หยิบวรรณคดีมาตีเป็นละคร กับพิมพิลาไลย

หยิบวรรณคดีมาตีเป็นละคร กับพิมพิลาไลย

 

มนฑนา ยอดจักร์


 

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาได้ไปชม “พิมพิลาไลย” ละครเวทีร่วมสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสีสันวรรณกรรมในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

จากโครงการปีที่แล้วกับการนำเอาวรรณคดีไทยเรื่องอิเหนามาสัมมนาทางวิชาการ ก่อนที่จะให้ละครเวทีเรื่อง “บุษบา-อุณากรรณ” แสดงศักยภาพในฐานะสื่ออีกตัวหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างสรรค์สีสันให้แก่ตัววรรณคดี ด้วยความไพเราะของบทเพลง ความสวยงามขององค์ประกอบต่างๆในส่วนงานโปรดักชั่น ตลอดจนไปถึงการตีความในตัววรรณกรรมที่น่าสนใจ ทำให้เล็งเห็นถึงความน่าสนใจต่อการนำศิลปะการแสดงมาใช้เป็นตัวสื่อถึงเนื้อความในวรรณคดี

สำหรับโครงการในปีนี้ ได้มีการนำวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” มาสัมมนาเชิงวิชาการ ก่อนที่จะถูกดัดแปลงมาเป็นละครเวทีร่วมสมัยเรื่อง “พิมพิลาไลย” กำกับและดัดแปลงบทโดย อ. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“พิมพิลาไลย” ที่โลดแล่นอยู่บนเวทีนั้น เป็นดวงวิญญาณที่ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้โลกได้รับรู้ถึงสิ่งที่เธอถูกประณามว่าเป็นหญิงชั่วกับสมัญญานาม “วันทองสองใจ” ที่ใช้เป็นคำเรียกหญิงสาวมากรัก วิญญาณของเธอตื่นมาเพื่อที่จะให้โลกได้พิจารณาต่อคำพิพากษาที่เธอถูกตัดสินจนเป็นตราบาปข้ามยุคข้ามสมัย เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆในความทรงจำถูกถ่ายทอดออกมาตามลำดับเหตุการณ์ จากวัยเยาว์จนถึงวันที่ชีวิตดับลง ความสัมพันธ์ของเธอกับมนุษย์เพศชายสองคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นต้นเหตุแห่งชะตากรรมที่เกิดขึ้นต่อเธอในอนาคต

ขุนแผนชายที่เธอมอบดวงใจให้ แต่เขาก็นำความปวดร้าวมาให้ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ขุนช้างชายอีกผู้หนึ่งที่ปักใจอยู่กับเธอ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เคยขัดใจนางพิมแม้แต่น้อย แต่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นางพิมต้องถูกประณามเป็นหญิงสองใจมาจนบัดนี้

จำได้ว่าเรื่องราวของขุนช้าง-ขุนแผนและนางพิมเป็นวรรณคดีที่ได้เรียนสมัยมัธยม กับบทกลอนแปดที่อาจารย์ให้ท่องจนจำขึ้นใจ โดยเฉพาะตอนที่พลายแก้วต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปกับนางทองประศรีเมื่อพ่อถูกประหารชีวิต เรื่องราวที่ดำเนินโดยหนึ่งหญิงสองชายนี้ที่นอกจากจะเป็นบทกลอนที่ถูกบังคับให้ท่องจำทุกๆเช้าก่อนเข้าเรียนแล้ว ในสมัยนั้นก็ไม่ได้มีค่าอะไรมากไปกว่าวรรณคดีที่ถูกวางไว้ว่าต้องเรียนทุกคน ยังจำได้ถึงความสนุกสนานของบทกลอนที่พูดถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของวิถีชีวิตต่างๆในสมัยนั้น ไม่ว่าจะความขบขันที่เกิดจากความน่าเกลียดของขุนช้าง ความเปิ่นตามประสาหญิงชาวบ้านของบรรดาแม่ๆ ตัวเอกทั้งสาม โดยเฉพาะนางทองประศรีกับนางศรีประจัน

ความรู้สึกที่มีต่อหนึ่งหญิงสองชายนี้เข้มข้นขึ้น เมื่อได้กลับมาอ่านอีกทีตอนที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยด้วยเรื่องของกิเลสของมนุษย์ โดยเฉพาะกับการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า… ผิดด้วยหรือที่วันทองจะถูกประณามเป็นหญิงสองใจ  ขุนช้าง-ขุนแผนจึงเริ่มมีบทบาทในส่วนหนึ่งของชีวิตมากกว่าที่จะเป็นเพียงอาขยานไว้ท่องเสมือนนกแก้วนกขุนทองในอดีต

“พิมพิลาไลย” ที่อ.ปาริชาติ สร้างขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่โลดแล่นอยู่บนเวทีนั้นได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของคนที่ถูกข่มเหงโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาในรูปของทรัพย์สิน สถานะทางสังคมหรือแม้แต่กำลัง โดยเฉพาะการตีความในส่วนที่มีการหยิบยกเอาประเด็นการกดขี่ทางเพศมานำเสนอ

จากแต่เดิมที่ “ขุนแผน” เคยถูกยกย่องเป็นฮีโร่ในดวงใจของใครๆหลายคน ไม่ว่าจะความงดงามของรูปร่างหน้าตาภายนอก ความเก่งกาจในวิชาอาคม แม้ว่าในครั้งนี้สิ่งที่เคยถูกยกย่องว่าเป็นความเก่งกาจของขุนแผนไม่ได้ถูกยกมาตรวจสอบแบบจริงจัง แต่จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งแก่ชีวิตของนางพิมตลอดไปจนถึงหญิงสาวคนอื่นๆที่ได้ชื่อว่ามีสามีคนเดียวกันกับนาง วิธีการที่ขุนแผนได้นางเหล่านี้มาเป็นภรรยา เป็นคำตอบได้ดีถึงความถูกต้องของการใช้ความสามารถของตัวเองไปในทางที่ไม่ควร

โดยเนื้อเรื่องแล้ว แม้ว่าจะเสนอให้เห็นความแตกต่างกันในเชิงอำนาจระหว่างเพศหญิงกับเพศชาย แต่ละครก็ได้เสนอให้เห็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้บานปลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต สิ่งนั้นก็คือกิเลสอันไม่รู้จักสิ้นสุดของมนุษย์ ไม่ว่าจะความพ่ายแพ้ต่ออำนาจของวัตถุที่มีผลถึงกับยอมบังคับลูกสาวให้ทำในสิ่งที่ฝืนใจ และผิดประเพณี ความพ่ายแพ้ ต่อกามตัณหาที่มีผลเหนือความถูกต้องความสมควร ความพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ที่มีอยู่ในตัวจนลุแก่การใช้อำนาจไปในทางที่ผิด และก่อให้เกิดปัญหาตามมาข้างหลังอีกมากมาย

ถ้าพูดถึงในแง่การดัดแปลงวรรณคดีเรื่องนี้มาเสนอในรูปแบบของละครเวที การตีความหรือหยิบยกประเด็นต่างๆข้างต้นมานำเสนอนั้น เรียกได้ว่าน่าสนใจและมีเสน่ห์มากในการที่จะทำให้เรื่องราวของมนุษย์ที่อยู่ในโลกแห่งโลกียวิสัยนั้นมาเคลื่อนไหวเป็นแบบจำลองชีวิตอยู่บนเวที เนื้อหาที่บรรจุไว้ด้วยวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนไทยแต่ดั้งเดิม ถึงแม้ว่าประเพณีหรือค่านิยมบางอย่างจะเสื่อมความนิยมลงไปแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นวิถีชีวิตที่ผ่านการบอกเล่าจนคุ้นชิน ความสนุกสนานจากเหตุการณ์ย่อยๆในอดีตที่เป็นเสมือนกระจกส่องกลับให้เห็นถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้น่าสนใจ สร้างสีสันให้กับทั้งวรรณคดีดั้งเดิม ที่เคยได้ลิ้มรสผ่านทางการอ่าน ตลอดจนไปถึงความท้าทายของทางคณะผู้จัดที่จะสร้างสรรค์เรื่องราวเหล่านี้ให้มีชีวิตขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชมได้ชม

ได้ข่าวมานานเกี่ยวกับการเตรียมการแสดงละครเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับบรรดาเหล่าผู้แสดงที่ก็เป็นน้องๆในระดับอุดมศึกษาจากหลายสถาบัน เตรียมการซ้อมมากว่า 3 เดือน เพื่อที่จะได้ร่วมกันกับผู้กำกับในการคิดค้นทดลองหาวิธีการนำเสนอ “พิมพิลาไลย” ให้น่าสนใจและพอดีกับความยาวของเนื้อเรื่อง ซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าก็คือการแสดงที่ไล่เรียงตามลำดับของเวลาและมีความต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะเก็บเรื่องราวจากเค้าโครงเดิมที่เป็นส่วนสำคัญให้ได้มากที่สุด

วิญญาณพิมพิลาไลยที่แสดงโดย ชไมพร จตุรภุช นักแสดงอาชีพที่ร่วมแสดงกับบรรดานักแสดงสมัครเล่นกลุ่มนี้ การปรากฏตัวของเธอแต่ละครั้ง ด้วยความสง่าของภาพลักษณ์ภายนอกกับความเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนกับนักแสดงคนอื่นๆ รวมไปถึงการแสดงออกที่ลุ่มลึกเยือกเย็น การเปล่งเสียงที่บ่งบอกถึงการตรวจสอบตัวเองจากอดีตที่ผ่านมาให้ความรู้สึกถึงความอ้างว้าง แม้ว่าในบางครั้งเสียงของเธอจะแหลมไปนิดจนฟังไม่ชัดเจนนักว่าได้พูดอะไรออกมา ความสามารถเหล่านี้ของเธอผสานไปกับการออกแบบแสงสีและดนตรีที่คลอเวลาเธอปรากฏตัวออกมา สิ่งต่างๆเหล่านี้ช่วยสร้างบรรยากาศที่แตกต่างระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งวิญญาณได้อย่างเด่นชัด

การที่ใช้ตัวแสดงถึงสามตัวรับบทเป็นนางพิมพิลาไลยในส่วนต่างๆนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจพิมพิลาไลยสามวัย สามบทบาท และสามสถานการณ์ ดูจะไปกันได้ดีกับการตีความของผู้กำกับ

แต่สิ่งที่ท้าทายต่อผู้ชมอย่างยิ่งก็คือการรับบทเป็นนางวันทองของเสาวนีย์ วงศ์จินดา ถ้าจะเปรียบเทียบนางวันทองเป็นนางในฝันตามวรรณคดีดั้งเดิม ก็คงจะไม่มีใครฝันถึงนางวันทองอย่างเสาวนีย์ แต่ในโลกของละครเธอได้ทำให้เรายอมรับได้ว่าเธอคือวันทอง หญิงสาวผู้ที่จะเป็นใครก็ได้ที่อาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ความขัดแย้งระหว่างภาพนางวันทองในฝัน กับภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าถูกลบไปด้วยการแสดงที่เต็มที่และมีพลัง แม้จะไม่ลุ่มลึกเยือกเย็นเหมือนพิมพิลาไลยภาควิญญาณ แต่ความจัดจ้านร้อนแรงทางอารมณ์ที่เธอแสดงออกมาทำให้เราเห็นวันทองในชีวิตจริงที่เป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาที่มีอารมณ์รัก อารมณ์หวง และก็เป็นเพียงผู้ที่ถูกกระทำ

ถึงแม้ว่านักแสดงส่วนใหญ่ที่แสดงในเรื่อง “พิมพิลาไลย” นี้จะเป็นเพียงนักแสดงสมัครเล่น แต่ด้วยความตั้งใจจริงของเขาเหล่านี้ทำให้ความสามารถของพวกเขาเปล่งออกมาอย่างเต็มที่ ตัวแสดงแต่ละคนต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป บางครั้งคอรัสบางตัวก็มาแสดงเป็นตัวละครหลัก บางครั้งตัวหลักก็กลับมาเป็นคอรัส เรียกได้ว่านักแสดงทุกคนสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ สิ่งนี้คงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของละครเรื่องนี้

แม้ว่าจะลาโรงไปแล้ว พร้อมกับคำถามที่เริ่มต้นจากความขุ่นใจหลังจากที่ได้ชมละครเรื่องนี้ เป็นคำถามที่เกิดจากความงุนงงสงสัยที่มีต่อผู้ชมอายุเยาว์ที่ได้มาชมละครเรื่องนี้ในวันเดียวกันว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเหล่านี้ เพราะเขาทำตัวเสมือนกับว่ามาดูเกมส์โชว์หรือวาไรตี้โชว์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปทางจอโทรทัศน์ เสียงพูดคุยที่มากเกินกว่าที่จะเรียกว่าซุบซิบ กับเสียงกรี๊ดกร๊าดที่คอยแทรกออกมาตลอดเวลาเมื่อถึงฉากที่ถูกใจ จนรบกวนการแสดงของนักแสดง บางช่วงก็กลบเสียงขับเสภาอันไพเราะของครูแจ้ง คล้ายสีทอง ที่มานั่งขับให้ฟังกันสดๆตรงหน้าเวทีอย่างที่ตัวเด็กเองก็ไม่ได้รู้สึกสำนึกเลยว่าเขาควรจะหยุดได้แล้ว

สิ่งที่ให้คำตอบกับตัวเองในขณะนั้นได้ก็คือ ความน่าหวาดหวั่นของเด็กไทย ที่มีรายการโทรทัศน์และซุปเปอร์สตาร์ขวัญใจวัยรุ่นเป็นครูสอนมารยาทหรือการปฏิบัติตัวในสังคมจากเนื้อหาและวิธีการนำเสนอละครออกมานั้นเรียกได้ว่ายอดเยี่ยม และสังเกตจากปฏิกริยาของเด็กที่ได้ชมก็เห็นได้ว่าเขาค่อนข้างที่จะสนใจและสนุกกับละครที่อยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเขาถูกบรรดาพิธีกรในจอโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่เป็นครูคอยสอนอยู่เสมอว่า เมื่อพอใจก็ให้กรี๊ด เมื่อถูกใจก็ให้เปล่งเสียงกรี๊ดจนเสียงกรี๊ดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการแสดงความพอใจ ซึ่งถึงแม้ว่าทางสวช.จะจัดพิมพ์มารยาทในการชมมหรสพไว้ในสูจิบัตร แต่ก็ดูจะไม่มีความหมายอะไร เพราะกว่าที่เด็กเขาจะได้เปิดอ่านก็ต่อเมื่อเขาได้ดูจบแล้ว หรือไม่ก็ไม่เปิดอ่านเลย ทางที่ดีอาจารย์ที่รับผิดชอบในการนำเด็กมาชมการแสดงน่าที่จะได้มีการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้กับตัวเด็กเสียก่อน เพราะนอกจากจะรบกวนสมาธิของนักแสดงบนเวทีแล้ว ยังรบกวนผู้ชมอื่นๆที่เข้าชมการแสดงอีกด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ เนื้อหาที่ถูกตีความในครั้งนี้เป็นการเปิดประเด็นทางสังคมที่แฝงอยู่ใน    วรรณคดี เพื่อก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในตัววรรณคดีและให้ผู้ที่สนใจในวรรณคดีได้เปิดมิติของวรรณคดีให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชนที่มีวุฒิภาวะเพียงพอกับการที่จะใช้วิจารณญาณในการตีความสิ่งที่ละครได้นำมาเสนออยู่ข้างหน้า แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ที่ได้มาชมในบางรอบกลับเป็นเด็กในวัยที่เพิ่งจะรู้จักวรรณคดี ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กมัธยมต้น งานนี้เลยไม่แน่ใจว่าเด็กที่มาชมจะเข้าใจและได้รับในสิ่งที่ละครนำเสนอมานั้นหรือเปล่า

แต่พอกลับมาอ่านสูจิบัตรที่พิมพ์จ่าหน้าไว้ว่า “คู่มือ สีสันวรรณกรรมระดับอุดมศึกษา” ก็เลยค่อนข้างจะสงสัยว่าทำไมถึงมีการขายบัตรเหมาให้แก่เด็กมัธยมต้นเข้ามาดูในหลายๆรอบ ไม่ใช่ว่าจะไม่อยากให้เด็กวัยนี้เข้าชมละคร แต่กับเนื้อหาและความยาวของละคร ทางสวช.น่าที่จะทำความเข้าใจกับทางอาจารย์ที่นำเด็กมาชมเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ว่าเป็นไปในรูปแบบใด และควรแนะนำมารยาทสำหรับการชมด้วยว่าควรจะเป็นอย่างไร เพราะอย่างน้อยสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กได้มากกว่าใคร

 

 

ที่มา:      มนฑนา ยอดจักร์. “หยิบวรรณคดีมาตีเป็นละคร กับพิมพิลาไลย.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 42 ฉบับที่ 30, หน้า 57-58.

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

บทวิจารณ์ซึ่งเขียนโดย มนฑนา ยอดจักร์ ได้หยิบยกละครเรื่อง “พิมพิลาไลย” ที่จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสีสันวรรณกรรมในระดับอุดมศึกษา ขึ้นมาวิจารณ์ในหลายแง่มุมด้วยกัน ประเด็นที่เด่นที่สุดที่กล่าวถึงในบทวิจารณ์และเป็นชื่อบทวิจารณ์ด้วยก็คือ การ “หยิบวรรณคดีมาตีเป็นละคร” ผู้วิจารณ์ได้ชี้ให้เห็นลักษณะเด่นที่ปรากฏในละครเรื่อง “พิมพิลาไลย” อันเกิดจากการ “ตีความใหม่” เมื่อ “วรรณคดี” ถูกนำเสนอใหม่ในสื่ออื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือ “ละครเวที” สิ่งที่ท้าทายผู้กำกับก็คือ การตีความตัวละครในวรรณคดีที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในสังคมไทย และมีภาพฝังอยู่ในความคิดของผู้ชมแต่ละคนมาก่อน ผู้วิจารณ์ได้ใช้ตนเองเป็นเสมือนตัวแทนจากกลุ่มผู้ชมที่จะมีวิวาทะต่อตัวละคร “พิมพิลาไลย” ที่อยู่บนเวที โดยนึกย้อนกลับไปถึงภาพของนางพิมที่ได้รับมาจากการเรียนวรรณคดีในระดับมัธยม มาจนถึงเมื่อกลับมาศึกษาอีกในระดับอุดมศึกษา และเมื่อมาชมละครเรื่องนี้ จากวิวาทะทางความคิดดังกล่าว ผู้วิจารณ์ได้ชี้ให้เห็นตัวตนของ “พิมพิลาไลย” ที่เกิดจากการตีความโดยผู้กำกับคือ อาจารย์ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ อย่างชัดเจน ในหลายย่อหน้าด้วยกัน  นอกจากนี้ ยังตีความต่อออกไปอีกจากประเด็นเรื่องความถูกผิดของนางวันทอง ความแตกต่างกันในเชิงอำนาจระหว่างเพศหญิงกับชายไปสู่ประเด็นที่เป็นปรัชญาในทางพุทธศาสนาคือ เรื่องของ “กิเลส” ผู้วิจารณ์เองได้ระบุชัดเจนว่า ละครเรื่องนี้เปิดประเด็นทางสังคมที่แฝงอยู่ในวรรณคดีเพื่อก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตัววรรณคดี จึงนับเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่อ่านบทวิจารณ์ นำประเด็นเรื่องนี้ไปขบคิดต่อได้ เพราะเนื้อเรื่องและตัวละครนี้เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในหมู่คนไทย

ในส่วนที่เป็นการวิจารณ์รูปแบบการนำเสนอของละคร ผู้วิจารณ์ก็ได้กล่าวถึงเช่นกัน และชี้ให้เห็นถึงเสน่ห์ของละครเรื่องนี้คือ การที่ทำให้เรื่องราวของมนุษย์ในโลกแห่งโลกียวิสัยมีตัวตนและเคลื่อนไหวอยู่บนเวที ผู้วิจารณ์ยังได้วิจารณ์ถึงผู้แสดงไว้ค่อนข้างมาก ทั้งตัวละครหลักและกลุ่มผู้แสดงทั้งหมด โดยที่ผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นทั้งจุดดีและจุดด้อย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ และผู้วิจารณ์ก็แสดงความชี่นชมอย่างชัดเจนต่อการที่ผู้กำกับเลือกตีความโดยการใช้ตัวผู้แสดงเป็นนางพิมถึง 3 คน การที่ตัวแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ และการที่คณะผู้แสดงทั้งหมดกับผู้กำกับการแสดงต้องทำงานหนัก และเตรียมตัวเป็นเวลานานเพื่อช่วยกันคิดค้นวิธีการนำเสนอ จึงถือว่าเป็นการให้กำลังใจต่อฝ่ายผู้สร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

นอกจากการวิจารณ์ฝ่ายผู้สร้างสรรค์แล้ว ผู้วิจารณ์ยังได้วิจารณ์กลุ่มผู้ชม และกลุ่มผู้จัดการด้วย ในส่วนของผู้ชมนั้น ผู้วิจารณ์ได้กล่าวถึงกลุ่มผู้ชมที่มีวุฒิภาวะไม่พอ ขาดมารยาทในการเข้าชม โดยที่ตั้งประเด็นให้คิดต่อด้วยว่า “สื่อโทรทัศน์” ได้เข้ามามีบทบาทหล่อหลอมพฤติกรรมของเยาวชนเหล่านี้จนก่อให้เกิดผลเสีย ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมในการแสดงออกเช่นนี้ ซึ่งก็เป็นการกระตุ้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องเก็บไปพิจารณาหาทางแก้ไขกันต่อไป ในส่วนของผู้ที่เป็นฝ่ายจัดการนั้น ผู้วิจารณ์ก็ชี้ให้เห็นจุดด้อยเช่นกัน นั่นคือ การที่มีการขายบัตรเหมาให้เด็กที่มีวุฒิภาวะและวัยวุฒิต่ำกว่ากลุ่มเป้าหมายจริงเข้ามาชมละคร โดยที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนเหล่านี้ ดังนั้น ผู้วิจารณ์จึงได้ทำหน้าที่วิพากษ์บริบทที่เกินเลยออกมานอกกรอบเวทีละครที่ชมด้วย

โดยสรุปแล้ว บทวิจารณ์นี้สามารถกระตุ้นให้เกิดพลังทางปัญญาได้ เนื่องจากเป็นบทวิจารณ์ที่มองภาพละครเรื่อง “พิมพิลาไลย” ที่แสดงในวันนั้นได้รอบ ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งจากแหล่งกำเนิดคือ “วรรณคดีต้นแบบ” (และกรอบความคิดที่มีอยู่ก่อนชมละคร)  “ละครเวที” ที่นำเสนอและตีความวรรณคดีเรื่องนี้ใหม่ โดยผู้กำกับและการแสดงของผู้แสดง กลุ่ม”ผู้ชม”ที่ยังขาดความพร้อม และกลุ่ม “ผู้จัดการ” ที่ไม่ได้จัดให้เกิดกลุ่มผู้ชมที่เหมาะสมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงระหว่าง “วรรณคดี” และ “ละคร” กับ “ชีวิต” และ “สังคม” อีกด้วย จึงถือเป็นการเปิดมิติให้ผู้อ่านบทวิจารณ์มีความคิดที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวรรณคดีที่ได้ถูกหยิบมาตีเป็นละครนั้นเป็นเรื่องราวที่ทุกคนรู้จักดี และเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีชีวิตที่แตกต่างไปจากปุถุชนธรรมดาเท่าไรนัก เมื่ออ่านบทวิจารณ์จบ ผู้อ่านบทวิจารณ์จึงสามารถที่จะ “คิดเหมือน” “คิดต่าง” หรือ “คิดต่อ” จากผู้วิจารณ์ได้อีก แม้ว่าจะได้ชมละครเรื่องนี้มาหรือไม่ก็ตาม

 

กรกช อัตตวิริยะนุภาพ : ผู้วิเคราะห์

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *