“แฮมเลต” หรือความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย
“แฮมเลต” หรือความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย
เจตนา นาควัชระ
เขาว่ากันว่า แฮมเลต ของคณะละคร “สองแปด” เป็นละครเวทีของไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบทศวรรษ ผู้คนเบียดเสียดแย่งกันซื้อบัตรเข้าชมจนเต็มทั้ง 8 รอบ ในช่วงที่เปิดแสดงระหว่างวันที่ 4 ถึง 10 พฤษภาคม 2538 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผมเองได้ติดตามงานของคณะละคร “สองแปด” มาตลอด และก็อดที่จะวิตกแทนคนหนุ่มสาวไฟแรงกลุ่มนี้ไม่ได้ว่า ถ้านี่คือความสำเร็จอันเป็นสุดยอดปรารถนาของพวกเขา ทางข้างหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร ถ้าเขายึดมหาชนเป็นสรณะ ถ้าเขายึดผลกำไรเป็นตัววัดความสำเร็จ ต่อไปพวกเขาก็คงจะทำละครเช่นนี้ขึ้นมาอีก อันที่จริง การดึงคนจากละครตู้มาสู่ละครเวทีเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน ปัญหาที่เราจะต้องถกเถียงกันต่อไปก็คือว่า ดึงเขามาดูอะไร
เมื่อแรกที่ผมได้ยินมาว่า “สองแปด” จะทำละครแฮมเลตพากย์ไทย ผมก็อดประหวั่นพรั่นพรึงแทนพวกเขาไม่ได้เสียแล้ว ยิ่งมาบอกผมว่าจะแปลงแฮมเลตจากละครพูดให้เป็นละครเพลง ผมก็รู้สึกหวาดหวั่นแทนพวกเขายิ่งขึ้นไปอีก ก็แฮมเลตนี่มันยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งละครตะวันตก ที่ทำให้ผู้กำกับการแสดงและนักแสดงตะวันตกเองตกเวทีกันไปเสียมากต่อมากแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อผมเคยยกย่องความกล้าและความสามารถของ “สองแปด” มาแล้ว ผมก็พร้อมที่จะเปิดใจรับงานบุกเบิกชิ้นใหม่ของพวกเขา เมื่อข่มความวิตกกังวลไปได้แล้ว ผมก็ตัดสินใจไปดูแฮมเลต เมื่อคืนวันที่ 9 พฤษภาคม
เมื่อเดินออกจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในตอนดึกของคืนวันนั้น ผมมีความหดหู่ใจเป็นกำลัง นานๆครั้งผมจะเดินออกจากโรงละครด้วยความรู้สึกเช่นนี้ การที่ละครจะถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเรา การที่เราชอบละครเรื่องนั้น ไม่ชอบเรื่องนี้ เป็นสิ่งสามัญธรรมดา แต่ผมเป็นครูภาษาต่างประเทศ สอนวรรณคดีตะวันตกมากว่า 25 ปี สำหรับแฮมเลตนั้น ผมก็เคยได้รับมอบหมายให้สอน ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่า ที่แฮมเลตของ “สองแปด” แสดงออกมาในรูปนี้ เราคงจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า ครูภาษาต่างประเทศ ครูภาษาตะวันตก ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นพี่ รุ่นผม มาจนถึงรุ่นน้องผม และรุ่นลูกศิษย์ผม ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะเราไม่สามารถสร้างความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของการรับงานศิลปะของต่างประเทศขึ้นมาได้ เราจะต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่ร่วมมือกันทำละครแฮมเลตในครั้งนี้ เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยเสียเป็นส่วนใหญ่ บางคนผ่านการศึกษาด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษมา บางคนได้รับการฝึกฝนมาโดยตรงในด้านของศิลปะการละครจากมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า หลักสูตรที่สอนกันอยู่มุ่งเน้นละครตะวันตกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการศึกษาด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ และ/หรือศิลปะการละครมาจากสำนักเทวาลัย ใกล้สนามม้าปทุมวันนั้น รับประกันได้เลยว่าได้ผ่านมือปรมาจารย์รุ่นพี่ผมท่านหนึ่ง ซึ่งทุกคนยอมรับว่า สอนละครเชกสเปียร์ได้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจอย่างที่ไม่มีใครจะทาบได้ เหตุไฉนศิษย์ของมหาคุรุจึงได้กระทำกับเชกสเปียร์ผู้เป็นที่รักและเคารพถึงเพียงนี้ เราจะสรุปได้หรือไม่ว่า เรียนก็ส่วนเรียน เล่นก็ส่วนเล่น แฮมเลตฉบับไทยยุคไฮเทคเป็นผลผลิตของธุรกิจบันเทิงสมัยใหม่ที่เงินกับเทคโนโลยี กับการโฆษณาจับมือกันอย่างแน่นสนิท ผมได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งว่า ถ้าเงินกับเทคโนโลยีจับมือกันเมื่อใดขอให้เราจงระวังตัวไว้ให้ดี แต่ไม่ว่าผมจะพยายามผลักความรับผิดชอบไปให้วงการธุรกิจสักเพียงใดก็ตาม ในใจของผมและผู้ร่วมอาชีพ (ครูภาษาต่างประเทศ) อีกจำนวนไม่น้อย เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เราเป็นผู้ผิด เราสอนหนังสือไม่ได้ผล และถ้าจะมองปัญหาให้กว้างแล้ว ความอับเฉาและความหงอยเหงาทางปัญญาก็คงจะไม่ได้มาจากแวดวงภาษาต่างประเทศแต่เพียงเท่านั้น แฮมเลตพากย์ไทยฉบับนี้บ่งบอกให้เห็นถึงความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย ถ้าพวกผมกล้าสารภาพบาปถึงขนาดนี้แล้ว จะมีคนอื่นซึ่งพร้อมที่จะสารภาพบาปตามมาอีกบ้างหรือไม่
ผมจะขอไม่วิจารณ์การแสดงละครแฮมเลตในรายละเอียด เพราะได้มีนักวิจารณ์หลายท่านได้แสดงทัศนะในแนวนี้ไปแล้ว แต่ผมอยากจะขออภิปรายเรื่องของหลักการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำละครระดับคลาสสิกของต่างประเทศมาขึ้นเวทีแสดงในสังคมไทยร่วมสมัย คงจะต้องเริ่มกันที่การแปล บทละครแปลที่ดีคงจะมิได้ขึ้นอยู่กับการที่ผู้แปลเข้าใจต้นฉบับได้ถูกต้องแต่เพียงอย่างเดียว แต่บทแปลจะต้องเหมาะที่จะนำไปแสดงเป็นละครเวทีได้ “สองแปด” ประสบปัญหากับบทแปลมาตลอด เพราะในบางครั้งผู้แปลไม่คำนึงว่าบทแปลจะเป็นบทละครเวทีที่แสดงได้หรือไม่ เคยมีผู้กล่าวไว้อย่างขำขันว่า ละครแปลบางเรื่องที่วางขายอยู่ตามร้านหนังสือ ไม่เป็นทั้งภาษาไทยและไม่เป็นทั้งภาษาคน ปัญหาของแฮมเลต ของ “สองแปด” คือ ปัญหาเรื่องของการขาดเอกภาพของภาษา บางครั้งภาษาไพเราะเพราะพริ้งอ่อนหวาน บางครั้งก็กลายเป็นภาษาของดาราโทรทัศน์วัยรุ่นที่เราได้ยินได้ฟังจากรายการเกมโชว์ทั้งหลาย ผมออกจะเห็นใจผู้แปลว่า คงจะไม่ได้รับผิดชอบในทุกคำพูดที่ผู้แสดงเปล่งออกมาในละครแฮมเลตพากย์ไทยในครั้งนี้ เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้ ก็คงจะต้องอภิปรายประเด็นของการปรับบท ให้เข้ากับบริบทของวัฒนธรรมของผู้รับ บางครั้งคงจำเป็นจะต้องตัดทอน หรือดัดแปลง เพราะความบางตอนนั้น ผู้ชมไทยในปี 2538 ไม่อาจเข้าใจได้ บทของ “สองแปด” มีทั้งตัดและทั้งเติม ส่วนที่ตัดไปบางตอน เช่น บทของ Fortinbras นั้น น่าเสียดาย เพราะทำให้ความหมายของละครเฉไฉไป โดยเฉพาะในตอนจบ ส่วนที่น่าจะตัดแต่ไม่ได้ตัดก็มีอยู่ประปราย (ซึ่งได้มีผู้วิจารณ์ไปบ้างแล้ว) ประเด็นเหล่านี้คงจะเถียงกันได้ไม่จบสิ้น แต่นั่นอาจมิใช่ประเด็นที่สำคัญนัก สิ่งที่เราพึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การแปลงขั้นที่สอง อันได้แก่การทำแฮมเลตให้เป็นละครเพลง
เรื่องของการนำเอาละครเชกสเปียร์มา “ใส่เพลง” ในพากย์ไทยนั้น มีผู้ทึกทักเอาว่าเป็นความคิดบุกเบิกของกลุ่ม “สองแปด” ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในช่วงทศวรรษ 2490 อันเป็นยุคที่ละครเวที (รวมทั้งละครเพลง) กำลังเฟื่องฟูได้มีการนำเอาละครเรื่อง แมคเบธ (Macbeth) ของเชกสเปียร์มาทำเป็นพากย์ไทย โดยมีการใส่เพลงที่แต่งใหม่ด้วย ผมจำเป็นต้องรายงานจากความทรงจำของเด็กวัยสิบขวบ แต่ผมคิดว่าผมยังจำการแสดงที่ศาลาเฉลิมไทยในครั้งนั้นได้อย่างแม่นยำ ผู้กำกับการแสดงคือ ลัดดา สารตายนต์ ซึ่งแสดงนำเป็น Lady Macbeth ด้วย ผมว่าการแสดงของเธอเข้มข้นมาก เรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่เด่นสุด Lady Macbeth ดูจะเป็นตัวที่กำหนดให้เหตุการณ์ดำเนินไปในทางนั้นทางนี้ และชะตากรรมของตัวละครอื่นๆก็ดูจะผกผันไปเพราะบทบาทของเธอ ตอนที่ผมยังจำได้ดีอีกตอนหนึ่งคือ การดวลดาบระหว่าง Macbeth กับ Macduff ซึ่งฝึกกันมาอย่างดีเยี่ยม และใช้เวลาแสดงนานอย่างถึงใจพระเดชพระคุณ คือ ไล่ฟันตั้งแต่เวทีชั้นล่างขึ้นไปจนถึงเวทีที่ยกพื้นขึ้นไป จนกระทั่ง Macbeth ไปจนมุมพ่ายแพ้อยู่เบื้องบน อดิศักดิ์ เศวตนันท์ แสดงเป็น Macduff และวสันต์ สุนทรปักษิณ แสดงเป็น Macbeth ในส่วนของดนตรีนั้น ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง เป็นผู้ประพันธ์เพลง ผมยังจำเพลงๆหนึ่ง ซึ่งเป็นเพลงมาร์ชของทหารฝ่าย Macduff ได้ ดนตรีของประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง นั้น คงจะอยู่กึ่งทางระหว่างอุปรากร กับ musical ผมเพิ่งจะมาสังเกตได้ภายหลังเมื่อได้มีโอกาสชมอุปรากรของ Richard Wagner ว่าดนตรีบางตอนของประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง เป็นการหยิบยืมเอาท่วงทำนองของ Wagner มาแต่งใหม่ (ผมขอย้ำว่าผมไม่มีความลำเอียงแต่ประการใดที่จะไปเหมาเอาว่า นักแต่งเพลงของไทยที่ดื่มด่ำกับอุปรากรของ Wagner จะต้องเหนือชั้นกว่านักแต่งเพลงที่มาทางสายของ musical สมัยใหม่) บุคคลที่เป็นต้นคิดอยู่เบื้องหลังการแสดงละครแนวนี้คือ กุมุท จันทร์เรือง (บิดาของ ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และรู้จักวรรณกรรมและละครตะวันตกอย่างลึกซึ้ง ผมอยากจะคิดว่า แมคเบธ ฉบับไทยในยุคศาลาเฉลิมไทย-ศาลาเฉลิมนคร มีเอกภาพ มีจุดยืน มีความคิดหลัก ซึ่งแม้แต่เด็กสิบขวบก็พอจับได้ การตีความในการแสดงครั้งนั้นค่อนข้างจะชัดเจนคือ “ผู้หญิงเป็นตัวการ” ไม่ว่าจะในทางบวก หรือทางลบ ผมยังเด็กเกินไปกว่าที่จะเชื่อมโยงละครเชกสเปียร์มาสู่บริบททางสังคมและการเมืองของไทย แต่เมื่อมาคิดย้อนหลังไป ผมเดาเอาว่า ที่ตีความอย่างนั้น คณะละคร “ลีลาศาสตร์สุนทร” (ซึ่งก็เป็นคณะเดียวกับ “ผกาวลี”) อาจมีอะไรอยู่ในใจก็ได้
ถ้าจะย้อนกลับมาพิจารณาแฮมเลตของคณะละคร “สองแปด” ผมคงจะต้องสารภาพว่า เมื่อเดินออกมาจากโรงละครแล้ว ผมจำเพลงไม่ได้สักเพลงเดียว (เมื่อได้ดูสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ของ “สองแปด” ผมจำได้ว่าเดินร้องเพลงออกมาจากโรง) สิ่งที่อาจทำให้ผู้ดูบางคนหงุดหงิดก็คือ เราจับไม่ได้ว่าเหตุใดจึงใส่เพลงลงไปในตอนนั้น หรือตอนนี้ของเรื่อง ถึงอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าวง “ไหมไทย” บรรเลงได้ดีมาก และผู้ที่เล่นเป็น Orphelia ร้องเพลงได้ดีมากเช่นกัน นอกนั้นก็กล้อมแกล้มกันไป โดยเฉพาะผู้แสดงเป็น Gertrude คงจะหนักใจกับตนเองไม่น้อยเลยทีเดียว (ได้ข่าวว่าได้มีการไปทาบทามอาจารย์สอนขับร้องชั้นนำของเมืองไทยให้มารับบทนี้ แต่ท่านปฏิเสธ แสดงว่าท่านเป็นผู้มีวิจารณญาณสูงมาก) เรื่องของการใส่เพลงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะละครแบบนี้ไม่ใช่อุปรากร ไม่ใช่จุลอุปรากร ไม่ใช่ละครร้องเต็มรูป เพลงจึงไม่ใช่ตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่เป็นตัวเบิกมิติใหม่ที่บทเจรจาทำไม่ได้ดีเท่า ซึ่งผู้ทำบท และผู้กำกับการแสดงจำจะต้องคิดไตร่ตรองให้ดีว่าจะเสริมบทให้แก่งานของอภิมหาปรมาจารย์ William Shakespeare ได้อย่างไร “สองแปด” มีปัญหาอยู่มากในเรื่องนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดหลักหรือมโนทัศน์ (concept) ของแฮมเลตพากย์ไทยนั้น ผมต้องยอมรับแต่โดยดีว่า ผมตามไม่ทัน การแสดงของ “สองแปด” เป็นไปในแบบของละครพื้นบ้าน (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ซึ่งตามแบบแผนที่ว่านี้ คณะละครก็เพียงแต่ยืมเอาเค้าโครงเรื่องที่มีอยู่ดั้งเดิม แล้วก็มาด้นกันไปในตอนแสดงจริง ลิเกบ้านเราก็ทำเช่นนี้ และทำได้ดีเสียด้วย เมื่อตอนเป็นเด็กผมเคยดูลิเกที่วิกเมรุปูน หน้าวัดสระเกศ เรื่อง อิเหนา ซึ่งมิได้เอาบทพระราชนิพนธ์มาเล่น แต่นำเอาโครงเรื่องของอิเหนา ฉบับหลวง มาเป็นแนวดำเนินเรื่อง เราจะต้องไม่ลืมว่า ลิเกมีความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับวรรณศิลป์กับคีตศิลป์และกับนาฏศิลป์ อย่างน้อยโดยรูปแบบและโดยประเพณีลิเกถูกกำกับให้ทำตัวให้เป็นศิลปะ ผมไม่แน่ใจว่า แฮมเลตของ “สองแปด” ผูกพันกับศิลปะประเภทใดแน่ ที่น่าพิศวงก็คือ ในขั้นตระเตรียมงานนั้น ได้พึ่งผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีอังกฤษ และศิลปะการละครมาแปลบทให้ แต่เมื่อได้บทพากย์ไทยมาแล้ว ก็ดูไม่ใส่ใจที่จะตีบทให้แตก กลับเฉไฉไปทางโน้นทางนี้จนเราจับทิศทางได้ยาก การทำอะไรครึ่งๆกลางๆเช่นนี้เป็นปัญหา ถ้าทิ้งบทของเชกสเปียร์เสียเลย แบบที่ลิเกทำกับพระราชนิพนธ์อิเหนา ก็คงจะไม่เสียหายอะไร แต่การที่ไม่พยายามทำความเข้าใจกับบทของเชกสเปียร์ให้ถ่องแท้ ทำให้ละครของ “สองแปด” กลายเป็นเด็กกำพร้าทางวัฒนธรรมไป เราต้องไม่ลืมว่า วรรณกรรมเอกของโลกเช่น แฮมเลต เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากรู้จักกันดี นอกจากนั้น การแสดงละครแฮมเลต ก็ดำเนินต่อเนื่องกันมานานหลายศตวรรษ ผู้ที่รักละครไม่ว่าจะเป็นเจ้าของภาษาหรือไม่ก็ตามเคารพในความเข้มข้นทางศิลปะและความลุ่มลึกทางความคิดของเชกสเปียร์ ถ้าตัดสินใจจะแปลงบทของมหากวี ก็จำเป็นจะต้องคิดให้หนัก ตรองให้ดี ว่ากำลังทำอะไรที่เป็นการลดระดับหรือลดคุณค่าต้นฉบับของเดิมหรือไม่ ผมค่อนข้างจะประหลาดใจว่า บัณฑิตอักษรศาสตร์ที่อยู่ในคณะละคร “สองแปด” พร้อมที่จะปู้ยี่ปู้ยำกับเชกสเปียร์ถึงเพียงนี้ ในที่สุดก็อดวกกลับมาสู่ประเด็นของ “ความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย” ไม่ได้
ผมอยากขออนุญาตทำหน้าที่ของครูแก่อภิปรายเรื่องหลักการ ในการรับมรดกทางวัฒนธรรมของต่างประเทศต่อไปอีกสักเล็กน้อย เป็นที่รู้กันว่าการจะเข้าถึงวรรณกรรมต่างชาติ (ซึ่งในกรณีของแฮมเลต จำเป็นต้องย้อนอดีตกลับไป 4 ศตวรรษ) มีเงื่อนไขที่กำหนดให้เราต้องพยายามเข้าถึงบริบทของวัฒนธรรมต้นกำเนิดให้ได้ หมายความว่าจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับละครเรื่องแฮมเลต ในบริบทของวิถีชีวิต กระแสความคิดและขนบการละครของคนอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อกับศตวรรษที่ 17 กล่าวอีกนัยหนึ่ง คงจะต้องพึ่งความรู้เชิงวิชาการบ้าง ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสำนึกว่าเราเป็นคนยุคใหม่ อยู่ในวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ต่างออกไปจากสังคมต้นกำเนิด ถ้ายิ่งต่างชาติต่างภาษากันด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ถ่องแท้และถี่ถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะอ้าแขนออกไปสัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมของต่างชาติ ผมเฝ้าสังเกตผู้กำกับการแสดงชั้นนำของยุโรปมาพอสมควร และก็อดที่จะชื่นชมพวกเขาไม่ได้ที่เขาสามารถเชื่อมโยงละครต่างยุค ต่างสมัย ต่างถิ่นให้เข้ามาเป็นตัวปลุกความสำนึกที่มีต่อสังคมร่วมสมัยของเขาเองได้ ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า คนที่ผูกพันกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคมของตนเองนั้น ถ้าได้ศึกษางานศิลปะของต่างถิ่นต่างยุคอย่างถ่องแท้ด้วยแล้ว จะสามารถตีความงานนั้นๆได้อย่างลุ่มลึก สรุปได้ว่า ความเป็นอื่น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราพิจารณาตัวเองได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในแง่นี้ กาลิเลโอ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของ “สองแปด” เป็นตัวอย่างที่ผมชื่นชมมาก ผมยังเชื่อว่า ถ้าคิดให้หนัก ตรองให้ดี แฮมเลตของเชกสเปียร์น่าที่จะบอกความ หรือสื่อความอันสลักสำคัญมายังสังคมร่วมสมัยของไทยได้ แต่ “สองแปด” ออกจะมักง่ายไปสักหน่อยที่รื้อบทตอนที่สำคัญที่สุด ซึ่งเริ่มต้นด้วย “To be, or not to be…” ด้วยการให้ Hamlet ปรับทุกข์กับคนดูเรื่องการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร มีคนบอกผมว่า นั่นคือการใช้เทคนิค “การทำให้แปลก” (Verfremdung) ของ Bertolt Brecht ก็อีกนั่นแหละ ถ้าจะเข้าใจ Brecht ให้ถึงแก่น ก็คงจะต้องศึกษากันให้ลึกซึ้งกว่านี้ เพราะเทคนิค “การทำให้แปลก” นั้น ไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้ในตอนใดก็ได้ตามอำเภอใจ สำหรับผมเองแล้วคิดว่าน่าจะนำไปใช้ตอนสัปเหร่อขุดหลุมฝังศพมากกว่า พูดแล้วก็อดสมเพชตัวเอง และพรรคพวกครูเยอรมันไม่ได้ เพราะได้เขียนเรื่องเบรคชท์และเทคนิคที่ว่ามานี้ไว้ในหลายที่ แต่ก็ไม่มีคนอ่านอยู่ดี ส่วนพวกที่อ่านตำราการละครภาษาต่างประเทศออก ก็มิได้ใส่ใจที่จะนำความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ ว่าแล้วก็จะต้องวกเข้ามาหาประเด็นเก่าอีกครั้ง ก็อุดมศึกษาของเรามันล้มเหลวนี่น่า แฮมเลตเลยต้องมารถติดอยู่แถวถนนรัชดาภิเษก
อาจจะมีผู้กล่าวหาว่าผมทำตัวเป็นพวกหัวสูง ตั้งตัวเป็นผู้รู้ เที่ยวไปเหยียบย่ำคนที่เขามาดูละครเพื่อความบันเทิง ผมก็คงจะต้องตอบว่า ความบันเทิงนั้นมีหลายแบบ และแฮมเลต ก็เป็นวรรณกรรมเอกที่ให้ความหฤหรรษ์ได้หลายทางในหลายมิติ ตำราที่เกี่ยวกับเชกสเปียร์แทบทุกเล่มกล่าวไว้เหมือนๆกันว่า ละครเชกสเปียร์นั้น ชาวบ้านก็ดูได้ ขุนนางก็ดูดี นักปราชญ์ก็ชื่นชม แต่โรงละครเที่เชกสเปียร์แสดงมีคู่แข่งที่สำคัญ อันได้แก่ ตะแลงแกงที่ Tower of London ถ้าวันไหนมีการประหารนักโทษที่นั่น วันนั้นคนที่มาดูละครเชกสเปียร์จะบางตาลงไปมากทีเดียว ผมจึงใคร่ที่จะตั้งคำถามว่า เราจะมุ่งทำละครไว้ให้คนประเภทหลังนี้ดูเท่านั้นหรือ โชคดีที่ถนนรัชดาภิเษกค่อนข้างไกลจากอำเภอเมืองนนทบุรี และประเพณีที่เคยปฏิบัติกันในยุคก่อนๆที่วัดโคก (วัดพลับพลาไชย) ก็ได้เลิกไปนานแล้ว หาไม่ “สองแปด” อาจจะได้คนดูไม่เต็มโรงในบางรอบก็ได้
ความจริงมีอยู่ว่า แฮมเลต ในระดับหนึ่ง เป็นเรื่อง “น้ำเน่า” ที่ค่อนข้างจะโหดเหี้ยม แต่เราจะไปเกาะยึดอยู่กับโครงเรื่องหรือเนื้อเรื่องไม่ได้ แฮมเลตที่โลกรู้จักคือโศกนาฏกรรมของกวีเอกของโลกตะวันตก จริงอยู่ละครเรื่องนี้จบลงด้วยศพเกลื่อนเวที แต่เราจะไปเหมาเอาว่า ความโหดเหี้ยมทางกายภาพ คือ องค์ประกอบหลักของละครไม่ได้ ความยิ่งใหญ่ของโศกนาฏกรรมตะวันตกขึ้นอยู่กับความสามารถของกวีในการปรับความโหดเหี้ยมทางกายภาพขึ้นสู่ระดับของความโหดเหี้ยมทางปรัชญา หาไม่แล้ว ละครเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแค่วรรณกรรมเปื้อนเลือดที่เหมาะสำหรับคนดูจำพวกที่ชอบแวะเวียนไปดูมหกรรมจมเลือดที่ Tower of London องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโศกนาฏกรรมตะวันตกคือความผูกพันกับวรรณศิลป์ กวีผู้ยิ่งใหญ่ของตะวันตกรู้จักที่จะกลบคาวเลือดด้วยวรรณศิลป์ทั้งจับใจคนและทั้งประเทืองปัญญา ถ้าละครคณะใดหรือผู้กำกับการแสดงคนใดไม่ใส่ใจกับลักษณะทางปรัชญาและทางวรรณศิลป์ที่ว่ามานี้เสียแล้ว โอกาสที่จะจับวิญญาณของละครเชกสเปียร์ได้ก็คงจะมีน้อยมาก ฉาก เทคนิคอันโอฬาร และเครื่องแต่งกายอันงามงด คงจะไม่สามารถทดแทนคุณลักษณะอันเป็นพื้นฐานของละครเชกสเปียร์ที่แท้จริงไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การจะใช้เพลงและดนตรีมาเป็นสื่อของปรัชญาก็มิใช่ของง่าย แม้แต่คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของตะวันตก เช่น Giuseppe Verdi ก็ยังเลี่ยง Hamlet แล้วหันไปหา Othello ซึ่งในรูปของอุปรากร ก็ดูจะกระเดียดไปในทาง melodrama อยู่ไม่น้อย ความสำเร็จของ Verdi ในการนำละครเชกสเปียรมาปรับเป็นอุปรากรอยู่ที่ Falstaff ซึ่งเป็นการนำละครเชกสเปียร์ 3 เรื่องมายำใหญ่ และ “ยำใหม่” ได้อย่างน่าทึ่งในลักษณะของสุขนาฏกรรม คีตกวีเยอรมัน Richard Wagner ต้องใช้เวลา 4 คืนเต็ม ในอุปรากรชุด Der Ring des Nibelungen กว่าจะสื่อความคิดหลักเชิงปรัชญาออกมาได้ ผมมิได้ตั้งใจจะพูดว่า ละครเพลงสมัยใหม่สื่อปรัชญาไม่ได้ แต่ผมคิดว่า การนำเอาละครพูดที่แก่นแท้เป็นเรื่องของปรัชญามาทำให้เป็นละครเพลง (ในวัฒนธรรมที่ห่างจากวัฒนธรรมต้นกำเนิด) เป็นงานที่ยากยิ่ง “สองแปด” ควรจะได้ใช้เวลาคิดในเรื่องนี้ และเตรียมตัวสัก 5 ปี ผลที่ออกมาอาจจะเป็นละครเพลงเชิงปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์จะมีใครสักกี่คนที่คิดได้ยาวและคิดได้นานถึงเพียงนั้น
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้คงจะสวนทางกับผู้ดูผู้ชมส่วนใหญ่ ซึ่งชื่นชมกับแฮมเลต ฉบับไทยอย่างไม่มีข้อกังขา นักวิจารณ์เพียงคนเดียวจะทวนกระแสของมหาชนได้อย่างไร ผมเองก็ตระหนักในข้อจำกัดนี้ดี แต่ก็อยากจะย้ำว่า ที่วิจารณ์มาเช่นนี้ก็ด้วยความผูกพันที่มีกับกลุ่ม “สองแปด” มาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ใครๆก็ทราบว่า “สองแปด” สร้างงานที่มีคุณภาพมาตลอด บางครั้งก็พร้อมที่จะเสี่ยงต่อการขาดทุน ถึงอย่างไรก็ดี ผมก็ไม่อยากให้ “สองแปด” ทำตัวเป็นกลุ่มปัญญาชนที่ไม่เห็นหัวคนส่วนใหญ่ แต่ “มหาชนอลเวง” ที่ผมได้ประสบพบมาเมื่อคืนวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น เป็นกลุ่มคนที่มีวิธีการดูละครที่แปลกประหลาด เมื่อละครเริ่มเล่นไปแล้วก็ยังมีผู้คนเดินเข้ามาอยู่ไม่ขาดสาย แต่แรกผมก็คิดว่าเป็นพวกที่มาไม่ทันเพราะรถติด (ซึ่งก็ได้รับความเห็นใจอยู่แล้วจากพระเอก Hamlet !) แต่ในช่วงหลังพักครึ่งเวลาก็ยังมีผู้คนเดินเข้ามา หลังจากที่ละครเริ่มเล่นในช่วงหลังไปแล้ว ที่เดินคุยกันเข้ามาอย่างไม่เกรงใจใครก็มี (ผมได้สอบถามจากเพื่อนที่ไปชมละครในรอบอื่นๆก็ได้รับการยืนยันว่า มหาชนอลเวงอาละวาดในทำนองเดียวกัน) ผู้ชมบางคนตั้งปณิธานมาแล้วว่าจะมาสนุกก็เลยตั้งหน้าตั้งตาหัวเราะ ทั้งๆที่การแสดงบางตอน ไม่น่าจะชวนให้หัวเราะได้เลย ผมคิดว่า “สองแปด” จะยึดเอา “มหาชน” กลุ่มนี้เป็นสรณะที่พึ่ง หรือเป็นตัววัดความสำเร็จของการแสดงคงจะไม่ได้ เพราะพวกเขาคงแยกไม่ออกระหว่างแฮมเลตของเชกสเปียร์ กับหนังร้อยจอที่ทุ่งพระเมรุ คราวต่อไป “สองแปด” คงจะต้องทำคู่มือที่ว่าด้วย “วัฒนธรรมในการดูละคร” ไว้แจกด้วย
ในท้ายที่สุด ผมก็ได้แต่ตั้งความหวังเอาไว้ว่า เมื่อ “สองแปด” ประสบความสำเร็จกับ “ละครอ้วน“ เรื่องแฮมเลต มาแล้ว ก็น่าจะเอาเงินทุนที่สะสมได้ไปสร้าง “ละครผอม” ที่ชวนคิดและประเทืองปัญญาดังที่เคยทำมาในทัศนะของผม ละครเวทีที่น่าประทับใจที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ เมตามอร์โฟซิส ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของ Franz Kafka นั่นคือ “ละครผอม” ในความหมายที่แท้จริง เพราะผมได้รับทราบมาว่าบางรอบมีคนดูไม่ถึง 10 คน (แต่รอบสุดท้ายที่ผมดูมีคนดูไม่น้อยเลย) เท่าที่สังเกตมาผู้ดูผู้ชมละครเวทีส่วนใหญ่คงจะอยู่ในวัยเรียนระดับอุดมศึกษา ผมก็เลยต้องเหมาเอาอีกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก”ความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย” นั่นเอง
ที่มา: เจตนา นาควัชระ.” ‘แฮมเลต’ หรือความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ 42, 2 (11 – 17 มิถุนายน 2538).
บทวิเคราะห์
บทวิจารณ์ชิ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นบทวิจารณ์ที่สร้างปฏิกิริยาอย่างกว้างขวางในแวดวงละครเวทีและนักวิชาการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการละคร) ในปี พ.ศ. 2538 และยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน (2544) ปฏิกิริยาต่อบทวิจารณ์ชิ้นนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ผู้ที่มีปฏิกิริยาในด้านบวก คือผู้ที่เห็นด้วยกับผู้วิจารณ์และรู้สึกถึงการได้รับความเป็นธรรมในฐานะของผู้ชมคนหนึ่ง ส่วนปฏิกิริยาในด้านลบนั้นมักจะเป็นความไม่พอใจที่ผู้วิจารณ์ได้มีการพาดพิงถึงสถาบันและตัวบุคคลซึ่งถือว่าเป็นบรมครูของสถาบันที่มีชื่อเสียงในการริเริ่มละครเวทีแบบสมัยใหม่
ชื่อของบทวิจารณ์ “ ‘แฮมเลต’ หรือ ความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย ” เป็นการตั้งกระทู้อย่างตรงไปตรงมาของผู้วิจารณ์ที่มีต่อผู้สร้างงาน ผู้เสพงาน และผู้อ่านทั่วไป และเป็นกระทู้ที่ผู้อ่านทุกคนจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในอุดมการณ์ของผู้วิจารณ์ที่มีต่อความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยในภาพรวม จึงจะหยั่งเห็นถึง “ประเด็น” ที่ผู้วิจารณ์พยายามจะนำเสนอ ซึ่งเมื่อพินิจแล้วก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้วิจารณ์ไม่ได้มีความจงใจที่จะ “ตำหนิ” ตัวบุคคล หรือ จงใจ “ว่าร้าย” สถาบันอุดมศึกษา “เทวาลัย” อย่างที่มีการเข้าใจกัน แต่การที่จะหยั่งให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของผู้วิจารณ์นั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องอ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้ด้วยใจที่เป็นกลาง และพิเคราะห์ไปตามถ้อยแถลงหรือเหตุผลของผู้วิจารณ์ไปทีละประเด็น ท้ายที่สุดก็น่าจะประจักษ์แจ้งได้ว่าผู้วิจารณ์มีจุดยืนเช่นไร
บทวิจารณ์ชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่มากมายหลายบทบาท และกว่าจะนำพาผู้อ่านไปสู่การตอบคำถามในกระทู้ที่ตั้งไว้ ก็ต้องใช้เวลาในการพินิจพิเคราะห์ความหมายในแต่ละประโยคเป็นอย่างดี และต้องเข้าใจบทบาทของผู้วิจารณ์ที่กำลังแสดงอยู่ในขณะนั้น จึงจะเข้าใจมโนทัศน์โดยรวมทั้งหมดของผู้วิจารณ์
บทบาทที่เห็นได้โดยชัดเจนก็คือการเป็นผู้ประเมินคุณค่าตัวงาน นับตั้งแต่เรื่องของการดัดแปลงบท การใช้ภาษา การแสดง การตีความ การกำกับการแสดง ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจในวรรณกรรมของเชกสเปียร์อย่างลึกซึ้งทั้งสิ้น ในการนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้วิจารณ์มีความรอบรู้อย่างลึกซึ้งต่อตัวบทดั้งเดิม และต่อขนบในการแสดงละครเวทีที่หลากหลาย ในฐานะที่ผู้วิจารณ์ เคยยกย่องความกล้าหาญในการบุกเบิกของกลุ่ม “สองแปด” มาแล้ว จึงดูเหมือนว่า ผู้วิจารณ์มีความ “พร้อมที่จะเปิดใจรับงานบุกเบิกชิ้นใหม่” นี้อยู่แล้ว จึงไม่ลังเลใจที่จะไปชมผลงานเรื่องนี้ และเมื่อประสบการณ์ในการชมนั้น ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง จึงเป็นเรื่องที่ผู้วิจารณ์ต้องออกมาชี้แจงว่า ละครเรื่องนี้มีปัญหาด้านใดบ้าง อีกทั้งยังชี้ให้เห็นทางอีกด้วยว่า หากจะดัดแปลงไปในแนวนี้กันแล้ว ก็ควรจะ “ทิ้งบทของเชกสเปียร์เสียเลย แบบที่ลิเกทำกับพระราชนิพนธ์อิเหนา” แต่การที่ไม่พยายามทำความเข้าใจกับบทให้ถ่องแท้ ทำให้ละครเชกสเปียร์กลายเป็น “เด็กกำพร้าทางวัฒนธรรม” การแตะต้องวรรณกรรมเอกของมหากวี จึงไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำโดย “เล่นๆ” ซึ่งเป็นการไม่แสดงความเคารพต่อความเข้มข้นทางศิลปะและความลุ่มลึกทางความคิดของเชกสเปียร์ ในฐานะของนักวิจารณ์ ผู้วิจารณ์จึงจำเป็นต้องแสดงจุดยืนที่จะปกป้องและรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของผู้ประพันธ์และของตัวงานวรรณกรรม
บทบาทที่สองคือ บทบาทของ “ครู” (ผู้สอนวรรณคดีตะวันตกมากว่า 25 ปี) ซึ่งจำเป็นต้อง “ให้ความรู้” ในเรื่องที่คิดว่าผู้สร้างงานและผู้ชมงานทั้งหลายน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว(แต่กลับแสดงออกราวกับไม่รู้และไม่ยอมนำมาปฏิบัติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของ “ความเข้าใจ” ต่อ “หลักการ” ในการรับ “มรดกทางวัฒนธรรม” จากต่างประเทศ “เงื่อนไข” ที่ผู้สร้างงานน่าจะต้องมีความเข้าใจในด้านวิชาการ ซึ่งเรื่องที่ว่ามานี้ล้วนแต่เป็นหลักพื้นฐานสำหรับผู้ศึกษาวรรณคดีทุกคน บทบาทของ “ครู” ที่แท้ของผู้วิจารณ์คือเมื่อ “ติ” แล้วก็ต้องเป็นไปเพื่อ “ก่อ” การพยายามชี้ให้ “ศิษย์” (ผู้สร้างงาน) เห็นในช่องทางที่จะทำให้สิ่งที่ร่ำเรียนในห้องเรียนนั้นสามารถให้ความหมายกับชีวิตจริงๆ(ของผู้ชม)ได้ด้วย จากการพาดพิงถึงละครเรื่อง กาลิเลโอ ซึ่งประสพความสำเร็จอย่างยิ่งในการนำเอา วรรณคดีตะวันตกมาสร้าง “ความเป็นอื่น” กับผู้ชมจนกระทั่งทำให้สามารถย้อนดูตัวเองได้อย่างลึกซึ้งนั้น เป็นการที่ผู้วิจารณ์ชี้ให้ผู้สร้างงานเห็นว่าพวกเขาจำเป็นต้องสามารถสร้างงานที่ “ปลุกสำนึกที่มีต่อสังคมร่วมสมัย” ให้ได้ (เหมือนอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้วใน กาลิเลโอ) โดยใช้การ “ตีความงานต่างถิ่นให้ลุ่มลึก” ก็จะนำพาให้บรรลุ “การสื่อความอันสลักสำคัญ” มายังสังคมร่วมสมัยของไทยได้
บทบาทที่สามคือบทบาทของนักคิดและนักการศึกษา ผู้ซึ่งได้ปลูกฝังวิชาให้กับลูกศิษย์มากมาย และมีความเข้าใจว่า ความสำเร็จของครูและสถาบันการศึกษานั้นต้องมองที่ตัว “ผลงาน” ของลูกศิษย์ บทบาทสำคัญของครูที่สอนวรรณคดีต่างประเทศในระดับอุดมศึกษาคือสร้างความรู้ความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อวรรณคดีและต่อการดัดแปลงงานวรรณคดีของต่างประเทศ และเมื่อละครเรื่องนี้ทำให้ผิดหวังอย่างรุนแรง สำนึกของผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการศึกษาจึงรุนแรงตามไปด้วย ถึงกับประกาศโดยใช้อารมณ์ว่า “เราคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ครูภาษาต่างประเทศ ครูภาษาตะวันตก ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นพี่ รุ่นผม มาจนถึงรุ่นน้องผม และรุ่นลูกศิษย์ผม ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะเราไม่สามารถสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการรับงานศิลปะของต่างประเทศขึ้นมาได้” แน่นอนว่าผู้วิจารณ์คงจะไม่ได้หมายความตามนี้จริงๆ เพราะลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านวรรณคดีก็มีอยู่ให้เห็นเป็นจำนวนไม่น้อย แต่การแสดงวาทกรรมดังกล่าวออกมานั้น ก็เพียงเพื่อจะกระตุ้น “สำนึก” ของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งปวง เพราะ “เราต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่ร่วมมือกันทำละคร ‘แฮมเลต’ ในครั้งนี้ เป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยเป็นส่วนใหญ่ บางคนผ่านการศึกษาด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษมา บางคนได้รับการฝึกฝนโดยตรงในด้านศิลปะการละครจากมหาวิทยาลัย….” ดังนั้น จึงเป็นที่สนเท่ห์ของผู้วิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ละครเรื่องนี้ “พลาดเป้า” ไปเสียทุกเรื่อง ถึงขั้นที่ว่า “ได้ปู้ยี่ปู้ยำเชกสเปียร์(ผู้เป็นที่รักและเคารพ)ถึงเพียงนี้” ผู้วิจารณ์จึงมองว่าละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาของอุดมศึกษาไทย เพราะไม่สามารถทำให้ การสร้างงานวรรณคดีเอกของโลกนั้น ใกล้เคียงความถูกต้องสมบูรณ์แบบได้ทั้งๆที่มีคณะผู้ทำงานที่ล้วนแต่มากด้วยปริญญาบัตรจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติ
ผู้วิจารณ์จึงให้ข้อสรุปว่า ผลงานชิ้นนี้แสดงความล้มเหลวของผู้สร้างงานต่อวรรณกรรมต้นแบบ ต่อการอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ และต่อระบบการศึกษาของอุดมศึกษาไทย ที่นอกจากจากจะไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตผู้สร้างงานที่ดีแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของ “สำนึก” ของผู้สร้างงานอีกด้วยเนื่องจากผลงานชิ้นนี้เป็นเครื่องหมายของการตกเป็นทาสของ “ธุรกิจบันเทิง” อย่างเต็มรูปแบบไปเสียแล้ว ความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทยในความคิดของผู้วิจารณ์นั้น แผ่ขยายไปถึงพฤติกรรมและการแสดงออกของผู้ชมที่ไปชมละครด้วยว่าส่วนใหญ่แล้วทำตัวเป็น “มหาชนอลเวง” ที่ดูละครเรื่องนี้เพื่อความบันเทิงแต่อย่างเดียว และเหตุที่เป็นผู้ชมเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยอุดมศึกษา ผู้วิจารณ์จึงได้ข้อสรุปที่หนักแน่นยิ่งกว่าเดิมว่า อุดมศึกษาของไทยนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสร้างนักศึกษาที่มีวัฒนธรรม(ที่น่าจะเสพงานศิลปะได้บ้าง) ข้อสรุปที่ว่าผู้ชมกลุ่มที่ว่านี้ “คงแยกไม่ออก ระหว่างแฮมเลตของเชกสเปียร์ กับ หนังร้อยจอที่ทุ่งพระสุเมรุ” จึงดูไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก
บทวิจารณ์ชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของนักวิจารณ์ในสังคมไทย ซึ่งจำเป็นต้อง “สวมหมวกหลายใบ” เพื่อที่จะนำเสนอมโนทัศน์อันซับซ้อนของความล้มเหลวของอุดมศึกษาไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้วิจารณ์ ใช้การ “สารภาพบาป” (ตัดพ้อแกมประชด) ว่า ความล้มเหลวในทางศิลปะ (แต่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ)นั้น ไม่ได้มีปัจจัยมาจากความล้มเหลวในการสอนวรรณคดีหรือภาษาต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความล้มเหลวของอุดมศึกษาในฐานะผู้ผลิต “ปัญญาชน” ที่พึงจะต้องพร้อมด้วย “อุดมการณ์” ทางสังคมและมีความรับผิดชอบ “ทางศิลปะ”
บทวิจารณ์ชิ้นนี้ ได้ทำหน้าที่ในการ “ปลุก” ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง “ปัญญาชน” ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพหงอยเหงาและอับเฉา ให้ “ตื่น” กระตุ้นและเรียกร้องให้ผู้คนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยให้หันมาแสวงหาความจริงทาง “ปัญญา” แทนการแสวงหากำไรแบบที่ยึดความต้องการของมหาชนเป็นสรณะ การวิจารณ์ในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ “สวนทางกับผู้ชมส่วนใหญ่” ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อยังประโยชน์แก่สังคมโดยรวม
นักวิจารณ์ละครเวทีในสังคมไทย จึงไม่ใช่ผู้ประเมินคุณค่างานสร้างสรรค์แต่อย่างเดียว แต่ยังพร้อมที่จะทำหน้าที่ปลุกสำนึกทางสังคม ด้วยความมุ่งมั่น กล้าหาญอีกด้วย
ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ : ผู้วิเคราะห์