มีอะไรในลูกอีสาน

มีอะไรในลูกอีสาน

นพพร   ประชากุล


หน้าปกหนังสือลูกอีสาน ฉบับปี พ.ศ. 2550

 

ข้อสังเกตประการแรกที่เกี่ยวกับ  ลูกอีสาน ของคำพูน  บุญทวี  ก็คือนวนิยายรางวัล ซีไรต์ของไทยเรื่องแรกนี้  มิได้แฝงปรัชญาอันลุ่มลึกชวนตื่นตะลึง  มิได้สาธิตวรรณศิลป์อันวิจิตรตระการตา มิได้แม้แต่ตีแผ่ปัญหาสังคมเพื่อปลุกเร้าจิตสำนึกใดๆ  หากผลงานของคำพูน บุญทวี เล่มนี้เล่าถึงชีวิตชนบทอันเรียบง่ายด้วยวิธีเล่าที่แลดูโปร่งใส  ตรงไปตรงมา  ซึ่งถ้าจะกล่าวตามสำนวนนักวิจารณ์ฝรั่งสมัยใหม่ ก็ต้องว่า ”งานชิ้นนี้เฉียดใกล้ศูนย์องศาแห่งการประพันธ์วรรณกรรม”  เอาเลยทีเดียว

ความดูเหมือนโปร่งใสของลูกอีสาน นั้นควบคู่ไปกับลักษณะเหลื่อมล้ำก้ำกึ่งระหว่างนิยาย (ในความหมายของเรื่องเล่าที่มีปมเรื่อง)  กับสารคดีเชิงมานุษยวิทยา  (ในฐานะเป็นการถ่ายทอดรายละเอียดวัฒนธรรมท้องถิ่น)  ดูเหมือนด้วยซ้ำไปว่าลักษณะสารคดีจะเป็นส่วนที่โดดเด่นและดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านมากกว่าความเป็นนิยายในแง่นี้ คงต้องยอมรับว่าคำพูน  บุญทวี   มิได้ “หวง”  ข้อมูลทางธรรมชาติวิทยา   และวัฒนธรรมที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับนวนิยายเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย  ไม่ว่าจะเป็นสูตรการปรุงอาหาร   การล่าสัตว์  เทคนิคงานช่าง ฝีมือ  ธรรมเนียมประเพณี  คติความเชื่อพื้นบ้าน ฯลฯ  หัวข้อเหล่านี้  บรรจุรายละเอียดมากมายซับซ้อน  จนอาจกล่าวได้ว่าหลายครั้งมีสถานภาพเป็นพยานหลักฐานเชิงชาติพันธุ์วรรณนาในตัวของมันเอง  มากกว่าจะเป็นองค์ประกอบของการเดินเรื่อง  กระนั้นรายละเอียดเหล่านี้เองกลับเป็นสิ่งที่ผู้อ่านชื่นชอบในนวนิยายเล่มนี้  โดยเฉพาะในแง่ที่ตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางชาวเมือง     ซึ่งนิยม “อ่านอะไรแล้วได้สาระความรู้”   ยิ่งคำพูนใช้ความเป็นลูกอีสานแท้มาประกันความเที่ยงตรงถูกต้องของพยานหลักฐานที่นำเสนอ  (แบบที่ฝรั่งเรียกว่า  มานุษยวิทยาโดยคนใน  หรือ  endo – anthropology)  ด้วยแล้ว  ก็ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ  และความน่าสนใจ  ยิ่งขึ้นไปอีก  ซึ่งก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำภาพลวงตาแห่งความโปร่งใสนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มิติเชิงสารคดีดังกล่าวก็ไม่ควรมาบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนอื่นลูกอีสานเป็นนวนิยายและมีองค์ประกอบซึ่งปรุงแต่งขึ้นตามขนบของวรรณกรรมประเภทนี้  หากนิยายคือการจำลองโลกขึ้นมาเพื่อสื่อถึงความหมายบางอย่างของชีวิต โลกในลูกอีสาน ก็ประกอบไปด้วยฟ้า  อันเป็นที่สถิตของพญาแถน  และพื้นดิน  ซึ่งเป็นที่อยู่ของพืช  สัตว์  และมนุษย์  ฝนไม่ค่อยตกจากฟ้า ผืนดินจึงแห้งแล้ง หากผู้คนก็ดิ้นรนและอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้ง ความร่วมมือร่วมใจ และไม่ว่าอย่างไร คนก็ต้องไม่โทษฟ้า เพราะฟ้ากระตุ้นให้คนได้ทดสอบศักดิ์ศรีของตน นี่คือความหมายของความเป็นอีสาน ซึ่งเด็กน้อยคูนจะค่อยๆเรียนรู้จนเข้าใจในที่สุด ลูกอีสาน ที่แท้แล้วจึงเป็นการนำเอากระบวนการเรียนรู้ชีวิตและโลก (ในบริบทวัฒนธรรมอีสาน)  มาประกอบสร้างขึ้นเป็นเรื่องเล่า

คุณลักษณะของนิยายแห่งการเรียนรู้ปรากฏให้เห็นได้ในองค์ประกอบของการเล่าเรื่องที่สำคัญ  นั่นคือการใช้มุมมอง  ลูกอีสาน เป็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาและความนึกคิดของตัวละครเอกคือเด็กชายคูน  สายตาของเด็กผู้กระหายใคร่เรียนรู้  มีคุณสมบัติขยายทุกสิ่งทุกอย่างให้ใหญ่ไปหมด  เป็นสายตาแห่งการค้นพบที่จับเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  และทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาในความนึกคิด อาจกล่าวได้ว่าสายตาของเด็กเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมเชิงการเล่าเรื่อง (narrative legitimacy) ให้กับรายละเอียดทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่บรรยายอย่างยืดยาวพิศดาร รายละเอียดเหล่านี้ยังอยู่ในกรอบความสมจริงของการเล่าเรื่องก็ด้วยเหตุที่สัมพันธ์กับมุมมองของเด็กโดยจำเพาะเท่านั้น

น่าสังเกตอีกด้วยว่าสายตาของคูนมิใช่เพียงสายตาแห่งการค้นพบหากยังเป็นสายตาแห่งการค้นหา  เด็กน้อยของเราเป็นนักแอบดูตัวฉกาจคนหนึ่ง ตั้งแต่ยังเล็กในฉากผีปอบเข้ากินตับปู่ ”คูนขึ้นไปแอบดูอยู่ไกลๆ อยากดูก็อยากดู  กลัวก็กลัว” (หน้า 4)  พอโตขึ้นมาหน่อย ก็ไปแอบดูทิดจุ่นพลอดรักกับคำกอง  (บทที่ 5) และไปแอบดูลูกสาวญวน (บทที่ 10) การแอบดู คือความพยายามของเด็กที่จะเรียนรู้ด้วยตาตนเอง ในเรื่องที่ผู้ใหญ่ปิดบังซ่อนเร้น และในแง่ของการเล่าเรื่อง การแอบดูก็มีส่วนสร้างลักษณะแบบดรามา คือปลุกเร้าความน่าสนใจ ความน่าตื่นเต้นให้กับองค์ประกอบอันราบเรียบของชีวิตประจำวัน

หากจะวิเคราะห์ให้ถึงที่สุด เราคงต้องนับเอาการฟังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองด้วย  เพราะในหลายๆ ฉากการเรียนรู้ด้วยสายตาดำเนินควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้วยหู  คูนเป็นผู้รับฟังคำอธิบายต่างๆ รวมไปถึงรายละเอียดของตำนาน  และการสั่งสอนค่านิยม วาทะของผู้ใหญ่มีบทบาทสร้างความเชื่อมโยง ความหมายคุณค่าให้กับสิ่งที่ตาเด็กเห็น  หรือแม้ในกรณีของการแอบดู เช่น ในฉากทิดจุ่นพลอดรักกับคำกอง  การแอบได้ยินคำพูดของหนุ่มสาวก็ช่วยให้คูนได้เรียนรู้ว่าการสัมผัสกันทางร่างกายยังมีความหมายในอีกมิติหนึ่ง  นั่นคือความรัก  (หน้า 34)

เราได้เห็นแล้วว่าตัวละครเอกค่อยๆซึมซับประสบการณ์โดยใช้สายตาและการฟังเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้  แต่คูนได้เรียนรู้อะไรที่สำคัญจากการดูพ่อฆ่านกตกปลา  ดูแม่ทำอาหาร  ฯลฯ ไปวันๆ หนึ่ง การจะตอบคำถามนี้  จึงต้องหันมาพิจารณาโครงสร้างของประเด็นความคิด  (thematic  structure)  ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่องนี้  กล่าวคือ ในแง่ของประเด็นความคิด เราจะพบว่าการต่อสู้ของมนุษย์กับความลำบากยากแค้นเป็นประเด็นที่ดูโดดเด่นที่สุด ประเด็นดังกล่าวเชื่อมโยงกับอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือความผูกพันกับถิ่นกำเนิด (ทั้งๆที่ถิ่นกำเนิดนั่นเอง คือแหล่งที่มาของความลำบากยากแค้น) ประเด็นเหล่านี้ได้รับการจัดสัมพันธ์กันเข้าเป็นโครงสร้างของเรื่องซึ่งมีรูปลักษณะเป็นโครงสร้างของการแสวงหาตามทฤษฎีของเกรมาส (Greimas) โครงสร้างในลักษณะนี้ประกอบด้วยผู้แสวงหา (subject) สิ่งที่แสวงหา (object) ปัจจัยเกื้อหนุน (helper)  อุปสรรค (opponent) ดังแสดงเป็นแผนผังสำหรับลูกอีสาน ได้ดังนี้

 

ตั้งแต่เริ่มเรื่อง (ในบทแรกซึ่งชื่อ “หมู่บ้านเริ่มร้าง”) เราจะพบว่าครอบครัวของคูนถูกยั่วยวนจากตัวอย่างของครอบครัวอื่นๆ ซึ่งพากันอพยพไปจากหมู่บ้านเพราะทนความแห้งแล้งไม่ไหว  ตัวละคร  พ่อคือผู้ยึดมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวที่สุดกับความคิดที่จะไม่ย้ายไปไหน  (ในช่วงต้นๆ  ตัวละคร แม่ แสดงความคิดเห็นแย้งกับพ่อในเรื่องนี้ แต่ก็ยอมแพ้และคล้อยตามพ่อไปในที่สุด)  เหตุผลของพ่อ  คือบรรพบุรุษได้อยู่ที่หมู่บ้านนี้มาโดยตลอด ดังที่พ่ออธิบายให้คูนฟังว่า “ปู่ของลูกสั่งว่าไม่ต้องย้ายไปไหนนะ ลูก” (หน้า 5)  ในขั้นนี้คูนซึ่งยังไม่ได้เรียนรู้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของข้อห้ามนี้จึงแย้งด้วยข้อมูลเชิง “ภววิสัย” ว่า “ปู่เราตายแล้ว ปู่ไม่ด่าหรอก” (หน้าเดียวกัน)  ในอีกสองบทถัดมา  เมื่อคูนถูกแม่ยุให้รื้อฟื้นเรื่องการย้ายถิ่นขึ้นมาใหม่อีกโดยอ้างเหตุผลว่าหมู่บ้านอื่นมี  “ดินดำน้ำชุ่ม”  พ่อถึงจำเป็นต้องยืนยันอย่างดื้อดึงถึงรากถึงโคนว่า  “ฉันไม่ไปเด็ดขาด…  ถึงจะตาย  ฉันก็ขอพาลูกตายอยู่ที่นี่”  (หน้า 16)  นับแต่นี้ไปจะไม่มีใครในครอบครัวล่วงละเมิดความศักดิ์สิทธิ์ของข้อห้ามซึ่งสืบทอดกันมาจากปู่ย่าตายาย  แม้การเดินทางไปจับปลายังแม่น้ำชี ซึ่งกินเนื้อที่ตลอดครึ่งหลังของเรื่องก็เป็นเพียงการไปเยี่ยมเยือนและหาเสบียงจากที่อื่นชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อกลับมาอยู่ยัง “บ้านเรา” ต่อไป  ในตอนท้ายเรื่องนี้เอง  คูนจึงได้เข้าใจความหมายของข้อห้ามเรื่องการย้ายถิ่น

คุณค่าของถิ่นกำเนิดยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่คูนจะได้เรียนรู้ หากยังมีปัจจัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเพราะเป็นคุณค่าที่อยู่ในระดับ  “จักรวาลทัศน์”  เลยทีเดียว  ในท่ามกลางการไหลไปอย่างเฉื่อยๆของกาลเวลาในลูกอีสาน เราจะพบฉากดรามาติคอยู่ไม่กี่ฉาก หนึ่งในฉากเหล่านี้  และอาจกล่าวได้ว่าเป็นฉากที่น่าตระหนกคือ ฉากที่คูนถูกหลวงพ่อเคนตี เพราะไปกล่าวโทษฟ้า  (หน้า 54)  ตั้งแต่เริ่มเรื่อง  คูนมักจะคิดหรือกล่าวโทษฟ้าว่าเป็นต้นเหตุของความลำบากยากแค้นที่ครอบครัวของเขาต้องประสบ สำหรับคูนแล้ว ฟ้าก็เป็นเพียงองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์  การประเมินคุณค่าฟ้าของคูนจึงเป็นไปตาม  “ภววิสัย”  โดยคูนหารู้ไม่ว่าฟ้าอันเป็นที่สถิตของพญาแถนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ในฐานะผู้ประศาสน์ความเป็นอีสาน  ดังนั้นการกล่าวโทษจึงทำให้คูนถูกหลวงพ่อเคน (ผู้เป็นตัวแทนของระเบียบกฎเกณฑ์) ลงโทษอย่างรุนแรงเสมือนเป็นอาชญากรรม  คูนยอมรับโทษแต่โดยดีทั้งๆที่ยังไม่รู้เข้าใจอะไรนัก เมื่อถึงตอนจบของเรื่องคูนจึงได้ค้นพบความหมายของคำสอนของหลวงพ่อ

การที่คำพูน  บุญทวี  ใช้ขนบของนิยายแห่งการเรียนรู้ทำให้ลูกอีสาน เสนอภาพลักษณ์ของอีสานที่แตกต่างจากนวนิยายสัจนิยมเพื่อชีวิตที่ว่าด้วยท้องถิ่นนี้อย่างสิ้นเชิง  ทั้งๆ ที่นวนิยายทั้งสองแนวก็ใช้วัตถุดิบเดียวกันคือ  ความลำบากยากแค้น  แต่เมื่อนำมาจัดฉากและผูกเรื่องไม่เหมือนกัน  ก็ทำให้สื่อความไม่เหมือนกัน  กล่าวคือในลูกอีสาน คุณค่าของความเป็นอีสานอยู่ที่การเรียนรู้ที่จะ “อยู่” กับความยากลำบาก ความสามารถที่จะต่อสู้กับมันอย่างมีศักดิ์ศรี   สรุปแล้วคือ  ความเป็นอีสานอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง  ไม่ต้องให้ใครอื่นมาสงสาร  เพราะความสงสารมักควบคู่ไปกับการดูถูกแบบลึกๆ นั่นเอง

 

 

ที่มา :     นพพร  ประชากุล. “มีอะไรในลูกอีสาน”. ภาษาและหนังสือ 15 ปีซีไรต์. ปีที่ 25 ฉบับที่ 1-2 (เมษายน 2535 – มีนาคม 2536) หน้า 17-21.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

บทวิจารณ์ “มีอะไรในลูกอีสาน”  เขียนโดย  นพพร  ประชากุล  อาจารย์สอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส  คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นนักวิจารณ์ที่มีผลงานต่อเนื่องสม่ำเสมอในนิตยสารสารคดี

นวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ของ คำพูน  บุญทวี  เป็นวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์เรื่องแรก  เมื่อ พ.ศ. 2522  ในโอกาสที่นวนิยายเล่มนี้มีอายุ  20  ปีนับจากได้รับรางวัลซีไรต์  คำพูน  บุญทวี  จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง  และเพิ่มภาคผนวกเป็นบทอธิบายเพิ่มเติมและรูปประกอบสีสวยงาม   นวนิยายเรื่องลูกอีสานได้รับผลสำเร็จทางวรรณกรรมไม่น้อย  เพราะหลังจากได้รับรางวัลซีไรต์เป็นเรื่องแรกแล้ว  ได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์  ได้รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายจนบัดนี้  ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น  และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100  เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน   นอกจากนี้ยังเป็นผลงานเขียนที่ทำให้คำพูน  บุญทวี  เป็นนักเขียนที่เดินบนถนนวรรณกรรมอย่างภาคภูมิใจ  และเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้คำพูน  บุญทวี ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์  ประจำปี พ.ศ. 2544  แต่ทั้ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นนี้  บทวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้กลับมีไม่มากนัก  บทวิจารณ์ของนพพร  ประชากุล  เขียนขึ้นในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ 15 ปี ซีไรต์ ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์  และเป็นบทวิจารณ์ที่สามารถชี้คุณค่าและความงามของลูกอีสานให้โดดเด่นจรัสแสงได้ไม่น้อย

นพพร  เริ่มต้นบทวิจารณ์ด้วยการยอมรับโดยดุษณีว่า  ลูกอีสานไม่ได้เป็นนวนิยายที่เสนอปรัชญาลุ่มลึก  แสดงวรรณศิลป์แพรวพราว  หรือปลุกเร้าจิตสำนึกทางสังคมเข้มข้นแต่อย่างใด  ลูกอีสานเป็นนวนิยายที่นพพรอยากใช้คำว่า  “เฉียดใกล้ศูนย์องศาแห่งการประพันธ์วรรณกรรม”  ตามสำนวนนักวิจารณ์ตะวันตกเสียด้วยซ้ำ  เพราะลูกอีสานมีลักษณะเป็นสารคดีมากกว่านวนิยาย  แต่ความโดดเด่นและสิ่งที่เร้าความสนใจผู้อ่านมากที่สุดก็อยู่ที่ลักษณะความเป็นสารคดีเชิงมานุษยวิทยาที่ให้รายละเอียดมากมายซับซ้อนเกี่ยวกับชีวิต  ธรรมชาติ  และวัฒนธรรม  ของชาวอีสานอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  จุดเด่นของลูกอีสานในแง่นี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  แม้ฉบับที่พิมพ์ใหม่ครั้งล่าสุดที่ลิขสิทธิ์กลับคืนมาเป็นของผู้เขียน  คำพูนก็ได้เพิ่มข้อมูลทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาเข้าไปอีกทั้งในภาคผนวกและเชิงอรรถ  อันทำให้มิติทางสังคมวิทยาของลูกอีสานเข้มขลังขึ้นอีกมาก

หลังจากแสดงความชื่นชมมิติทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาของนวนิยายเรื่องนี้แล้ว

นพพรเตือนผู้อ่านว่าความโดดเด่นดังกล่าวไม่ควรมาบดบังข้อเท็จจริงที่ว่าลูกอีสานเป็นนวนิยายไม่ใช่หนังสือสารคดี   นพพรกล่าวถึงมิติทางนวนิยายของลูกอีสาน โดยชี้ให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ใช้ขนบของนวนิยายแห่งการเรียนรู้  อันเป็นทฤษฎีของเกรมาส  (Greimas)  ซึ่งนำเสนอความคิดที่ใกล้เคียงกับทฤษฎีรูปแบบนิยมของรัสเซีย (Russian Formalism)   นพพรชี้ว่าโครงสร้างของการแสวงหาทำให้ลูกอีสานต่างไปจากนวนิยายสัจนิยมเพื่อชีวิตที่ว่าด้วยท้องถิ่นอีสานเรื่องอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ใช้วัตถุดิบอย่างเดียวกัน  คือความลำบากยากแค้น  เพราะลูกอีสานชี้ว่าคุณค่าของลูกอีสานคือเรียนรู้ที่จะอยู่กับความยากลำบากนั้นอย่างมีศักดิ์ศรี

ผู้วิจารณ์ยังชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของการใช้ขนบนวนิยายแห่งการเรียนรู้อยู่ที่ผู้เขียนเล่าเรื่องจากมุมมองของเด็ก  การใช้สายตาและความรู้สึกนึกคิดของเด็กผู้กระหายใคร่เรียนรู้เล่าเรื่องจากสิ่งที่มองเห็น   สิ่งที่แอบดู  และสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง  สัมพันธ์กับการค้นหา เรียนรู้  และค้นพบเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตและโลก  การเรียนรู้ของ ด.ช. คูนมีตั้งแต่เรื่องในชีวิตประจำวัน  อย่างเรื่องยิงนกตกปลา  ทำอาหาร  เรื่องเพศ  ไปจนเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเรื่องการทำมาหากิน  และเรื่องใหญ่ระดับ  “จักรวาลทัศน์”  นั่นคือ เรื่องของฟ้าหรือพญาแถน  หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ไม่ควรบังอาจแตะต้อง   ผู้วิจารณ์อธิบายให้เห็นว่าเรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้  ตัวละครผู้เล่าเรื่อง คือ ด.ช. คูน  รับรู้แต่ไม่เข้าใจในทันที  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อห้ามศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัวเรื่องการย้ายถิ่น  และเรื่องการเคารพฟ้า  อันเป็นที่สถิตของพญาแถน  และการไม่กล่าวโทษฟ้าแม้ชีวิตจะแร้นแค้นยากลำบากเพียงใด  ความรู้เช่นนี้ ด.ช. คูนจะเข้าใจและยอมรับได้เมื่อเขาเติบโตขึ้น  อันเป็นตอนจบเรื่อง   กระบวนการเรียนรู้ของ ด.ช. คูนจึงค่อยเป็นค่อยไปเป็นไปอย่างสมจริง  ขณะเดียวกันผู้อ่านก็ตกอยู่ในกระบวนการเรียนรู้โลกและชีวิตตามบริบทวัฒนธรรมของอีสานไปพร้อมกับตัวละครด้วย

ผู้วิจารณ์ยังชี้ให้เห็นแก่นความคิดของนวนิยายเรื่องนี้  อันประกอบเป็นโครงสร้างของเรื่องอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกัน  นั่นคือ  การต่อสู้ของมนุษย์กับความยากลำบากและความผูกพันกับถิ่นกำเนิดของตน  อันเป็นต้นเหตุแห่งความยากลำบากนั้นเอง   ผู้วิจารณ์นำทฤษฎีของเกรมาส  (Greimas)  มาอธิบายโครงสร้างแก่นความคิดของลูกอีสานเพื่อให้เข้าใจแจ่มชัดขึ้น   ผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นว่า  แม้ลูกอีสานจะมีเนื้อหารายละเอียดมากมาย   แต่เนื้อหาเหล่านี้จะสัมพันธ์กัน  ซึ่งทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีเอกภาพในระดับโครงสร้าง  และทำให้เรื่องนี้สามารถดำเนินไปอย่างเด่นชัดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

เห็นได้ว่าบทวิจารณ์นี้แนะให้เห็นจุดเด่นของลูกอีสานทั้งด้านมิติทางสังคมวิทยาและมิติแห่งความเป็นนิยาย  ซึ่งจำลองโลกขึ้นเพื่อสื่อความหมายถึงคุณค่าบางอย่างของชีวิต  พลังทางปัญญาของบทวิจารณ์อยู่ที่ผู้วิจารณ์ตัดสินประเมินค่าคุณค่าทางวรรณศิลป์และคุณค่าทางสังคมของนวนิยายเรื่องลูกอีสานอย่างชัดเจนและมีเหตุผล   ทำให้ผู้ที่คิดว่าลูกอีสานเป็นเพียงสารคดีอ่านสนุก  ต้องพิจารณาความสอดร้อยลงตัวของรายละเอียดต่าง ๆ ในลูกอีสานในฐานะนวนิยายด้วย  นอกจากนี้  ผู้วิจารณ์ยังสามารถชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าการที่ลูกอีสานเป็นนวนิยายที่เร้าใจผู้อ่านได้เข้มข้น  เป็นเพราะนวนิยายเรื่องนี้แสดงคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ได้หมดจด  ทั้งความกล้าหาญ  ความมานะอดทน  และความรักในศักดิ์ศรีของตน  ดังที่ผู้วิจารณ์สามารถสรุปจุดเด่นของลูกอีสานได้ว่า  นวนิยายเล่มนี้แสดงชัดเจนถึง  “คุณค่าของความเป็นอีสานอยู่ที่การเรียนรู้ที่จะ  “อยู่”  กับความยากลำบาก    ความสามารถที่จะต่อสู้กับมันอย่างมีศักดิ์ศรี”   อันเป็นการชี้ให้เห็นว่า  นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอคุณสมบัติความอดทน  เด็ดเดี่ยว  รักถิ่น  และมีวัฒนธรรมของคนอีสานได้อย่างงดงาม  ข้อสรุปลงท้ายที่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า  “ความเป็นอีสานอยู่ได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องให้ใครอื่นมาสงสาร  เพราะความสงสารมักควบคู่ไปกับการดูถูกแบบลึก ๆ นั่นเอง”  นับเป็นข้อสรุปที่ก้าวพ้นจากประเด็นการวิจารณ์วรรณคดีไปสู่ประเด็นทางสังคมวิทยาและจิตวิทยา   ซึ่งปลุกเร้าความรู้สึกภาคภูมิใจและทระนงในความเป็นอีสานได้อย่างมีพลังทีเดียว

 

 

รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ : ผู้วิเคราะห์

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์

 

 

 

10 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *