การบรรยาย การวิจารณ์ในฐานะประสบการณ์: การรับ การครุ่นคิดพินิจนึก การแสดงออก
การบรรยาย “การวิจารณ์ในฐานะประสบการณ์: การรับ การครุ่นคิดพินิจนึก การแสดงออก”
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ
(การบรรยายใน “กิจกรรมค่ายการวิจารณ์ศิลปะ” วันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2556 อิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ กล่าวว่าในการบรรยายครั้งนี้ตั้งใจที่จะเน้นคำว่า “ประสบการณ์” เพราะความสนใจการวิจารณ์เริ่มต้นย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการชอบฟังดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และมีโอกาสเรียนดนตรีไทยเล็กน้อย และเรียนดนตรีสากล (ไวโอลิน) แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ฟังที่ค่อนข้างจะเอาจริงเอาจังมาก เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษขณะอายุ 17 ย่าง 18 ปีและได้อาศัยอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ซึ่งมีวงดนตรีที่มีชื่อเสียงมาก และเป็นวงดนตรีเก่าแก่ที่สุดของประเทศอังกฤษ จึงมีโอกาสได้ฟังดนตรีบ่อยครั้ง เพราะราคาค่าเข้าฟังยังถูกมากในสมัยนั้น ซึ่งทุนที่ได้รับจาก กพ. เพียงพอสำหรับที่จะให้มีโอกาสฟังดนตรีได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง สิ่งที่อยากจะรู้คือ ในเมื่อเราที่มาจากวัฒนธรรมอื่น เราฟังรู้เรื่องจริงหรือไม่ และส่วนที่เราคิดว่าเพราะนั้น ผู้รู้คิดเช่นเดียวกันเราหรือไม่ สิ่งที่ทำก็คือ หลังจากวันที่แสดงหนึ่งวันหนังสือพิมพ์จะตีพิมพ์บทวิจารณ์ของการแสดงดนตรีรายการที่ได้อาจารย์และนักวิจารณ์ได้ฟัง จึงไปเปรียบเทียบว่าผิดแผกไปจากที่ผู้รู้คิดอย่างไร หลังจากเฝ้าสังเกตตัวเองก็พบว่าไม่ช้าไม่นานก็ชักจะเข้าทาง สิ่งที่นักวิจารณ์ว่าดีก็รู้สึกว่าดี จนคิดว่าตนเองฟังเป็น จากนั้น 2 ปีต่อมาก็เริ่มฟังดนตรีเป็นแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้อ่านบทวิจารณ์เป็นจำนวนมาก นับเป็นการฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย เนื่องจากนักวิจารณ์ประจำหนังสือพิมพ์ The (Manchester) Guardianใช้ภาษาอังกฤษได้ไพเราะมาก
ขณะที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น อาจารย์เจตนาเรียนวิชาภาษาปัจจุบัน อาจารย์เล่าว่าการบ้านส่วนใหญ่มักเป็นการอ่านหนังสือทั้งที่เป็นตัวงานวรรณกรรมและการวิจารณ์ ในการเรียนระบบอังกฤษปีหนึ่งๆ ต้องเขียนงานไปส่งครูเป็นจำนวนมาก เมื่อเขียนไปส่งแล้ว ครูจะตรวจงานกลับมา ในการเรียนสามปีเขียนงานเป็นร้อยชิ้น เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์สนใจการวิจารณ์ ลักษณะของการวิจารณ์ วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์เป็นไปโดยธรรมชาติ สำหรับทฤษฎีการวิจารณ์นั้น อาจารย์กล่าวว่ามิได้มาจากการที่ถูกบังคับให้เรียนทฤษฎีวรรณคดี ซึ่งต่างจากนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในประเทศไทยในขณะนี้ที่มักจะถูกครูบังคับให้อ่านทฤษฎี (ซึ่งครูเองบางครั้งก็อ่านไม่รู้เรื่อง) ทั้งนี้ อาจารย์เจตนาเห็นว่าการที่สามารถกล่าวถึงทฤษฎีต่างๆ ได้นั้นมาจากการปฏิบัติ และขณะนี้ก็ยังสนุกกับการเขียนบทวิจารณ์อยู่ อาจารย์เจตนาเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีโอกาสเดินทางไปประเทศเยอรมนี วันที่เดินทางไปถึงนั้นพลาดโอกาสฟังวงดนตรีจากอเมริกาที่เดินทางมาเล่น แต่วันรุ่งขึ้นรีบซื้อตั๋วเพื่อชมการแสดงดนตรี เมื่อฟังการแสดงแล้วก็เขียนบทวิจารณ์วันรุ่งขึ้นทันที นอกจากนั้นยังมีโอกาสได้ชมการแสดงละครฝรั่งเศส ซึ่งแปลเป็นภาษาเยอรมัน และเล่นเป็นภาษาเยอรมันสมัยใหม่ หลังจากนั้นอีกหนึ่งวันก็เขียนด้วยลายมือและสแกนส่งมาให้ผู้วิจัยพิมพ์ให้ โดยใช้เวลาหนึ่งหรือสองวันก็ส่งตันฉบับที่พิมพ์แล้วไปให้อ่านที่เบอร์ลิน ซึ่งอาจจะแก้อีกหนึ่งหรือสองครั้ง ก่อนที่จะเผยแพร่ในเว็บไซต์ของโครงการฯ (www.thaicritic.com) (บทวิจารณ์ละครเรื่องนี้ได้แจกเป็นเอกสารประกอบการประชุม) การกล่าวเช่นนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจว่า เหตุที่อาจารย์เจตนาเขียนวิจารณ์ได้เป็นเพราะว่ามีความสนใจงานศิลปะเป็นพื้น หากไม่มีความสนใจตัวงานศิลปะก็จะเขียนไม่ได้
ประการที่สอง คือ การศึกษาตัวอย่างจากผู้ที่มีประสบการณ์สูง ผู้ที่มีความสามารถสูง และผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง บุคคลที่อาจารย์เจตนาติดตาม ซึ่งในภายหลังได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษให้เป็นท่านเซอร์ (คือ Sir Neville Cardus) ซึ่งได้รับจากการเขียนวิจารณ์ดนตรี
ประการต่อมา อาจารย์เจตนาเห็นว่างานของศิลปินและนักวิจารณ์สร้างขึ้นจากประสบการณ์อันหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1) ประสบการณ์ตรง จากชีวิตจริง ทั้งผู้ที่เป็นนักวิจารณ์และผู้ที่เป็นศิลปินจะต้องได้มีประสบการณ์ที่ได้รับจากชีวิตจริง ไม่มีใครที่จะเกิดมาแล้วจะสร้างงานศิลปะและงานวิจารณ์ได้เลยในสุญญากาศ นักประพันธ์หรือศิลปินที่ไม่มีประสบการณ์จะมีข้อด้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่มีประสบการณ์สูง หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงมากผู้ล่วงลับไปกว่า 20 ปีแล้ว ได้เคยตินักประพันธ์บางคนไว้ว่า “คนๆ นี้เขียนงานนวนิยายออกมา รู้ได้เลยว่าเขาเองไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ”
2) ประสบการณ์จากการแสวงหาความรู้ ซึ่งแน่นอนว่าของบางอย่างไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา การแสวงหาความรู้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้าห้องสมุด แต่ในปัจจุบันมีวิธีที่หลากหลาย โดยเฉพาอย่างยิ่งการมีสื่อต่างๆ เข้ามาช่วย แต่ในขณะเดียวกันสื่อเหล่านี้ก็อาจจะทำลายเราได้เช่นกัน ความสามารถในการแยกแยะจึงสำคัญมากสำหรับยุคใหม่
3) ประสบการณ์จากงานศิลปะ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุด ถ้าอยากจะเขียนงานวิจารณ์ทัศนศิลป์แล้วไม่ไปเดินดูงานนิทรรศการศิลปะเลย ก็คงจะวิจารณ์ไม่ได้
4) การถ่ายกรองประสบการณ์เป็นงานสร้างสรรค์ ในประเด็นนี้เป็นการกล่าวกับศิลปินโดยตรงว่า งานสร้างสรรค์นั้นต้องมาจากประสบการณ์ที่กลั่นกรองแล้ว อาจารย์เจตนาเห็นว่าการนำขาหยั่งไปตั้งอยู่เบื้องหน้าธรรมชาติอันสวยงามแล้ววาดภาพเลยนั้น อย่าคิดว่าไม่มีการกลั่นกรอง หากใครมีโอกาสไปฝรั่งเศสขอให้หาโอกาสนั่งรถไฟออกไปนอกเมืองปารีสประมาณครึ่งชั่วโมง ไปหมู่บ้านที่ฟานก๊อก (Van Gogh) เคยอยู่ เพราะมีการนำภาพที่ฟานก๊อกเขียน ซึ่งเป็นงานผลิตซ้ำมาตั้งเอาไว้ (reproduction)และบอกว่าจากจุดนี้ที่ฟานก๊อกเขียนภาพ เมื่อมองๆ ไปก็พบว่าธรรมชาติตรงนั้นก็พบว่าธรรมชาติเปลี่ยนไปบ้าง แต่อย่าคิดว่าเป็นการถ่ายแบบนำกล้องถ่ายรูปไปถ่าย ผู้ที่ถ่ายภาพดีคือผู้ที่ถ่ายรูปแล้วไม่เหมือนของจริง อาจจะด้วยการจัดวางแสง เพื่อไม่ให้เหมือนของจริงราวกับถ่ายเอกสาร ฉะนั้น การถ่ายกรองต้องมาจากประสบการณ์อะไรบางอย่าง รวมทั้งฝีมือและการเล่าเรียน
5) งานศิลปะในฐานะสมบัติกลาง แน่นอนที่สุดว่าเมื่อเผยแพร่งานออกไปแล้ว มหาชนได้มาสัมผัสกับตัวงานนี้แล้ว เจ้าของผลงานจะยังยึดติดกับผลงานและแสดงทัศนะตอบโต้การตีความของมหาชนว่าตีความผิดก็สามารถกระทำได้ แต่ศิลปินใหญ่ๆ จะไม่ทำ ศิลปินใหญ่ๆ มักจะกล่าวว่า “งานของข้าพเจ้ามีความหมายเท่าที่ผู้รับไปตีความเอง” นอกจากนี้ อาจารย์เจตนาเล่าว่าเพิ่งจะเขียนสูจิบัตรให้กับศิลปินชื่อ สมบูรณ์ หอมเทียบทอง ซึ่งเป็นศิษย์เก่าเยอรมันมาขอให้เขียนให้ ซึ่งก่อนที่จะเขียนได้ไปดูงานหลายครั้ง และไปดูกรุภาพส่วนตัวของคุณสมบูรณ์ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงด้วยเมื่อได้ดูย่างละเอียดแล้วถึงจะตัดสินใจว่าจะเขียนให้ เพราะถ้าดูแล้ว “ตื้อ” จะเขียนไม่ได้ แต่สมัยนี้มีหลายคนที่เขียนได้ด้วยการอ้างทฤษฎีของนักทฤษฎีคนโน้นคนนี้มารวมกันเป็นบทความ แต่อาจารย์เจตนาเห็นว่าการทำเช่นนั้นไม่ใช่การวิจารณ์ ในการอภิปรายร่วมกับคุณสมบูรณ์ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมีงานชิ้นหนึ่งที่นำช้างไม้ตัวเล็กๆ มาเรียงกันและทำเป็นว่ากำลังจะเดินทางออกที่ห้องผู้โดยสารขาออกของสนามบินแห่งหนึ่ง อาจารย์เจตนาตีความช้างที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ตรงกับคุณสมบูรณ์ แต่คุณสมบูรณ์ไม่เคยบอกว่าความคิดของอาจารย์เจตนาผิด ในกรณีนี้ ศิลปินเมื่อไปถึงระดับหนึ่งแล้วจะต้องใจกว้าง เพราะเมื่อได้มอบงานศิลปะเป็นสมบัติกลางแล้ว ศิลปะนั้นก็จะไปสร้างประสบการณ์ให้กับผู้อื่นอย่างหลากหลาย
6) งานศิลปะในฐานะ “ศักยภาพ” ซึ่งมีงานเขียนไว้ในเชิงปรัชญาและสุนทรียศาสตร์เป็นจำนวนไม่น้อยที่อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ งานศิลปะมีอะไรที่แฝงอยู่ในตัว แต่ถ้าไม่ได้สัมผัสกับผู้รับ งานศิลปะชิ้นนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่ายังไม่ได้สื่อสารที่สมบูรณ์ จึงเป็นเพียงแค่ศักยภาพ งานที่ไร้คุณค่าคืองานที่ปราศจากศักยภาพ เพราะว่าทุกคนดูแล้วตื้อหมดยกเว้นเจ้าของผลงานที่อาจกล่าวถึงผลงานของตนและบอกว่าดี อาจารย์เจตนาตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยนี้ใครก็ตามที่พูดเก่งมักมีผู้เชื่อถือ เช่นเมื่อไม่กี่วันมานี้มีการประมูลงานและมีผู้ประมูลงานชิ้นหนึ่งไปด้วยราคาสองล้านกว่าบาท ซึ่งเห็นว่าควรมีการวิจารณ์ผลงานมากกว่าการประมูลงาน เพราะการประมูลงานพบว่าคนไทยเก่งในเรื่องการปั่นราคาสำหรับรูปนั้นรูปนี้ สำหรับคนนั้นคนนี้
7) การ “รับ” งานศิลปะ: จาก “ศักยภาพ” สู่ “ประสบการณ์” (ปลายทาง)คือการที่เราเดินจากศักยภาพไปสู่ประสบการณ์ ซึ่งอาจารย์เจตนาเรียกว่า “ประสบการณ์ปลายทาง” ประสบการณ์ปลายทางคือ ผู้สร้างมีประสบการณ์จากชีวิตจริงก็ดี ประสบการณ์จากงานศิลปะก็ดี ประสบการณ์จากการแสวงหาความรู้ก็ดี เมื่อถ่ายกรองประสบการณ์นั้นแล้วสร้างเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ และมอบงานนั้นให้กับมหาชน ประสบการณ์ปลายทางก็คือ ประสบการณ์การรับงานศิลปะก่อให้เกิดปฏิกิริยาใดบ้างกับตัวเราในฐานะที่เป็นผู้รับ หรือผู้ที่ได้สัมผัสกับงานศิลปะนั้น เราต้องถามตัวเอง เฝ้าดูตัวเอง และถามใจตัวเองว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับตอนที่อาจารย์เจตนาอายุ 18 ปีที่ได้ถามตัวเองขณะที่ฟังเพลงคลาสสิก เมื่อฟังเพลงนั้นแล้วเกิดอารมณ์อย่างไรบ้าง
8) การวิจารณ์ในฐานะกิจของ “ผู้รับ”การที่ศิลปินจะวิจารณ์งานของตัวเองก็อาจจะทำได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ศิลปิน ศิลปินวิจารณ์งานของผู้อื่น เขาก็ไม่ได้วิจารณ์ในฐานะที่เป็นศิลปิน แต่วิจารณ์ในฐานะที่เป็นนักวิจารณ์ โดยปรับตัวเข้าสู่การวิจารณ์ศิลปินด้วยกัน ในแง่นั้นถือว่าเป็นนักวิจารณ์
9) การวิจารณ์กับการแบ่งปัน ในแง่นี้ถือว่าเป็นกิจสาธารณะ ถ้าผู้ใดมีความคิดเกี่ยวกับงานศิลปะแล้ว ไม่ควรจะเก็บเอาไว้คนเดียว น่าที่จะนำไปแบ่งปันกับผู้อื่นบ้าง
อาจารย์เจตนาได้ยกข้อความของศาสตราจารย์ Raymond Williams แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเคยอ้างไว้ในหนังสือ แนวทางการประเมินคุณค่าวรรณคดีในวรรณคดีวิจารณ์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ-อเมริกัน ในศตวรรษที่ 20 (ซึ่งเป็นเอกสารแจกเป็นอภินันทนาการแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม)และเล่าถึงประวัติของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ขายไม่ออกเพราะว่ายากเกินไป แต่ทางสำนักพิมพ์ไม่เคยตำหนิอาจารย์เจตนาที่ทำให้สำนักพิมพ์ขาดทุนเลย ซึ่งสำนักพิมพ์ต้องเป็นอย่างนี้คือ ไม่ปรักปรำผู้เขียนซึ่งไม่มีคนอ่าน เพราะว่างานบางชิ้นต้องใช้เวลาร้อยปีถึงจะรู้ว่าคุณค่าอยู่ที่ใด ข้อความที่ยกมานี้ Raymond Williams กล่าวว่า “การที่เราจะวิจารณ์หรือแสดงทัศนะของเราส่วนตัวออกไปเพื่อตนเองนั้น ถึงจะมีความสลักสำคัญต่อเราเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ก็ไม่ใช้สิ่งที่เราจะคิดว่ามีคุณค่า การวิจารณ์เป็นกระบวนการที่มีพลวัต งานวิจารณ์ที่ดีซึ่งเป็นการประเมินคุณค่า”งานวิจารณ์ที่ดีมิใช่งานวิจารณ์ที่คนอ่านอ่านไปแล้วอยู่เฉยๆ แต่อ่านไปแล้วจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ ถ้าไม่มีปฏิกิริยาในทางบวกหรือทางลบ ก็ทำให้คิดต่อไปได้อีกหลายตลบ งานวิจารณ์ต้องทำหน้าที่ประเมินคุณค่าด้วย งานวิจารณ์ที่ดีนั้นไม่ได้ทำให้เราเกิดปฏิกิริยาบางอย่างเพียงเท่านั้นถือว่าพอใจแล้ว แต่งานวิจารณ์จะไปมีผลต่อวิถีชีวิตของเราโดยส่วนตัวอันเป็นสิ่งที่ Raymond Williams พยายามตอกย้ำ อาจารย์เจตนายืนยันว่างานวิจารณ์มีผลต่อวิถีชีวิตของอาจารย์แน่นอน
ในแง่นี้ชี้ให้เห็นว่า งานศิลปะที่มีคุณค่าเป็นงานที่เปลี่ยนชีวิตได้ อาจารย์เจตนาเล่าว่าเคยได้ฟังปาฐกถาของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานละครของ แบร์ทอลท์ เบรคชท์ (Bertolt Brecht)ที่ฮ่องกง ซึ่งคำสุดท้ายที่วิทยากรคนนั้นพูดและอาจารย์เจตนาจำได้จนกระทั่งทุกวันนี้คือ “ถ้าท่านไม่เชื่อว่าโลกเลี่ยนแปลงได้ จะเล่นละครเบรคชท์ไปทำไม” (ซึ่งอาจารย์เจตนาไปพบผู้เชี่ยวชาญคนนั้นที่ปารีสเพื่อหาโอกาสเสวนาต่อ) ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ทันตา แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างสำหรับผู้ที่ช่างคิด เพราะจะรับสาร ซึ่งเดิมเป็นแค่ศักยภาพที่แฝงอยู่ในตัวงาน และจากศักยภาพได้แปรเปลี่ยนไปเป็นความมั่งคั่งทางปัญญาที่สามารถจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เปลี่ยนความคิดได้ ถ้าไม่เชื่ออย่างนั้นก็อย่ามาเล่นเรื่องงานศิลปะ
ประเด็นต่อไป คือ สถานะของงานศิลปะ อาจารย์เจตนาต้องการให้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องจริง กับ เรื่องแต่ง โดยเล่าเรื่องให้ฟังว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นชาวเยอรมันไปเที่ยวเมืองฝรั่งเศสโดยการโบกรถ ซึ่งมีชายวัยกลางคนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งขับรถมาแล้วเห็นชายหนุ่มคนนี้โบกรถอยู่ จึงเรียกขึ้นรถมาด้วย ระหว่างทางก็สนทนากันอย่างสนิทสนม ในที่สุดชาวฝรั่งเศสผู้นั้นบอกเด็กหนุ่มว่า วันนี้ไม่ต้องไปนอนบ้านเยาวชนหรอก ให้ไปนอนที่บ้านเขาได้เลย เมื่อพาไปที่บ้านก็หาอาหารเย็นให้กินอย่างดี เสร็จแล้วก็พาไปชี้ห้องนอนและบอกว่ามีห้องว่างอยู่ 2 ห้อง ให้เลือกได้เลยว่าจะนอนห้องใด เพราะเป็นห้องของลูกชาย 2 คนของเขา ชายหนุ่มถามต่อไปว่า ลูกชายเขาไปเรียนต่อที่เมืองอื่นหรือ ซึ่งคำตอบของเจ้าของบ้านชาวฝรั่งเศสที่ตอบชายหนุ่มชาวเยอรมันซึ่งเป็นลูกของศัตรูว่า ลูกของผมทั้งสองคนตายในสงครามโลกครั้งที่ 2 หมายความว่า ลูกของเขาทั้งสองคนถูกเยอรมันฆ่า แต่เขารับชายหนุ่มเยอรมันคนหนึ่งมานอนในบ้านเขาได้ นั่นคืออภัยทาน ซึ่งสูงกว่าอภัยโทษมาก นอกจากนี้ อาจารย์เจตนาตั้งคำถามไว้ว่าสำคัญหรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ถ้าเป็นงานวรรณกรรมที่ผู้แต่งสามารถที่จะแต่งได้น่าประทับใจยิ่งกว่าที่อาจารย์เจตนาเล่า หรือ ถ้าเป็นเรื่องที่นักประพันธ์คนหนึ่งแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์โดยจินตนาการ โดยไม่ทราบว่ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่น้ำหนักของเรื่องจะต่างกันหรือไม่ ว่าต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยจินตนาการ ถ้าเชื่อกรณีหลังแสดงว่ามีความภักดีต่อศิลปะ และเชื่อว่าศิลปะสามารถที่จะสร้างโลกที่มีความสมจริง และสามารถที่จะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นได้
ในเรื่องของการรับที่เกี่ยวกับการประเมินคุณค่านั้น อาจารย์เจตนากล่าวถึงในประเด็น “บทบาทของผู้อ่าน” ว่า แต่เดิมวงการศิลปะจะยกย่องและให้ความสำคัญแก่ตัวศิลปินมากว่าเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่จะชี้ทางให้แก่มวลมนุษย์ เป็นประทีปส่องทาง ไม่ช้าไม่นานศิลปินเหล่านั้นก็เหลิงคิดว่าตัวเป็นอัจฉริยะที่สามารถจะบอกให้ใครทำอะไรได้ จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นมาว่า ศิลปินยิ่งใหญ่ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ และถ้าไม่มีผู้อ่านการสื่อสารจะไม่สมบูรณ์ ไม่ครบวงจร และเป็นเพียงแค่ศักยภาพ เพราะฉะนั้นจึงเสนอว่าควรที่จะมาศึกษาบทบาทของผู้รับ ที่ถ่ายแบบจากวรรณกรรมไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ ได้ โดยพิจารณาว่าเราจะทำอะไรได้จากการศึกษาผู้รับ ซึ่งอาจารย์เจตนาได้เขียนประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียดในบทที่ 5 ของหนังสือ แนวทางการประเมินคุณค่าวรรณคดีในวรรณคดีวิจารณ์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ-อเมริกัน ในศตวรรษที่ 20ว่ามีสำนักหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เพิ่งตั้งใหม่ซึ่งตั้งปีเดียวกับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ แต่ในขณะนี้มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้รับการประเมินว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเยอรมันแล้ว อันรวมถึงในทางด้านอักษรศาสตร์ที่โด่งดังมาก เพราะมีอาจารย์จากหลายๆ แห่งนัดมารรวมกันที่นั่นเพื่อที่จะสร้างวิชาการที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาควิชา ซึ่งอาจารย์เจตนาเคยไปร่วมการประชุมด้วย ในครั้งนี้มีอาจารย์มาจากรัสเซีย แต่สนทนากันเป็นภาษาเยอรมัน ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอาจารย์ระดับแนวหน้าอยู่ 2 คน คือ Hans-Robert Jauss กับ Wolfgang Iser แต่น่าเสียดายว่าทั้งคู่ถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ทั้งสองท่านต่างเขียนงานขนาดยาวและเป็นหลักเป็นฐานไว้ ซึ่งไม่มีเวลาที่จะอธิบายรายละเอียดในที่นี้ ประเด็นที่ทำให้เกิดความสนใจใหม่ที่เกี่ยวกับโลกของผู้รับเกิดขึ้นจากสำนักที่เรียกว่าThe KonstanzSchoolซึ่งสิ่งที่สำนักนี้คิดขึ้นมาใหม่ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า aesthetics of reception
อาจารย์เจตนาอธิบายกระบวนการครุ่นคิด-พินิจ-นึกว่า เมื่อได้สัมผัสกับงานแล้วต้องนำไปคิด กลับไปไตร่ตรอง ซึ่งได้นำหนังสือ DIE BLASSEN HERREN MIT DEN MOKKATASSENซึ่งเป็นหนังสือปะ/แปะผลงานของ Herta Müllerนักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมันมาวิเคราะห์เป็นตัวอย่าง ซึ่งอาจารย์เจตนาเล่าว่าเพิ่งได้พบหนังสือเล่มนี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2556) และได้มีโอกาสพบกับนักเขียน Herta Müller ด้วย ซึ่ง Herta Müller ชอบตัดนิตยสารมาตั้งแต่เด็ก แทนที่จะตัดเป็นหน้า แต่กลับตัดเป็นคำๆ ตัดคำจากนิตยสารที่มีสีเก็บเอาไว้เป็นหมื่นๆ คำ วันใดที่ว่างก็จะนำกรุสมบัติที่เก็บไว้ ซึ่งเป็นคำที่ตัดไว้เป็นชิ้นเล็กๆ มาเทออกบนพื้นแล้วนำคำโน้นมาผสมคำนี้ หยิบคำนี้มาผสมคำนั้น เมื่อเอามาเรียงกันแล้วในแต่ละหน้า สามารถที่จะเล่าเรื่องสั้นได้หนึ่งเรื่อง การทำอย่างนี้ก็เพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง อาจารย์เจตนายอมรับว่าเมื่อพบงานในลักษณะนี้ครั้งแรกรู้สึก “ตื้อ” แต่ว่ามีอะไรที่อยากจะกล่าวถึง และเมื่อได้อ่านพบว่ามีสิ่งที่น่าประทับใจว่า Herta Müllerสามารถที่จะสรรหาคำที่นำมาเรียงกันแล้วมีความหมายได้ เพราะลำพังแต่ละคำก็อยู่กันโดดๆ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะวิจารณ์งานประเภทนี้ หากจะใช้ใจวัดใจก็คงไม่ได้อะไรเท่าใดนัก แต่ต้องเชื่อมโยงไปสู่ประสบการณ์ด้วยการแสวงหาความรู้ ในการแสวงหาความรู้ของอาจารย์เจตนานั้นนับว่าโชคดีที่ได้อ่านทฤษฎีวรรณคดีมาไม่น้อย ซึ่งในกรณีนี้ ทฤษฎีนับว่ามีความสำคัญ เพราะครุ่นคิดพินิจนึกเท่าใดแล้วก็นึกไม่ออกว่าจะพูดว่าอะไร ทั้งๆ ที่มีโอกาสได้เจอกับนักเขียนแล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้มีทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า “มรณกรรมของผู้แต่ง” ซึ่งตีพิมพ์แล้วในหนังสือ พลังการวิจารณ์:วรรณศิลป์ อาจารย์ธีรา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แปลจากภาษาฝรั่งเศสเอาไว้ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…นักเขียนทำได้แต่เพียงเลียนอากัปกิริยาที่มีมาก่อนแต่จะไม่ใช่ต้นตอ อำนาจอย่างเดียวของเขาคือ ผสมผสานข้อเขียนต่างๆเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความแตกต่างขัดแย้งซึ่งกันและกันในระหว่างข้อเขียนเหล่านั้น ด้วยวิธีที่ไม่ยึดข้อเขียนใดข้อเขียนหนึ่งขึ้นมาเป็นปทัสถาน ถ้านักเขียนต้องการจะเสนอความคิดของเขา อย่างน้อยเขาก็ควรจะต้องรู้ว่า “สิ่ง” ที่อยู่ภายในซึ่งเขาอ้างว่าจะ “แปลความ” ออกมานั้น เป็นเพียงพจนานุกรมที่มีผู้เรียบเรียงไว้แล้ว ซึ่งคำต่างๆจะอธิบายได้ก็โดยอาศัยคำอื่นๆมาประกอบเพียงอย่างเดียว และก็เป็นเพียงเช่นนี้ตลอดกาล…”
อาจารย์เจตนาอธิบายว่า สิ่งที่ Roland Barthes ต้องการจะพูดคือ เขาไม่เห็นว่านักเขียนสำคัญ นักเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ ต้องเป็นผู้นำทาง ต้องเป็นประทีปส่องทางให้กับสังคม และนักเขียนก็มักจะยกย่องตัวเองมากเกินไป จึงเขียนว่า “สิ่งที่นักเขียนทำคือการนำคำในพจนานุกรมมาเรียงกันเท่านั้น โดยไม่ทำอะไรมากกว่านั้น” สิ่งที่ Herta Müller ได้สร้างขึ้นอธิบายได้ด้วยทฤษฎีของ Roland Barthes นั่นก็คือ มีคลังคำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับทอดมา และคลังคำเหล่านี้จะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา บางคำจะตายไป บางคำจะเพิ่มขึ้นมาใหม่ บางคำนักเขียนเป็นคนคิดขึ้นมา หากได้อ่านเชกสเปียร์ (Shakespeare)และได้ไปการวิเคราะห์เชกสเปียร์ในแง่นิรุกติประวัติ จะเข้าใจเลยว่าเชกสเปียร์คิดคำใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งคำบางคำแม้จะเป็นคำที่รับมาก็ตาม เมื่อนำมาใช้ในสมัยนี้ปรากฏว่าคนในสมัยนี้ไม่รู้เรื่อง เช่น สมัยเชกสเปียร์ เวลาที่จะด่ากันจะด่าว่า “Youbase football player!”หรือ “ไอ้เจ้านักฟุตบอลสารเลว” เพราะสมัยก่อนนั้นหมายถึงเกมของคนชั้นต่ำ ดังนั้น ถ้าจะอธิบายในสิ่งที่นักประพันธ์ทำก็ต้องอธิบายในแง่ที่ว่า ทุกคนใช้ภาษาแม่ มีคลังคำในภาษาแม่ ซึ่งเรานำคำคลังเหล่านั้นมาใช้ โดยปรับเปลี่ยนบ้าง แต่งเติมบ้าง หลอมรวมใหม่บ้าง หน้าที่ของนักประพันธ์คือ หลอมภาษาแม่ให้เป็นภาษาของข้าพเจ้า และถ่ายทอดกลับไปเป็นภาษาที่ให้สังคมรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ แต่การตัดคำเป็นชิ้นเล็กๆ แบบนั้น เท่ากับว่าไม่ต้องการที่จะให้ไปคิดว่าคำๆ เดียวเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นการชวนให้หันมาลองดูความเป็นวัตถุ (materiality)ของคำบ้างจะดีหรือไม่ เมื่อนำมาพิจารณาในแง่นี้จะมองเห็นลักษณะบางอย่าง นั่นคือการแสดงให้เห็นว่างานศิลปะอยู่ได้ด้วยปัจเจกลักษณ์ของนักประพันธ์ แต่ในขณะเดียวกันงานศิลปะก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย จึงจะสื่อสารกับคนจำนวนมากได้ ถือว่าเป็นทั้งสมบัติส่วนตัวของนักประพันธ์ และสมบัติส่วนรวมของสังคม คือเมื่อถ่ายทอดแล้วก็เหมือนเป็นสมบัติส่วนรวม เมื่อคิดอย่างนี้ได้แล้ว อาจารย์เจตนายอมรับว่าสามารถเขียนวิจารณ์ได้และไม่ “ตื้อ” อีกต่อไป หลังจากที่ได้ครุ่นคิดพินิจนึกดูแล้ว
ในการนำทฤษฎีมาใช้นั้น อาจารย์เจตนาตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่การที่จะยัดเยียดให้ลูกศิษย์ว่าจะต้องท่องบ่นทฤษฎีที่มีผู้นิยมกัน ดังเช่นการเรียนการสอนในปัจจุบันที่คำถามแรกที่ครูจะถามนิสิตนักศึกษาในการวิทยานิพนธ์คือ ใช้ทฤษฎีอะไร และหากครูถามคำถามนี้ อาจารย์เจตนาเห็นว่าควรที่จะบอกกับครูว่า “อาจารย์อย่าเพิ่งถาม แต่ควรรอให้ตั้งโจทย์ให้ได้ก่อน จึงจะบอกได้ว่าจะใช้ทฤษฎีใดในการศึกษา ไม่ใช่ว่าตั้งทฤษฎีก่อน และจึงจะตั้งโจทย์ภายหลัง”
นอกจากนี้ อาจารย์เจตนายังเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ชมละครเวทีเรื่อง เพลงรัก 2475 ของ คณะละครอนัตตา และ Democrazy Theatre Studio ซึ่งเป็นกลุ่มละครที่ฝีมือดีมาก หลังจากที่ได้ชมละครเรื่องนี้แล้ว คณะละครก็นำเก้าอี้มาตั้งบนพื้นที่แสดงและเชิญให้แสดงความเห็นพร้อมกับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยคณะผู้จัดไม่ได้ให้เวลาอาจารย์เจตนาครุ่นคิดพินิจนึก การอภิปรายในวันนั้นไม่เกิดประโยชน์มากนัก เพราะทั้งสองคนเสนอมุมมองที่คล้ายกันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะให้สนุกต้องเชิญผู้ที่คิดไม่เหมือนกันไปแสดงทัศนะบนเวที สิ่งที่อาจารย์เจตนามองเห็นในขณะนั้นโดยที่ยังไม่ได้กลับไปคิดที่บ้านก็คือ ละครเรื่องนี้ใช้เรื่องจริงเป็นฐาน ซึ่งอาจารย์เจตนายังไม่ค่อยเชื่อว่างานศิลปะที่จะดีได้ต้องมีฐานจากความเป็นจริง และบังเอิญอาจารย์เจตนามีโอกาสได้รู้จักกับบุคคลจริงที่นำมาสร้างเป็นตัวละครทั้งคุณปาน และท่านผู้หญิง และการที่รู้จักกับบุคคลจริงในเรื่องจึงทำให้เกิดความลำเอียงบางอย่างในการดูละครเรื่องนี้ ผู้ชมจึงไม่เหมือนกับผ้าขาวบริสุทธ์ที่ตัวงานศิลปะมาประทับ และสร้างให้เป็นภาพที่มีชีวิตขึ้นมา แต่โดยส่วนตัวมีจุดยืนบางอย่างอยู่แล้ว มีความสวามิภักดิ์อยู่แล้ว และมีความลำเอียงเข้าข้างคนเหล่านี้อยู่แล้ว จึงเห็นว่าคนที่ดูละครเรื่องนี้ด้วยความเป็นกลางอาจจะให้ทัศนะที่น่าสนใจกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรุ่นหลังที่ไม่เคยรู้จักบุคคลเหล่านี้ในชีวิตจริง ในเรื่องเพลงยังมีปัญหาอยู่ เพราะเสียงวรรณยุกต์กับตัวโน้ตไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปัญหาของการนำเพลงไทยเดิมมาแปลง โดยเล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล ซึ่งได้ติประเด็นนี้ไปแล้ว สำหรับข้อที่ติมากที่สุดคือ อย่ามุ่งสร้างละครที่เรียกน้ำตาเฉยๆ แต่ควรมุ่งสร้างละครที่เมื่อคนน้ำตาไหลแล้ว คนดูน่าจะแปลงน้ำตาให้เป็นแรงปรารถนาให้ได้
เมื่อมีโอกาสได้กลับไปครุ่นคิดพินิจนึกต่อ อาจารย์เจตนาเห็นว่าจะต้องเตือนคนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ว่า อย่าใช้ละครของตัวไปเล่นเป็นละครฉลองอายุ เนื่องจากคณะละครควรมีอิสระในการสร้างงานที่จะทำอะไรมากไปกว่าการทำละครในโอกาสต่างๆ ครั้งหนึ่งคุณประดิษฐ ประสาททอง ต้องการหนีจากคณะละครเดิมของตน เพราะถูกกำกับด้วยโจทย์การทำละครเพื่อการศึกษามากจนขาดความเป็นอิสระ
ประการที่สองคือ อาจารย์ไม่ได้กล่าวถึงความโดดเด่นเรื่องการแสดง เพราะไม่ทันได้คิดถึงประเด็นเหล่านี้ หากได้ไปอ่านงาน “จากตุ๊กตายอดรัก ถึง เพลงรัก 2475 การเดินทางของละครร้องแบบไทยสู่ละครเพื่อประชาชน” ของอาจารย์อภิรักษ์ ชัยปัญหา (เอกสารแจกผู้เข้าร่วมกิจกรรม) จะเห็นว่าวิเคราะห์ละเอียดมาเรื่องเทคนิคการแสดง วิวัฒนาการของละครของคุณประดิษฐ ที่ทำได้ดีกว่าการวิจารณ์สดของอาจารย์เจตนาวันนั้นมาก นับเป็นตัวอย่างของการวิจารณ์ที่ดีและให้ความรู้ด้วย จึงเห็นว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมควรจะกลับไปอ่านบทวิจารณ์ดังกล่าว ในเรื่องของดนตรีเมื่อกลับไปคิดอีกทีว่า การที่ดนตรีแปร่งเพี้ยน เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งที่ แบร์ทอลท์ เบรคชท์ เรียกว่า “การทำให้แปลก” ซึ่งจะทำให้เราเกิดความสนใจขึ้นมาและตั้งใจฟังเพลงเหล่านี้ อาจารย์เจตนาตั้งใจว่าจะกลับไปเขียนบทวิจารณ์ละครเรื่องนี้อีกครั้ง
อีกประการหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือ ละครของคณะนี้มีบท ซึ่งต่างจากละครส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยจะมีบท อันที่จริงละครเวทีที่มีบทก็มีของคุณนิกร แซ่ตั้ง ที่เริ่มตั้งแต่การทำสำเนาบทละครของตนออกขาย แต่มักจะขายไม่ค่อยได้ แต่นับว่าเป็นความกล้าที่นำบทละครของตนมาขาย นอกจากนี้ยังสิ่งที่อาจารย์เจตนาเรียกร้องจากกลุ่มละคร แต่ยังไม่เกิดผลก็คือ เมื่อมีบทละครก็ควรที่จะแลกบทละครให้คณะอื่นนำไปเล่นบ้าง ยิ่งเล่นไม่เหมือนกับที่คณะละครต้นแบบเล่นจะยิ่งสนุกขึ้น และโลกของละครจะกว้างใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ที่ละครของใครก็เล่นอยู่แต่เฉพาะในคณะนั้นๆ
อาจารย์เจตนากล่าวต่อไปว่าเมื่อได้สัมผัสกับงานศิลปะ และได้คุ่นคิดพินิจนึกแล้ว คงถึงเวลาที่จะต้องแสดงออกไม่ว่าจะด้วยการพูดหรือการเขียน ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้ 1) การแปลงอารมณ์ความรู้สึกสู่ความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงการบอกแค่ชอบ ไม่ชอบ สะใจ ไม่สะใจ อย่างนั้นไม่เรียกว่าการวิจารณ์ 2) การแสวงหามโนทัศน์หลักโดยจำเป็นต้องแสวงหามโนทัศน์หลักจากประสบการณ์การรับในครั้งนั้นให้ได้ เช่น บทวิจารณ์ละครของฝรั่งเศส เรื่อง แฟดร์ (Phèdre)ของ ฌอง ราซีน (Jean Racine: 1639-1699) ของอาจารย์เจตนา (แจกเป็นเอกสารประกอบ) มโนทัศน์หลักที่อาจารย์เจตนาจับได้คือ การแสวงหาความเป็นอิสระจากพันธนาการที่มาจากต้นกำเนิด ซึ่งในที่นี้พบว่า ผู้สร้างออกแรงมากเกินไปในการฉีกละครออกมาจากบริบทดั้งเดิม 3) การตั้งชื่อบทวิจารณ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บางทีต้องคิดหลายตลบว่าทำอย่างไรให้ชื่อนั้นดึงดูดความสนใจได้และตรงประเด็น 4)ในการเขียนต้องมีการโหมโรง ดำเนินเรื่อง และลาโรง ซึ่งในการลาโรงที่อาจารย์เจตนาใช้ในการเขียนวิจารณ์ละครฝรั่งเศสเรื่องนี้ คือ มีสุภาพสตรีคนหนึ่งเดินออกไปจากโรงละครเพราะทนไม่ไหว ซึ่งอาจารย์เจตนาเขียนย้อนกลับไปว่าละครบางเรื่องมีคนดูเดินออกมากกว่านี้ เนื่องจากผู้กำกับการแสดงสมัยใหม่เห็นว่าความสำเร็จของละครคือ การให้คนดูกระทืบเท้าเดินออก และอยากให้คนดูต่อต้านเขา โดยจงใจทำละครต่อต้านตัวบท ซึ่งไม่ควรเอาอย่าง 5) การปรับให้เป็นวิชาการ ทำได้โดยการเชื่อมโยงประสบการณ์ไปถึงละครเรื่องอื่นๆ จากบทวิจารณ์ชิ้นนี้ได้เชื่อมโยงละครเรื่องนี้ไปสู่ละครเยอรมันที่เปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และกลับไปสู่สังคมฝรั่งเศส หรืองานของเชกสเปียร์ในประเทศฝรั่งเศส เชกสเปียร์ในประเทศเยอรมนี ซึ่งสามารถทำได้และข้ามวัฒนธรรมได้ หรือละครของแบร์ทอล์ท เบรคชท์ นำมาแสดงในประเทศไทย และกลืนเข้าไปในวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จมาก นอกจากนี้อาจปรับให้เป็นวิชาการด้วยการอ้างอิงองค์ความรู้ หรือ การตั้งประเด็นเชิงหลักการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องอภิปรายกันยาวมาก เนื่องจากประเด็นเชิงหลักการดังกล่าวจะต้องเป็นประเด็นที่ใช้ได้ไม่เฉพาะแต่เรื่องนี้เท่านั้น แต่จะใช้ได้กับเรื่องอื่น ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องของทฤษฎีหรือข้อสรุปเชิงทฤษฎีเช่น แนวคิดเชิงทฤษฎีที่อาจารย์เจตนาได้มาจากละครเรื่องนี้คือ เรื่องความสำคัญของตัวบท เพราะละครต้องเริ่มต้นที่ตัวบท หากไม่เห็นความสำคัญของตัวบท และไม่พยายามที่จะเข้าใจจะทำอย่างไร ในแง่นี้อาจารย์เจตนาได้เสนอแนะต่อศิลปินไว้ว่า เมื่อไม่มีความรู้เรื่องบทละครฝรั่งเศส เหตุใดจึงไม่ไปแสวงหาความรู้จากผู้รู้เสียก่อน เนื่องจากจำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าต้นตอเขาคิดอย่างไร แล้วจึงทำไม่ให้เหมือนเขา ไม่ใช่ว่าทำไม่เหมือนเขาจากพื้นฐานของความไม่รู้ แต่การที่ทำไม่เหมือนต้นแบบต้องมาจากพื้นฐานของความรู้จักเขาที่ลึกซึ้ง คือต้องรู้เสียก่อนว่าเขาเป็นเช่นนี้ จึงไม่ทำอย่างเดียวกัน
ประเด็นต่อไป อาจารย์เจตนากล่าวถึง“ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้….” ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 40 ว่า
ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนต่อศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ คำว่า “จับต้องไม่ได้” ในที่นี้สามารถตีความได้หลากหลายมากจึงอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากได้ เช่น การจดทะเบียน “ผัดไทย” ถือว่าใครที่ทำผัดไทยไม่เหมือนเรามีความผิดกระนั้นหรือ หากออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ บุคคลที่จะถูกลงโทษคนแรก คือ พิเษฐ กลั่นชื่น เพราะเต้นโขนโดยไม่แต่งองค์ทรงเครื่อง และนุ่งกางเกงแบบ modern ballet ถือว่าไม่เคารพขนบประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พิเชษฐกล่าวว่าไม่มีพื้นฐานใดที่เขานำมาใช้ โดยไม่ได้เรียนจากครูเลย และนำของเดิมมาคิดใหม่ถามว่าเสียหายหรือไม่ นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติข้างต้นสามารถตีความได้หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่ตัดสินเรื่องนี้อาจจะกลั่นแกล้งผู้อื่นก็ได้ อาจารย์เจตนาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดต้องมีบทลงโทษด้วยบทลงโทษ อยู่ในมาตรา 55 ที่ว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”แต่สิ่งที่ควรจะทำมากกว่าคือ ทำสิ่งนี้เป็นนโยบายของรัฐในการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ด้วยวิธีการต่างๆ และเห็นว่าถ้าศิลปะเปลี่ยนไม่ได้ ศิลปะจะตาย จึงอยากให้ไปชมเวลาที่มีการจัดมหกรรมรามายณะทุกครั้ง โดยเฝ้าจับตาดูนักแสดงสองกลุ่มที่มาแสดงจะพบว่าไม่เคยเหมือนกันซักครั้ง นั่นคือ ชวา และ บาหลี จะเปลี่ยนแนวการแสดงอยู่เสมอ ในขณะที่ของเราและของประเทศลาวที่รำตามเรายังเหมือนเดิมมาตั้งแต่ที่อาจารย์เจตนาเคยเห็นเมื่ออายุ 5 ขวบที่สนามหลวง แต่สิ่งที่ต่างกันคือในปัจจุบันนี้มีการใช้แสงสีและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ
อาจารย์เจตนาสรุปว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิได้นำตำราตะวันตกมาอ้าง แต่ถ้าจะศึกษางานตะวันตก ก็จะศึกษาแบบเดียวกับในหนังสือ แนวทางการประเมินคุณค่าวรรณคดีในวรรณคดีวิจารณ์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ-อเมริกัน ในศตวรรษที่ 20 และจี้ลงไปเลยว่าตะวันตกมีจุดโหว่ที่ใด และตะวันตกไม่เข้าใจกันเอง ณ ที่ใด ซึ่งสามารถจะชี้ให้เขาเห็นได้ ครั้งหนึ่งเคยนำบทสรุปภาษาอังกฤษของงานชิ้นนี้ได้ส่งให้ผู้เขี่ยวชาญอ่าน (ซึ่งตอนนี้ท่านลวงลับไปแล้ว) ท่านเขียนตอบว่า “I agree with you.” และอาจารย์เจตนายังเก็บจดหมายตอบฉบับนั้นเอาไว้ เพราะเป็นความปลาบปลื้มในใจเป็นอย่างยิ่งที่ว่า นักวิชาการชั้นหนึ่งแนวหน้าของตะวันตกคือ ศาสตราจารย์ René Wellek เห็นด้วยกับเรา ดังนั้น ถ้าเราจะเจาะโลกตะวันตก เราก็ต้องทำให้ได้เท่าเขา และอยู่ในฐานะที่จะจี้จุดเขาได้ทั้งบวกและทั้งลบ อาจารย์เจตนาสรุปว่าทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่จะทดแทนเรื่องของประสบการณ์ การสั่งสมประสบการณ์ และการที่จะต้องนำประสบการณ์เหล่านั้นไปใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เพื่อที่จะคิดใหม่ และสร้างขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ และในท้ายที่สุด องค์ความรู้ที่มั่นคงจะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีได้
อ่าน คิด เขียน