จาก Gothic fiction ถึง “เงาอุบาทว์”

จาก Gothic fiction ถึง “เงาอุบาทว์”

สุชาติ  สวัสดิ์ศรี


… (เกริ่นนำถึงประสบการณ์การอ่านในวัยเด็กของคุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี)

 

เรื่องสั้น เงาอุบาทว์ ของปกรณ์  ปิ่นเฉลียว ที่คัดมาเป็น “เรื่องสั้นเกียรติยศ” ในฐานะที่เขาคือนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ  ประจำปี 2539 ของสำนักช่างวรรณกรรม  และได้ขออนุญาตนำมาให้นักอ่านเรื่องสั้นรุ่นหลังได้อ่านกันในภาคพิเศษ  ซึ่งนับแต่นี้ต่อไปจะถือเป็นภาคส่วนวรรณกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสั้นช่อการะเกด  ท่านผู้อ่านจะถือว่าภาคส่วนวรรณกรรมเป็น “โบนัสพิเศษ” แถมมาพร้อมกับเรื่องสั้นช่อการะเกดก็ย่อมได้  เนื้อหาอันเป็น “โบนัสพิเศษ” นี้จะมีตั้งแต่ บทความเขียน บทความแปล บทสัมภาษณ์ บทวิจารณ์ผลงานรวมเล่มของนักเขียนเรื่องสั้นช่อการะเกด  บทรำลึกย้อนหลังของนักเขียนเรื่องสั้นช่อการะเกดในอดีต  ตลอดจน “เรื่องสั้นเกียรติยศ” ของบรรดามือกระบี่เรื่องสั้นมีชื่อทั้งในฐานะที่เป็นเรื่องสั้นเก่าและเรื่องสั้นเขียนใหม่

สำหรับ “เรื่องสั้นเกียรติยศ” ที่เป็นเรื่องสั้นยุคเก่าก็จะมีการ “เกริ่นนำ” ให้มองเห็นความสำคัญของเรื่องสั้นนั้นโดยวิธีการต่างๆ ทั้งในมุมมองของความทรงจำและมุมมองของการวิพากษ์วิจารณ์  ทั้งนี้ก็เพื่อความประสงค์อยากให้นักอ่าน นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ได้ศึกษารูปแบบและเนื้อหาของเรื่องสั้นนั้นๆ เพื่อรับรู้ “รากเหง้า” ของเรื่องสั้นในอดีตที่มีมาก่อนหน้ารุ่นตน  เพื่อคารวะและน้อมนำใจที่จะเชื่อมต่อ “อดีต” เข้ากับ “ปัจจุบัน” เพื่อแสดงให้เห็นเส้นธารวรรณศิลป์อันเดียวกันที่มีที่มาที่ไป และเพื่อแสวงหา “ความหมายร่วมกัน” ทั้งในบริบททางศิลปะและบริบททางสังคม ทั้งใน “รากเหง้า” ของเราเองและในความเป็นมาเชิงสากล

การรับรู้และเรียนรู้ “ความหมายใหม่ๆ” ของชั้นเชิงวรรณศิลป์ที่มีอยู่หลากหลายทั้งอดีตและปัจจุบันน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้มาตรฐานของเรื่องสั้นไทยเขยิบสูงขึ้น  พวกเราทั้งหลายในรุ่นนี้และรุ่นต่อไปล้วนถือว่าเป็นผู้สืบต่อ และทั้งหมดล้วนเติบกล้างอกงามขึ้นมาจาก “รากเหง้า” ที่บรรพบุรุษเรื่องสั้นได้หว่านเพาะไว้ในอดีตกาล  ดังนั้นขอเรา จงอย่าลืม และเมื่อไม่ลืมก็ขอจงทำให้มั่นคงและก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อค้นหา เพื่อค้นพบ เพื่อการรังสรรค์ความคิดริเริ่มและกระบวนการใหม่ๆ ทางภาษาวรรณศิลป์ ให้มีชั้นเชิงและความหมายแปลกลึกมากยิ่งขึ้น

เรื่องสั้น เงาอุบาทว์ ของปกรณ์  ปิ่นเฉลียวเรื่องนี้  รากเหง้าของรูปแบบและเนื้อหาถือได้ว่าอยู่ในเบ้าหลอมอันเดียวกับที่ศัพท์วรรณกรรมของฝรั่งเรียกว่า Gothic fiction และบางครั้งมีคำขยายที่ใช้ในความหมายกว้างๆ เรียกว่า supernatural story ในเนื้อหาของวรรณคดีโบราณ เรื่องราวชาดก เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ก็มีส่วนสะท้อนให้เราเห็นลักษณะที่เป็น supernatural story ในชุมชนสังคมไทยแต่เดิมไม่มากก็น้อย การจัดการเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายล้วนยังเกี่ยวข้องอยู่กับ “พิธีกรรม” ที่มีรูปลักษณ์เกี่ยวกับการรับความเชื่อในเรื่อง supernatural  ต่างๆ ไม่ว่าจะเรียกในชื่อใด รูปลักษณ์ของเรื่องราวที่ปรากฏเช่นเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผี เรื่องวิญญาณ เรื่องเวทมนตร์คาถา เรื่องอำนาจจิต เรื่องกลับชาติมาเกิด ฯลฯ เนื้อหาต่างๆ อันชวนก่อให้เกิดความระทึกเหล่านี้ล้วนมีตัวอย่างเป็นรายละเอียดอยู่ในทุกสังคมทั้งอดีตและปัจจุบัน  อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของ “เบ้าหลอม” ที่จะใช้เรียกเป็นศัพท์วรรณกรรมของเรายังไม่มีการศึกษาให้เป็นระบบมากพอ ส่วนใหญ่แล้วมักจะหยิบยืมเอาคำของฝรั่งมาใช้เป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องผี (Ghost story) เรื่องไสยศาสตร์ (Superstitious story) เรื่องลึกลับ (Mysterious story) เรื่องระทึกขวัญ(Chilling story) เรื่องสยองขวัญ (Horror story) เรื่องสะเทือนขวัญ (Sensational story) เรื่องวิปริต (Macabre story) เรื่องโหดเหี้ยมรุนแรง (Cruelty and Violent story) เรื่องพิศดารไร้เหตุผล (Irrational story) เรื่องจิตวิปลาส (Perverse impulse story) เรื่องฝันร้าย (Nightmarish story) เรื่องตื่นเต้นผจญภัย (Adventurous story) เรื่องผีดิบ (Vampire and Zombie story) เรื่องสัตว์ประหลาด (Monster story) ฯลฯ

เรื่องราวของเนื้อหาที่เอ่ยปรากฏไม่ว่าจะมีส่วนปลีกย่อยดังที่ยกคำฝรั่งมาไว้อย่างกว้างที่สุดนี้ ไม่ว่ามันจะคลี่คลายไปทางใด…จะเน้นไปทางการต่อสู้ผจญภัย การแย่งชิงทรัพย์สมบัติ การแย่งผัวแย่งเมีย หรือจะเน้นไปทางก่อให้เกิดความสยอง ระทึกขวัญ สะเทือนใจ ฯลฯ โดยทางศัพท์วรรณกรรมตะวันตกถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันว่า  เรื่องราวของเนื้อหาประเภทนี้มีคำเรียกอันเป็น บ่อเกิดใหญ่ อยู่เพียงคำเดียวเท่านั้น นั่นคือคำว่า Romance (เรื่องทำนอง “ฉันรักผัวเขา” หรือประเภท “Love story” ทั้งหลายถือเป็นเพียงกระผีกย่อยส่วนหนึ่ง) ถ้าหากเรื่องราวเนื้อหานั้นๆ เน้นมาทาง horror ฝรั่งเขาจะแยกศัพท์ออกมาเป็นคำว่า Gothic หรือบางทีจะใช้รวมกันไปว่า Gothic Romance

เรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ เรื่องสยองขวัญ…ที่มีมุมมองไปในแง่อารมณ์ตื่นเต้นเกินพอดี-หรือที่เรียกว่า Melodrama เหล่านั้นแหละล้วนได้รับการแปลการแต่งกันมาตั้งแต่ครั้ง “นักเรียนนอก” รุ่นแรกของไทยกลับมาจากอังกฤษในช่วงรัชกาลที่ 5 ต่อกับช่วงรัชกาลที่ 6 และระยะนั้นเรื่องที่แต่งหรือแปล (ส่วนใหญ่มักจะแปลง) ประเภทชวนตื่นเต้น สยดสยอง ขนลุกขนพอง เห็นเลือดแล้วเป็นลม…อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ล้วนมีตัวอย่างให้เห็นกันมาตั้งแต่ ความพยาบาท ของแมรี่  คอเรลลี่ ที่ “แม่วัน” แปล (และแปลงบ้างเล็กน้อย) ระยะนั้นเคยมีผู้คิดไปว่าเรื่องทำนองลึกลับตื่นเต้นปนระทึกขวัญ ชิงรักหักสวาท ฟันดาบแย่งราชบัลลังก์ คุกมืด นักโทษหัวขาด ฯลฯ อะไรเหล่านี้คือลักษณะรูปแบบที่ฝรั่งเรียกว่า tragedy ดังนั้นจึงมีผู้คิดแปลคำว่า tragedy ว่าเป็นเรื่องประเภท อนาถวัตถุ ความจริงลักษณะแบบ tragedy อันเป็นความเศร้าความตาย ก็ถือเป็นส่วนสำคัญของเรื่องประเภท Romance  เช่นกัน แต่ทว่าการแต่งการแปลของเราในช่วงบุกเบิกทะลุทะลวงเข้าไปไม่ถึง tragedy อันเป็นต้นแบบของกรีก อย่างมากที่พอเห็นอิทธิพลเรื่อง อนาถวัตถุ แบบไทยไทยนั้นดูจะได้เค้ามาจากเบ้าเดียวเท่านั้น นั่นคือเบ้า Romance และเบ้า Gothic ซึ่งถ้าตรวจสอบกันอย่างเป็นระบบแล้วอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกที่ “หลุด” เข้ามาสู่สังคมและกลายเป็น Mainstream ของวรรณกรรมไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันก็จะมีอยู่แค่เบ้า Romance และเบ้า Gothic นี้เท่านั้น ไม่ว่าจะพิจารณาตั้งแต่ครั้ง ความพยาบาท ของแมรี่  คอเรลลี่ เรื่อยมา จนถึงงานประเภทที่ผมติดใจนักทั้ง เหยี่ยวราตรี อินทรีแดง ทั้ง “พนมเทียน” “ทมยันตี” “กฤษณา  อโศกสิน” “แก้วเก้า” หรือล่าสุดที่ต้องนับเอา “กิ่งฉัตร”  และอำพรางอำยวน เข้าไปในกระแสเบ้าเดียวกันนี้

นั่นคือ “กระแสหลัก Romance” และ “กระแสย่อย Gothic” ที่ถือเป็นอันหนึ่งอันเดียว ดังจะกล่าวต่อไปว่ามีความเป็นมาประการใด

ศัพท์วรรณกรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเรียก Gothic fiction, Gothic story หรือ Gothic novel ไม่ว่าจะมีเนื้อหาหรือรูปแบบแยกย่อยออกไปจนทำให้เห็นว่าไอแซ็ค  อาซิมอฟแตกต่างจากสตีเฟน  คิง Rebecca ของดัฟฟี่  ดู เมอร์ริเอร์แตกต่างจาก บ้านทรายทอง ของ ก.สุรางคนางค์ Wuthering Heights ของอิมิลลี่  บรอนเต้ แตกต่างจาก อวสานสวนกุหลาบ ของ ร.  จันทพิมพะ หรือ  Jane Eyre ของชาร์ล็อทท์  บรอนเต้ แตกต่างจาก ผู้ดี ของ “ดอกไม้สด” ฯลฯ ส่วนอันเป็นรายละเอียดและแง่มุมเชิงสังคม-วัฒนธรรมนั้นย่อมเป็นเรื่องของใครของมันอยู่แล้ว ไม่มีผู้ใดสงสัย  แต่ทว่า ทาง ที่มุ่งหมายนั้นต่างหาก เมื่อพิจารณา “เส้นทาง” อันเป็นมาของการเกิดก่อน-หลัง บรรยากาศและตัวละครที่โลดแล่นออกมาทั้งหมด ผมว่ามันอยู่บน ทาง เส้นเดียวกัน และเบ้าใหญ่อันเป็นรากเหง้ามาแต่เดิมของวรรณกรรมอังกฤษในยุค “วิกตอเรียน” สมัยศตวรรษที่ 18 นั้นก็คืออิทธิพลของเรื่องราวแบบ Gothic ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

และเมื่อสืบลึกลงไป เรื่องราวประเภท Gothic ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะอยู่ในเนื้อหาแบบอ่อน (เรื่องรัก เรื่องผจญภัย เรื่องลึกลับ) หรืออยู่ในเนื้อหาแบบแก่ (เรื่องสยองขวัญ เรื่องระทึกขวัญ เรื่องสะเทือนขวัญ) ศัพท์วรรณกรรมของตะวันตกได้ให้ความเข้าใจขยายความไว้ว่า มันก็คือชนิดหนึ่งของเรื่องประเภทโรแมนซ์ (A type of romance) นั่นเอง

แต่ดั้งแต่เดิม คำว่า “Gothic” หมายถึงชนเผ่าโกธ (Goths) ซึ่งเป็น “เผ่าเยอรมนิก” อันเป็นเผ่าพันธุ์อนารยะของยุโรปกลางและยุโรปเหนือที่มีกำลังกล้าแข็งขึ้นมาในยุค“มัธยสมัย” (medieval) ช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนสามารถแข็งข้อไม่ยอมรับความเชื่อ “อารยธรรมแบบกรีก-โรมัน” อีกต่อไป ดังจะเห็นชัดจากการสร้างอารยธรรมในแง่สถาปัตยกรรมของตนขึ้นเรียกว่า สถาปัตยกรรมกอธิก อันมีรูปแบบเฉพาะในแนวทางของสถาปัตยกรรมยุคมัธยสมัย โดยมีการใช้ “ซุ้มประตูโค้ง” (arch) และหลังคาโค้งยอดแหลม (vault) ทำให้ลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ยึดถือตามระบบระเบียบแบบ คลาสสิก ของกรีกและโรมันได้รับการท้าทาย สถาปัตยกรรมแบบกอธิกได้แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปตะวันตก  ลักษณะของรูปแบบอันโดดเด่นที่ประกอบไปด้วยซุ้มประตูโค้งและหลังคาโค้งยอดแหลมได้ก่อให้เกิดบรรยากาศใหม่ทางพื้นที่ กล่าวคือเป็นสถาปัตยกรรมที่ให้บรรยากาศทึมทึบไม่สดใสเหมือนลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคที่เน้นเอาความโปร่งโล่งและความมีเอกภาพลงตัวเป็นหลัก  ถ้าคลาสสิคเป็นแสงสว่าง กอธิกก็จะเป็นแสงมืด ลักษณะสถาปัตยกรรมกอธิกก่อให้เกิดแสงเงาที่มีความสลับซับซ้อน เส้นโค้งของหลังคาและซุ้มประตูไม่ว่าจะเป็น ปราสาท หรือ คฤหาสน์ จะก่อให้เกิดความรู้สึกเร้นลับเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่เย็นเยือก มีทางเดินใต้ดิน มีประตูเลื่อน มีช่องกลในการอำพรางตัว มีหลุมพรางที่เตรียมไว้ดักศัตรู ลักษณะของปราสาทหรือโบสถ์วิหารได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบนี้จึงเต็มไปด้วยความทึบทึม เหมือนสงสัยการมีอยู่ของ “พระเจ้า” เหมือนเห็นว่าชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เหลี่ยมมุมทึบทึมและความสลัวเลือนในช่วงฤดูหนาวอันยาวนานของยุโรปเหนือได้เร้าให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ความวิปริตบ้าคลั่ง การฆ่าล้างเผ่าล้างตระกูล ความอาฆาตพยาบาท การหายตัวอย่างลึกลับ การปรากฏตัวด้วยเวทมนตร์คาถา ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ ลักษณะของสถาปัตยกรรม “แบบกอธิก” จะมีลักษณะตรงกันข้ามทุกประการกับลักษณะของสถาปัตยกรรม “แบบคลาสสิค” อันมีต้นกำเนิดที่ถือเป็นแบบแผนและมีระเบียบเคร่งครัดตกทอดมาจากอิทธิพลของอารยธรรมกรีกและโรมัน (อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมแบบ “หลักสี่พลาซ่า” จะเป็นอิทธิพลมาจากแบบ “คลาสสิค” หรือแบบ “กอธิก” ผมก็จนปัญญาจะตอบเหมือนกัน…มันเหมือนวรรณกรรมไทยปัจจุบันที่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาแดร๊กคูล่า หรือ แม่นาคพระโขนง)

เนื่องจากสถาปัตยกรรมกอธิกเกี่ยวข้องกับยุคสมัยกลางของยุโรป  เรื่องราวอันเป็นการผจญภัย การเดินทางแสวงหา การค้นหา (เรื่อง) และการค้นพบ (เรื่อง) ของคติความเชื่อแบบอัศวิน หรือที่เรียกว่าคติแบบ “chivalry” ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่อันสูงส่งและสง่างามจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ความแค้น ความเสียสละ การปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจประเภท “เสี่ยงตาย” ตลอดจนการกู้เกียรติและการทำ “หน้าที่เยี่ยงอัศวิน” อันมอบให้แก่ “นางผู้เป็นที่รัก” (Lady love) ฯลฯ การกระทำและพฤติกรรมเยี่ยงอัศวินในยุคมัธยสมัยนี่เองที่กลายเป็นเบ้าใหญ่อันก่อให้เกิดที่มาของคำว่า Romance ในฐานะที่เป็นรากเหง้าดั้งเดิมที่จะเป็นบ่อเกิดพฤติการณ์อีกหลายรูปแบบและเนื้อหาตั้งแต่เซอร์ลานสล็อต, โรบินฮู้ด, อินเดียน่า โจนส์, เสือใบ-เสือดำ, ชีพ ชูชัย, ระพินทร์  ไพรวัลย์ และ Die Hard ทั้ง 3 ภาค

ด้วยประการนี้ คำว่า “กอธิก” ในศัพท์วรรณกรรมตะวันตกแต่เดิมจึงมีรากเหง้าลงลึกไปในอดีตความเป็นมาของชุมชนยุโรปสมัยกลาง และสามารถให้ “อิง” ไปได้ในเรื่องราวหลายระดับ กล่าวคือ

  1. หมายถึง “ชนเผ่าโกธ” อันเป็นเชื้อสายเยอรมนิก เป็นนัยะคล้ายกับจะอิงถึงความโหดร้าย ป่าเถื่อนในฐานะของ “ผู้คนอนารยะ” ที่จะแสดงพลังชั่วร้ายด้านมืดที่เรียกว่า “barbaric” ออกมา
  2. 2. หมายถึงสถาปัตยกรรมแบบกอธิก อันบ่งถึง “สถานที่” ที่จะเป็นบรรยากาศและเป็นฉากว่าด้วยปราสาท โบสถ์วิหาร หรือคฤหาสน์ที่มีเหลี่ยมมุมของ “ซุ้มประตูโค้ง” และ “หลังคาโค้งยอดแหลม” ก่อให้เกิดภาวะทึมทึบ สลดหดหู่ ผุผัง มีแต่ความลึกลับและเป็นที่สิงสู่ของเรื่องราวและการกระทำอันลี้ลับต่างๆ
  3. 3. หมายถึงการผจญภัยและการกระทำเยี่ยงอัศวินในมัธยสมัย นี่เป็นด้านตรงข้าม เป็นด้านสว่างที่สง่างามเยี่ยงอัศวิน-chivalry กล่าวคือ อดทน กล้าหาญ ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตัว ช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ นี่คือส่วนหนึ่งของลักษณะแบบ Romance ที่เราจะเห็นตัวอย่างได้ร้อยแปดในวรรณกรรมแทบทุกชาติ  ดังนั้นไม่ว่าเขาหรือหล่อนจะออกเดินทางผจญภัย เข้าไปในบรรยากาศของความลึกลับและความลึกลับ ไม่ว่าอะไรจะขวางหน้าก็ต้อง “ฝ่าข้ามไป” ไม่ว่าจะพบภูตผีปีศาจ มังกรร้าย มนุษย์กินคน หรือ “นังอิจฉา” ในจอทีวี  พระเอกและนางเอกก็จะต้องต่อสู้ให้สำเร็จลงด้วยการกระทำอันมีเกียรติ ไม่ว่าจะอยู่ใน Wuthering Heights หรือใน บ้านทรายทอง ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายใน The Fall of the House of Usher ของเอ็ดการ์  อัลเลน  โป หรือความน่ารัก   อีโรติกของ แม่เบี้ย ในเรือนไทยโบราณ ของวาณิช  จรุงกิจอนันต์ ไม่ว่าจะเป็น “เสาตกน้ำมัน” ในเรื่อง ผาติกรรม หรือ “เสารั้วลวดหนามต้นที่สาม” ในเรื่อง เงาอุบาทว์ ทั้งหมดล้วนอยู่ในกระแสโรแมนซ์ อันเป็น Gothic romance ที่น่าสนใจยิ่ง

ในวงวรรณกรรมตะวันตก  หากไม่นับเรื่องราวประเภทโรแมนซ์ที่ปรากฏอยู่ในลำนำเชิงกวีนิพนธ์และนาฏกรรมเชิงบทละครที่มีกระจัดกระจายอยู่มากมายในฐานะ “วรรณกรรมมัธยสมัย” เรื่องราวโรแมนซ์ร้อยแก้วเล่มแรกๆ มีผู้กล่าวถึง อาหรับราตรี, เดคาเมรอน และ นิทานกริมม์ ส่วนในทางตะวันออกนั้นหลายคนอาจนึกไปถึง Tales of Genji ของ”เลดี้มูราซากิ” แห่งญี่ปุ่น และอาจนึกไปถึง สามก๊ก ไซอิ๋ว ของจีน รามายณะ ของอินเดีย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี วรรณกรรมร้อยแก้วสมัยใหม่ถือกันว่าเป็น Gothic fiction เล่มแรกในฐานะ “นิยาย” ที่สร้าง “แบบอย่างการประพันธ์” เรื่องราวประเภท Gothic romance ขึ้นมาก็คือผลงาน Harace Walpole เรื่อง  Castle of Otranto, a Gothic story ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1764 ที่นิยายเล่มนี้ถูกยกขึ้นเป็นแบบอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึงปราสาทมืดแห่งหนึ่งในมัธยสมัย  เรื่องราวลี้ลับชวนระทึกใจเกิดขึ้นในสถานที่ที่เป็นบรรยากาศของสถาปัตยกรรมแบบกอธิก และแม้แต่ชื่อปกก็มีคำว่า “a Gothic story” ระบุประเภทงานไว้ชัดเจน ทำให้ผลงานการประพันธ์ในรูปแบบเนื้อหาทำนองนี้ได้รับการเรียกเป็นยี่ห้อว่า “Gothic story” “Gothic romance” มาตั้งแต่บัดนั้น

นิยายเชิงระทึกขวัญที่เอ่ยถึงแนวเรื่องประเภท a house full of horrors ยังมีผู้ยกย่องเอ่ยไว้เป็นตัวอย่างอีกหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นงานประพันธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และสืบเนื่องมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเรื่องเด่นๆ ที่อยากขอเอ่ยไว้เป็นความรู้ ณ ที่นี้ก็มีเช่น เรื่อง Vathek ของ William Beckford พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1786 ใช้ฉากประเทศที่มีบรรยากาศแบบตะวันออก โดยมีชื่อรองว่า “an Arabian Tale” แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในยุคมัธยสมัยอันเต็มไปด้วยแง่มุมทางเพศและความรุนแรงแบบเดียวกับงานเขียนของ Marquis de Sade ซึ่งจัดเป็น Gothic erotic อันมีรายละเอียดต่างหากออกไป (เรื่องนี้เราจะคุยกันอีกก็ได้ในวาระอื่น)

นิยาย “กอธิก” รุ่นบุกเบิกที่ได้รับการยกย่องเชิงวรรณศิลป์ค่อนข้างมากในช่วยระยะ “ร่วมสมัย” เดียวกันยังมีตามมาอีกหลายเล่ม เช่นเรื่อง The Mysteries of Udolpho ของ Ann Radcliffe พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1794 เรื่อง The Monk ของ Matthew Gregory Lewis พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1797 ทั้งสองเรื่องนี้ยังใช้ฉากและบรรยากาศแบบ “กอธิก” ในสมัยกลางเช่นเดียวกัน เนื้อหาเน้นไปที่ความสยดสยองและเรื่อง “เหนือธรรมชาติ”

หลังจากนี้เป็นต้นมา นิยาย “กอธิก” ได้คลี่คลายขยายขอบเขตออกไปโดยไม่ได้ยึดว่าต้องใช้ฉากมัธยมสมัยอีกต่อไป  แต่ยังคงบรรยากาศน่ากลัวและเหตุการณ์อันระทึกขวัญไว้เหมือนเดิม  บางเรื่องเพิ่มความลึกด้านตัวละครมากขึ้นและมี “มุมมองเชิงจิตวิทยา” มากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะอ้างอิงถึงความปวดร้าวที่ “เกินกว่าจะรักษาให้หายขาด” ความพิการอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ “ปรารถนาดี” หรือไม่ก็กล่าวถึงสภาวะจิตใจที่วิปลาสไปเพราะ “อำนาจชั่วร้ายบางอย่าง” และความบ้าคลั่งอันเนื่องมาจาก “สูญเสียนางอันเป็นที่รัก” ความทะเยอทะยานและความ “บ้าวิชา” ที่นำไปสู่ “อำนาจเร้นลับ” และการท้าทายพระเจ้า  นอกจากนั้นลักษณะ “ความรุนแรงทางเพศ” ก็ได้เขียนถึงในแง่มุมที่มีรายละเอียดร่วมสมัยมากขึ้น นิยาย “กอธิก” ที่ไม่ได้ใช้ฉากและเรื่องในสมัยกลางอีกต่อไปก็มี เช่น เรื่อง Caleb William ของ William Godwin พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1794 นิยาย “กอธิก” ที่ได้รับการยกย่องอย่างมากและยังถือเสมือนหนึ่งเป็นงานเขียน “ไซ-ไฟ” สมัยใหม่เล่มแรกๆ ของวงการ “นิยายวิทยาศาสตร์” ในยุโรปตะวันตกก็คือเรื่อง Frankenstein ของ Mary Shelley พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1817

นอกจากนี้ “กอธิก” ประเภทผีดิบดูดเลือดที่สร้างความสยองขวัญให้ผู้คนจดจำได้ แม้แต่ตัวละครในเรื่อง “เงาอุบาทว์” ก็ยังอ้างถึง นั่นคือเรื่อง แดร็กคิวล่า ของบราม สโตกเกอร์ นักเขียนในยุค “วิกตอเรียน” ของอังกฤษหลายคนได้พัฒนาแนวเรื่อง “กอธิก” ให้มีนัยะร่วมสมัยมากขึ้น ความไม่สมหวังเกี่ยวกับความรักและเรื่องความไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับ “ชาติตระกูล” ถูกนำมาใช้มากขึ้น ดังปรากฏในงานประพันธ์ของ “พี่น้องตระกูลบรอนเต้” ซึ่งอาจจะถือเป็นแม่บทของ Gothic romance เกี่ยวกับความรักและชีวิตครอบครัว เช่น Wuthering Heights ของ Emily Bronte พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1847 และ Jane Eyre ของ Charlotte Bronte พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1857 ดูเหมือนจะได้รับการเอ่ยถึงมากที่สุด และที่บ้านเราก็รู้จักกันดีมากที่สุด ทั้งที่อยู่ในรุ่น “ปลายแถว” ของนักเขียนอังกฤษยุคนั้นก็คือ แมรี่  คอเรลลี่

เรื่องแนวโรแมนซ์ที่ยังอิงบรรยากาศลี้ลับแบบ “กอธิก” ในรุ่นถัดมาดูเหมือนจะคลี่คลายไปหาเรื่องการผจญภัย อาทิ งานเรื่อง สาวสองพันปี ของเซอร์ ไรเดอร์  แฮกการ์ด ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของเรื่องผจญภัยในดินแดนลี้ลับต่างๆ แบบเรื่อง ราชินีบอด ของสุวัฒน์  วรดิลก, ล่องไพร ของน้อย  อินทนนท์ และ เพชรพระอุมา ของ “พนมเทียน” เกาะมหาสมบัติ ของรอเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน ก็ออกไปทางการผจญภัย งานชุดเชอร์ล็อก โฮล์ม ของเซอร์ อาเธอร์  โคแนน ดอยส์ เป็นเรื่องแนวโรแมนซ์ที่คลี่คลายออกมาเป็นต้นแบบของเรื่องนักสืบ งานโรแมนซ์ในลักษณะเรื่อง Time Machine ของ เฮช. จี. เวลล์ ก็คลี่คลายออกไปกลายเป็นแม่แบบให้กับงานเขียนประเภท Fantasy และ Sciencefiction ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนรูปโฉมจนมีรายละเอียดก้าวหน้าเป็นของตนเอง แต่โดยหลักแล้วเบ้าหลอมใหญ่ของมันก็คือ เบ้า Romance นั่นเอง ดังนั้นเมื่อท่านได้ยินคำว่า โรแมนซ์ ท่านควรจะต้องเข้าใจศัพท์วรรณกรรมไปให้หลากหลายกว้างขวางมากกว่าเรื่องรักหวานจ๋อยหรือนิยายจุ๋มกับจิ๋มประเภท “หวานมันฉันคือเธอ”

ทั้งนี้เพราะเบ้าหลักของคำว่า Romance นั้น โครงเรื่องหลักอันเป็นมาตรฐาน ไม่ว่าจะคลี่คลายเนื้อหาไปในแนวใดก็คือ คติว่าด้วยการแสวงหา (quest) นั่นเอง ซึ่งทั้งหมดแห่งคติดังกล่าวย่อมได้แก่พฤติกรรมต่างๆ อันว่าด้วยความรัก ความเกลียด ความโลภ ความหลง ความกลัว ความหวังและความตาย

นอกจากงานนิยาย “กอธิก โรแมนซ์” ของนักเขียนอังกฤษในยุคกลางศตวรรษที่ 18 และศตวรรษที่ 19 แล้ว  งานเรื่องสั้นของนักเขียนเยอรมันชื่อ E.J.A. Hoffmann ก็ได้รับการยกย่องมาก แต่เราไม่ค่อยรู้จักเขามากนัก ผิดกับชื่อเสียงของเอ็ดการ์  อัลเลน โป  นักเขียนอเมริกันรุ่นบุกเบิกที่เรื่องสั้นหลายเรื่องเคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และงานในแนว “กอธิก” ของโป นั้นแจ่มชัดในแง่เร้าอารมณ์ “ระทึกขวัญ” และ “สยองขวัญ” (chilling terror) ได้โดดเด่น อีกทั้งมีเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง จนสามารถกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องของเขานั้น “–เปิดเรื่องเข้าสู่อาณาจักรที่เหตุผลไม่ได้เป็นใหญ่ (irrational) แสดงภาวะทางจิตใจที่วิปลาส (perverse impulses) และสะท้อนความกลัวที่เป็นฝันร้ายอันนอนสงบนิ่งอยู่ภายใต้พื้นผิวของจิตใจที่เป็นอารยะ” (นักวิจารณ์อเมริกันชื่อ M.H Abrams เขาเขียนประโยคที่ผมแปลไปแล้วนี้ว่า “the nightmarish terrors that lie beneath the orderly surface of the  civilized mind”

ที่ยกถ้อยคำอันเอ่ยกล่าวถึงเอ็ดการ์ อัลเลน โป มาให้ท่านอ่านก็เพื่อเป็นการสรุป “ภาพรวม” ว่าเรื่องสั้นหรือนิยายประเภท “กอธิก” รุ่นใหม่ๆ นั้น มีแง่มุมที่เป็น “เชิงจิตวิทยา” มากขึ้น และไม่จำเป็นต้องพึ่ง สถานที่ ประเภท “ซุ้มประตูโค้ง” และ “หลังคาโค้งยอดแหลม” อีกต่อไป แต่กระนั้นการเดินทางเข้าสู่จิตใจของมนุษย์อันเต็มไปด้วยความหวังและความกลัวดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ต่อไปในลักษณะที่ “ร่วมสมัย” มากขึ้น ตัวละครมี “ด้านลึก” และมีความสลับซับซ้อนขึ้น สถานที่อาจจะเป็นที่ใดก็ได้ ตราบใดถ้าหากมนุษย์ยังมีสถานะไม่มั่นคง ตราบนั้นสถานการณ์แบบ Gothic story ของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น เหมือนดังเช่นภาพรวม 3 ประการ เกี่ยวกับเรื่องสั้นของเอ็ดการ อัลเลน โป ที่ยกมาไว้ในวงเล็บภาษาอังกฤษข้างต้น

นิยายร่วมสมัยในยุคต้นและยุคกลางศตวรรษที่ 20 ที่ให้บรรยากาศระทึกขวัญและนำเสนอก้นบึ้งด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าตื่นตระหนก มีตัวอย่างอยู่หลายเล่มด้วยกัน เช่น The Picture of Dorian Gray ของออสการ์ ไวล์ด An Occurrence at Owl Creek Bridge ของแอม บรอซ เบียร์ซ The Turn of the Screw ของเฮนรี่ เจมส์ Sanctuary และ Absalom, Absalom ของวิลเลียม โฟล์กเนอร์ In Cold Blood ของทรูแมน  คาโพท และเรื่อง Beloved ของโทนี่ มอริสัน  นักเขียนสตรีชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อ ค.ศ. 1993 ก็น่าจะจัดเป็นงานในแนว “Modern Gothic” ได้ในระดับเดียวกันกับงานของวิลเลียม โฟล์กเนอร์  นอกจากนี้ยังมีงานร่วมสมัยของอีกหลายคนทั้งที่เป็นเรื่องสั้นและเรื่องยาว  เช่น งานของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์, เชอร์ลี่  แจ็คสัน, แอนเจล่า  คาร์เตอร์,  โรอัลด์ ดาห์ล, รอเบิร์ท  บลอซ, เรย์     แบรดบิวรี่  และถ้าใครจะเอ่ยชื่อสตีเฟน คิง รวมเข้าไปด้วย  ผมก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด

หันมาดู “เรื่องเล่า” ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองและวรรณกรรมไทยแนวใหม่ในแง่รูปแบบที่เป็นเรื่องสั้นและนวนิยายไทยทั้งอดีตและปัจจุบัน น่าเสียดายที่เราไม่มีการจัด “ระบบเรื่องแต่ง” และศึกษาวิธีการแต่งทั้งข้อมูลเกี่ยวกับวรรณกรรมโบราณและวรรณกรรมปัจจุบันอย่างเป็นระบบมากพอ  แม้แต่ข้อมูลอันว่าถึงเรื่องแต่งเรื่องแปล “แนวใหม่” ที่เราแปลงเราเขียนขึ้นมาจากอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตก เบ้ากระแสโรแมนซ์ และกระแสกอธิก ซึ่งน่าจะถือเป็นอิทธิพล “กระแสหลัก” หรือที่เรียกว่าเป็น “mainstream” ของวรรณกรรมไทยรุ่นบุกเบิกและถือสืบเนื่องมาเป็นงานแต่งประเภท “รักโศกสะเทือนใจ”  “ชิงรักหักสวาท” “โลดโผนผจญภัย” “ลึกลับสยองขวัญ” ที่จัดเป็นรูปแบบของ pulp fiction ทั้งหลายที่ยังคงครองตลาด “รสนิยมกระแสหลัก” ในวงการวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมาได้ตลอดทุกยุคสมัย  ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น และจนกระทั่งหนวดหงอกแล้ว ก็ยังเห็นรสนิยมว่าด้วยเรื่องราวประเภทโรแมนซ์ และโรแมนซ์กอธิกครองตลาดวรรณกรรม (ปัจจุบันขยายวงไปถึงบทละครโทรทัศน์) อยู่อย่างเหนียวแน่นและไม่ค่อย “เขยิบคุณภาพ” ไปทางไหนมากนัก- ยังไม่ค่อยพ้นไปจากเส้นรอบวงของแมรี่ คอเรลลี่ และเซอร์ไรเดอร์  แฮกการ์ด เท่าใดนัก กระนั้น แม้ว่าจะเป็นกระแสโรแมนซ์ และ โรแมนซ์ กอธิก แต่เอาเข้าจริงเมื่อดู “คุณภาพ” กันแล้ว เราก็รับเอาของเขามาแค่อิทธิพลจากงานรุ่นปลายแถว ส่วนรุ่นหัวแถวที่ผมเอ่ยชื่อมาบ้าง เราไม่ค่อยได้เอามาเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นงานของโฮเรซ  วัลโปล, แอนน์  แรด คลิฟฟ์, วิลเลียม  เบคฟอร์ด, แมททิว  เกรกอรี เลวิส หรือแม้แต่โรแมนซ์ “ระดับคุณภาพ” อย่างเอช. จี. เวลล์, ทอมัส  ฮาร์ดี้, ชาร์ลส์  ดิกเกนส์, เอ็ดการ์ด  อัลเลน  โป และนาธาเนียล  ฮอร์ธอร์น เราก็ไม่ค่อยได้รู้จักในแง่งานแปลหลักๆ ของเขามากนัก

นอกจากนั้น ข้อมูลในแง่ “รากเหง้า” ที่เป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะ พงศาวดาร ตำนาน นิทาน ชาดก ตำราสมุนไพร เพลงกล่อมเด็ก อีกทั้งเรื่องประเภท “จักรๆ วงศ์ๆ” ทั้งหลายทั้งปวง เรายังไม่รู้จักอย่างเป็นระบบอีกมาก ทั้งนักเรียนนอกในรุ่น “ร้อยแก้วแนวใหม่” อย่างเช่นกลุ่มพวก ลักวิทยา ยังค่อนข้างดูถูก “นิทานคำกลอน” ประเภทจักรๆ วงศ์ๆ ที่ถือเป็นเสมือน pulp fiction ของชาวบ้านทั่วไป โดยหาว่ามีแต่เรื่องยักษ์ เรื่องปีศาจ เรื่องเหาะเหินเดินอากาศ เรื่องล่องหนหายตัว ล้วนไม่เป็นสาระ ไม่ประเทืองปัญญาเหมือนแนวใหม่ปลายแถวของฝรั่งอย่างแมรี่      คอเรลลี่ หรือไม่ โรแมนซ์ เหมือนเรื่องรักลึกลับของชาร์ลส์ กาวิส ทั้งที่ตัวเรื่องและข้อมูลแต่โบราณอันเป็นรากเหง้าดั้งเดิมของเราที่ฝังตัวอยู่ในพิธีกรรมและคติความเชื่อทั้งพุทธ  ทั้งพราหมณ์ ทั้งผี มีรอพร้อมให้หยิบฉวยมาได้อยู่แล้ว  แต่เราไม่พัฒนา วิธีการ และ กลวิธี ในเชิง magical ให้มีแง่มุม “ทันสมัย” ขึ้นมามากนัก ความแปลกมหัศจรรย์ของ ท้าวพันตา ที่ถูกสาบให้มี “อวัยวะเพศหญิง” ทั่วทั้งตัวถือเป็น “แฟนตาซี” ที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก โยนีปีศาจ ที่ล่องลอยไปตามน้ำเพื่อตามหาสามี อันเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดหนึ่ง หรือแม้แต่ “สถานที่ลึกลับน่ากลัว” ที่ฝรั่งถือเป็น a house full of horror ของเราก็มีอยู่มากมายในเรื่องราวการเล่าแบบ “จักรๆ วงศ์ๆ” และคติพื้นบ้านพื้นเมืองแต่ดั้งเดิม.. ลองจินตนาการถึงโครงกระดูกมนุษย์และความสยดสยองใน “ห้องลับ” ที่พระสังข์ไปค้นพบและรู้ความจริงว่าแม่ของตนเป็นยักษ์ นี่แหละครับแง่มุมที่ฝรั่งเรียกว่า “กอธิก” น่าสยองขวัญนัก แต่เราไม่พัฒนาความกลัวหรือความน่ากลัวแบบฝรั่ง เราพัฒนาเสียงหัวเราะและอารมณ์ขันขึ้นมาแบบ “ไทยรักสนุก” แม้จะเรื่องน่ากลัวแบบแม่นาคพระโขนง เอาเข้าจริงแล้วก็ดูเหมือนจะได้ยินเสียงหัวเราะตอน  “แม่นาค” ถูกเรียกตัวลงหม้อเอาไปถ่วงน้ำดังลอดอออกมา คล้ายกับเห็นหน้า “ล้อต๊อก” อย่างไรก็อย่างนั้น ผมหัวเราะทุกครั้งเวลาที่ดูหนังผีไทยเมื่อวัยเด็ก  เรื่อง “กอธิก” แบบไทย ถ้าจะมีการพัฒนาในแง่มุมมองก็เห็นจะเป็นมุมมองว่าด้วย “ความกลัวนั้นสามารถหัวเราะได้”  ส่วนเรื่อง “กอธิก” แบบฝรั่งขนานแท้  มุมมองของเขาตามความเข้าใจของผมจะอยู่ที่ “ความกลัวคือความกลัวในตัวของมันเอง”

เรื่องสั้น “เงาอุบาทว์ ของปกรณ์  ปิ่นเฉลียว จัดอยู่ในขนบของเรื่องเล่าที่ฝรั่งเรียกว่า “Gothic story” อย่างไม่ต้องสงสัย หรือถ้าหากไม่ยอมรับในศัพท์วรรณกรรมดังกล่าวขอให้เข้าใจว่าหมายถึงเรื่องประเภท ”เหนือธรรมชาติ” หรือเรื่อง “ระทึกขวัญ” ในระดับใดระดับหนึ่งก็ได้ งานเรื่องสั้นของไทยในอดีตที่ใช้แนวเร้นลับเต็มไปด้วยบรรยากาศ “น่าหวั่นกลัว” มีสีสันของแนวทาง “ห้องลับ” “ตึกลับ” “ห้องต้องห้าม” ที่ฝรั่งเรียกว่า “the locked room” หรือ “the black room” หรือบางครั้งอาจจะเป็นบ้านเก่า ตึกเก่า คฤหาสน์เก่า หรือในป่าอาถรรพณ์ที่เต็มไปด้วยความสยดสยอง และมี “สิ่งลึกลับชั่วร้าย” แอบแฝง  เหล่านี้นักอ่านเรื่องสั้นและนวนิยายของไทยในอดีตคงจะได้เคยอ่านเรื่องทำนองนี้ผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย เช่น ในงานประพันธ์บางเรื่องบางเล่มของ น้อย  อินทนนท์, น้อย อภิรุม, สันต์ เทวรักษ์, มนัส  จรรยงค์, เทพ มหาเปารยะ, “พนมเทียน”, ชาลี  เอี่ยมกระแสสินธุ์, นิธ  เพียงไพร, ตรี  อภิรุม, “จินตวีร์  วิวัธน์”, ณรงค์  จันทร์เรือง ฯลฯ

ถ้าจะให้จัดขนบของเรื่องสั้นแนว “กอธิก” แบบไทย-ไทย ผมมีเรื่องสั้นในลักษณะขนบแบบนี้เป็นตัวอย่างอยู่ไม่น้อย เท่าที่จำได้ในเวลาจำกัดก็เช่น “จำปูน” ของเทพ  มหาเปารยะ “ท่อนแขนนางรำ”, “ซึงผี”, ครูแก ของมนัส  จรรยงค์ (โดยเฉพาะเรื่องสั้นที่มนัส จรรยงค์ใช้ตัวละครชื่อ “ประดิษฐ์” เป็นตัวเดินเรื่อง) “ตึกกรอสส์” ของ อ. อุดากร “ดาหวัน” ของ “อมราวดี” “แม่หยา” ของอุษณา  เพลิงธรรม “ไฟแดง” ของ อดุล  ราชวังอินทร์ “ลูกโป่งสีแดง” และ “ทางกลับจากถ้ำค้างคาว” ของพิชัย  ภูริพงษ์ “ลูกโป่งสีขาว” และ “ความหวังวันอังคาร” ของ นิพนธ์   จิตรกรรม “ผาติกรรม” และ “กา” ของวาณิช  จรุงกิจอนันต์ รวมทั้งเรื่องสั้นบางเรื่องของปกรณ์  ปิ่นเฉลียว อาทิ ตุ๊กแกนรก และ “เงาอุบาทว์” ซึ่งเรื่องหลังนี้ได้หยิบยกขึ้นมาคารวะในฐานะที่เป็น “เรื่องสั้นเกียรติยศ” ครั้งนี้

ลักษณะ mystic ในแง่ความระทึกใจเร้นลับของ “เงาอุบาทว์” ไม่ได้อยู่ที่ความลึกของตัวละคร หากแต่อยู่ที่การเดินเรื่องอย่างฉับไว และการอ้างว่า “เรื่องที่จะเล่าต่อไปข้างล่างนี้ ข้าพเจ้าได้ประสบมาด้วยตนเอง มันเป็นความจริงแท้ทุกประการ มิได้แต่งเติมเสริมขึ้นเลยแม้แต่อักษรเดียว” และได้กล่าวต่อไปเหมือนเป็นการย้ำอีกครั้งว่า “…มิได้เนื่องมาจากภาพมายา ความแปรปรวนทางจิตใจหรืออาการหลอนของประสาทอย่างใดอย่างหนึ่ง…” นอกจากนั้น  แม้ตัวละครทั้ง “ข้าพเจ้า” และ “บุรี  บุศราคมม์” จะเป็นชายโสดประเภท “คอทองแดง” แต่ทว่าในคืนเดือนหงายที่รั้วบ้านข้างโรงปอ ณ จังหวัดชัยภูมิ ที่เขาแวะไปเยี่ยมเยือนบ้านญาติตามคำเชิญนั้น  เขาทั้งสองไม่ได้แตะต้องเหล้าเลยแม้แต่หยดเดียว สติสัมปชัญญะจึงสมบูรณ์เมื่อได้พบเหตุการณ์ที่ชวนให้ “ขนหัวลุกเกรียว” กล่าวคือ ที่เสารั้วโรงปอต้นที่สาม เขาทั้งสองได้เห็น “…เงาของมันเป็นรูปผู้หญิงกำลังเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า…เป็นผู้หญิงจริงๆ ไม่ใช่คล้ายหรือเหมือน ยืนเต็มตัว ผมประบ่า ห่มสไบเฉียง และนุ่งโจงกระเบนผ้าลาย” ก่อนหน้าที่เหตุการณ์ระทึกขวัญจะได้เกิดขึ้น…จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาภายหลังนั้น ตัวละครที่ชื่อ “บุรี  บุศราคมม์” ก็เพียงแค่บอกกับผู้อ่านไว้เล็กๆ น้อยๆ ว่า “…จำตอนอั๊วชี้ให้ลื้อดูไอ้เงานรกนั่นได้ไหม มันหันมาเห็นพอดี นั่นแหละ อั๊วเริ่มปวดตั้งแต่ตอนนั้น”

“มันหันมาเห็นพอดี…” ปกรณ์  ปิ่นเฉลียวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ของ ฉาก มากนัก  แต่เขาเดินเรื่องอย่างรวดเร็วแทนโดยใช้ “บันทึกประจำวัน” บ่งบอกถึงเรื่องที่ได้เกิดขึ้นต่อมา ความสยดสยองระทึกขวัญได้เริ่มขึ้นที่ “มือ” ของบุรี  บุศราคมม์ นับแต่เริ่มออกรถจากชัยภูมิกลับกรุงเทพฯ และต้องแวะเอาเพื่อนเข้าโรงพยาบาลภูมิพล เพื่อให้หมอตรวจดูอาการปวดที่ “มือ” เหตุการณ์ระทึกขวัญตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2503 จนกระทั่งถึงวันที่ 1 กรกฎคม 2503 แม้ปกรณ์  ปิ่นเฉลียว จะไม่ได้ใส่ “ความลึก” ให้ตัวละคร  และไม่ได้บรรยายรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกันมากนัก ผู้อ่านก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่ามีเหตุการณ์ระทึกขวัญ อะไร และ อย่างไร เกิดขึ้นในห้องคนไข้ที่ตึกโรงพยาบาลภูมิพล โดยปกรณ์  ปิ่นเฉลียว ได้จบเรื่องสั้นของเขาในลักษณะ “สูตร” แบบเดียวกับเรื่อง The Black Cat และ Metzengerstein ของเอ็ดการ์  อัลเลน โป และไม่ได้อธิบายถึงรายละเอียดว่า ทำไม ในแง่เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เขาจบเรื่องสั้น “เงาอุบาทว์” โดยให้ตัวละครยืนยันกับผู้อ่านไว้อย่างหนักแน่นว่า “…ข้าพเจ้าขอย้ำด้วยเกียรติยศอีกครั้งว่า ทั้งหมดมันเป็นความจริง เรื่องจริง!”

ในฐานะ “เรื่องแต่ง” ทุกสิ่งทุกอย่างควรจะจบลงตรงนั้นเพราะเป็น climax ของเรื่องสั้นประเภทนี้ที่ผู้อ่านไม่ได้ติดใจจะเอาเหตุผลอะไรนัก  เนื่องด้วยสิ่งที่เป็น  supernatural นั้นล้วนมักถือกันว่าเอาเหตุผลมาอธิบายลำบาก  ดังนั้นนักเขียนงานประเภท “กอธิก“ ทั้งหลาย – แม้แต่ของฝรั่งเอง – จึงมักเน้นไปที่ผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็น  climax อันน่าตื่นเต้นของเรื่อง แล้วก็จบเรื่องของเขาไว้แค่นั้น ผู้อ่านก็พอใจ เพราะความตื่นเต้นลี้ลับระทึกขวัญ สยองขวัญ สะเทือนขวัญ ได้ผ่านพ้นจบสิ้นลงแล้ว เรื่องสั้นระทึกขวัญของเอ็ดการ์ อัลเลน โป, เอช. พี. เลิฟคราฟท์ และสตีเฟน คิง ก็ดูจะเป็นเช่นนี้

แต่ทว่า “เงาอุบาทว์” ของปกรณ์  ปิ่นเฉลียวกลับมีผู้เขียน anti-climax ให้ ซึ่งนับเป็น anti-climax ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติเรื่องสั้นไทย ถ้าหากผู้ใดจะเอาเรื่องสั้น “เงาอุบาทว์” ไปตีพิมพ์ใหม่อีกกี่ครั้งก็ตาม  anti-climax ที่มาจากจดหมายชี้แจงอย่างเป็นทางการของ “นายแพทย์ใหญ่ทหารอากาศ กรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลภูมิพล” จะต้องถูกนำไปตีพิมพ์เป็นตอนจบอย่างสมบูรณ์ของเรื่องสั้นเรื่องนี้ในทุกครั้งด้วย  ความลงตัวของเรื่องสั้น “เงาอุบาทว์” นั้น ถ้าจะว่าไปแล้วเกิดจากการที่ผู้ประพันธ์ได้ยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้อ่านว่า มันเป็นเรื่องจริง! และมันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ในฐานะที่ผมเคยอ้างทำนองว่า “creative writing is an art of lying” แต่ทว่าเรื่อง “เงาอุบาทว์” กลับได้รับการตอบสนองที่ทำให้ ความจริง กับ ความลวง มาพบกันอย่างไม่ตั้งใจ จึงนับเป็นเกียรติแก่ผู้ประพันธ์และผู้ที่ได้อ่านโดยแท้

การใช้ anti-climax ในกลวิธีการเขียนเรื่องสั้นถือเป็นเรื่องที่ทำให้ “ลงตัว” ได้ยากมาก และมีตัวอย่างอยู่ในโลกนี้เพียงไม่กี่เรื่อง เรื่องสั้น “เงาอุบาทว์” ของปกรณ์  ปิ่นเฉลียว ถือเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่สามารถทำให้ “ลงตัว” ได้โดยผู้ประพันธ์เรื่องไม่ได้เป็นผู้เขียน!

นี่คือ Gothic story แบบไทย – ไทยที่ลงท้ายก็ ขายหัวเราะ อีกตามเคย ประเทศนี้ช่างเป็นประเทศการ์ตูนโดยแท้…บรื๊อส์…ส…ส…!

 

 

ที่มา : สุชาติ   สวัสดิ์ศรี. “จาก Gothic fiction ถึง “เงาอุบาทว์”“. ช่อการะเกด 25. (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2539). หน้า 171-189.

 

บทวิเคราะห์

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี นอกจากจะเป็นบรรณาธิการที่เข้มด้วยคุณภาพแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นนักอ่านชั้นเยี่ยมถึงระดับเป็นตู้วรรณกรรมเคลื่อนที่ และในการเขียนบทบรรณาธิการ ไม่ว่าจะเป็นในหน้านิตยสารที่รับผิดชอบ หรือในหนังสือรวมเล่ม เขาได้ชื่อว่าเป็นนักวิจารณ์ที่มีวิจารณาญาณยิ่ง และนาน ๆครั้งเขาจึงจะเขียนบทความหรือบทวิจารณ์วรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ในปี 2532 เขาได้หวนกลับมาทำหน้าที่บรรณาธิการอีกครั้งโดยการรื้อฟื้นรางวัลช่อการะเกด ที่เคยเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นในยุคโลกหนังสือขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ชื่อหนังสือว่า ช่อการะเกด และมีชื่อของแต่ละเล่มกำกับอีกครั้ง  ทำต่อเนื่องเรื่อยมา จากรายปี เป็นรายสามเดือนในปี 2535  จนถึง ปี 2542 จึงได้หยุดชะงักลง ในการมอบรางวัลช่อการะเกดแต่ละปี เขาได้มีประกาศเกียรติ”นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ”ให้นักเขียนเรื่องสั้นที่ทำงานมานานด้วย

ในปี 2539 นักเขียนที่ได้รับการประกาศเกียรติคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และในวาระนี้เองสุชาติ ได้เขียนบทวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องสั้นเรื่องเอกชื่อ เงาอุบาทว์ ของปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ในชื่อว่า “จากGothic fiction ถึง”เงาอุบาทว์”

เพราะด้วยเหตุที่สุชาติเป็นนักอ่าน นักวิจารณ์และเป็นบรรณาธิการมายาวนานหลายสมัย ไม่เพียงทำให้เขาวิเคราะห์เรื่อง”เงาอุบาทว์”ได้ฐานะเป็น Gothic fiction เรื่องหนึ่งของไทยเท่านั้น หากแต่เขายังสามารถโยงวิเคราะห์ไปถึงประวัติที่มาของ Gothic fiction ของไทย และเปรียบเทียบกับของฝรั่ง อันเป็นการให้ความรู้แก่นักอ่าน ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักอ่านเกิดความเข้าใจรากทางวัฒนธรรมของตนเองชัดเจนขึ้น

พวกเราทั้งหลายในรุ่นนี้และรุ่นต่อไปล้วนถือเป็นผู้สืบต่อ และทั้งหมดล้วนเติบกล้างอก

งามขึ้นมาจาก”รากเหง้า”ที่บรรพบุรุษเรื่องสั้นได้หว่านเพาะไว้ในอดีตกาล”

การกล่าวเช่นนี้ เป็นการชี้ให้เห็นตัวตนและเส้นทางที่คนวรรณกรรมกำลังดำเนินอยู่ การมอบภาระทางวรรณกรรมไว้ให้  นอกจากเป็นการสร้างความภูมิใจให้คนรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นการยั่วยุให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่ออนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้ เขายังเสนอมุมมองใหม่ ๆในนิทานคำกลอนและเรื่องไทยทั้งหลาย  รวมไปถึงเรื่อง“ไทยรักสนุก” ซึ่งอาจทำให้ใครหลายคนนึกดูแคลนมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไปศึกษาและได้รับอิทธิพลมาจากโลกตะวันตก แต่การวิเคราะห์ของสุชาติอย่างพึงใจในตัวเอง เห็นแก่นแท้ของตัวเองของสุชาติ กลับเปิดตานักอ่านไทยขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงตื่นเต้นว่าบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมของเรามีลักษณะเฉพาะในทางการเล่าเรื่อง Gothic เท่านั้น หากยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้านั้นขึ้นมาในระดับที่น่าพอใจทีเดียว  ซ้ำสุชาติยังชี้ทางออกไว้ให้ด้วยว่า มรดกทางเรื่องระทึกขวัญนั้น เรามีพื้นฐานเพียงพอที่สามารถพัฒนาแตกขยายได้ เพียงแต่ไม่พัฒนาวิธีการและกลวิธีให้ทันสมัยเท่านั้น   การแสดงความคิดเห็นพร้อมแนะนำทางออกอย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ เชื่อได้ว่า จะเป็นแรงวบันดาลใจให้นักเขียนเรื่องในแนวระทึกขวัญนี้อีกเป็นจำนวนไม่น้อย

ความเป็นนักอ่านนักวิจารณ์ที่ถึงทั้งคุณภาพและปริมาณ ทำให้สุชาติสามารถชี้ประเด็นความเป็นเรื่อง”ระทึกขวัญ”(Gothic story)อย่างสมบูรณ์ของ”เงาอุบาทว์”ได้ชัดเจน งดงาม มีการเปรียบเทียบวรรณกรรมตะวันตกให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น จากนั้นจึงชี้ประเด็นการให้ข้อมูลเรื่อง”จดหมายโต้ตอบ”จากนายแทพย์ใหญ่ทหารอากาศ  กรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลภูมิพล” (ซึ่งยืนยันว่า เหตุการณ์ตามเรื่องสั้นนั้นมิได้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลภูมิพล) โดยสุชาติอธิบายด้วยประโยคสั้น ๆ แบบประชดนิด ๆ ว่า

แต่ทว่า“เงาอุบาทว์”กลับได้รับการตอบสนองที่ทำให้ความจริงกับความลวงมาพบกันได้อย่างไม่ตั้งใจ  จึงนับเป็นเกียรติแก่ผู้ประพันธ์และผู้ที่ได้อ่านโดยแท้”

ภาคสรุปของบทวิจารณ์ชิ้นนี้ เป็นการสร้าง”ความฉงน”ที่นำไปสู่”ปัญญา”ให้ผู้อ่านบทวิจารณ์  เพราะนอกจากต้องทำความเข้าใจในเรื่องของจดหมายจากโรงพยาบาลภูมิพลแล้ว ยังต้องใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของความจริงความลวงทางวรรณคดีอีกด้วย1

อาจกล่าวได้ว่า ใครก็ตามที่ได้อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้แล้ว  นอกจากได้ความรอบรู้ที่มาจากการอ่านและการค้นคว้าของผู้วิจารณ์แล้ว  ยังเกิดการเรียนรู้ขึ้นในระหว่างการอ่าน  และเกิดการตามไปเรียนรู้หลังการอ่านอีกด้วย

ชมัยภร  แสงกระจ่าง : ผู้วิเคราะห์


1 อ่าน “บทที่ 5 ความจริง ความสมจริงและความลวงในวรรณคดี “ ในเล่ม ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี โดยเจตนา นาควัชระ สำนักพิมพ์สยาม 2542 (หน้า 35–42)

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *