เมื่อ “สำนักตลิ่งชัน”ออกแสวงหาตัวตนของ Mozart ผ่าน Piano and Violin Sonatas
เมื่อ “สำนักตลิ่งชัน”ออกแสวงหาตัวตนของ Mozart ผ่าน Piano and Violin Sonatas
(facebook Pro Musica)
วฤธ วงศ์สุบรรณ
31 กรกฎาคม 2558
ผู้ที่รักทั้งดนตรีคลาสสิกและแจ๊สย่อมรู้ดีว่า คณะดุริยางศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอาจารย์ผู้สอนที่เป็นนักดนตรีระดับแนวหน้าของประเทศไทยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย นับว่าเป็นโชคที่พวกเขา(ยัง) ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ในด้านดนตรีคลาสสิก พรพรรณ บันเทิงหรรษา นักดนตรีรุ่นน้อง ออกแสดงเป็นประจำกับทัศนา นาควัชระ นักดนตรีรุ่นพี่ ที่เล่นด้วยกันจนเกิดทีมเวิร์คที่เหนียวแน่น ถึงขนาดกล้าออกไปแสดงที่บ้านของ Mendelssohn ที่เมือง Leipzig และประสบความสำเร็จมาแล้ว รายการล่าสุดที่ออกแสดงร่วมกันที่สยามสมาคม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 เป็นการแสดงครั้งแรกในชุด Sonatas for Piano and Violin ทั้งหมดของ Mozart นับได้ว่าเป็นการเสนองานที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านของการตีความ จะขออนุญาตกล่าวถึงขนบในการนำเปียโนกับไวโอลีนมาบรรเลงร่วมกัน และก็คงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์บทบาทของนักดนตรีไปด้วย โดยจะขอเริ่มที่นักไวโอลิน
อาจารย์ทัศนา นาควัชระ มีผลงานการแสดงคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 เมื่ออาจารย์จบการศึกษากลับมาจากต่างประเทศ (ทั้งยุโรปและอเมริกา) ผ่านมา 15 ปี อาจารย์เล่นคอนเสิร์ตมาเป็นร้อยๆรายการ มีทั้งแสดงเดี่ยวคู่กับเปียโน สตริงควอเต็ต การประสมเครื่องดนตรีในรูปอื่นๆ วงเชมเบอร์ออร์เคสตรา และแสดงเดี่ยว violin concerto ร่วมกับวงออร์เคสตราขนาดใหญ่หลายครั้งด้วยกัน ทั้งยังเป็นหัวหน้าวงของ Bangkok Symphony Orchestra อยู่สิบปี และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการดนตรีและหัวหน้าวงของวง Pro Musica นับได้ว่าเป็นนักไวโอลินไทยที่มีผลงานการแสดงหลากหลายมาก และแน่นอนว่าความสนใจในดนตรีของอาจารย์นั้นกว้างขวาง ตั้งแต่ยุคบารอค จนถึงยุคศตวรรษที่ 21
ในปีนี้ อาจารย์ทัศนาได้ริเริ่มโครงการที่น่าสนใจ คือการแสดงและวิเคราะห์บทเพลงไวโอลินโซนาตาของโมสาร์ตตลอดทั้งชีวิตของเขา โดยแบ่งเป็นยุคต้น คือช่วงวัยเด็กจนถึงก่อนย้ายไปลงหลักปักฐานและใช้ชีวิตนักดนตรีอิสระที่เวียนนา (ประกอบด้วย K.6 K.305, K.306 และ K.378 แต่งระหว่าง ค.ศ.1764-1779) ยุคกลาง คือช่วงต้นที่เพิ่งย้ายไปอยู่ในเวียนนา (K.376, K.377, K.379 และ K.380 แต่งใน ค.ศ.1781 ทั้งหมด) และยุคปลาย คือโซนาตาสามบทสุดท้ายของโมสาร์ต (K.454, K.481 และ K.526 แต่งระหว่าง ค.ศ.1784-1787) โดยคอนเสิร์ตในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 โดยมี ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษาเป็นผู้ร่วมบรรเลงเพลง เป็นการแสดงโซนาตาสำหรับเปียโนและไวโอลินในยุคต้นของโมสาร์ต (ที่จริงแล้ว ทั้งคู่มีการแสดงซ้ำอีกครั้ง พร้อมการบรรยายในเชิงวิชาการเกี่ยวกับโซนาตาของโมสาร์ต ซึ่งผมจะกล่าวถึงในภายหลัง)
การแสดงเริ่มต้นด้วย Sonata for Piano and Violin in A major K.305 เราจะสังเกตได้อย่างไม่ยากเลยว่า เปียโนจะมีบทบาทมากกว่าไวโอลิน ค่อนข้างคล้ายกับเป็นเปียโนโซนาตาที่มีไวโอลินเล่นคลอประกอบ (หรือถ้าตัดส่วนของไวโอลินออกไปเลยก็ยังพอฟังได้) เปียโนมีเทคนิคที่แพรวพราวและไพเราะ ส่วนแนวของไวโอลินนั้น ดูประหนึ่งว่าจะง่ายและมีบทบาทเป็นเพียงเครื่องคลอ แต่ถ้าเราตั้งหลักได้และตั้งใจฟังส่วนไวโอลินจริงๆ แล้ว จะพบว่ามีท่วงทำนองที่ลึกซึ้งและงดงาม เป็นความไพเราะที่แฝงอยู่ในความเรียบง่าย โดยเฉพาะกระบวนที่สองที่มีลักษณะเป็น theme and variations นั้น แม้น้ำหนักจะไปอยู่ที่เปียโนเสียมาก แต่ไวโอลินก็ได้บรรเลงการแปรผันต่างๆ ที่จับใจยิ่ง แน่นอนว่าอาจารย์ทัศนาก็บรรเลงได้อย่างสบายๆ ดูเรียบง่าย แต่ลึกซึ้งและเปี่ยมด้วยรสนิยมอันดี ส่วนอาจารย์พรพรรณนั้นบรรเลงได้อย่างละเมียด สามารถถ่ายทอดท่วงทำนองของโมสาร์ตได้อย่างน่าฟัง เพลงนี้อาจไม่เรียกร้องความสามารถทางเทคนิคมากจนเกินกว่าที่นักดนตรีสมัครเล่นจะเล่นได้ (ซึ่งก็อาจจะเป็นผลงานที่พิมพ์ออกมาแล้วมีผู้ซื้อไปเล่นที่บ้านในห้องนั่งเล่น ในขนบของ “chamber music” ซึ่งต่างจากเพลงถัดไปที่มีความยากมากขึ้น และต้องการระดับฝีมือของนักดนตรีในระดับมืออาชีพ)
บทเพลงถัดมาคือ Sonata for Piano and Violin in D Major K.306 ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คือมีความยากมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนของเปียโนที่มีอารมณ์ค่อนข้างหลากหลายและใช้ฝีมือมากพอสมควร เช่นเดียวกับไวโอลินที่มีความยากมากขึ้นเช่นกัน ในกระบวนแรกมีความไพเราะแบบกระฉับกระเฉง สนุกสนาน ส่วนในกระบวนที่สองซึ่งเป็นจังหวะปานกลางมีลีลาเหมือนการขับร้อง (Andante Cantabile) นั้น ผมยังคิดว่าทั้งคู่อาจจะเล่นเร็วไปนิด หากจังหวะช้ากว่านี้สักเล็กน้อยน่าจะดูสง่างามขึ้น ส่วนกระบวนที่สามก็มีทำนองที่กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารักฟังสบาย แต่ก็แฝงไปด้วยความลึกซึ้งในบางช่วงและมีลีลาที่หลากหลาย บางตอนก็ฟังดูยิ่งใหญ่สง่างามและยากยิ่งราวกับเป็น cadenza ของเปียโนคอนแชร์โตเลยทีเดียว ทำนองหลักที่อยู่ที่อาจารย์พรพรรณซึ่งดูจะสนุกกับการที่ได้มีโอกาสแสดงศิลปะการเล่นเปียโนระดับสูง
ครึ่งหลังเริ่มด้วย Sonata for Piano and Violin in C Major K.6 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานชิ้นแรกของโมสาร์ตในการแต่งโซนาตาสำหรับเปียโนและไวโอลิน ท่วงทำนองหลักนั้นไปอยู่ที่เปียโนอีกเช่นกัน โดยที่ไวโอลินทำหน้าที่เล่นตอดไปมา แต่เมื่อตั้งใจฟังไวโอลินจะรู้สึกว่าในความเรียบง่ายนั้น มีความลึกซึ้ง นุ่มนวล สงบ และงดงาม โดยที่ไม่ต้องเน้นเทคนิคขั้นสูงมากมาย ในส่วนของเปียโนก็ค่อนข้างมีความพิสดารราวกับเป็นเปียโนโซนาตา รวมทั้งยังมีบุคลิกและลีลาที่หลากหลาย ดามด้วย Sonata for Piano and Violin in B-flat Major K.378 จะสังเกตได้ว่าผู้ประพันธ์จงใจให้ไวโอลินมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งมีความยากขึ้นด้วย ทำนองโดยรวมค่อนข้างต่างจากบทที่บรรเลงมาก่อนหน้านี้ เป็นบทที่มีความหลากหลายทางอารมณ์ค่อนข้างสูง มีทั้งรื่นเริง นุ่มนวล เคร่งขรึม และรุกเร้ารุนแรง ซึ่งผมคิดว่านักดนตรีทั้งสองสามารถถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้เป็นอย่างดี ลื่นไหล ฟังสบาย ดูพอดีๆ และมีรสนิยม
ขออนุญาตอภิปรายเรื่องการบรรเลงดุริยางคนิพนธ์โมสาร์ตสักเล็กน้อย ก่อนที่จะมาฟังการแสดงของอาจารย์ทัศนาและอาจารย์พรพรรณนั้น ผมได้ฟังเพลงของโมสาร์ตมา 2 รายการ ได้แก่ Sonata for Piano Four Hands in F Major K.497 และ Serenata Notturna K.239 ซึ่งบทเพลงแรกนั้น ผมได้ฟังนักเปียโนชาวออสเตรียบรรเลงคู่กับนักเปียโนชาวกรีก ซึ่งคู่นี้เป็นอาจารย์-ลูกศิษย์กัน เรื่องความเข้าขาและความช่ำชองย่อมไม่ต้องพูดถึง แต่เท่าที่ฟังผมคิดว่าทั้งคู่เล่นโมสาร์ตในลักษณะที่เคร่งครัดและเคร่งขรึมเกินไป จนทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกถึงความรื่นรมย์ในบทเพลงนี้เท่าที่ควร ในขณะที่เพลงหลังนั้นบรรเลงโดยกรรมการที่มาตัดสินวง ensemble ในบ้านเรา ร่วมกับ “วงเด็ก” ของสถาบันดนตรีที่จัดการแข่งขันนั้นขึ้น ผมก็คิดว่าเป็นการบรรเลงที่ดีมีมาตรฐาน นักดนตรีมีความสามารถสูง แต่ก็ยังรู้สึกว่าพวกเขา “ทึ้ง” โมสาร์ตมากไปสักนิด โดยเฉพาะในกระบวนสุดท้ายที่จะพยายามเล่นให้สนุกสนานและหวือหวาเป็นพิเศษ เลยทำให้กลายเป็นโมสาร์ตที่เข้าใกล้ยิปซีมากเกินควร
ที่กล่าวมานั้น ต้องการจะชี้ว่าการเล่นเพลงของโมสาร์ตนั้น ไม่ง่ายเลยทีเดียว หากจะเล่นให้เคร่งครัดเกินไปก็จะจืดชืด หากใส่ลีลาอารมณ์มากเกินไปก็อาจจะกลายเป็นความไร้รสนิยมได้ง่าย การหาจุดพอดีในเพลงของโมสาร์ตนั้นจึงเป็นศิลปะขั้นสูงที่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ นักดนตรีใหญ่ๆ หลายท่านก็ตกม้าตายเพราะโมสาร์ตมามากแล้ว และคนที่ประมาทก็จะคิดว่าเพลงโมสาร์ตไม่เห็นจะ virtuoso ตรงไหน หรือคิดว่าเล่นอย่างไรก็ได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่มีความสุขในการฟังเพลงอย่างที่ควรจะเป็น
จุดที่น่าสังเกตอีกประการคือ นักไวโอลินรุ่นเด็กมักจะไม่ค่อยสนใจเล่นหรือบันทึกเสียงโมสาร์ตกัน เพราะถือว่าเล่นง่าย ไม่ได้แสดงออกถึงเทคนิคไวโอลินอันยอดเยี่ยมของตน (หรือหากมีก็มักจะเล่นได้ไม่ดีนัก) แต่นักดนตรีใหญ่ๆ ที่มีวุฒิภาวะแล้วนั้น มักจะสนใจโมสาร์ต (ที่สำคัญได้แก่ Arthur Grumiaux หรือ Henryk Szeryng หรือ David Oistrakh และรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยเช่น Gidon Kremer หรือ Anne-Sophie Mutter) เพราะเมื่อสมัยเด็กๆ นั้นไม่รู้ว่าจะเล่นอย่างไรให้ออกมาดี เพราะยากเหลือเกินที่จะเล่นให้ไพเราะ กินใจ มีรสนิยม และมีจิตวิญญาณที่เพลงโมสาร์ตควรจะเป็น สำหรับนักไวลินระดับแนวหน้าของตะวันตกเมื่อเล่นอะไรที่ยากที่สุดขององค์แห่งคีตนิพนธ์ของไวโอลินมาหมดแล้วก็ต้องการจะไปในทางลึก จึงหันกลับมาเล่นโมสาร์ต ซึ่งไม่ได้ยากในเชิงเทคนิค แต่มีความลึกซึ้งและยากที่จะเล่นให้ “นิ้ง” และ “นิ่ง” ได้
ในกรณีของอาจารย์ทัศนานั้น หากเป็นผู้ที่ติดตามผลงานของอาจารย์มานานย่อมรู้ว่าพื้นฐานของอาจารย์คือสำนักลอร์ดเยฮูดิ เมนูฮิน (Lord Yehudi Menuhin) และมีอาจารย์ผู้สอนโดยตรงคืออัลแบร์โต ลิซี่ (Alberto Lysy) ซึ่งเป็นศิษย์เอกและมือขวาของเมนูฮิน ซึ่งสำนักนี้เน้นเรื่อง chamber music เป็นพิเศษเพื่อให้นักเรียนไม่เดินไปในทางหวือหวาที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมด้วยเทคนิคตระการตา แต่เดินไปในทางลึกซึ้ง สุขุม และมีรสนิยมอันดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป (หลังจากนั้นจึงไปต่อยอดการเรียนไวโอลินที่สำนักออสเตรียและสำนักอเมริกัน) ดังนั้นอาจารย์ทัศนาจึงมีความได้เปรียบในการตีความโมสาร์ตไปในทางลึก และด้วยวัยวุฒิที่สูงขึ้นของอาจารย์ทัศนา ซึ่งได้เล่นคอนแชร์โตใหญ่ๆ มาแล้วทั้งเบโธเฟน บราห์มส์ และไชคอฟสกี้ จึงถึงเวลาแล้วที่อาจารย์จะได้พยายามก้าวไปสู่ยอดเขาสูงแห่งดนตรีคลาสสิกอีกยอดหนึ่งคือโมสาร์ต ซึ่งคอนเสิร์ตครั้งนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงพื้นฐานที่แข็งแกร่งในด้านเชมเบอร์มิวสิค และการตีความในแนวทางสายกลาง ไม่หวือหวาหรือคร่ำเคร่งเกินไป การได้อาจารย์พรพรรณมาเป็นผู้บรรเลงเปียโนนั้นถือได้ว่าเป็นตัวอย่างอันดีของการที่นักดนตรีสองคน ที่ต่างก็มีบุคคลิกภาพทางดนตรีของตัวเองสามารถคิดร่วมกันในการแสวงหาแก่นของดุริยางคศิลป์ของสุดยอดอัจริยะแห่งวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก ผมฟังการอัดเสียงของนักไวโอลินระดับโลก คือ Anne-Sophie Mutter กับ นักเปียโน Lambert Orkis แล้วอดรู้สึกไม่ได้ว่านักเปียโนทำเป็นแค่ accompanist เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ใช้สิ่งที่ Mozart ต้องการอย่างแน่นอน อาจารย์สองท่านจากสำนักตลิ่งชันหาจุดสมดุลได้อย่างดียิ่ง
สุดท้ายนี้ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า แม้ว่าหลายคนจะได้รับความอิ่มเอมในการบรรเลงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 มาแล้ว แต่สองวันต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม อาจารย์ทัศนาก็ได้บรรยายในหัวข้อ “ไวโอลินโซนาตาของโมสาร์ต: ดนตรีสร้างสรรค์ผ่านกาลเวลา” ประกอบการแสดงบทเพลงทั้ง 4 บทอีกครั้ง ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ผู้ฟังได้รับความกระจ่างในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะข้อสงสัยของผมที่ว่าทำไมโซนาตาเหล่านี้ บทบาทของไวโอลินจึงดูด้อยกว่า และก็ได้ทราบว่าเป็นแบบแผนนิยมของยุคคลาสสิกตอนต้น ที่เครื่องประเภทคีย์บอร์ดพัฒนาขึ้นมามากจนสร้างความเข้มข้นของแนวทำนองขึ้นมา โดยที่ไวโอลินในบางครั้งจะถูกลดบทบาทไปเป็นเครื่องคลอประกอบ ซึ่งยุคต้นๆ ของโมสาร์ตก็เขียนตามสมัยนิยมด้วย (ดังที่เราจะเห็นได้ว่าชื่อเพลงจริงๆ นั้นชื่อ sonata for piano and violin ไม่ได้เป็น violin sonata ดังที่มาเรียกกันภายหลัง) แต่โมสาร์ตจะค่อยๆ พัฒนาให้มีบทบาทเสมอกันมากขึ้น ซึ่งจะได้มีการนำเสนอในการแสดงครั้งถัดไป และนอกจากนี้ในการบรรยายก็ได้ให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานในการตีความการบรรเลง ซึ่งอิงมาจากการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีและการวิเคราะห์ตัวบท ตัวอย่างเด่นๆ คือเรื่องการใช้ trill หรือ grace note ที่แต่ละสำนักก็มีการเล่นไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการแสดงที่มีเอกลักษณ์ของอาจารย์ทัศนาและอาจารย์พรพรรณ (ซึ่งเพื่อให้การแสดงกระชับขึ้นจึงตัดทอนช่วงบรรเลงท่อนซ้ำออก) ซึ่งผู้ฟังหลายคน (รวมทั้งอาจารย์ทัศนาและอาจารย์พรพรรณเอง) บอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจบรรเลงได้เป็นธรรมชาติกว่าที่สยามสมาคมเล็กน้อย เพราะผ่อนคลายความเกร็งลงไปแล้ว การบรรยายนี้ทำให้ผู้ฟังได้รับทราบถึงความเอาใจใส่และความตั้งใจที่จะเป็น “ข้าช่วงใช้ดนตรี” ของนักดนตรีอย่างอาจารย์ทัศนาและอาจารย์พรพรรณ รวมทั้งยังชี้ให้เห็นว่า “วิชาการดนตรี” และ “ดนตรีปฏิบัติ” ไม่ใช่สิ่งที่แยกกัน แต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและทำให้การแสดงมีคุณค่าและสมบูรณ์ สามารถสร้างความรู้และความสุขให้แก่ผู้ฟังได้ในเวลาเดียวกัน
ทำไปทำมาศิษย์ของ “สำนักสามย่าน” ซึ่งไปสร้างสำนักใหม่ที่ตลิ่งชันก็กลับมาสนองคุณครูด้วยการแสดงให้เห็นว่า วิทยายุทธที่ครูประสิทธิประสาทไปนั้นนำไปต่อยอดได้ บุคคลที่แสดงให้เห็นว่ามีความสุขมากในรายการเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม คงจะเป็นศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ที่ริเริ่มบุกเบิกให้วิชาการกับการปฏิบัติได้มีโอกาสเสริมความมั่งคั่งให้แก่กันอย่างเป็นรูปธรรม และท่านก็อาจจะโชคดีที่ศิษย์ของท่านต่างก็เป็นนักปฏิบัติที่พัฒนาตนเองมาจนถึงระดับแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่า หรือเครื่องสาย หรือเปียโน พร้อมที่จะเดินตามทางที่อาจารย์กำหนดให้ด้วยวามมั่นใจ ขอเติมตรงนี้ว่า ที่ สกว. ให้ทุนเมธีวิจัยอาวุโสแก่อาจารย์ณัชชามานั้นไม่เสียของแน่