มังกรสลัดเกล็ด: หัวเลี้ยวของละครไทยร่วมสมัย
มังกรสลัดเกล็ด: หัวเลี้ยวของละครไทยร่วมสมัย
เจตนา นาควัชระ
พวกเขาได้รับมอบหมายให้มาสร้างละครฟอร์มใหญ่ เพื่อฉลอง 100 ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ศิษยานุศิษย์ร่วมแรงร่วมใจกันหาทุนมาสนับสนุนคณะละคร “อนัตตา” แต่ชื่อของกลุ่มละครก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าพวกเขาไม่ยึดติดกับตัวตน นัยว่าพวกเขาเดินตามทิศทางที่ผู้มอบงานได้ให้ไว้ ดังที่ระบุไว้บนปกของสูจิบัตรว่าได้ “แรงบันดาลใจจากชีวประวัติ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ คนดีที่แผ่นดินไม่ต้องการ” แต่สิ่งที่ผมได้เห็นบนเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อบ่ายวันที่ 31 พฤษภาคม 2558 ไปไกลกว่าโจทย์ที่ได้รับมอบหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการแปลงสาร แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานศิลปะที่ทรงคุณค่าผลักดันให้พวกเขาสร้างสิ่งที่มีความหมายเกินกว่าข้อผูกพันกับข้อเท็จจริง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า มังกรสลัดเกล็ด ไม่ใช่ ละครอิงข้อเท็จจริง (documentary theatre) เช่น คือผู้อภิวัฒน์ (2530) หรือ เพื่อชาติ เพื่อ humanity (2556) ผู้เขียนบทใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันรวมถึงข้อมูลจากชีวประวัติและอัตชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยมาเป็นเชื้อไฟ แต่ละครจริงมีความหมายที่เป็นสากลจนถึงระดับที่เราอาจจะต้องยอมรับว่า ถ้าถอดชื่อป๋วยออกไปจากละครเรื่องนี้ งานศิลปะชิ้นนี้ก็ยังทรงพลังในฐานะละครแห่งความคิดอยู่นั่นเอง
เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่าอาจารย์ป๋วยเป็นใคร ได้ทำอะไรให้ไว้แก่บ้านเมืองบ้าง ถ้าไปพูดกรอกหูพวกเขามากเกินไป เขาอาจะเบื่อเสียก่อน แต่ถ้าเขาดูละครเป็น (ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดกับคนรุ่นใหม่ทุกคน) เขาคงจะต้องได้รับความประทับใจจากสารที่แฝงเป็นแก่นของละครเรื่องนี้ นั่นก็คือ คนธรรมดาสามัญที่พ่อแม่สั่งสอนมาดี ได้รับการศึกษาที่ดี (ซึ่งไม่ได้แปลว่าได้ปริญญาขั้นสูงมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) จะใช้สัญชาตญาณใฝ่ดีที่ติดตัวมาในการช่วยกำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ แทนที่จะถูกกลืนกินไปอย่างง่ายดายในกระแสของประวัติศาสตร์ ความสำเร็จของละครเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ไม่ใช่เป็นงานเทอดทูนวีรบุรุษ ไม่ใช่อาศิรวาท แต่เป็นการมองโลกและสังคมด้วยวุฒิภาวะว่า ความสำเร็จหรือความล้นเหลวที่ผู้คนส่วนใหญ่มองเห็นนั้น เป็นสิ่งที่ตื้นเขินทั้งสิ้น ตัวละครเอกทำกิจสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่สิ่งที่ให้กำลังใจอันมหาศาลแก่ผู้ชมก็คือ สัญชาตญาณใฝ่ดีในคนๆ หนึ่งปลุกสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวคนอื่นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้จากละครเวทีเรื่องนี้อาจเป็นมุมเล็กๆ เช่นการที่ป๋วยชักจูงให้นักการเมืองระดับสูงสละตำแหน่งในธนาคารพาณิชย์เสีย แม้ผลที่ได้จะอยู่ในวงจำกัดมาก แต่ก็เป็นการทำลายอคติของคนส่วนใหญ่ว่า นักการเมืองสับปลับในทุกกรณี และคำขวัญลมๆ แล้งๆ เช่น “จงทำดี” เป็นวาทกรรมตอแหล ในขณะที่ป๋วยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการหยุดยั้งไม่ให้ลูกศิษย์ของเขา ที่มืดบอดไปกับอุดมการณ์ทางการเมืองบางกระแส ต้องเดินไปสู่ความตายอันโหดเหี้ยมที่สุดที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยเคยมีมา โลกนี้ซับซ้อนยิ่งนัก ละครสะท้อนชีวิตทำหน้าที่ปลุกมโนธรรมได้ก็ต่อเมื่อละครรู้จักสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนนั้นด้วยวิธีการที่ชวนประทับใจและชวนให้คิดต่อ
ในแง่นี้ ผมอยากจะพูดให้ไกลไปเลยว่า มังกรสลัดเกล็ด เป็น “ละครย้อนสูจิบัตร” การออกข่าวสารประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เช่นในรูปของโปสเตอร์ รวมทั้งข่าวออนไลน์ที่เผยแพร่ไปล่วงหน้าในแบบของพรีวิว (preview) สร้างความคาดหวังให้แก่มหาชนว่า เรากำลังจะได้มาชมวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนธรรมดาที่ไต่เต้าขึ้นไปถึงขั้นผู้นำทางปัญญาและผู้นำในด้านอื่นๆ และแม้แต่สูจิบัตรเองก็เป็นไปในทางนี้ แต่เมื่อผมกลับบ้านมาอ่านข้อเขียนของผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดง ผมก็ได้รับการยืนยันประสบการณ์ที่ได้ชมละครเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า “ในบทละครเรื่องนี้ ‘ป๋วย’ ชายธรรมดาสามัญที่สร้างคุณูปการไว้กับประเทศ ไม่ใช่วีรบุรุษหรือปราชญ์เมธีที่หาข้อบกพร่องมิได้…” เมื่อผมย้อนกลับไปอ่านคำคมของศาสตราจารย์ น.พ. ประเวศ วะสี ที่ลงพิมพ์ไว้ในสูจิบัตร ผมก็ต้องถามตัวเองว่า ละครที่ผมได้ชมเป็นไปตามคำปรารภของท่านราษฎรอาวุโสหรือไม่ การที่ท่านพูดถึงความโชคร้ายที่เราต้องสูญเสีย “คนดีศรีประเทศ” ควรจะทำให้เราต้อง “สำรวจตรวจสอบสังคมของเราดูว่า มีเหตุปัจจัยอะไรอย่างเป็นระบบหรือเปล่าที่ไม่เกื้อหนุน แต่ทำลายศักดิ์ศรีประเทศ จนกระทั่งเราขาดแคลนเทพเจ้าแห่งความดีที่เป็นคนไทย” ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงบางคนคงอยากจะรีบออกมาแสวงหาศัตรูของชาติ หรือศัตรูของประชาชนให้ได้ แล้วนำตัวมาลงโทษเสียให้สาสม อย่างน้อยถ้าใช้เวทีละครเป็นตะแลงแกงสำหรับ “ศัตรู” เหล่านี้ได้ก็ยังดี
ประดิษฐ ประสาททอง และคณะไม่ให้น้ำหนักกับการสร้างอารมณ์รุนแรง สังเกตได้ว่าบทบาทของนักการเมืองขี้โกงนั้น กลายเป็นตัวกระจอกที่ชวนให้ขำขันมากกว่า ดังฉากในภัตตาคารจีนที่พวกเขาพยายามจะติดสินบนป๋วย หรือแม้แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็แสดงออกด้วยภาพกึ่งสัญลักษณ์โดยมีผู้นำเอาธงชาติมาทิ่มแทงนักศึกษา ซึ่งแสดงออกอย่างรวดเร็วเสียจนเราไม่มีเวลาที่จะเพาะอารมณ์โกรธขึ้นมา เขาคิดว่าศัตรูของประชาชนไม่มีหรือ หรือเขาจับ “ศัตรูที่ลื่นไหล” เหล่านี้ไม่ทัน หรือไม่ต้องการจะจับ กรณีของมังกรสลัดเกล็ด ไม่ใช่กรณีของบทกวีของศักดิ์สิริ มีสมสืบ “รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี” ที่ผมชื่นชอบด้วยความจริงใจ เพราะนั่นเป็นการประกาศอย่างหนักแน่นถึงความยิ่งใหญ่ของ “อภัยทาน”[1] ผมไม่คิดว่าละครมิวสิคัลเรื่องนี้ต้องการที่จะส่งสารชัดเจนเช่นนั้น เมื่อคิดหาคำตอบแบบเร่งด่วนไม่พบ ผมก็ต้องพึ่งความเป็นครูภาษาตะวันตก ผมนึกถึง “ละครประวัติศาสตร์” เรื่อง ความตายของดองตอง (ภาษาเยอรมันว่า Dantons Tod) ของนักประพันธ์ชาวเยอรมัน เก-ออร์ค บืชเนอร์ (Georg Büchner: 1813-1837) ซึ่งวาดภาพของความขัดแย้งในระดับบุคคลในกรอบของการปฏิวัติฝรั่งเศสเอาไว้อย่างน่าคิดมาก แต่ในละครของไทยเรื่องนี้ เรามองไม่ออกว่าใครคือพระเอก ใครคือผู้ร้าย ประดิษฐและคณะเดินมาถึงขั้นของ “ความเป็นกลางของประวัติศาสตร์” ที่มิใช่ความเฉยเมยต่อความผิดชอบชั่วดี ผมลองทวนความจำต่อไป โดยย้อนกลับไปคิดถึงสมัยที่ทำวิทยานิพนธ์ และได้ไปพบทฤษฎีของกลุ่มโรแมนติกเยอรมัน ซึ่งดูจะแหวกแนวออกไปจากนักคิดตะวันตกอื่นๆ นั่นก็คือ พวกเขาอธิบายความยิ่งใหญ่ของเชกสเปียร์ว่า มหากวีผู้นี้มองมนุษย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เพราะสามารถถอยห่าง แล้ววางตัวไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่สูงพอที่จะมองลงมาที่โลกมนุษย์ ราวกับจะแสดงให้เห็นว่า “ข้าฯ เข้าใจแล้วว่าโลกเป็นอย่างนี้” กลุ่มโรแมนติคเรียกจุดยืนของมหากวีว่า “irony” ในความหมายที่ไม่เหมือนใคร (ซึ่งคงหาคำแปลให้ตรงไม่ได้) ผมอดคิดไม่ได้ว่า ผู้สร้าง มังกรสลัดเกล็ด ก็คงจะใช้วิธีการที่คล้ายกัน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการยกยอกันจนเกินการ แต่ผมหาคำอธิบายด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ เมื่อนักวิจารณ์คิดอะไรไม่ออก เขามักจะอ้างทฤษฎีของผู้อื่น ผมยอมรับข้อบกพร่องของตนเองในกรณีนี้
กว่าทศวรรษมาแล้ว ประดิษฐ ประสาททอง สร้างละครขึ้นมาเรื่องหนึ่งซึ่งนำออกแสดงกลางแจ้งใต้ต้นลำพู ณ สวนสันติชัยปราการ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รอบที่ผมดูเป็นเวลากลางคืน มองไปเห็นสะพานพระราม 8 อยู่เบื้องหลัง ชวนให้ผมฟุ้งซ่านนำเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ นานามาโยงกัน แล้วเขียนเป็นบทวิจารณ์ที่ค่อนข้างจะใช้อารมณ์ว่า “คำกล่าวหาจากศาลาทวงศพ” ที่ผมเกิดอารมณ์รุนแรงก็เพราะงานต้นแบบชื่อ นายซวยตลอดศก ชี้ชวนให้ผมร่วมออกไล่ล่า “ศัตรูที่ลื่นไหล” ไปกับพวกเขาด้วย เมื่อปี 2545 ชายหนุ่มและหญิงสาวกลุ่มนี้ยังคิดว่าศัตรูของประชาชนมีอยู่ และก็มีความสามารถสูงพอที่จะชวนให้ผู้ชมที่มีใจสวามิภักดิ์เช่นผมเห็นคล้อยตามไปด้วย[2] เวลาผ่านไป พวกเขาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ทั้งๆ ที่เขาคงไม่เคยอ่านทฤษฎีโรแมนติกเยอรมัน แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาตัดสินใจเดินไปในทิศทางที่พ้องกับกลุ่มโรแมนติก แต่ก็ด้วยเหตุอันใดเล่าที่พวกเขา ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “ละครผอม” ผละหนีจากถิ่นกำเนิด แล้วหันมา “เล่น” กับ “ละครอ้วน” ในรูปของมิวสิคัล
ผมตั้งโจทย์อันหนักหน่วงให้แก่ตัวเองอีกแล้ว โดยไม่ประสงค์ที่จะรับรู้ความจริงจากปากผู้สร้าง มังกรสลัดเกล็ด ผมเฝ้าสังเกตนักแสดงกลุ่มนี้มานานพอที่จะเห็นทิศทางของพัฒนาการทางความคิดและพัฒนาการทางศิลปะของพวกเขาได้บ้าง กลุ่ม “มะขามป้อม” อันเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเขาเป็น “ละครผอม” ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ มีการสร้างนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านของรูปแบบและเนื้อหา ข้อจำกัดในเชิงกายภาพในรูปของพื้นที่แสดงขนาดเล็กอาจจะเป็นคุณกับพวกเขาเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องสลัดทิ้งเสียซึ่งการสร้างสิ่งบันเทิงที่ตระการตา (spectacle) นักแสดงกับคนดูอยู่ใกล้กันมาก ทุกคำพูด ทุกอิริยาบถต้องสื่อความหมาย นักแสดงต้องพยายามไม่ให้เกิดความผิดพลาด ความใกล้ชิดในเชิงกายภาพทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางความคิดและทางใจ ถ้าเทียบกับดนตรี (ตะวันตก) ก็คงจะเทียบได้กับ chamber music ซึ่งเรียกร้องความสมบูรณ์ในด้านของการแสดงและความเป็นกันเอง (intimacy) ระหว่างผู้แสดงกับผู้ชม ผมได้เคยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษเอาไว้ในชื่อเรื่องว่า “Spatial Concentration and Emotional Intensity” (1990) แต่เป็นการวิเคราะห์งานวรรณกรรมฝรั่งเศสของ Sartre และ Camus ที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนไทย[3] ถึงอย่างไรผมก็เชื่อว่าหลักการเดียวกันใช้ได้กับ “ละครผอม” ของเราด้วย เรื่องของความเข้มข้นทางอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วในงานของนักแสดงกลุ่มนี้ แต่ก็ถูกกำกับด้วยความเข้มข้นทางความคิด ซึ่งในบางครั้งเป็นเรื่องของการใช้เหตุผล (rationality) เป็นกรอบที่คุมอารมณ์มิให้ล้นเปี่ยม นั่นอาจจะเหมาะกับทิศทางของละครเพื่อการศึกษาที่กลุ่ม “มะขามป้อม” เดิม ต้องตอบสนอง
เมื่อมีการก่อตั้งคณะละครใหม่ที่มีเสรีภาพในการกำหนดทิศทางของการแสดงมากขึ้น (แต่คงไม่ถึงขั้น “ศิลปะเพื่อศิลปะ”) นักแสดงกลุ่มนี้ก็กล้าที่จะสร้างความแปลกใหม่ที่เป็นไปตามหลักการทางสุนทรียภาพได้เด่นชัดกว่าเดิม ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจยิ่งคือ The Return of Wanthong เพราะเป็นการตีความใหม่ที่ทำให้เราต้องกลับไปอ่าน ขุนช้างขุนแผน ด้วยความพินิจพิเคราะห์กว่าเดิม งานศิลปะที่เราทึกทักเอาว่าเป็นงานที่สร้างเสร็จแล้ว (finished work) นั้น ความจริงเป็นเพียงศักยภาพ (potential) ตามทฤษฎีของนักปรัชญาและนักวรรณคดีชาวโปแลนด์ Roman Ingarden (1893-1970)[4] การตีความ (interpretation) โดยปกติเป็นกิจของผู้รับ แต่การตีความใหม่ (re-interpretation) มักจะเป็นกิจของผู้สร้าง ซึ่งนำเอางานต้นแบบมาตีความใหม่ด้วยการสร้างใหม่ที่แหวกแนวออกไปจากทิศทางเดิม The Return of Wanthong มิใช่ละครชวนหัว แต่เป็นละครชวนคิด และผู้สร้างมีความกล้าถึงขั้นที่จะแต่งต่อเติมจากงานต้นแบบด้วยกลอนเสภาใหม่ซึ่งผู้รู้เท่านั้นที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นของเก่า อะไรเป็นของใหม่ การถอยห่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถอยห่างในด้านของเนื้อหามากกว่ารูปแบบ เป็น “การทำให้แปลก” (Verfremdung) ที่เกินไปกว่าวิธีการแสดงที่ Bertolt Brecht (1898-1956) ได้คิดเอาไว้ และใช้ในละครของเขา เปรตนางวันทองทำหน้าที่ใหม่ในการเตือนสติลูกของตัวเอง ซึ่งพอสรุปความได้ว่า “แกกะล่อน คิดแต่จะเอาตัวรอด แกไม่ปกป้องเกียรติของแม่” (ซึ่งไม่ได้แปลว่า เกียรติยศของสตรี ที่กลุ่มสตรีนิยมต้องการจะให้เป็น) นั่นเป็นการใช้วรรณคดีมรดกวิพากษ์สังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างสะใจนัก
ผมจงใจออกนอกเรื่องไปบ้าง ก็เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มังกรสลัดเกล็ด มิใช่มิวสิคัลในความหมายที่ผู้คนส่วนใหญ่คาดหวัง เพราะนักแสดงกลุ่มนี้มีประสบการณ์เฉพาะของตนที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มผู้ทำละครที่มุ่งสร้างความประทับใจด้วยความโอ่อ่าโอฬาร ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อโอกาสมาถึง พวกเขาก็ใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างดี สิ่งแรกที่ผมสังเกตได้ก็คือ เขาใช้พื้นที่อันมโหฬารของเวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้เต็มศักยภาพ เปิดฉากมาก็เห็นป๋วยตอนเด็กลากจักรยานวิ่งผ่านเวทีไปอย่างรวดเร็ว ในตอนแรกยังไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร แต่ต่อมาก็เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นเรื่องของเด็กชายที่แม่เข้มงวดมาก ไม่อยากให้ทำอะไรที่โลดโผน แม้แต่ขี่จักรยาน ซึ่งในที่สุดลูกชายก็ฝืนคำสั่งจนได้ และก็ทำตนเองแขนหัก องก์แรกใช้เวลานานมากกับเรื่องการอบรมสั่งสอนของครอบครัว ณ จุดนี้ ผู้กำกับการแสดงคงมีปัญหากับตัวเวที จึงไม่เลือกวิธีการแสดงที่เน้นฉากภายในบ้าน สำหรับตอนที่ละครใช้พื้นเวทีอันกว้างใหญ่นี้ในการสร้างความประทับใจคือ ฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งฝูงชนวิ่งสวนกันไปมาอย่างรวดเร็วมาก ทำให้ผมอยากรู้ว่า ใครหนอคือผู้กำกับเวทีที่ฝึกปรือผู้แสดงเหล่านี้มาไม่ให้วิ่งชนกัน ในที่สุดก็ได้ทราบว่าผู้รับผิดชอบคือ หัวหน้า คณะละคร “B-Floor” (ธีระวัฒน์ มุกวิไล) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูงในด้านของการกำกับความเคลื่อนไหวของตัวละคร ละครมิวสิคัล โดยธรรมชาติชอบเวทีขนาดใหญ่ และในการแสดงครั้งนี้ ผมคิดว่าดนตรี การขับร้อง และการเต้น (ซึ่งอาจไม่ใช่จุดเน้น) ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเวทีเป็นเบ้าหลอมการแสดงที่ใหญ่เกินไป
ขอโอกาสพูดถึงดนตรีเสียเลย ณ ที่นี้ เพราะผมคิดว่านั่นคือองค์ประกอบหลักที่ทำให้มิวสิคัลเรื่องนี้คงความเป็นมิวสิคัลได้อย่างสมภาคภูมิ ละครเรื่องนี้มิได้เน้นการสร้างเพลงหลักเพียงไม่กี่เพลงที่ฟังแล้วติดหู (จุฬาตรีคูณ ใช้เพียง 5 เพลงที่กลายเป็นเพลงอมตะไปทั้งหมด) แต่เป็นการใช้ดนตรีดำเนินเรื่องอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงมีพื้นมาจากดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ผู้ประพันธ์เพลง (คานธี วสุวิชย์กิต) ก็ตอบสนองทิศทางนั้นด้วยการนำทำนองเพลงไทยเดิมมาปรับและขยายต่อด้วยเครื่องดนตรีที่หลากหลายมาก ระหว่างพักครึ่งเวลา ผมถือโอกาสชะโงกหน้าไปใน “ห้วงเหว” หน้าเวที (ศัพท์นี้มาจากวากเนอร์ที่ใช้คำว่า “Abgrund”) เห็นเครื่องดนตรีหลากชาติที่นักดนตรีใช้แล้วก็เกิดความทึ่งเป็นอันมาก เสียงที่เราได้ยินจึงเป็นเสียงที่หลากหลาย ปรับไปตามความต้องการที่หลากหลายเช่นกัน ถ้าละครกล่าวถึงครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ดนตรีก็ตอบสนองให้ได้ ถ้าอยากจะเป็นไทยก็เสนอเพลงที่เรารู้จักกันดี เช่น แขกสาหร่าย ซึ่งบรรเลงด้วยลีลาที่เป็นสมัยใหม่ คณะละครเดิมรู้จักละครร้องสมัยแม่เลื่อนมาเป็นอย่างดี (โปรดอย่าลืมว่าครูเอื้อ สุนทรสนาน เริ่มต้นที่นั่น ก่อนจะหันมาพัฒนาเพลงไทยสากลอย่างเต็มรูป) นักแสดงบางคนฝึกปรือการร้องเพลงแบบนี้มาจาก ตุ๊กตายอดรัก เพลงรัก 2475 และ ศรีบูรพา: บันทึกแห่งอิศรา เมื่อมาถึง มังกรสลัดเกล็ด ก็ช่ำชองในเรื่องการร้องมาแล้ว แต่ผู้ประพันธ์เพลงก็เรียกร้องให้เติมเทคนิคการร้องที่นำเข้าสู่แนวตะวันตกได้อย่างไม่ขัดเขิน สำหรับเพลงหมู่นั้นทำได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง เช่น ในตอนที่ญี่ปุ่นขึ้นเมือง มีการตั้งประเด็นเป็นเพลงว่า “สงครามจู่โจม เราจะอยู่ข้างใคร” มีบางตอนที่ทั้งทำนองและคำร้องของเพลงหมู่แสดงถึงความห้าวหาญและหนักแน่น เช่น “กูเป็นชายชาติเชื้อชาตรี” แต่ส่วนที่ทำให้ผมทึ่งที่สุดคือการร้องเดี่ยว และร้องคู่ (duet) โดยผู้แสดงเป็นอาจารย์ป๋วยตอนสูงอายุ และมากาเร็ต ภรรยาของท่าน (มนทกานติ รังสิพราหมณกุล) โน้ตตัวสุดท้ายที่สุประวัติ ปัทมสูต ผู้แสดงเป็นป๋วยตอนปัจฉิมวัยถูกกำกับให้ร้องนั้นเป็นการเปล่งเสียงแบบกึ่งอุปรากรเลยทีเดียว ซึ่งสุประวัติทำได้ ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยเลขเจ็ดตอนท้ายแล้ว (ผมได้มีโอกาสสนทนากับสุประวัติหลังการแสดง ผู้ซึ่งบอกผมว่า ไม่เคยเปล่งเสียงได้ในระดับนี้มาก่อนเลย) ผมต้องหยุด ณ ตรงนี้ ก่อนที่จะพลาดพลั้งไปพูดถึงเรื่องปาฏิหาริย์!
อันที่จริง มังกรสลัดเกล็ด เป็นละครที่สร้างและกำกับได้อย่างลงตัวด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นของทุกคนในคณะละคร เมื่อผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงมีพื้นมาจากลิเกของไทยเรา (ซึ่งข้อนี้ทำให้ผมมีใจสวามิภักดิ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเพราะนั่นคือสิ่งบันเทิงประจำของผมในตอนเด็ก) การสร้างละครที่ไม่เน้นสัจนิยม (Realism) จึงเป็นหลักการที่ทุกคนต้องยึดตาม อย่าลืมว่าประโยคแรกที่ผู้แสดงลิเกเปล่งออกมาเป็นคำพูดในตอนเริ่มแสดงก็คือ “สมมุตินามตามท้องเรื่อง ตัวของข้าพเจ้าเองมีนามว่า …” วัฒนธรรมการแสดงที่มาจากลิเกจึงไม่ยึดสัจนิยมเป็นสรณะ มังกรสลัดเกล็ด ไม่พยายามสร้างความสมจริงด้วยการใช้ตัวละครตัวเดียวแสดงเป็นตัวละครหลักตั้งแต่เยาว์วัยไปจนถึงปัจฉิมวัย แต่เปลี่ยนตัวแสดงไปเป็นช่วงๆ สำหรับผู้แสดงที่เล่นเป็นป๋วยและมากาเร็ตนั้นใช้ตัวแสดงชายสาม หญิงสาม เปลี่ยนไปตามวัย (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้ผู้แสดงที่มีอายุตรงตามความเป็นจริง) ผู้แสดงหลักบางคนเป็นดารายอดนิยมที่อาสามาเล่นละครเรื่องนี้โดยลืมไปว่าตนเองเป็นดารา ในหลายตอนมีการเปลี่ยนตัวแสดงให้เราเห็นบนเวทีเสียเลย อาทิ ให้ตัวละครวัยหนึ่งแสดงอยู่ ในขณะที่ตัวละครอีกวัยหนึ่งยืนรอรับบทต่อไป ยิ่งในช่วงที่เปลี่ยนช่วงเวลาด้วยเทคนิค flashback ด้วยการใช้คนเล่นต่างคนกัน เราก็สำนึกได้ทันทีว่าละครไม่ใช่ “มายาอันสมบูรณ์”[5] คงจะไม่ใช่เป็นการจงใจที่จะ “ทำให้แปลก” อย่างเต็มรูปตามทฤษฎีของเบรคชท์ แต่วิธีการแสดงดังกล่าวช่วยให้เราได้หยุดคิดและฉุกคิดอยู่ตลอดเวลา มิวสิคัลเรื่องนี้จึงมิใช่สิ่งบันเทิงที่ตระการตาดังที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกร้องกัน แต่เป็นการเปลี่ยนวิกจาก “ละครผอม” อันเป็นละครแห่งความคิด มาขึ้นเวทีใหญ่ได้อย่างเหมาะสม ในเมื่อหลักการเป็นเช่นนั้น การจะเดินตามข้อมูลเชิงประวัติโดยเคร่งครัดจึงเป็นสิ่งที่ผู้สร้างจงใจไม่กระทำ ผู้สร้างบทที่ไม่ประสีประสาคงจะเขียนบทตอนท้ายตามความจริงให้เห็นภาพของอาจารย์ป๋วย เป็นอัมพาต พูดไม่ได้ ทำไปทำมาเลยอาจจะกลายเป็นละครเรียกน้ำตาด้วยความเวทนา สงสาร ถ้าทำอย่างนั้น ความสง่างามของตัวละครเอกก็จะอันตรธานไปสิ้น
การใช้ข้อมูลเชิงชีวประวัติให้เกิดประโยชน์นั้น ผู้เขียนบททำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เรื่องของหญิงชราคนหนึ่งที่เข้ามาหาป๋วยตอนเป็นเสรีไทยโดดร่มลงมาผิดที่แล้วถูกจับที่จังหวัดชัยนาท มีความหนักแน่น เพราะฉากนี้ปรากฏขึ้นถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจริง และในครั้งที่ 2 เป็นการคิดย้อนหลัง ซึ่งข้อมูลนี้ก็มาจากหนังสือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของอาจารย์ป๋วยเอง ซึ่งระบุว่า หญิงชราผู้นั้น “นั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึง 2 ชั่วโมง ไม่ไปไหนและนั่งเอามือกอดเข่า … และพูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆ ว่า พุทโธ่หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า”[6] เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างป๋วยกับมารดานั้นเป็นจุดสำคัญของเรื่อง เพราะบิดาของป๋วยถึงแก่กรรมเมื่อเขายังเล็ก และมารดาเสียสละให้แก่ลูกมาตลอด การใช้ฉากของหญิงชราผู้นี้มาสะท้อนเรื่องความรักของแม่ที่มีต่อลูก จึงเป็นการส่งสารอันสำคัญโดยทางอ้อม แต่ก็อีกนั่นแหละ ในชีวิตจริง แม่ของป๋วยยอมลำบาก เป็นหนี้เป็นสินเพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งค่าเล่าเรียนแพงมาก โดยแม่ยึดคำคมภาษาจีนว่า “ชิ้วเส่ยอาตั้วกาชึง” แปลว่า “มือเล็กอุดก้นใหญ่”[7] เกร็ดจากชีวประวัติก็สร้างความขำขันได้เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใคร่ขอยกมาอภิปรายก็คือ ฉากบ้านของป๋วยในตอนที่มีตำแหน่งสำคัญแล้ว แต่ก็สมัครใจอยู่เรือนไม้ และภรรยาชาวอังกฤษก็ดูจะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่สุดแสนจะธรรมดานั้นได้เป็นอย่างดี หนังสืออัตชีวประวัติของอาจารย์ป๋วยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้แบบกึ่งตลก แต่เปี่ยมด้วยคติสอนใจ ดังข้อความที่ว่า “จอมพลสฤษดิ์ได้พูดกับผมสองสามครั้งว่า คุณป๋วย ผมรู้ดอกว่าบ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย เอาไหม ผมจะสร้างตึกให้อยู่อย่างสบาย ผมก็ตอบท่านว่าขอบพระคุณ แต่ผมอยู่สบายแล้ว ไม่เคยบ่นว่าไม่สบายเลย ครั้นท่านเซ้าซี้หนักเข้าก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่า เมียผมเขาไม่ชอบอยู่ตึก ถ้าท่านสร้างตึกให้ก็จะเข้าอยู่ไม่ได้”[8] จะเห็นได้ว่าผู้เขียนบทมีความจัดเจนสูงมากในการที่จะปรับข้อมูลเชิงชีวประวัติให้เป็นละครที่น่าสนใจยิ่ง
ละครฉากสุดท้ายเดินไปในทางตรงกันข้าม เป็นการสร้างความหวังเสียด้วยซ้ำว่า “ข้าฯ ทำได้เท่านี้ ข้าฯ ก็เป็นผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ได้แล้ว ตามวิธีของข้าฯ” แทนที่จะกลับบ้านมาด้วยความเศร้าหมอง ผมกลับเกิดความรู้สึกเบิกบานใจเสียด้วยซ้ำที่ได้ร่วมรับรู้ชะตากรรมของสามัญชนคนหนึ่งที่มุ่งกระทำความดี และน่าจะเป็นตัวอย่างที่กระตุ้นให้เกิดคนดีขึ้นได้อีกหลายคน ขออนุญาตอ้างตัวอย่างจากดนตรีคลาสสิกตามประสาของคนคลั่งดนตรีประเภทนี้ โดยปกติงานประเภท requiem คือ มรณานุสรณ์ที่คีตกวีแต่งขึ้นเพื่อเป็นศาสนบูชา หรือเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่จากไปหรือผู้เป็นที่รัก แต่โยฮันเนส บราห์มส์ (Johannes Brahms: 1833-1897) สร้าง Ein deutsches Requiem (โดยใช้ตัวบทจากคัมภีร์ภาษาเยอรมัน ไม่ใช่ภาษาละตินดังเช่นที่ใช้กัน) ขึ้นมาในทิศทางตรงกันข้าม คือมิใช่มรณานุสรณ์ ไม่ใช่งานที่สร้างขึ้นสำหรับคนตาย แต่เป็นงานที่ให้ความหวังกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ มังกรสลัดเกล็ด ก็เช่นกัน เป็นสิ่งบันเทิงตระการตาที่ต้องการให้คนดูเกิดความหวังว่า แผ่นดินนี้มีคนดีเกิดขึ้นมาได้เสมอ อันที่จริง ละครเรื่องนี้ไม่จบ เพราะเปิดทางให้เราคิดต่อว่า คนดีที่เสฉวน ไม่ได้มีแต่เพียงคนเดียว ผมเอ่ยถึงละครของเบรคชท์เรื่องนี้ขึ้นมาด้วยความจงใจ มังกรสลัดเกล็ด จะต่างออกไปก็เพราะละครของเบรคชท์นั้นมีปัจฉิมบทแถมเข้ามา โดยประโยคสุดท้ายเป็นการป่าวร้องขอให้ผู้ชมกลับไปทำการบ้านด้วยการแสวงหาคนดีมาจรรโลงโลก โดยการกล่าวซ้ำ 3 ครั้งว่า “ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้” มังกรสลัดเกล็ด ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะเป็นละครที่ประกาศความเชื่อในสัญชาตญาณใฝ่ดีในตัวมนุษย์อยู่แล้ว
เมื่อปี 2530 คือผู้อภิวัฒน์ เบิกทางใหม่ให้แก่ละครร่วมสมัยของไทย ด้วยการใช้ตัวบทที่มาจากหลักฐานจริง ตัดต่อ แต่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นต้นแบบของละครผอม อันเป็นละครแห่งความคิด ที่ทำให้เราต้องกลับไปทำการบ้านอันหนักหน่วง เราโชคดีมากที่ในปี 2558 มังกรสลัดเกล็ด สร้างนวัตกรรมด้วยการหลอกใช้รูปแบบของสื่อบันเทิงฟอร์มยักษ์เพื่อสื่อสารอันหนักหน่วงเช่นกันด้วยวิธีการที่กอปรด้วยความหฤหรรษ์ แต่การลงทุนในลักษณะนี้คงจะทำได้ไม่บ่อยครั้งนัก วงการละครร่วมสมัยจำเป็นต้องคิดต่อไปว่าจะชวนมหาชน (อลเวง) ให้กลับมาผูกพันกับละครเวทีที่มีสาระได้อย่างไร โดยไม่ต้องพึ่งรูปแบบของละครทุนนิยมเต็มรูป ขออย่าให้ต้องรออีกถึง 28 ปีเลย
[1] สุมาลี วีระวงศ์ / เจตนา นาควัชระ และ คณะ, กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย: บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์, (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544), 274-278.
[2] เจตนา นาควัชระ, จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น: รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์, (กรุงเทพฯ: คมบาง, 2548), 239-243.
[3] Chetana Nagavajara, Comparative Literature from a Thai Perspective, (Bangkok: Chulalongkorn University Press, 1996), 123-133.
[4] เจตนา นาควัชระ, แนวทางการประเมินคุณค่าวรรณคดีในวรรณคดีวิจารณ์เยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ-อเมริกัน ในศตวรรษที่ 20, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2539), 170-172.
[5] เจตนา นาควัชระ, ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2542), 36-37.
[6] ป๋วย อึ้งภากรณ์, จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2542), 59.
[7] เรื่องเดียวกัน, 20.
[8] เรื่องเดียวกัน, 91-92.
อยากอ่านอีกครับ