เมื่อดนตรียุคบารอค สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย
เมื่อดนตรียุคบารอค สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย
(ภาพจาก facebook Pro Musica)
การแสดงชื่อ “Bach, Corelli & 18 Monkeys” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มดนตรี Pro Musica นำโดยทัศนา นาควัชระ กับกลุ่มนักเต้น 18 Monkeys Dance Theatre นำโดยจิตติ ชมพี ที่ได้นำออกแสดงไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ณ สยามสมาคมนับว่าเป็นความแปลกใหม่ของวงการดนตรีคลาสสิก ที่ว่าแปลกใหม่ก็คือเป็นการนำเอานักดนตรีมาบรรเลงสดๆ ร่วมกับการแสดงของนักเต้นในแบบ contemporary dance ซึ่งดนตรีที่นำมาบรรเลงก็เป็นบทเพลงในยุคบารอค (ประมาณ ค.ศ. 1600-1750) อันเป็นยุคทางดนตรีตะวันตกที่สำคัญมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยนำบทเพลงของโยฮัน เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach, 1685-1750: คีตกวีชาวเยอรมัน) และอาร์คันเจโล คอแรลลี (Arcangelo Corelli, 1653-1713: คีตกวีและนักไวโอลินชาวอิตาเลียน) มาบรรเลงร่วมกับการเต้นที่เป็นสมัยใหม่มากๆ แต่ก็มีพื้นฐานมาจากนาฏศิลป์ไทยเช่นกัน ในการแสดงรวม 3 ชุด แบ่งเป็น 3 องก์เช่นเดียวกับละคร
การแสดงชุดแรก เป็นการบรรเลงบทเพลง Suite No.2 in D minor, BWV 1008 for Solo Violoncello ของบาค บรรเลงโดยปัญญพัทธ์ วงศ์เวชวิวัฒน์ นักเชลโลรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการเต้นนั้น (หากท่านผู้อ่านสนใจการตีความที่ละเอียดลึกซึ้ง ขอแนะนำให้อ่านบทวิจารณ์ของ ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ เรื่อง “Bach, Corelli&18 Monkeysatthe Siam Society” (http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2644) สำหรับมุมมองของผม ผมเห็นว่าการแสดงในส่วนนี้พยายามแสดงออกถึงการแสวงหา ช่วงแรกที่มีนักแสดงชายเพียงคนเดียว เขาก็ยกเก้าอี้ประกอบฉากไปนั่นไปนี่ราวกับพยายามค้นหาอะไรบางอย่าง แต่ก็ยังไม่พบ พอจบท่อนแรก(Prelude) ก็ปรากฎนักแสดงหญิงเข้ามาในพื้นที่ เขาก็เปลี่ยนจากการค้นหาไปสู่การกำหนดหนทางให้ผู้หญิงคนนั้นเดิน (และคลาน) ผมอยากตีความว่าการแสดงตอนนี้สื่อความถึงชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ในการเริ่มต้นของชีวิตก็ต้องการอิสระ การแสวงหา และไม่ได้ใส่ใจเรื่องเงิน (มีฉากทิ้งเงิน) มากนัก แต่พอดำเนินชีวิตมาได้สักพัก ก็ต้องปรับตัวและปรับใจเข้าหา “แบบแผนของสังคม” ต้องดูแลและประคับประคองครอบครัว (เปรียบได้กับการจัดเรียงเก้าอี้เป็นทางเดินให้นักแสดงหญิง) และต้องหาเงิน (มีทั้งเก็บเงินที่ทิ้งไปแล้วขึ้นมา และขอเงินจากผู้ชม) ชวนให้ผู้ชมคิดตามและคิดต่อว่าเราจะแสวงหาอิสรภาพในการเดินตามแบบแผนได้อย่างไร ในส่วนของการบรรเลงเชลโล ผมคิดว่าปัญญพัทธ์ บรรเลงได้ดีมาก เสียงของเขาใหญ่และหนักแน่น ช่วงที่รวดเร็วเล่นได้อย่างมีชีวิตชีวา ช่วงที่ช้าก็หม่นซึ้งกินใจ ทั้งมีเทคนิคที่สามารถตอบสนองเนื้อหาดนตรีของบาคได้อย่างครบถ้วน
การแสดงชุดที่สอง เป็นการบรรเลงบทเพลง Partita No.3 in E major, BWV 1006 for Solo Violinของบาค ซึ่งเป็นเพลงชุดยอดนิยมที่นักไวโอลินสำคัญๆ ของโลกชอบนำมาบรรเลง (ซึ่งชุดนี้จะได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีทำนองที่สดใส ผิดกับชุดอื่นๆ ในบรรดา partitas และ sonatas สำหรับเดี่ยวไวโอลินของบาค ซึ่งส่วนใหญ่มีทำนองหม่น) บรรเลงโดยทัศนา นาควัชระ หัวหน้าวง Pro Musica การบรรเลงครั้งนี้ผมรู้สึกถูกใจในท่อน Preludio และ Gavotte en Rondeau มากเป็นพิเศษ ซึ่งนักไวโอลินหลายท่านใช้เป็นเพลงแถม (encore) ขอบคุณแฟนเพลง และส่วนใหญ่จะเล่นด้วยลีลาแบบ “ไฟแลบ” แต่ อ.ทัศนา เล่นเพลงนี้อย่างละเอียด สุขุม และไม่เร็วจนเกินไปนัก ทำให้ได้ยินเสียงทุกโน้ตชัดเจนไม่คลุมเครือ เราผู้ฟังจึงได้รับสารทางดนตรีของบาคอย่างเต็มที่ ในส่วนของการแสดงชุดนี้ ผมตีความว่าเป็นเรื่องของการหลงระเริงและมัวเมาในอำนาจหรือโภคทรัพย์ หรือจะเรียกว่ากิเลสก็คงได้เช่นกัน ซึ่งสื่อด้วยถุงใส่เมล็ดโฟมจำนวนมาก มีชายผู้หนึ่งสวมหัวโขนใส่ชฎา เข้าใจว่าหมายถึงเทวดา มาโปรยเมล็ดเหล่านั้น แล้วก็มีทั้งชาย หญิง และสัตว์ (ลิง) มาหลงระเริงในกิเลสเหล่านั้น ซึ่งแม้แต่เทวดาที่ก็ยังติดกับดักของกิเลสพวกนั้นไปด้วย สุดท้ายทุกคนก็จ่อมจมไปสู่ความล่มสลายและหายนะ หากจะเปรียบเทียบกับสังคมปัจจุบันก็คงจะใกล้เคียงกัน
การแสดงชุดที่สาม ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายนั้น เป็นการบรรเลงบทเพลง Violin Sonata in D minor Op.5 No.12 “La Follia”ของคอเรลลี เป็นการบรรเลงไวโอลินร่วมกับเชลโลในฐานะ basso continuo ซึ่งบทเพลงโบราณเช่นนี้ นับว่าหาฟังได้ยากและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง อ.ทัศนา กับปัญญพัทธ์ ก็บรรเลงร่วมกันได้เป็นอย่างดี ลักษณะของบทเพลงเป็นแบบ theme and variations คือมีทำนองหลักแล้วค่อยๆ แปรผันไปในลักษณะและลีลาต่างๆ ซึ่งมีความยากและเรียกร้องความสามารถของนักดนตรีในระดับสูง นักเชลโลก็มีสถานะไม่เหมือนผู้บรรเลงคลอ (accompanist) แต่มีบทบาทเกือบจะเป็นผู้บรรเลงเดี่ยว (soloist) เล่นร่วมกับไวโอลินเลยทีเดียว สำหรับการแสดงนั้นเป็นนักเต้นสองท่าน สวมหัวโขนยักษ์คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งสวมหัวโขนลิง เต้นในท่วงท่าที่มีลักษณะเป็นท่าโขนตามแบบประเพณีนิยม เท่าที่สังเกตดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งกันระหว่างยักษ์กับลิง ซึ่งก็มีความพยายามที่จะปรับปรนเข้าหากัน (ชวนให้คิดถึงตอนที่หนุมานแกล้งไปเข้าไปเป็นลูกบุญธรรมของทศกัณฐ์) แต่ก็เข้ากันไม่ได้สักที เพราะความยึดติดในอัตตาของตน สุดท้ายการแสดงก็จบลงด้วยการถอดหัวโขนโยนทิ้งตัวตนไปเสีย และเหมือนจะเน้นให้คนดูสังเกตในประเด็นนี้ด้วย ซึ่งต้องขอย้ำว่านี่เป็นการตีความส่วนตัวของผมเอง โดยที่ไม่ได้สอบถามอะไรกับผู้แสดงเลย อาจจะเข้าใจอะไรผิดหรือตีความไม่ตรงกับความตั้งใจของนักแสดงหรือผู้กำกับก็เป็นได้ แต่ผมก็เชื่อว่าการแสดงนี้คงต้องการสื่อให้เราผู้ชมผู้ฟังคิดอะไรมากไปกว่าความเพลิดเพลินในลีลาท่าทางของการแสดงเท่านั้น
การแสดงในครั้งนี้ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ฟังจำนวนมากรวมทั้งผมเองด้วย ทำให้เห็นว่าผู้กำกับผู้ออกแบบท่าเต้น (choreographer) นั้น สามารถนำวัตถุดิบซึ่งก็คือดนตรีตะวันตกยุคเก่ามาเป็นแรงบันดาลใจในการผูกเนื้อเรื่องและท่าเต้นได้อย่างน่าดู อีกทั้งการเต้นนั้น ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นแบบไทยประยุกต์ มีทั้งการเต้นแบบตะวันตกและแบบไทยประเพณีด้วย ทั้งนี้ผมคิดว่า หัวโขนที่กลุ่มนักเต้น 18 Monkeys Dance Theatre สวมใส่มีนัยแฝงอยู่ กล่าวคือพวกเขาใช้หัวโขนที่ไม่ได้ทาสีลงรักปิดทองสวยงาม เป็นเพียงหัวโขนเปล่าๆ ทาสีขาว เช่นเดียวกับการแต่งกายของผู้ที่แสดงโดยใส่หัวโขน ก็นุ่งโจงกระเบนแบบไทย แต่ก็เป็นชุดลำลอง ไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องครบ น่าจะหมายถึงพวกเขากำลังบอกคนดูว่า ขอหยิบยืมอัตลักษณ์เหล่านี้ไปผสมผสานและพัฒนาต่อในรูปแบบที่พวกเขาสนใจ แต่โปรดอย่ากล่าวหาว่าพวกเขากำลัง “ทำลาย” วัฒนธรรมของชาติอยู่ นั่นคือกึ่งทางระหว่างนาฏศิลป์ไทยแบบประเพณีกับนวัตกรรมของพิเชฐ กลั่นชื่น ในส่วนของดนตรีนั้น เราก็คงจะรู้สึกว่าเพลงเหล่านี้ช่วยสร้างบรรยากาศและอรรถรสในการชมการแสดงได้เป็นอย่างดี ทำให้เห็นสายใยระหว่างดนตรีกับการแสดงว่ามีความสัมพันธ์และส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ และต้องขอขอบคุณสยามสมาคม ที่ได้กลายเป็นสถานที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะในด้านดนตรีและการแสดง (นอกเหนือไปจากเรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะ) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
วฤธ วงศ์สุบรรณ
7 กรกฎาคม 2558