ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ / สืบเนื่องจากคำถาม “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคม จึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้”
ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้
นพพร ประชากุล
เป็นเวลาร่วมสองทศวรรษมาแล้วที่กลุ่มคนซึ่งเรียกว่า “ชนชั้นกลาง” (อันประกอบด้วยนักธุรกิจ พ่อค้า แพทย์ วิศวกร นักสื่อสารมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ) ได้ก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในสังคมไทยด้วยอาศัยผลพวงจากการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในครึ่งหลังของทศวรรษ 2510
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง วรรณกรรมแนวสัจนิยมหรือเหมือนจริงก็กลายมาเป็นที่ยอมรับอย่างสง่าผ่าเผย โดยสถาบันต่างๆ ในสังคมไทย ดังเห็นได้จากรายชื่อนวนิยายและเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลระดับชาติและที่ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านในโรงเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา จนอาจกล่าวได้ว่า บัดนี้วรรณกรรมในแนวดังกล่าวได้ก้าวขึ้นมาเป็นกระแสหลักหลังจากที่ได้ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจกดขี่อยู่บนเวทีประวัติศาสตร์มาช้านาน
แนวสัจนิยม (realism) เสนอให้วรรณกรรมทำหน้าที่เป็นกระจกส่องสะท้อนสภาพความเป็นไปของมนุษย์และสังคมอย่างเที่ยงตรงตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งสีสันให้สวยงามเพื่อกระตุ้นอารมณ์เพ้อฝัน ยิ่งในกรณีวรรณกรรมสัจนิยมในสายที่จำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่าเป็น “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” แล้ว เราก็ยิ่งตระหนักชัดในกุศลเจตนาว่าต้องการตีแผ่ให้เห็นความเลวร้ายในสังคมเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้อ่าน โดยหวังว่าวรรณกรรมจะสามารถเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคม หรืออย่างน้อยก็ช่วยแก้ไขปัญหาสารพันที่รุมเร้ายุคสมัยของเรานี้ได้บ้าง
ความบันเทิงแบบ “มีเนื้อหาสาระ” ที่ต้องอิงพื้นฐานอยู่กับการ “สะท้อนความเป็นจริง” และให้ผลพลอยได้ในรูป “จิตสำนึกทางสังคม” นับว่าสอดรับกับค่านิยมในการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางซึ่งชอบอวดอ้างคติในเรื่องหลักการ เหตุผล อรรถประโยชน์ และความก้าวหน้า จึงมิใช่เรื่องแปลกประหลาดที่ชนชั้นนำใหม่ของไทย โดยเฉพาะในซีกที่เรียกกันว่าปัญญาชนจะอ้าแขนต้อนรับวรรณกรรมสะท้อนสังคมอย่างเต็มอกเต็มใจ ยกย่องให้เป็น “วรรณกรรมสร้างสรรค์” และทยอยมอบรางวัลให้แก่นักเขียนในแนวเพื่อชีวิต (ที่ได้เคยหลงผิดคิดร้ายต่อนายทุน และที่นายทุนก็ได้เคยหลงผิดคิดปราบปราม) หากเหลียวมามองวงการศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรมก็จะเห็นการตอบสนองที่ดียิ่งไม่แพ้กัน นักวิจารณ์ต่างหันไปให้ความสำคัญกับเนื้อหา แก่นเรื่อง แนวความคิด ปัญหาสังคมที่สะท้อนออกมา และแม้แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในตัวงาน ราวกับจะหลงลืมไปว่าข้อเขียนที่วิจารณ์หรือวิเคราะห์อยู่นั้นเป็นงานวรรณกรรมหรือเรื่องแต่ง
ก็ในเมื่อมีผู้เขียน พิมพ์ อ่าน ตัดสินและศึกษาวิจารณ์วรรณกรรมสัจนิยมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันถึงเพียงนี้ เหตุไฉนเล่าปัญหาครอบครัว การเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาโสเภณี ปัญหาศาสนา วัตถุนิยม ยาเสพติด ชนบทถูกทอดทิ้ง สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฯลฯ ที่ส่องสะท้อนอยู่ในหน้าหนังสือเหล่านี้มานานถึง 20 ปีจึงยังคงมีให้เห็นอยู่เกลื่อนกลาดในสังคมไทย เสมือนเป็นพยานยืนยันว่าธารน้ำหมึกที่หลั่งไหลออกมาจากจิตสำนึกสู่จิตสำนึกอย่างไม่ขาดสายนั้น มิอาจช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้เลย
คำตอบที่ตรงประเด็นที่สุดต่อคำถามนี้คือ วรรณกรรมสะท้อนสังคมไม่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมหรือแก้ปัญหาใดๆได้ ก็เพราะมันเป็นวรรณกรรม และขึ้นชื่อว่าวรรณกรรมแล้ว ธรรมชาติของมันย่อมประกอบสร้างขึ้นด้วย “สัญนิยม” ต่างๆ นานาทั้งสิ้น
สัญนิยม (convention) หมายถึงกติกาข้อตกลงที่ผู้เขียนและผู้อ่านยอมรับร่วมกันโดยนัยในอันที่จะสื่อและรับรู้ความหมายในงานวรรณกรรม เพื่อให้การ “สื่อสาร” ทางวรรณกรรมนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น ยกตัวอย่างเช่น กติกาข้อตกลงข้อหนึ่งในนิยายจักรๆ วงศ์ๆ คือ ทุกคนยอมรับว่าตัวละครเอกสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ หรือในนวนิยายเพื่อชีวิตมีข้อตกลงโดยนัยว่า บรรดาตึกสูงเสียดฟ้าบนถนนในกรุงเทพ ฯ มิได้หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองอันน่าชื่นชม แต่เป็นตัวแทนของความคลั่งไคล้ในวัตถุ ความแห้งแล้งน้ำใจต่อกัน ฯลฯ หากผู้อ่านไม่ยอมรับสัญนิยมเหล่านี้เสียก่อน ก็จะมีปัญหาในการอ่านวรรณกรรมนั้นๆ สัญนิยมเป็นกรอบควบคุมการทำงานของวรรณกรรมในทุกๆ ระดับของการสื่อความหมาย ตั้งแต่การกำหนดทัศนคติในการอ่านโดยรวมไปจนถึงการเข้าใจรายละเอียดในทุกซอกทุกมุม
หากลองพิจารณาสัญนิยมที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติอันจะพึงมีในการอ่านงานวรรณกรรมโดยทั่วไป ก็จะเห็นได้ในทันทีว่า ธรรมชาติของความเป็นวรรณกรรมนั้นเป็นอุปสรรคบั่นทอนการถ่ายสะท้อนความเป็นจริง และขัดขวางการเกิดจิตสำนึกทางสังคมที่จริงจังอย่างไร กล่าวคือ ในการเขียน/อ่านวรรณกรรมนั้น ผู้เขียน/ผู้อ่านมีกติกาข้อตกลงกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า ข้อเขียนนั้นๆ มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงในโลก แต่เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้นจากจินตนาการ ซึ่งทำให้วรรณกรรมไม่อาจหลีกพ้นไปจากฐานะ “เรื่องอ่านเล่น” ไปได้ ต่างจากข้อเขียนประเภทข่าวสาร สารคดีหรืองานวิชาการซึ่งมีกติกาข้อตกลงในการรับรู้เรื่องราวอีกแบบหนึ่ง ผลสืบเนื่องต่อมา คือ ในเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงจากภายนอกมากำหนดความเป็นไปในตัวบทวรรณกรรม อิสระจึงตกแก่การใช้ภาษาอย่างเต็มที่ นักประพันธ์ส่วนใหญ่ทราบดีว่า อาศัยเงื่อนไขการปลอดจากข้อบังคับแห่งโลกของความเป็นจริงนี้เอง พวกเขาจึงสามารถเลือกใช้ถ้อยคำได้อย่างรุ่มรวยหลากหลายกว่าในข้อเขียนประเภทอื่น สามารถแสดงจริตทางภาษาออกมาได้อย่างเต็มที่ และระดมเอาคุณสมบัติของถ้อยคำมาใช้เพื่อส่อนัย สร้างรสชาติ ปลุกเร้า โน้มน้าวใจไปตามเงื่อนไขที่สร้างขึ้นในโลกสมมุติ ซึ่งเป็นคนละสิ่งกับตรรกะในโลกของความเป็นจริง
ครั้งเมื่อลงไปในระดับที่ต้องแยกแยะวรรณกรรมออกเป็น “แนว” (genre) ต่างๆ เราก็จะพบอีกว่าแต่ละแนววรรณกรรมล้วนมีสัญนิยมอันเป็นข้อกำหนดตรรกะภายใน วิธีการเดินเรื่อง การนำเสนอตัวละคร ฯลฯ ตามแบบฉบับเฉพาะของแนวนั้นๆ ทั้งสิ้น เช่น ในนวนิยายแนวรักพาฝัน ชีวิตมักจะเป็นในแบบอุดมคติที่สวยสดงดงาม (แม้จะมีอุปสรรคมาคอยทดสอบบ้าง) ในนวนิยายแนวผจญภัย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตื่นเต้นเร้าใจ เกิดเหตุการณ์ผันผวนมากมายในช่วงเวลาอันสั้น หรือในนวนิยายแนวสัจนิยม ชีวิตจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และชีวิตไม่ใช่สิ่งโสภา แต่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรน ผู้อ่อนแอด้อยโอกาสต้องพ่ายแพ้ต่อผู้มีกำลังอำนาจเหนือกว่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้อ่านส่วนใหญ่ย่อมรู้และยอมรับกันอยู่แล้วเป็นอย่างดี มิใช่เพิ่งมาค้นพบเอาจากการอ่าน สิ่งที่ผู้อ่านส่วนใหญ่ได้รับจากการอ่านนวนิยายสะท้อนสังคมเป็นเพียงความพึงพอใจที่ได้รับรู้ซ้ำถึงปัญหาสังคมที่คุ้นเคยมาแล้วจากวาทกรรมอื่นๆ แต่ในวรรณกรรมมันถูกนำเสนอได้ “สนุก” กว่าในงานวิชาการที่เอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้ จริงอยู่ ผู้อ่านอาจเกิดอารมณ์โกรธแค้นขึ้นชั่ววูบ เมื่อเห็นตัวละครตกเป็นเหยื่อสังคมอันโหดร้าย แต่ไม่นานอามรณ์นั้นก็จะดับมอดไป ไม่ทิ้งร่องรอยของจิตสำนึกอันถาวรใดๆ ไว้เลย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาลงไปถึงการสื่อความหมายในรายละเอียดต่างๆที่นำเสนอ เช่น ลักษณะกายภาพของตัวละคร วิธีคิด พฤติกรรม สภาพแวดล้อมทางวัตถุ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในการอ่านเสมือนว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง ก็ล้วนเกิดจากการใช้คติ ความเชื่อ ค่านิยมที่ผู้อ่านมีเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วมาเป็นตัวค้ำจุนอีกเช่นกัน (ดังที่เรียกว่า “สัญนิยมทางวัฒนธรรม”) ทำไมนักประพันธ์จึงมักวาดให้ตัวละครที่เป็นศิลปินในนวนิยายเป็นคนมีอารมณ์รุนแรงผิดจากคนทั่วไป ก็เพราะมันตรงกับความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมและเราได้ยินได้ฟังกันเกี่ยวกับศิลปินมานับร้อยนับพันครั้งโดยอาจไม่เคยรู้จักศิลปินเลยแม้แต่คนเดียว ทำไมชนบทในนวนิยายจึงต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องเสมอ ก็เพราะมันตอบสนองต่อมายาคติของผู้อ่านชนชั้นกลางในเมืองที่เบื่อหน่ายสิ่งแวดล้อมอันจำเจของตน จึงเห็นได้ว่า โดยตรรกะแล้ววรรณกรรมสัจนิยมย่อมไม่อาจสร้างจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ เพราะที่แท้แล้วมันอิงอยู่กับสัญนิยมซึ่งเป็นอันเดียวกันกับค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมานั่นเอง
เราไม่อาจปฏิเสธเจตนาดีของนักประพันธ์วรรณกรรมสะท้อนสังคมที่ปรารถนาจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมที่เราอยู่นี้ดีขึ้น แต่เราก็จำเป็นต้องตระหนักเช่นกันว่า เจตนานั้นฝืนธรรมชาติความเป็นจริงของวรรณกรรม ทำให้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่กาลเวลา 20 ปี ได้พิสูจน์แล้ว การยึดมั่นอยู่กับ “ความหลงผิดคิดว่าวรรณกรรมสะท้อนความเป็นจริง” (referential fallacy) นี้ รังแต่จะฉุดรั้งวรรณกรรมให้ตกอยู่ในภาวะ “ย่ำอยู่กับที่” ดังที่เริ่มมีเสียงบ่นๆ กันอยู่ มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อการศึกษาและวิจารณ์วรรณกรรม ทำให้ละเลยที่จะทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติที่แท้จริงของตัวงานและหันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกแทน ซึ่งก็ทำให้วงการต้อง “ย่ำอยู่กับที่” อีกเช่นกัน
ในเมื่อสารัตถะของวรรณกรรมนั้นคือสัญนิยม มิใช่การถ่ายสะท้อนความเป็นจริงซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตา การที่จะก้าวออกไปจากสภาวะหยุดนิ่งเพื่อที่จะให้วรรณกรรมพอที่จะมีผลสร้างสรรค์ต่อสังคมได้บ้าง จึงน่าจะเป็นการ “เล่น” กับสัญนิยมนั่นเอง อาจจะด้วยการกดดัน บิดผัน ดัดแปลง สัญนิยมที่ใช้อยู่เป็นประจำ อาจจะหันไปรื้อฟื้นเอาสัญนิยมเก่าๆ มาขัดเงาให้วาววับ หรืออาจจะแหวกจุดอับออกไปด้วยการแสวงหาสัญนิยมใหม่ๆ มาทดลองใช้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเขย่าสั่นคลอนคติค่านิยมอันเป็นสิ่งค้ำจุนสัญนิยมต่างๆในวรรณกรรมอีกทีหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนและผู้อ่านต่างต้องรู้เท่าทันธรรมชาติของวรรณกรรม ดังที่อิตาโล กัลวิโน (Italo Calvino) นักประพันธ์และนักวิจารณ์ร่วมสมัยนามอุโฆษเคยกล่าวไว้ว่า :
“แต่ก่อนนี้เราเคยมองว่าวรรณกรรมเป็นกระจกสะท้อนโลก หรือเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกจากภายใน มาบัดนี้เราปฏิเสธอีกต่อไปไม่ได้แล้วว่าวรรณกรรมทั้งหลายสร้างขึ้นด้วยถ้อยคำและกลวิธี และเราจะแสร้งลืมอีกต่อไปไม่ได้เช่นกันว่า วรรณกรรมสื่ออะไรหลายอย่างที่ผู้เขียนก็ไม่รู้ตัว และยังสื่อต่างไปจากเจตนาของเขา (…) ความตระหนักในสิ่งเหล่านี้เป็นคุณมิใช่แก่เฉพาะวรรณกรรม แต่ยังใช้ได้กับการเมืองอีกด้วย เพราะว่าการเมืองและวรรณกรรมต่างก็เป็นการประกอบสร้างด้วยถ้อยคำและมายา ก่อนอื่นใด ทั้งการเมืองและวรรณกรรมจึงต้องรู้จักตนเอง และอย่าไว้ใจตนเองเป็นอันขาด” (แปลจาก La Machine Littérature –เครื่องจักรวรรณกรรม ค.ศ. 1984)
ที่มา : นพพร ประชากุล. “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคม จึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้”. สารคดี ฉบับที่ 162 (สิงหาคม 2541)
สืบเนื่องจากคำถาม “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคม
จึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้”
ดวงมน จิตร์จำนงค์
คำถามและข้อเขียนตามประเด็นคำถามข้างต้นในบทความของนพพร ประชากุล (สารคดี สิงหาคม 2541) นับเป็นงานเชิงทฤษฎีที่ยั่วยุให้ทบทวนเกณฑ์และแนวทางประเมินคุณค่าวรรณกรรมได้ดีมาก และนิตยสาร ช่อการะเกด ยังนำมาตีพิมพ์ซ้ำในฉบับกันยายน-ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยเชิญชวนให้ช่วยกันอ่านให้รอบคอบ
ประเด็นสำคัญของบทความนี้ก็คือ เพราะเหตุใดงานเขียนที่ขนานนามกันว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม หรือ วรรณกรรมสัจนิยม วรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมสร้างสรรค์ จึงล้มเหลวที่จะส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาสังคม ทั้งๆ ที่ได้รับการประเมินค่าเป็นอย่างสูงทั้งในหมู่ผู้แต่ง ผู้พิมพ์ และ ผู้ศึกษาวิจารณ์กันถ้วนทั่ว
นพพร ประชากุล ไม่ได้กล่าวรวบรัด (อย่างคนส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงงานประเภทนี้) ว่าการสะท้อน เท่ากับ การแก้ปัญหาสังคม แต่ได้ชี้ว่า วรรณกรรมสะท้อนสังคมของเรา (โดยเฉพาะตั้งแต่สองทศวรรษมาแล้ว) ไม่สามารถปลุกหรือแม้แต่เสริมสร้างจิตสำนึกของสังคมได้ นั่นหมายความว่า จิตสำนึก (ที่ดีงามหรือสร้างสรรค์) ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหาสังคม (แต่ก็พึงไม่ลืมว่า จิตสำนึกก็ ไม่เท่า กับการแก้ปัญหาสังคมอยู่นั่นเอง) หากคำนึงว่าผู้รับสาร ซึ่งเป็นชนชั้นกลาง น่าจะมีบทบาทมากกว่าชนชั้นอื่นแล้ว อาจตั้งข้อสงสัยต่อสิ่งที่เรียกกันว่า “อำนาจของวรรณกรรม” ไม่น้อยกว่าตั้งข้อสงสัยต่อผู้รับ (ซึ่งคาดกันว่า “อ่าน” วรรณกรรม ?)
อาจารย์นพพรมุ่งเสนอให้พินิจ “ธรรมชาติของความเป็นวรรณกรรม” เป็นหลัก โดยกล่าวว่า “ธรรมชาติของความเป็นวรรณกรรมนั้นเป็นอุปสรรคบั่นทอนการถ่ายสะท้อนความเป็นจริงและขัดขวางการเกิดจิตสำนึกทางสังคมที่จริงจัง” อีกทั้งขยายความว่า วรรณกรรม “เป็นเรื่องที่สมมติขึ้นจากจินตนาการ” จึง “ไม่อาจหลีกพ้นไปจากฐานะ “เรื่องอ่านเล่น” ได้”
อาจตั้งข้อสังเกตในชั้นต้นว่า ในทัศนะนี้ การสะท้อนความจริงมีค่าเท่ากับหรือส่งผลต่อการสร้างจิตสำนึกอย่างแนบแน่น ดังนั้น เมื่อไม่อาจสะท้อนความจริงก็ปลุกจิตสำนึกไม่ได้
คำถามก็คือ หากคนทั่วไปเข้าใจความจริงผ่านงานประเภทอื่น เช่น ข่าวสาร หรือตำรา อีกทั้งบทความข้อเขียนทางวิชาการทั้งหลายทั้งปวงแล้ว และเกิดจิตสำนึกที่เหมาะสม (ต่อการแก้ปัญหาสังคม) อยู่แล้ว ก็เห็นจะไม่ต้องมีวรรณกรรม คือว่าความเข้าใจว่าวรรณกรรมมีหน้าที่สะท้อนสังคม (เหมือนกระจกเงาอย่างปรนัย) นั้น เป็นวิธีคิดที่ไขว้เขวเสียตั้งแต่ต้น คือว่าแม้วรรณกรรมจะมีข้อเท็จจริงเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย แต่ก็เป็นความจริงซึ่ง ไม่เท่ากับ ข้อเท็จจริง รวมทั้งจินตนาการซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความลวง
บทบาทของจินตนาการในการสร้าง-รับงานประพันธ์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ไม่ว่าเราจะโยงจินตนาการกับสถานะสูงต่ำของความเป็น “เรื่องอ่านเล่น” หรือไม่ ก็ไม่ควร “เหมา” เอาว่าวรรณกรรมประกอบด้วยจินตนาการกับข้อเท็จจริงเท่านั้น นักวรรณคดีศึกษาส่วนใหญ่ได้กล่าวพ้องกันว่า สิ่งที่คุมการเลือกและประกอบวัสดุของงานเขียนก็คือโลกทัศน์หรือวิธีคิดของผู้แต่ง และหากจะตั้งข้อคำถามว่าจินตนาการปลุกจิตสำนึกได้หรือไม่ ก็อาจจะมาลองคิดกันว่า การสื่อสารทันใจในยุคนี้ ได้ทำลายจินตนาการของผู้คนจนลดทอนความอ่อนไหวทางอารมณ์ให้หลงลืมความเห็นอกเห็นใจกันต่างจากคนในยุคก่อนอย่างไร
ดูเหมือนอาจารย์นพพรก็มองเห็นว่า วรรณกรรมสะท้อนสังคมมีสัญนิยม (convention – หรือที่บางท่านเรียกว่า “ขนบ”) ที่เป็นแก่นร่วมกับวรรณกรรมประเภทอื่น หากปฏิเสธจินตนาการในการเสริมสร้างจิตสำนึก (ไม่เน้นแต่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิวัติเท่านั้น) ก็ต้องตั้งคำถามว่า นักวิจารณ์วรรณกรรมและสังคมในระยะหนึ่งที่พยายาม “เผาวรรณคดี” (ด้วยการวิจารณ์) นั้น คงจะเข้าใจผิดกันมามากต่อมาก
การที่วรรณกรรมสร้างขึ้นด้วยจินตนาการ ทำให้เราต้องพิจารณากระบวนการทางปัญญาและอารมณ์ของผู้แต่งที่จะหลอมรวมความคิดฝันหรืออุดมคติเข้ากับความเข้าใจชีวิตและปัญหาของมนุษย์ (ไม่เฉพาะแต่ของสังคม) ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ลึกในข้อเท็จจริงและความจริง ดังที่ศรีบูรพากล่าวไว้ว่า
“ความสำเร็จในการประพันธ์ อาศัยความเพ่งพินิจอันลึกซึ้งแห่งจินตภาพเป็นข้อใหญ่” และ “…การประพันธ์เรื่องอ่านเล่นนั้น เมื่อต้องเขียนถึงชีวิตของบุคลในวงสังคมต่างๆ ผู้เขียนก็จำต้องเรียนรู้ความเป็นอยู่ตามที่เป็นจริงแห่งสังคมนั้นๆ ก่อน และการที่จะหยิบยกเอามาเขียนให้เป็นที่ ดูดดื่มจับใจ อยู่ได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ช่างสังเกตและมีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์…” (บรรณพิภพของเรา” ใน ช่อการะเกด ฉบับที่ 19 2537, หน้า 14)
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่อาจารย์นพพรไม่ได้กล่าวถึง (หรือเห็นว่าไม่น่าสนใจพอ) แต่น่าจะมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการเสริมสร้างปลุกเร้า หรือเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกก็คือ ความรู้ความเข้าใจในโลกและชีวิตที่หลอมขึ้นจากประสบการณ์ของผู้แต่ง การตีความชีวิตหรือวิพากษ์วิจารณ์ชีวิต (และสังคม) ด้วยทัศนะอันแหลมคม (หรือตื้นเขิน) ของผู้แต่ง เป็นสิ่งที่นักวรรณคดีศึกษาที่เข้าใจธรรมชาติของวรรณคดีไม่เคยละเลย และน่าจะพิจารณาว่าเป็นปัจจัยของพลังปัญญาที่เสริมสร้างสำนึก หรือที่นักวรรณคดีบางท่านเรียกว่า การปลุกสัญชาตญาณใฝ่ดี ดังที่เรื่องสั้น “ถึงคราจะหนีไกลไปจากลำคลองสายนั้น” ของอัศศิริ ธรรมโชติ ได้ชี้ว่า มนุษย์ไม่เคยอับจนที่จะต่อสู้ให้หลุดรอดจากความชั่วร้ายแม้ขัดสนเพียงใด
ประเด็นที่อาจารย์นพพรชี้ว่า วรรณกรรมมีธรรมชาติต่างจากวาทกรรมประเภทอื่นตรงที่ไม่จำเป็นจะต้องอิงกับบริบทเสมอไปนั้น นับว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาก แต่ก็ไม่น่าจะกล่าวอย่างสุดโต่งว่า “ปลอดจากข้อบังคับแห่งโลกของความจริง” โดยสิ้นเชิง อย่างน้อยก็ไม่อาจตัดขาดจากการค้นหาธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ (ไม่ว่าจะมีอยู่หรือไม่)
การที่กล่าวได้ว่า ผู้แต่งสามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของถ้อยคำในการปลุกเร้าและโน้มน้าวใจผู้รับ “ตามเงื่อนไขที่สร้างขึ้นในโลกสมมติ ซึ่งเป็นคนละสิ่งกับตรรกะในโลกของความเป็นจริง” นั้น ควรถือว่าเป็นข้อเด่นของวรรณกรรม มากกว่าเป็นข้อด้อยที่ขัดขวางการเกิดจิตสำนึกทางสังคมที่จริงจัง และควรทบทวนว่าตรรกะในโลกทั้งสองนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเสมอไปหรือ
สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าผู้แต่งใช้ธรรมชาติของความเป็นวรรณคดี ให้เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารได้มากน้อยเพียงไร ด้วยความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกที่ลุ่มลึกเพียงใด ความไขว้เขวจึงน่าจะอยู่ที่ความเข้าใจว่าวรรณกรรมบางประเภทเหนือกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นตรงที่สะท้อนความจริงได้มากที่สุด (ก็พอแล้ว) อาจารย์นพพรจึงกล่าวไว้อย่างหนักแน่นว่า ต้นตอของความด้อยคุณภาพของงานเพื่อชีวิต (ที่มีอยู่) ก็คือ “ความหลงผิดว่า วรรณกรรม (ต้อง) สะท้อนความจริง” ซึ่งมักอยู่ในระดับข้อเท็จจริงเท่านั้น (referential fallacy)
ข้อเสนอแนะให้ผู้สร้างงานหันไป “เล่น” กับสัญนิยมโดยสร้างใหม่ ปรับเปลี่ยนหรือนำมาใช้ในความหมายใหม่นั้นอาจเป็นประโยชน์ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานว่าประเภท รูปแบบ หรือขนบนิยมที่เกี่ยวกับวรรณกรรมใช่สิ่งตายตัว เพราะปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ได้เสมอ รวมทั้งควรทบทวนการประเมินค่าที่ยึดเพียงแต่คำถามว่า “วรรณกรรมเพื่ออะไร”
สิ่งที่อาจารย์นพพรชี้ว่า สัญนิยมของงานสัจนิยม (ในประเทศไทย) อิงอยู่กับ หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหา” สังคมนั้น ควรจะได้ศึกษาวิเคราะห์กันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะนี่คือข้อกล่าวหาที่ฟ้องถึงคุณภาพของความคิดของผู้สร้างงานในวงวรรณกรรมปัจจุบัน ข้อสำคัญ นักเขียนคงต้องถามตนเองว่า ได้ทำงานเกินกว่าสะท้อนความจริงที่ตนเห็น (แต่ไม่เข้าใจ) และผลิตซ้ำแต่ความคิดและค่านิยมเดิมๆ ที่ไร้พลังอยู่นั่นเองจริงหรือไม่เพียงไร
ผู้เขียนขอเสนอว่า แทนที่เราจะกล่าวว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม ก็ควรจะกล่าวว่า วรรณกรรมสะท้อนทัศนะต่อสังคมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล (ไม่ว่าผู้สร้างงาน ผู้พิมพ์ หรือแม้แต่ผู้รับในความคาดคะเนของผู้สร้าง) คุณภาพของการปลุกและเสริมสร้างจิตสำนึก ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของวิธีคิดของบุคคล ไม่เว้นคุณภาพทางปัญญาของผู้รับ ซึ่งรวมถึงผู้วิจารณ์ด้วย นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงความล้มเหลวหรือความสำเร็จในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งต่างหาก
ที่มา : ดวงมน จิตร์จำนงค์. “สืบเนื่องจากคำถาม “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคม จึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้” เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 366 (10 – 16 มิถุนายน 2542.) หน้า 44–45
บทวิเคราะห์
บทวิจารณ์สองบทนี้1 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าบทวิจารณ์ที่กระตุ้นให้คิดต่อ คิดตาม หรือคิดแย้ง มีพลังทางปัญญาสามารถเร้าใจให้เกิดการวิจารณ์ซ้อนขึ้นได้ บทวิจารณ์บทแรกเขียนโดยนพพร ประชากุล อาจารย์สอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในสารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม 2541 ต่อมาสุชาติ สวัสดิ์ศรีนำไปตีพิมพ์ซ้ำในช่อการะเกด ฉบับเดือนกันยายน – ตุลาคม ปีเดียวกัน ส่วนผู้เขียนบทวิจารณ์ซ้อน คือ ดวงมน จิตร์จำนงค์ อาจารย์สอนวิชาภาษาและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี เป็นนักวิจารณ์คุณภาพที่มีผลงานมายาวนาน และได้รับรางวัลกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประจำปี พ.ศ. 2540 บทความของดวงมนตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ เดือนมิถุนายน 2542
ประเด็นสำคัญที่นพพร ประชากุล นำเสนอในบทความของเขา คือ ทำไมวรรณกรรม
สัจนิยม หรือที่เรียกกันว่า วรรณกรรมสะท้อนสังคม วรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมสร้างสรรค์ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมได้ ทั้ง ๆ ที่วรรณกรรมประเภทนี้เป็นกระแสหลักของวงวรรณกรรมที่มีผู้เขียน พิมพ์ อ่าน ตัดสิน ศึกษา วิเคราะห์วิจารณ์ กันอย่างจริงจัง และต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาร่วมสองทศวรรษ เหตุใดปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่ส่องสะท้อนอยู่ในวรรณกรรมจึงดำรงคงอยู่และนับวันจะเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้เป็นพยานยืนยันความล้มเหลวของวรรณกรรมในการทำหน้าที่“สร้างจิตสำนึกที่ดี” ให้สังคมใช่หรือไม่
ผู้วิจารณ์ค่อนข้างมีน้ำเสียงเย้ยหยันปัจจัยต่าง ๆ ในสังคมอันได้แก่ ค่านิยมของคนชั้นกลาง วงการศึกษา และวงการวิจารณ์ ที่หนุนให้วรรณกรรมสัจนิยม เป็นความบันเทิงที่มี “เนื้อหาสาระ” ซึ่งอิงพื้นฐานกับ “การสะท้อนความเป็นจริง” และก่อให้เกิด “จิตสำนึกทางสังคม” ความคิดเหล่านั้นทำให้ผู้อ่านหลงลืมความเป็นเรื่องแต่ง (Fiction) ของวรรณกรรม ประเด็นการวิพากษ์ผู้เสพวรรณกรรมสัจนิยมอย่างแรงดังกล่าวนี้อาจจะต้องมีการอภิปรายให้ลึกซึ้งกันต่อไป
หลังจากผู้วิจารณ์กระตุ้นความสนใจของผู้สร้างผู้เสพวรรณกรรมด้วยการตั้งคำถาม ผู้วิจารณ์ก็ให้คำตอบว่า เพราะธรรมชาติของความเป็นวรรณกรรมนั่นเอง ที่ “เป็นอุปสรรคบั่นทอนการถ่ายสะท้อนความเป็นจริง และขัดขวางการเกิดจิตสำนึกทางสังคม” เพราะมันอิงอยู่กับสัญนิยมหรือขนบทางวรรณกรรม และสัญนิยมในการสร้างเสพวรรณกรรมก็สัมพันธ์กับค่านิยมที่ผู้เขียนผู้อ่านคุ้นชินอยู่แล้ว นั่นคือ ผู้เขียนและผู้อ่านมีข้อตกลงเบื้องต้นร่วมกันแล้วว่า “ข้อเขียนนั้น ๆ มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงในโลก แต่เป็นเรื่องที่สมมติขึ้นจากจินตนาการ” ผู้อ่านจึงไม่จริงจังกับสิ่งที่อ่าน หรืออาจจะรู้สึกจริงจังในขณะที่อ่าน แต่ก็ไม่ใช่จิตสำนึกถาวร อาจสรุปได้ว่านพพรพยายามชี้ให้เห็นว่า ภาษาในวรรณกรรมไม่ได้ถ่ายสะท้อนโลกจริง แต่สะท้อนโลกของวรรณกรรม องค์ประกอบต่าง ๆ ในวรรณกรรมจะสร้างความหมายในตัวของมันเอง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ดังนั้น ในเมื่อวรรณกรรมไม่ใช่ข้อเขียนที่แสดงข้อเท็จจริงของสังคม วรรณกรรมจึงไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้ วรรณกรรมมีสถานะเป็นเพียง “หนังสืออ่านเล่น” เป็นเพียงวาทะกรรมที่อ่านสนุกกว่าเอกสารวิชาการที่เอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้เท่านั้น นพพรยังกระชากนักอุดมคติให้ตื่นจากความฝันที่จะใช้วรรณกรรมเป็นอาวุธทางปัญญาในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยการชี้ชัดว่า การติดยึดอยู่กับ “ความหลงผิดคิดว่าวรรณกรรมสะท้อนความเป็นจริง” (referential fallacy) รังแต่จะฉุดรั้งให้วรรณกรรม “ย่ำอยู่กับที่” และส่งผลต่อการศึกษาและการวิจารณ์วรรณกรรมด้วย ทำให้ละเลยที่จะทำความเข้าใจถึงคุณสมบัติแท้จริงของตัวงาน แต่หันไปให้ความสนใจกับปัจจัยภายนอกแทน”
ด้วยพื้นฐานความคิดที่อิงกับแนวคิดโครงสร้างนิยม นพพรจึงเสนอให้เข้าใจธรรมชาติของวรรณกรรม และใส่ใจกับสัญนิยมในวรรณกรรมซึ่งถูกค้ำจุนด้วยค่านิยมต่าง ๆ ในสังคม นพพรจึงเสนอทางออกที่วรรณกรรมจะก้าวออกไปจากสภาวะ “ย่ำอยู่กับที่” โดยการที่นักเขียนต้อง “เล่น” กับสัญนิยม โดยการปรับเปลี่ยน นำของเก่ามาใช้ในความหมายใหม่ หรือทดลองสร้างใหม่ โดยผู้สร้างและผู้เสพต้องรู้เท่าทันธรรมชาติของวรรณกรรม นั่นคือ ศิลปะและมายาแห่งถ้อยคำ
ทัศนะของนพพร ประชากุล ต่อบทบาทของวรรณกรรมสะท้อนสังคมค่อนข้างจะใช้ตรรกะตรงไปตรงมาราวสูตรทางคณิตศาสตร์ นั่นคือ วรรณกรรมเป็นเรื่องสมมติจากจินตนาการ วรรณกรรมจึงไม่ได้สะท้อนความจริง เมื่อวรรณกรรมไม่ได้สะท้อนความจริง วรรณกรรมจึงไม่ได้สร้างจิตสำนึกทางสังคม เมื่อวรรณกรรมไม่ได้สร้างจิตสำนึก วรรณกรรมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ หากพิจารณาด้วยตรรกะเช่นนี้ เราคงต้องมีคำถามต่อไปว่าแล้วทำไมงานเขียนประเภทอื่น เช่น บทความวิชาการที่แสดงข้อเท็จจริงทางสังคมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าทัศนะความคิดของนพพรล้มล้างความเชื่อเรื่องอำนาจของวรรณกรรมอย่างที่เคยกันมาอย่างหนักแน่นในช่วงหนึ่งโดยสิ้นเชิง
ดวงมน จิตร์จำนงค์ ไม่เห็นพ้องกับความคิดของนพพร ประชากุลหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็น “จินตนาการไม่อาจสร้างจิตสำนึก” ดวงมนชี้ว่าจินตนาการในวรรณกรรมไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ โดยไร้ที่มาที่ไป เราจึงต้องพิจารณา “กระบวนการทางปัญญาและอารมณ์ของผู้แต่งที่หลอมรวมความคิดฝันและอุดมคติเข้ากับความเข้าใจชีวิตและปัญหาของมนุษย์ ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกในข้อเท็จจริงและความจริง” ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตที่หลอมจากประสบการณ์ของผู้แต่ง และการตีความชีวิตและวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตด้วยทัศนะอันแหลมคมจึงน่าจะเป็นปัจจัยของพลังปัญญาที่อาจนำไปสู่การเสริมสร้างจิตสำนึก หรือ “สัญชาตญาณใฝ่ดี” แก่ผู้อ่าน
ดวงมนยังเสนอแนะว่าทัศนะบางประเด็นควรมีการศึกษาวิเคราะห์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างประเด็นที่นพพรชี้ชัดว่า “วรรณกรรมสัจนิยมย่อมไม่อาจสร้างจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ปัญหาใด ๆ ได้ เพราะที่แท้แล้วมันอิงอยู่กับสัญนิยมซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมานั่นเอง” ดวงมนชี้ว่าข้อความนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ฟ้องคุณภาพของความคิดของผู้สร้างงานในวงวรรณกรรมปัจจุบัน และน่าจะกระตุ้นให้นักเขียนถามตนเองว่า ได้ทำงานหนักเกินกว่าสะท้อนความจริงที่ตนเห็น (แต่ไม่เข้าใจ) และผลิตซ้ำแต่ความคิดและค่านิยมเดิม ๆ ที่ไร้พลังอยู่นั่นเอง จริงหรือไม่เพียงใด เพราะถ้าเพียงแต่นักเขียนมีบทบาทในการสะท้อนภาพความจริง วรรณกรรมจะต่างอะไรไปจากข่าว และยังไม่สามารถแข่งขันกับความรวดเร็วของข่าวได้ด้วยซ้ำไป ในประเด็นนี้ ดูเหมือนว่าดวงมนช่วยตั้งคำถามต่อจากข้อกล่าวหาของนพพร และเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากนักเขียนอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ดวงมน ก็เห็นด้วยกับทัศนะของนพพรหลายประเด็น แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด เป็นต้นว่า เห็นด้วยกับการที่ตัวบทวรรณกรรมไม่ได้ถูกกำหนดจากข้อเท็จจริงภายนอก แต่ก็เห็นว่าวรรณกรรมไม่ได้ปลอดจาก “ข้อบังคับแห่งโลกของความจริง” โดยสิ้นเชิง ดวงมนเห็นด้วยกับความคิดที่ว่านักเขียนมีอิสระในการใช้คุณประโยชน์จากถ้อยคำภาษาอย่างเต็มที่ แต่ถือเป็นข้อเด่นมิใช่ข้อด้อยที่ขัดขวางการสร้างจิตสำนึกทางสังคม อีกทั้งยังเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่นักเขียนจะสามารถใช้ธรรมชาติของวรรณกรรมให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารได้มากน้อยเพียงใด ด้วยความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกที่ลุ่มลึกเพียงใด ส่วนข้อเสนอแนะของนพพรที่ให้ผู้แต่งหันไป “เล่น” กับสัญนิยมนั้น ดวงมนเห็นว่ามีประโยชน์ เพราะประเภท รูปแบบ และสัญนิยมไม่ใช่สิ่งตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ได้เสมอ
ในขณะที่นพพรปิดประตูตายสำหรับความเชื่อเรื่องอำนาจของวรรณกรรมในการแก้ไขปัญหาสังคม (ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ น่าจะเชื่อว่าเป็นคนละเรื่องกัน) ดวงมนเชื่อมั่นว่าคุณภาพของวรรณกรรมในการปลุกและเสริมสร้างจิตสำนึกขึ้นอยู่กับคุณภาพของวิธีคิดของนักเขียน รวมทั้งคุณภาพทางปัญญาของผู้รับ ซึ่งรวมถึงนักวิจารณ์ด้วย ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นอีกมิติหนึ่งที่นอกเหนือจากวรรณกรรม
ไม่มีข้อสรุปว่าข้อเสนอในบทวิจารณ์ทั้ง 2 บทนี้ ฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปสู่ข้อสรุปว่าถูกหรือผิดอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะทัศนะจากบทวิจารณ์ทั้งสองบทล้วนเป็นมุมมองที่น่าสนใจเท่า ๆ กัน คุณค่าสำคัญของบทวิจารณ์ทั้งสองบทนี้อยู่ที่การท้าทายอย่างหนักแน่นแต่นุ่มนวลของนักวิจารณ์ต่อผู้สร้างและผู้เสพ ให้ทบทวนความคิดเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของวรรณกรรม กระบวนการสร้างเสพวรรณกรรม การไม่ติดยึดกับสัญนิยมของวรรณกรรม บทบาทของวรรณกรรมต่อสังคม ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้าง ผู้เสพ และสังคม บทวิจารณ์ทั้งสองบทแสดงให้เห็นการวิจารณ์อย่างมีหลักการ และการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล อันเป็นการสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างประโยชน์แก่วงวรรณกรรม
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ : ผู้วิเคราะห์
1 บทความของนพพร ประชากุล ตีพิมพ์ในสารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม 2541 ต่อมาสุชาติ สวัสดิ์ศรี นำไปตีพิมพ์ซ้ำในช่อการะเกด ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ปีเดียวกัน ส่วนบทความของดวงมน จิตร์จำนงค์ ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับ 366 วันที่ 10 – 16 มิถุนายน 2542