ไต้ฝุ่น : “ทางเลือก ทางรอด” ของละครเวทีการเมืองไทย

ไต้ฝุ่น  : “ทางเลือก ทางรอด” ของละครเวทีการเมืองไทย

ไต้ฝุ่น

ภินท์ ภารดาม
(ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย)

27/9/56

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

                 เสียงเก้าอี้เหล็กกระทบกระโหลก มันจะดังอย่างไรนะ?

เสียงกระสุนทะลุร่างนักศึกษา มันคล้ายอะไรหรือ?

ลิฟท์ตัวที่อาบเลือดนักศึกษาจนเป็นสีแดงฉานที่ธรรมศาสตร์ มันคือตัวไหนหรือ?

เรื่องราวมันผ่านมานานแล้ว ใครจะมีเวลาไปจดจำ  เรื่องบางเรื่องมันช่างห่างไกลราวกับความฝัน ความเป็นจริงก็คือ ภาพเก่า ๆ  อ้างอิงเก่าๆ เรื่องเดิม ๆ ที่คนยุคหนึ่งเล่าถึงมันราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสียจริง

              ฉันไม่รู้ ฉันเกิดไม่ทัน ฉันไม่สน!

ไต้ฝุ่น คือ ละคอนเวทีส่งเสริมประชาธิปไตยในวาระ 40 ปี 14 ตุลา จัดโดยสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานนี้ได้คุณ ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร B-Floor มาเป็นผู้กำกับ สถานที่จัดแสดงคือหอประชุม “ศรีบูรพา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ​ท่าพระจันทร์ แต่จะมีการนำไปจัดแสดงอีกครั้งที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ผมยกละครเวทีเรื่องนี้ให้มีความสำคัญเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวงการละครเวที เพราะถ้าหากละครเวทีสะท้อนการเมืองคือผู้อภิวัฒน์ของคณะละครพระจันทร์เสี้ยวในปี พ.ศ. 2530  คือ “ทางอันแจ่มใส”  ของละครเวทีไทยในสายตาของ อาจารย์เจตนา นาควัชระไต้ฝุ่นก็เห็นจะเป็น ทางเลือกและ ทางรอด” ของละครเวทีสะท้อนการเมืองไทยในปัจจุบัน

                เหตุที่ผมยกให้เป็น “ทางเลือก” ด้วยเหตุผลอันสำคัญคือการเลือกใช้ รูปแบบของการจัดแสดงเป็น ละครเคลื่อนไหว (Physical Theatre) ตามแนวถนัดของผู้กำกับ ซึ่งผมมองว่ามีความร่วมสมัย และเหมาะกับผู้ชมในปัจจุบัน  ในขณะที่ “คือผู้อภิวัฒน์” แม้จะมีการใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย แต่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับบทพูด ดังนั้นตัวมันจึงควรถูกจัดอยู่ในประเภท “ละครพูด” ซึ่งได้อิทธิพลมาจาก Poor Theatre ของแบร์ทอลท์ เบรคชท์ ผสมกับ ละครรณรงค์  (Propaganda Theatre หรือ Agit Prop Theatre) ซึ่งส่วนตัวมองว่าเริ่มล้าสมัยไปเสียแล้วในปัจจุบัน

 

                “ละครเคลื่อนไหว” คือการเล่าเรื่องโดยอาศัยการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดง เพื่อให้เกิดเป็นภาพและเสียง ละครเคลื่อนไหวต่างจากการเต้นร่วมสมัย (Contemporary Dance) ตรงที่ไม่ได้เน้นไปที่ความงาม ความแข็งแกร่ง หรือความสมบูรณ์ของท่าทางที่แสดงออก และต่างจากละครใบ้ (Pantomime) และนาฎศิลป์ที่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องสร้างความหมายจากท่วงท่าที่ได้ถูกกำหนดไว้เป็นแบบแผน หรือเป็นขนบที่สังคมเข้าใจตรงกัน นอกจากนั้นละคาเคลื่อนไหวยังมีลักษณะปฏิเสธ “ภาษาพูด” ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารอันยิ่งใหญ่ เพราะสำหรับนักการละครเคลื่อนไหว ภาษาเป็นพันธนาการที่ต้องถอดรื้อ การใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารก็เป็นการทำตัวดื้อแพ่ง โดยมีเจตนาจะชี้ให้เห็นว่ายังมีสิ่งที่นอกเหนือไปจากชุดภาษา ที่สามารถนำมาสื่อสารสู่ใจของมนุษย์ได้

                 การแสดงตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง นักแสดงเกือบยี่สิบชีวิตเคลื่อนไหวร่างกายไปรอบ ๆ เวที เครื่องแต่งกายของแสดงมีสีสันหลากหลาย ซึ่งต่างจากชุดโทนสีดำของ “คือผู้มีอภิวัฒน์” ซึ่งดูเคร่งขรึมเป็นทางการ เครื่องแต่งกายอันหลากสีของนักแสดงของ  ราวกับจะบอกเป็นนัยว่า ในยุคนี้เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ที่จะให้ใครต่อใครมาสมาทานภายใต้อุดมการณ์ความเชื่อเดียวกัน แต่เราต้องอยู่ร่วมกันต่อไปภายใต้ความหลากหลาย

 

นักแสดงทั้งหมดเคลื่อนไหวร่างกายโดยแทบไม่มีเวลาพักหายใจ เหมือนกระดาษสีชิ้นเล็ก ๆ ในกล้องคาไลโดสโคปที่ถูกเขย่าตลอดเวลา  พวกเขาใช้ร่างกายก่อประกอบเข้าด้วยกันเพื่อสื่อความหมายหนึ่ง ก่อนที่จะแยกแตกตัวไปเพื่อสร้างความหมายใหม่อย่างไม่จบไม่สิ้น การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งก็เป็นความจงใจที่จะสร้างความหมายให้ปะทะใจผู้ชมในแบบที่ “ภาษาพูด” ทำไม่ได้  การแสดงในลักษณะนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากนักแสดงไม่มีความพร้อมในด้านร่างกาย หรือไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ชมที่จะได้ชมการแสดงที่หาได้ยากอย่างละครเวที “ใต้ฝุ่น”  ที่ต้องอาศัยการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างหนักหน่วงเป็นเวลานาน  ผมขอชื่นชมนักแสดงและทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ สาขาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ได้ตั้งใจผลิตงานที่ดีมีคุณภาพนี้

 

                ผมแบ่งการแสดงออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกเป็นการฉายภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ช่วงที่สองเป็นช่วงแห่งการฝังกลบความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ด้วยการหยิบยกวาทกรรมแห่งความรักชาติแบบตื้นเขิน และการประกอบสร้างความจริงทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้รับใช้ผู้มีอำนาจ การเบียดขับข้อมูลบางอย่างออกไปจากสนามวาทกรรมหลัก ทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และเมื่อหนุนเสริมด้วยระบบการศึกษาแบบเปลี่ยนเยาวชนให้เป็นตุ๊กตา “เฟอร์บี้”  ก็ไม่เหลือที่ว่างให้กับความเป็นจริงในแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นให้ติดปาก ติดหู และติดใจมหาชนได้อีกต่อไป     ช่วงที่สาม คือการแสงสว่างทางปัญญาที่มีความหวังมากที่สุด เพราะเห็นว่าประชาชนบางส่วนได้ตื่นขึ้น อย่างน้อยก็ได้ตั้งคำถามที่ไม่เคยถาม ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากพวกทรราชด้วยการใช้กำลังและการกดขี่ แต่เมื่อจิตวิญญาณอิสระได้ตื่นขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงย่อมติดตามมา

 

                การชมละครเรื่องนี้ ต้องอาศัยการซึมซับภาพและเสียงที่เกิดขึ้นบนเวทีเป็นหลัก บางท่านอาจจะต้องฝืนความคุ้นชินในการรับชมละครที่เน้นบทเจรจาเป็นหลัก แต่จะว่าละครเรื่องนี้ไม่มีบทพูดเลยก็ไม่เชิง ละครเรื่องนี้มีบทพูดอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่อง บทพูดมีสถานภาพเหมือนกับก้อนสัญญลักษณ์ที่ถูกพ่นออกมา เพื่อแทนความหมายที่อยู่นอกเหนือไปจากความหมายของถ้อยคำ ชื่อละคร “ไต้ฝุ่น” (The Remains) ในแง่หนึ่ง อาจจะหมายถึงการค้นให้พบว่าจะยังมีความหมายจริงแท้ใดอีกหรือไม่ ที่ยังเหลือรอดอยู่ใต้ เศษซากปรักหักพัง หลังจากพายุทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายก็ต่างโหมเข้าใส่กันนั้นได้ผ่านพ้นไป

 

                ผมจะขอยกการแสดงบางช่วงมาเป็นตัวอย่าง เช่น การที่นักแสดงทั้งหมดบนเวทียืนนิ่ง แล้วเอ่ยถึงรายชื่อ และนามสกุล อายุ ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สิบสี่ตุลา ไล่ไปเรียงไปทีละคน แน่นอนว่าคงจะมีน้อยคนที่จะรู้จักบุคคลชื่อดังกล่าว แต่การได้ยินชื่อของพวกเขาสด ๆ บนเวทีอีกครั้ง สร้างพลังพิเศษบางอย่างที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกใจหายและสูญเสีย หรือแม้แต่การที่นักแสดงพูดบทเดี่ยว (monologue) สั้น ๆ “หนู/ผม ไม่เคยสนใจการเมืองเลยจนกระทั่ง…” ก็เปรียบเสมือนภาพปะติด (Collage) ที่แสดงออกถึงความสับสนทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี อีกตัวอย่างหนึ่งคือการเล่าถึงประวัติสิบสี่ตุลา แบบขาดตอน ตะกุกตะกัก พูดรัว ๆ พูดแบบฟังไม่ได้ศัพท์ (Gibberish) ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นความไร้สมรรถภาพของภาษา ที่รังแต่จะสร้างความเบื่อหน่ายให้กับคนรุ่ใหม่ หรือใครก็ตามที่ได้ยินได้ฟัง เพราะมันไม่อาจจะทดแทนประสบการณ์ตรงที่คนรุ่นนั้นได้ประสบมากับตัวเองได้เลย

 

                ความโดดเด่นของละครเวที “ใต้ฝุ่น” คือ การเลือกใช้สัญญะและท่าทางที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นแฟนตาซี (Fantasy) เช่น การใช้นักบินอวกาศซึ่งอาจจะหมายถึงรัฐบุรุษอย่างนาย ปรีดี พนมยงค์ หรือใครก็ตามที่พยายามจะนำสิ่งที่ “ล้ำยุค” มาสู่สังคมไทย  ผู้กำกับเข้าใจเลือกอุปมาอุปมัยได้อย่างน่าสนใจและแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน  นอกจากนี้การให้นักแสดงแต่งกายด้วยชุดคอสเพลย์ นักรบจากการ์ตูนญี่ปุ่น  หรือการให้นักแสดงสองคนในชุดสูทและใส่หน้ากากตลก ๆ เป็นตัวแทนนักการเมืองกับนักธุรกิจ  ซึ่งช่วยลดความรุนแรงทางภาพลงเพื่อไม่ให้ผู้ชมถูกปะทะจน “ถอยออก” จากเรื่องราวจนกลายเป็นการ “ต่อต้าน” มากเกินไป หรือ ในทางตรงกันข้ามการเลือกสัญญะแทนบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ก็เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ชมบางส่วนเกิดอาการเห็นอกเห็นใจกับภาพอดีตอย่างท่วมท้น เสียจนละเลยสารที่ละครต้องการจะสื่อได้

 

                ในอีกแง่หนึ่งถ้าหากมองแฟนตาซีในทรรศนะของลาก็อง (Lacan) การใช้แฟนตาซีที่เรียกว่า Perverse Fantasy เพื่อทดแทนภาพอันน่าสะอิดสะเอียนต่อความรู้สึก เช่น ใช้ความตายของนักบินอวกาศแทนความตายของรัฐบุรุษ หรือหน้ากากตลก ๆ แทนผู้ร้าย นั้นเป็นการใช้ความน่ารัก ความเก๋ไก๋ ความตลกขบขัน อย่างจงใจเพื่อบิดบังซ่อนเร้นความจริง เพราะความจริงเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว ไม่สวยงาม การทดแทนด้วยภาพฝันหวาน ย่อมจะทำให้สังคมยอมรับต่อสภาพอันแท้จริงที่โหดร้าย แต่ในขณะเดียวกันมันก็กลับสร้างสังคมที่มีลักษณะหน้าไหว้หลังหลอก ที่ไม่พูดจากันตรง ๆ ไม่สื่อสารกันตรง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันเข้าก็สร้างสังคมที่มีลักษณะการขาดหายไปของข้อเท็จจริง จนไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความลวง ดังที่ตัวละคร ชาวต่างชาติคนหนึ่งได้กล่าวว่า “สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง (fact) ก็คือเราไม่มีทางรู้ว่าอะไรคือความจริง (truth) และอะไรคือความเป็นจริง (reality)”  ทำให้ตัวละครอีกตัวหนึ่งกล่าวตอบว่า “ไอ งงไปหมดแล้ว ทำไมคนไทยถึงมีความจริงหลายแบบจุงเบย แล้วอันไหนแน่ที่มันเป็นความจริง!”

                การเคลื่อนไหว(movement) ของการแสดงเป็นหัวใจของการแสดงชุดนี้เลยทีเดียว และคงไม่น่าสนใจถ้าหากผมจะพูดว่า“ระบบทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราลดลง” แต่หากถูกแสดงออกด้วย ภาพของสายพานมนุษย์ขนาดใหญ่บนเวที ที่หากมีใครแตกแถวไปเพียงคนเดียว ผู้คุมจะเดินไปอุ้มให้กลับมาอยู่ในแถวเหมือนเดิม ภาพที่ติดตาผม คือภาพของนักแสดงที่พยายามจะดิ้นรนออกจากความเป็น “ตุ๊กตาบนสายพาน” ด้วยอาการของแขนขาและร่างกายที่บิดเบี้ยว แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะเท่านั้นที่สลัดหลุดออกจากระบบสายพานออกมาได้ แล้วผู้คุมแถวก็อุ้มกลับไปวางอยู่ในแถวเสียใหม่ พวกเขาจึงต้องกลับไปใส่หน้ากาก “แสร้งยิ้ม” แล้วเดินตามกันไปเป็นแถวเป็นแนวดังเดิม ภาพที่เห็นบนเวที ช่างเป็นภาพที่แสนจะสั่นสะเทือนความรู้สึกของผมมากเหลือเกิน      

 

ผมยอมรับว่า ไต้ฝุ่น เป็นการแสดงที่ประทับใจและหาข้อติติงได้ยาก แต่หากจะมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายังสามารถพัฒนาไปได้อีกก็เห็นจะเป็นเรื่องการออกแบบฉากและดนตรีประกอบ ฉากของละครเรื่องนี้ ใช้ฉากไม้ทำเป็นขั้นบันไดและเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังเวทีซึ่งยาวประมาณ 80% ของความยาวของเวทีซึ่งเป็นการติดตั้งอย่างตายตัวเคลื่อนที่ไม่ได้ ผู้ชมจึงเห็นฉากนี้อยู่ในทุกช่วงของการแสดง และบันไดซึ่งถูกใช้เพียงครึ่งเดียวไม่มีนักแสดงที่สามารถเดินไปให้สุดจนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งอาจจะเป็นสัญญะถึงสังคมไทยที่ได้แต่ฝันแต่ไม่เคยไปถึงจุดหมายอันสวยงามได้เสียที ฉากหลังที่มีความใหญ่โตมหึมาแต่กลับมีการใช้ประโยชน์ของฉากได้เพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับผมถือว่าเป็นการลงทุนที่มากแต่ได้ผลทางการสื่อสารเพียงเล็กน้อย การที่จะปกปิดไม่ให้เห็นโครงสร้างภายในด้านหลังฉากก็ดูจะเป็นการออกแบบที่เชยไปสักนิดสำหรับยุคสมัยนี้ ผมนึกถึงการใช้บันไดที่สามารถขยับเคลื่อนที่ได้ในละครเวที “ชัยสมรภูมิ” ของคณะดุริยาคศิลป์มหิดลซึ่งให้ผลที่น่าตื่นใจและใช้ฉากได้อย่างทั่วถึงมากกว่า หรือในการแสดง “Flu-o-less-Sense” ของ B-Floor เอง ก็เป็นตัวอย่างของการใช้พื้นที่ที่เป็นเพียงพื้นห้องโล่งว่างเปล่าได้อย่างสร้างสรรค์

 

                ดนตรีประกอบในการแสดงในบางช่วง เช่น ช่วงการเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียน ได้มีการใช้ดนตรีประเภทเทคโนเป็นดนตรีที่ไม่มีเสียงร้องเข้ามาประกอบ ดนตรีเทคโนมีเสียงในย่านความถี่บางย่านที่ดังเกินไปจนผมรู้สึกแสบแก้วหู ส่วนตัวเคยทราบมาว่าคนอายุต่างกันจะสามารถรับเสียงในแต่ละย่านความถี่ไม่เท่ากัน ตัวผมเองอาจจะมีการรับรู้คลื่นความถี่ในย่านนี้ไวเป็นพิเศษจึงรู้สึกปวดจนต้องยกมือขึ้นมาปิดหู แต่เมื่อแอบลอบมองคนข้าง ๆ ก็ไม่เห็นว่ามีผู้คนรอบข้างคนใดจะรู้สึกทรมานเหมือนผมแต่อย่างใด

 

ถ้า “คือผู้อภิวัฒน์”  คือตัวแทนของยุคสมัยใหม่ (modern) คือการมองกลับไปถึงเหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีเพลงปลุกใจอย่าง “สู้เข้าไปอย่างได้ถอย…” เป็นตัวแทนของอัตลักษณ์และความรู้สึกร่วมของยุคสมัย “ไต้ฝุ่น” ก็คือตัวแทนของยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern) ที่เต็มไปด้วยความสงสัย เต็มไปด้วยคำถาม ที่หาคำตอบไม่ได้ เป็นยุคของความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ที่มีเพลงเทคโนที่มีเพียงดนตรีแต่ไร้เสียงร้องเป็นตัวแทน    

 

ปัจจุบันสถาบันของคนไทยเช่น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องเผชิญกับการบ่อนเซาะทางอุดมคติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลไกของสังคมที่เคยทำงานได้ เช่น ระบบการศึกษา รัฐชาติ ก็ถูกทำให้พิกลพิการ และเมื่อวุฒิภาวะของสังคมยังอยู่ในระดับเด็กแว๊น มันก็เป็นยุคที่นำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงในทุกระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

         ดังที่ผมเคยบอกแล้วว่า “ละครเคลื่อนไหว” นั้นเป็น “ทางเลือก” ที่ดีสำหรับการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ อาจจะเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาในยุค “นิ้วจิ้มจอ”  ซึ่งเขาได้รับข้อมูลทางภาพและเสียงมากกว่าคนในยุคก่อนซึ่งเป็นยุค “ตาจ่อกระดาษ” ที่รับรู้เรื่องราวผ่านตัวอักษร  แต่นอกจากจะเป็น “ทางเลือก”  แล้วผมยังยกให้เป็น “ทางรอด” ของละครเวทีการเมืองไทยอีกด้วย เพราะในยุคที่มีความแตกแยกทางความคิดอย่างทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร หรือแสดงจุดยืนทางการเมืองออกไปบนเวที โดยไม่ให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของผู้อื่นนี้น  การไม่ต้องใช้คำพูดหรือใช้แต่น้อยจึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการสื่อในเรื่องที่พูดได้ยาก หรือเรื่อง “ต้องห้าม”  ของสังคมไทย  แน่นอนว่าการปล่อยให้ผู้ชมตีความภาพและเสียงเองโดยเสรีย่อมจะนำไปสู่ คำตอบในใจของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป หรือท้ายที่สุดผู้ชมอาจจะไม่พบคำตอบใด ๆ มีแต่คำถามกลับบ้านเป็นกระบุง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายมิใช่หรือ

 

        หรือว่ายังไงเจ้าหนูจำไม?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *