้  ถ้าใครหาญจะเปลี่ยนบทก็เท่ากับฉีกบทละครทิ้งไปเลย  บทภาษาเยอรมันที่นำมาใช้เป็นบทที่แปลใหม่  โดย ซิมอน  แวร์เลอ (Simon Werle) ซึ่งแปลเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1985  เป็นบทที่ใช้ภาษาสมัยใหม่  แต่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์  ได้รับรางวัลงานแปลมาแล้วถึง 3 รางวัล   ถ้าเช่นนั้นจะสร้างนวัตกรรมอย่างไร  จะทำให้สมัยใหม่อย่างไร  ผู้กำกับการแสดง  ทอร์สตัน  ฟิเชอร์ (Torston Fischer)  พยายามหาทางออกด้วยวิธีต่างๆ

          วิธีการแรกคือ  ปรับบริบทให้เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญในยุคของเราเอง  เครื่องแต่งกายก็ปรับเป็นสมัยใหม่  เรียบๆ  กลางๆ  ทุกคนใส่สีดำ  ยกเว้นแฟดร์ใส่เสื้อสีขาว  นุ่งกางเกงสีดำ  (ที่ยอมให้แฟดร์แต่งกายด้วยสีขาวได้ครึ่งตัว  ก็คงต้องการจะบอกว่า  เธอไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด  เธอยังบริสุทธิ์อยู่  แม้จะเพียงครึ่งเดียวก็ตาม)  กิริยาท่าทางที่ใช้บนเวทีก็เป็นกิริยาของคนยุคใหม่ของเรา  ในตอนที่แฟดร์หลุดปากสารภาพรักกับลูกเลี้ยง ฮิปโปลิต (Hippolyte)  [ผมขอให้ชื่อตามต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส]  เธอมิได้เพียงจะเอ่ยวาจาฝากรักเท่านั้น  แต่เธอจู่โจมเข้าปล้ำชายหนุ่มเสียเลย  แถมยังปลดกระดุมเสื้อตรงหน้าอกของเธอเสียด้วย  (อย่างนี้เรียกว่า  ทำให้เป็นศตวรรษที่ 21!) ฮิปโปลิตในตอนต้นเรื่องหยอกล้อกับพี่เลี้ยงและครูของเขาคือ เตราแมน  (Théramène) ด้วยท่าทางของนักบาสเกตบอลอเมริกัน อิสแมน (Ismène) พี่เลี้ยงของเจ้าหญิง อะริซี (Aricie) พระธิดาของเจ้าอีกตระกูลหนึ่งซึ่งเป็นศัตรูกับพระบิดาของฮิปโปฮิตคือ เตเซ (Thésée) ผู้ซึ่งฮิปโปลิตหลงรักนั้น  เกิดรักเด็กในความดูแลของตัวด้วยอารมณ์ของเลสเบียน  และก็แสดงลีลาให้เห็นบนเวทีว่าเธอเป็นเลสเบียน (อย่างนี้เรียกว่าของแถม  เพราะไม่มีในบท)  กษัตริย์เตเซนั้นตามเรื่องเดิมของราซีน คือ วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มีประวัติอันเรืองรอง  ในการแสดงครั้งนี้ถูกลดรูปลงมาให้เป็นขี้ยา  ขึ้นเวทีมาครั้งแรกเหมือนกับคนที่ไม่ได้หลับได้นอนมาหลายคืน  แถมคงเพิ่งจะไปสูบหรือฉีดยาเสพติดมา

          นี่คือการทำให้ทันสมัย  นี่คือ  นวัตกรรม  ถ้าต้องการอย่างนี้ก็ควรจะเขียนบทใหม่เสีย  เพราะบทเก่าที่ผู้แปลยังคงพยายามรักษาเอาไว้ใช้ภาษาของชนชั้นสูง  ยังมีการใช้ราชาศัพท์ (แบบฝรั่ง) อยู่  เรื่องการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาเป็นสมัยใหม่นั้นเป็นปัญหาแน่  เพราะบทเขียนเอาไว้ว่าคนระดับเจ้าชาย เช่น
ฮิปโปลิต  เมื่ออยู่ในราชสำนักต้องเหน็บกระบี่ไว้ด้วย (เช่นเจ้านายของชวาต้องเหน็บกริช) ตามต้นฉบับ  เมื่อแฟดร์สารภาพรักไปแล้วและฮิปโปลิตไม่รับรัก  เธอก็ท้าให้เจ้าชายฆ่าเธอเสีย  เมื่อเจ้าชายไม่ตอบสนอง  เธอก็ตรงเข้าไปกระชากกระบี่จะมาแทงตัวตาย  ตรงนี้เป็นปัญหาเสียแล้ว  ผู้กำกับการแสดงไม่รู้จะทำอย่างไรดีก็เลยให้ฮิปโปลิตถือมีดติดตัวมาก่อนหน้านั้น  แล้วก็ผลุนผลันบันดาลโทสะ  เอามีดปักไว้ที่ข้างฝา  เพื่อที่แฟดร์จะได้ดึงมันมาประทุษร้ายตัวเอง (ดูแล้วเหนื่อยแทนผู้กำกับการแสดงและนักแสดงจริงๆ ที่จะต้องพูดตามบท  แต่ไม่เล่นตามบทดั้งเดิม)

          ในเมื่อลดระดับจากความสง่างามของราชสำนัก  เมื่อจำเป็นต้องสลัดอาภรณ์ที่ห่อหุ้มความเป็นเจ้าไปเสีย  (ทั้งที่เป็นความจริง และความเปรียบ)  แก่นเรื่องมันคือละครน้ำเน่าเราดีๆ นี่เอง  เพราะเมื่อมีข่าวว่า เตเซหายสาบสูญไปและคงเสียชีวิตไปแล้ว  ภรรยาม่ายเก็บความรู้สึกไว้ไม่ได้ก็เลยสารภาพรักกับลูกเลี้ยง  บังเอิญลูกเลี้ยงชายหนุ่มรูปงามมีคนรักแล้ว (ที่เป็นลูกศัตรู)  เมื่อเตเซไม่ตายจริงและกลับมา  พี่เลี้ยงของแฟดร์ คือ เออนอน (Œnone) ก็ปั้นเรื่องเท็จขึ้นมาเล่าให้เตเซฟังว่า  ฮิปโปลิตมาเกี้ยวพาแฟดร์  เตเซโกรธมากถึงกับสาบแช่ง (จริงๆ)  และขับไล่ฮิปโปลิต  ฮิปโปลิตออกจากวังไปไม่เท่าไรก็ไปพบกับสัตว์ประหลาด  ต่อสู้กับมัน  แต่พลาดพลั้งถูกม้าของตนเหยียบตาย  แฟดร์ก่อนจะตาย(ด้วยยาพิษ)  สารภาพทุกสิ่งทุกอย่างกับเตเซ  เรื่องจบลงตามรูปแบบโศฏนาฏกรรม  เตเซเหลือตัวตนเดียวก็ยอมรับอาริซีลูกของศัตรูมาเป็นลูกบุญธรรมของตัว  ถ้าผู้กำกับการแสดงได้มารับการฝึกอบรมจากสถานีโทรทัศน์บ้านเราเพียงระยะสั้น  เขาคงจะแปลงเรื่องของราซีนให้เป็นโศกนาฏกรรมของชาวบ้านได้ดีกว่านี้แน่

          ความเข้าใจผิดอย่างฉกรรจ์ของคณะละครก็คือ  การคิดว่าละครหรืองานศิลปะใดๆ ก็ตามสื่อความข้ามยุคสมัยได้  ถ้าฝ่ายผู้สร้างสร้างงานที่มีความเป็นสากล  คือเน้นเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก  ความปรารถนา  ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีอยู่  จากต้นทางไปสู่ปลายทาง  ไม่ว่าจะไกลแสนไกล  ไม่ว่าเวลาจะห่างกันมากเพียงใด  ลักษณะอันเป็นสากลก็จะคงอยู่  และก็จะสื่อความกับคนรุ่นใหม่ได้  จะสกัดเปลือกนอกออกเสีย  แล้วห่อหุ้มเสียใหม่ด้วยอาภรณ์ของยุคใหม่  อะไรๆ ก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น  แต่สิ่งที่ห่อหุ้มโศกนาฏกรรมเรื่อง แฟดร์  ของราซีน  ไม่ใช่เปลือก  ไม่ใช่อาภรณ์ภายนอก  ไม่ใช่เครื่องประดับ  งานของราซีนไม่มีภายนอก-ภายใน  แต่เป็นทองเนื้อดี  และทองเนื้อเดียวทั้งแท่ง! จะขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม

          เมื่อแฟดร์สารภาพรักกับฮิปโปลิตนั้น  เธอสำนึกดีว่าเธอทำผิด  เธอรู้ดีว่าเธอควบคุมตัวเองไม่ได้  ถ้าเราจะอธิบายด้วยจิตวิทยาก็ย่อมจะทำได้  แต่นั่นไม่ทำให้เกิดความขลังอันใด  ตัวบทระบุไว้ชัดเจน

 

ข้าฯ มีความรัก  อย่าคิดนะว่าในขณะที่ข้าฯ รักเจ้า

ข้าฯ คิดว่าตัวบริสุทธิ์และเข้าข้างตัวเอง

ใช่ว่าข้าฯ จะตามใจตัวเองปล่อยให้พิษร้าย

แห่งความรักอันบ้าคลั่งมาทำให้ข้าฯ ขาดสติไป

ข้าฯ เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากการแก้แค้นของเทพ

ข้าฯ เกลียดตัวข้าฯ เองมากกว่าที่เจ้าเกลียดข้าฯ เสียอีก

(องก์ที่ 2 ฉากที่ 5)

          ผู้ชมที่มีการศึกษาในศตวรรษที่ 17 ย่อมจะรู้ถึงเบื้องหลังว่า  แฟดร์เป็นเหยื่อของความพิโรธของเทพในลักษณะใด  เธอจึงมิได้มีอิสระที่จะทำตามใจตัวเอง  แต่เธอเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการแก้แค้นของเทพ  ซึ่งเทพปกรณัมกรีก  ที่ผู้ชมในศตวรรษที่ 17 คุ้นเคยนั้น  ย่อมห่างไกลจากโลกของผู้ดูผู้ชมในศตวรรษที่ 21 มาก  แต่เพราะเทพซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าเธอขีดเส้นชีวิตให้เธอ  ผู้ชมจึงอดที่จะเห็นอกเห็นใจเธอไม่ได้  ผู้ชมในศตวรรษที่ 21 จะเกิดความรู้สึกในทำนองเดียวกับผู้ชมในสควรรษที่ 17 ได้อย่างไร  เพียงให้แฟดร์ใส่เสื้อขาวจะช่วยได้ละหรือ

          เช่นเดียวกับคำสาปของเตเซ  ซึ่งขอให้เทพเนปจูน (Neptune) ลงทัณฑ์ลูกชายของตน  ผู้ชมสมัยใหม่คงจะไม่มีใครเชื่อเรื่องคำสาปเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว  และความตายของฮิปโปลิตเกิดขึ้นได้ทันทีทันควัน  และตายเพราะชักม้าที่ลากรถของตนผิดพลาด  และตกลงมาแล้วม้าเหยียบตาย  แถมยังลากศพเป็นรอยเลือดไปอีกไกล  ผู้ประพันธ์โศกนาฏกรรมในยุคนั้น  ต้องกำหนดการดำเนินเรื่องให้อยู่ในกรอบของวันเดียว  เรื่องก็ต้องมีแก่นเรื่องเดียว  และสถานที่ใช้ก็ต้องมีแห่งเดียว  เกณฑ์ที่ว่านี้เรียกว่า “กฎแห่งเอกภาพทั้งสาม” (the rule of three unities)  คำสาปของพ่อจึงมีผลรวดเร็วมาก  ยิ่งทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจพระเอก  ละครคลาสสิกไม่ยอมให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นบนเวทีให้ผู้ชมได้เห็น  แต่ใช้ระบบให้มีคนเล่าเรื่อง  เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “récit ในละครเรื่องนี้  พี่เลี้ยงของฮิปโปลิต คือ เตราแมนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตาของเขาเอง  และกลับมาเล่าให้เตเซฟัง  บทเล่าของเตราแมน (le récit de Théramène)  ถือว่าเป็นเพชรของวรรณคดีฝรั่งเศส  แม้จะเป็นเรื่องที่รุนแรง  แต่ราซีนใช้ภาษาที่ปรับความรุนแรงที่นัยว่าเกิดขึ้นจริงให้เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้ชม  นั่นคือพลังของศิลปะ  ในการแสดงครั้งนี้  เตราแมนต้องปีนขึ้นไปบทสันของกำแพงสีขาว  (ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ใช้เป็นฉาก  พาดเฉียงตลอดเวทีเพื่อเหลือที่ให้แสดงเพียงน้อยนิด  ตามแนวเอกภาพของสถานที่  และขนบที่ใช้สถานที่กลางๆ  เช่นห้องรอเข้าพบเจ้านาย  ที่เรียกว่า antichambre) เตราแมนถอดเสื้อให้เห็นลายสักยันต์ต่างๆ  เนื้อตัวเปื้อนเลือด  เพราะไปอุ้มร่างของฮิปโปลิตกลับมา เล่าเรื่องไปได้จนเกือบจบ  แล้วจึงลงมาบนเวทีกล่าววาจาตอนสุดท้ายต่อเตเซว่าลูกชายได้สั่งเสียด้วยการฝากฝังคนรักของเธอไว้กับพ่อ  (ซึ่งเรื่องก็จบตามคำขอ)  ไม่ว่าบทแปลภาษาเยอรมันจะเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์เพียงใด  ความสง่างามย่อมเหือดหายไปแล้ว ด้วยวิธีการกำกับการแสดงที่ต้องการจะดึงทุกอย่างที่อยู่เบื้องสูงให้ลงมาติดดิน

          ข้อขัดระหว่างตัวบท กับ การกำกับการแสดงทำให้นักแสดงตกที่นั่งลำบาก  จะเล่นให้ติดดิน ตัวบทก็ค้านอยู่ จะเล่นตามตัวบท ทั้งวิธีการกำกับการแสดง ทั้งฉาก  ทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ก็ไม่เอื้ออำนวย แต่ละคนก็จำต้องหาทางออกด้วยตนเอง ผู้ที่เสียรังวัดมากที่สุด คือ เตเซ ซึ่งจำต้องเล่นให้น่าสงสารด้วยการทำตัวให้น่าสมเพช ความจริงมีอยู่ว่า แม้ผู้ที่สง่างามก็ทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสารได้ ฮิปโปลิต
เลือกเล่นบทหนุ่มไฟแรงที่ไม่รู้จักความนุ่มนวล ทำให้ฉากที่ต้องเล่นกับคนรักสาว คือ อะริซี เป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้ที่เล่นได้ลงตัวที่สุดคือผู้รับบทพี่เลี้ยงของ แฟดร์ คือ เออนอน เธอเล่นตามขนบของโศกนาฏกรรมคลาสสิก คือตรงไปตรงมา พูดชัดเจน จังหวะจะโคนลงตัว ทุกคำที่พูดดังไปจนถึงที่นั่งหลังสุด เธอเป็นนักแสดงคนเดียวที่คิดว่าบทคือตัวนำ และเธอกับยอมให้บทนำเธอ แต่ผู้ที่ออกแรงมากที่สุด คิดไตร่ตรองมากที่สุด ใช้ความพยายามมากที่สุด ใช้วิชาการแสดงมากที่สุด  คือดาราใหญ่ คอรินนา เคียร์ชฮอฟ
(Corinna Kirchhoff) ผู้ซึ่งผมเคยชื่นชอบเป็นอย่างมากมาก่อนในบทของเฮเลนา (Helena) ในละครเรื่อง เฟาสต์ (Faust) ของ เกอเธ่ และในบทของพระนางแมรี สจวต ในละครชื่อเดียวกัน คือ Maria Stuart ของฟริดริค ชิลเลอร์  มาครั้งนี้เธอหาทางออกด้วยเสียง ในเมื่อละครถูกผู้กำกับลดรูปลงมาจนอยู่ในระดับละครน้ำเน่าของโทรทัศน์ไทยไปเสียแล้ว เธอจะกู้เอาความสง่างามมาได้ก็ด้วยการใช้เสียงเข้าไปเสริมตัวบท โดยเฉพาะในบทสารภาพรัก ซึ่งเธอถูกผู้กำกับการแสดงกำหนดให้ลดตัวลงไปเล่นบนพื้นเวที เธอใช้วิชาการแสดงที่ได้เล่าเรียนมา ทำเสียงให้มีความหลากหลายอย่างที่ผมไม่เคยได้เห็นนักแสดงคนใดใช้มาก่อน การแสดงของเธอในตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นชั้นเรียนตัวอย่างในการใช้เสียงในละครพูด (masterclass in voice production in spoken drama) และนักศึกษาที่มีสิทธิ์เข้าชั้นเรียนตัวอย่างนี้ก็น่าจะเป็น นักศึกษาปีสุดท้ายของสถาบันฝึกนักแสดง สิ่งที่ผมคลางแคลงใจก็คือ ตัวบทในตอนนี้มิได้มีความหลากหลายของอารมณ์มากถึงเพียงนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ  ครึ่งหนึ่งของบทที่เธอพูดนั้น ผู้ชมที่มิได้นั่งแถวหน้าไม่ได้ยิน ขนบการแสดงละครคลาสสิกของฝรั่งเศส คือการให้ความสำคัญกับภาษา  ทุกคำพูดต้องถึงหูผู้ฟัง ไม่ต้องทำเสียงค่อยเสียงดังให้หลากหลายนัก ตัวบทจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ไว้อย่างลงตัวแล้ว ไม่ต้องไปแต่งเติมให้มากเกินไป ความพยายามของเธอจึงต้องเรียกว่าล้มเหลว เพราะเธอกำลังแสดงละครให้ตัวเองดู – และฟัง โดยไม่คิดถึงผู้ชม – ผู้ฟังที่นั่งอยู่ในโรงละครในขณะนั้น

          โรงละครเยอรมันโดยปกติจะมีฝ่ายวิชาการที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Dramaturgie  ประจำอยู่ ผมตรวจสอบกับสูจิบัตรแล้วไม่มีผู้ใดทำหน้าที่ปรึกษาวิชาการ (dramaturg) ในการแสดงครั้งนี้เลย หมายความว่าผู้กำกับการแสดงรับหน้าที่ทุกอย่างเอง ถ้ามีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่องละครฝรั่งเศส โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับขนบการแต่งละครและการแสดงละครคลาสสิก  ผู้กำกับการแสดงก็คงจะมีกรอบให้ตัดสินใจไปในทางที่จะทำให้การแสดงน่าประทับใจได้

          ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นว่า บทละครแฟดร์ถูกฉีกออกจากบริบท   อันนำไปสู่สภาพที่เรียกได้ว่าตัวบทก็หลงทาง เมื่อยึดบทเป็นที่พึ่งไม่ได้แล้ว นักแสดงก็เลยหลงทางตามไปด้วย

          ถึงอย่างไรผู้กำกับการแสดงก็คงจะยังไม่พอใจกับผลงานของเขาเป็นแน่ เพราะในคืนวันที่ 13 กันยายน 2556 มีผู้ชมเพียงคนเดียวที่ลุกขึ้นเดินออกจากโรงไป และก็ไม่ได้กระทืบเท้าเสียด้วย  (น่าสงสัยว่าสุภาพสตรีท่านนั้นอาจจะเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งเศส!)

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *