ฆ่าไม่ตาย – ข้าไม่ตาย – ค่าไม่ตาย: ว่าด้วยวงฟิลฮาร์โมเนียแห่งลอนดอน
ฆ่าไม่ตาย – ข้าไม่ตาย – ค่าไม่ตาย: ว่าด้วยวงฟิลฮาร์โมเนียแห่งลอนดอน
เจตนา นาควัชระ
12 กันยายน 2556
ผมขอยืมวรรคทองจากบทกวีชื่อ “รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี” ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ มาใช้เป็นชื่อบทวิจารณ์ โดยขออนุญาตสลับตำแหน่งของคำเพื่อความเหมาะสม นักฟังเพลงคลาสสิกรุ่นผมรู้จักวง Philharmonia Orchestra ดี เพราะเติบโตมากับการฟังแผ่นเสียงประเภท Long Play (LP) ของซิมโฟนี ของเบโธเฟน และของบราห์มส์ ทั้งหมด ซึ่ง Philharmonia Orchestra เป็นผู้บรรเลง และ ออตโต เคลมเพอเรอร์ (Otto Klemperer: 1885-1973) เป็นวาทยกร ในตอนที่เรียนหนังสืออยู่ที่อังกฤษนั้น ผมอยากเหลือเกินที่จะได้ฟังการแสดงสดของวงดนตรีวงนี้กับวาทยกรระดับแนวหน้าของโลกท่านนั้น แต่ก็ไม่เคยซื้อตั๋วได้เลย เพราะมหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากลอนดอนถึง 60 ไมล์ จะเดินทางไกลไปเข้าคิวก็ไม่ทันคนอื่นเขา วงดนตรีวงนี้คารายานเป็นผู้มาช่วยฝึกซ้อมให้เมื่อตอนตั้งวงใหม่ๆ (ตอนนั้นเขายังมีความเป็นนักดนตรีมากกว่าเป็นนักธุรกิจ) และหลังจากนั้นเคลมเพอเรอร์ก็มารับเป็นวาทยกรประจำ วงนี้แต่เดิมตั้งขึ้นเพื่ออัดแผ่นเสียงโดยเฉพาะ มาตรฐานจึงสูงมาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสคัดนักดนตรีชั้นยอดของอังกฤษมารวมตัวกันแล้ว (ด้วยการให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าวงดนตรีอื่นๆ) ยังมีเวลาซ้อมมากกว่าวงปกติอีกด้วย ผู้ก่อตั้งวงเป็นนักจัดการที่ยอดเยี่ยม เป็นโปรดิวเซอร์และเป็นวิศวกรอัดเสียงที่ยอดเยี่ยมอีกเช่นกัน ชื่อ วอลเตอร์ เลจ (Walter Legge: 1906-1979) ซึ่งทำงานให้กับบริษัท EMI เป็นเรื่องที่น่าประหลาดว่า เคลมเพอเรอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นวาทยกรตลอดชีพ (Conductor for Life) แต่วันดีคืนดี เลจก็ตัดสินใจที่จะเลิกวง เพราะมีข้อขัดแย้งกับบริษัทแม่
การที่มีวาทยกรตลอดชีพ แต่ผู้ก่อตั้งกลับมีความต้องการจะฆ่าวงดนตรีเสีย เป็นสิ่งที่นักดนตรีรับไม่ได้ พวกเขาจึงสามัคคีรวมตัวกันประกาศว่าจะไม่ยอมให้วงตาย และก็ไปขอร้องให้เคลมเพอเรอร์มาเป็นทั้งวาทยกรประจำและประธานของวง ซึ่งเคลมเพอเรอร์ก็ตอบรับด้วยความเต็มใจ เป็นการยืนยันว่า ข้าไม่ตาย มาตรฐานของวงอยู่ในระดับแนวหน้าต่อมาตลอด มีวาทยกรที่มีความสามารถเต็มใจเข้ามาช่วยกำกับวง อาทิ เซอร์ จอห์น บาร์บิรอลลิ (อ้างถึงแล้วในบทวิจารณ์ก่อนหน้านี้) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานของ
กุสตาฟ มาห์เลอร์ ก็ตกลงมากำกับวงในการอัดเสียงซิมโฟนีของมาห์เลอร์ ทั้งๆ ที่ท่านมีวงประจำของท่านอยู่ คือ วงฮัลเล แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ แต่บาบิรอลลิ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า วงฟิลฮาร์โมเนีย มาตรฐานด้านเทคนิคสูงกว่า ประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดคือ การอัดเสียงซิมโฟนีหมายเลข 5 ซึ่งบาริรอลลิกำกับวงได้อย่างยอดเยี่ยม ผู้เขียนเคยถามนักดนตรีชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งเดินทางมาแสดงดนตรีในประเทศไทย ว่าวงดนตรีวงไหนเป็นวงที่ดีสุดของอังกฤษ และก็ได้คำตอบโดยทันควันว่า “Philharmonia Orchestra” นักดนตรีผู้นั้นบรรยายคุณภาพของวงด้วยการกล่าวซ้ำหลายครั้งว่า “very refined” (ละเมียดจริงๆ) การแสดงของวงฟิลฮาร์โมเนียที่สถานที่แสดงดนตรีฟิลฮาร์โมนี (Philharmonie) แห่งกรุงเบอร์ลิน เมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน 2556 แสดงให้เห็นปรากฏชัดว่า วงดนตรีวงนี้ฝีมือไม่ตก คือ (คุณ)ค่าไม่ตาย
การเลือกโปรแกรมและการจัดลำดับการแสดงนับได้ว่าชาญฉลาด ดุริยางคนิพนธ์บทแรกที่บรรเลงคืองานของ โคลด เดอบุสซี (Claude Debussy: 1862-1918) งานชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยฟลุตและตามด้วยเครื่องลมไม้อื่นๆ ซึ่งนักฟังเพลงคลาสสิกก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นักดนตรีอังกฤษเป็นผู้นำระดับโลกสำหรับเครื่องดนตรีกลุ่มนี้ เสียงเครื่องลมไม้เปี่ยมด้วยความอบอุ่น ไม่แหลมจนเกินไป การเปล่งคีตวลี (phrasing) ทำได้อย่างงามงด มีรสนิยม บรรยากาศที่ชวนฝันชวนให้ผู้ฟังเคลิ้มตาม สังเกตได้ว่า วาทยกรประจำ (ซึ่งผมเดาว่าคงจะประจำจริงๆ ไม่ใช่วาทยกรรับเชิญที่มาบ่อย!) ชาวฟินแลนด์ เอซา-เพกกา ซาลอเนน (Esa-Pekka Salonen) ใช้มือเปล่า 2 มือกำกับวง มือเขาอ่อนพลิ้วกว่าวาทยกรคนใดที่ผมเคยได้เห็น (และได้ฟัง) ราวกับจะเคยไปหัดนาฏศิลป์มาจากอุษาคเนย์ ขึ้นต้นบทแรกก็ย้อมใจผู้ฟังอยู่แล้ว (สำหรับผมเองมีประสบการณ์ที่เลวร้ายมากับวาทยกรชาวรัสเซีย วาเลรี เจอร์เกียฟ [Valery Gergiev] ที่สามารถทำให้วงดนตรีลอนดอนซิมโฟนีเล่นผลงานของเดอบุสซีแบบที่เรียกได้ว่าล่มทั้งวงมาเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เลยอดหวั่นใจไม่ได้ว่า วงดนตรีอังกฤษจะเล่นเพลงของคีตกวีฝรั่งเศสท่านนี้ได้ดีละหรือ) แต่ในเมื่อ “ฆ่าไม่ตาย ข้าไม่ตาย และค่าไม่ตาย” ผมก็นั่งฟังวงนี้ด้วยความสบายใจ สังเกตได้ว่าวาทยกรกับวงสื่อสารเข้ากันได้อย่างดียิ่ง (ผมจงใจซื้อตั๋วให้ได้ที่นั่งหลังวงดนตรี เพื่อจะได้เห็นการกำกับวงของวาทยกร ทำอย่างนี้มาเป็นประจำ)
งานชิ้นที่สองเป็นปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาของวง คีตกวีชาวโปแลนด์ วิทอลด์ ลุทอซวัฟสกี ซึ่งเป็นคีตกวีหลักของมหกรรมดนตรีครั้งนี้ดื่มด่ำกับวัฒนธรรมและภาษา-วรรณคดีฝรั่งเศสมาก (ซึ่งชวนให้เราย้อนกลับไปคิดถึงศตวรรษที่ 19 ซึ่ง เฟรเดริก โชแปง [Frédéric Chopin: 1810-1849] ตัดสินใจไปตั้งรกรากอยู่ในฝรั่งเศสเสียเลย) ลุทอซวัฟสกีเฟ้นเอาบทกวียุคศตวรรษที่ 20 ของ รอแบรต์ เดส์โนส์ (Robert Desnos: 1900-1945) มาบทหนึ่ง ชื่อ Les Espaces du sommeil (พื้นที่แห่งความฝัน) เพื่อมาประพันธ์เป็นเพลงเล่นกับวงซิมโฟนี ผมเดินทางไปถึงสถานที่แสดงดนตรีก่อนเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ซื้อสูจิบัตรมาอ่าน และก็อ่านบทกวีภาษาฝรั่งเศสบทนี้จบก่อนที่การแสดงจะเริ่มขึ้น แล้วก็ต้องอุทานกับตัวเองว่า ต้นฉบับแบบนี้เอาไปแต่งเป็นเพลงร้องกับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ไม่ได้แน่ แม้จะใช้เปียโนคลอก็คงต้องการอัจฉริยะระดับ ฟรันส์ ชูแบร์ต ทั้งนี้เพราะตัวบทกวีเองเปี่ยมไปด้วยลักษณะของคีตศิลป์อยู่แล้ว เป็นบทกวีที่แต่งไว้ให้อ่านออกเสียงเพื่อที่จะได้รับรสทั้งวรรณศิลป์และคีตศิลป์ไปพร้อมกัน พอผมเห็นนักดนตรีขึ้นมาเต็มเวที ผมก็ตกใจยิ่งขึ้น อีกสักครู่เจ้าหน้าที่แบกไม้อัดแผ่นใหญ่มาวางทับโต๊ะวางโน้ตของวาทยกร แล้วเอาโน้ตเล่มใหญ่มากวางทับลงไปอีกที วาทยกรซาลอเนน ต้องเป็นคนที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทอย่างแน่นอน ถ้าใช้โน้ตตัวเล็กกว่านี้อาจจะเก็บรายละเอียดได้ไม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะท่องโน้ตมาดีเพียงใด ดนตรีสมัยใหม่อย่างนี้จำขึ้นใจได้ยากมาก (และคุณซาลอเนนก็เป็นนักประพันธ์ดนตรีเองเสียด้วย เขาจึงรู้ปัญหาดี) เขาขึ้นเวทีมาพร้อมกับไม้เคาะจังหวะ (bâton) ผมว่าเขาต้องมีอะไรอยู่ในใจ สำหรับนักร้องเดี่ยวเสียงบาริโทนนั้น เป็นนักร้องอุปรากรชาวเยอรมัน ซึ่งรู้จักกันดี ชื่อ มัทธิอาส เกอร์เนอ (Matthias Goerne)
แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ออกมาอย่างที่ผมคาด บทกวีบทนี้อยู่ได้ด้วยอารมณ์ที่คงที่ ไม่ขึ้นไม่ลงอย่างรุนแรง ไม่มีจุดสุดยอด (climax) เมื่อเอาวงดนตรีขนาด 80-90 คนขึ้นมาก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่จะให้วงทำอะไรได้ นอกจากเปล่งเสียงออกมาในรูปของเครื่องประดับ หรือไม้ประดับ สำหรับนักร้องก็เช่นกัน ผู้แต่งกำกับให้ทำเสียงดังเสียงค่อยในลักษณะที่เป็นละคร (dramatic) เป็นช่วงๆ เพราะกวีมีวรรคที่ใช้คำซ้ำอยู่เป็นตอนๆ สำหรับนักร้องนั้นอาจจะได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาในระดับมัธยม แต่ก็คงเรื้อไปมากแล้ว (ถ้าร้องอุปรากรฝรั่งเศสมาแล้วก็คงท่องเอาแล้วกล้อมแกล้มไป) การออกเสียงภาษาฝรั่งเศสใช้ไม่ได้เลย ตลอดเพลงผมฟังออกอยู่เพียง 2-3 คำในท่อนซ้ำคือ คำว่า “Il y a …” (แปลว่า “มี” ซึ่งในบทกวีมีการพูดว่า “มีฉัน” และก็ “มีเธอ” อยู่หลายครั้ง) สำหรับวิธีการประพันธ์นั้น นักร้องพยายามสนองอย่างเต็มที่แบบที่เรียกว่าสะดุ้งตื่นขึ้นเป็นช่วงๆ แล้วกลับไปฝันต่อ บทเรียนจากงานชิ้นนี้ก็คือ ถ้าจะเลือกบทกวีภาษาต่างประเทศมาแต่งแล้วละก็ ควรจะเลือกประเภทที่เล่าเรื่อง หรือประเภทที่ไม่ใช้ศักยภาพทางเสียงของภาษานั้นๆ มากนัก เมื่อไม่รู้เรื่องด้วยกันทุกฝ่าย มหาชนก็ปรบมือกันอย่างกึกก้อง วาทยกร (ซึ่งคงจะเข้าซึ้งถึงปัญหาดี) ก็ต้องรักษามรรยาท แสดงความชื่นชอบตามคนอื่นเข้าไปด้วย ซึ่งช่วงพักครึ่งเวลาผมต้องสงบสติอารมณ์อยู่พักหนึ่ง เพราะกลัวว่าครึ่งหลังจะเป็นไปในแบบเดียวกัน
และก็เกือบเป็นเช่นนั้นจริงๆ ครึ่งหลังเริ่มต้นด้วย ดนตรีชุดนิทานสำหรับเด็กชื่อ Ma Mère l’ Oye. Suite for Orchestra ของ โมริซ ราเวล (Maurice Ravel: 1875-1937) ราเวล นำเอานิทานสำหรับเด็ก ซึ่งถือกันว่าเป็นวรรณกรรมเอกของ ชาร์ลส์ เปโรต์ (Charles Perrault: 1628-1703) มาแต่งเป็นงานสำหรับ “เปียโนสี่มือ” (คือ นักดนตรีสองคนเล่นเปียโนหลังเดียวกัน) เขาจงใจจะให้เป็นโปรแกรมมิวสิคที่สร้างความบันเทิงให้กับเด็ก แต่ฉบับที่เขานำมาเรียบเรียงสำหรับเล่นด้วยวงดนตรีซิมโฟนีนั้น แสดงออกถึงความสามารถในการใช้เครื่องดนตรีหลากชนิดได้อย่างยอดเยี่ยม ในเมื่อแต่ละกระบวนเล่าเรื่องที่ต่างกันออกไป ราเวลก็ต้องหาวิธีสร้างเนื้อหาทางดนตรีและวิธีการบรรเลงที่สื่อความท้องเรื่องของนิทานได้ด้วย วง
ฟิลฮาร์โมเนียบรรเลงดุริยางคนิพนธ์บทนี้อย่างราบเรียบ จนออกจะจืดชืดเสียด้วยซ้ำ เฉพาะท่อนที่ 4 ที่เล่าเรื่อง Beauty and the Beast เท่านั้นที่นักดนตรีดูจะเล่นด้วยความสนุกสนาน ผมเดาว่าพวกเขาออมกำลังเอาไว้สู้ศึกหนักที่กำลังจะตามมา
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ซิมโฟนีหมายเลข 3 ของ ลุทอซวัฟสกี เป็นงานที่คีตกวีควรจะตั้งชื่อว่า Concerto for Orchestra เสียเลยจะเหมาะกว่า และก็เหมาะกว่างานที่เขาเอาป้ายชื่อนี้ไปปะให้ ซึ่งผมได้นำมาอภิปรายไว้แล้วในส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงในวันที่ 6 กันยายน สูจิบัตรบอกให้เรารู้เบื้องหลังว่า
ลุทอซวัฟสกี ใช้เวลาแต่งคีตนิพนธ์ชิ้นนี้ถึง 9 ปี ผมสังเกตไว้ตั้งแต่ตอนพักครึ่งเวลาแล้วว่า นักดนตรีที่เล่นเครื่องเคาะจังหวะไม่ยอมเข้าหลังโรงไปพัก แต่อยู่บนเวทีอุ่นเครื่องอย่างเอาจริงเอาจัง (ซึ่งวงดนตรีอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะทำ เพราะถือว่าอ่านโน้ตแคล่วคล่องกว่านักดนตรีชาติไหนๆ อยู่แล้ว) และเวลาบรรเลงจริง พวกเครื่องเคาะจังหวะก็มีบทบาทที่โดดเด่นจริงๆ มิใช่เป็นไม้ประดับ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อในที่แน่นมาก ผมต้องยอมรับว่า วงฟิลฮาร์โมเนีย ถ้าเทียบกับวงวงคอนแซร์ตเกอเบาว์แล้ววงจากอัมสเตอร์ดัมอาจจะเหนือกว่าเล็กน้อยในด้านเทคนิค (โดยเฉพาะเครื่องสาย) แต่ความสามารถในการบรรเลงของวงฟิลฮาร์โมเนีย มิได้ด้อยกว่าเลย วงดนตรีอังกฤษส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวง London Symphony Orchestra ที่ทำให้ผมผิดหวังต่อเนื่องมาหลายปีแล้วนั้น นักฟังเพลงคลาสสิกตั้งสมญานามให้ว่าเป็น sight-reading orchestras คือ นักดนตรีไม่จำเป็นต้องซ้อมบ่อย ไม่จำเป็นต้องเอาโน้ตกลับไปซ้อมที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าเสียด้วยซ้ำว่าวันนี้จะซ้อมเพลงอะไร! ขอให้เอาโน้ตมากางไว้ให้ พอวาทยกรมาถึงก็ลงมือเล่นได้เลย ถ้าซ้อมบ่อยครั้งเกินไปก็จะเบื่อ มีนักดนตรีระดับหัวหน้าวงของอังกฤษซึ่งมาสอนและแสดงในประเทศไทย เคยเล่าให้ฟังว่า มาตรฐานการซ้อมครั้งที่ 2 ก็อยู่ในระดับของวันแสดงจริงอยู่แล้ว จะเรียกร้องอะไรมากกว่านั้นในวันแสดงจริงเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะพวกเขามาเล่นดนตรีในรูปแบบที่เรียกว่า “มาทำงาน” อะไรเล่าในคืนวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ทำให้วงฟิลฮาร์โมเนียเล่นดนตรีต่างออกจากนักดนตรีอังกฤษโดยทั่วไป (โดยเฉพาะนักดนตรีของวงในนครลอนดอน) คำตอบออกจะชัดเจนว่า เป็นเพราะคีตกวีเขียนตัวบทเอาไว้ โดยเว้นช่วงให้นักดนตรีต้องด้น (เรียกเป็นศัพท์ดนตรีว่า ad libitum) อยู่บ่อยครั้งมาก จะหาทางอธิบายความมีชีวิตชีวาของวงฟิลฮาร์โมเนียได้ดีกว่าการนำวิธีการบรรเลงของนักดนตรีไทย (เดิม) มาเทียบคงจะไม่มีแล้ว คนไทยเรารู้ดีว่าต้องได้รับการฝึกฝนมาถึงขั้นสูงแล้วจึงจะด้นได้ ในเมื่อผู้แต่งเพลง (ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นให้ใช้วิธี ad libertum นี้มาจากดุริยกวีชาวอเมริกัน จอห์น เคจ [John Cage: 1912-1992]) ให้เสรีภาพแก่พวกเขาให้ได้แสดงฝีมือ เขาก็ต้องรับคำท้าอย่างอาจหาญ ไหนๆ ก็ “ฆ่าไม่ตาย – ข้าไม่ตาย – ค่าไม่ตาย” มาแล้ว
ผมค้นพบว่าวิธีฟังงานดนตรีชิ้นใหม่ที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลยนั้น ถ้ากลัวจะจับอะไรไม่ได้ (เพราะพวกเราที่ไม่ได้เรียนทฤษฎีดนตรีมา คงจะจับเรื่องของโครงสร้าง และพัฒนาการของรูปแบบไม่ได้ ต้องอาศัยหูฟังเอง) วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ รอฟังตอนที่ประทับใจแบบลืมไม่ลง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องของความลึกซึ้งของอารมณ์เสมอไป ตอนที่ผมสนุกตามวงไปมากที่สุด คือตอนที่ผู้แต่งใช้ระบบที่เรียกว่า contrapuntal สูงมาก และดึงดูดความสนใจเราด้วยการให้ไวโอลินสองเป็นผู้เริ่มต้นแก่นทำนองหลัก แล้วขยายออกไปหา วิโอลา ต่อด้วยเชลโล และดับเบิลเบส แล้วให้ไวโอลินหนึ่งเข้ามาตบท้าย โดยให้เล่นแบบกดสายและขูดสาย จนยางสนฟุ้งไปหมดทั้งวง เสียงที่ออกมาไม่น่าฟัง (และคงจะเป็นเสียงที่วง
ฟิลลาเดลเฟียไม่ยอมรับอย่างแน่นนอน เพราะจะทำให้เสียประวัติ) ความแหบแห้งและความกร้านดำเนินไปได้สักพักใหญ่ เรียกว่าเล่นแบบให้ปวดแก้วหูเลย หลังจากนั้นจึงผ่อนคลายด้วยการเปลี่ยนไปหาทำนองที่อ่อนหวาน มีลักษณะที่เรียกได้ว่า lyrical มันเป็นกลเม็ดเด็ดพรายที่น่าทึ่ง ผู้ฟังที่มีอคติต่อดนตรีสมัยใหม่ ถ้าได้มีโอกาสฟังดนตรีบทนี้จะต้องยอมรับโดยดุษณีว่า “ลืมไม่ลง” เพราะเราเดาไม่ออกว่าเขาจะมาไม้ไหนต่อไป ต้องคอยเฝ้าระวังไว้ให้ดีว่าเขาจะปล่อย “ไม้” ไหนออกมาในชุดต่อไป ลุทอวัฟสกีจบ
ดุริยางคนิพนธ์บทนี้ด้วยเสียงกระหึ่ม จะว่าเป็นทางของวากเนอร์ก็ได้ หรือเป็นทางของมาห์เลอร์ก็ได้ วงดนตรีซิมโฟนีต่างๆ น่าจะนำซิมโฟนีบทนี้มาเล่นบ่อยๆ เพราะเท่ากับเป็นการช่วยพิสูจน์ว่า ดนตรีของศตวรรษที่ 20 มิได้อยู่ห่างไกลจากโลกของคนเล่นและคนฟังเลย
แน่นอนที่สุด สถานที่แสดงคือ Philharmonie แห่งกรุงเบอร์ลินขายบัตรสำหรับรายการนี้ได้ไม่มากเท่าที่ควร มีที่ว่างอยู่ทั่วไป ทั้งส่วนที่ราคาถูกและราคาแพง เช่นเดียวกับรายการก่อนหน้านี้ ถ้าให้มหาชนที่เปิดใจมาฟังดนตรีสมัยใหม่เป็นผู้ตัดสินคุณภาพของการบรรเลง พวกเขาก็จะต้องให้ Grade A หรือ A+ อย่างแน่นอน เพราะผู้ฟังลุกขึ้นยืนปรบมือกันนานมาก นานเสียจนวาทยกรต้องตบไหล่หัวหน้าวงเป็นการส่งสัญญาณว่า เข้าโรงได้แล้ว!
เรื่องของวงฟิลฮาร์โมเนียกับผู้ฟังชาวเยอรมันนั้น มีตำนานซึ่งเล่าสู่กันฟังอย่างไม่รู้จักเบื่อ และเป็นเรื่องที่ว่าด้วย การปรบมืออย่างไม่รู้จบ ในตอนต้นทศวรรษ 1970 เมื่อบอนน์ (Bonn) ยังเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก มีการจัดมหกรรมเบโธเฟนทุกปี (ขณะนี้ก็ยังไม่เลิก คือ “ฆ่าไม่ตาย!” เช่นกัน) ครั้งหนึ่งเคลมเพอเรอพาวงฟิลฮาร์โมเนียไปเล่นในมหกรรมเบโธเฟน ซึ่งผู้ที่ได้ฟังในคืนนั้นยอมรับว่า การบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 3 อันเป็นงานชิ้นสุดท้ายของคอนเสิร์ตเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์และทางจิตวิญญาณที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง เมื่อการแสดงจบลง ผู้คนลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างกึกก้องแบบไม่ยอมหยุด เคลมเพอเรอร์ บ้านอยู่เมืองซูริค (Zurich) ในสวิตเซอร์แลนด์ ต้องกลับให้ทันเครื่องบินเที่ยวสุดท้าย ท่านออกมารับการปรบมือเพียงครั้งเดียว ผู้คนตะโกนเรียกเคลมเพอเรอร์เท่าไรๆ ท่านก็ไม่ออกมาปรากฏตัวอีก (ตอนนั้นท่านต้องถือไม้เท้าแล้ว) ปล่อยให้วงรับเกียรตินั้นไปร่วมครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะท่านขึ้นรถไปสนามบินทันทีที่บรรเลงจบ
ผมว่าในคืนวันที่ 9 กันยายน 2556 ถ้าวาทยกรไม่ชวนหัวหน้าวงให้พาลูกน้องของตัวเข้าโรง การปรบมืออาจจะนานกว่านั้นอีกมาก โปรดอย่าลืมว่า เมื่อกึ่งศตวรรษมาแล้ว นักดนตรีเป็นผู้ไปขอให้
เคลมเพอเรอร์มารักษาชีวิตของวงเอาไว้ ท่านจึงเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฆ่าไม่ตาย” ถ้าพูดแบบคนหัวโบราณก็อาจจะต้องกล่าวว่า วงฟิลฮาร์โมเนียมีความสำนึกสูงในเรื่องของขนบประเพณี (tradition) และความต่อเนื่อง (continuity) ที่พวกเขายังรักษามาตรฐานเอาไว้ได้ก็คงเพราะแนวคิดแบบอนุรักษนิยมที่ว่ามานี้ มีอะไรเสียหายหรือ ในเมื่อเขาเล่นเบโธเฟนก็ได้ยอดเยี่ยม เล่นลุทอซวัฟสกี้ก็ได้ยอดเยี่ยมเช่นกัน พวกชาวเบอร์ลินที่ไม่ยอมฟังวงต่างชาติหรือต่างถิ่นก็คงจะจมปลักอยู่กับความหลงตัวไปอีกนาน