แกล้งทำงี่เง่าไปเรื่อยๆ นานเข้าก็งี่เง่าไปจริงๆ : ว่าด้วยวงการละครเยอรมันยุคปัจจุบัน
แกล้งทำงี่เง่าไปเรื่อยๆ นานเข้าก็งี่เง่าไปจริงๆ : ว่าด้วยวงการละครเยอรมันยุคปัจจุบัน
เจตนา นาควัชระ
เมื่อคืนผมรีบกลับบ้านอีกแล้ว จากโรงละครชื่อ Deutsches Theater ซึ่งอยู่ไกลมาก เมื่อเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเบอร์ลินตะวันออก ผมลบสถิติที่ทำไว้ครั้งก่อนเมื่อคราวไปฟังดนตรีที่โรง Philharmonie คราวนี้ผมกลับถึงหอพักภายใน 25 นาที วิ่งพรวดพราดตามรถไฟฟ้า แล้วมาเปลี่ยนขึ้นรถเมล์ คนขับก็ดีใจหาย พอเห็นตาแก่วิ่งมาก็รีบเปิดประตูรับ ทั้งๆ ที่กำลังจะออกรถอยู่แล้ว สรุปได้ว่าทุกคนเป็นใจช่วยให้ผมหนีพ้นมาจากโรงละครที่ครั้งหนึ่งเคยเลื่องชื่อมาเสียได้ให้เร็วที่สุด เพราะขยะแขยงเต็มทีแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ไอ้ละครโรงนี้แหละที่นำเรื่อง Die Nibelungen ของ Friedrich Hebbel มาเล่นเสียจนหาย คือคนแต่งเขานำเอามหากาพย์เยอรมันโบราณมาทำเป็นละคร และก็เป็นเรื่องราวของการแก้แค้นกันในหมู่เครือญาติ (ละเลงเลือดกันแบบ มหาภารตะ ของอินเดียทีเดียว) พ่อผู้กำกับในครั้งนั้นก็เลยตีความคำว่า “อาบด้วยเลือด” (ภาษาอังกฤษว่า bloodbath; ภาษาเยอรมันว่า Blutbad) แบบตรงตัว คือให้นักแสดงชาย ที่ตามท้องเรื่องถูกฆ่าไปหลายคน ถอดเสื้อผ้าเหลือแต่กางเกงใน แล้วเอาสีแดงใส่กระป๋องเทลงมาจากส่วนบนของเวที พวกนี้ก็เลยทำท่าเล่นน้ำด้วยการอาบเลือดอย่างสนุกสนาน เมื่อคืน (วันที่ 10 ตุลาคม 2558) ก็เช่นกัน ละครเรื่อง Tales from the Vienna Woods (ภาษาเยอรมันว่า Geschichten aus dem Wiener Wald แปลเป็นไทยได้เลาๆ ว่า “เรื่องเล่าจากป่าชายกรุงเวียนนา”) เป็นละครของนักประพันธ์ชาวออสเตรียชื่อ Ödön von Horváth (1901-1938) ซึ่งยืมเอาชื่อเพลงอันเลื่องชื่อของ Johann Strauss มาแต่งเป็นละคร โดยจงใจจะแก้ภาพลักษณ์ของกรุงเวียนนาและชีวิตของคนในเมืองนี้เสียใหม่ว่า ไม่ใช่ชีวิตอันร่าเริงรื่นรมย์อย่างที่คนทั่วไปคิดกัน และก็เป็นไปได้ที่คนซื่อบริสุทธิ์เช่นนางเอกของเรื่องนี้คือ Marianne จะต้องพบกับชีวิตบัดซบ ซึ่งจบลงในตอนท้ายด้วยการที่ลูกน้อย(ที่เกิดนอกสมรส)ของเธอต้องถูกแกล้งให้ตายไปด้วยโรคปอดบวมโดยย่าของชายที่เป็นชู้รักของเธอ
ผู้กำกับการแสดงในครั้งนี้นัยว่าเป็นดาวดวงเด่นของวงการละครเยอรมันเลยทีเดียวชื่อ Michael Thalheimer แต่พอผมดูมาถึงตอนจบก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า แกแปลงบทอย่างแน่นอนเพื่อเอาใจ หรือเพื่อให้สะใจคนดูยุคปัจจุบัน เพราะตัวละครชื่อ Oskar ซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าเนื้อสัตว์ (ในกรอบของวัฒนธรรมตะวันตกมักจะค้าเนื้อหลายชนิด) ยอมแต่งงานกับเธอ ทั้งๆ ที่เธอมี “รอยมลทิน” มาแล้ว เขาปลอบใจเธอให้ฝากตัวกับพระผู้เป็นเจ้า และเอ่ยถึงพระเจ้า 3 ครั้ง Marianne ก็ถ่มน้ำลายใส่พระเจ้าทุกครั้งเช่นกัน ผมเดาเอาว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักประพันธ์สมัยนั้นจะเขียนบทเช่นนี้ แต่การถ่มน้ำลายของเธอทำให้คนดูทั้งโรงเงียบไปได้ เพราะก่อนหน้านั้นผู้ชมจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า ละครเรื่องนี้เป็นละครตลก เพราะผู้กำกับจงใจให้นักแสดงเล่นให้บ้าๆบอๆ มาค่อนเรื่อง และก็ไม่ให้สัญญาณเลยว่าจะให้หยุดหัวเราะในตอนไหน สุดท้ายก็เลยต้องเล่นแรงเพื่อพวกคนดูเถื่อนๆ เหล่านี้จะได้เขาใจว่าเรื่องเปลี่ยนแนวไปแล้ว ผมกลับมาที่พักแล้วเปิดคอมพิวเตอร์หาตัวบทต้นแบบของ Horváth มาดู ก็เป็นจริงดังที่เดาเอาไว้ เรื่องถ่มน้ำลายไม่มีในตัวบทเลย ผู้กำกับการแสดงเติมลงไปทั้งสิ้น (เก่งจริงลองแปลและแปลงเรื่องนี้เป็นภาษาอาหรับ แล้วนำไปเล่นให้กลุ่มมุสลิมดูสักทีดีไหม พร้อมเติมบทให้ถ่มน้ำลายใส่พระมะหะหมัดไปด้วย แล้วคอยดูสิว่าจะเกิดอะไร) ผมไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เมื่อผมติดตามเรื่องมาตลอดตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็ไม่พบตรรกะอันใดที่จะทำให้ Marianne แสดงความเจ็บแค้นออกมาเช่นนั้นเลย บุคลิกของเธอไม่ได้เป็นอย่างนั้น จะขออ้างตัวบทต้นฉบับมาดังนี้:
ออสการ์ : พระเจ้าคือความรัก มาริอาน — และคนที่ท่านรัก ท่านก็ต้องหวดเอาบ้าง
มาริอาน : แต่ท่านฟาดฉันราวกับหมาตัวหนึ่ง
(ในตอนนั้นคุณย่าเล่นเพลง “เรื่องเล่าจากป่าชายกรุงเวียนนา” ของโยฮันน์ สเตราซ์ อย่างแผ่วๆ ด้วยเครื่องดนตรีซีเธอร์)
เรื่องจบลงด้วยมาริอานยอมลงเอยกับออสการ์ เขาจุมพิตเธอ แล้วทั้งสองกลับเข้าโรงไปในขณะที่วงดนตรีเครื่องสายเล่นเพลง “เรื่องเล่าจากป่าชายกรุงเวียนนา” ราวกับเป็นลำนำที่ลอยมาจากสรวงสวรรค์
แน่นอนที่ว่าผู้แต่งใช้ดนตรีอันไพเราะที่ทุกคนรู้จักเข้ามาขัดกับชะตากรรมของคนที่ถูกกระทำโดยไร้สาเหตุ ถ้าจะเล่นงานพระเจ้าก็เล่นงานแต่เพียงเบาะๆ คือแบบเย้ยหยัน (ironic) แต่ฉบับเบอร์ลินปี 2015 ซัดพระเจ้าอย่างรุนแรงและหยาบคาย อันที่จริงตัวอย่างในวรรณคดีมีมากมายที่ชะตากรรมของตัวละครขัดกับความเชื่อในเรื่องความรักและความหวังดีที่พระเจ้ามีต่อมวลมนุษย์ แต่กวีและนักประพันธ์ก็มีวิธีการประท้วงพระผู้เป็นเจ้าที่หนักแน่นและกินใจ ผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายครั้งแล้ว ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นบ่อยๆ คือ บทกวีขนาดยาวชื่อ “ว่าด้วยแผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอน” ซึ่ง Voltaire เขียนให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่ทำให้เด็กไร้เดียงสา ซึ่งยังมิได้มีโอกาสก่อกรรมทำเข็ญอันใดเลยต้องมาตายอย่างน่าอเน็จอนาถ หรือ Georg Büchner นักประพันธ์ชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 เขียนละครเรื่อง Woyzeck เอาไว้ให้เห็นว่า คนจนถูกข่มเหงวันยังค่ำ พระเจ้าไม่เห็นจะเสด็จจากสรวงสวรรค์ลงมาช่วยเหลือแต่อย่างใด ในนวนิยายเรื่อง La Peste ของ Albert Camus เช่นเดียวกับในกรณีของวอลแตร์ คือกล่าวถึงเด็กตาดำๆ ที่ต้องมาตายด้วยโรคระบาดครั้งใหญ่ เพียงประโยคเดียวจากนวนิยายเรื่องนี้ พระเจ้าก็แทบตกบัลลังก์ไปแล้ว “ข้าฯ จะปฏิเสธไปจนวันตาย ที่การสร้างโลกครั้งนี้ทำให้เด็กตาดำๆ ต้องถูกทรมาน”
ผู้กำกับการแสดงของโรงละคร Deutsches Theater คิดไม่ออกว่าจะให้ละครพูดพูดอะไรที่มีน้ำหนัก จึงใช้การถุยน้ำลายแทน นี่มันไม่ใช่ละครพูด แต่เป็นละครขากถุยต่างหาก
อันที่จริง Horváth ใช้การเยาะเย้ย (irony) ในการกล่าวหาพระเจ้า แต่อาวุธเช่นนี้ไร้ค่าเสียแล้วสำหรับวงการละครพูดเยอรมันในศตวรรษที่ 21 ผมสังเกตมาตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า เขาจงใจเปลี่ยนเพลงจาก Tales from the Vienna Woods ไปเป็นเพลง Blue Danube ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอะไร เพราะถึงจะใช้เพลงที่ Horváth นำมาเป็นชื่อเรื่อง ก็ไม่เห็นจะทำให้ละครไร้น้ำหนักตรงไหน แต่ละคร “ของผู้กำกับ” (ภาษาเยอรมันเรียกว่า “Regietheater”, ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “director’s theatre”) จะเดินตามบทไม่ได้เป็นอันขาด ต้องค้านบท รื้อบท ทำลายบท ทั้งหลายทั้งปวงโดยมีข้ออ้างว่า ทำอย่างนี้ในนามของสังคมร่วมสมัยของเราซึ่งคิดไม่เหมือนกับสังคมต้นแบบ (ในสูจิบัตร มีบทสัมภาษณ์คนยุคปัจจุบันที่ประกอบอาชีพต่างๆ เช่นเดียวกับตัวละคร แต่ก็ไม่รู้ว่าสัมภาษณ์ไปเพราะเหตุใด เพราะไม่เข้ากับท้องเรื่องเลย) ถ้าอย่างนั้นก็ไปหาคนมาเขียนบทละครใหม่ให้เข้ากับแนวคิดของศตวรรษที่ 21 เสียเลยจะไม่ดีกว่าหรือ เรื่องของเพลงยังไม่จบ นอกจากจะใช้ Blue Danube แล้ว ยังใช้ฉบับวงใหญ่ที่เล่นกันในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เสียงก้องกังวาน โอ่อ่า ชวนประทับใจ เท่ากับเป็นการเหยียบซ้ำชะตากรรมของคนกระจอกเหล่านี้ มิหนำซ้ำยังเปิดเครื่องเสียให้ดังเสียจนลำโพงแทบจะแตก และผมก็สังเกตได้เช่นกันว่า เครื่องเสียเก่า และลำโพงก็เก่า (คล้ายๆ กับเครื่องเสียงที่ผู้จัดฝ่ายไทยนำมาใช้ในการบรรเลงของวง Israel Philharmonic ที่มาแสดงกลางสนามหลวงเมื่อ 2 ปีมาแล้ว) ความกระจอกมักจะประกาศตัวเองออกมาในทุกแง่มุม
ความจริง Horváth มีแนวคิดที่เป็นปรัชญาอันลึกซึ้งอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ผู้กำกับไม่สามารถยอมให้ใครเด่นได้ แม้แต่ตัวผู้ประพันธ์บทละคร! ตัวละครทั้งหมดเป็นคนที่ทีอาชีพต่างๆ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขต 8 ของกรุงเวียนนา อันเป็นส่วนเก่าของเมือง อยู่นอกแนวถนนวงกลมที่สร้างขึ้นใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งรู้จักกันในนามของ Ringstrasse อันเป็นการปรับผังเมืองใหม่เพื่อแข่งกับปารีสสมัยนโปเลียนที่ 3 พวกเขาประกอบสัมมาอาชีวะ ตัวเอกเป็นพ่อค้าเนื้อสัตว์ ในการแสดงครั้งนี้ก็สวมผ้ากันเปื้อนที่เปรอะไปด้วยเลือดสัตว์ สัมมาอาชีวะไม่ได้ทำให้เขามีความสุข เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่แก้ปัญหากันด้วยธรรมะ เมื่อมาริอานตั้งท้องนอกกฎหมายขึ้น แล้วคลอดลูกออกมา ย่าของเด็กก็หาทางฆ่าเจ้าหนูน้อยเสีย มาริอานเองต้องการเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนางระบำ แต่ไม่ยอมขายตัว (จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องให้นักแสดงฝ่ายหญิงต้องเปลื้องผ้าส่วนบน เธอไม่ใช่นางแบบ และสรีระของเธอก็ไม่เป็นทวิวัจน์ต่อกัน) มีคนกลั่นแกล้งมาริอานจนเธอต้องติดคุกในระยะสั้น สรุปความได้ว่า มนุษย์เต็มไปด้วยกิเลส อาชีพก็ส่วนอาชีพ แต่ความประพฤติส่วนตัวไม่พ้องกับการประกอบสัมมาอาชีวะ ถ้าตีความแบบพุทธศาสนาของเราก็หมายความว่าเขาต้องชดใช้หนี้กรรมกันไป แต่ละครจะต้องมีปมให้ขบ เพราะคนที่ไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญให้แก่ใครแต่ต้องได้รับทุกข์มากกว่าใครทั้งสิ้น ชาวพุทธก็มีวิธีอธิบายอีกนั่นแหละโดยอ้างถึง “กรรมเก่า” แต่สังคมคริสต์ไม่มีทางออกเช่นนั้น เพราะชาวคริสต์ต้องฝากตัวไว้กับพระเจ้า ละครอย่างนี้ถ้ากำกับให้ดี และตีความให้ลึก จะเป็นละครที่ทั้งกินใจและทั้งชวนคิด
แต่ผู้กำกับการแสดงแก้ปัญหาอย่างง่ายเกินไปด้วยการถ่มน้ำลายรดพระเจ้า โธ่เอ๋ย คิดได้เท่านี้ละหรือ น่าจะมาดูละครผอมของไทยเราสักพัก แล้วอาจจะได้อะไรติดตัวไปบ้าง
วงการละครเยอรมันร่วมสมัยตั้งอยู่บนรอยร้าวระหว่างผู้กำกับการแสดงกับมหาชน เพราะฝ่ายแรกดูถูกคนส่วนใหญ่ว่าไร้มันสมอง เพราะฉะนั้นก็เลยทำละครงี่เง่าให้ดูเสียเลย ทำไปนานๆ ตัวเองก็เลยงี่เง่าตามไปด้วย ปัญหาใหญ่ของทั้งผู้กำกับการแสดงและผู้ชมก็คือ การแยกไม่ออกระหว่างอารมณ์ขัน (humour) กับความงี่เง่า (insipidity) ตลกของพวกเขามัน insipid มากกว่า funny แต่เขาก็อยู่ได้อย่างดีในนามของการคิดใหม่ (innovation) คือต้องทำอะไรที่แหวกแนวออกไป และพวกนักวิจารณ์ก็มีโรคประจำตัวอยู่โรคหนึ่งคือ กลัวถูกหาว่าโง่ ตามไม่ทันความคิดอันก้าวหน้าของผู้กำกับ ถ้าจะเขียนค้านก็จะถูกกล่าวหาว่าตกยุค ก็เลยต้องสนับสนุนกันไป กลุ่มคนที่น่าสงสารก็คือนักแสดง ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี แต่ไม่เคยได้มีโอกาสใช้ความสามารถในการแสดงอย่างเต็มที่เลย
ละครเยอรมันกลายเป็นละครของผู้กำกับที่ไร้ความอ่อนน้อมถ่อมตน (humility) พวกเขาตั้งอยู่ในความประมาท เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นก็ต้องทุ่มเงินสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมต่อไป ระวังให้ดี ถ้าวันใดไปเจอรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของแคว้นต่างๆ ที่เป็นคนที่มีหัวสมองและมีรสนิยมขึ้นมา พวกเขาอาจจะรวมตัวกันจัดการกับพวกแกล้งทำโง่ที่โง่จริงๆ ขึ้นมาเสียที เพราะไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้เงินภาษีของราษฎรมาการสนองตัณหาของพวกที่หลงตัวเอง