ดนตรีคลาสสิกตะวันตกก็มีการไหว้ครูเช่นกัน
ดนตรีคลาสสิกตะวันตกก็มีการไหว้ครูเช่นกัน
(ภาพจาก facebook Kesorn Jittawait)
เจตนา นาควัชระ
รายการแสดงดนตรีในคืนวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2558 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีชื่อว่า “Our Tribute” ผู้จัดงานคือ ดร. นภนันท์ จันทร์อรทัยกุล นักเปียโนและครูเปียโนระดับหัวแถวของเราผู้มีความคิดที่ไกลไปกว่าการให้โอกาสคนรุ่นหนุ่มสาวได้ออกมาแสดงฝีมือ (ที่ไม่ธรรมดา) ให้ปรากฏต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง เธอต้องการจะ “ไหว้ครู” เปียโนหลายรุ่นที่ถางทางให้เกิดนักดนตรีที่มีคุณภาพในวันนี้ได้ ในการแนะนำรายการ ดร. นภนันท์ ลำดับให้เราฟังถึงนักเปียโนรุ่นแรก เช่น คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช และอาจารย์ปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ ที่แสวงหาความรู้เท่าที่จะหาได้ในประเทศไทย แล้วบากบั่นไปศึกษาต่อในสถาบันดนตรีชั้นนำในประเทศตะวันตก เมื่อกลับบ้าน นอกจากแสดงดนตรีแล้วก็ยังบ่มเพาะศิษย์รุ่นต่อไป เช่น อาจารย์ณัฐ ยนตรรักษ์ และอาจารย์ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งก็ไปต่อยอดในโลกตะวันตกอีก แล้วกลับมาสร้างศิษย์รุ่น ดร. นภนันท์เองที่เป็นช่วง (generation)ที่สาม และหลังจากที่นักเปียโนรุ่นนี้ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ได้ไปศึกษาขั้นปริญญาเอกด้านการแสดงในประเทศเจ้าของวัฒนธรรมมาแล้วหลายคน ก็กลับมาสอนนักดนตรีรุ่นที่ 4 ซึ่งหลายๆ คนในกลุ่ม Made in Thailand เหล่านี้ฝีมือฉกาจฉกรรจ์นัก จนผู้ฟังทั่วไปแยกไม่ออกเลยว่าใครเคยไปชุบตัวในโลกตะวันตกมาแล้วหรือไม่
ผมเข้าใจดีว่าที่ ดร. นภนันท์ให้อรรถาธิบายถึงการสืบสกุล (genealogy) ของนักเปียโนไทยมาเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการยกย่องตัวเอง แต่ต้องการจะตอกย้ำถึงบทบาทของครู และในฝ่ายของศิษย์ก็น่าที่จะภาคภูมิใจได้ว่า “เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้างฯ” ผมจึงพร้อมที่จะตั้งชื่องาน “Our Tribute” เป็นภาษาไทยว่า “คุรุบูชา” จริงอยู่อาจารย์นภนันท์และคณะไม่มีขนบที่เป็นพิธีกรรมที่จะอิงได้เช่นการไหว้ครูดนตรีไทย แต่เธอก็โชคดีมากที่สามารถเชิญปรมาจารย์รุ่นแรกมาขึ้นเวทีให้ผู้คน “บูชาครู”ได้ แม้ว่าบางท่านจะมีวัยล่วงมาถึงเลขแปดแล้ว ในตอนท้ายรายการ ดร.สายสุรี จุติกุล ได้กล่าวความในใจของเธอออกมา ซึ่งพวกเราที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั่นคงจะจดจำไปอย่างไม่มีวันลืม “ดิฉันไม่เคยคิดว่า ในชีวิตของดิฉันจะได้เห็นนักดนตรีรุ่นเยาว์ของไทยจะแสดงได้ดีถึงเพียงนี้” ผมเองก็คิดเช่นเดียวกับเธอ และก็คิดเลยไปถึงครูดนตรีในสาขาอื่นๆ ล่าสุดได้ข่าวมาว่านักดนตรีไทยซึ่งเป็นหัวหน้าวงสตริงควอร์เตท ได้ไปชนะเลิศการแข่งขันระดับชาติที่สหรัฐอเมริกา โดยที่ครูชาวไทยของเขาเองทำได้เพียงแค่เข้ารอบรองชนะเลิศเท่านั้นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว เรารู้ดีว่าครูเหล่านั้นดีใจเพียงใดที่ “ลูกศิษย์เก่งกว่าครู” นี่แหละคือวัฒนธรรมไทยที่แท้จริง ในทางกลับกัน ไม่มีหรอกที่ศิษย์ที่ดีจะมองไม่เห็นหัวครู ดร. นภนันท์จัดงานครั้งนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งนัก การบูชาครู แปลว่าสำนึกดีว่าความต่อเนื่องคืออะไร ถ้าฐานไม่ดีจะไปได้ไกลสักเพียงไหน ที่เด็กของเราแสดงได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะรากฐานที่ครูให้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ยุคทองไม่ได้อยู่ในอดีต ยุคทองอยู่กับอนาคต เราจะต้องมองไปข้างหน้าด้วยความหวัง
และอะไรเล่าที่จะเป็นตัวประกันความหวังให้แก่เรา คำตอบก็คือ การแสดงดนตรีนั่นเอง ผมได้เคยเขียนถึงการแสดงที่อาจารย์นภนันท์จัดขึ้นเมื่อปี 2556 ไปแล้วในบทความภาษาอังกฤษชื่อ “The School of Nopanand: An Academy outside Academia” (รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือของผมชื่อ Bridging Cultural Divides, 2014, หน้า 448-452) ในครั้งนั้นนักเปียโนแสดงร่วมกับวงดนตรีขนาดเล็ก และมีการเรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่เพื่อให้คอนแชร์โตหลายบทบรรเลงกับวงดนตรีขนาดเล็กได้ ซึ่งผมก็ได้แสดงความชื่นชมไว้ด้วยความจริงใจ มาครั้งนี้พวกเขารวมตัวกันมาไหว้ครู จึงต้องจัดงานในรูปแบบที่ให้นักดนตรีจำนวนมากได้ขึ้นเวทีเพื่อร่วมบูชาครู นับแล้วได้นักเปียโน 16 คน มีนักไวโอลินและนักเชลโลมาร่วมแสดงด้วยในรูปของ sonata และ piano trio ซึ่งการที่ให้โอกาสกับ chamber music บ้าง ที่มิใช่การแสดงเดี่ยวเปียโน นับเป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่งสำหรับวงการดนตรีคลาสสิกของบ้านเรา ซึ่งกำลังจะเข้าใจผิดว่า ดนตรีที่โดดเด่นที่สุดของตะวันตกคือดนตรีสำหรับวงซิมโฟนี
สิ่งที่ผมสังเกตได้เกี่ยวกับตัวนักดนตรีเอง (ซึ่งเรียกได้ว่ามีตั้งแต่รุ่นเด็กไปจนถึงรุ่นหนุ่มสาว) ก็คือ ความจัดเจนในด้านเทคนิค ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องไมได้จากนักดนตรีทุกคน หรือแม้จากตัวครูเอง แต่ปัจจุบัน พรสวรรค์ได้รับการเสริมจากพรแสวง คือครูมีความสามารถที่จะสอนเทคนิคเปียโนในระดับสูงได้และศิษย์ก็รับได้ตั้งแต่เยาว์วัย เรื่องเทคนิคเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะหาไม่จะไปต่อยอดอย่างไรในด้านของการจับแนวการเล่น (style) ของคีตกวีและเอกลักษณ์ของยุคต่างๆ และในขั้นสูงสุดก็คือขั้นของการตีความ (interpretation) ผมต้องยอมรับว่าทึ่งกับความหลากหลายขององค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่นำเสนอในครั้งนี้ พอโปรแกรมเริ่มด้วย Scarlatti ผมก็นึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ผมเคยไปอ่านอัตชีวประวัติของนักเปียโนชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่เคยไปเรียนเปียโนกับ Johannes Brahms และคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้สอนให้เธอเล่นผลงานของ Scarlatti ซึ่งเราท่านก็คงจะแปลกใจว่างานของ Brahms กับงานของ Scarlatti ดูจะอยู่ห่างไกลกันมากทีเดียว คีตกวีบางคนผมไม่ได้รู้จักมาก่อนเลยเช่น R. Muszynski ได้ฟังเป็นครั้งแรกรู้สึกน่าสนใจมาก Chopin มา 4 ครั้ง ซึ่งไม่น่าแปลกใจสำหรับวงการไทย เพราะมีการประกวด Chopin Competition อยู่แล้วเป็นประจำ (ซึ่งอาจารย์นภนันท์เองก็ได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม) พูดถึงเรื่องการประกวดแล้วได้ความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ สังเกตได้ว่านักดนตรีรุ่นเยาว์ของเราขึ้นเวทีโดยไม่มีความประหม่าหรือตื่นเวทีเลย คงประกวดมาบ่อยครั้งเสียจนสุกงอมแล้ว ผมว่าครูเองบางคนอาจจะยังตื่นเวทีเสียด้วยซ้ำ เมื่อต้องออกแสดงด้วยตนเอง ผมอ่านประวัติของนักดนตรีแต่ละคนแล้วก็อดทึ่งไม่ได้ว่าชนะรางวัลกันมาแล้ว บางคนได้มาหลายรางวัลเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็แยกไม่ออกว่าการประกวดครั้งไหนมีเกียรติภูมิสูงกว่าการประกวดครั้งอื่นๆ หรือไม่ เรื่องความมั่นใจในตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีในบางครั้งที่นักดนตรีแสดงความมั่นใจนั้นออกมาเชิงกายภาพ เช่น ถ้ามือซ้ายว่าง ยังไม่ถึงตอนที่จะเล่นก็เลยแถมนาฏศิลป์ไทยเข้าไปให้ชมเสียเลย การแสดงลีลาท่าทีบนเวที (platform manners) นั้น รสนิยมจะเป็นตัวกำกับว่า แค่ไหนจึงพองาม นักเปียโนระดับแนวหน้าของโลก 2 คน คือ Mikhaïl Pletnev และ Chrystian Zimerman ที่มาแสดงในประเทศไทยและสร้างความประทับใจให้ผมและผู้รักดนตรีคลาสสิกอย่างสุดๆ ดูจะซ่อนลีลาท่าทีเอาไว้ข้างใน ไม่แสดงออกให้เราเห็นด้วยตา แต่เล่นให้กระทบใจเราจริงๆ เรื่องเล็กๆ เหล่านี้เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องให้การแนะนำด้วย มิใช่สอนดนตรีแต่อย่างเดียว
อีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงคือ ความสัมพันธ์ระหว่างวุฒิภาวะของงาน กับวุฒิภาวะของนักดนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะผลงานที่นำออกแสดงในคืนวันที่ 3 กรกฎาคมนั้น ผู้แต่งมิได้แต่งไว้ให้ “เด็ก” เล่น ถ้าเป็นงานที่ตัวเองเล่น ก็คงจะเลยวัยเด็กและวัยรุ่นไปแล้ว ที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับความสามารถในทางดนตรีเลย แต่เป็นเรื่องของวุฒิภาวะในทางอารมณ์และในทางปัญญา สาวน้อยที่เล่น Debussy เลือกเพลงที่เหมาะกับความสามารถของเธอมาก จึงฟังแล้วสบายใจและประทับใจ แต่เมื่อสาวน้อยอีกคนหนึ่งเล่น “Appasionata” ของ Beethoven ผมก็เห็นใจเธอเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้มิใช่เรื่องข้อบกพร่องในทางเทคนิค แต่นี่มันภูเขาหิมาลัยในด้านการตีความเลย อาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักพัก แล้วค่อยลองใหม่ ครูบาอาจารย์ควรจะให้คำแนะนำในเรื่องของการเลือกงานมาแสดงด้วย ผมพยายามไม่เอ่ยชื่อนักแสดง เพราะมีจำนวนมาก ถึงจะเอ่ยก็ไม่ครบ และก็จะดูประหนึ่งเป็นการเลือกที่รักมักที่ชัง แต่อาจารย์นภนันท์ถามผมทางโทรศัพท์ว่าผมชอบนักเปียโนคนไหนมากที่สุด ผมก็ไม่ลังเลที่จะให้คำตอบว่า คนที่เล่นเปียโนคลอไวโอลิน Violin Sonata No. 1 in A Major ของ Gabriel Fauré เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักเปียโนกลุ่มนี้ที่เข้าใจว่าลีลา (style) คืออะไร และวลี (phrase) คืออะไร เขาเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก และผมเดาเอาว่า Fauré เองก็คงจะถนัดเขียนงานสำหรับเปียโนมากกว่าไวโอลิน Fauré เขียนบทให้ไวโอลินราวกับเป็นข้อสอบ เต็มไปด้วยคู่แปดที่ลากขึ้นลากลงตลอดเวลา ผมว่านักไวโอลินสอบผ่าน แต่คงไม่มีเวลาจะไปจับวิญญาณของตัวงาน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่มี รายการจบลงด้วย Piano Trio No. 2 in C minor ของ Mendelssohn โดยผู้เล่นเปียโนเป็นนักดนตรีชาวไทย ส่วนนักไวโอลินมาจากสิงคโปร์ และนักเชลโลมาจากไต้หวัน กลุ่มเชมเบอร์นี้มีโอกาสเล่นแต่เพียงกระบวนแรก คือ Allegro energico e confuoco ซึ่งพวกเขาเล่นแบบถึงใจพระเดชพระคุณเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าได้มีโอกาสไปเห็นสถานที่ที่ Mendelssohn จัดคอนเสิร์ตในเช้าวันอาทิตย์ที่ห้องดนตรีที่บ้านของเขาที่เมือง Leipzig แล้ว พวกเขาอาจจะปรับวิธีการเล่นเสียใหม่ก็ได้ โดยที่ยังรักษาบทกำกับที่เขียนเป็นภาษาอิตาเลียนไว้ได้ นักดนตรีอีกคนหนึ่งที่ฉายแววว่าจะไปได้ไกลคือ ผู้เดี่ยวเชลโล ใน Cello Sonata in G minor ของ Rachmaninov ผมรีบเปิดสูจิบัตรอ่านประวัติของเขาว่าจบมาจากอเมริกาหรือยุโรป แต่ก็ปรากฏว่าเขา Made in Thailand แท้ๆ แม้จะได้ไปทัวร์ในต่างประเทศมาแล้ว
ขอกลับมาที่เรื่องการเรียนการสอนเปียโนในประเทศไทย ในบทความภาษาอังกฤษของผมที่กล่าวถึงข้างต้น ผมได้เล่าถึงประวัติของ Johannes Brahms ว่าเป็นผู้ที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ไม่มีเปียโนที่บ้าน แต่มีเพื่อนบ้านที่ประเสริฐ ผู้ซึ่งอนุญาตให้เด็กชาย Johannes ไปซ้อมเปียโนที่บ้านเขาได้ ครูที่สอนทั้งเปียโนและทั้งการประพันธ์เพลงให้เขาก็สอนให้ฟรีตลอด จนเขาเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นทั้งนักเปียโนและนักแต่งเพลงระดับแนวหน้าของยุโรป ผมตั้งคำถามในบทความนั้นเอาไว้ ซึ่งผมก็จำจะต้องนำมาถามซ้ำอีก ความมีอยู่ว่า
“ถ้ามีเด็กอัจฉริยะเกิดมาที่คลองเตยในศตวรรษที่ 21 เขาจะมีโอกาสได้เรียนกับ ดร. นภนันท์ จันทร์อรทัยกุล หรือไม่”
ผมว่าวงการดนตรีคลาสสิกในบ้านเราต้องคิดถึงเรื่องของการให้โอกาสและการเปิดโอกาสให้แก่เยาวชนที่มีพรสวรรค์ได้เล่าเรียนกับครูที่ดีที่สุด คงจะไม่ใช่เรื่องของการเอื้อเฟื้อกันเป็นการส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของการจัดการ และของการสร้างนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ครูดนตรีในสาขาอื่นๆ ได้ลงแรงไปควานหาช้างเผือกในถิ่นที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาได้บ้างแล้ว สถาบันบางแห่งเกื้อหนุนให้เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งวงดนตรีคลาสสิกตะวันตกเล็กๆ ขึ้นมาได้ ขณะนี้ใครๆ ก็ไปดูงานกันที่ประเทศ Venezuela ซึ่งใช้ดนตรีคลาสสิกเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมเยาวชนให้รักศิลปะและกลายเป็นพลเมืองดีไปด้วยในตัว วงดนตรีเยาวชนของเขาออกแสดงไปทั่วโลก อาจจะเป็นวงเยาวชนหมายเลข 1 ของโลกก็ได้ ขบวนการ El Sistema ออกไปเก็บเด็กสลัมมาเล่นดนตรี ก่อนที่ยาเสพติดจะมาฉกตัวพวกเขาไป พระสงฆ์ที่วัดแถวๆ คลองเตยก็ทำเช่นเดียวกัน โดยชักนำเด็กสลัมให้มาฝึกปี่พาทย์ เรามีครูเปียโนที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นจะหมกตัวอยู่แต่ในบ้านแล้วสอนพิเศษอยู่อย่างนี้ตลอดไปหรือ
แล้วเรื่องการแสดงเล่า จะว่าอย่างไร ครูที่ไปร่ำเรียนมาจนจบปริญญาชั้นสูงในสถาบันอันดับต้นๆ ของโลกตะวันตกแทบจะไม่ออกแสดงเลย ไม่ช้าไม่นานก็เรื้อเวที ผมไม่พูดถึงวงซิมโฟนีที่มีอยู่ว่าเขาจะเปิดทางให้มากน้อยเพียงใด แต่เพียงแค่รายการแสดงเดี่ยว ถ้าจัดได้เป็นประจำโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกแสดง ก็จะเป็นการสร้างคุณูปการให้แก่วงการดนตรีของไทยเป็นอย่างมาก ดนตรีคลาสสิกตะวันตกมิใช่สมบัติของโลกตะวันตกอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นสมบัติของโลกไปแล้ว รายการ “Our Tribute” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในแง่มุมของผู้แสดง ขั้นต่อไปก็คือการใช้ดนตรีในการสร้างมหาชนให้เข้าถึงสุนทรียรสของดนตรี ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศที่ยากจน เช่น Venezuela เชื่อเช่นนั้น แล้วออกเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางต่อเนื่องมา 30 ปีแล้ว ประเทศฟิลิปปินส์ก็มี “กฎหมายดนตรี” (Music Law) ที่สนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเรียนดนตรีหรือร้องเพลง เราไม่ใช่ชาติที่หูบอดอย่างแน่นอน เราอาจจะขาดวิสัยทัศน์และความกล้าในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติ ไหว้ครูแล้วโปรดอย่าหยุดตรงนั้น ขอให้ถางทางไปสู่สภาวะอันเป็นอุดมคติให้ได้