เปียโนสี่มือจากอาร์เยนตินาพิชิตเบอร์ลิน: อาร์เกอริชพบบาเรนบอย์ม

เปียโนสี่มือจากอาร์เยนตินาพิชิตเบอร์ลิน: อาร์เกอริชพบบาเรนบอย์ม

เปียโนสี่มือเบอร์ลิน

เจตนา  นาควัชระ

เบอร์ลิน  19  กันยายน 2556

              เขาทั้งสองมาจากอาร์เยนตินา  เป็นนักเปียโนชั้นนำของโลกตะวันตก ทั้งคู่มาเล่าเรียนในยุโรป  แล้วก็เลยตั้งรกรากอยู่ที่นี่  เธออายุ 72  เขาอ่อนกว่าเธอ 1 ปี  ทั้งสองคนไม่เคยได้ขึ้นเวทีร่วมกันมา 20 ปีแล้ว  ในรายการแสดงเมื่อคืนวันที่ 15 กันยายน 2556  เขาไม่ได้ต้องการจะอวดฝีมือเปียโนให้ใครทึ่ง  สำหรับมาร์ธา  อาร์เกอริช (Martha Argerich)นั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่าเธอจะเล่นเปียโนแบบ“ไฟแลบ”เมื่อไรก็ได้  ดาเนียล  บาเรนบอย์ม (Daniel Barenboim)ไปทางลึก  ผมเคยฟังเขาเล่นเปียโนคอนแชร์โต  หมายเลข 5  ของเบโธเฟนที่ซาบซึ้งที่สุดเท่าที่เคยฟังมา  และเขากล้าอัดเสียงเปียโนโซนาตาทั้งหมดของเบโธเฟนเอาไว้  ซึ่งผู้รู้ยอมรับว่าเป็นต้นแบบที่น่ายกย่อง  ในขณะเดียวกันก็หันมาเอาดีในทางเป็นวาทยกร  เชี่ยวชาญทั้งด้านดนตรีประเภทซิมโฟนีและอุปรากร  นอกจากนั้นก็ยังมีประสบการณ์มากมายในด้านการเล่นดนตรีประเภทเชมเบอร์  ผมไม่เคยทึ่งบาเรนบอย์มในฐานะวาทยกรเท่าไรนัก  และก็เสียดายที่เขาเล่นเปียโนน้อยลง  ทั้งๆ ที่อายุ 70 กว่าแล้วฝีมือก็ยังไม่ตก  ตามโปรแกรมของวันที่ 15 กันยายนที่กำหนดไว้  เขากำกับวงที่เขาเป็นวาทยกรประจำอยู่คือ  สตาทสคาแพลเลอ  เบอร์ลิน (Staatskapelle Berlin)ซึ่งเป็นวงประจำโรงอุปรากรที่มีชื่อว่า  สตาทสโอแพร์ (Staatsoper) อันเป็นโรงอุปรากรที่มีประวัติอันเรืองรอง  แม้ในช่วงที่อยู่ใต้การปกครองของเยอรมนีตะวันออก ก็รักษามาตรฐานเอาไว้ได้ตลอด  ดุริยางคนิพนธ์ที่เลือกไว้สำหรับการแสดงร่วมกับอาร์เกอริชครั้งนี้คือ  เปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 1  ของเบโธเฟน (ซึ่งว่ากันในทางเทคนิคแล้ว  เด็กๆ ไทย เช่น ลูกศิษย์ของอาจารย์นภนันท์  จันทรอรทัยกุล  อาจเล่นได้)  ผมคาดเอาไว้แล้วว่าจะต้องมีอะไรเป็นพิเศษในการบรรเลงในครั้งนี้  แต่จะขอผัดผ่อนไปเล่าในตอนต่อไป

          จะขอย้อนกลับมาที่เพลงที่ปรมาจารย์ทั้งสองเล่นร่วมกัน  โดยนั่งเบียดกันที่เปียโนหลังเดียวกัน (เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “piano four hands”) เพลงที่เล่นเป็นเพลงแถม (encore) ก่อนพักครึ่งเวลา  หลังจากที่ได้บรรเลงคอนแชร์โตของเบโธเฟนจบไปแล้ว  ทั้งนี้เพราะมหาชนที่มาชุมนุมกันเต็มโรงฟิลฮาร์โมนีไม่ยอมเลิกปรบมือ  อาร์เกอริชเดินเข้าเดินออกนับไม่ถ้วนครั้งแล้วก่อนหน้านั้น  ลากเอาบาเรนบอย์มออกมารับการปรบมือด้วย  ซึ่งเขาก็หันไปหาวงและขอร้องให้ยืนขึ้นรับเกียรติร่วมกัน  อาร์เกอริชเล่นเพลงแถมเดี่ยวไป 1 ครั้งแล้ว มหาชนก็ยังอลเวงต่อไป  เขาทั้งสองคงเตรียมกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะปราบนักฟังเพลงคลาสสิกชาวเบอร์ลินอย่างไร  (โปรดอย่าลืมว่ารายการนี้ไม่มีวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกมาแสดง  ดังนั้น  ถ้าไม่แน่จริงคนคงไม่เต็มโรงอย่างนี้)  พอเจ้าหน้าที่เอาม้านั่งมาเพิ่มที่เปียโนอีก 1 ตัว  แล้วเอาโน้ตมากางไว้  เราก็รู้ได้ทันทีว่าเราจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา  เขาเลือกเล่นเพลงที่นักเปียโนสมัครเล่นคงจะเล่นฟังกันเองที่บ้าน  แล้วก็เลยปรับโรงฟิลฮาร์โมนีให้เป็นห้องนั่งเล่นในบ้านผู้รักปักใจในดนตรีแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนาในราวต้นศตวรรษที่ 19  เพลงที่เลือกมาบรรเลงคือ รอนโด ผลงานที่ 17 (Rondo, opus 17)  ของ ฟรันส์  ชูแบร์ต (Franz Schubert: 1797-1828)  นี่มันคนละโลกกับดนตรีที่เราได้ฟังมาก่อนหน้านี้  เราลืมไปว่าเราอยู่ในโรงคอนเสิร์ต  และผมก็ต้องขอคารวะสถาปนิกผู้ออกแบบโรงฟิลฮาร์โมนีเอาไว้ คือ ฮันส์  ชารูน (Hans Scharoun: 1893-1972)ว่าเขาสามารถทำให้เสียงที่เราได้ยินนั้นเป็นประดุจเสียงดนตรีที่เล่นกันในบ้านจริงๆ  ชาวอาร์เยนตินาสองคนนี้สร้างความเป็นกันเอง (intimacy) ความละเมียด ความไพเราะที่เรียบง่าย  ความหฤหรรษ์ของการเล่นดนตรีร่วมกัน  (เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า musizieren)ในบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันระหว่างญาติมิตร  นั่นคือแก่นของวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก  น่าเห็นใจคุณลุทอซวัฟสกีที่ถูกลากมาอยู่ผิดที่  (ดังที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป)  ภาพนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ 2 คน  นั่งติดกัน  หัวชนกัน  (ผมขาวทั้งคู่  และไม่ยอมรับไปร้านทำผมทั้งคู่  โดยเฉพาะคุณอาร์เกอริช น่าจะมาดัดผมตัดเสื้อที่เมืองไทยสักครั้ง)  เป็นภาพที่ผู้รักดนตรีคงจะลืมไม่ลง  มหาชนยังอลเวงต่อ  ทั้งๆ ที่เกินเวลาไปร่วมครึ่งชั่วโมงแล้ว  หัวหน้าวงต้องพยักหน้าให้นักดนตรีเดินเข้าโรงไป

          รายการวันนี้เริ่มด้วยดุริยางคนิพนธ์ของ  ลุทอซวัฟสกี  ซึ่งเป็นดุริยกวีที่ได้รับเลือกมาให้เป็นผู้นำของมหกรรมดนตรีครั้งนี้  (แต่ความจริงรายการของวงสตาทสคัพแพลเลอเป็นรายการแรกของฤดูกาลดนตรีปกติของวงเอง  เป็นรายการชุดตลอดปีที่เรียกว่า Abonnement-Konzert  แปลว่าการแสดงสำหรับขาประจำที่ตีตั๋วตลอดทั้งปี)  งานชิ้นแรกที่วงดนตรีบรรเลงคือ มิ-ปารติ (Mi-parti) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ว่าด้วยพัสตราภรณ์  ชวนให้คิดย้อนกลับไปถึงเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บกันมาตั้งแต่มัธยสมัย  โดยใช้ผ้าสองสีมาต่อกันตามแนวตั้ง  คือข้างหน้าสีหนึ่งและข้างหลังสีหนึ่ง  ชื่อจึงบอกความว่า “คนละครึ่ง”  นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดอันนำไปสู่โครงสร้างของดุริยางคนิพนธ์  ผมฟังเพียงครั้งเดียวและเป็นครั้งแรกจึงจับโครงสร้างที่ว่านี้ไม่ได้  ความน่าสนใจกลับไปอยู่ที่ลักษณะเดียวกับ Concerto for Orchestraคือการใช้ดนตรีวงใหญ่  และให้โอกาสเครื่องดนตรีทุกชนิดได้แสดงออกซึ่งศักยภาพของตนอย่างเต็มที่  ในอีกรูปลักษณะหนึ่ง  คีตนิพนธ์บทนี้ปรับเปลี่ยนอารมณ์ไปหลายทาง  บางครั้งก็หนักแน่น  บางครั้งก็แผ่วลงไปจนเกือบจะแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวัง  เดาเอาว่านั่นก็คือประสบการณ์ชีวิตของคีตกวีที่ได้ผ่านโลกอันมืดมนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อด้วยการกดขี่ของการปกครองตามแนวของคอมมิวนิสต์  ซึ่งโปแลนด์มิอาจหลีกเลี่ยงได้  ฟังงานของ
ลุทอฟวัฟสกีมาหลายชิ้นแล้วก็ดูจะสะท้อนสภาพเช่นที่ว่านี้  แต่คีตกวีท่านนี้เป็นผู้มีวิชา  และมีพรสวรรค์  จึงสามารถแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันในงานต่างชิ้น  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย

          การได้ที่นั่งที่มองเห็นหน้าวาทยกร  ทำให้ผมสังเกตอะไรได้หลายอย่าง  เขาใช้โน้ตเล่มใหญ่มาก (เช่นเดียวกับวาทยกรของวงฟิลฮาร์โมเนียแห่งลอนดอนใช้)  เปิดยากมาก เพราะกระดาษบาง  วาทยกรบาเรนบอย์มต้องสู้รบกับโน้ตเล่มใหญ่นี้อยู่ตลอดเวลา  เปิดไปก็ไม่ตรงหน้าที่กำลังบรรเลง  ต้องถอยหลังกลับไปใหม่  ดูหน้าวาทยกรแล้วก็เอาได้ว่า  เมื่อโปรแกรมตกลงกันมาแล้วอย่างตรงนี้  ข้าพเจ้าก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด  แต่ผมไม่สังเกตได้เลยว่าบาเรนบอย์มกำกับวงดนตรีด้วยความพึงพอใจ  แม้เวลาที่ปล่อยให้นักดนตรีด้น  ก็มิได้แสดงท่าทีทึ่งกับความสามารถของลูกน้องของตน  ต่างจาก เอชา-เปกกา  ซาลอเนน (Esa-PekkaSalonen) กับวงฟิลฮาร์โมเนีย  เมื่อคืนวันที่ 9 กันยายนมาก  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะซาลอเนนเป็นนักแต่งเพลงที่เคยเป็นศิษย์ของลุทอซวัฟสกีมาด้วย  เขาจึงอาจซาบซึ้งกับงานของครูของเขามากอยู่  แต่ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า วงฟิลฮาร์โมเนียเลือกเอางานระดับแนวหน้าของลุทอซวัฟสกีไปบรรเลง  ในขณะที่วง
สตาทสคาแพลเลอกับบาเรนบอย์มเพียงอุ่นเครื่องกับงานขนาดเล็กที่ใช้เวลาบรรเลงแค่ 15 นาที  แต่อาจจะมีอะไรลึกกว่านั้นก็ได้  บาเรนบอย์มคือผู้เชี่ยวชาญวากเนอร์ และเบโธเฟน  เขาอาจจะกำกับวงไปพร้อมกับคิดอยู่ในใจว่า “เมื่อไรจะถึงเบโธเฟนเสียที”

          แล้วเบโธเฟนก็มาถึง เขาไม่ต้องพะวงกับพี่สาวชาวอาร์เยนตินา ชื่อ มาร์ธา  อาร์เกอริช  อย่างแน่นอน  ผมเดาว่าคงเป็นที่ชัดแจ้งมาตั้งแต่ตอนซ้อมกันแล้วว่า  ชาวอาร์เยนตินาสองคนนี้เข้ากันได้ดี  ผมต้องขอรับสารภาพเสียเลยว่า  ผมเคยฟังบาเรนบอย์มกำกับวงมาหลายครั้งแล้ว  อันรวมถึงการกำกับอุปรากรของวากเนอร์  ผมไม่เคยคิดว่า  เขาเป็นวาทยกรที่ยิ่งใหญ่  ผมเคยพูดพล่อยๆ ไปว่า  “โลกดนตรีเสียนักเปียโนชั้นยอดของโลกไปหนึ่งคน  เพราะเขาอยากจะเป็นวาทยกร”  วันนี้อะไรๆ มันก็ดูจะเปลี่ยนไปที่ทำให้ผมต้องตื่นขึ้นมารับความจริงตั้งแต่โน้ตแรกที่วงบรรเลง  ผมได้ยินเสียงเบโธเฟนที่โดยปกติเรามักจะไม่ได้ยินในงานรุ่นแรกๆ ของท่าน  เช่น เปียโนคอนแชร์โต  หมายเลข 1 บทนี้  ท่อนนำที่วงเล่นนำไปก่อนหน้าเปียโนมีความหนักแน่นและสง่างามซึ่งดูจะชี้ทางไปสู่ซิมโฟนีหมายเลข 3  เลยทีเดียว  ความละเมียดและลื่นไหลตามแบบฉบับของโมซาร์ตยังคงอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่บาเรนบอย์มกับนักดนตรีของเขากำลังจะบอกเราว่า  เบโธเฟนก็คือเบโธเฟน  มีลักษณะเฉพาะของตนมาตั้งแต่ยังหนุ่ม  บาเรนบอย์มกำกับวงอย่างเอาจริงเอาจังมาก   ซึ่งโดยปกติแล้ววาทยกรจำนวนมากจะตีความเปียโนคอนแชร์โตหมายเลขหนึ่งว่า “ยักษ์ยังไม่ตื่น”  แต่บาเรนบอย์มไม่ได้คิดเช่นนั้น  เขากำกับวงราวกับว่าต้องการจะมาบรรเลงซิมโฟนีบทหลังๆ ของเบโธเฟน  แต่พอเปียโนเริ่มต้นบรรเลง  เขาก็ปรับตัวเข้าหานักเปียโนได้อย่างไม่เห็นรอยต่อ

          กระบวนแรก Allegro con brio  นั้นมีชีวิตชีวาตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  อาร์เกอริชเล่นเปียโนแบบเป็นธรรมชาติมาก  หมดเวลาที่สาวงามที่ครั้งหนึ่งผู้คนกล่าวขวัญถึงว่า  ทั้งสวยและทั้งเก่ง จะต้องมาทำให้ใครทึ่งอีกต่อไป (เพราะผู้คนทึ่งเธอมาห้าสิบปีแล้ว!)  ในเมื่อวงท้าเธอว่านี่คือทางไปสู่งานที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตของเบโธเฟน  เธอก็ตอบสนองอย่างไม่ขาดตกบกพร่องว่า  ยักษ์ใหญ่ (ที่ยังหนุ่ม) ตื่นแล้ว  แต่วิธีสร้างความหนักแน่นของเธอไม่ใช่การออกกำลังถล่มลงไปบนเปียโนอย่างที่นักเปียโนจำนวนไม่น้อยทำกัน  ความหนักแน่นมาจากข้างใน  มาจากบุคลิกภาพของดนตรีซึ่งนักเปียโนอาสาเข้ามาเป็นผู้สื่อความ  ไฟของดนตรีไม่ใช่ไฟที่จุดจากข้างนอก  แต่เป็นไฟที่เปล่งประกายมาจากภายใน  อัจฉริยะจากอเมริกาใต้สองคนกำลังบอกให้ชาวยุโรปรู้ว่า  ฉันเข้าใจเบโธเฟนของพวกคุณดีไม่แพ้พวกคุณหรอก  อาจจะดีกว่าคุณเสียด้วยซ้ำ

          กระบวนที่ 2 อารมณ์เปลี่ยนไป  บรรยากาศเปลี่ยนไป  ผมซาบซึ้งมากกับการเปล่งคีตวลี (phrasing) ของเครื่องสายของวงสตาทสคาแพลเลอ  ซึ่งวาทยกรบางคน  และวงดนตรีบางวงในกรุงเบอร์ลินนี้เองทำไม่ได้   เพราะขี้โอ่เกินไป(อย่าให้ผมต้องออกชื่อวงเลย) ลีลาที่เบโธเฟนเขียนกำกับว่า Largo เหมาะจริงๆ สำหรับการตีความของผู้แสดงเดี่ยวและวาทยกร ณ จุดนี้ผมคิดว่า เบโธเฟนยังไม่ต้องการจะลาจากปรมาจารย์โมซาร์ตเสียทีเดียว โดยหันหลังกลับไปที่ศตวรรษที่ 18 บ้างเล็กน้อย พร้อมกับเปรยว่า “ครูว่าผมพอไปด้วยตัวเองไหวไหมครับ” ซึ่งก็ไม่มีครูคนใดที่จะไม่แอบคิดเอาไว้ในใจว่า “อันหมอนี่มันเริ่มเก่งกว่าครูแล้ว!  มันเป็นกระบวนช้าที่ทาบได้กับเปียโนคอนแชร์โตบทหลังๆ ของโมซาร์ต แต่ก็ดูจะชี้ทางไปข้างหน้าสู่แนวโรแมนติกได้ในขณะเดียวกัน ผู้ฟังในโรงฟิลฮาร์โมนีแห่งเบอร์ลินเงียบกริบกันทั้งหมด ทุกคนเพ่งสมาธิไปที่ตัวดนตรีราวกับว่านี่คือพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมที่ไม่โอ่อ่าและเรียบง่าย

          กระบวนสุดท้าย อยู่ในรูปของ Rondo. Allegroscherzando คือเร็วและออกลีลาหยอกล้อบ้าง การตั้งโจทย์มาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับคุณอาร์เกอริช เธอไม่จำเป็นต้องโยกตัวมากมายดังเช่นนักเปียโนจำนวนมากทำกัน ความเร็ว ความร่าเริงอยู่ในที ถ่ายทอดด้วยนิ้วของเธอ เธอสามารถทำหลอกล่อว่าจะหยุด แต่แล้วก็ไม่หยุด  กลับเล่นต่อ ลีลาเหล่านี้อยู่ในเนื้อในของดนตรี   ผู้เล่นไม่ต้องใช้ท่าทางอื่นใดมาเสริม มือซ้ายกับมือขวาเล่นไล่จับกันอย่างสนุกสนาน และความสนุกสนานที่ว่านี้ก็ถ่ายทอดไปยังวาทยกรและนักดนตรีด้วย นานๆครั้งจะได้ฟังการตีความเปียโนคอนแชร์โตที่ทำความหลายของอารมณ์ออกมาเป็นความหลากหลายของเสียงดนตรีได้ลงตัวขนาดนี้ ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ เกี่ยวกับงานของเบโธเฟน  ซึ่งอยากจะขออนุญาตฝากเอาไว้ ณ  ที่นี้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยบทบาทของกลองทิมปานิ (timpani) เบโธเฟนไม่ได้ใช้กลองแบบพร่ำเพรื่อ หรือเป็นเครื่องเสริม แต่กลองมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเครื่องดนตรีอื่น ขอให้พยายามจับลีลาของกลองไว้ให้ดี แล้วเราจะได้รับมิติบางประการที่เจาะไปถึงแก่นของดุริยางคนิพนธ์ อีกไม่นานเบโธเฟน จะใช้กลองทิมปานิ เป็นตัวนำเข้าสู่งานอันยิ่งใหญ่ของท่าน คือ ไวโอลินคอนแชร์โต เสียงกลองที่ตี 4 ครั้งในตอนต้นคือตัวแทนของโครงสร้างลึกของงานทั้งหมด

          สำหรับการสารภาพบาปของผม ก็ควรจะกระทำ ณ ที่นี้เสียเลย  ดังที่เกริ่นมาแล้วข้างต้น ผมอาจจะประเมินบาเรนบอย์มในฐานะวาทยกรต่ำไป เพราะผมยกย่องเขาในฐานะนักเปียโน แน่หรือที่ผมผิด ฟังไม่ดี ฟังไม่เป็นเอง หรือว่า  บาเรนบอย์มเพิ่งจะเข้าสู่วุฒิภาวะในฐานะวาทยกรเมื่ออายุ 70 ไปแล้ว? ระวังให้ดีวาทยกรบางคนซึ่งโดดเด่นมาตั้งแต่อายุ 20 มาบัดนี้ 50 กว่าแล้ว ก็ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะเสียที ผมไม่ขอเอ่ยชื่อเช่นกัน ผู้ชม–ผู้ฟังในกรุงเบอร์ลินรู้จักเขาดี

          การแสดงครึ่งหลังประกอบด้วยงานช่วงปัจฉิมวัยของ จุเซบเป แวร์ดิ (Giuseppe Verdi: 1813-1901) มีชื่อเรียกง่ายๆว่า Quattro pezzi 77sacri(แปลว่า “เพลงศักดิ์สิทธิ์สี่บท”) บทที่ 1 – 2 4 เป็นภาษาละติน  เป็นเพลงสวดที่ใช้กันอยู่ในพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาอยู่แล้ว คือ Ave Maria, Stabat Mater และ Te Deum ส่วนเพลงที่ 3 เป็นภาษาอิตาเลียนโบราณ คัดจากผลงานอันเลื่องชื่อ La Divina Commediaของดันเต (Dante: 1256-1321) เป็นบทที่สรรเสริญพระแม่มารี แวร์ดิในตอนปัจฉิมวัยหันมาให้ความสนใจกับดนตรีศาสนา งานที่รู้จักกันดีก็คือ งานรำลึกมรณกรรมที่มีชื่อเป็นภาษาอิตาเลียนว่า “Messa da Requiem” นอกจากนั้นเขายังกลับไปศึกษางานของคีตกวีรุ่นเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาเลสตรีนา (Palestrina: 1514-1594) งานที่นำมาบรรเลงในครั้งนี้แวร์ดิมิได้แต่งขึ้นเป็นชุดเดียวกัน แต่สร้างขึ้นต่างวาระกัน  แล้วนำมารวมกัน พูดด้วยภาษาชาวบ้านก็คงจะต้องกล่าวว่า  เป็นงานของคนแก่ที่ตามใจตัวเอง คือเขียนไว้สำหรับกลุ่มนักร้องประสานเสียง (chorus) วงดนตรีขนาดใหญ่ และนักร้องหญิงเสียงโซปราโน ผู้ที่ไม่เคยฟังคีตนิพนธ์ชุดนี้มาก่อนอาจจะคิดว่า “มาผิดงาน” หรือผู้จัดเปลี่ยนรายการโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า เพราะนักร้องเดี่ยวเสียงโซปราโนไม่ปรากฏตัวบนเวทีตั้งแต่ต้น จนเพลงจะจบแล้วก็ยังไม่เห็นตัวเธอ ที่ไหนได้ พอใกล้จะจบการบรรเลงท่อนสุดท้าย เธอก็เปล่งเสียงอันโหยหวนออกมาเป็นกลอนเพียงไม่กี่วรรค มิใช่จากเวทีแสดงด้านล่าง แต่จากที่นั่งคนดูชั้นบนสุด เฉียงไปทางด้านซ้ายของเวที บังเอิญผมนั่งอยู่ใกล้กับที่เธอยืนร้อง จึงได้เห็นเธอ เธอชื่อ เอเวอลิน โนวาค (Evelin Novak) เป็นชาวโครเอเชีย แต่เป็นนักร้องประจำโรงอุปรากรสตาทสโอแพร์ของกรุงเบอร์ลินนี่เอง ถ้าเป็นนักร้องอเมริกันที่ได้รับเชิญมา  คงต้องลงทุนค่าเครื่องบินเป็นจำนวนไม่น้อย  เพื่อมาร้องเพียงไม่กี่นาที

          สำหรับกลุ่มนักร้องประสานเสียงในการแสดงครั้งนี้ เป็นกลุ่มนักร้องประจำสถานีวิทยุเบอร์ลิน รู้จักกันดีในนามของ Rundfunkchor Berlin พวกเขาต้องพบกับงานหนักในการบรรเลงครั้งนี้ เพราะต้องร้องเพลงที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีหลายช่วงที่แวร์ดิกำหนดให้ร้องโดยไม่มีดนตรีคลอ  ซึ่งเรียกว่า “A capella” และที่ยากไปกว่านั้นคือ ให้เริ่มร้องก่อนที่วงดนตรีจะเล่นตามมาภายหลัง สำหรับการประพันธ์ดนตรีของแวร์ดิในช่วงปัจฉิมวัยนั้นจะมีลักษณะสอดกันหลายแนว (contrapuntal) ทำให้ร้องยากและเล่นยาก ผมไม่คิดว่าบาเรนบอย์มคุ้นกับงานนี้มากนัก การจะปรับตัวจากดนตรีอุปรากร (และก็เป็นอุปรากรที่มีเนื้อหา “ทางโลก” มากๆ) มาสู่ความเคร่งขรึมของดนตรีศาสนาก็เป็นเรื่องยากสำหรับคีตกวีอยู่แล้ว การที่วาทยกรจะหาวิญญาณของดนตรีที่อยู่ ณ แดนกลางระหว่างทางโลกกับทางธรรม โดยมีโจทย์กำกับอยู่ว่าจะเบนไปหาทางธรรมให้ได้นั้น นับว่าเป็นงานที่ท้าทายมาก ผมยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า ไม่ว่านักร้องประสานเสียงกลุ่มนี้และวงดนตรีวงนี้จะเก่งกาจสักเพียงใด เขาก็คงยังซ้อมกันมาไม่ลงตัว บาเรนบอย์มเป็นวาทยกรที่เจนเวที จุดใดที่ยังไม่ลงตัวก็ปรับเข้าไปหาลีลาของการแสดง คือทำให้ออกเป็นแนว dramatic เสีย โดยเฉพาะการใช้เครื่องลมทองเหลืองนั้น  บางครั้งก็ดังจนกลบทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด การฟังดนตรีชิ้นนี้ครั้งแรกไม่ง่ายกว่าการฟังดนตรีของศตวรรษที่ 20 เลย ผมต้องยอมรับว่ายังไม่ดื่มด่ำกับงานงานชิ้นนี้ ซึ่งต่างจาก Requiem ของแวร์ดิที่ฟังง่าย (แต่ก็มีผู้อธิบายว่าที่ฟังง่าย เพราะใกล้อุปรากรมากกว่าดนตรีศาสนา) ถึงอย่างไรก็ตามก็คงจะต้องลงความเห็นว่า ผู้สูงวัยที่ไม่ยอมหยุด พยายามแสวงหาแนวทางใหม่อยู่เสมอ  คือผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง

          รายการแสดงดนตรีในวันที่ 15 กันยายน จัดได้ว่าเป็นรายการที่สร้างประสบการณ์ทางดนตรีซึ่งหาที่เปรียบได้ยาก สำหรับผมเองนั้นถ้ามีผู้ถามว่า ถ้ามาเบอร์ลินเพียงเพื่อฟังเปีนโน 4 มือ บรรเลงโดยนักดนตรีเอกของโลกสองคนนี้คุ้มหรือไม่ ผมจะไม่ลังเลที่จะตอบว่า “คุ้ม” แต่ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ผมได้รับประสบการณ์ที่กว้างและลึกที่เกินกว่านั้นมาก จึงจำจะต้องกล่าวว่า “เกินคุ้ม”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *