สองรสชาติสตริงควอร์เต็ต จากเมนเดลโซห์น ถึงอาจารย์หม่อม
สองรสชาติสตริงควอร์เต็ต จากเมนเดลโซห์น ถึงอาจารย์หม่อม
วฤธ วงศ์สุบรรณ
6 มีนาคม 2557
ลอร์ด เยฮูดิ เมนูฮิน (Lord Yehudi Menuhin: 1916-1999, นักไวโอลินเอกชาวอเมริกัน) เคยกล่าวไว้ว่า สตริงควอร์เต็ต (วงเครื่องสายสี่ชิ้น ประกอบด้วยไวโอลิน 2 คัน วิโอลา และเชลโลอย่างละ 1 คัน) เป็นมรดกทางคีตศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกตะวันตกได้ฝากไว้ให้แก่มนุษยชาติ ตามความเห็นของผมคิดว่าสตริงควอร์เต็ต แม้ว่าจะมีเครื่องดนตรีเพียง 4 ชิ้น แต่ก็สามารถแสดงออกถึงเนื้อหาทางดนตรีที่เข้มข้นได้อย่างลงตัว เปรียบได้กับย่อเอาวงออร์เคสตรามาไว้ในมือนักดนตรี 4 คน ที่แต่ละคนจะต้องเป็นตัวแทนของแต่ละน้ำเสียง ดังนั้นจึงต้องใช้ความช่ำชองและแม่นยำในการเล่นที่สูงมาก เพราะผิดแล้วเสียงมันจะฟ้องตัวเอง ไม่มีเพื่อนร่วมกลุ่มช่วย อีกทั้งยังต้องเล่นให้สอดประสานกับแนวอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากต้องใช้ฝีมือตัวเองแล้ว จึงต้องชำนาญในการเล่นร่วมกันกับผู้อื่นด้วย ดังนั้นจึงมีคนกล่าวไว้ว่า วงสตริงควอร์เต็ตที่ดี นักดนตรีควรเล่นร่วมกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี!
ที่อ้างถึงคำกล่าวของลอร์ด เยฮูดิ เมนูฮินนั้น เนื่องจากว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ผมได้ชมการแสดงสตริงควอร์เต็ตของวง Pro Musica ซึ่งประกอบด้วย ม.ล. อัศนี ปราโมช (วิโอลา) ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลินหนึ่ง) ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ (ไวโอลินสอง) และกิตติคุณ สดประเสริฐ (เชลโล) บรรเลงเพลงของเฟลิกซ์ เมนเดลโซห์น (Felix Mendelssohn: 1809-1847, คีตกวีชาวเยอรมัน) ในบทเพลง String Quartet in E minor, Op.44, No.2 และเพลง String Quartet No.3 ผลงานของ ม.ล. อัศนี ปราโมช หรือที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาในวงการดนตรีเรียกท่านด้วยความเคารพว่า “อาจารย์หม่อม” นับเป็นโอกาสอันดีที่ผมได้ฟังสตริงควอร์เต็ตบทที่หาฟังได้ยาก ทั้งของคีตกวีเอกยุคโรแมนติก และคีตกวีร่วมสมัยชาวไทยเราเองด้วย
สำหรับสตริงควอร์เต็ตของเมนเดลโซห์นนั้น เท่าที่ฟังก็นับว่าเป็นบทเพลงที่ต้องใช้ความสามารถของนักดนตรีเป็นอย่างมาก กระบวนแรก Allegro assai appassionato มีท่วงทำนองที่ฟังดูหม่นเศร้า แต่ก็เร้าอารมณ์อยู่ด้วยในที โดยที่ไวโอลินหนึ่งมีบทบาทสูงมากและมีความเคลื่อนไหวของแนวทำนองเกือบตลอดเวลา บางช่วงก็ปรับเปลี่ยนอารมณ์มาในบันไดเสียงเมเจอร์และส่งสำเนียงอ่อนหวานไพเราะออกมา แต่เสียงของกระบวนนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในบันไดเสียงไมเนอร์ ทำให้มีท่วงทำนองที่ค่อนไปทางหม่นหมองเป็นหลัก กระบวนที่ 2 Scherzo มีจังหวะที่รวดเร็วและทำนองที่ตื่นเต้นเร้าใจมากขึ้น โดยรวมค่อนข้างฟังสบาย มีความหม่นน้อยกว่ากระบวนแรก แนวทำนองจะผลัดกันเล่นโดยเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น โดยเฉพาะในส่วนของวิโอลาจะมีบทบาทมากขึ้น ส่วนไวโอลินหนึ่งและสองก็สลับกันมีบทบาทนำในทำนองหลัก กระบวนที่ 3 Andanate เป็นกระบวนที่มีท่วงทำนองสงบ นุ่มนวล ให้ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ เชลโลแม้ว่าจะเล่นแนวเสียงต่ำโดยไม่ค่อยได้เล่นทำนองหลักนัก แต่การลากเสียงต่ำยาวๆ ก็เป็นการสร้างความรู้สึกหนักแน่นและลึกซึ้งให้กับกระบวนนี้ได้เป็นอย่างดี และกระบวนที่ 4 Pressto agitato มีจังหวะที่รวดเร็วและรุกเร้าอารมณ์ โดยที่แนวทำนองยึดอยู่ในบันไดเสียงไมเนอร์จึงมีทำนองที่ไปทางหม่น สลับกับบางช่วงที่มีทำนองนุ่มนวลอ่อนหวาน และมีลีลาค่อนข้างเรียบ ไม่ตื่นเต้นดุดันมากนัก โดยรวมแล้วนับว่าเป็นสตริงควอร์เต็ตที่เรียกร้องความสามารถของนักดนตรีมากทีเดียว และต้องการความพร้อมเพรียงและแม่นยำในการเล่นร่วมกัน ซึ่งเท่าที่ฟังแม้จะมีสะดุดบ้างในบางช่วงแต่ก็ยังบรรเลงได้ไพเราะน่าฟังดีมาก
ส่วนสตริงควอร์เต็ตของอาจารย์หม่อม แม้ท่านจะเขียนในสูจิบัตรว่า หวังว่าผู้ฟังจะเพลิดเพลินกับบทเพลงนี้บ้าง แต่ผมคิดว่าเป็นการถ่อมตนของท่านมากกว่า เพราะหากเราได้ฟังผลงานหลายๆ ชิ้นของท่านจะพบว่า ท่านมีฝีมือในการประพันธ์เพลงที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ไพเราะ ฟังง่าย ติดหู และท่วงทำนองที่มาจากดนตรีไทย โดยกระบวนที่ 1 Moderato เริ่มต้นด้วยทำนองที่สั้นๆ หนักๆ ซึ่งทำนองนี้จะเล่นซ้ำอยู่หลายครั้งตลอดทั้งกระบวน จากนั้นก็จะเริ่มแปรทำนองไปสู่ลีลาที่อ่อนหวาน แต่ก็สลับกับอารมณ์หม่นหมองบ้าง ซึ่งท่านอาจารย์หม่อมแต่งท่วงทำนองได้อย่างไพเราะมาก อีกทั้งยังกระจายความโดดเด่นไปให้เครื่องดนตรีอื่นๆ นอกเหนือจากไวโอลินหนึ่งด้วย ส่วนกระบวนที่ 2 Allegretto มีการลากเสียงยาวๆ ในทำนองประกอบเหมือนดนตรีเซิ้งของภาคอีสาน ส่วนแนวทำนองหลักก็เป็นการสลับกันเล่นของแต่ละเครื่องดนตรีในลีลาที่ค่อนข้างหม่นเศร้า ในบันไดเสียงไมเนอร์ ในกระบวนที่ 3 Larghetto มีท่วงทำนองเนิบช้า ค่อนข้างหม่น ฟังดูเร้นลับ และมีการประสานเสียงที่แปลกหู โดยที่เครื่องดนตรีเสียงต่ำอย่างวิโอลากับเชลโลจะมีบทบาทเด่นขึ้นมามาก และมีบางช่วงที่เชลโลได้เล่นเดี่ยวในท่วงทำนองจับใจ ส่วนกระบวนที่ 4 Allegro มีลีลาที่เร้าใจ มีทำนองที่ไพเราะสวยงามและดูเคลื่อนไหวตลอดเวลา พอมาถึงช่วงกลางกระบวนก็จะผ่อนอารมณ์ลงให้มีซุ่มเสียงที่เบาและอ่อนโยน ราบเรียบและลื่นไหล ฟังได้เพลิดเพลินดี และมีสำเนียงที่น่าจะหยิบยืมมาจากเพลงไทยเดิม แต่ท่านอาจารย์หม่อมเอามาแต่งใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเมื่อจบการแสดง ผู้ชมก็ได้ปรบมือชื่นชมอย่างกึกก้อง ทำให้นักดนตรีต้องจัดเพลงแถม (encore) ให้อีกหนึ่งเพลง คือ Misty ซึ่งเป็นเพลงแจ็สคลาสสิกของ Erroll Garner ซึ่งเรียบเรียงให้บรรเลงกับวงสตริงควอร์เต็ตได้อย่างไพเราะ โดยใส่เครื่องลดเสียง (mute) ไว้เพื่อให้ได้เสียงที่นุ่มนวลขึ้น เป็นที่ถูกใจของผู้ชมอีกเช่นกัน
หากกล่าวถึงคุณภาพการบรรเลง โดยส่วนตัวผมมองว่าบรรเลงกันได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะอาจารย์ทัศนากับอาจารย์ศิริพงษ์ ซึ่งเล่นร่วมกันมาทั้งในวงออร์เคสตราและวงเชมเบอร์มิวสิคมากว่าสิบปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นศิษย์สำนัก University of Oregon ความช่ำชองและเข้าขากันจึงมีสูงมาก ส่วนของท่านอาจารย์หม่อมและอาจารย์กิตติคุณนั้น ความเข้าขากับวงอาจจะไม่เท่ากับสองคนแรกซึ่งอยู่ใน “ระดับมองตาก็รู้ใจ” แล้ว ดังนั้นคุณภาพการบรรเลงจึงอาจจะขึ้นอยู่กับว่าได้ฝึกซ้อมร่วมกันมากแค่ไหน อาจจะมีเงื่อนไขเรื่องเวลาและภาระหน้าที่ของแต่ละคนที่ทำให้การซ้อมมีมากหรือน้อยเพียงไร ซึ่งผมเองไม่ทราบได้ แต่เท่าที่ผมประเมินพบว่า การบรรเลงเพลงของท่านอาจารย์หม่อมจะเล่นได้ดีกว่าเมนเดลโซห์น ที่เรียกร้องความสามารถของนักดนตรีอาชีพ แต่โดยรวมก็ถือว่าบรรเลงออกมาได้ดีและไพเราะน่าฟังทั้งสองเพลง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผมค่อนข้างได้ฟังดนตรีแนวเชมเบอร์มิวสิค (chamber music: วงดนตรีขนาดเล็กสำหรับแสดงในห้องที่ไม่ใหญ่มากนัก) บ่อยครั้ง ทั้งที่สยามสมาคมและที่โรงแรมโฟร์ซีซันส์ และในช่วงปี 2557 นี้ ก็จะมีดนตรีที่น่าสนใจที่จัดโดย Pro Musica อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มดนตรีนี้จะมีท่านอาจารย์หม่อม อาจารย์ทัศนา และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งมีโปรแกรมดีๆ น่าฟังมากมาย ซึ่งผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีมากในการพัฒนาการฟังดนตรีคลาสสิก เพราะวงออร์เคสตราใหญ่ๆ อาจมีต้นทุนการจัดแสดงที่สูงมาก จัดได้ยากกว่า และมีความถี่ในการแสดงน้อยกว่า แต่ดนตรีเชมเบอร์มิวสิคมีต้นทุนด้านการจัดการที่น้อยกว่า แต่ความเข้มข้นเชิงเนื้อหาดนตรีไม่ได้น้อยตามไปด้วย ซึ่งท่านที่สนใจดนตรีคลาสสิกไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถของนักดนตรีให้มีความเก่งกาจและช่ำชองมากขึ้นด้วย เพราะต้องฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสผิดพลาดในการเล่นน้อยที่สุด หากนักดนตรีรุ่นใหม่มีโอกาสในการเล่นเชมเบอร์มิวสิคมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อวงการดนตรีในภาพรวม
ก่อนจบขอตั้งข้อสังเกตเล็กน้อย ในการแสดงคืนนั้นที่จัดขึ้นที่โรงแรมโฟร์ซีซันส์นั้น ผู้ชมมากกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติและส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ซึ่งเมื่อแรกก็คิดว่าน่าจะเป็นนักฟังดนตรีที่มีประสบการณ์มาก แต่เมื่อกระบวนแรกของสตริงควอร์เต็ตจบลง กลับได้ยินเสียงปรบมือที่กึกก้อง อันเป็นการปรบมือที่ผิดธรรมเนียมของดนตรีคลาสสิก ที่จะปรบมือครั้งเดียวหลังจากบรรเลงจบทั้งเพลง เพราะการปรบมือระหว่างกระบวนอาจทำลายสมาธิและความต่อเนื่องทางอารมณ์ของนักดนตรีได้ จึงรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยว่าชาวตะวันตกเหล่านั้นซึ่งเป็นต้นทางวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิก กลับไม่รู้ธรรมเนียมของดนตรีคลาสสิกเสียเอง (มีผู้ใหญ่เล่าให้ผมฟังว่า แม้แต่ในโรงแสดงคอนเสิร์ตฟิลฮารโมนีที่เบอร์ลิน ก็ยังมีการปรบมือผิดที่อยู่เป็นประจำ) จึงได้แต่หวังว่าพวกเขาจะได้ฟังบ่อยขึ้นจนมีประสบการณ์และเรียนรู้ธรรมเนียมไปเอง