เพื่อความอยู่รอดของวัฒนธรรมลายลักษณ์: ว่าด้วยงานจดหมายเหตุเอกสารโครงการวิจัย สกว. (การวิจารณ์ฯ)

เพื่อความอยู่รอดของวัฒนธรรมลายลักษณ์:

ว่าด้วยงานจดหมายเหตุเอกสารโครงการวิจัย สกว. (การวิจารณ์ฯ)

ห้องสมุด สนามจันทร์

จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ได้ให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปะต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542  จนถึงปัจจุบัน  กลุ่มนักวิจัยได้รวบรวมเอกสารในส่วนของข้อมูลดิบ และข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก  ในความคิดดั้งเดิมแบบราชการไทย  เอกสารส่วนใหญ่ที่มีอายุเกิน 10 ปี ก็มักจะมีการเผาทิ้งหรือนำไปย่อยเป็นเยื่อกระดาษ  คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า  เอกสารต้นเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อนักวิจัยในอนาคตที่อาจจะสมัครใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการทำวิจัย และแสวงหาข้อมูลซึ่งหายากหรือเข้าถึงได้ยาก

เนื่องจากหัวหน้าโครงการ ในภาค 1และ 2  ศ. ดร. เจตนา  นาควัชระ  ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกโครงการนี้  เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร  จึงได้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยศิลปากร  ให้รับเอกสารจำนวนมากเหล่านี้เข้าไว้  เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของงานจดหมายเหตุ  ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ก็ตอบสนองด้วยดี  (ก่อนหน้านี้  หอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  ก็ได้นำเอกสารจดหมายเหตุส่วนหนึ่งไปใช้ในการศึกษาวิธีการจัดระบบ  และส่วนหนึ่งปรับเป็น digital archive จากนั้นได้มอบต้นฉบับคืนให้มหาวิทยาลัยศิลปากร)

เจตนา

เอกสารอีกส่วนหนึ่งเป็นเอกสารส่วนตัวของ ศ. เจตนา นาควัชระ  ในรูปของต้นฉบับผลงานวิชาการ เริ่มตั้งแต่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่เขียนเป็นภาษาเยอรมัน  เอกสารส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นถึงจุดเริ่มต้น   พัฒนาการของงานวิจัย ไปจนถึงขั้นของการตีพิมพ์เผยแพร่   เอกสารอีกส่วนหนึ่งเป็นแฟ้มต่างๆ ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการสำคัญๆ ของทางราชการ เช่น  สภาวิจัยแห่งชาติ  ทบวงมหาวิทยาลัย กม. กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ฯลฯ  ซึ่งน่าจะยังประโยชน์ต่อผู้ที่ใส่ใจจะศึกษาค้นคว้าพัฒนาการของอุดมศึกษาไทย   นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่เกี่ยวกับการติดต่อกับสถาบันต่างประเทศในเอเชีย  ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

เจตนา 1

ภาพถ่ายที่เห็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเอกสารทั้งหมดที่ได้มอบให้มหาวิทยาลัยไปแล้ว และจะมอบให้ต่อเนื่องไปเป็นระยะๆ  อาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า  มหาวิทยาลัยศิลปากรน่าจะมีบทบาทอันสำคัญในการบุกเบิกงานด้านจดหมายเหตุ  ซึ่งแตกต่างจากงานห้องสมุดโดยทั่วไป

อนึ่ง  หนังสือสำคัญๆ เกี่ยวกับการวิจารณ์  ซึ่งคณะผู้วิจัยได้สั่งซื้อต่อเนื่องมาด้วยทุนวิจัยจาก สกว.  รวมทั้งหนังสือส่วนตัวของศาสตราจารย์ เจตนา  นาควัชระ ก็ได้ส่งมอบให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากรไปแล้วส่วนหนึ่ง  อาจกล่าวได้ว่า  หนังสือเกี่ยวกับการวิจารณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในองค์รวมของเอกสาร (collection) ด้านการวิจารณ์ศิลปะแขนงต่างๆ ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *