ย้อนอดีตไปฟังดนตรีในราชสำนักพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชกับวง Pro Musica

ย้อนอดีตไปฟังดนตรีในราชสำนักพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชกับวง  Pro Musica

artists adolph_von_menzel_1815-1905 menzel4

เมื่อพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชทรงดนตรี  จิตรกรรมอันเลื่องชื่อของ Adolph Menzel (1815-1905)

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/64/Adolph_Menzel_-_Fl%C3%B6tenkonzert _Friedrichs_des_ Gro%C3% 9Fen_ in_Sanssouci_-_Google_Art_Project.jpg)

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

          นับเป็นโปรแกรมที่ไม่ธรรมดาอีกครั้ง เมื่อ Pro Musica Orchestra ได้นำเสนอบทเพลงในราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชแห่งปรัสเซีย (King Frederick the Great of Prussia, 1712-1786 ครองราชย์ 1740-1786)  โดยบรรเลงไปเมื่อวันที่17 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอนันตราสยาม (โฟร์ซีซันส์เดิม)  ผลงานของคีตกวีในราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดอริคที่นำเสนอ ได้แก่ เก-ออร์ก ฟิลลิป เทเลมันน์ (Georg Phillip Telemann, 1681-1767 : คีตกวีชาวเยอรมัน) คาร์ล ฟิลลิป เอมมานูเอล บาค (Carl Phillip Emanuel Bach, 1714-1788 : คีตกวีชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นบุตรของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ของยุคบารอค) รวมไปถึงคีตนิพนธ์ในพระเจ้าเฟรเดอริคเอง ซึ่งเพลงของเทเลมันน์หรือบาคผู้บุตรนั้น เราอาจจะเคยได้ยินได้ฟังอยู่บ้าง  แม้ว่าจะหาฟังได้ไม่ง่ายนักในประเทศไทย แต่บทเพลงของพระเจ้าเฟรเดอริค เชื่อว่าผู้ฟังส่วนใหญ่คงไม่เคยได้ฟังมาก่อน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งนับว่าเป็นคุณูปการของวงโปรมูสิกา ที่นำเอาเพลงที่หาฟังได้ยากมาให้พวกเราผู้ฟังได้ขยายประสบการณ์ด้านดนตรี ด้วยการฟังแบบสดๆ ที่ไม่ใช่ดนตรีอัดแผ่น

วงเริ่มต้นด้วย Concerto for 4 Violins No.2 in D major ของ เทเลมันน์  บรรเลงเดี่ยวไวโอลินโดย เลโอ ฟิลลิปส์, อนาวิน เศวตบวร, รวยชัย แซ่โง้ว และพิชญาภา เหลืองทวีกิจ เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองที่สนุกสนาน มีความร่าเริงและชีวิตชีวา โดยที่ไวโอลินทั้งสี่ผลัดกันเล่นไปมาได้อย่างน่าฟัง เป็นการเล่นไล่กันแบบ counterpoint อย่างเข้มข้น ซึ่งต้องใช้สมาธิและการฟังซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหลุดนิดเดียวคงจะล่มไม่เป็นท่า ซึ่งผู้แสดงเดี่ยวทั้งสี่คงจะซ้อมกันมาเป็นอย่างดี จึงบรรเลงได้อย่างไพเราะน่าฟัง การเล่นก็เป็นแบบ chamber music แท้ๆ คือไม่จำเป็นต้องมีวาทยกร ทุกคนซ้อมกันมาอย่างดีแล้ว และใช้ท่าทาง สายตา และการฟังกันเชื่อมโยงการเล่นเข้าด้วยกัน โดยไม่มีใครเป็นผู้นำหรือผู้ตามที่ชัดเจน แม้เราจะรู้ว่าครูอย่างคุณเลโอจะเป็นผู้นำให้ศิษย์ทั้งสาม แต่การบรรเลงก็ทำได้อย่างดีทัดเทียมกัน

ลำดับถัดมา เป็นการแสดงบทเพลง Viola Concerto in G Major  ของเทเลมันน์อีกเช่นกัน บรรเลงเดี่ยววิโอลาโดย มิติ วิสุทธิ์อัมพร นักวิโอลาดาวรุ่งของเมืองไทย หากใครติดตามวงการดนตรีคลาสสิกในช่วงปีสองปีมานี้ จะพบว่ามิติได้ร่วมบรรเลงในวงที่หลากหลาย ทั้งวง BSO วง Pro Musica Orchestra รวมไปถึงการรวมกลุ่มเล่น chamber music อีกหลายรายการด้วย นับว่าเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือไม่ธรรมดาและมีความสนใจในดนตรีที่หลากหลายอีกด้วย สำหรับการบรรเลงนั้น ในกระบวนที่ช้า มิติเล่นได้อย่างนุ่มนวลน่าฟัง  ในกระบวนที่มีจังหวะรวดเร็ว ทำนองสนุกสนาน เขาก็โชว์ความสามารถด้านเทคนิคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยที่เขาจะไม่ใช่เสียงสั่น (vibrato) มากนัก เพราะเดินตามขนบการเล่นแบบโบราณของยุคบารอค-คลาสสิก แสดงว่าได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี  สังเกตว่าเสียงวิโอลาของเขาจะแม้ว่าจะหนักแน่นกังวานดีแต่ยังไม่กังวานเท่าวิโอลาของ David Abrahamyan  นักวิโอลาชาวสเปน เพื่อนร่วมวง BSO และ Pro Musicaของมิติ ซึ่งเพิ่งบรรเลงวิโอลาคอนแชร์โตของ Casadesus ร่วมกับวงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าเดวิดเป็นนักวิโอลาที่มีน้ำเสียงกังวานและพุ่งแหวกอากาศสู้กับไวโอลินได้อย่างน่าประหลาดใจ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะตัวซอวิโอลาเองหรือเพราะเทคนิคการเล่นเฉพาะตัว ซึ่งหากมิติจะปรึกษาหารือในการบรรเลงที่จะทำให้เสียงที่ใหญ่และกังวานขึ้นก็น่าจะเป็นการดี ซึ่งผมไม่คิดว่าจะเป็นการเสียเอกลักษณ์ในเสียงของตัวเอง เพราะศิลปินแต่ละคนย่อมมีแนวทางเป็นของตน แต่ถ้าหากสามารถพัฒนาเทคนิคที่ดีเพิ่มขึ้นมาได้ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะศึกษาไว้

มาถึงบทเพลงสุดท้ายในครึ่งแรก คือ  Flute Concerto in D minor ผลงานของบาคผู้บุตร ในกระบวนแรกมีทำนองค่อนข้างหม่นและสำเนียงที่ค่อนไปในทางลี้ลับ ถึงแปลกหูแต่ก็น่าฟัง อาจารย์วรพล กาญจน์วีระโยธิน ผู้บรรเลงเดี่ยวฟลูตก็เล่นได้อย่างลื่นไหล กระบวนถัดมาค่อนข้างหวาน นุ่มนวล ช่วงกลางๆ ก็เปลี่ยนเป็นท่วงทำนองที่รุนแรงขึ้น ในช่วงที่เครื่องเดี่ยวบรรเลงท่อนcadenza มีโน้ตที่ไม่ค่อยซับซ้อนมากแต่เน้นอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ในกระบวนที่ 3 มีจังหวะที่เร็วมาก เน้นการเป่าเสียงสั้น(staccato)แสดงอารมณ์รุกเร้า  ซึ่งอาจารย์วรพลก็เป่าได้อย่างคมชัดและสื่ออารมณ์ได้ดีมาก  ขณะที่วงดนตรีมีบทบาทในการเสริมความเข้มข้นโดยเน้นการเล่นโน้ตโดดๆ อย่างรวดเร็ว  รวมทั้งมีเสียงฮาร์พสิคอร์ด (harpsichord) ช่วยให้จังหวะที่ชัดเจนและสร้างบรรยากาศยุคโบราณได้เป็นอย่างดี

ในครึ่งหลังเริ่มด้วย Overture – Suite “Don Quichotte”  ของเทเลมันน์อีกเช่นกัน เพลงนี้นับว่าเป็นดนตรีพรรณนา (programme music) เลยทีเดียว ใครที่ว่าดนตรีพรรณนาเพิ่งมีในศตวรรษที่ 19 คงจะไม่จริงเสมอไปแล้ว เพราะเราก็เห็นว่า The Four Seasons  ของ Vivaldi หรือ Symphony No.6  ของ Beethoven ก็จัดได้ว่าเป็นดนตรีพรรณนาเช่นกัน แต่อาจจะมาก่อนกาลและไม่ได้แต่งกันมากเท่ากับในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งผมก็คิดว่า Don Quichotte ก็จัดได้ว่าเป็นดนตรีพรรณนาอย่างชัดเจน แต่ละท่อนเขียนไว้อย่างตรงไปตรงมาว่าหมายถึงใครหรือเหตุการณ์ใดของเรื่อง หลายช่วงมีลีลาสนุกสนาน บางช่วงตื่นเต้น เช่นตอนที่ดอน กีโฆเต สู้กับกังหันลม หรือช่วงที่ชวนขบขัน เช่นตอนที่ซานโช ปันซา ผู้ช่วยของดอน กีโฆเต ขี่ลาเป็นต้น ถึงแม้ในสูจิบัตรจะเขียนมาเป็นภาษาฝรั่งเศส (ตามต้นแบบของดนตรีราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) แต่ก็พอเดาเนื้อหาได้  ซึ่งผมคิดว่าวงเล่นได้อย่างเรียบร้อยดี ไม่หวือหวาอะไร  ทึ้งตรงนั้นตรงนี้มากนัก มีความไพเราะน่าฟังดี และเชื่อว่าหลายๆ ท่านในคืนนั้นก็คงเหมือนผมคือเพิ่งได้ฟังเพลงนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้เราได้คิดว่าในยุคบารอคนั้นก็มีขุมทรัพย์ทางดนตรีที่น่าฟังอีกมากมาย มิใช่มีเพียงมหาคีตกวี 3 ท่าน คือวิวัลดิ บาค และแฮนเดลเท่านั้น

การแสดงในรายการสุดท้ายคือบทเพลง Sinfonia in A major ของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช ในกระบวนแรก มีท่วงทำนองตามแบบแผนของยุคคลาสสิก มีความรื่นรมย์ฟังสบาย ในกระบวนที่สองที่เป็นท่อนช้าที่มีความนุ่มนวลไม่หม่นมาก และกระบวนสุดท้ายเป็นเพลงเต้นรำสนุกสนาน  ค่อนข้างเป็นลักษณะที่เดินตามลีลาที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ซึ่งก็คาดว่าน่าจะได้อิทธิพลในการแต่งเพลงมาจากคีตกวีของราชสำนักนั่นเอง จากเพลงนี้ที่เราได้ฟังก็คงจะประจักษ์ว่าพระองค์ก็มีความสามารถในการแต่งเพลงในระดับที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว (นอกจากพระปรีชาสามารถในการเล่นฟลูต  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่)  ซึ่งวงก็บรรเลงได้ไพเราะ ถ่ายทอดอารมณ์ของเพลงออกมาได้เป็นอย่างดี

ผมคิดว่าวง Pro Musicaน่าจะถือได้ว่าเป็นวง chamber ที่ดีที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ใช่เพราะว่ามีอยู่วงเดียว แต่คุณภาพการบรรเลงของวงถือว่าอยู่ในระดับสูง สามารถเล่นเพลงที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างดี และพคร้อมที่จะนำเสนอองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ทั้งที่เป็นมาตรฐาน เช่น บาค ไฮเดน โมซาร์ต เบโธเฟน หรือบราห์มส์ และเพลงที่หาฟังได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น อองรี คาซาเดอซูส์  ออตโตริโน เรสปิกิ  อาร์คันเจโล คอเรลลี รวมถึงพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชด้วย (และปลายปีจะนำเสนอผลงานของคีตกวีอังกฤษหลากหลายยุค ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยอีกเช่นกัน)  เป็นการช่วยเปิดประสบการณ์อันหลากหลายให้แก่ผู้ฟัง ที่สำคัญยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าดนตรีเชมเบอร์มีความหลากหลายและลุ่มลึกไม่ด้อยไปกว่าดนตรีสำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตราเลย มิหนำซ้ำยังจัดได้บ่อยกว่าและใช้งบประมาณน้อยกว่าด้วย และนอกจากนี้สมาชิกของวงส่วนใหญ่ก็เป็นนักดนตรีรุ่นเยาว์ ทั้งที่เรียนจบแล้วและกำลังศึกษาอยู่ เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่พวกเขาจะได้เล่นดนตรีร่วมกัน  และฝึกซ้อมฝีมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (ซึ่งก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า  การเล่นดนตรีประเภทเชมเบอร์นั้น “ดำน้ำ” ไม่ได้เลย)  กิจกรรมเช่นการแสดงครั้งนี้จะส่งผลดีต่อวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราต่อไปอย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *