จิตวิทยาสังคม จากการแสดงละครใน ตอนศึกกะหมังกุหนิง
จิตวิทยาสังคม จากการแสดงละครใน ตอนศึกกะหมังกุหนิง
ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
เนื่องในการฉลองการครบสองศตวรรษแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรามักเรียกกันเพื่อความสะดวกว่า รัชกาลที่ 2 กรมศิลปากรหรืออีกนัยหนึ่งโรงเรียนนาฏศิลป์ ได้แสดงละคร โดยใช้พระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง ข้าพเจ้ามีโชคดีได้รับเชิญไปชมในวันที่ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในวันเปิดงานฉลอง คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511 อันเป็นวันที่คณะกรรมาธิการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก ถือว่าเป็นวันครบสองร้อยปี นับแต่วันพระราชสมภพ และซื้อบัตรไปดูอีกเป็นคำรบสองในสัปดาห์ต่อมา
เดิมมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ข้าราชการด้านนาฏศิลป์ เราเรียกเขาว่า ละครหลวง ครั้นราชการด้านนาฏศิลป์เปลี่ยนมาขึ้นกรมศิลปากร ซึ่งเป็นส่วนราชการธรรมดาเหมือนส่วนราชการอื่นๆ แทนที่จะเรียกว่า ละครหลวง เราจึงตั้งอกตั้งใจเรียกว่า ละครของกรมศิลปากร ในระยะการเปลี่ยนระบอบการปกครองตอนแรกๆ ตัวละครหลวงเก่าๆ ก็ยังมีอยู่มาก การแสดงโขนก็ดี ละครก็ดี ก็คงใช้ตัวละครหลวงแสดง แต่มาปัจจุบัน ท่านที่เป็นละครหลวงมาแต่เดิมก็ล่วงลับไปบ้าง พ้นเกษียณอายุราชการไปบ้าง เกือบจะไม่มีตัวละครที่เคยเป็นละครหลวงเลย ส่วนใหญ่ผู้แสดงเป็นครูและนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป์ แต่เราก็ใช้คำว่า ละครของกรมศิลปากรอยู่ โดยไม่อ้างชื่อโรงเรียนดังนี้ทำให้ผู้ดูยังมีจิตใจผูกพันอยู่กับการแสดงแต่เดิมมา แต่คณะละครที่เป็นครูและนักเรียนของสถาบันการศึกษา กับคณะละครที่ประกอบด้วยตัวละครอาชีพแท้ๆ นั้นย่อมจะมีความผิดแผกแตกต่างจากกันตรงที่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตัวละคร ผู้อำนวยการ ผู้ฝึกสอน ย่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคณะละครประเภทอื่น ทั้งที่เป็นละครอาชีพหรือสมัครเล่น โดยเฉพาะตัวละครนั้นจะเปลี่ยนอยู่เสมอภายในระยะสั้นๆ คือเมื่อจบหลักสูตรแล้วก็จะออกไป ยิ่งเป็นสถาบันราชการแล้ว ย่อมจะมีระเบียบต่างๆ ผูกมัด ทำให้ว่าจ้างบุคคลที่พึงประสงค์ในทางศิลปะยาก แม้บุคคลทางวิทยาการก็ได้รับความลำบากที่จะบรรจุหรือว่าจ้างให้เหมาะสมจริงๆ ข้อยกเว้นที่ทางราชการให้ไว้สำหรับบรรจุบุคคลประเภทนี้ก็มีบ้าง แต่เมื่อมีความต้องการหรือขาดแคลนใหม่ เพราะสภาพการณ์เปลี่ยนแย่ลง กว่าจะเปลี่ยนระเบียบของราชการให้ทันกัน มักจะทำได้ไม่ทัน เป็นเช่นนี้ทุกประเทศ หาใช่เฉพาะประเทศไทย ประเทศไหนชำนาญกว่า คล่องกว่าในเรื่องใด ก็มีการปรับปรุงดีกว่าเท่านั้น เงินของแผ่นดินมีเจ้าของเท่าจำนวนพลเมืองของประเทศนั้น จะจัดจ่ายใช้สอยย่อมต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เหมือนเงินของเอกชน จึงต้องมีระเบียบต่างๆ ตรึงไว้
การแสดงละครเรื่องอิเหนาในงานฉลองสองศตวรรษแห่งพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (หมายถึงสองร้อยปีที่มีองค์และอิทธิพลของท่านปรากฏขึ้น เป็นสมบัติของมนุษยชาติ) เป็นการแสดงละครครั้งสำคัญ ได้ผลที่เป็นที่น่าชื่นชมแก่คนจำนวนไม่น้อยที่มีความรักในนาฏศิลป์และ
วรรณคดีไทย มีเรื่องควรชมมาก ยกมาไม่หมด ขอยกแต่เพียงสองสามอย่าง อาทิ ตัวแสดงเป็น กะหมังกุหนิงนั้น เห็นจะหาให้ได้ดีเท่านี้ได้ยาก อาจต้องรอไปเป็นสิบปีก็ได้ การมีตัวละครรำถึงบท โดยเฉพาะบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่สองนั้น ขึ้นต่อโชคของบ้านเมือง หรือเรียกอย่างใหม่ว่าสังคม บางคราวก็หาได้ถึงขั้น บางคราวก็หาไม่ได้ไปนาน เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด ในกรณีบทละครที่เป็นวรรณคดีไปด้วยในตัว เช่น บทละครของเชกสเปียร์ แม้ในประเทศที่มีพลเมืองมากมาย และในภาษาที่มีชนชาติหลายชาติใช้ร่วมกันหลายประเทศ บางระยะก็ขาดตัวที่จะแสดงเป็นตัวบางตัวในบทละครของเชกสเปียร์ ในประเทศไทย อันไม่ค่อยมีผู้สนใจกับนาฏศิลป์นักนี้ ย่อมจะมีบางคราวยาวนานที่ตัวละครบางตัวจะขาดไป มีตัวกะหมังกุหนิงเกิดขึ้นอย่างในละครที่แสดงคราวนี้ ย่อมเป็นที่น่ายินดีเป็นอันมาก
ที่น่าชื่นชมต่อไปก็คือ หาตัววิหยาสะกำได้มีรูปสมบัติเหมาะสม และศิลปะการรำก็ไม่หย่อน และยังตัวสังคามารตาได้ขนาดกัน และรำไม่ย่อหย่อนกว่ากันอีกด้วย ท่ารำทั้งหลายก็ดีถึงขนาด (นัยน์ตาคนเรานั้นไม่เสมอกัน ถึงขนาดในที่นี้หมายถึงขนาดหรือมาตรฐานของผู้เขียน) สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่งที่จะเว้นที่จะกล่าวเสียไม่ได้ก็คือ ดนตรีและการร้อง ในเรื่องดนตรีนั้น ในระยะนี้มีผู้แสดงฝีมือบรรจุในการละครอย่างน่ายินดี พร้อมกันนั้นก็ออกนึกเป็นห่วงว่า อาจารย์มนตรี ตราโมท บุคคลสำคัญในเรื่องนี้ได้คิดหาลูกศิษย์รองมือท่านลงไปแล้วหรือยัง คนไทยเรานับถือพระพุทธศาสนา ไม่น่าจะตั้งในความประมาท ควรสำนึกถึงความไม่เที่ยงแท้อยู่เป็นนิจ
ในเรื่องการร้องมีที่น่ายินดีมาก แต่ยังมีไม่ถึงขนาดของสมัยนี้อยู่บ้าง คือการร้องของลูกคู่ การใช้ลูกคู่ในสมัยก่อนนั้น คงจะเพื่อประโยชน์หลายประการ คือ ให้ต้นบทได้พัก และทำให้ผู้ดูฟังเรื่องง่ายเพราะลูกคู่ร้องตอบเรียบๆ ไม่มีการเอื้อนที่ร้องยากและฟังยาก ในสมัยก่อนนั้นเราไม่ได้ใช้ไมโครโฟน เมื่อลูกคู่ร้องขึ้นมาพร้อมๆ กันหลายๆ คน ก็ได้ยินดังขึ้น แต่ไม่ดังมากนัก ในสมัยนี้เราใช้ไมโครโฟน ถ้าลูกคู่ร้องดังพร้อมกันขึ้นมาก็มีเสียงดังจนเกินไป ข้าพเจ้าทราบดีว่า ลูกคู่ในสมัยก่อน คือในรัชกาลที่ 5 (ไม่เคยได้ยินไปถึงรัชกาลที่ 2) ร้องไม่ดีกว่าในสมัยนี้ เพราะเคยได้ยินลูกคู่ของคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ซึ่งว่าได้รับการฝึกซ้อมกวดขันมาก ร้องโดยไม่คำนึงถึงศิลปะการร้องเลย ตัวข้าพเจ้าเองและพี่น้องของข้าพเจ้าได้เคยเป็นลูกคู่ร้องละครในงานวันประสูติพระราชวงศ์คราวหนึ่ง ลูกคู่คณะนั้น ถูกกล่าวว่า ร้องไม่เป็นลูกคู่ ร้องราวกับเป็นต้นบท กระแสเสียงที่กล่าวนี้ จะฟังว่าเป็นการติหรือการชมก็ได้ทั้งสองอย่าง เพราะบังเอิญมีการเมืองเข้ามาปะปนอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ลูกคู่นั้น ตามธรรมดาร้องอย่างเรียบๆ อันธรรมชาติของคนนั้น ถ้าพูดพร้อมกันหลายๆ คนมักจะแข่งเสียงกัน เพื่อจะได้ยินเสียงของตัวเอง ลูกคู่ที่ใช้ไมโครโฟนจะทำดังนั้นไม่ได้ เพราะเสียงดังเกินไป ในคราวแสดงศึกกะหมังกุหนิงนี้ ลูกคู่ของโรงเรียนนาฏศิลป์ร้องดีขึ้นมากทีเดียว แต่การแข่งเสียงก็ยังมีอยู่บ้าง ควรทำให้ดีขึ้นต่อไปได้ เพราะในระยะ 30 ปีที่การละครอยู่ในความควบคุมของกรมศิลปากรนี้ การร้องดีขึ้นมาก โดยเฉพาะภายใน 10 ปีหลังนี้ ต้นบทดีๆ มีหลายคน แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ ก็มีทางทำให้ดีขึ้นไปอีก
ในเรื่องฉากนั้น คนดูมีความเห็นแตกต่างกัน ที่พอใจก็มี ที่ไม่พอใจก็มี ชาวต่างประเทศดูเหมือนจะพอใจเปลี่ยนฉากจากห้องนางจินตหรา ไปเป็นห้องนางมาหยารัศมีและนางสการวาตีมากว่าเป็นวิธีการที่แปลกตา แต่คนไทยบางคนว่า มองดูเหมือนฉากหุ่น ตัวข้าพเจ้าไม่ติดใจเรื่องฉากมากนัก สำหรับการแสดงคราวนี้ รวมๆ แล้วอยู่ในขั้นที่พอใช้ได้ เพราะไม่เป็นอุปสรรคต่อการรำและการแสดงในด้านอื่น การมีฉากนั้นไม่ใช่ลักษณะของละครใน ข้าพเจ้าได้กล้าหาญเกินขอบเขตไปอธิบายแก่ชาติต่างประเทศก่อนการแสดงว่า การแสดงคราวนี้ไม่มีฉาก (Scenery) เพราะคิดว่าจะแสดงเป็นละครใน ให้เป็นตำนานที่ระลึกถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ก็เห็นใจผู้นำเสนอ คือโรงเรียนนาฏศิลป์ หรือกรมศิลปากร สุดแล้วแต่จะเรียก ว่าถ้าไม่อาศัยฉาก ในวันต่อๆ ไปจากการเสด็จพระราชดำเนิน คงจะจำหน่ายบัตรได้น้อย แม้เท่าที่มี ก็ยังมีคนหนุ่มสาวที่เคยชินกับการแสดงฝีมือทางการแต่งฉากของกรมศิลปากรมีความเห็นว่า ฉากไม่สวยเหมือนทุกคราว นี่แหละข้าพเจ้าว่าได้เห็นจิตวิทยาสังคมจากการแสดงละครคราวนี้ ผู้ใดเคยชินกับสิ่งใด ก็มักเรียกร้องสิ่งนั้น ถ้าจะถือใจข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า การแสดงละครรำอย่างที่ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ควรเรียก ละครรำ(เฉยๆ) และอาจเพิ่มเติมคำอธิบายว่า พยายามยึดถือแบบแผนของละครในหรือละครนอกก็แล้วแต่ เพราะสมัยนี้เราจำเป็นต้องคำนึงรสนิยมของผู้ดูในสมัยของเราเขาชอบดูฉากกัน เพราะความเข้าใจในศิลปะการรำยังมีน้อย ต้องอาศัยสิ่งดึงดูดอื่นเข้ามาผสม เรามีสิทธิ์ที่จะปรับศิลปะไม่ว่าแขนงใดไปตามกาลสมัย เราก็น่าจะหาขื่อกลางๆ จะเรียกว่า ละครกรมศิลปากร ก็มีสิทธิ์ทำได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าเรียกว่าละครใน ในโอกาสเช่นนี้ ก็น่าจะแสดงตามแบบฉบับของละครในให้ใกล้เคียงที่สุด
เมื่อกล่าวถึงฉาก ก็เห็นสมควรกล่าวถึงสิ่งประกอบการแสดงอย่างอื่นซึ่งครึ่งใหม่ครึ่งเก่าต่อไป การใช้ช้างชนิดที่ใช้ในการแสดงในคราวนี้ ได้ยินความคิดเห็นของคนดูแตกแยกกันเป็นสองพวก บ้างก็ชมว่าน่าดู บางคนก็ว่าน่าเสียดายเป็นการกระทำอย่างเด็กๆ ชาวต่างประเทศที่ไม่เข้าใจนาฏศิลป์นัก ก็มีบางคนที่ชมว่า ช่างคิดช่างทำ แต่คนที่เข้าใจก็ว่าไม่ถูกหลักของนาฏศิลป์ชั้นสูง เพราะนาฏศิลป์ชั้นสูง เช่น บัลเลต์ของฝรั่ง ถ้ามีสิ่งมีชีวิตที่มีส่วนในการแสดง ต้องใช้ให้สอดคล้องกับหลักของนาฏศิลป์ชั้นสูง คือลวดลายหรือกระบวนรำนั้นไม่ถือความจริงเหมือนชีวิตเป็นหลัก กระบวนรำเป็นการพัฒนาจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ตามธรรมดา เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น คนเราไม่ได้จีบนิ้วแล้วโบกออกไป แล้วจึงม้วนเข้ามาจับหน้าผากพลางก้มหน้าลง เขยื้อนตัวไปมา ในเมื่อเราจะร้องไห้ แต่ท่าโลกของละครนั้น ต้องทำการเคลื่อนไหวดังกล่าวมานั้น และยังมีกฎเกณฑ์ใช้แต่มือซ้ายอีกด้วย หรือจะเก็บดอกไม้ก็ต้องกรีดนิ้วและเคลื่อนท่อนล่างของแขนเข้ามาเก็บ ในบัลเลต์ ถ้าตัวบัลเลต์จะไปยกตะกร้า ก็ต้องยกเท้าและเคลื่อนขาสองจังหวะเป็นอย่างน้อยแล้วจึงจะกรายแขนไปยกตะกร้า การแต่งกายของละครรำ ก็ไม่ถือตามการแต่งกายของมนุษย์ ไม่มีนักรบคนไหนใส่มงกุฎหัวแหลมยาว ห้อยอุบะ สวมแหวนหลายๆ วงออกไปรบ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ช้างให้เหมือนของจริง
ผู้นำเสนอหรือผู้อำนวยการแสดงจะต้องตัดสินใจเมื่อได้วางวัตถุประสงค์จะอวดการรำ จำเป็นต้องช้าสักหน่อยก็ต้องยอมให้ช้า การร้องเพลงชนิดนี้ด้วยวิธีรุกนั้น ไม่ทำให้คนที่ไม่รักศิลปะพอใจว่าเร็วและไม่ทำให้คนที่รู้ชื่นอกชื่นใจ การแสดงละครนั้น เหมือนกับการสื่อสารกับประชาชนด้วยวิธีอื่น คือต้องตัดสินใจว่าจะ “พูด” กับคนชนิดไหน แล้วก็พูดไปตามที่เหมาะสมแก่ผู้ฟังหรือผู้อ่านหรือผู้ดูชนิดนั้น การร้องเพลงโทน (เพลงซึ่งใช้ในการลงสรง สำหรับละครใน) ถ้าร้องเร็วเกินไป ก็เสียลีลาทั้งการร้องและการรำ ช้าลงไปอีกนิดหน่อยไม่ถึงกับทำให้เสียเวลามากเกินไป ดังได้กล่าวแล้ว การฟ้อนรำก็คือการพัฒนาอิริยาบทของมนุษย์ขึ้นให้เป็นแบบและลวดลายที่งดงาม จะทิ้งธรรมชาติเสียเลยย่อมไม่ได้ ไม่มีมนุษย์คนไหนจะรีบร้อนแต่งตัวอย่างเต็มยศได้ จะแต่งตัวอย่างคล่องแคล่วรวดเร็วจะต้องเป็นการแต่งกายประจำวัน แต่ถ้าจะทรงเครื่องกันเต็มที่สำหรับออกงานใหญ่ เช่น ออกรบ ต้องบรรจงแต่ง คนโบราณถือว่าการรบเป็นกีฬาและมหรสพมโหฬาร ยิ่งเป็นกษัตริย์ก็จะต้องแต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างเต็มที่ จะมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วไม่ได้ ท่านลองคิดถึงเวลาท่านจะออกไปงานราตรีสโมสรหรืองานใดก็ตามที่ท่านไม่ได้ทำเป็นประจำ ท่านจะต้องแต่งตัวอย่างบรรจงเพียงใด ผู้ที่สนใจนาฏศิลป์จะต้องสนใจในจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ตำนานต่างๆ จะทำไปตามความสะดวกไม่ได้ เผื่อจะมีการปรับปรุงสิ่งใด ต้องพินิจพิเคราะห์ทุกด้านทุกทาง
นอกจากด้านการฟ้อนรำ ก็มีด้านอื่นที่จะต้องกล่าว ที่สำคัญคือด้านวรรณคดี ผู้ที่นำละครซึ่งใช้บทที่เป็นวรรณคดีเสนอต่อมหาชนเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะลำบากมาก ยิ่งบทละครนั้นมีอายุยืนนาน ก็ยิ่งลำบากขึ้นตามส่วน ผู้ดูมักได้อ่านบทที่เป็นวรรณคดีมาแล้ว และได้วาดภาพไว้ในมโนหรือจินตนาการตามรสนิยมของแต่ละคน ผู้นำละครเสนอไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้ แต่ถ้าคนดูมีความเข้าใจทางศิลปะพอสมควร ก็รู้จักใช้จินตนาการให้สอดคล้องเข้ากับตัวละครที่เห็นได้เหมือนกัน หลังจากที่ได้ดูละครตอนศึกกะหมังกุหนิงแล้ว ข้าพเจ้าต้องไปดูละครซึ่งในกรุงเทพฯแสดงเรื่อง ออเธลโล เป็นบทละครของเชกสเปียร์ ซึ่งแสดงยากมาก เหตุการณ์เป็นไปอย่างแปลกประหลาด ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเมื่อคิดอย่างคนในศตวรรษนี้ คนที่ไปดูละครเชกสเปียร์ จะต้องได้รับการฝึกหัดให้ใช้จินตนาการกลับไปศตวรรษของเชกสเปียร์ คือ 400 ปีมาแล้ว ถ้อยคำภาษาก็ไม่เหมือนภาษาอังกฤษปัจจุบัน มีคำที่มีความหมายไม่เหมือนอย่างที่ใช้ในปัจจุบันนี้อยู่จำนวนไม่ใช่น้อย คำพูดของตัวละครเป็นกาพย์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสัมผัสสระเลย หรือเรียกง่ายๆ ไม่คล้องกันอย่างกาพย์กลอนไทย แต่ฝรั่งที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ ไกลจากบ้านเมืองของเขา ได้ใช้ความพยายามอย่างสูงยิ่งที่จะท่องจำบท ฝึกซ้อมกันจนได้มาตรฐานและนำเสนอชาวพระนครทั้งไทยและเทศ ขณะที่นั่งฟังบทละครเชกสเปียร์อยู่นั้น ข้าพเจ้าหวนคิดไปถึงศึกกะหมังกุหนิงบ่อยๆ มีความแปลกใจว่า ตัวข้าพเจ้าได้รับการฝึกหัดเพียงเล็กน้อยในทางวรรณคดีอังกฤษ เพราะเรียนในประเทศไทยนี่เอง หาได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดหรือที่ใดที่หรูหรามีชื่อเสียงของอังกฤษ แต่ทุกระยะที่ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าบทตอนนี้ผู้แสดงควรเน้นอย่างไร ตอนไหนควรเบา ตอนควรแสดงอารมณ์อย่างไร ตัวละครในการแสดงคืนนั้นก็ทำตามความคาดคะเน อย่างที่ข้าพเจ้าวาดในมโนภาพ หรือในจินตนาการ แต่ในละครตอนศึกกะหมังกุหนิง ในด้านวรรณคดีแล้วไม่ตรงกันเลย
จินตะหราเป็นคนไม่ยอมง่ายๆ จึงรำพันออกมาดังๆ เนื้อความเป็นถ้อยคำประชดประชันอย่างฉลาดที่สุด กิริยาในกระบวนรำจึงควรเป็น พูดโดยไม่ดูหน้า ชำเลืองดูบ้าง หันไปพูดต่อกับคนที่ไม่ได้อยู่ในที่นั้นบ้าง จินตะหราเริ่มรู้แล้วว่าจะแพ้ เพราะตัวเองย่อมรู้ประเพณีกษัตริย์เท่ากับอิเหนา เมื่อได้ยินว่า “บัดนี้เกิดศึกก็สุดคิด จนจิตที่จะขัดพระบรรหาร” ก็มีความหวาดหวั่น พร้อมกันนั้นก็โกรธความบังเอิญทั้งหลาย แต่ธรรมดาคนที่เอาแต่ใจตัว ย่อมยกความผิดให้ผู้อื่นหมด ไม่ได้คิดว่าจินตะหราเองก็ได้ร่วมกับอิเหนาในการทำผิดประเพณีต่างๆ โดยจงใจจะแย่งเอาคู่หมั้นของญาติจึงมีความแค้นเป็นที่ตั้ง แต่การแสดงอารมณ์แค้นย่อมช่วยพิสูจน์ว่าชายที่รักยังอาลัยแค่ไหน ถ้าได้เห็นความแค้นถึงที่สุดแล้ว ก็ยังคงปลอบอยู่ไม่โกรธตอบ ก็เรียกว่าความรักออกจะหนักแน่นพอจะเสี่ยงให้ไปรบได้ ยิ่งอิเหนาปลอบโดยอ้างถึงความอับอายอย่างยิ่งยวด และการที่จะถูกนินทา จินตะหราก็ต้องยอมแพ้ในที่สุด การแสดงควรจะทำให้เห็นอารมณ์เป็นชั้นๆ ไป จึงจะจับใจคนดู คนสมัยนี้ถึงแม้จะไม่ได้ดูการแสดงชั้นสูงที่ไหนกี่มากน้อย แต่ก็ได้ดูภาพยนตร์ ภาพยนตร์นั้น แสดงอารมณ์ของตัวละครให้คนดูเห็นประจักษ์แจ้งมากทีเดียว ดังนั้น การที่จะตัดลำดับของอารมณ์ออกย่อมจะดึงดูดความสนใจไม่ได้ พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 นั้น ที่ดึงดูดใจคนอ่าน ก็เพราะเหตุว่า แสดงอารมณ์เป็นลำดับด้วยถ้อยคำที่ประณีต ผู้มิได้ศึกษาถ้อยคำด้วยความประณีตย่อมจะเข้าถึงรสของพระราชนิพนธ์ไม่ได้
ในขณะที่ประเทศไทยร่ำร้องกันว่า เยาวชนไม่สนใจกับของที่เป็นไทย ไม่สนใจกับศิลปวัฒนธรรม ร่ำร้องว่าเราอาจถูกชาติอื่น วัฒนธรรมอื่นมากลืนเราไปเสีย แต่ก็เหตุใดเล่า เราจึงไม่ขยับเขยื้อน หรือเขยื้อนกันคนละเล็กละน้อย ไม่มีการร่วมใจร่วมมือกันในอันที่จะผดุงรักษาสิ่งที่งาม สิ่งที่ไพเราะ สิ่งที่น่าชื่นชม เราใช้ความพินิจพิเคราะห์กันเพียงไหน ใช้ความพยายามเพียงไหน พยายามที่จะดึงดูดใจเยาวชนด้วยอะไร เทียบกับฝรั่งที่ละทิ้งบ้านเมืองมาทำมาหากิน เขาใช้ความพยายามกันเพียงใด ในการที่จะผดุงรักษาและเผยแพร่สิ่งที่เขาถือว่า เป็นสิ่งมีค่าของวัฒนธรรมของเรา ก็เมื่อฉะนี้แล้ว ทำไมเขาจะกลืนเราไม่ได้เล่า คนที่ใช้ความพยายามกับคนที่ไม่ใช้ความพยายาม คนเหล่าไหนจะปราชัย คนเหล่าไหนจะได้ชัยชนะ
จิตหรือความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนนั้น มีความละม้ายคล้ายคลึงกับความรู้สึกนึกคิดของบุคคลในข้อที่ว่า มีความไม่แน่นอน เวลาหนึ่งรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง อีกเวลาหนึ่งรู้สึกต่อสิ่งหนึ่งอย่างหนึ่ง เปลี่ยนแปรไปตามโอกาสและจังหวะของเหตุการณ์ที่เกิด แต่จิตของชุมชนหรือที่มักเรียกเป็นวิชาว่า จิตวิทยาสังคมนั้น มักจะมีแบ่งแยกอย่างหยาบๆ ได้เป็นสาม หนึ่ง, พวกที่ชอบไปทางเปลี่ยนแปลงปรับปรุง สอง, พวกที่ชอบคงที่ และสาม, พวกที่ชอบเลียนคนอื่น ถ้ามีคนที่มีพลังสูงกว่าชักชวนไปในทางใด จะเป็นทางให้อยู่คงที่หรือให้เปลี่ยนแปลงก็ตามพวกที่มีพลังนั้นไป พวกเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็นพวกย่อยอีก คือพวกที่ชอบเอาอย่างคนอื่น ไม่ว่าอะไรแปลกใหม่มา เป็นชอบเปลี่ยนของๆ ตนเอาอย่างเขา กับพวกที่ชอบค้นหาสิ่งแปลกใหม่ของตนเองจากที่ต่างๆ เอามาปรับปรุงเกิดสิ่งที่ใหม่ๆ จริงๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ย่อมไม่ลืมธรรมชาติในข้อที่ว่า ไม่มีอะไรจริงๆ ในโลก อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าใหม่ได้เพราะพวกนี้ถึงจะได้ต้นคิดมาจากอะไรก็ดี แต่ก็มาปรับปรุงแก้ไขจนเป็นของตนเอง ไม่เลียนเจ้าของเก่า พวกนี้มักถูกพวกที่เป็นฝ่ายคงที่โจมตี และตั้งตัวเป็นศัตรู แต่ความก้าวหน้าที่เราเห็นมีมาในสังคมเกิดขึ้นเพราะพวกที่ชอบเปลี่ยนแปลง หาใช่พวกชอบคงที่ ในเรื่องศิลปกรรมในประเทศไทย มีสิ่งที่น่าเสียดายสำหรับผู้ที่รักของไทยก็คือ ทั้งพวกที่ชอบความคงที่และพวกที่ชอบความเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยมีโอกาสจะแสดงความคิดเห็นสู่กันและกัน ทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่าเรายังไม่ค่อยชอบพูดจากันให้เข้าใจ ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ก็เริ่มไม่อยากเจรจากัน ไม่พยายามฟังความคิดเห็นสองด้าน และที่น่าเสียดายอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่ค่อยรู้ความจริงเกี่ยวกับประเทศของเราเอง เช่น น้อยคนจะรู้ว่า เด็กนักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาเพียงแค่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่เคยเห็นละครรำของชาวพระนคร และชาวพระนครก็เคยเห็นแต่การฟ้อนของชาวเชียงใหม่อย่างผิวเผิน คนที่ไม่รู้จักตัวเองจะทำอะไรกับตัวเองได้สักกี่มากน้อย ย่อมมีความผันผวนปรวนแปร จะวางแผนการอะไรให้ดำเนินงานตามแผนนั้นไม่ได้ เพราะทำไปไม่ได้เท่าไร ก็รู้สึกไม่พอใจก็ด้วยเหตุที่เมื่อตั้งต้นนั้นก็ไม่รู้แจ่มชัดว่าความต้องการคืออะไร
การแสดงศิลปกรรม เช่น ละครนั้น ในสมัยปัจจุบัน เราจะต้องตัดสินใจว่าแสดงให้ใครดู สิ่งที่เราไม่ค่อยได้รู้กันอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ทั้งที่การศึกษาของเราไม่ดีถึงขนาดหนัก เยาวชนของเราก็ฉลาดขึ้นในบางด้านมาก โดยเฉพาะในเรื่องการดูละครพูดหรือภาพยนตร์ ซึ่งในเรื่องนี้ ต้องได้รับการฝึกหัด เหมือนเด็กฝรั่งได้รับการฝึกหัดให้ดูละครเชกสเปียร์ และให้ดูบัลเลต์ ขณะเดียวกัน บัลเลต์ก็ปรับปรุงวิธีการทั้งในด้านแสงเสียงและขบวนการของนาฏศิลป์ให้เข้ากับสมัยการที่จะรักษาศิลปกรรมของชาติ และการดำรงความเป็นชาติไม่ว่าในด้านใดล้วนต้องอาศัยความพยายาม จะอาศัยการเรียกร้องเอาจากเพื่อนร่วมชาติด้วยการประณามไม่ได้ ทำนองถามว่าผู้เขียนบทความนี้เขียนทำไม คำตอบก็คือ เขียนเพื่อชักชวนให้เกิดความเข้าใจตนเอง เพื่อให้มีการร่วมมือร่วมใจกันดำรงศิลปะของชาติ ดำรงกับพัฒนานั้นจะแยกจากกันเสียมิได้ พัฒนาก็เพื่อดำรง และเพื่อที่จะดำรงก็ต้องพัฒนา แต่ก่อนที่จะทำอะไร ควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาตนเอง รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง ในที่นี้หมายถึงสังคมไทย เช่น ชาวพระนครต้องรู้จักชีวิตชาวเชียงใหม่ ชาวอิสาน ชาวปักษ์ใต้ และชาวภาคต่างๆ ก็เช่นกัน และเมื่อมีความจำนงจะให้เยาวชนนิยมในสิ่งใด ก็ต้องศึกษาความนึกคิดใจจิตของเยาวชน การแสดงละครต้องไม่แสดงไปกลางๆ เพื่อให้ถูกใจคนมีรสนิยมหลายๆ ชั้น ต้องทำให้ดีพอถูกรสนิยมของคนชั้นดีโดยคำนึงถึงความสะดวกของชีวิตเช่นเกี่ยวกับเวลา จำเป็นต้องใช้เวลาน้อย นี่ไม่เกี่ยวกับรสนิยมแต่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เราจำเป็นต้องกลับบ้าน มาอยู่ดูละครกันเป็นวันๆ คืนๆ ไม่ได้ สิ่งใดที่มีรสนิยมสูง สิ่งนั้นย่อมดึงดูดใจคนทุกชั้น เช่น วัดพระแก้ว วัดเบญจมบพิตร พระพุทธชินราช บัลเลต์ของฝรั่ง การพัฒนาศิลปะในสมัยนี้ต่างอาศัยหลักดังว่ามานี้
เท่าที่กล่าวมานี้ ยังไม่หมดจด ไม่แจ่มแจ้งดีนัก แต่แม้กระนั้นก็ทำให้บทความนี้ยืดยาวเกินไปแล้ว จึงจำเป็นต้องยุติไว้เพียงเท่านี้ ความประสงค์ของการเขียนก็เพื่อชักชวนให้ช่วยกันคิด หาใช่จะบอกเล่าเนื้อเรื่องเนื้อหา อาจเป็นประโยชน์มากกว่าการเงียบงัน ไม่มีเสียงของความคิดนึกอย่างใดในเรื่องจิตวิทยาสังคม ในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปกรรมการแสดง ซึ่งเรามักเรียกคลุมๆ ว่าละคร
ที่มา : บุญเหลือ เทพยสุวรรณ , ม.ล. “จิตวิทยาสังคม จากการแสดงละครใน ตอนศึกกะหมังกุหนิง.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 45 (28 เมษายน 2511),หน้า 21, 34-37.
______________________ . “จิตวิทยาสังคม จากการแสดงละครใน ตอนศึกกะหมังกุหนิง.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 46 (5 พฤษภาคม 2511), หน้า 19, 49-51.
______________________ . “จิตวิทยาสังคม จากการแสดงละครใน ตอนศึกกะหมังกุหนิง.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 47 (12 พฤษภาคม 2511), หน้า 19, 31-37.
บทวิเคราะห์
ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เกิดในราชตระกูลกุญชร เป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ตามคำบอกเล่าของท่านเอง โดยที่ได้พูดคุยกับผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับท่าน และดังที่ปรากฏในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ชื่อ ความสำเร็จและความล้มเหลว (พ.ศ. 2514) ท่านเป็นผลผลิตของการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ คือ ได้ซึมซับความรู้อันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านศิลปวัฒนธรรมจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว ประกอบกับได้รับการศึกษาตามแบบแผนตะวันตกจากโรงเรียนคอนแวนต์ที่เกาะปีนัง จึงกล่าวได้ว่า ท่านได้นำเอาจุดเด่นของการศึกษาทั้งของไทยและตะวันตกมาประสานกันอย่างมีเอกภาพ สำหรับการศึกษาในด้านอุดมศึกษานั้น เพื่อนร่วมรุ่นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านมีวุฒิภาวะทางความคิดอยู่ในระดับแนวหน้า และเมื่อได้ไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาด้านวิชาการศึกษา ท่านก็สามารถหลอมรวมประสบการณ์อันมั่งคั่งจากพื้นเพแบบไทยเข้ากับวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์แบบตะวันตกได้ การที่ท่านชอบวิพากษ์วิจารณ์ทั้งงานศิลปะและพฤติกรรมของเพื่อนร่วมยุคร่วมสมัยอาจทำให้ท่านต้องประสบความลำบากในการดำเนินชีวิตแบบข้าราชการ แต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการของท่านจัดได้ว่าเป็นยุคทองของพลังทางปัญญาทั้งในส่วนบุคคลและในส่วนที่เป็นหมู่คณะ เพราะเพียงแต่ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ท่านบุกเบิกวิชาอักษรศาสตร์ขึ้นใหม่ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ ท่านก็ได้สร้างงานด้านการวิจารณ์ที่ทรงคุณค่าเอาไว้ อันเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่นักวิชาการรุ่นหลังได้สร้างงานในแนววิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
บทวิจารณ์ชื่อ “จิตวิทยาสังคมจากการแสดงละครในตอนศึกกะหมังกุหนิง” เขียนขึ้นเมื่อปี 2511 อันเป็นช่วงที่ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ กำลังเริ่มงานบุกเบิกทางด้านวรรณคดีศึกษาและศิลปะวิจารณ์ขึ้นอย่างจริงจัง การวิจารณ์ละครในลักษณะนี้จัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ซึ่งผู้วิจารณ์ได้เปิดทางเอาไว้ เพราะในแวดวงของศิลปวัฒนธรรมไทยนั้นไม่นิยมหรือไม่กล้าวิจารณ์กันอย่างเปิดเผยและเป็นลายลักษณ์อักษร ม.ล.บุญเหลือ ไม่ลังเลที่จะให้ข้อวินิจฉัยที่เรียกได้ว่าเป็นอัตวิสัย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้เหตุผลอันหนักแน่น ประสบการณ์อันกว้างขวาง และหลักวิชาอันลุ่มลึกมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน แม้ในบางประเด็น ผู้อ่านบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็คงจะต้องยอมรับในข้อวินิจฉัยอันทรงปัญญาของนักวิจารณ์ท่านนี้ เป็นที่สังเกตได้ว่า แม้จะเริ่มต้นด้วยการวิจารณ์การแสดง แต่บทวิจารณ์นี้ก็จบลงด้วยข้อสรุปรวมทั่วไปที่มีนัยสำคัญต่อวงการศิลปวัฒนธรรมของไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างของการวิจารณ์ที่ดี ซึ่งขยายวงจากการวิจารณ์งานศิลปะเพียงชิ้นเดียวไปสู่ความคิดและหลักการที่มีผลกระทบในเชิงสังคมอย่างกว้างขวาง ข้อสรุปในตอนท้ายชัดเจนและหนักแน่น นั่นก็คือ ท่านเขียนงานวิจารณ์บทนี้ “เพื่อชักชวนให้เกิดความเข้าใจตนเอง” และวิธีการที่จะชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมสร้างกระบวนการเข้าใจตนเองของม.ล. บุญเหลือ นั้น จัดได้ว่าเป็นขั้นเป็นตอน มีตรรกะ และน่าจะนำไปปฏิบัติได้
ท่านกล่าวไว้อย่างชัดเจนแต่เริ่มแรกว่า ก่อนจะเขียนบทวิจารณ์นี้ ท่านได้ไปชมการแสดงแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งต่างจากนักวิจารณ์จำนวนมากในปัจจุบันซึ่งอาจจะไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบปฏิกิริยาของตนเองด้วยการชมการแสดงหลายครั้ง ในการวิจารณ์นั้น ม.ล.บุญเหลือ มองประเด็นรอบด้าน วิพากษ์ทั้งตัวแสดง โดยเฉพาะตัวเอก 2 คน ที่ท่านยกย่องว่าแสดงได้อย่างดีเยี่ยม นอกนี้ ท่านยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่าผู้ที่มีความสามารถสูงส่งเหล่านี้มักจะมีอยู่เป็นช่วงๆเท่านั้นในประวัติศาสตร์การละครไม่ว่าของประเทศใด เรื่องของดนตรีก็เช่นกัน ท่านมองว่าการฝึกฝนด้วยปรมาจารย์ของไทยต่อเนื่องกันมาทำให้การบรรเลงดนตรีมีคุณภาพ แต่ท่านก็อดไม่ได้ที่จะเตือนคณะผู้แสดงมิให้ตั้งอยู่ในความประมาทในกรณีที่มหาคุรุท่านนั้นอาจมีอันเป็นไปเมื่อใดก็ได้ (บังเอิญท่านผู้นี้มีอายุยืนยาวจนกระทั่งถึง 99 ปี : ผู้วิเคราะห์) ในด้านของการร้อง ม.ล.บุญเหลือ แสดงถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ควรร้องแบบใดในตอนใด เมื่อมาถึงเรื่องฉาก ผู้วิจารณ์ก็จำเป็นต้องให้ข้อวินิจฉัยว่าเป็นของใหม่ที่คณะผู้แสดงนำมาใช้เพื่อให้เข้ากับรสนิยมของคนดูยุคใหม่ ทั้งๆที่ขัดกับขนบของละครในซึ่งไม่ใช้ฉาก ณ จุดนี้ ม.ล.บุญเหลือ ยกประเด็นที่ท่านกำหนดไว้เป็นหัวเรื่องในเรื่องของจิตวิทยาสังคมออกมาอภิปรายโดยพิสดาร ท่านไม่ปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงไปจากขนบดั้งเดิม มิใช่เป็นสิ่งที่เสียหายเสมอไป แต่จำต้องกระทำจากพื้นฐานของความรู้ ในประเด็นนี้ ท่านไม่ลังเลที่จะติติงการปรับบทและตัดตอนบทเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแสดง ซึ่งในทัศนะของท่านทำให้เสียรส ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ การที่ผู้จัดการแสดงขาดความกระจ่างชัดในแง่ที่ว่า การแสดงครั้งนี้ต้องการจะสื่อกับผู้ชมกลุ่มใด จึงดูเคว้งคว้าง หาจุดยืนที่หนักแน่นไม่ได้ สิ่งที่พึงสังเกตก็คือ ผู้วิจารณ์มิใช่แต่เพียงติ แต่มีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องมิให้ยืดยาดเกิน ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการปรับใช้เพลงที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและลีลาของการดำเนินเรื่อง
จากการที่ผู้วิเคราะห์ได้เคยสนทนากับกลุ่มผู้กำกับการแสดงและผู้แสดงละครร่วมสมัยของไทยในขณะนี้ ฝ่ายผู้แสดงชอบที่จะเรียกร้องว่า นักวิจารณ์ควรจะมีความรู้ในด้านการละครไม่ด้อยกว่าหรืออาจดีกว่าผู้กับกับการแสดง ในแง่นี้ ม.ล.บุญเหลือดูจะตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ท่านเติบโตขึ้นมาในแวดวงของคณะละคร ซึ่งบิดาของท่านเองเป็นหัวหน้าคณะ แม้ว่าผู้รู้เคยกล่าวต่อผู้วิเคราะห์ว่า ม.ล.บุญเหลือไม่มีความสามารถในเรื่องนาฏศิลป์ แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ถึงแสดงไม่เป็นหรือแสดงได้ไม่ดี แต่ก็ดูเป็น และเมื่อดูเป็นแล้วก็วิจารณ์ตรงเป้า ประการที่สอง ความจัดเจนในด้านวรรณคดีเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการวิจารณ์การแสดงพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา เพราะท่านใช้กลวิธีในการอ่านละเอียด (close reading) ในการตีบทเพื่อให้เห็นว่าการตีความตัวบทที่ละเอียดลึกซึ้งเท่านั้นจะนำไปสู่การแสดงออกซึ่งบุคลิกภาพของตัวละครแต่ละตัวได้ การวิเคราะห์บทของนางจินตะหราที่ต่อว่าต่อขานอิเหนานั้น มีลักษณะเป็นตำราการแสดงละครประเพณีของไทยที่ลุ่มลึกอย่างหาที่เปรียบได้ยาก ทำให้เราเข้าใจได้ว่าละครกับวรรณคดีส่องทางให้แก่กันได้อย่างไร
จากการอ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้ เราได้ความรู้สึกที่ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีทัศนะกว้างขวางและกว้างไกล ดูละครเพียง 2 รอบ แต่สามารถโยงใยประสบการณ์นั้นเข้ากับพื้นฐานอันมั่งคั่งทางศิลปวัฒนธรรมของตนเอง และกับแนวคิดเชิงอุดมคติที่ต้องการจะเรียกร้องให้ของเก่าอันทรงคุณค่าดำรงอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในโลกสมัยใหม่ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การที่ม.ล.บุญเหลือนำเอาประสบการณ์จากการแสดงละครเรื่อง Othello ของเชกสเปียร์ โดยชาวอังกฤษในประเทศไทย มาอภิปรายเชื่อมโยงกับการวิจารณ์การแสดงอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง ก็เพื่อต้องการจะตอกย้ำว่า การแสดงละครคลาสสิกที่ก่อกำเนิดมาเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วเรียกร้องให้ผู้แสดงและผู้กำกับการแสดงต้องใช้จินตนาการย้อนกลับเพื่อที่จะหาความสมดุลระหว่างวัฒนธรรมต้นกำเนิดกับสภาวะของสังคมปัจจุบัน ในแง่นี้ ม.ล.บุญเหลือ แสดงความใจกว้างไว้อย่างน่าชื่นชมว่าการดูภาพยนตร์อย่างพินิจพิเคราะห์อาจจะช่วยให้เราเข้าใจถึงวิธีการการแสดงออกซึ่งอารมณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งก็มีอยู่ในละครพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เช่นกัน การที่เยาวชนสนใจภาพยนตร์จึงมิใช่อุปสรรคขัดขวางความเข้าใจที่จะมีต่อนาฏศิลป์แบบประเพณีของไทยเลย นักวิจารณ์ที่มีคุณลักษณะเชิงเสรีนิยมในทางศิลปะเช่นนี้จัดได้ว่าเป็นตัวอย่างอันพึงยึดถือ
เรื่องของจิตวิทยาสังคมที่ม.ล.บุญเหลือเอ่ยถึงจึงเป็นประเด็นท้าทายต่อทั้งศิลปิน นักวิชาการ นักวิจารณ์ และมหาชนที่จะต้องช่วยกันหาทางออกว่า จะทำอย่างไรให้งานศิลปะอันทรงคุณค่าที่สร้างขึ้นในอดีตยังคงสื่อสารกับสังคมปัจจุบันได้ และตัวผู้วิจารณ์เองก็ได้ชี้ให้เห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อย่างเป็นเหตุเป็นผล และอย่างมีหลักวิชาว่าคำตอบก็คือ การรู้จักตนเอง และทางไปสู่การรู้จักตนเองนั้นควรจะดำเนินไปในแนวใด เป็นที่น่าเสียดายว่า ตั้งแต่พ.ศ. 2511 มาจนถึงปัจจุบัน (2543) ไม่มีนักวิจารณ์กับนาฏศิลป์ไทยที่จะสานงานต่อจาก ศ. ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ อีกเลย สรรนิพนธ์ฉบับนี้จึงอาสาเข้ามาทำหน้าที่ขุดคุ้ยผลงานในอดีต (ที่หาใช่อดีตอันไกลโพ้นไม่) มาแสดงให้เห็นว่า การวิจารณ์เป็นพลังทางปัญญาให้แก่สังคมได้อย่างไร
เจตนา นาควัชระ : ผู้วิเคราะห์