เมื่อนางเอกไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็นนางเอก ทุกคนจึงมีโอกาสได้เป็นเอก

เมื่อนางเอกไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็นนางเอก  ทุกคนจึงมีโอกาสได้เป็นเอก

DSC_0497

เจตนา  นาควัชระ

           คอนเสิร์ต บูชา-อาลัย ๓๓ ปี ครูเอื้อ กับศรวณี  โพธิเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติ  จัดได้ว่าเป็นรายการเพลงสุนทราภรณ์ที่ลงตัวที่สุดในรอบทศวรรษ  ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเพลงสุนทราภรณ์ และขออนุญาตให้ข้อวินิจฉัยไปโดยไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น  ในระยะหลังนี้  วงดนตรีสุนทราภรณ์กับนักร้องประจำออกแสดงบ่อยครั้งเกินไปเสียจนเรียกได้ว่าหมดแรง  และมาตรฐานก็ตกต่ำลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้  แต่สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติเมื่อวานนี้   แม้แต่วงดนตรีที่ผมชอบค่อนแคะว่าเล่นเพี้ยนและปราศจากชีวิตชีวา  ก็กลับมาสู่มาตรฐานเดิม  เทียบได้กับเมื่อครั้งที่พ่อพาผมปีนบันไดตึกกรมโฆษณาการหลังเก่าไปขอฟังการส่งวิทยุกระจายเสียงสด  ซึ่งครูเอื้อ  สุนทรสนาน เป็นผู้กำกับวงดนตรีกรมโฆษณาการเอง  นักวิจารณ์จำเป็นต้องหาคำตอบต่อคำถามที่ตนเองตั้งขึ้นว่าอะไรเกิดขึ้น

             รายการนี้เมื่อปีที่แล้ว  ศรวณี  โพธิเทศ  ก็เป็นผู้ริเริ่มขึ้น  โดยขออิงกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ในฐานะศิษย์สายตรงกลุ่ม “ดาวรุ่งพรุ่งนี้”  ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ยุคก่อน  แต่ถ้าเทียบมาตรฐานกันแล้ว  รายการปี ๒๕๕๗ ถือได้ว่าดีเกินคาด  ผมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาความรู้สึกเข้าวัด และความรู้สึกบอกผมว่า  ที่ทุกอย่างลงตัวเพราะศิลปินทั้งหมด  ทั้งที่เป็นศิลปินอาชีพและผู้รักสมัครเล่น  มาร้องเพลงและเล่นดนตรีด้วยกันด้วยความหฤหรรษ์  ไม่มีความเครียด เหมือนกับเพื่อนฝูงชักชวนกันมาบูชาครู  แล้วก็มาสนุกร่วมกันไปด้วย  บรรยากาศชวนให้ผ่อนคลาย  ถึงจะ “หลุด” กันบ้างเป็นครั้งคราวก็ไม่มีใครติดใจ  แต่สิ่งที่สะกิดใจผมก็คือ  แม้ศรวณี โพธิเทศ   จะปรากฏชื่อติดอยู่กับชื่อของรายการ  แต่เธอวางตัวในทำนองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “low-key”  พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ รายการนี้นางเอกไม่ยอมแสดงตัวว่าเป็นเอก  ชาวตะวันตกชอบใช้สำนวนว่า “เป็นเอกในฐานะผู้ที่เสมอกัน” (เขียนเป็นภาษาละตินว่า “prima inter pares”) แม้ว่าเธอจะร้องเพลงเดี่ยวและเพลงหมู่ถึง ๘ เพลง  แต่ความโดดเด่นของเธอดูจะกลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของความโดดเด่นของรายการทั้งหมด  เราจะต้องไม่ลืมว่า  ศรวณี  โพธิเทศ  เช่นเดียวกับรวงทอง  ทองลั่นธม  และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี   ไม่ได้เกิดและดับไปกับวงสุนทราภรณ์  แต่ได้ออกไปผจญโลกแห่งคีตศิลป์อันกว้างใหญ่ไพศาล  มีนักแต่งเพลงระดับแนวหน้าของเมืองไทยอีกหลายท่านที่แต่งเพลงให้เธอร้อง และเธอก็ร้องจนได้รางวัลมาหลายครั้ง  พวกคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูมิวสิคัล (ซึ่งผมดูบ้างไม่ดูบ้าง  โดยเฉพาะมิวสิคัลเพลงสุนทราภรณ์นั้น  ผมต้องขอสารภาพว่าทนไม่ไหว)  เขาเหล่านั้นย่อมจะชินกับการร้องเพลงแนว “กึ่งอุปรากร” (semi-operatic)  ศรวณีมีความสามารถที่จะใช้เสียงในระดับกึ่งอุปรากรได้อย่างแน่นอน  และแม้วัยจะล่วงเลยบ่ายคล้อยมามากแล้ว  แต่พลังเสียงของเธอก็ยังไม่ตก  การร้องแบบกึ่งอุปรากรในประเทศไทยนั้นมาจาก ๒ แนวทาง  แนวทางหนึ่งซึ่งเป็นที่ยกย่องกันในปัจจุบันก็คือ  การได้รับการฝึกร้องเพลง (voice training) ตามหลักการและเทคนิคของตะวันตก  ถ้ารู้จักใช้พื้นฐานนี้ให้ดีก็จะไปได้ไกลมาก  (ดังเช่นในกรณีของสุภัทรา โกราษฎร์  ในเพลง “ยามร้าง”)  อีกทางหนึ่งคือ การปรับตัวของนักร้องเพลงไทยสากลที่เติบโตมากับวงดนตรีประเภทบิ๊กแบนด์ เช่น วงสุนทราภรณ์  โดยพยายามหาทางสายกลางระหว่างการร้องเปล่งเสียงเต็มแบบตะวันตก  กับการสร้างเสน่ห์การเอื้อนที่มีรากฐานมาจากเพลงไทยเดิม  ครูเวส  สุนทรจามร ค้นพบแนวทางนี้ในตัวของเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี  และฝึกเธอไปจนถึงขั้นที่จะออกแสดงได้  โดยที่ครูเอื้อ  สุนทรสนาน ก็พร้อมที่จะแต่งเพลงอันยอดเยี่ยมให้เข้ากับแนวร้องของเธอ  ศรวณี  โพธิเทศ  ยึดนักร้องรุ่นพี่ท่านนี้เป็นครู  และอาจเรียกได้ว่า ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการสร้างลีลาแนวตะวันตกประเภทกึ่งอุปรากร  ในรายการแสดงครั้งนี้  ศรวณีนำเพลงที่เพ็ญศรีเคยร้องมาออกแสดงอีก   ซึ่งผมถือได้ว่าเป็นคุณูปการ  เพราะคนกำลังจะลืมเพ็ญศรีกันไปแล้ว  แต่ก็เป็นที่แน่ชัดว่า  ศรวณีมีบุคลิกภาพที่เป็นตัวของตัวเอง  การร้องเพลงเก่าของเพ็ญศรีจึงเป็นการ“ตีความ”ใหม่ เพลง “สุริยาลับฟ้า” โดดเด่นจริงๆ

            ผู้ที่ทำให้บรรยากาศเป็นกันเองและชวนหัวก็เห็นจะเป็นเพื่อน (ร่วมรุ่น?) ของศรวณีคือ ฉันทนา  กิติยพันธ์ และสุดา  ชื่นบาน  เพลงสุนทราภรณ์ที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันมีอยู่มากหลาย  แม้นักร้องสุนทราภรณ์เองก็ดูจะยังกล้าๆ กลัวๆ กับการนำอารมณ์ขันนี้ออกมาแสดงอย่างเต็มรูป  เพื่อนรักของคุณศรวณีสองคนนี้ตีความเพลงสุนทราภรณ์ได้ถึงใจจริงๆ  ทั้งในแง่ความรื่นเริง  ความเบิกบาน ความมีชีวิตชีวา และความเร้าใจ  นานๆ ครั้งจะได้ยินเพลงสุนทราภรณ์ที่เผยศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยมเช่นนี้  ทั้งในเพลงที่เธอทั้งสองร้องเดี่ยว  และทั้งเพลงที่สามเพื่อนรักร้องร่วมกัน  ผมสังเกตได้ว่า  แขกรับเชิญสองคนนี้เป็นตัวจักรสำคัญที่ปลุกให้วงดนตรีสุนทราภรณ์มีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมและน่าทึ่ง

DSC_0310

          เมื่อนางเอกเปิดเวทีให้ทุกคนเป็นเอก  นักร้องคนอื่นก็ใช้โอกาสนี้ได้อย่างสะดวกใจ  กลุ่มนักร้องที่ผมจะกล่าวถึงเป็นอันดับแรก คือนักร้องกิตติมศักดิ์  ซึ่งมาร่วมรายการถึง ๑๔ คน  เป็นที่น่าประหลาดใจว่า มาตรฐานของผู้รักสมัครเล่นเหล่านี้ดีกว่าการแสดงครั้งก่อนๆ ที่ผมได้เคยฟังมา  เพลงที่ร้องร่วมกัน เช่น “เมื่อฝนโปรย” ก็จัดได้ว่าน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง  สอดรับกันระหว่างชายกับหญิง  ส่งไม้ต่อกันจากคู่หนึ่งไปอีกคู่หนึ่งได้อย่างเนียนมากๆ  อาจจะไม่เป็นการยุติธรรมถ้าผมเอ่ยชื่อท่านเหล่านั้นไม่ครบทุกท่าน  แต่ก็อยากจะขออนุญาตยกตัวอย่าง  นักร้องสมัครเล่นมักจะขึ้นเวทีด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน  ฝึกซ้อมร้องมาอย่างดี  ไม่มีการหลุดเพราะจำเนื้อเพลงไม่ได้  และก็ได้รับการฝึกฝนมาถึงขั้นที่มีความมั่นใจพอที่จะไม่ตื่นเวที  เพลง “วิมานสีชมพู” ที่คุณสุนทรี  เตรยาภรณ์  เป็นผู้ขับร้อง  เรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก  เธอร้องแบบตรงไปตรงมา  ไม่มีจริตจะก้าน  ยิ่งตรงเท่าไรก็ยิ่งเข้าถึงวิญญาณของเพลง  ปรากฏการณ์ล่าสุดของวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็คือ  เส้นพรมแดนระหว่างนักร้องสมัครเล่นกับนักร้องอาชีพกำลังจะเลือนหายไป  นักร้องรุ่นใหม่ที่ฝ่ายจัดการขนานนามว่า “คลื่นลูกใหม่” นั้นก็อาจจะยังรักษาความสดใหม่ของความเป็นนักร้องสมัครเล่นเอาไว้ได้  ในขณะที่ความจัดเจนในการร้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนใกล้จะเข้าระดับของนักร้องอาชีพแล้ว  และก็คนกลุ่มนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้วงการเพลงสุนทราภรณ์คึกคักขึ้นมากในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี   พวกเขาเรียนรู้จากนักร้องรุ่นเก่าได้อย่างรวดเร็ว  สังเกตได้จากการร้องเพลงคู่  ซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงมากกว่านักร้องต้นแบบของสุนทราภรณ์  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “รักไม่เป็น” (ซึ่งนันทพร  ค้าผล และ ชาตรี  ชุ่มจิตร เป็นผู้ขับร้อง)  และ “งอนแต่งาม” (ซึ่งนันทพร  ค้าผล และ บัญชา  รักษาจันทร์ เป็นผู้ขับร้อง)  ผมเดาเอาว่าฉันทนาและสุดา ที่ได้ออกแสดงไปก่อน “คลื่นลูกใหม่” กลุ่มนี้  ได้ถางทางให้นักร้องรุ่นหลานเป็นอย่างดีแล้วว่า  ร้องเพลงเร็วอย่างไรจึงจะได้รสที่เหมาะเจาะและเปี่ยมด้วยรสนิยม  รายการแสดงครั้งนี้สร้างความอุ่นใจให้กับแฟนพันธุ์แท้อย่างผมว่า  การเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นพี่ (หรือรุ่นป้า) กับคนรุ่นน้อง (หรือรุ่นหลาน) เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการอันเป็นธรรมชาติ  ถ้าคนรุ่นใหม่ใส่ใจที่จะแสวงหาและสร้างประสบการณ์ให้แก่ตนเอง  โดยมิใช่เป็นการเลียนแบบนักร้องรุ่นเก่าดังที่ทำกันมาแม้แต่ในวงในของสุนทราภรณ์เอง

ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่คิดใหม่ได้โดดเด่นที่สุดในรายการแสดงดนตรีครั้งนี้  คือการร้องเพลง “ใครจะรักเธอจริง”  ของวิรัช  ศรีพงษ์  เพลงนี้ครูเอื้อ  สุนทรสนาน ได้ร้องไว้เป็นต้นแบบ และนักร้องรุ่นหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูกหรือรุ่นหลานก็ไม่มีใครกล้าที่จะฉีกแนวออกมาจากต้นแบบที่ท่านสร้างไว้  วิธีการร้องของครูเอื้อนั้นมีสัญชาตญาณของคีตศิลปินผู้ยิ่งใหญ่กำกับอยู่  ดูประหนึ่งว่าแทบไม่มีความจำเป็นจะต้องวิเคราะห์เพลงในด้านใดๆ ทั้งสิ้น  เพราะเมื่อท่านเป็นผู้แต่งทำนองเอง และผู้แต่งคำร้องคือ สมศักดิ์  เทพานนท์ ก็คือคนกันเองในวงของท่าน  ท่านจึงร้องเพลงนี้ด้วยความมั่นใจโดยการเกาะมโนทัศน์ (concept) หลักเอาไว้  และไม่ใส่ใจกับรายละเอียดมากนัก  คงจะไม่มีใครที่จะพรรณนามโนทัศน์ที่ว่านี้ได้ดีกว่าศรีภรรยาของท่านเอง  ซึ่งครั้งหนึ่งกล่าวกับผมเป็นการส่วนตัวว่านี่คือ “เพลงของคนเจ้าชู้”  วิรัช  ศรีพงษ์ รู้ตัวดีว่าจะไปทาบบารมีกับปรมาจารย์ไม่ได้  จึงต้องหาทางออกใหม่ และการที่ได้มีโอกาสไปเล่าเรียนระดับบัณฑิตศึกษามาจากยุโรปก็คงจะเป็นโอกาสที่ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี  ผมเดาเอาว่า  เขาได้ “ครุ่นคิดพินิจนึก” เกี่ยวกับแก่นของเพลงนี้มาแล้ว  การร้องของเขามีการแบ่งวรรคตอนทั้งในทางวรรณศิลป์และคีตศิลป์ได้อย่างลงตัวยิ่ง  มีการเสริมความไพเราะด้วยการเปล่งคีตวลี (phrasing) ที่เข้ากับเพลง  เขาร้องเพลงนี้แบบเอาจริงเอาจัง  แต่ก็ไม่เน้นย้ำจนเกินงาม  มันไม่ใช่เพลงของคนเจ้าชู้  แต่เป็นเพลงของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องการจะบอกกับผู้ฟังผู้ชมว่า  คนเจ้าชู้มีอยู่บนผืนโลกนี้จริง  วิธีการของเขาชวนให้น่าเชื่อถือ  ผมไม่จำเป็นต้องบอกว่า  ลูกครึ่งฝรั่งเศสคนนี้เอื้อนลีลาแบบไทยได้ไพเราะยิ่งนัก  มารดาชาวฝรั่งเศสของเขาเคยพูดกับผมว่า “เมื่อลูกฉันเติบโตมาในเมืองไทย  เขาก็ต้องเป็นไทยให้สุดทาง  ถ้าเขาเติบโตในเมืองฝรั่ง  เขาก็ต้องเป็นฝรั่งให้สุดทางเช่นกัน”  วิรัชเคยฝึกการเล่นโขนมาแล้วอย่างจริงจัง  ผมคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่โดดเด่นที่สุดในรายการแสดงครั้งนี้  เพราะเป็นการแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดว่า การตีความคืออะไร

ถ้าจะไม่เอ่ยถึงนักร้องประจำวงสุนทราภรณ์บ้างก็คงจะไม่เป็นการยุติธรรมนัก  เพราะเขาเหล่านั้นคือผู้ที่สร้างความต่อเนื่องของเอกลักษณ์แห่งเพลงสุนทราภรณ์เอาไว้  เจือนศักดิ์  น้อยสุวรรณ ร้องเพลง “ยอดดวงใจ” ด้วยมาตรฐานที่เราคาดหวังได้จากนักร้องอาชีพ  และ พรศุลี  วิชเวช ก็ใช้เวทีนี้เล่าประวัติความเป็นมาของการที่ครูเอื้อฝึกเธอให้ร้องเพลง “วาสนากระต่าย” ซึ่งเป็นเพลงที่ยากมาก เพราะเท่ากับเป็นวิถีแห่งคีตศิลป์ที่ทอดผ่านจากเพลงไทยเดิมมาสู่เพลงไทยสากล และครูเอื้อเองเป็นผู้ที่ร้องอัดเสียงเป็นต้นแบบเอาไว้  ผมเคยถามครูเอื้อหลังจากที่ได้ฟังพรศุลีร้องเพลง “บัวงาม” ทางโทรทัศน์ช่องเจ็ดสี  เมื่อหลายสิบปีมาแล้วว่า  ท่านคิดว่าเด็กคนนี้เป็นอย่างไร  ครูเอื้อไม่ชอบยกให้ใครเหลิง  จึงตอบมาด้วยถ้อยคำที่ต่ำกว่าระดับของความ (understatement) ว่า “เขาร้องดี”  แค่นั้นผมก็ทราบแล้วว่าคะแนนคือเกรดเอ  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗  นักเรียนเกรดเอก็ยังรักษาระดับของเธอเอาไว้ได้

DSC_0276

เมื่อเอ่ยถึงโรงละครแห่งชาติก็จำต้องกล่าวถึงเจ้าของบ้านสองท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับอาวุโสแล้วในเรื่องของนาฏศิลป์และคีตศิลป์ไทย คือ ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ และ ปกรณ์  พรพิสุทธิ์  ท่านทั้งสองร้องเพลงสุนทราภรณ์มาอย่างต่อเนื่อง  ผมอยากจะกล่าวว่า  คลังความรู้และความจัดเจนจากดนตรีไทยใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด  เป็นอันว่าหน่วยงานที่ชื่อศิลปากรในปัจจุบันออกมาอ้าแขนรับผลงานของศิลปากรเก่าฝ่ายดนตรีสากล  ซึ่งเมื่อปี ๒๔๘๒ อำลาวงดนตรีคลาสสิกของกรมศิลปากร  เพื่อไปสร้างอาณาจักรใหม่อีกฝั่งหนึ่งของคลองหลอด คือที่กรมโฆษณาการเก่า และผลิตผลที่เกิดขึ้นจากเพลงไทยสากลของนักดนตรีกลุ่มนี้ก็ได้กลายมาเป็นมรดกของชาติไปแล้ว

                ฟังแล้วก็ชื่นใจ  พูดแล้วก็สบายใจ  เขียนแล้วก็อิ่มเอิบใจ  ก็เพียงแต่จะตั้งความหวังเอาไว้ว่า  ขอให้รักษามาตรฐานของการแสดงในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗ เอาไว้ให้ได้  คนที่เก่งจริง  คือ คนที่สามารถปรับ “ข้อยกเว้น” ให้เป็น “กฎเกณฑ์”

๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *