The Return of Wanthong : เมื่อวันทองตาย..ทำไมต้องกลายเป็นเปรต

The Return of  Wanthong : เมื่อวันทองตาย..ทำไมต้องกลายเป็นเปรต

 

อภิรักษ์  ชัยปัญหา


แม่รักลูก..ลูกก็รู้อยู่ว่ารัก

คนอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเหมือน…จะกินนอนวอนว่าเมตตาตื่น…จะจากเรือนร้างแม่..ไปแต่ตัว

ใคร ๆ ก็รักวรรคทองบทนี้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”…รวมทั้งผมด้วย

วรรคทองที่ว่า มาจากตอนที่สองแม่-ลูก วันทองกับพลายงามต้องจากกัน  เพราะขุนช้างรู้แล้วว่าพลายงามไม่ใช่ลูกของตน (รู้ช้าจัง  แค่ชื่อ “พลาย” ก็น่าจะรู้แล้วว่า ลูกของพลายแก้ว หรือ ขุนแผน” ) เลยลวงไปฆ่าทิ้งเสียในป่า..เดชะบุญโหงพราย ไปเตือนนางวันทองให้รู้  และมาช่วยบังเอาไว้  พลายงามเลยรอดมาได้   โดนที่ขุนช้างไม่รู้ นางวันทองตัดสินใจให้ลูกหนีไปอยู่กับนางทองประศรีแม่ของขุนแผน (ขุนแผนติดคุกอยู่)  โดยต้องเดินเท้าข้ามจังหวัดไปกาญจนบุรีเพียงลำพังทั้ง ๆ ที่ยังเป็นเด็กชาย….และนั่นคือที่มาของฉากสะเทือนอารมณ์ที่สุดอีกฉากหนึ่งของเสภาบทนี้ และเป็นที่มาของวรรคทองข้างต้น

นอกจากความรักสามเส้า ของขุนช้าง ขุนแผน และ นางวันทองแล้ว   ความรักของนางวันทองกับลูกชายคนเดียวของเธอก็เป็นอีกเส้นเรื่องสำคัญของเสภาเรื่องนี้ ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้อ่านหรือฟัง  ประดิษฐ ประสาททอง

ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนแรก ได้จับเอาเรื่องราวของ พลายงาม ที่ต่อมาเติบโตเป็นทหารกล้าชื่อ จมื่นไวยวรนาท ที่ได้มาพบกันครั้งสุดท้ายกับแม่ของตนเอง  หลังจากที่เธอโดนตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว และนำมาเป็นเนื้อเรื่องหลักของละครร่วมสมัยเรื่องนี้   ใช่ครับคุณอ่านไม่ผิดหรอก…วันทองตายแล้วตอนที่มาพบพระไวยฯ ครั้งสุดท้าย

ในต้นฉบับของขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งชำระโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ได้กล่าวว่า นางวันทอง หลังจากตายไปแล้ว ก็ไม่ยอมไปไหน แต่กลายเป็นเปรต  และครั้งสุดท้ายที่นางมาพบลูกชาย ก็เพราะห่วงที่ลูกชายกำลังจะไปรบตามคำสั่งของพระพันวษา เลยมาห้ามทัพไว้

ในเวอร์ชั่นละคร  ซึ่งใช้เพียงเวทีที่ยกพื้นทรงสี่เหลี่ยมตรงกลาง  คนดูนั่งรายล้อม  และใช้นักแสดงเพียงสามคน แต่เล่น 4 บทบาท คือ คือ จมื่นไวยฯในวันหนุ่ม (สุขุมพันธ์  ธิติพันธ์)  จมื่นไวย ฯ ในอีก 25 ปี ต่อมา (ประดิษฐ ประสาททอง)  พระพันวษาและ นางวันทอง (สองบทหลังแสดงโดย ดวงใจ หิรัญศรี)  กับการเล่นดนตรีสดผสานกับดนตรีแห้ง  ได้สร้างเรื่องราวต่อจากเหตุการณ์ในเสภา  ว่าหลังจากพบกันครั้งนั้น  พระไวยก็เต็มไปด้วยความทุกข์  เพราะกังวลที่แม่เป็นเปรต (ครั้งแรกเขาพบเธอในฐานะนางฟ้า พอรู้ว่าเป็นแม่ของตน นางก็กลายเป็นเปรต)  เขาคิดว่าที่แม่ไม่ไปไหน เพราะแม่ไม่ให้อภัยตนเองที่กลับมาช่วยชีวิตแม่ไว้ไม่ทัน

ท่ามกลางบทสนทนาที่ใช้ภาษาระดับวรรณศิลป์ สลับกับการขับร้องเพลงไทยเดิมอันแสนไพเราะ ละครพยายามให้วันทองบอกลูกชายว่า การที่เธอถูกคนอื่น ๆ มองว่าเป็น “เปรต” นั้น ไม่สำคัญมากเท่ากับที่ลูกชายคนเดียวของนางก็เห็นว่าเธอเป็น “เปรต” ด้วย   ซึ่งจมื่นไวย ฯ ก็แย้งว่า เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ก็เพราะ “ค่านิยม”  และ “ขนบ” ที่ตนยึดถือ

นางวันทอง ไม่ได้โกรธลูกชายที่กลับมาช่วยแม่ไม่ทัน  แต่นางวันทองแค่อยากรู้ว่า ลูกของเธอเห็นว่าแม่ของตัว “เลวร้ายเป็นอสูรกาย” เช่นเดียวกับที่ พระพันวษาว่าไว้ จนคนอื่นๆ  ต่างก็พลอยเห็นด้วยกันไปหมดหรือไม่…เมื่อลูกชาย ตอบถ้อยสุนทรที่ผมยกมาไว้ตอนต้น  นางวันทองก็ถึงกับบอกว่า “ไปจำใครเขามา” และขอให้จมื่นไวย ฯ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ไปทูลขอชีวิตให้นางวันทองกับพระพันวษานั้น เขาพูดถึงนางว่าอย่างไร….แน่นอน พระไวยบอกว่าแม่ตัวเองเลวอย่างที่ใคร ๆ เขาว่ากัน

จากประเด็นนี้ นับว่าเป็นมุมมองที่ฉลาดมากของประดิษฐ   เพราะเขาใช้เรื่องราวของสองแม่ลูกนี้ วิพากษ์สังคมไทยทั้งระบบ ได้อย่างแยบยล  การเลือกให้นักแสดงหญิงที่เล่นเป็นนางวันทอง และกำหนดให้เป็นผู้เล่าเรื่องราวของพระพันวษาด้วย นับเป็นการยั่วล้อและเสียดเย้ยความยอกย้อนของสังคมแบบไทย ๆ ได้อย่างเจ็บแสบ  (ซึ่ง ดวงใจ นางเอกคู่บุญของประดิษฐ ก็ฝากฝีมือไว้อย่างมีพลัง  ตอนเธอเป็นวันทองก็ว่าสวยดีแล้ว  แต่ตอนเล่นเป็นพระพันวรรษานั้น แม้จะเล่นแบบตัดอารมณ์แต่กลับให้มิติที่สะเทือนใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง)

ละครจบลงด้วยฉากที่จมื่นไวย ฯ ส่งดอกบัวไหว้ขอขมาผีแม่วันทอง และกล่าวว่าตนนั้นทำได้เพียงเท่านี้  คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่อะไรได้ เพราะต้องมีภาระมีครอบครัวที่ต้องดูแล…นางวันทอง จึงจำลา…และเด็ดกลีบของดอกบัวสี่กลีบวางไว้ในสี่ทิศรอบตัวจมื่นไวยฯ   ในสายตาของผู้ชมเรารู้ว่านางวันทองจากไปอย่างไม่สงบแน่ๆ  และเราก็อดลุ้นไม่ได้ว่า จมื่นไวย ฯ จะสามารถข้ามพ้น “มายาคติ” ที่ครอบงำเขาไปสู่แสงสว่างทางปัญญาได้ ในวันหนึ่ง

ละครหลาย ๆ เรื่องของประดิษฐ  เขามักกำหนดให้ตัวละคร “แม่” ทวงถาม “ความกล้า” จากลูก โดยเฉพาะลูกชาย   ซึ่งลูกชาย ในละครของประดิษฐ มักจะอยู่ในสถานะของ “ผู้กล้า”  เป็น “วีรบุรุษ”  ในสายตาคนอื่น  แต่สำหรับตัวละคร “แม่” ของประดิษฐแล้ว ลูกชายเหล่านั้นกลับเป็นเพียงแค่คน “ขลาด”  ที่จะลุกขึ้นมาฝืนขนบที่พวกเขาต่างก็รู้ว่า “ไม่ถูกต้อง” และยอมตัวเป็นทาสและปรับตัวเองให้รู้สึกว่าขนบที่ผิดเพี้ยนนั้น เป็นเรื่อง “ปกติ” ที่ใคร ๆ ต่างก็ยึดถือ  ดังจะเห็นได้จากตัวละคร “สุดปรารถนา”  จากละครเรื่อง นายซวยตลอดศก   ตัวละคร  สส. สุด  (เช่นกัน) จากเรื่อง รถไฟฟ้ามาหาอะไร  และอีกครั้งกับ จมื่นไวยฯ   ในการกลับมาของวันทอง

ความโดดเด่นของละครเรื่องนี้คือรากทาง “วรรณศิลป์” ของประดิษฐที่แข็งแรงมาก  และรากทางขนบในการ

”ใช้เพลง” ไทยเดิมมาปรับลูกเอื้อนลูกผสานในแบบการร้องเพลงสมัยใหม่  จึงอาจกล่าวได้ว่าละครร่วมสมัยของเขานั้น

“มีราก” แน่นอนสองสิ่งนี้กลายเป็นอาวุธสำคัญของเขาในฐานะศิลปินร่วมสมัย  โดยรวมแล้วผมชอบเลยเรื่องนี้  แต่จะรู้สึกสะดุดกับละครองค์สุดท้ายนิดหน่อย ที่จู่ ๆ ละครก็เปลี่ยนวิธีเล่น ทำให้ละครที่กลมมาตลอด แบนไปอย่างน่าเสียดาย

การที่ประดิษฐฉีก “กลอนเสภา” เดิมแล้วแต่งของตัวเองเข้าไปปะปน และ ฉีกขนบการใช้ “เพลงไทยเดิม” แบบนี้ นับเป็นการวิวัฒน์และสอดรับกับ “สาร” ที่เขาต้องการส่งไปถึงบรรดา “ลูกชาย” ของ “แม่วันทอง” ทั้งหลายให้หารกล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ก้าวหน้า   ในมุมมองนี้ น่าสนใจว่า  หากจมื่นไวย ฯ ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงอย่างรักษารากเหง้าไว้แบบที่ประดิษฐใช้ในการเล่าเรื่องเช่นนี้  อาจจะเป็นอีก “มรรค” วิถีที่จมื่นไวยฯ อาจทำให้แม่วันทองสู่สุขคติได้อย่างแท้จริง

 

 

(ที่มา Madame Figaro ฉบับเดือน กรกฎาคม 2554)

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *