ละครพันทาง ‘อันตราคนี’ ผู้มาหลังกาลเวลา

ละครพันทาง ‘อันตราคนี’ ผู้มาหลังกาลเวลา

 

รัศมี เผ่าเหลืองทอง


ใครหลายๆคนคิดเอาไว้ว่าละครเรื่อง อันตราคนี ที่กำลังลงโรงอยู่ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เวลานี้ จะเป็นการกลับมาของยักษ์ใหญ่ซึ่งหลับไปเสียนาน หลังจากละครเรื่อง วัยวุ่น ปิดฉากไปเมื่อสามปีก่อน ใคร ๆ ก็คิดว่า มัทนี รัตนิน ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวมาแล้วนับแต่ละครเรื่อง อวสานของเซลส์แมน ออกแสดงจะกลับมาอย่างน่าจับตาดูอีกครั้ง ภายหลังจากที่หยุดผลิตงานละครในเมืองไทย และใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมขณะนั้น

แน่นอนการเลือกเอาเรื่อง “อันตราคนี” ซึ่งแปลมาอย่างชนิดรักษาต้นฉบับเดิมของ ฌอง อานุยห์ ไว้ค่อนข้างมาก เว้นแต่การดัดแปลงชื่อ และสอดใส่ความคิดบางประโยคเพิ่มเติมเข้าไป (ไม่นับการตัดบทบาทบางตอนออกเพื่อความกระชับ ซึ่งอาจถือเป็นของธรรมดา) ย่อมเป็นความจงใจไม่มากก็น้อย ในอันที่จะแสดงความรู้สึกบางอย่างที่กลุ่มผู้จัดทำมีต่อสภาพสังคมไทยปัจจุบันที่พวกเขามีชีวิตอยู่ ดังที่ มัทนี รัตนิน ผู้อำนวยการสร้างแถลงไว้ในสูจิบัตรว่า

“ความปั่นป่วนวุ่นวายหลัง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงละครเรื่องนี้บ่อยครั้ง เมื่อได้โอกาสก็อยากจะจัดแสดงเพื่อกระตุ้นให้เราได้ขบคิดปัญหาเรื่อง สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ความรับผิดชอบของหน้าที่ ความอยู่รอด ความสกปรกของ “ก้นครัว” การเมืองที่ใช้พลังของคนหนุ่มสาวและปัญญาชน เป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจ และกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว”

สรุปเอาความสั้น ๆ สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็คือ อันตราคนี เด็กสาวผู้มีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ได้ขัดขืนคำสั่งของลุงผู้เป็นประมุขของนคร ไปทำพิธีฝังศพพี่ชายของหล่อนผู้ถูกตีตราว่าเป็นกบฏ แล้วหล่อนซึ่งอยู่ในฐานะลูกสะใภ้ในอนาคตของลุงก็ถูกลงโทษ ที่สุดหล่อนจึงฆ่าตัวตายโดยมีคู่หมั้นหนุ่มและแม่ของเขาฆ่าตัวตายตามไปด้วย

ละครเรื่องนี้จัดเข้าประเภทโศกนาฏกรรม ที่ยังรักษาแนวของโศกนาฏกรรมของกรีกอยู่ คือตัวละครสำคัญ ๆ มักจะทำสิ่งที่ถูกถือกันว่าเป็น “ความผิดอันใหญ่หลวง” และต้องเผชิญกับชะตากรรมร้ายแรงสุดขีด ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นความตาย

เริ่มมาตั้งแต่ประวัติของอันตราคนี ซึ่งมีพ่อที่ฆ่าตัวตายเพราะได้รับรู้ความจริงว่า ตนฆ่าพ่อของตัวเองตายและเอาแม่มาเป็นเมีย ซึ่งเป็นเค้าโครงมาจากตำนานเทพเจ้าของกรีกและความ ทรนงในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่เคารพตัวเองนั้น ก็ตกทอดจากพ่อมาถึงอันตราคนี

อานุยห์ เจ้าของบทละครเดิมพยายามจะให้เหตุผลแก่ตัวละครทั้งสองฝ่ายคือ อันตราคนีและคีรีธร ลุงของหล่อนอย่างเท่าเทียมกัน บร็อคเก็ตและฟินด์เลย์ นักการละครชาวอเมริกันเขียนถึงอานุยห์ไว้ว่า “ละครทุกเรื่องของเขาจะมีแนวความคิดพื้นฐานเหมือนกันหมดคือเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายยึดมั่นในหลักการ กับฝ่ายประนีประนอม แต่ดูเหมือนว่า เขามักจะเอนเอียงไปทางฝ่ายที่ไม่ยอมประนีประนอมมากกว่า ”ขณะเดียวกันมัทนี รัตนิน และ สุชาวดี ตัณฑวนิช ผู้นำละครออกแสดงในภาคภาษาไทยดูจะเห็นตรงกันข้ามดังที่มีแถลงไว้ในสูจิบัตรว่า “ประสบการณ์ในชีวิตทำให้เห็นอกเห็นใจผู้ใหญ่ที่ต้องรับภาระปกครองบ้านเมืองและเสียสละความสุขส่วนตัว เช่นคีรีธร”

และมีการเติมบทพูดของอันตราคณี นอกเหนือไปจากที่ปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเข้าใจว่าใช้ในการแปล เมื่ออันตราคนีถกเถียงกับลุง เพื่อยืนยันในสิ่งที่ตนกระทำอยู่สองตอนคือ “เราต้องมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกโดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไรอื่นทั้งสิ้น” และแปลประโยค “ I had my faith “ ว่า “เราต้องศรัทธาเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ ไม่ว่ามันจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ตาม” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการตีความหมายพฤติกรรมของอันตราคนี ให้ดูเป็นคนสับสนกับสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพและศรัทธามากยิ่งขึ้นจากที่อานุยห์เขียนไว้

หรือจะเป็นเพราะความสับสนของผู้ต่อเติมเอง ต่อสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพก็ไม่อาจทราบได้ เพราะเห็นผู้อำนวยการสร้างตีความได้ว่าอันตราคนี “เป็นเอ็กซิสเต็นเชียลลิสต์ที่อยู่และตายเพื่อตัวเอง”

อานุยห์อาจจะต้องการแสดงภาพของคนหนุ่มสาวยุโรปที่กำลังแสวงหาสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ ในช่วงสับสนและสูญเสียศรัทธาต่อสิ่งเก่า ๆ ระหว่างและหลังสงคราม แต่ภาพของอันตราคนีที่เห็นในละครนั้น มิใช่เอ็กซิสเต็นเชียลลิสต์แน่ ๆ หรือถึงหากผู้ปลุกอันตราคนีให้มีชีวิตขึ้นมาจะเรียกร้องว่าเธอเป็น เธอก็คงเป็นได้แค่เอ็กซิสเต็นเชียลลิสต์แบบปลอม ๆ เท่านั้น เพราะเธอไม่รู้ว่าเสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ มิใช่ “ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรอื่นทั้งสิ้น” ไม่เชื่อลองไปถามซาตร์ดูก็ได้ ถึงแม้แกจะแก่จนตาอ่านอะไรไม่ค่อยเห็นแล้วในตอนนี้ แต่ก็คงไม่เลอะเลือนถึงขนาดอธิบายเรื่องเอ็กซิสเต็นเชียลลิสต์กับเสรีภาพให้เป็นที่เข้าใจไม่ได้

อันตราคนี  นอกจากจะเป็นสัญญลักษณ์ของการหลับหูหลับตาทำตาม “อุดมการณ์” ชนิดหัวชนฝาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คีรีธรผู้ลุงรำพึงออกมาอย่างเข้ากับสภาพของเมืองไทย ตามความคิดของคณะผู้จัดแสดงว่า “นี่คงเป็นเด็กหนุ่มสาวที่ถูกพวกนักการเมือง นักวิชาการ มันปั่นหัวใช้เป็นเครื่องมือ ไอ้พวกนี้มันคอยกอบโกยผลประโยชน์ เวลาที่บ้านเมืองวุ่นวาย ใช้เด็กบังหน้า เป็นเครื่องมือให้มาก่อกวน ถ้าเราปราบก็ต้องนองเลือด เราก็ถูกด่าเป็นทรราช”

ผู้ใกล้ชิดกับงานละครเรื่องนี้บอกจตุรัสว่า อันตราคนี เป็นฝีมือกำกับการแสดงของสุชาดา ตัณฑวนิช ในห้าสัปดาห์แรก และมัทนี รัตนิน ในสามสัปดาห์หลัง สุชาดากล่าวว่าใช้รูปแบบสมจริงในการกำกับ และรู้สึกพอใจกับงานที่ออกมาพอสมควร ทว่าข้าพเจ้าในฐานะของผู้ดูมิได้รู้สึกเช่นนั้น

ถ้าจะดูกันที่รูปแบบล้วน ๆ โดยตัดส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาออกไป อัตราคนีก็มิได้มีอะไรพัฒนาขึ้นมาหลังจากละครคณะนี้ลาโรงไปเสียนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการกำกับนักแสดง และการตีความหมายบทละครออกมาเป็นภาพ รวมทั้งเครื่องแต่งกายที่จะดูเป็นแขกก็ไม่ใช่ ฝรั่งก็ไม่เชิง คล้าย ๆ กับละครปิดภาคเรียนของเด็กนักเรียนสมัย ๑๐ ปีที่แล้ว ที่มักจะเล่นเรื่องกึ่งจินตนิยาย กึ่งจักร ๆ วงศ์ ๆ แต่เด็กนักเรียนเหล่านั้นยังดีกว่าตรงที่เคารพในความเป็น “เมืองสมมติ” มากพอที่จะไม่ให้บทพูดบางตอนมาทำลายสภาพนั้นเสียเช่นที่ในอันตราคนี ใช้ชายหญิงซึ่งแต่งกายในชุดรุ่มร่ามเหล่านั้นพูดถึงการไปเที่ยวไนท์คลับหรือการแข่งขันกันขับรถเร็ว เป็นต้น

จากบทพูดและเรื่องราวที่ดำเนินไป ละครเรื่องนี้น่าจะเป็นละครที่ทำให้เห็นความขัดแย้งอันลึกซึ้งทั้งภายในบุคคล และระหว่างบุคคลที่ยึดถือหลักการในชีวิตแตกต่างกัน แต่ต้องมาตกอยู่สภาพการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ความซับซ้อนที่มีอยู่ในจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัว โดยเฉพาะตัวเอกทั้งสองเป็นสิ่งที่ผู้กำกับไม่สามารถดึงออกมาให้เห็นได้ ทุกคนเป็นเพียงแต่นักท่องบทที่ทำท่าทางประกอบเท่านั้น คือเล่นกันอย่างแบนๆ ผู้ชมมองไม่เห็นสิ่งผลักดันความคิดและการกระทำ มองไม่เห็นพัฒนาการทางอารมณ์ซึ่งปรากฏอยู่ในบท แต่ไม่ปรากฏออกมาในการแสดง โดยเฉพาะในตอนที่อันตราคนีและคีรีธรถกเถียงกันอย่างยืดยาว ทั้งคู่จะมีลักษณะเดียวอยู่ตลอดเวลาเหมือนภาพนิ่งทั้งการเคลื่อนไหวบนเนื้อที่ของเวทีก็เป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ยและไม่ค่อยใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้ง ให้เป็นเครื่องส่งเสริมการแสดงให้มีความหมายมากขึ้นเลย การพูดของตัวละครเช่นอันตราคนีมักจะไม่มีจังหวะ ช้าเร็วหรือหยุดพักพอๆกับที่เหมาธรคู่หมั้นของอันตราคนีทำตัวแข็งตลอดเรื่องและหัสมณีพี่สาวอันตราคนีใช้มือซ้ายถือกระโปรงแทบไม่ยอมปล่อยไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งว่าถึงรายระเอียดปลีกย่อยลงไปกว่านี้เลย เพราะหน้ากระดาษจำกัด

คนที่เล่นพอจะเข้าท่าคนเดียว คือ ทหารที่วิ่งมาบอกข่าวการตาย ซึ่งมีบทไม่มากนัก

น่าเสียดายที่ฉากซึ่งถูกออกแบบมาอย่างดี มิได้ใช้ไปอย่างคุ้มค่ารอบที่ไปดูแสงยังบกพร่องและผิดคิวหลายครั้ง จะมีก็ตอนที่อันตราคนีถูกกักขังอยู่รอการลงโทษ ทำฉากได้ดีมาก แสงที่ใช้เหมือนแสงที่ส่องเข้ามาจากหน้าต่างเล็กๆของคุกที่สูงใหญ่และดูวังเวง มีทหารยามเดินไปมาเป็นการแสดงบริเวณเล็กๆคับแคบขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวไปด้วย

หากจะลองอาจหาญตัดสินให้คะแนนละครเรื่องนี้ ในฐานะคนดูบางทีคงต้องใช้มาตรฐานที่คณะผู้จัดแสดงตั้งเอาไว้เข้าช่วยพิจารณา จากข้อความที่ว่า ”เราได้ตั้งปณิธานไว้ว่า การละครของเราจะมุ่งเพื่อการสร้างสรรศิลปะ และจรรโลงวัฒนธรรมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มิใช่เป็นเครื่องมือการเมือง เพื่อทำลายอารยธรรมไทย ค่านิยมอันดีงามของคนไทย…” และ ”ความศรัทธาและความพร้อมเพรียงของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่ได้มาร่วมสร้างละครของเรา เป็นประจักษ์พยานอันหนึ่ง แม้จะไม่ใช่แสงไฟโชติช่วง ก็เป็นแสงเทียนเล่มน้อยที่ส่องริบหรี่ในโลกมืดยามวิกฤตนี้ เราเพียงแต่หวังว่า แสงนี้จะมีผู้สืบทอดส่องสว่างต่อไปในโลกกว้างเท่านั้น”

ข้าพเจ้าคิดว่าอันตราคนีไม่อาจเป็นทั้ง ”แสงไฟโชติช่วง” หรือ ”แสงเทียนเล่มน้อย” ของ วงการละครไทยได้ตามประสงค์ เพราะนอกจากเราจะมิได้อยู่ใน “โลกมืดยามวิกฤต” ทางละครอย่างที่ผู้จัดเข้าใจแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าอันตราคนี ซึ่งเป็นเครื่องมือแสดงความความคิดทางการเมืองแบบหนึ่ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการจรรโลงงานศิลป์อีกด้วย

ข้าพเจ้าเห็นว่า อันตราคนี ซึ่งเป็นเป็นเครื่องมือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่งออกมานั้น ไม่อาจเป็น “แสงไฟโชติช่วง” หรือ “แสงเทียนเล่มน้อย” ได้ดังประสงค์ เพราะนอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วในแง่ของงานศิลปการละครแล้ว เรายังมิได้อยู่ใน “โลกมืดยามวิกฤต” ของวงการละครไทยอย่างที่คณะผู้จัดแสดงเข้าใจอีกด้วย เพราะเราเคยมีละครอย่างเช่น “คน” “ก่อนอรุณจะรุ่ง” “นี่แหละโลก” ฯลฯ เป็นดวงไฟที่ใหญ่กว่า “อันตราคนี” มาแล้วทั้งในแง่จรรโลงศิลปวัฒนธรรมของคนไทย และการสื่อความหมายจากละครไปสู่ผู้ชม

 

ที่มา :     รัศมี เผ่าเหลืองทอง. “ละครพันทาง อันตราคนี ผู้มาหลังกาลเวลา”. จตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 55 (2518), หน้า 51-53.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เนื่องมาจากอันตราคนี

(จดหมายโต้ตอบบทวิจารณ์ “ละครพันทาง อันตราคนี ผู้มาหลังกาลเวลา”)

 

  1. ขอฝากคำนำสั้น ๆ เกี่ยวกับ Existentialism in the Theatre และความสัมพันธ์ระหว่าง Antigone ของ Anouilh กับ Sartre มาให้อ่านเพื่อเพื่มพูนความรู้เกี่ยวกับบทละครฝรั่งสมัยใหม่และ Existentialism ยังมีตำราฝรั่งเศสและอังกฤษอีกมากที่ยินดีจะให้อ่าน และอธิบายให้คุณเข้าใจดีขึ้นในเรื่องนี้ เพราะสังเกตว่าการวิจารณ์ในแง่นี้ของคุณยังขาดความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งเพียงพอ น่าจะอ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสและตำรา Existentialism ดี ๆ กว่านี้
  2. การวิจารณ์ในด้านเทคนิคและการแสดงมีส่วนถูกบ้าง ในแง่ที่ผู้แสดงทุกคนไม่ใช่ Drama Majors สมัครเล่นได้แค่นี้ก็สุดความสามารถของผู้แสดงและผู้กำกับแล้ว เพราะ Training เป็นสิ่งสำคัญ จุดมุ่งหมายของเราไม่ใช่  Class Work อย่างจุฬา ฯ แต่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนักศึกษาโดยทั่วไป จึงควรคำนึงถึงข้อนี้ด้วยในการวิจารณ์ และน่าจะให้กำลังใจแก่เด็กมากกว่านี้ ที่เขามีศรัทธามาทุ่มเทให้โดยมิได้หวังคะแนนอะไร
  3. เครื่องแต่งกายนั้นเป็นเมืองสมมติซึ่งสะท้อนของจริง หากคุณจะมีโอกาสเดินทางไปในอินเดียและรัฐเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางเหนือของอินเดียจะเห็นว่าได้รับ inspiration นี้ จากคนในยุคปัจจุบัน เช่นในหมู่ชนชั้นสูงของแคว้น Pathan เป็นต้น พวกนี้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จากตะวันตก แต่แต่งกายครึ่งฝรั่งกึ่งแขกเช่นนี้ขับรถสปอร์ตและเที่ยวไนท์คลับ
  4. ขอบคุณที่อุตส่าห์ชมแสงและฉากบางตอน ขอยอมรับในข้อบกพร่องของไฟ เพราะหอนี้ทำไฟยากมาก และช่างควบคุมก็ไม่ได้มี training มาก่อน
  5. ถ้าจำไม่ผิด “เผ่าเหลืองทอง” ไม่เคยวิจารณ์ Production ของธรรมศาสตร์ในแง่ positive เลย และ negative มาทุกเรื่อง ในขณะที่มักจะชมเชยแต่ของจุฬา ฯ และพระจันทร์เสี้ยว หวังว่าการถือ “สี” “พวก” และ “การเมือง” รวมทั้งอคติต่อ “บุคคล” ของคุณจะลดลงบ้าง เพื่อบทวิจารณ์จะไม่ลำเอียงนัก และได้มาตราฐานกว่านี้ แต่ก็ยังคงขอบคุณที่ยกเครดิตให้ว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่” ทั้ง ๆ ที่ทำ production ก่อน ๆ ก็ถูกพวกคุณวิจารณ์ว่าไม่ได้สติเรื่อยมา อยากจะบอกด้วยถ้อยคำของ Antigone ว่า  “But that much, at lease, I can do. And what a person can do, a person ought to do.” โดยมิได้หวังลาภยศ หรือสรรเสริญใด ๆ
  6. การต่อเติมคำพูดบางประโยคจำเป็นเพื่อให้ความหมายกระจ่างขึ้น มิได้มุ่งหมายจะเปลี่ยนความให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกแบบหนึ่งอย่างที่คุณเข้าใจเพราะ Existentialism ของ Anouilh และนักเขียนฝรั่งเศสอื่นเป็นเรื่องที่ยากที่คนไทยจะเข้าใจ รวมทั้งตัวคุณรัศมีด้วย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่จะปฏิเสธค่านิยมทั่วไปของสังคม ที่จะเลือก ( “ Le choix, the choice ” ) วิถีของตนเอง เป็นพระเจ้าตนเอง เพราะ “ Dieu est mort ” (พระเจ้าตายเสียแล้ว) สำหรับพวกเขา การเลือกนั้นเมื่อเลือกแล้ว เราต้องรับผิดชอบเฉพาะในส่วนที่กระทำนั้น มิใช่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในสายตาของ Existentialism แบบไทย ๆ มากกว่า ที่จะให้มีเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป ควรอ่านงานของ Sartre (หนุ่ม) , Camus , Simone de Beauvois โดยเฉพาะบทละครของ Sartre & Camus เป็นภาษาฝรั่งเศส ถ้าทำได้ อ่านแล้วจึงค่อยมาวิจารณ์  Existentialism ฝรั่งเศสกัน ดิฉันเรียนสำนักนี้จากก้นกุฏิ Sartre ในฝรั่งเศส ตอนนั้นคุณรัศมียังคงเด็กอยู่มาก จึงอาจจะรู้กันคนละแบบ
  7. “โลกมืดยามวิกฤต” นั้นมิได้หมายถึง วงการละครไทยจนนิดเดียว แต่หมายถึงสภาพบ้านเมืองปัจจุบันทั่วโลกต่างหาก ในเรื่องนี้ความหมายของการแสดง “อันตราคนี” ก็คือการกระตุ้นให้คนไทยได้คิดปัญหาต่าง ๆ กันบ้าง โดยไม่ได้อาสาจะให้คำตอบที่ดีอะไร แต่ทิ้งให้คนดูคิด ส่วนด้านการละครก็ได้เอ่ยถึงกิจกรรมด้านนี้ว่ากำลังขยายตัวไปมาก ซึ่งเป็นที่น่ายินดี แต่ละครที่ดีมีศิลปะนั้น น่าจะคำนึงถึงศิลปะมากกว่าความคิดทางการเมือง ที่พยายามยัดเยียดให้คนดูโดยอาศัยละครเป็นสื่อ ซึ่งไม่น่าถือว่า “ดวงไฟโชติช่วง” เลย

 

มัทนี  รัตนิน

.ธรรมศาสตร์

 

 

 

 

ที่มา :     มัทนี รัตนิน. “เนื่องมาจาก ‘อันตราคนี’ ”. จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 57  (10 สิงหาคม 2519).

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อันตราคนียังไม่จบ

(จดหมายโต้ตอบ ดร.มัทนี รัตนิน ในลักษณะของบุคคลที่ 3)

 

ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งดูละครเรื่องอันตราคนี และคิดที่จะเขียนบทวิจารณ์อยู่เหมือนกัน เผอิญได้อ่านบทวิจารณ์ของคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง ในหนังสือจตุรัสปีที่ 2 ฉบับที่ 55 เสียก่อน จึงหยุดความคิดที่จะเขียนถึง เพราะความคิดเห็นที่คุณรัศมีแจกแจงในบทวิจารณ์ดังกล่าวตรงกันกับความคิดของผมเป็นส่วนใหญ่ และเชื่อว่าก็คงจะตรงกับความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมท่านอื่น ๆ อีกเป็นอันมากเช่นกัน แต่เมื่ออ่านจดหมายของอาจารย์มัทนี รัตนิน ในหนังสือจตุรัส ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕๗ แล้วทำให้เกิดความสลดหดหู่ใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่คิดว่าอาจารย์มัทนีจะกลายเป็นอีลาสติคที่ยืดขยายจนหดตัวกลับเข้าที่ไม่ได้ ถึงขนาดเขียนจดหมายด้วยอารมณ์มาตอบโต้กับเด็กระดับลูกศิษย์ลูกหาด้วยสำนวนเช่นนั้น

ถ้าลองประเมินค่าของละครเรื่องอันตราคนี ก็คงจะได้ค่าน้อยเต็มทน เพราะในขณะที่ละครปัจจุบันกำลังพยายามปลดเปลื้องพันธนาการต่าง ๆ รวมทั้งพยายามสื่อสารกับผู้ชมด้วยความง่ายและความสมจริงให้มากที่สุด อันตราคนี กลับเดินสวนทางลมในรูปแบบ “ขวากระทบซ้าย” ด้วยปรัชญาฝรั่งเศสที่ล้าสมัย, การแต่งกายที่ชวนให้นึกถึงลิเกหอมหวนยุควิกตลาดยอด, ชื่อตัวละครประเภทแขกเกิดเมืองไทย[1] ตลอดจนบทสนทนาและแนวเรื่องประเภทวิมานเมฆที่พร้อมจะสลายไปเพราะแรงลม ยิ่งได้อ่านบทนำตอนทิ้งท้ายของคณะผู้จัดแสดงในสูจิบัตรประกอบการแสดงซึ่งหมายจะให้การแสดงดังกล่าว ”เป็นแสงเทียนเล่มน้อยที่ส่องริบหรี่ในโลกมืดยามวิกฤต” ด้วยแล้วก็ยิ่งชวนให้สงสัยอีกนานัปการ ว่าโลกมืดที่กล่าวถึงนั้นคือโลกมืดของการละครในระบบความคิดของอาจารย์มัทนีหรืออะไรกันแน่

ผมเองไม่เคยรู้จักทั้งคุณรัศมี และอาจารย์มัทนี แต่เพียงติดตามผลงานของบุคคลทั้งสองมาตลอด ความสำเร็จในละครเรื่องอวสานของเซลส์แมน รถรางคันนั้นชื่อปรารถนาหรือวัยวุ่น คือความสำเร็จซึ่งเกิดจากความสมจริง และการที่ไม่พยายามเดินสวนทางกับความเป็นจริงของสังคมปัจจุบัน อันตราคนีมิได้เกิดขึ้นเพียงสนองจิตใต้สำนึกของอาจารย์มัทนี รัตนิน ที่ซาบซึ้งใจของละครเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังสาว จนกระทั่งฝันว่าตัวเองคือนางเอกของเรื่อง และยังฝังใจมาจนกระทั่งแก่ เมื่อมีโอกาสก็อยากจะเห็นละครเรื่องนี้กลายเป็นภาคไทย มีชีวิตจิตใจโลดแล่นอยู่บนเวทีบ้าง เหมือนดังที่อาจารย์มัทนี เขียนระบายความในใจไว้ ในสูจิบัตรประกอบการแสดงอันตราคนี ก็อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ แต่ในเมื่อละครดังกล่าวเกิดขึ้นในภาวการณ์ตรงกันข้ามอันตราคนีจึงกลายเป็นละครที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ชื่นชมถ้าจะมีก็คงมีแต่อาจารย์มัทนี รัตนินแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ที่หลับตาฝันเห็นภาพของตนเองในวิญญาณของ Antigone ซึ่งดื่มด่ำปรัชญา Existentialism อย่างเป็นชีวิตจิตใจจนลืมสนิทว่าไทยไม่ใช่ฝรั่งเศส และปรัชญาแบบนั้นคือปรัชญาประเภท “นมตราหมีดีเกินไปซะแล้ว” อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการละคร เมื่อนำออกสื่อสารกับมวลชนทั้งผู้บริหารและผู้แสดง ก็ควรจะทำใจคอให้กว้างขวาง พร้อมที่จะรับทั้งคำติและคำชม ถ้ามัวแต่คิดว่าเขาติเพราะเขาไม่ชอบเรา หรือเพราะเขาคนละสีคนละกลิ่น กับเรา เหมือนดังที่อาจารย์มัทนี รัตนิน คิด ก็ควรจะทำละครประเภทปิดประตูเล่นกันเอง ดูกันเองและชมกันเองไปพลางๆ ก่อน เพราะในโลกส่วนบุคคลที่มืดสนิทเช่นนั้น คณะละครย่อมมีโอกาสพองลม ลอยฟ่องอยู่บนวิมานเมฆได้อย่างสุดภาคภูมิ จนกระทั่งเมื่อใดลูกโป่งพองลมจนสุดขั้ว เราจึงค่อยมาพบกันบนจุดแห่งความแหลกสลาย และที่จุดนี้บางทีอาจารย์มัทนี รัตนิน อาจจะพบกระจกวิเศษที่สะท้อนภาพจริงไม่เหมือนกับภาพหลอน ซึ่งทำให้ต้องตกเป็นทาสอารมณ์และความหลงอันยิ่งใหญ่เหมือนอย่างทุกวันนี้ก็ได้

 

สุรชัย เครือประดับ

เจริญกรุง ยานนาวา

ที่มา:      สุรชัย เครือประดับ. “จดหมาย อันตราคนียังไม่จบ”. จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 60 (วันที่ 30 สิงหาคม 2519), หน้า 3-4.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

(จากบทวิจารณ์ “ละครพันทาง อันตราคนี ผู้มาหลังกาลเวลา” โดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และจากเอกสารอ้างอิง 2 ชิ้นคือจดหมาย “เนื่องมาจากอันตราคนี” โดย มัทนี รัตนิน และจากจดหมาย “อันตราคนียังไม่จบ” โดย สุรชัย เครือประดับ)

 

การที่หนังสือข่าวกรองรายสัปดาห์เช่น จตุรัส1 ให้พื้นที่แก่บทวิจารณ์และจดหมายโต้ตอบระหว่างผู้ถูกวิจารณ์และบุคคลที่สามนั้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ตีพิมพ์นั้นให้ความสนใจต่อ “การวิจารณ์ละครเวที” และได้แบ่งปันหน้ากระดาษให้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้วิจารณ์ ผู้ถูกวิจารณ์และประชาชนผู้อ่านอย่างเต็มที่ กรณีที่มีการ “ปฏิสัมพันธ์” กันติดต่อกันในวารสารฉบับนี้ถึง 3 ครั้งสะท้อนให้เห็นถึง “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” ระหว่างผู้สร้างงาน ผู้วิจารณ์และผู้ชมในช่วงเวลานั้นและต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้ตั้งคำถามต่อไปได้อีกมากมายหลายข้อ

รัศมี เผ่าเหลืองทอง ไม่ได้วิจารณ์โดยไม่ได้ยกเหตุผลและตัวอย่างประกอบ การตั้งชื่อบทวิจารณ์ว่าเป็น “ละครพันทาง” และเป็น “ผู้มาหลังกาลเวลา” นั้น ก็เป็นการสรุปมโนทัศน์ของบทวิจารณ์ชิ้นนี้ไว้ทั้งหมดแล้ว บทวิจารณ์ชิ้นนี้ จึงทำหน้าที่ที่จะอธิบายว่า ละครเรื่องนี้แปรเปลี่ยนไปเป็น “พันทาง” ได้อย่างไรทั้งๆที่น่าจะเป็นละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่   ในการวินิจฉัยผลงานละครเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์ได้ยึดเอาหลักฐานที่พิสูจน์ได้ คือ “ตัวบท” เป็นสำคัญ การยกตัวอย่างประกอบให้เห็นว่า ผู้แปลบทได้กระทำการเกินขอบเขตของการแปลบทที่ดี นั้นก็คือการต่อเติมบทจนกระทั่งทำให้ความหมายดั้งเดิมของผู้ประพันธ์ต้องแปรเปลี่ยนไป จากการพิจารณาหลักฐานจากตัวอย่างทั้งหลายที่ถอดความมาจากบท(ที่ถูกต่อเติมแล้ว)นั้น ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกได้เองว่าผู้กำกับอาจจะพยายามลงมือ “ทำศัลยกรรม” ให้กับบทละครทั้งๆที่ไม่ใช่เจตนารมย์ของผู้ประพันธ์เดิม และการทำศัลยกรรมในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เกินเลยไปจากแก่นแท้ของโศกนาฏกรรมในเรื่องนี้ไปมาก ถึงขั้น “ละเมิด” ความบริสุทธิ์ของตัวละครและละเมิดต่อ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของผู้ประพันธ์เลยทีเดียว[2] ข้อหาดังกล่าวนี้เป็นข้อหาที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง แต่ก็คงสามารถพิสูจน์กันได้ไม่ยากด้วยการกลับไปอ่านต้นฉบับของบทละครเรื่อง อันตราคนี นั่นเอง

นอกเหนือจากการวิจารณ์ “ตัวบท” แล้วนั้น ดูเหมือนว่าผู้กำกับจะไม่สามารถสร้างความประทับใจในการประสบการณ์การชมละครให้แก่ผู้วิจารณ์เท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการกำกับนักแสดงและการสร้างความหมายจากภาพที่ปรากฏบนเวที และแม้ว่า ผู้กำกับจะเขียนจดหมายมาชี้เแจงว่านักแสดงเป็นเพียงมือสมัครเล่น ไม่ได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนที่คร่ำเคร่ง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้ชมหรือผู้อ่าน “ฟังขึ้น” แต่อย่างใด เพราะผู้ชมทั่วไปคงไม่ได้สนใจเท่าไรนักว่า “เบื้องหลัง” ของการสร้างงานคืออะไร นักแสดงมีพื้นฐานอย่างไร สำหรับผู้ชมแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องการคือชมละครที่จะ “คุ้มค่าสมราคาคุย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “คุย” ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์ในสูจิบัตรละคร ดังนั้น หากละครไม่สามารถพิสูจน์ตนเองตามที่กล่าวไว้ในสูจิบัตร ผู้ชมและนักวิจารณ์ย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้

การที่ผู้กำกับฯละครเขียนจดหมายตำหนิผู้วิจารณ์นั้นเป็นเรื่องของสิทธิในการปกป้องผลงานของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้วิจารณ์นั้นขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้ และไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือในการวิจารณ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหากผู้กำกับฯใช้วิธีการว่ากล่าวด้วยอารมณ์ของความไม่พอใจที่ถูกวิจารณ์นั้น อาจจะทำให้น้ำหนักในการอธิบายตัวเองลดน้อยลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีผู้อ่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม (ที่ไม่ได้รู้จักทั้งสองท่านเป็นการส่วนตัว) แต่กล้าที่จะเขียนจดหมายยืนยันความคิดที่ค่อนข้างจะตรงกันกับผู้วิจารณ์ และเกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อการตอบโต้ของผู้กำกับ ถึงขั้นที่เรียกว่า “สลดหดหู่ใจ” ประเด็นสำคัญในจดหมายคือการกล่าวถึงกติกาของ “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” ที่สำคัญ ว่า “ขึ้นชื่อว่าการละคร เมื่อนำออกสื่อสารกับมวลชน ทั้งผู้บริหารและผู้แสดงก็ควรจะทำใจคอให้กว้างขวางพอที่จะรับทั้งคำติคำชม” การประกาศกติกานี้ จึงเป็นเสมือนการย้ำเตือนผู้สร้างงานให้ตระหนักถึงวัฒนธรรมแห่งการรับฟังงานวิจารณ์ บุคคลที่สามท่านนี้ จึงได้ทำหน้าที่ประหนึ่งกรรมการมวย ที่คอยย้ำเตือนถึงกติกาข้อนี้ให้พึงตระหนักกันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้สร้างงาน นักวิจารณ์หรือประชาชนที่อ่านงานวิจารณ์

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ก็อาจพบได้ว่าการเกิดวาทกรรมระหว่างบุคคล 3 ฝ่ายกลับเป็นการท้าทายให้ผู้สนใจในงานชิ้นนี้ทำการศึกษาเพื่อให้เกิดการครุ่นคิดพินิจนึกต่อไป  จากการตอบโต้ของผู้กำกับฯซึ่งเป็น “ยักษ์ใหญ่” คนหนึ่งของการบุกเบิกละครเวทีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้สร้างงานละครเวทีบางคนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะยอมรับกติกาในการถูกวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้วิจารณ์เป็นรุ่นที่อ่อนกว่า หรือมาจากต่างค่าย ต่างสถาบัน ในขณะเดียวกัน งานทั้ง 3 ชิ้นก็สะท้อนให้เห็นถึง ความพร้อมและความกล้า ที่จะใช้วัฒนธรรมลายลักษณ์ในการวิจารณ์ที่ถูกตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์สาธารณะ ซึ่งการกระทำในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเผชิญหน้ากับการสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ในสังคมที่อาจจะยังไม่ค่อยยอมรับการวิจารณ์ด้วยความเต็มใจเท่าไรนัก

 

ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ : ผู้วิเคราะห์


[1] อาจารย์บุญเหลือเป็นผู้ตั้งชื่อให้

1 เป็นวารสารรายสัปดาห์ที่จารึกปรากฏการณ์หลายๆประการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศิลปะ และสังคม ในช่วงปี 2518-2519

[2] กล่าวคือ แทนที่อัตราคนีจะเป็นตัวแทนของตัวละครที่ยึดมั่นในความถูกต้องตามอุดมการณ์ แต่เธอกลับถูกฉายภาพให้เป็น ”เด็ก” ที่ถูกหลอกใช้โดยพวกผู้ใหญ่ผู้มีอิทธิพล และเป็นแค่พวก “หลับหูหลับตาทำตามอุดมการณ์”  และแทนที่เธอจะเป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ของ “เสรีภาพ” เธอกลับเป็นเพียงเครื่องมือที่ขาดความรับผิดชอบทางการเมือง ในการนี้ อันตราคนีจึงสูญเสียความเป็น Tragic Hero หรือลักษณะของตัวละครโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *