Nuovo Musiche Ensemble ความหวังใหม่ของ chamber music เมืองไทย

Nuovo Musiche Ensemble ความหวังใหม่ของ chamber music เมืองไทย

Nouvo

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

ในบ้านเรานั้น ดนตรีคลาสสิกประเภท chamber music หรือกลุ่มดนตรีขนาดเล็กนั้น กำลังแพร่หลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะสามารถจัดการแสดงได้สะดวก ใช้นักดนตรีและงบประมาณไม่มาก ซึ่งกลุ่มที่จัดการแสดงบ่อยที่สุดคงจะไม่พ้นกลุ่ม Pro Musica ซึ่งนำเสนอโปรแกรมที่น่าสนใจตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Bangkok String Quartet กลุ่ม Nova Siam String Quartet และกลุ่มเครื่องเป่าอีกหลายกลุ่ม ที่นำเสนอการแสดงอยู่อย่างสม่ำเสมอ และก็เป็นที่น่าสนใจยิ่งเมื่อสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรีน้องใหม่ของเมืองไทย พยายามส่งเสริมความแข็งแกร่งของการเล่นเชมเบอร์มิวสิค ด้วยการจัดประกวด Ensemble Competition ขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มเครื่องสายประสมเปียโน และกลุ่มเครื่องสายล้วน ซึ่งในปีนี้กำลังจะแข่งขันในรอบสุดท้ายในช่วงวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2558 และสถาบันฯ ก็ได้จัดงาน “โหมโรง” การประกวดขึ้น โดยนำผู้ชนะเลิศของปีที่แล้ว คือวง Nouvo Musiche Ensemble ซึ่งเป็นวง piano trio ประกอบด้วยพิชญาภา เหลืองทวีกิจ (ไวโอลิน) อานิก เวพาสยนันท์(เชลโล) และขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ (เปียโน) มาบรรเลงบทเพลงที่น่าฟังอย่างยิ่ง 2 บท ของดีตกวีเอกไฮเดน และเมนเดลส์โซห์น เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 ณ หอประชุมสังคีตวัฒนา สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ให้ผู้สนใจได้รับฟัง ก่อนการแข่งขันของปีนี้

ในเพลงแรก  Piano Trio No.39 in G major, Hob. XV/25 “Gypsy” ผลงานของไฮเดน (Franz Joseph Haydn, 1732-1809: คีตกวีชาวออสเตรีย)  ในสองกระบวนแรก วงเล่นได้อย่างไพเราะ มีทั้งเทคนิคที่ครบถ้วนและสำเนียงการเล่นที่ดีมาก ไวโอลินซึ่งเป็นเครื่องนำมีเสียงที่คมชัด เชลโลมีเสียงที่ใหญ่และมีพลัง ส่วนเปียโนก็สามารถคุมจังหวะได้ดีและมีบทบาทในการเล่นทำนองหลักค่อนข้างมาก พอมาในกระบวนที่สาม Rondo a l’Ongarese: Presto  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเล่นของ trio เพลงนี้ ผมยังรู้สึกว่าวงยังเล่นได้ค่อนข้างเรียบร้อยไป จังหวะค่อนข้างตายตัว ซึ่งเพลงสไตล์ยิปซีนั้น มักจะมีทั้งจังหวะเร่งและจังหวะผ่อน และอาจต้องมีเสริมความแข็งกร้าวลงไปบ้างเพื่อให้ได้อารมณ์มากยิ่งขึ้น ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้ว่าเพลงนี้ก็เป็นยิปซีที่ผ่านการขัดสีฉวีวรรณโดยคีตกวีเอกผู้คงแก่เรียนมาแล้ว ทำให้เป็นยิปซีที่ค่อนข้างเรียบร้อยและสุภาพ แต่โดยรวมวงบรรเลงได้ดีมาก

ในเพลงที่สอง Piano Trio No.1 in D minor, Op.49 ผลงานของเมนเดลส์โซห์น (Felix Mendelssohn,1809-1847: คีตกวีชาวเยอรมัน) เป็นเพลงที่มีอารมณ์ที่หลากหลายมากและน่าสนใจ และเป็นบทเพลงเชมเบอร์มิวสิคชิ้นสำคัญของคีตกวีท่านนี้ ซึ่งมีการแสดงและบันทึกเสียงอยู่บ่อยครั้ง นี่น่าสังเกตคือ บทเพลงนี้เปียโนจะมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษ มีลีลาและเทคนิคที่แพรวพราวมาก ในขณะที่ไวโอลินและเชลโลก็มีบทบาทที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการบรรเลงนั้น ผมคิดว่านักดนตรีทั้งสามเล่นร่วมกันได้เป็นอย่างดี ตั้งใจฟังซึ่งกันและกัน และบรรเลงไปในทิศทางเดียวกัน ในแง่ของเทคนิคคงไม่มีอะไรที่จะติติง เชลโลมีเสียงที่ใหญ่กังวาน เล่นได้อย่างจัดเจนพอสมควร สำหรับไวโอลินสังเกตได้ว่าดูจะชอบเล่นในประโยคที่ยาวๆ ลากคันชักมากๆ รวมทั้งมี dynamic ของเสียงที่หลากหลาย ส่วนเปียโนนั้น มีเทคนิคที่ดีเยี่ยมและเล่นเข้ากับเครื่องสายได้ดี โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าทั้งสามคงจะฝึกซ้อมร่วมกันมาเป็นอย่างดี และมีฝีมือส่วนตนที่มั่นคงอยู่แล้ว จึงบรรเลงได้อย่างมั่นใจ สำหรับความเข้าใจในบทเพลงนั้น ผมคิดว่าพวกเขามาในแนวทางสายกลาง อาจจะมียืดบ้างในบางโอกาสแต่ก็ไม่ได้หวือหวามาก

ในช่วงเพลงแถม (encore) นั้น พวกเขาเลือกเพลง Primavera porteña ของ Astor Piazzola คีตกวีชาวอาเจนตินา เป็นเพลงแทงโก (tango) ที่มีจังหวะตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งวงก็บรรเลงได้เป็นอย่างดี แต่ผมคิดว่านักดนตรีอาจจะเล่นเร็วไปสักหน่อย  อีกทั้งจังหวะก็ยังดูไม่ชัดเจนนัก หากบรรเลงให้นักเต้นเต้นตามจริงๆ คงจะต้องประสบความลำบากไม่น้อยทีเดียว ผมคิดว่าน้องๆ เด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้อาจจะรู้จักเพลงคลาสสิกมามากแล้ว แต่เพลงประเภทอื่นๆ นั้น อาจจะยังมีประสบการณ์ไม่มากนัก ซึ่งก็โชคดีที่สมัยนี้มีสื่อต่างๆ ที่หลากหลายที่ช่วยขยายความรู้และประสบการณ์ออกไปได้อย่างกว้างขวางหากใช้มันให้เป็น

เท่าที่ได้อ่านประวัติของนักดนตรีแต่ละคน ผมค่อนข้างรู้สึกทึ่ง โดยเฉพาะมือเชลโล อานิก เวพาสยนันท์ เขาเล่นเชลโลมาตั้งแต่เด็กและประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก แข่งขันได้รางวัลมากมาย และเข้าร่วมวงออร์เคสตราหลายวง แต่เขาเลือกที่จะเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แทนที่จะมุ่งไปเรียนดนตรีโดยตรง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเขาจะเลือกทางเดินต่อไปอย่างไร แต่เท่าที่ฟังนั้นฝีมือของเขาสามารถยกระดับขึ้นเป็นมืออาชีพได้อย่างไม่ยากเย็นนักหากเขาเลือกในเส้นทางนี้ สำหรับนักเปียโน ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เท่าที่อ่านดูพบว่ามีประสบการณ์ในการเล่น ensemble และ concerto มาพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งน่าสนใจมากเพราะนักดนตรีหลายท่านก็เคยคุยกับผมว่านักเปียโนจำนวนไม่น้อย นิยมเล่นคนเดียว ไม่นิยมหาวงเล่นหรือเล่น accompany ให้ใคร ซึ่งจะทำให้ขาดประสบการณ์ในการเล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่นและจะทำให้ไม่รู้จักการฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นดนตรีทั้งวงเล็กและวงใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าขวัญชนกสามารถผ่านจุดนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา

ส่วนพิชญาภา เหลืองทวีกิจ หรือน้องเมย์นั้น นับว่าเป็นดาวรุ่งด้านไวโอลินคนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งผมเองในฐานะที่ชอบฟังไวโอลินมากเป็นพิเศษ จึงได้ติดตามผลงานของเธออย่างสม่ำเสมอ ผมคิดว่าพิชญาภาเป็นคนที่มีความคิดและแสวงหาความท้าทายอยู่เสมอ เธออาจจะเริ่มต้นจากการเป็น “หนูน้อยมหัศจรรย์” ที่เล่นเพลง “ไฟแลบ” อย่าง Sarasate หรือ Lalo ได้อย่างสบาย แต่ในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมได้ฟังเธอเล่นบทเพลงที่หลากหลายซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการแสดงฝีมือเท่านั้น แต่ยังแสดงออกถึงอารมณ์อันลึกซึ้งด้วย ในผลงานที่แสดงร่วมกับ Pro Musica ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและยกระดับเธอขึ้นไปอีกขั้น  เพราะนอกจากจะได้มีโอกาสร่วมบรรเลงกับนักดนตรีคลาสสิกระดับครูของไทยแล้ว  ยังได้ร่วมงานกับมือโปรระดับนานาชาติด้วย  คนล่าสุดคือนักเปียโนชาวรัสเซีย Andrey Gugnin  ในไม่ช้านี้เธอก็จะไปเรียนต่อที่ยุโรป ซึ่งเราก็ภาวนาว่าเธอจะได้ครูที่ดีที่ช่วยให้เธอพัฒนาทั้งในแง่ของเทคนิคและการตีความได้อย่างเต็มศักยภาพ และกลับมาช่วยพัฒนาวงการดนตรีบ้านเราต่อไป

ผมได้เคยเขียนถึงไว้ค่อนข้างมากเกี่ยวกับเชมเบอร์มิวสิคว่าเป็นดนตรีคลาสสิกอีกแขนงหนึ่งที่มีความเข้มข้นและลึกซึ้งไม่น้อยกว่าดนตรีสำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตรา ทั้งนี้ เชมเบอร์มิวสิคยังเรียกร้องฝีมือและการฝึกซ้อมของนักดนตรีในระดับสูง เนื่องจากทุกคนมีบทบาทที่สำคัญ โดยที่ไม่สามารถจะ “ดำน้ำ” ได้ เพราะคนฟังสามารถฟังรู้ได้ทันที และถ้าเล่น “หลุด” บ่อยๆ ก็อาจพาเพื่อนร่วมวง “ล่ม” ไปด้วย  การเล่นเชมเบอร์มิวสิคมากๆ นั้น จะทำให้มีความแม่นยำในด้านเทคนิคและสร้างทักษะในการฟังซึ่งกันและกัน สมาชิกแต่ละคนของวงมีความเป็นผู้แสดงเดี่ยว (soloist) รวมอยู่กับการเล่นเป็นวงดนตรี (ensemble) ซึ่งจะฝึกฝีมือของนักดนตรีได้ดีมากและอาจจะแน่นกว่าการเล่นวงออร์เคสตราด้วยซ้ำ (นักดนตรีของทั้งวงเวียนนาฟิลฮาร์โมนิคและเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคจะจับกลุ่มเล่นเชมเบอร์มิวสิคกันตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ฝีมือตก) ซึ่งก็น่ายินดีที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาส่งเสริมในจุดนี้ และก็หวังว่าวง Nuovo  Musiche Ensemble จะไม่เป็นเพียงวงเฉพาะกิจสำหรับการประกวดเท่านั้น แต่จะสามารถรวมวงเพื่อเสนอผลงานที่ดีได้อีกอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาจับกลุ่มเล่นเชมเบอร์มิวสิคกันมากขึ้นอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *