มรดกของสุนทราภรณ์ ภาค 3 : ศรวณี โพธิเทศ ในคอนเสิร์ต “บูชา-อาลัย 34 ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน กับผู้หญิงคนนี้ ศรวณี โพธิเทศ”

มรดกของสุนทราภรณ์ ภาค 3 : ศรวณี  โพธิเทศ ในคอนเสิร์ต “บูชา-อาลัย

34 ปี ครูเอื้อ  สุนทรสนาน กับผู้หญิงคนนี้ ศรวณี  โพธิเทศ”

ศรวณี

เจตนา นาควัชระ

ที่ผมตั้งชื่อบทวิจารณ์นี้ว่าเป็น “มรดกของสุนทราภรณ์ภาค 3” นั้นเป็นเพราะผมเพิ่งจะเขียน “มรดกของสุนทราภรณ์: ก่อน/กว่าจะถึง ‘ขอให้เหมือนเดิม – สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล’ ” ซึ่งนับเป็นภาค 2 ไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 นี่เอง (ดู http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2490)  และครั้งนี้ก็ต้องพูดถึงประเด็นที่ว่าด้วยมรดกของงานศิลปะอันทรงคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง  คำว่า “บูชา-อาลัย” ดูจะเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง  ยิ่งสำหรับผมกับเพื่อนๆ ผู้รักดนตรีด้วยแล้ว  พวกเรายกย่องครูเอื้อและเพื่อนร่วมงานของท่านด้วยความจริงใจ  และผมเกิดความอาลัยมิใช่ในความหมายธรรมดา  แต่อาลัยที่ท่านจากไปแล้วและไม่มีผู้รู้ทางศิลปะช่วยดูแลมิให้งานของท่านต้องเสื่อมคุณภาพไปกับกาลเวลา  เพราะมีคนน้อยคนนักที่เข้าถึงคุณค่าอันแท้จริงของสุนทราภรณ์โดยไม่ยอมลดระดับลงมาสู่ราคาตลาด

ขออนุญาตนอกเรื่องสักเล็กน้อยด้วยการอ้างถึงตัวอย่างจากดนตรีคลาสสิกตะวันตก  ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญขั้นปฐมของครูเอื้อ สุนทรสนาน  นักไวโอลินเอกของโลก ลอร์ด เยฮูดิ  เมนูฮิน (Lord Yehudi Menuhin: 1916-1999)  เคยเล่าเอาไว้ด้วยความภาคภูมิใจว่า  ครั้งหนึ่งคีตกวี เบลา  บาร์ทอค (Béla Bartók: 1881-1945) ชมเชยการแสดงของเมนูฮิน  ด้วยคำพูดซึ่งท่านจดจำไปตลอดชีวิต  นั่นก็คือว่า “ผมไม่เคยนึกว่า  เพลงที่ผมแต่งเอาไว้  มันจะออกมาดีเช่นนี้  เพราะผมคิดว่าจะต้องรอไปอีกนานทีเดียว  คือหลังจากที่คีตกวีตายไปแล้ว  กว่าการบรรเลงเพลงของเขาจะไปถึงจุดสูงสุดได้”  ด้วยความที่ดื่มด่ำในดนตรีกระแสตะวันตก  ผมก็เลยคาดหวังไปว่า  เพลงสุนทราภรณ์ที่ผมรักและบูชานั้นจะพัฒนาไปได้อย่างไม่รู้จบ  จนถึงขั้นที่มีคนร้องและบรรเลงได้ดีกว่าสมัยที่ครูเอื้อยังมีชีวิตอยู่  ในบทวิจารณ์ “มรดกของสุนทราภรณ์: ก่อน/กว่าจะถึง ‘ขอให้เหมือนเดิม – สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล’” ผมได้กล่าวเป็นนัยเอาไว้ว่า ทั้งผู้ที่เป็นศิษย์สายตรง และผู้ที่อยู่นอกวงการของสุนทราภรณ์ได้ทำอะไรไปบ้างที่จะทำให้เพลงสุนทราภรณ์อยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนานอย่างมีศักดิ์ศรี  แม้ว่าจะมีคนบางจำพวกแทรกตัวเข้ามาทำให้สุนทราภรณ์ตกต่ำไปบ้างเป็นครั้งคราว  ผมได้เอ่ยชื่อนักดนตรี นักร้อง และวาทยกรไว้หลายคนที่ได้ทำตามคำกล่าวของ เบลา  บาร์ทอค ที่ผมอ้างเอาไว้ข้างต้น  แต่ในโลกที่ทุนเป็นใหญ่  เขาก็คงสร้างงานที่โดดเด่นได้เพียงครั้งเดียว  เพราะนายทุนส่วนใหญ่หูไม่ถึง  ซึ่งก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ศรวณี โพธิเทศ  เป็นศิษย์ที่มีความกตัญญูต่อครู และบรรณาการที่เธอสามารถจะมอบให้แก่ครูผู้ล่วงลับไปแล้วก็คือ  การที่เธอร้องเพลงสุนทราภรณ์แต่ละครั้งด้วยวิธีการที่ไม่ซ้ำอยู่กับที่  การที่เธอได้มีโอกาสได้ขับร้องเพลงของคีตกวีท่านอื่น  ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในบทวิจารณ์ชื่อ เพิ่งคิดได้ว่า  โลกของเพลงไทยสากลกว้างใหญ่นัก” (ดู http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2213)  ทำให้เธอมีโอกาสที่จะคิดในเรื่องของการตีความใหม่  เพลงสุนทราภรณ์ที่เธอร้องแต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกับนักร้องต้นแบบ  เรื่องของการตีความใหม่เป็นประเด็นที่ผมหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอยู่เสมอ  และเมื่อได้ฟังศรวณีนำเพลงของครูเอื้อ และเพื่อนร่วมงานของท่านมาขึ้นเวทีแต่ละครั้ง  ผมก็ได้บทเรียนใหม่ทุกครั้งที่เกี่ยวกับการตีความใหม่  ผมยังจำได้อย่างไม่มีวันลืมว่า  ในรายการแสดงดนตรีอันเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนา “มัณฑนาวิชาการ” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 ศรวณีร้องเพลง “ธรรมชาติกล่อมขวัญ” (ทำนอง: นารถ  ถาวรบุตร  คำร้อง: แก้ว อัจฉริยะกุล) ได้อย่างประทับใจผู้คนเป็นที่สุด (ลูกสาวของเธอซึ่งเป็นนักเปียโนคลาสสิกบอกกับผมว่า คุณแม่ฝึกร้องเพลงนี้ที่บ้านนับเป็นร้อยเที่ยวทีเดียว)  ณ จุดนี้  เราคงจะต้องหันมาพิจารณาว่า ปัจจัยอันใดที่ผลักดันให้เธอตีความใหม่ได้อย่างลึกซึ้งและแยบยลเช่นนั้น  ผมอยากจะขออาสาตอบเสียเองว่า  การได้ร้องเพลงที่หมอวราห์  วรเวช  และคีตกวีท่านอื่นๆ แต่งให้เธอ  ทำให้เธอต้องตีความใหม่  เพราะเพลงของคีตกวีเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเนื้อร้องที่มิได้เดินตามแบบประเพณี  แต่เป็นถ้อยความที่ร้อยเรียงคำในแบบร้อยแก้ว (ในความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)  กำหนดให้เปล่งถ้อยคำออกมาราวกับเป็นการพูดในละครเวที (ผมไม่กล้าที่จะโมเมเอาว่า  ผู้ประพันธ์เพลงกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากลีลาประเภทกึ่งร้องกึ่งพูด [Sprechgesang])  ของ อาร์โนล์ด เชินแบร์ก (Arnold Schönberg: 1874-1951)  เพลงสุนทราภรณ์เป็นเพลงที่ยึดทำนองเป็นหลัก  ทำนองเป็นตัวตั้งอารมณ์และคำร้องเข้ามาสนองทำนองนั้นอย่างเป็นเอกภาพ  การได้ร้องเพลงทั้งแบบของสุนทราภรณ์และของคีตกวีท่านอื่นทำให้เธอมีประสบการณ์และความคิดที่กว้างไกลกว่านักร้องอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก  เพลงสุดท้ายที่เธอร้องในรายการเพลงวันที่ 8 มีนาคม 2558 คือ “จากไปใจอยู่” ต่างจากต้นแบบที่เรารู้จักกันอยู่มากนัก การเปล่งคีตวลี (phrasing) และการ “เล่น” กับจังหวะทำได้อย่างน่าประทับใจมาก  บาร์ทอคคงจะดีใจที่ทฤษฎีของเขากลายมาเป็นจริงได้ในประเทศโพ้นทะเล

รายการในวันที่ 8 มีนาคมนี้มีจุดเด่นที่มาจากการตีความใหม่อย่างแน่นอน  ผมต้องขออนุญาตออกนอกเรื่องอีกครั้ง  มีเทปสุนทราภรณ์อยู่ม้วนหนึ่งที่ผมเคยเปิดอยู่ที่บ้านเป็นประจำ  และเทปม้วนนั้นมีเพลง “แผ่นดินทอง” อยู่ด้วย  ความสนใจของผมที่มีต่อเพลงนี้เริ่มต้นจากอัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์คำร้อง คือ ชอุ่ม  ปัญจพรรค์ ซึ่งสามารถนำเอาชื่อดอกไม้นานาชนิดเข้ามาร้อยเรียงเป็นเพลงได้อย่างน่าอัศจรรย์  ลูกสาวคนโตของผมขณะนั้นอายุได้ 2 ขวบกว่า ได้ยินเพลงนี้กรอกหูอยู่ทุกวันจนกระทั่งร้องได้  และผมก็คิดว่า  กลุ่มนักร้องต้นแบบที่ได้อัดเสียงเอาไว้ก็พยายามทำเสียงให้น่ารัก คือเป็นเสียงของเด็กไร้เดียงสาผู้บริสุทธิ์  แต่เมื่อสุดา  ชื่นบาน  ศรวณี  โพธิเทศ และฉันทนา กิติยพันธ์  นำเพลงนี้ขึ้นมาร้องร่วมกันในรายการครั้งนี้  ผมก็ต้องอึ้งไปเลย   เพราะผมคิดไม่ถึงว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่หนุนให้นักร้องสำแดงวุฒิภาวะทางศิลปะได้  นักร้องทั้งสามคนแบ่งร้องสลับกันเป็นช่วงๆ  เมื่อฉันทนาร้องไปได้เพียงวรรคเดียว  ผมก็เปล่งวาจาอยู่ในใจว่า “นี่คือ reinterpretation!” การเปล่งคตีวลีของเธอต่างจากนักร้องต้นฉบับมากนัก  ทำให้ได้รับรสจากเพลงนี้อย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน  เมื่อศรวณีรับช่วงไปเป็นผู้ร้องคนที่สอง  เธอก็มีวิธีเปล่งคีตวลีที่ต่างออกไป  มีการเน้นคำที่น้อยลง และลากเสียงต่อเนื่องไปในแบบของเธอ  เมื่อสุดาเข้ามารับช่วงเป็นคนสุดท้าย  น้ำเสียงของเธอและการแปล่งคีตวลีของเธอก็ต่างออกไปจากเพื่อนทั้งสองที่ร้องมาก่อนหน้าเธอ  เราจึงได้รับรสของคีตศิลป์ที่มีความหลากหลาย  แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกภาพ  ผมก็จำต้องตั้งคำถามว่าต้องรอให้อายุย่างเข้าเลขเจ็ดหรือใกล้เลขเจ็ดเสียก่อนเท่านั้นละหรือ จึงจะตีความใหม่ได้  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เข้าทางผมอีกนั่นแหละ  นั่นก็คือว่า  นักร้องผู้มีความสามารถย่อมไม่ชอบร้องเพลงของคีตกวีคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ  แต่จะสั่งสมประสบการณ์จากคีตนิพนธ์อันหลากหลาย  แล้วสร้างความพร้อมขึ้นมาที่จะตอบสนองผลงานเฉพาะบทใดบทหนึ่งได้เสมอ

ผมจึงเห็นใจนักร้องสุนทราภรณ์เป็นอย่างยิ่งที่ต้องร้องเพลงซ้ำซากของนักแต่งเพลงคนเดียว  หรือกลุ่มนักแต่งเพลงที่มีทิศทางเดียวกัน   จริงอยู่  ผลงานที่เขานำมาร้องเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า  แต่สุนทราภรณ์ก็เสื่อมถอยได้ด้วยความซ้ำซากจำเจ  ผมคาดผิดโดยไปนึกว่า  วงสุนทราภรณ์จะเล่นเพลงของนักแต่งแพลงอื่นๆ ที่ศรวณีนำมาแสดงในครั้งนี้  แต่ศรวณีตัดสินใจที่จะใช้เสียงของวงดนตรีที่อัดมาล่วงหน้ากับเพลงของหมอวราห์  วรเวช  และเพลงอื่นๆ ที่เอื้อให้เธอได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำต่อเนื่องกันถึง 3 ปีซ้อน  ผู้ที่เรียบเรียงเสียงประสานและจัดทำดนตรีชุดนี้คือ “พิมพ์ปฏิภาณ”  ซึ่งดูจะเข้าใจลีลาและวิธีการร้องของศรวณีเป็นอย่างดี  “ดนตรีอัดกระป๋อง” กลับกลายเป็นดนตรีที่มีคุณภาพสูงมาก  โดยเฉพาะผู้เล่นทรัมเป็ตนั้น ผมต้องขอยกย่องเป็นพิเศษ  เป็นไปไม่ได้ที่วงสุนทราภรณ์จะเล่นเพลงเหล่านี้ไม่ได้  ถ้าพวกเขามีเวลาซ้อมอย่างเพียงพอ

ความจริงมีอยู่ว่า  ธุรกิจสุนทราภรณ์กำลังดำเนินไปได้ดีเป็นพิเศษ  วงดนตรีต้องรับงานจนไม่มีเวลาได้พัก  ยิ่งถ้าเขาจะต้องซ้อมเพลงใหม่  และสถานที่ซ้อมคือโรงรถที่ไม่ติดแอร์  ซึ่งในฤดูร้อนหลังคาคงจะมีอุณหภูมิถึง 40°C  พวกเขาคงไม่พร้อมที่จะเรียนเพลงใหม่ได้  ความเหนื่อยล้าของนักดนตรีเป็นสิ่งที่ผมเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง  และโดยเฉพาะเครื่องเป่านั้น  การเป่าให้เบายากกว่าการเป่าให้ดัง  รายการวันที่ 8 มีนาคม จึงเป็นการดวลกันระหว่างศรวณีกับวงสุนทราภรณ์ว่าใครจะดังกลบใคร  ยิ่งสถานที่แสดง คือศาลาเฉลิมกรุง มีขนาดเล็กกว่าหอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  และโรงละครแห่งชาติมาก  ศรวณีก็ยิ่งต้องออกแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ  เธอชนะการต่อสู้อันทรหดครั้งนี้มาได้อย่างเฉียดฉิว  แต่ผมใคร่ขอวิงวอนต่อเธอว่า  เมื่ออายุขึ้นเลขเจ็ดแล้ว  ไม่ควรเสี่ยงกับการกระทำเช่นนี้บ่อยครั้งนัก

ในส่วนของนักร้องสุนทราภรณ์เองนั้น  ก็คงเหลือนักร้องมาตรฐานดั้งเดิมรุ่นใหญ่อยู่ 2 คน คือ พรศุลี
วิชเวช กับเจือนศักดิ์  น้อยสุวรรณ  ซึ่งเราฟังได้อย่างไม่ต้องใจหายใจคว่ำ  เพราะมาตรฐานคงที่แล้ว  สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ  อยากจะได้ฟังท่านทั้งสองร้องเพลงที่ไม่ใช่เพลงสุนทราภรณ์บ้าง  นักร้องนอกจากนั้นเป็น “คลื่นลูกใหม่” ทั้งหมด  นอกจากนักร้องกิตติมศักดิ์จำนวนไม่กี่คน  หนุ่มสาวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมา และเป็นเพราะรักจึงสมัครเข้ามาร้อง  ความสดใหม่จึงยังมีอยู่มาก  แต่ผมก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า  ถ้าสมัครใจเข้ามาอยู่ในกรอบของสุนทราภรณ์และร้องเพลงตามต้นฉบับสุนทราภรณ์ต่อไปนานๆ  พัฒนาการทางศิลปะก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก  รุ่นพี่อาจจะช่วยสอนให้ได้บ้าง  แต่ก็เป็นการสอนตามแบบฉบับที่รับสืบทอดกันมา  ยากที่จะนำไปถึงระดับการตีความใหม่  นอกเสียจากว่า เวลาที่อยู่ที่บ้านจะให้เสรีภาพแก่ตนเองในการร้องเพลงที่ไม่ใช่เพลงสุนทราภรณ์บ้าง  อันที่จริง ผมได้พยายามชี้ให้เห็นแล้วว่า  การตีความใหม่ของนักร้องบางคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักร้องที่อาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำเชิญมาร่วมงานในการบันทึกแผ่น BSO PLAYS SUTARAPORN ตีความใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง  ผมสามารถยืนยันซ้ำอีกได้ว่า  มีหลายเพลงในชุดนั้นที่มีการร้องและบรรเลงในระดับที่เหนือต้นแบบ  (ขออ้างเบลา บาร์ทอค เป็นยันต์กันผีไว้อีกครั้งหนึ่ง)  สำหรับอาจารย์นรอรรถเองนั้นในฐานะนักร้องก็พยายามแสดงให้เห็นว่า  สุดทางของการร้องที่ไม่ตามแบบสุนทราภรณ์เป็นอย่างไร  แต่นักร้องคนอื่นๆ ที่เดินสายกลางและที่ผมยกย่องเอาไว้ก็มีอยู่  ดังที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความ  “มรดกของสุนทราภรณ์ ฉบับที่ 2”

อันที่จริงผมเป็นห่วงนักร้องคลื่นลูกใหม่บางคนที่มีศักยภาพมหาศาล  แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาขับร้องเพลงสากลอย่างถูกต้อง  พยายามจะบีบเสียงอย่างเต็มที่ โดยเข้าใจว่าการบีบเสียงคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์ส่วนลึก  ฟังดูเหมือนกับแผ่นเสียงที่คุณยายผมซื้อเอาไว้เมื่อเกือบ 1 ศตวรรษมาแล้ว  เป็นเพลงไทยเดิมขับร้องโดยดาราสมัยยุคเริ่มต้นที่มีการอัดเสียง  คือหม่อมส้มจีน  ผมฟังทีไรก็เกิดความเห็นใจเธอเป็นอันมากว่า เหตุใดเธอต้องบีบคั้นตัวเองถึงขนาดนั้น  เพื่อจะให้ได้เสียงที่แหลมสุดๆ ซึ่งนักร้องเพลงไทยเดิมจำนวนมากยกย่องว่าเป็นวิธีการที่พึงสรรเสริญ  แต่ผมอยากกล่าวซ้ำว่า  ครูเอื้อ  สุนทรสนานเป็นศิษย์โรงเรียนพรานหลวงที่มีพื้นมาจากดนตรีตะวันตกและเล่นไวโอลินคลาสสิกอยู่ถึง 16 ปี  เพราะฉะนั้น  สิ่งซึ่งท่านได้ยินอยู่ในโสตประสาท  แต่ไม่มีวงดนตรีมาสนอง ก็คือเสียงของวงซิมโฟนี (ซึ่ง BSO ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว 1 ครั้ง  เหตุใดจึงไม่มีครั้งที่ 2-3-4 ????) นักร้องระดับแนวหน้าของสุนทราภรณ์เอง เช่น มัณฑนา โมรากุล ก็มีวิธีร้องที่หลากหลายมากนัก

บทวิจารณ์การแสดงของศรวณี  โพธิเทศ  ได้กลายเป็นบทอภิปรายทั่วไปที่ว่าด้วยเพลงสุนทราภรณ์ และเพลงไทยสากลอย่างเลี่ยงไม่ได้  ข้อสรุปของผมก็คือว่า ทั้งนักร้องและนักดนตรีของสุนทราภรณ์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผันตัวไปสู่การตีความใหม่ให้ได้  ซึ่งต้องการความรู้ ความชำนาญ ความจัดเจน และประสบการณ์ที่มาจากภายนอกด้วย  การเรียนการสอนดนตรีตะวันตกในเรื่องของการเล่นเครื่องดนตรีและในด้านการขับร้องก้าวหน้าไปมากแล้วในประเทศไทย  นักดนตรีและนักร้องของไทยไปประกวดได้รางวัลระดับนานาชาติมาก็มีอยู่  จะทำอย่างไรให้ประสบการณ์ดังกล่าวกลายมาเป็นแรงกระตุ้นให้ดนตรีสุนทราภรณ์พัฒนาไปในทิศทางที่มิใช่เป็นการทิ้งรากเดิม  แต่เป็นการชี้ทางไปสู่อนาคตได้ด้วย  เราต้องขอบคุณศรวณี  โพธิเทศ ที่ช่วยเปิดทางไว้ให้บ้างแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *