กาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 42: งานแสดงฝีมือดนตรีอันยอดเยี่ยมของทหารเรือไทย
กาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 42: งานแสดงฝีมือดนตรีอันยอดเยี่ยมของทหารเรือไทย
วฤธ วงศ์สุวรรณ
ในบรรดาวงออร์เคสตราทั้งหลายที่มีอยู่นั้น วงของเหล่าทัพทั้งหลายเป็นวงที่ผมยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ในการฟังของจริงเลย อาจจะเนื่องจากวงเหล่านี้ไม่ค่อยได้เปิดคอนเสิร์ตให้สาธารณชนได้รับชมรับฟังมากนัก อยากไรก็ตาม วงดุริยางค์ราชนาวีแห่งกองทัพเรือ มีคอนเสิร์ตสำคัญประจำปีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ นั่นคือ “กาชาดคอนเสิร์ต” ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตการกุศลหารายได้เข้าสภากาชาดไทย หรับกาชาดคอนเสิร์ตนี้ น่าสนใจตรงที่ผมเองได้เคยชมคอนเสิร์ดนี้ทางโทรทัศน์มาหลายปีและหลายครั้งแล้ว ครั้งที่ยังจำได้ดีคือครั้งที่ ฯพณฯ พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี ซึ่งเป็นนักดนตรีและคีตกวี “รักสมัครเล่น” ที่มีฝีมือยอดเยี่ยม บรรเลงเดี่ยววิโอลา ในบทเพลง Sinfonia Concertante ของโมสาร์ต ร่วมกับนักไวโอลินของวงราชนาวี ซึ่งเป็นการแสดงที่น่าประทับใจมาก ผมจึงพยายามที่จะหาโอกาสมาฟังการแสดงของวงดุริยางค์ราชนาวีให้ได้สักครั้ง ซึ่งมาประสบความสำเร็จในปีนี้
กาชาดคอนเสิร์ตในปีนี้ เป็นครั้งที่ 42 มีการแสดงในวันที่ 8 และ 9 กรกฎาคม 2558 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยผมได้ไปชมในวันที่ 8 ซึ่งเป็นรอบประชาชนทั่วไป ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะขอติงฝ่ายจัดงานเล็กน้อยว่า ควรจะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจดนตรีสามารถเข้าถึงคอนเสิร์ตนี้ได้มากขึ้นกว่านี้ เพราะเป็นคอนเสิร์ตที่ไม่ได้จำหน่ายตั๋วให้กับบุคคลทั่วไป แต่ใช้ระบบบัตรเชิญแก่ผู้มีอุปการคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาค และการเกณฑ์คนเข้าฟัง ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าพวกทั้งสามประเภท แต่อาศัยว่าพอรู้จักครูดนตรีทหารเรืออยู่บ้าง จึงขอให้ท่านช่วยเหลือหาตั๋วให้ ซึ่งคนทั่วไปที่อยากฟังแต่ไม่มีเส้นสายก็คงจะมีไม่น้อยซึ่งเสียโอกาสในการรับฟังคอนเสิร์ตที่ดีเช่นนี้
คอนเสิร์ตนี้นับว่าเป็นคอนเสิร์ตที่เน้นบทเพลงที่ฟังง่าย ไม่หนักมากนัก ดังนั้น จึงมีเพลงคลาสสิกเพียงในครึ่งเวลาแรก ในครึ่งเวลาหลังจะเป็นเพลงร้อง โดยมีทั้งนักร้องรับเชิญที่มีชื่อเสียงและคุณภาพ ร่วมกับนักร้องเดี่ยวและคณะนักร้องประสานเสียงของกองดุริยางค์ทหารเรือเอง ผมเองนั้นอาจจะไม่มีประสบการณ์ด้านการฟังเพลงร้องมากนัก จึงขอไม่ลงรายละเอียดมากนัก แต่ขอกล่าวถึงภาพรวมในการร้องของนักร้องแต่ละคน
ในครึ่งแรกซึ่งเป็นเพลงคลาสสิก อำนวยเพลงโดยนาวาโท ประกอบ มกรพงษ์ เริ่มต้นด้วยบทเพลง Festive Overture ของดมิทรี ชอสตาโกวิช (Dmitri Shostakovich, 1906-1975: คีตกวีชาวรัสเซีย) เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองสนุกสนานรื่นเริง ซึ่งวงราชนาวีก็เล่นได้อย่างน่าฟัง โดยเฉพาะคลาริเน็ตและฟลูตซึ่งเล่นในทำนองที่รวดเร็วได้ดีมาก รวมไปถึงกลุ่มเครื่องสายก็มีเสียงที่แน่นกังวานและยังสามารถเล่นท่อนที่รวดเร็วได้เป็นอย่างดี ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองก็เล่นได้อย่างมีพลัง ดูองอาจสมกับเป็นทหาร แค่เพลงแรกก็ย้อมใจคนดูให้สวามิภักดิ์กับวงได้อย่างไม่ยากเย็นแล้ว ด้วยเพลงที่ให้โอกาสทุกกลุ่มเครื่องดนตรีโชว์ความสามารถ
บทเพลงที่สองคือ Méditation from “Thaïs”ของจูลส์ มาสเซอเนต์ (Jules Massenet, 1842-1912คีตกวีชาวฝรั่งเศส) เดี่ยวไวโอลินโดยจ่าเอกหญิง ปรารถนา จงเจริญ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ดารา” ของวง มาเป็นจุดขายของเพลงนี้ ผมคิดว่าเธอเล่นได้ดีแบบกลางๆ ไม่หวือหวา ไม่ทึ้งอะไรมาก แต่ก็เล่นได้ดีไม่มีข้อผิดพลาด เพลงนี้ท่วงทำนองค่อนข้างลึกซึ้ง สงบเย็น เธอจึงตีความเพลงในแนวที่เรียบร้อย ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ ส่วนวงก็ช่วยเสริมอารมณ์ของนักไวโอลินเดี่ยวได้เป็นอย่างดี นักดนตรีหลายท่านบอกว่า เพลงช้าเล่นยากกว่าเพลงเร็ว เพราะเพลงช้านอกจากจะต้องมีโน้ตที่ชัดเจนทุกตัวแล้ว ยังต้องแสดงออกถึงอารมณ์ความลึกซึ้งอีกด้วย ซึ่งบางคนจะเล่นไม่ออก ผมคิดว่าจ่าเอกหญิงปรารถนาเล่นเพลงช้าได้ดีมาก แต่ก็แอบเสียดายเล็กน้อยที่เธอได้เล่นเพียงเพลงเดียว หากได้เล่นอีกเพลงที่มีอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง หรืออารมณ์หม่นหมองรุกเร้า เราอาจจะได้เห็นฝีมือที่หลากหลายของเธอมากขึ้น (ได้ทราบมาว่า ท่านวาทยกรเอง ซึ่งครั้งหนึ่งเล่นไวโอลินให้กับทั้งวงราชนาวี และ BSO ก็เคยเดี่ยวเพลง Méditation มาแล้ว)
ปิดท้ายครึ่งแรกด้วย Symphony No.9 in E minor, Op.95 ผลงานของอันโตนิน ดวอชาค (Antonin Dvorak คีตกวีชาวเช็ค) โดยคัดมาเล่นเฉพาะกระบวนที่3 และ 4 เนื่องจากเวลาที่ค่อนข้างจำกัด (ซึ่งคอเพลงคลาสสิกอาจจะเสียดาย เพราะกระบวนที่ 1 และ 2 ก็มีความไพเราะมากเช่นกัน) ในกระบวนที่ 3 Scherzo. Molto vivace ผมคิดว่าวงมีเสียงโปร่งใส ไม่กลม ได้ยินเสียงเครื่องแต่ละกลุ่มชัดเจน กลุ่มเครื่องเป่า ทั้งฟลูต โอโบ คลาริเน็ต และบาสซูน เล่นได้ดี ทั้งในช่วงที่รวดเร็วและช่วงที่อ่อนหวาน ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีลีลาเหมือน chamber music วงก็บรรเลงได้อย่างงดงาม ในกลุ่มเครื่องสายเสียงต่ำๆ ก็บรรเลงได้ดี รวมไปถึงการเปลี่ยนทำนองไปสู่อารมณ์ต่างๆ ก็ทำได้ดีมาก และในกระบวนที่ 4 Allegro con fuoco ซึ่งมีทำนองรุกเร้าและน้ำเสียงที่ยิ่งใหญ่อลังการ วงบรรเลงได้อย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองซึ่งมีพลังและเสียงที่ชัดเจน ไม่แผดกร้าวจนเกินงาม กลุ่มเครื่องสายซึ่งเป็นตัวดำเนินทำนองหลักก็เล่นได้อย่างหนักแน่นและคมชัด โดยรวมแล้ววงดุริยางค์ราชนาวีเล่นเพลงคลาสสิกได้มาตรฐานที่สูงมาก ถ้าหลับตาฟังคงไม่รู้ว่านี่คือผลงานของทหารเรือไทยไม่ใช่วงฝรั่งจากเมืองนอก เป็นที่ถูกใจของผู้ฟังเป็นอย่างมาก
ในครึ่งหลัง เป็นช่วงที่เน้นเพลงร้องที่มีแนวคิดหลักคือการสร้างกำลังใจและคืนความสุขให้คนในชาติอำนวยเพลงโดยนาวาโท ศุภกร แตงน้อย โดยอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด (กิตตินันท์ ชินสำราญ- คณะนักร้องประสานเสียงกองดุริยางค์ทหารเรือ) ฝันบรรยาย (เนื่องจากความฝันอันสูงสุด) (ธีรนัยน์ ณ หนองคาย -กิตตินันท์ ชินสำราญ – คณะประสานเสียงฯ) และรัก ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระนิพนธ์เนื้อร้อง(จ่าเอกหญิง สราญรัตน์ ชูอำนาจ) อีกช่วงหนึ่งเป็นการนำเพลงยอดนิยมทั้งไทยและสากลที่มีความหมายในเชิงให้กำลังใจและมีความสุขมาร้อยเรียงกัน ประกอบด้วย Way Back into Love (จ่าเอกหญิง โสธิดา ชัยฤทธิไชย – ภพธร สุนทรญาณกิจ) เหมือนเคย (ภพธร สุนทรญาณกิจ) Let It Go (จ่าเอกหญิง โสธิดา ชัยฤทธิไชย) The Power of Love (จ่าเอกหญิง สราญรัตน์ ชูอำนาจ) รักเธอจริงๆ (ชัชชัย สุขขาวดี) รักเธอประเทศไทย (ชัชชัย สุขขาวดี – คณะประสานเสียงฯ) Looking Through Your Eyes (ธีรนัยน์ ณ หนองคาย) A Whole New World (ธีรนัยน์ ณ หนองคาย- กิตตินันท์ ชินสำราญ) ชัยชนะ(กิตตินันท์ ชินสำราญ)และเมดเล่ย์ “นาวีสุขสันต์” – ทหารเรืออ้อนรักรำวงชาวทะเลเมื่อประดู่บาน (คณะนักร้องประสานเสียงกองดุริยางค์ทหารเรือ) ในส่วนของวงนั้น เมื่อเล่นดนตรีคลาสสิกมาอย่างช่ำชองแล้ว ดนตรี “ป๊อป” เหล่านี้ย่อมเล่นได้อย่างสบายและมีเสียงที่ไพเราะ ช่วยส่งเสริมการร้องของนักร้องได้อย่างดียิ่ง
เนื่องจากมีเพลงมากมาย ผมขออนุญาตอภิปรายโดยรวม สำหรับธีรนัยน์ผมคิดว่าเธอร้องได้ดีมาก มีน้ำเสียงที่หวานซึ้งไพเราะและลีลาการร้องที่ดูเหนือกว่านักร้องคนอื่น ตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะมีการที่เธอเป็นนักร้องที่เชี่ยวชาญเรื่องการร้อง musical จึงสามารถจับวิญญาณของแต่ละเพลงและถ่ายทอดออกมาด้วยความเข้าใจได้เป็นอย่างดี อีกคนหนึ่งคือกิตตินันท์ ซึ่งเสียงของเขาค่อนข้างมีพลัง มี dynamic ที่หลากหลาย รวมทั้งยังพยายามตีความด้วยลีลาคล้ายๆ ละครเวที ซึ่งจะไม่ร้องด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่จะคล้ายกับการสนทนา และเขาก็ทำได้อย่างดีมาก
สำหรับจ่าเอกหญิงทั้งสองนั้น จะมีการแสดงออกของบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ในส่วนของจ่าเอกหญิงสราญรัตน์ เธอมีน้ำเสียงที่ค่อนข้างใหญ่ มีพลัง สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้งอย่างเช่นเพลง The Power of Loveได้ดี ส่วนจ่าเอกหญิงโสธิดา เสียงเธอไปในทางแหลมเล็กน่ารัก เหมาะกับเพลงที่ค่อนข้างสดใส ซึ่งเพลง Let It Go (ซึ่งผมฟังมา 3-4 ครั้งแล้ว ในแทบทุกคอนเสิร์ตคลาสสิกที่มีเพลงร้องด้วย) แม้มีท่วงทำนองที่หม่นอยู่บ้าง แต่ก็เหมาะกับเสียงสูงๆ ของเธออย่างมาก ทางด้านตู่ ภพธร ซึ่งเป็นนักร้องยอดนิยมชื่อดังนั้น เสียงของเขาก็ค่อนข้างไพเราะและมีพลัง แต่การร้องของเขาอาจจะราบเรียบไปสักนิด อาจจะเนื่องมาจากบทเพลงไม่ได้เอื้อให้แสดงลีลาการร้องที่หลากหลายได้มากนัก แต่ที่น่าผิดหวังอยู่บ้างคือชัชชัย สุขขาวดี หรือหรั่ง ร็อกเคสตรา นักร้องชื่อดังในอดีต ซึ่งคงต้องยอมรับว่าเขาผ่านเลยจุดสูงสุดของอาชีพมาแล้ว และเช่นเดียวกับนักร้องเพลงร็อคหลายๆ คนในยุคใกล้เคียงกัน ที่เริ่มร้องไม่ได้ตามมาตรฐานเดิมที่พวกเขาเคยร้องไว้แล้ว ทั้งนี้เข้าใจว่าเนื่องมาจากการใช้เสียงที่สมบุกสมบันมากเกินไปในช่วงวัยหนุ่ม ทุกครั้งที่หรั่งร้องขึ้นเสียงสูงผู้ชมก็ต้องลุ้นกันแทบใจหายใจคว่ำว่าเสียงจะหายหรือไม่ เท่าที่ดูก็คือต้องเค้นพลังออกมาอย่างยากลำบากและยังร้องไม่ทันดนตรีอีกด้วย ทุกประโยคเสียงสูงเมื่อจบประโยคก็แทบหอบเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เพลงที่เขาแต่งทั้งหลายนี้ ก็เป็นเพลงที่ไพเราะมีคุณค่าในเชิงให้กำลังใจ และแสดงออกถึงความรักชาติอย่างสูง การเชิญเขามาร่วมแสดงในครั้งนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องความรักชาติด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เหมาะอย่างยิ่งกับวงทหารเรือเช่นนี้
คอนเสิร์ตในครั้งนี้ ผมคิดว่ามีคุณภาพที่สูงมาก ทั้งในส่วนของเพลงคลาสสิกและเพลงร้อง โดยนักดนตรีก็เป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ของกองดุริยางค์ทหารเรือในชั้นประทวนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรุ่นครูก็ขยับไปเป็นวาทยกรแล้ว เช่นนาวาโท ประกอบ มกรพงษ์ หรือ นาวาโท ศุภกร แตงน้อย ซึ่งเมื่อก่อนก็เล่นดนตรีอยู่กับวง Bangkok Symphony Orchestra (รวมไปถึงครูและนักดนตรีอีกหลายท่านของวงดุริยางค์ราชนาวี ก็เล่นกับวง BSO เป็นประจำเช่นกัน)ก็สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ในการบรรเลงร่วมกับวาทยกรชั้นนำทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาถ่ายทอดต่อนักเรียนของตนได้เป็นอย่างดี ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ วงดุริยางค์ราชนาวีมีประเพณีที่ยาวนานในการสืบทอดความรู้ทางด้านดนตรี โดยมีโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือเป็นแหล่งผลิตนักดนตรีของตนเอง (แต่น่าเสียดายที่ให้วุฒิเพียงแค่มัธยมปลาย หากใครอยากก้าวหน้าต้องหาทางศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยเอาเอง) และเริ่มบรรเลงซิมโฟนีออร์เคสตราได้มาตั้งแต่ปี 2502 (ซึ่งวงดนตรีอย่าง Pro Musica ในยุคแรก และ BSO ในเวลาต่อมาก็ต้องพึ่งพาอาศัยนักดนตรีทหารเรืออยู่เป็นประจำ) จึงมีพื้นฐานด้านดนตรีคลาสสิกที่แข็งแกร่ง อีกประการหนึ่งคือความที่เป็น “ข้าราชการ” จึงมีเวลาในการซ้อมและเตรียมตัวคอนเสิร์ตนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นงานใหญ่ประจำปีที่จะได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนสู่สายตาของสาธารณชน จากคอนเสิร์ตครั้งนี้เราคงจะประจักษ์ถึงฝีมือของนักดนตรี made in Thailand เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ว่ามีคุณภาพสูงเพียงใด กาชาดคอนเสิร์ตในยุคก่อนเป็นซิมโฟนีคอนเสิร์ตเต็มรูป และก็พร้อมที่จะเชื้อเชิญนักแสดงเดี่ยวของไทยให้ร่วมแสดงด้วย ผมไม่ทันได้ฟังอาจารย์ทัศนา นาควัชระ เล่น Violin Concerto ของ ไชคอฟสกี ร่วมกับวงราชนาวี แต่ก็ทราบมาว่า ทั้งผู้แสดงเดี่ยวและวงดุริยางค์มีเวลาซ้อมด้วยกันอย่างเพียงพอ นั่นคือคุณูปการของ “ราชการไทย” ที่ผู้คนในปัจจุบันชอบดูถูกเหยียดหยามอย่างไม่ยุติธรรม ก็หวังว่าวงราชนาวีจะเปิดการแสดงที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ให้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการดีต่อทั้งสองฝ่าย คือนักดนตรีก็จะได้ฝึกฝีมือให้แข็งแกร่งขึ้นและมีเวทีแสดงออกมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ฟังผู้รักดนตรีทั้งหลายก็จะได้มีทางเลือกในการฟังดนตรีที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ถ้าไม่มีนักดนตรีจากวงราชนาวี ดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยก็คงตายไปแล้ว”
ปกติเป็นคนที่ไม่เคยได้ฟังวงแบบนี้ แต่พอดีพี่ไปเล่นดนตรีที่นี่ เลยตามๆไปดู บวกกะเค้าอุตส่าให้บัตรมา ตอนแรกก็คิดว่าน่าเบื่อ แต่บอกเลย ว่าเพราะมากค่ะ และดูไม่น่าเบื่อเลย พอใกล้ๆจบ ยังนึกเลย แบบจะจบแล้วเหรอ