แมคเบธ ครั้งเดียวในรอบสี่สิบปี

แมคเบธ ครั้งเดียวในรอบสี่สิบปี

 

กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นจากการริเริ่มของ รศ.สดใส พันธุมโกมล เมื่อสี่สิบปีก่อน (แต่เริ่มสอนวิชาศิลปะการละครจริงๆตั้งแต่ปี 2507) โดยปักหลักอยู่ที่ตึกสี่ คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งบนชั้นสามจะมีโรงละครเล็กๆ สำหรับใช้การแสดงละครของภาควิชา และละครวิทยานิพนธ์ของนิสิต

 

โรงละครเล็กๆแห่งนี้ กลายเป็นตำนานในวงการละครของไทย ดาราและนักแสดงมากมายล้วนเคยผ่านงานแสดงที่นี่ รวมทั้งคนที่ไม่ได้เรียนที่นี่ด้วย โดยเฉพาะจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง

 

แล้ววันหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่จะต้องอำลาตึกสี่และโรงละคร ตามแผนพัฒนาพื้นที่ใช้สอยของจุฬาฯ ทั้งตึกและโรงอาหารถูกรื้อถอนเพื่อสร้างตึกใหม่ที่ใหญ่และทันสมัยกว่า ไม่นานนัก ตึกมหาจักกรีสิรินทรก็ขึ้นมาเคียงคู่กับตึกบรมราชกุมารี

นอกจากตึกนี้จะเป็นตึกของคณะอักษรศาสตร์โดยตรงแล้ว (ตึกบรมราชกุมารีเป็นของจุฬาฯที่คณะอักษรศาสตร์อาศัยอยู่) โรงละครแห่งใหม่ที่ทันสมัยและใหญ่กว่าเดิมก็ปรากฎตัวอยู่ที่ชั้น 6 ซึ่งมีโครงการจะทำเป็นศูนย์ศิลปะการละคร สดใส พันธุมโกมล โรงละครนี้เปิดใช้อย่างไม่เป็นทางการไปแล้วด้วยละครวิทยานิพนธ์ของนิสิต และการแสดงของศิลปินฝรั่งเศสในเทศกาล La Fete จนเมื่อเดือนที่แล้ว จึงได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการด้วยละครเรื่อง “แมคเบธ” จากบทละครของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ ซึ่งเป็นบทละครเรื่องโปรดของอาจารย์สดใสที่ใช้สอนลูกศิษย์อยู่เสมอมา โดยมีศิษย์เอกของอาจารย์สดใส รศ.นพมาส แววหงส์ เป็นผู้แปลบทและกำกับการแสดง ร่วมกับครูฮันส์-ฮันส์ โฮนิคเก้

 

เนื่องจากว่าคราวนี้มีวาระสาคัญมาบรรจบกันหลายอย่าง ทั้งครบรอบสี่สิบปี เปิดศูนย์ศิลปะการละคร เปิดโรงละคร “แมคเบธ” จึงเป็นละครใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยจัดแสดงกันมาที่นี่ เป็นการชุมนุมนักแสดงละครเวทีทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบันของภาค คนที่เคยผ่านการแสดงที่นี่มาแล้ว แม้จะไม่เคยเรียนที่นี่ รวมทั้งคนที่เพิ่งเคยมาแสดงที่นี่เป็นครั้งแรก หลายคนเป็นนักแสดงชื่อดัง บางคนไปเป็นระดับครูบาอาจารย์ บางคนเป็นนักบริหาร รวมทั้งศิลปินศิลปาธรสองคน ได้แก่ประดิษฐ์ ประสาททอง และนิกร แซ่ตั้ง กับศิลปินแห่งชาติ สุประวัติ ปัทมสูต ถ้าไม่ใช่โอกาสพิเศษแบบนี้ ก็คงไม่มีวันได้มารวมตัวกันได้ แถมยังใช้เวลาในการซ้อมอยู่เกือบปี

 

นอกจากนักแสดงและทีมงานของละครแล้ว คนดูในแต่ละรอบก็มีสีสันไม่แพ้กัน ในรอบแรก อาจารย์สดใสนั่งปลื้มอยู่คู่กับครูเด็น-ไมเคิ่ล เด็นนิสัน ผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชาซึ่งเดินทางมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และทุกๆรอบก็จะมีคนดูที่อยู่ในวงการละครซึ่งเรียกได้ว่ามากันหมดเมืองไทย ผู้แสดงเป็นแมคเบธและเลดี้แมคเบธนั้นมีสองชุด และเล่นสลับคู่กันด้วย จึงปรากฎว่ามีคนดูบางคนมาดูถึงสี่รอบ เพื่อให้ครบถ้วน

 

เรื่องราวของแมคเบธนั้นเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการละคร เพราะเคยทำทั้งหนังและละครกันมาแล้วหลายครั้งหลายครา การมาดูในคราวนี้จึงไม่ได้เป็นการดูเพื่อเอาเรื่อง แต่จะมาดูว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนมากกว่า

 

ในเมืองไทยเราเคยมีการแสดงละครเรื่องนี้กันมาหลายครั้งเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ “แมคเบธ ผู้ทรยศ” ของคณะผกาวลีเมื่อห้าสิบปีก่อน ซึ่งต่อมาเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง และคณะมรดกใหม่ก็ได้นำมาแสดงอีกครั้ง เป็นบทที่แปลและดัดแปลงให้เป็นไทยๆ โดยเฉพาะของอาจารย์ชนประคัลภ์ซึ่งตีความแม่มดสามคนให้เป็นตัณหา ราคา และอารตี สามธิดาพญามาร อาจารย์มัทนี รัตนิน ก็เคยดัดแปลงเรื่องเป็นไทยสมัยน่านเจ้า ใช้ชื่อว่า “ม็งปา มหาบุรุษ”

 

สำหรับคราวนี้ ถือได้ว่าเป็นการแสดงตามบทของเชคสเปียร์อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก เริ่มตั้งแต่บทแปลที่รักษาความเป็นบทกวีไว้อย่างคนถ้วนกระบวนความ อันเป็นภาระหนักให้ผู้แสดงที่จะต้องพูดบทออกมาให้ดูเป็นธรรมชาติให้ได้ และคนที่พูดได้ไพเราะถึงพร้อมด้วยอารมณ์มากที่สุดก็คือสุประวัติ ปัทมสูต ในบททหารบาดเจ็บที่มากล่าวสรรเสริญวีรกรรมของแมคเบธในตอนต้นเรื่อง ทั้งน้ำเสียงและจังหวะสะกดคนทั้งโรงละคร ทั้งผู้แสดงและคนดู เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นบทเล็กๆบทนี้มีความสำคัญขึ้นมา นอกจากนี้ก็มีบทของนางกำนัลผู้ติดตามเลดี้แมคเบธซึ่งมีบทพูดจริงๆเพียงฉากเดียวตอนท้ายเรื่อง แต่จะต้องติดตามตัวเจ้านายออกมาตั้งแต่ฉากแรก สิริยากร พุกกะเวส ไม่ได้แค่ยืนเฉยๆ สายตาของเธอคอยเก็บรายละเอียดในพฤติกรรมรอบๆตัวเอาไว้ใช้ในฉากที่เธอได้พูด อีกบทหนึ่งคือแบงโก สหายสนิทของแมคเบธ แสดงโดยไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ซึ่งเคยเห็นแต่ว่าเป็นคนดีที่ซื่อสัตย์ต่อแมคเบธ แล้วก็โดนเพื่อนทรยศ ส่งคนไปสังหาร มาคราวนี้ มีบทรำพึงของแบงโก ซึ่งทำให้สงสัยว่าที่เขาสนับสนุนแมคเบธนั้น เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเป็นเพราะว่าเขาเชื่อคำทำนายของแม่มดที่ว่าลูกของเขาจะได้เป็นกษัตริย์ต่อจากแมคเบธ การให้ความสำคัญแก่บทเล็กๆเหล่านี้ คือของใหม่ที่ผมไม่เคยได้เห็นมาก่อนในแมคเบธเวอร์ชั่นอื่นๆ

 

ฉากสำคัญฉากหนึ่งถูกตัดออกไป คือตอนที่แมคเบธส่งคนไปสังหารเมียและลูกของแมคดัฟฟ์ ผู้ตั้งตนเป็นศัตรูของเขา ฉากนี้สร้างความสะเทือนใจให้คนดูมาก และในเวอร์ชั่นหนังของโรมัน โปลันสกี้ ก็ทำได้โหดเหี้ยมเกินทน แต่ในคราวนี้ ไม่มีฉากนี้ให้เห็น ใช้เพียงไฟสีแดงฉานเพียงอย่างเดียวบนเวทีโล่งๆ แต่ก็ให้ความสะเทือนใจได้โดยไม่ต้องทารุณจิตใจกัน

 

ผู้แสดงทั้งสองชุดได้แก่ ดังกมล ณ ป้อมเพชร กับอรชุมา ยุทธวงค์ แมคเบธคนนี้ดูเป็นคนซื่อที่ถูกชักจูงจากคำทำนายของแม่มดจนทำให้เขาตัดสินใจทรยศ ลอบฆ่ากษัตริย์ดันแคน และได้เป็นกษัตริย์แทน จากนั้นก็ตามฆ่าคนอื่นๆที่เห็นว่าจะมาขวางทางของตน เลดี้แมคเบธเป็นผู้หญิงที่ห้าวหาญเด็ดเดี่ยว พร้อมจะฉกฉวยเมื่อโอกาสมาถึง และเธอดูจะเป็นผู้นำสามีมากกว่า ชะตากรรมของทั้งคู่ในตอนท้ายให้ความรู้สึกน่าเวทนา ส่วนคู่สมพล ชัยศิริโรจน์ กับเยาวเรศ อารีย์มิตร นั้น ดูแมคเบธจะเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่เป็นทุนเดิม โดยมีเลดี้แมคเบธเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด และคอยชักจูงใจ เมื่อทั้งคู่ประสบความพ่ายแพ้ในตอนท้าย จึงดูสะใจมาก เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ดูตอนสลับคู่กัน ไม่รูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

 

ก่อนจะดูละครเรื่องนี้ ผมคิดอยู่ว่าจะต้องเครียดแน่ๆ เพราะเนื้อเรื่องหนัก มีความรุนแรง อีกทั้งความเป็นละครใหญ่ ผู้แสดงรุ่นใหญ่ที่ค่อนข้างจะข่มคนดูอยู่ในที ก็ทำให้นึกขยาดเอาไว้ก่อน แต่เมื่อได้ดูจริงๆ ก็เป็นละครที่ดูสนุก ให้ความบันเทิงแก่คนดูได้เต็มที่ และที่สำคัญก็คือ ในหลายๆรอบ คนดูหัวเราะออกมากันหลายครั้งหลายหน เพราะความไพเราะของบทพูดนั้น มันขัดกันยิ่งกับเนื้อเรื่องที่มีแต่ความรุนแรง เช่นตอนที่แมคดัฟฟ์มาพบและทักทายเลดี้แมคเบธว่า “คุณหญิงผู้มีความกรุณา” หลังจากที่เราเห็นเธอถือกริชเปื้อนเลือดของกษัตริย์ดันแคนมาก่อนหน้านั้นเพียงสองสามนาที

 

การหัวเราะของคนดูแสดงให้เห็นว่าคนดูได้แยกตัวออกจากละครแล้ว และสามารถใช้วิจารณญานของตนเองกับสาระของละครได้โดยอิสระ ทำให้เข้าถึงเจตนาของเชคสเปียร์ได้ดียิ่งขึ้น

 

ปีนี้เพิ่งผ่านไปได้แค่หกเดือน แต่น่าจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่า “แมคเบธ” เป็นละครใหญ่ที่ดีที่สุดของปีนะครับ ที่สำคัญ คงไม่มีโอกาสได้ดูละครขนาดนี้อีกแล้ว ความยิ่งใหญ่ที่ว่านี้ ไม่ได้อยู่ที่การลงทุนหรือเทคโนโลยี แต่เป็นความยิ่งใหญ่ด้านศิลปะการละครครับ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *