มรดกของสุนทราภรณ์: ก่อน/กว่าจะถึง “ขอให้เหมือนเดิม – สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล”

มรดกของสุนทราภรณ์: ก่อน/กว่าจะถึง “ขอให้เหมือนเดิม – สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล”

ขอให้เหมือนเดิม

(Facebook สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล)

เจตนา นาควัชระ

เมื่อปี 2527  ผมได้เขียนบทความขนาดยาวขึ้นบทหนึ่งชื่อ “มรดกของสุนทราภรณ์: ข้อคิดเชิงวิจารณ์”  ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ฉบับเดือนมีนาคม 2527  บทความนั้นได้รับแรงกระตุ้นจากการแสดงดนตรีของวงสุนทรภรณ์ในรายการ “วันรำลึกถึงผลงานอมตะของเอื้อ  สุนทรสนาน” ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2527  แทนที่จะเขียนวิจารณ์การแสดงครั้งนั้นโดยเฉพาะ  ผมตัดสินใจที่จะตั้งประเด็นใหญ่ๆ ขึ้นมาอภิปรายซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นว่า ผลงานของกลุ่มสุนทรภรณ์เป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งในกรอบของพัฒนาการของดนตรีแนวไทยสากลในประเทศไทย  นอกจากนั้น  ผมตั้งคำถามไว้หลายข้อ  ซึ่งจงใจจะท้าทายผู้ที่อยู่ในวงการให้ตื่นตัวขึ้นรับรู้ปัญหา และแสวงหาแนวทางที่จะทำมิให้เพลงสุนทราภรณ์กลายเป็นประดุจวัตถุโบราณที่มีไว้สำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์  การโยนหินถามทางของผมในครั้งนั้นได้รับการตอบสนองทันทีทันควัน  มิใช่จากฝ่ายนักร้องหรือนักดนตรี  แต่กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายจัดการ (management: ซึ่งในปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งกว่าในปี 2527 มากนัก) กลับให้ความสนใจอย่างจริงจัง  ความจริงมีอยู่ว่าคุณอาภรณ์  สุนทรสนาน ภรรยาครูเอื้อ  สุนทรสนาน ได้อ่านบทความดังกล่าว (และที่ท่านทำเช่นนั้นก็มิใช่เพราะว่าท่านจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)  แล้วรีบส่งคนไปซื้อวารสารธรรมศาสตร์ฉบับนั้นมาแจกจ่ายให้นักดนตรี  นักร้อง และผู้ที่อยู่ในแวดวงสุนทราภรณ์ได้อ่าน  ซึ่งทำให้ผมเกิดกำลังใจขึ้นมาว่า  ผู้รับมรดก (ทั้งทางใจและทางกฎหมาย) จาก สุนทราภรณ์เป็นผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของความคิดเชิงวิจารณ์และวิเคราะห์ทางวิชาการ

ที่ผมเกริ่นมาอย่างยืดยาวถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2527 ก็เพื่อต้องการจะบอกกล่าวกับกลุ่มผู้รักสุนทราภรณ์เช่นเดียวกับผมว่า  เมื่อ 30 ปีที่แล้วฝ่ายจัดการมิใช่ฝ่ายที่ทำงานเชิงธุรกิจแต่เพียงถ่ายเดียว  แต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์  ผมจึงอยากจะเห็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นได้ในปี 2558  โดยที่บทความนี้จะไม่ให้น้ำหนักกับการวิจารณ์การแสดงละครเพลง ขอให้เหมือนเดิม: สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล แต่จะเป็นการยกประเด็นหลักๆ ที่มีนัยทั้งในเชิงสุนทรียภาพ และในเชิงของการจัดการขึ้นมาอภิปราย  จะขออนุญาตทวนความจำว่า  ผมได้ตั้งประเด็นอะไรไว้บ้างในบทความ “มรดกของสุนทราภรณ์” (ภาค 1) ปี 2527

ก่อนอื่นผมย้ำการประเมินคุณค่าที่ว่า  กลุ่มสุนทราภรณ์ดั้งเดิมตั้งมาตรฐานในการแต่งเพลง  ในการบรรเลงและในการขับร้องไว้สูงมาก  และศิลปินในรุ่นนั้นก็เป็นผู้ที่มีความสามารถอยู่ในระดับที่จะแสดงออกซึ่งอัจฉริยภาพของผู้สร้างงานคีตศิลป์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่  จริงอยู่ครูแก้ว  อัจฉริยะกุล ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่าเพลงบางเพลงที่ท่านกับครูเอื้อแต่งขึ้นนั้น  ยังไม่มีใครร้องได้ถูกใจเลย  หมายความว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์มีความคิดเชิงอุดมคติ และจงใจสร้างงานอย่างสุดฝีมือเพื่อจะไปให้ถึงอุดมคตินั้น  แต่ท่านยังไปไม่ถึง ครูแก้วเอ่ยถึงเพลง “ขอพบในฝัน” ไว้เป็นตัวอย่าง  ผมจึงลงท้ายบทความปี 2527 ด้วยประโยคต่อไปนี้ “มรดกที่ยิ่งใหญ่ของ ‘สุนทราภรณ์’ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายให้คนรุ่นใหม่แสวงหาความหมายและคุณค่าของงานได้อย่างไม่รู้จบ  คำท้าของเราคือ ‘จงเล่นเพลงสุนทรภรณ์’ ให้ดีกว่า ‘สุนทราภรณ์’ เอง”[1]

การที่ผมตั้งประเด็นท้าทายไว้เช่นนั้นก็เพราะสังเกตได้ว่า  วงการของสุนทรภรณ์มีทีท่าที่จะตกลงสู่ห้วงของการเจริญพันธุ์ในหมู่เครือญาติ (inbreeding) ในทางศิลปะ  มีวงดนตรีวงไหนในโลกที่เล่นแต่เพลงของตนเองแล้วก้าวไปข้างหน้าได้ในทางศิลปะ  การเชื้อเชิญ “คนนอก” หรือศิลปินจาก “วงนอก” เข้ามาร่วมงานด้วย  หรือการยอมให้นักร้องและนักดนตรีกลุ่มอื่นนำเพลงสุนทราภรณ์ไปบรรเลงจึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

ความคิดของผมในตอนนั้นเป็นไปในแนวทางที่ต้องการจะนำการวิจารณ์และวิชาการเข้ามาสนองงานของกลุ่มสุนทราภรณ์อย่างเป็นระบบ  แต่การเขียนวิจารณ์และการสร้างงานวิชาการแต่อย่างเดียวก็คงจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันใดได้  จึงจะต้องมีการทดลองภาคปฏิบัติควบคู่ไปด้วย

ประเด็นสุดท้ายที่ผมพยายามจะเน้นในบทความดังกล่าวก็คือ  เรื่องของ “พระเจ้าทั้งห้า”  ซึ่งดูจะมีการมองข้าม “พระเจ้าที่หก” ไปอย่างน่าเสียดาย  ซึ่งพระเจ้าที่หกก็คือ มหาชน นั่นเอง  ถ้าไม่มีผู้ฟัง เพลงสุนทราภรณ์จะอยู่ได้อย่างไร  ถ้ามีผู้ฟังที่เป็นกลุ่มว่านอนสอนง่าย รวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่มแล้วทำตัวราวกับผู้เชื่อถือโชคลาง  ศิลปะก็ย่อมจะเจริญไม่ได้  จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางสร้างผู้ฟังหรือมหาชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีวิจารณญาณ สามารถแยกแยะได้ระหว่างสิ่งที่มีคุณภาพกับสิ่งที่ไม่มีคุณภาพ  เพราะก็เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ฝีมือของทั้งนักร้องและทั้งนักดนตรีรุ่นหลังคงจะมิอาจทาบได้กับกลุ่มบุกเบิก ซึ่งมารวมตัวกันเมื่อปี 2482  รวมทั้งผู้ที่เข้ามาร่วมทางในระยะหลัง  ในยุคที่วงดนตรีกรมโฆษณาการ/กรมประชาสัมพันธ์ ยังถูกกำหนดให้ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นทุกวัน  วันละหลายชั่วโมง ที่อาคารหลังเก่าของห้างแบดแมนแอนด์โก เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา  ในยุคนั้นราชการคือฝ่ายจัดการของวงดนตรี  ซึ่งมิใช่องค์กรที่หวังผลกำไร  การจัดการในยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งประเด็นนี้ผมไม่ได้ให้ความชัดเจนเอาไว้ในบทความดังกล่าว

เมื่อผมกลับมาพิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา  ผมก็คงจะกล่าวได้ว่ามีผู้อาสาเข้ามารับคำท้าดังกล่าวอย่างแน่นอน  ผมคงไม่อาจจะแจกแจงได้หมดว่าใครเป็นใคร  แต่จะขอยกตัวอย่างเด่นๆ ขึ้นมาอภิปราย  ในปี 2531 ศิษย์ของสุนทราภรณ์ คือ ทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ได้จัดตั้งกลุ่มนักร้องและนักดนตรีขึ้นโดยให้ชื่อว่า “เยื่อไม้”  และนำเพลงสุนทรภรณ์มาเรียบเรียงใหม่และตีความใหม่  ซึ่งผมไม่ลังเลที่จะออกมาขานรับแนวทางบุกเบิกของนักร้องและนักดนตรีกลุ่มนี้  ดังที่ผมได้วิเคราะห์ไว้โดยพิสดารในบทความชื่อ  “‘เยื่อไม้’มิติใหม่ของเพลงสุนทราภรณ์” ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ รวม 2 ฉบับ คือฉบับวันที่ 16 และ 22 ตุลาคม 2531  ผมตื่นเต้นมากกับนวัตกรรมในครั้งนั้น  และก็ไม่ลังเลที่จะยกย่อง “คนใน” ของสุนทราภรณ์ที่แหวกตัวออกมาสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้กับเพลงสุนทราภรณ์ได้  ดังข้อความที่ว่า “วงเยื่อไม้ (ที่)ได้สร้างคุณูปการต่อวงการดนตรีสากลของไทยด้วยการเสนอผลงานของสุนทราภรณ์ในรูปของการตีความใหม่  ที่บ่งบอกถึงความสามารถในทางคีตศิลป์และสติปัญญาที่ล้ำลึก  โดยเฉพาะทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ของครูเอื้อ  เขาได้บูชาครูด้วยวิธีที่ดีที่สุดแล้ว คือนำงานของครูมาตีความใหม่ เรียกได้ว่าเป็นการคิดเลยครูออกไป  โดยที่มิใช่เป็นการนอกครูหรือล้างครู”[2]

เยื้อไม้ 2

(ปกซีดีเยื้อไม้ ๓ บานเช้า)

          ในขณะเดียวกันผมก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่า  เมื่อมาได้ไกลถึงขนาดนี้แล้วจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร  โดยเฉพาะนักร้องหนุ่มสาวในชุดนั้น คือ อรวี  สัจจานนท์ และ วิระ  บำรุงศรี  ซึ่ง“เป็นนักร้องที่มีศักยภาพมหาศาล  ถ้าได้ฝึกปรือศิลปะในการร้องเพลงของตนต่อไปอย่างเป็นระบบ  ก็จะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ได้”[3] แต่ผมก็อดสังหรณ์ใจไม่ได้ว่า  การที่เขาจะไปรอดหรือไม่คงมิได้เกี่ยวกับความสามารถในระดับบุคคล  เพราะ “ภัยพิบัตินั้นมาถึงได้ในทุกเวลา  ในทุกรูปแบบ ในสังคมผู้บริโภคอันน่าสะพรึงกลัวของเรา”[4] ผู้สนใจดนตรีก็คงจะทราบดีว่าอะไรเกิดขึ้นกับหนุ่มสาวคู่นี้ และก็กำลังเกิดขึ้นกับวงการดนตรีในบ้านเรา ในยุคที่เงิน สื่อ และเทคโนโลยีจับมือกันอย่างเหนียวแน่น

นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกก็คือ  การนำเพลงสุนทราภรณ์ไปเรียบเรียงใหม่เพื่อให้บรรเลงด้วยวงซิมโฟนี  ในด้านนี้ อาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ  จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างคุณูปการอันมหาศาลไว้ให้แก่วงการเพลงสุนทรภรณ์ (ผมคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง “เบื้องหลังการถ่ายทำ” ว่า  การเจรจาทางธุรกิจนั้นมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด)  แผ่นซีดี “BSO PLAYS SUNTARAPORN” และการแสดงสดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2554 ณ หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เรียกได้ว่าเป็นการดึงเอาโครงสร้างลึกของเพลงสุนทรภรณ์ขึ้นมาตีแผ่ให้เห็นประจักษ์  เพราะครูเอื้อนั้นเป็นศิษย์ของโรงเรียนพรานหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้น  และเล่นไวโอลินแนวหนึ่งในวงดนตรีกรมศิลปากรเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 16 ปี ก่อนจะผันตัวมาตั้งวงบิ๊กแบนด์ให้กับกรมโฆษณาการ อาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ  ซึ่งเป็นทั้งผู้เรียบเรียง วาทยกร และผู้ขับร้องในบางเพลง ได้พาสุนทราภรณ์กลับไปสู่ต้นกำเนิดที่โรงเรียนพรานหลวงได้อย่างงามงด  ผมได้เขียนบทวิจารณ์การแสดงครั้งนั้นไว้แล้วในบทความชื่อ “บี.เอส.โอ. บรรเลงสุนทราภรณ์: จาก ‘ตื่นใจ’ ไปสู่ ‘จับใจ’: เมื่อไรจะไปถึง ‘ครองใจ’” ลงใน กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2554 และก็ได้วิเคราะห์การขับร้องของนักร้องทั้งจาก “วงนอก” และ “วงใน” เอาไว้แล้ว  สำหรับนักร้องจากวงนอกนั้น  ผมคงต้องขออนุญาตกล่าวถึงกรณีของ สุภัทรา โกราษฎร์ ที่ร้องเพลง “ยามร้าง” ไว้ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง  ผมพร้อมที่จะกล่าวว่า สุภัทราคือนักร้องจากวงนอกที่ตีความเพลงสุนทราภรณ์ได้อย่างลึกซึ้งที่สุด  โดยมิได้ลอกเลียนนักร้องต้นแบบ  แต่แสวงหาแนวทางอันเป็นของตนเองที่ทำให้แฟนสุนทราภรณ์พันธุ์แท้อย่างผมยอมรับโดยดุษณี  อย่าว่าแต่เพลงแนวโรแมนติก เช่น “ยามร้าง” เลย  แม้แต่เพลงปลุกใจหรือเพลงประเภทคำสอน เช่นเพลง “พลเมืองดี” และ “พุทธศาสน์คู่ไทย” นั้น  เธอก็ร้องได้อย่างมีชีวิตชีวา  ทำให้คำสอนเปี่ยมด้วยสุนทรียภาพได้ด้วย  ที่ผมตั้งคำถามว่า เมื่อไรจะไปถึงการ “ครองใจ”นั้น  ผมอาสาตอบเสียเองก็ได้ว่าจะต้องสนับสนุนให้การ “ทำเพลง” สุนทราภรณ์ในแบบนี้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  ผมจบบทความดังกล่าวด้วยประโยคสุดท้ายว่า “ผมกำลังรอคอย บี.เอส.โอ. บรรเลงสุนทราภรณ์ ชุดที่ 2 และ ชุดที่ 3 อยู่”[5]  เวลาผ่านไปใกล้จะ 4 ปีแล้ว ยังไม่เห็นแววแม้แต่ชุดที่ 2 เมื่อได้ไปฟังอาจารย์นรอรรถบรรยายเรื่อง “การเรียบเรียงเพื่อวงซิมโฟนี”  ในการสัมมนาดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการครั้งที่ 4 ซึ่งศาสตราจารย์ณัชชา  พันธุ์เจริญเป็นผู้จัดขึ้น  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558  ก็ยิ่งทึ่งกับความประณีตและความเข้าใจที่มีต่อพื้นฐานทางความคิดและการสร้างสรรค์ของเพลงไทยสากลเป็นอย่างยิ่ง  สรุปได้ว่าศิลปินพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างงานที่มีคุณภาพ  แต่ฝ่ายจัดการดูจะไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อเรื่องของการสร้างนวัตกรรมเลย  ผมไม่คิดว่าปัญหาอยู่ที่ทุน  อาจเป็นเรื่องของใจที่ไม่เปิดมากกว่า

นรอรรถ สุทราภรณ์

(ปกซีดี BSO Plays Suntraporn)

ในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการ  พวกผมแฟนพันธุ์แท้ของสุนทราภรณ์ทราบตระหนักดีอยู่เสมอว่า  ครูเอื้อและเพื่อนร่วมงานของท่านเป็นผู้มีวิชา  จะเข้าใจท่านให้ถึงแก่นก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเลี่ยงไม่ได้  วิธีที่ง่ายที่สุดในขั้นเริ่มต้นก็คือ  เชื้อเชิญและชักชวนให้ท่านได้อภิปรายกระบวนการสร้างสรรค์ของท่านในลักษณะที่เป็นวิชาการ  และพวกเราก็ไม่ผิดหวัง  เมื่อครูเอื้อ  สุนทรสนาน และครูแก้ว  อัจฉริยะกุลพร้อมที่จะเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยที่ติดกับเล้าหมูที่จังหวัดนครปฐม  เพื่อร่วมอภิปรายเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ของท่าน  เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2522  วันนั้นเป็นวันประวัติศาสตร์  เพราะท่านทั้งสองกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังไม่เคยมีใครเชิญท่านให้มาสัมมนาในลักษณะนี้เลย  ประเด็นต่างๆ ที่ท่านยกขึ้นมาเป็นการชี้ทางไปสู่การศึกษาค้นคว้าในเชิงลึกได้ทั้งสิ้น  เช่น เมื่อผมถามครูเอื้อว่า  การที่ท่านสร้างผลงานได้กว่าพันเพลงนั้น  ท่านคิดทำนองขึ้นได้อย่างไร  คำตอบของท่านให้ความสว่างแก่พวกเราอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ท่านพูดง่ายๆ ว่า  การเป็นนักดนตรีของท่านเป็นการสั่งสมประสบการณ์ทางดนตรีที่กว้างขวางมาก  เพราะวงดนตรีของกรมศิลปากรที่พระเจนดุริยางค์เป็นผู้กำกับวงนั้น  บรรเลงเพลงทุกประเภท  ไม่ใช่แต่เฉพาะเพลงคลาสสิกตะวันตกเท่านั้น  แต่รวมไปถึงเพลงของชาติต่างๆ ที่เรียบเรียงมาสำหรับให้วงซิมโฟนีบรรเลง  ทุนดั้งเดิมเหล่านี้เป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลที่ท่านใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด  ท่านมิได้ลอกเลียนของเก่า  แต่ท่านคิดใหม่ได้จากต้นทุนทางดุริยางคศิลป์ที่ว่านี้  สำหรับครูแก้วนั้น  ท่านได้ให้อรรถาธิบายโดยละเอียดถึงเรื่องการแต่งเนื้อร้องให้เข้ากับทำนองเพลง  โดยไม่ทำให้เสียงวรรณยุกต์เพี้ยนไปจากแบบแผนของไทย  วิธีการแต่งเพลงที่แต่งทำนองก่อนแล้วใส่เนื้อร้องภายหลังเป็นกระบวนการที่ยากยิ่ง  ศิลปินทั้งสองท่านต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด  ต้องรู้จักกำหนดมโนทัศน์หลักร่วมกันและตกลงกันให้ได้ในเรื่องของอารมณ์เพลง  สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นประเด็นที่จนบัดนี้นักวิชาการทางดนตรียังไม่ได้ศึกษาไปจนถึงขั้นที่จะได้ข้อสรุปรวมและทฤษฎี  ผมได้เคยพูดถึงการศึกษาค้นคว้าที่อาจเรียกได้ว่า “Suntaraporn Studies” เอาไว้ในบทความเรื่องมรดกของสุนทรภรณ์  เป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายจัดการของสุนทราภรณ์จะคิดเป็นวิชาการสักครั้ง และให้ทุนวิจัยในด้านนี้บ้าง

การที่ได้สัมภาษณ์สดปรมาจารย์ทั้งสองท่านเป็นเวลานานถึงเกือบ 4 ชั่วโมง  ทำให้พวกเราได้รับแรงบันดาลใจอันมหาศาลที่ชวนให้เราคิดต่อได้อย่างไม่รู้จบ  การจัดสัมมนา “สุนทราภรณ์วิชาการ”  ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2523 ณ ห้องประชุม  หอสมุดแห่งชาติ  ท่าวาสุกรี  เป็นผลมาจากแรงกระตุ้นโดยตรงจากปรมาจารย์ทั้งสอง  เอกสารที่ตีพิมพ์หลังจากนั้นเป็นพยานที่เป็นรูปธรรมว่า  เราไม่ต้องปรับเรื่องของเพลงสุนทราภรณ์ให้เป็นวิชาการ  งานของกลุ่มสุนทราภรณ์มีรากฐานวิชาการอยู่แล้ว  เมื่อกลับไปดูเอกสารรวมบทความจากการสัมมนาก็เห็นได้ว่า  นักวิชาการรุ่นบุกเบิกด้าน “สุนทราภรณ์ศึกษา” มองงานของสุนทราภรณ์ไว้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง  ยกตัวอย่างบทความที่เกี่ยวกับ “พื้นฐานดนตรีคลาสสิก” เป็นงานของอาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ (จากราชภัฏบ้านสมเด็จฯ : ผู้ล่วงลับไปแล้ว)  “พื้นฐานดนตรีไทยเดิมและพื้นบ้าน” ผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์ นพ. พูนพิศ  อมาตยกุล  และ “พื้นฐานดนตรีแจ๊ส” เป็นผลงานของอาจารย์สุกรี  เจริญสุข  นานก่อนที่ศาสตราจารย์ณัชชา  พันธุ์เจริญจะคิดเรื่องการวิจัยด้าน “ดนตรีสร้างสรรค์เชิงวิชาการ” ขึ้นมา  เราได้ขอให้นักดนตรีและนักร้องของสุทราภรณ์เอง คือครูสมาน  นภายน เสนอบทความในหัวข้อ “การตีความในการบรรเลง” และศิษย์สายตรงของสุนทราภรณ์ คือศิลปินแห่งชาติ  เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี เสนอบทความทางวิชาการไว้ ในหัวข้อ “การตีความในการขับร้อง”  แต่เราก็ต้องรอไปจนถึงปี 2554 กว่าจะได้จัด “สุนทราภรณ์วิชาการ ครั้งที่ 2” ขึ้น  ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554  ในครั้งนี้ปรมาจารย์ด้านดนตรีคลาสสิก ศาสตราจารย์ณัชชา  พันธุ์เจริญ ได้มาร่วมวิเคราะห์ผลงานของนักร้องสุนทราภรณ์ไว้อย่างลึกซึ้ง  และในที่สุด เราก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับเบื้องหลังของการสร้างนวัตกรรมของ ทรงวุฒิ  จรูญเรืองฤทธิ์  ซึ่งรับมาบรรยายเรื่อง “ไม่ใกล้ ไม่ไกล: เยื่อไม้ ศิษย์สุนทราภรณ์” ด้วยตนเอง  ผู้ที่สนใจการแสดงก็ได้มีโอกาสชมการซ้อมการแสดงดนตรีของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ในรายการ “บี.เอส.โอ. บรรเลงสุนทราภรณ์” กล่าวได้ว่า  ถ้าใส่ใจที่จะศึกษางานของสุนทราภรณ์แล้ว  ก็มีงานทางวิชาการที่จะให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง

เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล

(รายงานการสัมมนามัณฑนาวิชาการ)

ในส่วนที่เกี่ยวกับการวิจัยนั้น  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีผู้บริหารที่มีความสนใจกว้างขวางมากและพร้อมที่จะรับการสร้างสรรค์งานศิลปะไว้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยที่ได้รับทุนส่งเสริมในกรอบของการวิจารณ์สังคีตศิลป์  พวกผมแฟนพันธุ์แท้สุนทราภรณ์จึงแทรกตัวเข้าไปในหมู่ของนักวิจัย และเริ่มต้นกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง  โดยใช้งานเพลงของสุนทราภรณ์เป็นเนื้อหา  ทั้งนี้มีการเน้นผลงานของนักร้องระดับแนวหน้าของสุนทราภรณ์  เริ่มต้นด้วยการสัมมนา “มัณฑนาวิชาการ” เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2543 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร  วังท่าพระ  หนึ่งในบรรดาวิทยากรซึ่งร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ศิลปะการขับร้องของมัณฑนา  โมรากุล”  คือศิลปินแห่งชาติ รวงทอง  ทองลั่นธม  ผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า  นักร้องรุ่นหลังเรียนรู้จากนักร้องรุ่นพี่อย่างไร  และก็สามารถที่จะวิเคราะห์งานของรุ่นพี่ได้อย่างเป็นวิชาการ สำหรับรายการ “เพลงของมัณฑนา  โมรากุล ในทัศนะของคนรุ่นใหม่”  หนึ่งในวิทยากรคือ สุภัทรา  โกราษฎร์  ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการวิเคราะห์เชิงวิชาการนั้นเป็นรากฐานของการตีความใหม่ของเธอเองอย่างไรในรายการแสดงดนตรีที่เราตั้งชื่อว่า “เบิกฟ้า มัณฑนา โมรากุล” กำลังใจที่ได้จากการสัมมนาครั้งแรกจึงนำไปสู่การสัมมนาครั้งที่ 2 อันเป็นเรื่องของ “เพ็ญศรีวิชาการ” จัดขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  เมื่อวันที่  13 พฤศจิกายน 2548

เพ็ญศรี พุ่มชูศรี คีตศิลปิน

(รายงานสัมมนาเพ็ญศรีวิชาการ)

ในการสัมมนาครั้งนี้ นพ. พูนพิศ  อมาตยกุล ได้ให้ทัศนะอันกว้างไกลไว้ในบทความชื่อ “อิทธิพลของเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี ที่มีต่อเพลงไทยสากล”  สำหรับรายการครั้งที่ 3 คือ “รวงทองวิชาการ” จัดขึ้นที่หอประชุม  มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ  เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2550 ได้มีการทดลองจัดชั้นเรียนตัวอย่าง (master class) ขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยเชิญรวงทอง  ทองลั่นธม  เป็นวิทยากร เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า  ศิลปินแห่งชาติผู้มีความเชี่ยวชาญในเชิงปฏิบัติอยู่ในฐานะที่จะถ่ายถอดวิชาได้อย่างเป็นระบบในช่วงระยะเวลาอันสั้น  ผมเองได้เคยเข้าสังเกตการสอน master class ของนักร้องและนักดนตรีระดับโลกมาแล้วในยุโรป และก็ต้องยอมรับว่าวิทยากรของไทยเราถ่ายทอดหลักวิชาได้ชัดเจนไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะเหนือกว่าศิลปินระดับแนวหน้าของยุโรปเสียด้วยซ้ำ

รวงทอง

(ชั้นเรียนตัวอย่าง: รวงทอง ทองลั่นทม)

“บทโหมโรง”ข้างต้นนี้ออกจะยาวไปสักหน่อยสำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการจะทราบว่า  ผมคิดอย่างไรกับ ขอให้เหมือนเดิม: สุนทรภรณ์เดอะมิวสิคัล คำตอบก็คือว่า  วงการสุนทราภรณ์มีองค์ความรู้และประสบการณ์อันกว้างขวางและลึกซึ้งเป็นกรอบและเป็นฐานอยู่  เราจึงมิอาจพิจารณามิวสิคัลเรื่องสุดท้ายในฐานะปรากฏการณ์ที่เป็นอิสระได้  แม้แต่ในประเด็นที่เกี่ยวกับการนำเพลงสุนทราภรณ์มาประกอบสร้างให้เป็นมิวสิคัลในครั้งนี้ก็เป็นลำดับที่ 5 แล้ว  ประเด็นที่สำคัญก็คือว่า  เราจะวางขอให้เหมือนเดิมฯ ไว้ ณ ที่ใดจึงจะเหมาะสม  ผมต้องสารภาพว่าผมได้ชม สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล มาก่อนหน้านี้เพียง 3 เรื่อง แต่ก็พร้อมที่จะยอมรับว่า  ความจัดเจนของนักร้อง นักแสดง อยู่ในระดับที่สูงขึ้นในรายการครั้งล่าสุดนี้อย่างแน่นอน  ทั้งๆ ที่นักแสดงส่วนหนึ่งเพิ่งจะได้สัมผัสกับสุนทราภรณ์ในรูปของมิวสิคัลเป็นครั้งแรก  สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดก็คือความสามารถในการร้องเพลงของนักแสดงทั้งคณะ  จุดแรกที่ทำให้ผมทึ่งก็คือตอนที่ตัวประกอบผ่ายชาย 3 คนออกมาร้องเพลง “คู่ทาส”  ร่วมกันและสลับกันไปมา  ใครก็ตามที่สามารถไปเสาะแสวงหานักร้องหนุ่มมาพร้อมกัน 3 คน  และกำกับให้เขาร้องเพลงสุนทราภรณ์ที่ยังเป็นสุนทราภรณ์อยู่โดยไม่ได้ลอกเลียนต้นแบบควรจะได้รับการแสดงความยินดี  แม้ท้องเรื่องและฉากที่เป็นอู่ซ่อมรถขนาดเล็กๆ ของพระเอกดูจะไม่ใช่พื้นหลังที่เอื้อให้เพลงนี้มีความหมายขึ้นมามากนัก  แต่ความเป็นดนตรีของชายหนุ่มทั้งสามทำให้เราถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทางคีตศิลป์อย่างมิอาจปฏิเสธได้  สำหรับพระเอกและนางเอกนั้น  แม้จะไม่ใช่นักร้องในระดับแนวหน้า (แม้แต่ในกรอบของละครเพลงเรื่องนี้) แต่ก็สามารถใช้เพลงในการสร้างอารมณ์  โดยเฉพาะอารมณ์โศก  ได้อย่างน่าประทับใจ  ผมเข้าใจดีว่าพวกเขาต้องทำงานหนักเพียงใดกว่าจะเรียนเพลงเหล่านี้ได้  เพราะเพียงแค่ท่องเนื้อให้ได้ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว  เพราะนี่คือวรรณศิลป์ชั้นสูงแห่งศตวรรษที่ 20  ผมคงไม่มีโอกาสที่จะแจกแจงการแสดงของตัวละครทั้งหมด  แต่ถ้าจะให้เน้นไปที่ความเข้มข้นในการขับร้องแล้วละก็  ผมไม่ลังเลเลยที่จะให้คะแนนสูงสุดต่อพุทธธิดา  ศิระฉายา  ผู้ซึ่งสามารถตีความเพลงสุนทราภรณ์ได้อย่างลึกซึ้ง  เหมาะกับบทและเหมาะกับลักษณะของเพลงที่เธอร้อง (ผมคงจะไม่เหมาเอาว่าพ่อ-แม่เธอสอนมาดี)  โดยเฉพาะเพลง “คำรำพัน” นั้น  ผมคิดว่าเธออยู่ในระดับน้องๆ ของเพ็ญศรี  พุ่มชูศรี ทีเดียว

แต่ความหฤหรรษ์ที่ผมได้จากการฟังการขับร้องของพุทธธิดาก็ถูกกระทบอย่างรุนแรงและสาหัสด้วยสิ่งที่ผมเห็นบนเวที นั่นคือ  มีการทำบทให้จูดี้ถูกหมายปองจากสาวเลสเบี้ยน  ซึ่งไม่เพียงจะพยายามโอ้โลมปฏิโลมเธอด้วยวาจาเท่านั้น แต่ยังมีการแทะโลมเธอทางกายภาพไปพร้อมกันด้วย  นั่นคือจุดบอดที่มืดสนิทที่สุดของการแสดงครั้งนี้  เพราะผู้สร้างบทและผู้กำกับการแสดงพยายามจะเอาใจคนดูมากเกินไป  โดยที่เชื่อว่าพวกเขาต้องการจะมาผ่อนคลายอารมณ์ด้วยความสนุกสนานที่มาจากอารมณ์ขันบนเวที  ซึ่งถูกบังคับให้เกิดขึ้นตลอดเวลา  โดยไม่พิจารณาว่าช่วงใดเหมาะที่จะแสดงอารมณ์ขัน  ช่วงใดเหมาะสำหรับอารมณ์ในลักษณะอื่น  อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายหนักก็คือ ตอนท้ายที่พระเอกร้องเพลงนำของเรื่องในฉากที่ดูจะสร้างอารมรณ์โศกซึ้งได้เป็นอย่างดี  ทันที่ทันใดพระเอกก็ขัดจังหวะตัวเองขึ้นมาว่า “ขอเช็ดขี้มูกหน่อย”  กลวิธีแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใช้ในประสบการณ์ทางศิลปะของไทยเลย  แต่ความพอเหมาะพอดีเป็นเรื่องที่ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงจะต้องไตร่ตรองมาให้ดีเสียก่อน  ลองกลับไปอ่าน ขุนช้างขุนแผน  โดยเฉพาะตอนประหารนางวันทอง  กวีต้นรัตนโกสินทร์สามารถแทรกอารมณ์ขันเข้ามาในช่วงที่เรื่องกำลังดำเนินไปสู่จุดโศกสลด  ทั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขับเสภาได้แสดงออกซึ่งความสามารถในการเปลี่ยนอารมณ์จากโศกไปเป็นขำขัน และกลับมาเป็นโศกได้อีก ถือได้ว่าเป็นหลักการในทางสุนทรียศาสตร์ที่อธิบายได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ  การแสดงละครเรื่อง จุฬาตรีคูณ ฉบับดั้งเดิมที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อปี 2494  เมื่อผู้ชมละครยุคนั้นชอบให้มีการเปลี่ยนอารมณ์  ผู้กำกับการแสดงก็ยกฉากสั้นๆ ให้กับ “ล้อต๊อก” และคณะไปเลยทั้งฉาก  ซึ่งจำอวดไทยสมัยก่อนรู้จักที่จะสร้างอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียนต้นแบบ (parody) แม้ละครจะดำเนินไปได้เพียงครึ่งทาง  แต่ก็มีเนื้อหาพอที่จะนำมาล้อเลียน  นั่นเป็นตลกที่มีหลักการทางสุนทรียศาสตร์  แต่การใช้อารมณ์ขันที่ปราศจากหลักการใดๆ ดูจะเป็นเรื่องที่ผู้ดูผู้ชมยุคปัจจุบันมิได้รังเกียจ  กลับพึงพอใจเสียด้วยซ้ำ  ละครเวทีตะวันตกโดยเฉพาะละครเวทีเยอรมันบางครั้งก็ตกหลุมพรางนี้เช่นกัน  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการสำคัญผิดว่า การบังคับให้นักแสดงต้องแสดงออกถึงความงี่เง่า (insipidity) คือการสร้างอารมณ์ขัน (humour) ที่ผมเอ่ยถึงเพลง “คำรำพัน” มาเป็นตัวอย่างนั้นก็เพราะเพลงนี้มีความลึกซึ้งทางอารมณ์อันหาที่เปรียบได้ยาก  ละครจึงไม่ควรเบียดคีตศิลป์ให้ตกเวทีไปอย่างง่ายดายเช่นนั้น  เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่า  นี่คืองานของนักแต่งเพลงของเอเชียคนแรกที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก  จะพาครูเอื้อกลับไปหาความเป็นชาวบ้านของ “วัฒนธรรมอัมพวา” ก็ควรจะมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้  ไม่ควรจะเที่ยวแวะเวียนไปตามตลาดน้ำรายทางด้วยวิธีที่อาจเรียกได้ว่าดำเนินสะดวกจนเกินไป

ไหนๆ ก็จะสร้างละครแนวตะวันตกกันแล้ว  ก็น่าจะได้ไปปรึกษาผู้รู้ทางการละครซึ่งก็มีอยู่ในหลายสถาบัน  ประเด็นที่ว่าด้วยการแยกประเภทของละครออกเป็นโศกนาฏกรรมและละครชวนหัวเป็นทฤษฎีที่มีการถกเถียงและศึกษากันมาก  โดยมีผู้อ้างต้นแบบของกรีก  ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาในยุคคลาสสิกของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17  แต่กลุ่มโรแมนติกของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 กลับหาทางไปอิงและตีความเชกสเปียร์เข้าทางตนเองว่า  หลักการของยุคใหม่คือ การเอาอารมณ์โศกกับอารมณ์ขันมาปะปนกันนั้น  ซึ่งก็ยังถือได้ว่าเป็นหลักการที่มิได้ทิ้งความพอเหมาะพอดีไปเสียจนหมด  ถ้ากลับไปดูละครของเชกสเปียร์เองก็จะเห็นได้ว่า เชกสเปียร์เข้าใจที่จะวางจังหวะของการปรับเปลี่ยนอารมณ์ระหว่างอารมณ์โศกกับอารมณ์ขันอย่างมีศิลปะ  บางครั้งใช้อารมณ์ขันไปในการเสริมแนวคิดเชิงปรัชญาเสียด้วยซ้ำ เช่น ให้ตลกหลวงพูดจาตลกขบขันเตือนสติพระราชาที่หลงผิดมองไม่ออกว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู  ดังเช่นในบทละครเรื่อง King Lear

ข้อสรุป ณ ที่นี้ก็คือว่า เชื้อไฟของศิลปะอันยิ่งใหญ่ของสุนทราภรณ์อันจะเป็นประทีปนำทางให้แก่คนรุ่นใหม่ได้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ให้ดี  หาไม่ไฟจะลวกมือ  คงจะต้องไม่ลืมว่าองคนิพนธ์ (repertoire) ของกลุ่ม
สุนทราภรณ์มีอยู่ร่วม 2,000 เพลง  ถ้ารู้จักเลือก ก็จะนำมาร้อยเรียงเป็นละครแบบไหนก็ได้  ครูแก้ว  อัจฉริยะกุล เคยนำเพลงสุนทราภรณ์มาผูกร้อยกันเป็นเรื่องราว  ออกแสดงเป็นละครวิทยุประเภทร้อยกรองผสมร้อยแก้ว (ในความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ได้อย่างแนบเนียน  เพลงตลกมีอยู่มากมายให้เลือก  แม้ว่าจะไม่ใช่ตลกในรูปของสาวทอมแทะโลมหนูจูดี้อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็พอหามาปรับใช้ได้เมื่อต้องการสร้างอารมณ์ขัน

อันที่จริงความจัดเจนในด้านการละครในการแสดง ขอให้เหมือนเดิมฯ นั้น  ก้าวหน้าไปจากเดิมในหลายด้าน  เช่นในด้านฉาก  ซึ่งมีการเปลี่ยนฉากได้อย่างรวดเร็ว  แต่ผมก็ไม่ค่อยสะดวกใจนักกับการสร้างฉากที่ใช้ลักษณะสัจนิยมมากเกินไป (อย่างลืมว่า  ฝีมือนักสร้างฉากที่ศาลาเฉลิมนครและศาลาเฉลิมไทยอยู่ในระดับเทพ  ใครที่เคยดูการแสดงละครเรื่อง อาณาจักรถล่ม ที่เฉลิมนคร จะต้องเห็นด้วยกับผมว่า ฮอลลีวูดชิดซ้ายไปเลย)  ด้วยเทคโนโลยีแสงสีในยุคปัจจุบันน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น  สำหรับการผูกเรื่อง ว่าด้วยหลักการแล้ว มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย คือ เน้นข้อขัดระหว่างความบริสุทธิ์ผุดผ่องของชีวิตชนบทกับความเจ้าเล่ห์ของชีวิตเมืองกรุง โดยเฉพาะในวงการบันเทิงและแฟชั่น  แต่ก็อีกนั่นแหละ  ทำไปทำมาสิ่งที่ผู้สร้างละครต้องการจะตำหนิบางครั้งก็กลับกลายมาเป็นสิ่งที่ครอบละครเรื่องนี้ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ  เพราะเสน่ห์ของแสงสีแห่งมหานครดูจะถูกตาต้องใจผู้ชมในปัจจุบันมาก

เมื่อพิจารณาโดยองค์รวม และเมื่อได้ย้อนไปคิดถึงพัฒนาการของคีตศิลป์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์  รวมทั้งบทบาทของการวิจารณ์ และวิชาการที่เข้ามาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มรดกของสุนทราภรณ์  ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในขณะนี้เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า  ความสามารถในการขับร้อง  ความสามารถในการเรียบเรียงดนตรี และความสามารถในการบรรเลงดนตรีได้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ   และแน่นอนที่สุด สูงไปถึงขั้นที่ละครเวทีของไทยไล่ไม่ทัน  เหตุใดจึงไม่เอี้ยวตัวไปดูมิวสิคัลที่ยิ่งใหญ่ทั้งของเทศและของไทยบ้าง เพราะละครเพลงที่มีคุณภาพให้ทั้งความบันเทิงเริงรมย์และกระตุ้นความคิด  ลองกลับไปดูงานของปรมาจารย์ Rogers and Hammerstein ดูบ้าง  บางเรื่องตั้งประเด็นอันหนักหน่วงเอาไว้ให้ผู้ดูผู้ชมได้นำกลับไปคิดเป็นการบ้าน  เช่น ประเด็นเรื่องการเหยียดผิวใน South Pacific สำหรับสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ซึ่งได้นำออกแสดงแล้วถึง 2 ครั้ง ก็ได้ตั้งมาตรฐานทางศิลปะและทางความคิดไว้สูงมาก ขอให้เหมือนเดิมฯ  เริ่มต้นด้วยดีด้วยการตั้งประเด็นอันสลักสำคัญเอาไว้เป็นโจทย์ให้แก่ตนเอง  แต่ก็พลัดหลงเข้าไปในดงของสิ่งบันเทิงแบบง่ายๆ ที่เราพบอยู่ทุกวี่ทุกวันในละครโทรทัศน์  จะว่าละครเวทีไทยไม่มีละครแห่งความคิดมาบรรณาการให้ผู้ชมเสียเลยก็คงจะไม่ใช่  ใครที่รู้จัก “ละครผอม” ที่เล่นกันตามห้องแถวหรือในร้านอาหารในเทศกาลละครกรุงเทพโดยมีผู้ชมเพียงไม่กี่สิบคน  ได้สร้างงานที่เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพและความเร้าใจในเชิงปัญญาเอาไว้มาก  เหตุใดพวกเขาจึงทำได้  แม้จะชักหน้าไม่ถึงหลังก็ตาม  แต่ความภักดีที่มีต่อศิลปะของกลุ่มละครเล็กๆ เหล่านี้ยิ่งใหญ่นัก

ในตอนต้นของบทความนี้  ผมเอ่ยถึง “พระเจ้าที่หก” คือ มหาชน เอาไว้   ซึ่งบ่อยครั้งได้กลายเป็นมหาชนอลเวงไปเสียแล้ว  เราควรจะทำละครเพียงเพื่อให้มหาชนมาผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการหัวเราะตลอดเรื่องกระนั้นหรือ  หรือทำได้แต่เพียงที่จะชักชวนให้เขาฟูมฟายตามเราไปเท่านั้น  ทางสายกลางย่อมมีแน่  แต่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คงจะรู้จักที่จะสนองความต้องการของมหาชนด้วยวิธีการอันแยบยลของตนเอง เหตุใดเพลงปลุกใจที่
สุนทราภรณ์แต่งขึ้นเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลเผด็จการเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วจึงยังอยู่กับเราได้  กลายเป็นงานที่มีคุณค่าเกินกว่าบริบท ณ จุดกำเนิด นั่นคือความยิ่งใหญ่ของสุนทราภรณ์  เรียกร้องอะไรมา  ข้าพเจ้าก็สนองให้  แต่ข้าพเจ้ามีวิธีการของข้าพเจ้าเองที่จะสร้างงานศิลปะที่เกินเลยออกนอกกรอบของโจทย์ที่ตั้งมา  ผมคงจะต้องจบด้วยคำวิงวอนที่ว่า  อย่าตามใจ “พระเจ้าที่หก” มากนัก  เพราะอาจจะเป็นเทพกำมะลอก็ได้  เรื่องของการพัฒนาผู้ดูผู้ชมเป็นประเด็นทางการศึกษาสำหรับประชาชน ที่เรียกร้องให้ศิลปินทั้งหลายต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างแรงกระตุ้นในเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้  นักวิจารณ์และนักวิชาการก็ทำได้แต่เพียงให้ข้อเสนอแนะเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัลครั้งต่อไปคงจะต้องตั้งเข็มให้ชัดเจนว่า อย่างน้อยจะต้องแข่งกับ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ให้ได้ ในด้านของการทำให้สิ่งบันเทิงทำหน้าที่เป็นสิ่งที่เจริญใจและประเทืองปัญญาได้เช่นกัน

 


[1]เจตนา  นาควัชระ “มรดกของสุนทราภรณ์: ข้อคิดเชิงวิจารณ์” (2527) ใน: จ.น. เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น 2540 หน้า 37.

[2]เรื่องเดียวกัน หน้า 79.

[3]เรื่องเดียวกัน หน้า 88.

[4]เรื่องเดียวกัน หน้า 88.

[5]กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) 19 มิถุนายน 2554 หน้า 8

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *