ว่าด้วยโอกาสของวาทยกรและนักแสดงเดี่ยวชาวไทย
ว่าด้วยโอกาสของวาทยกรและนักแสดงเดี่ยวชาวไทย
วฤธ วงศ์สุบรรณ
ผมได้รู้จักและติดตามผลงานของ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการอำนวยเพลงวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเริ่มจากการได้ฟัง pre-concert talk ของวง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ในฐานะนักวิชาการดนตรีที่ชี้ให้ผู้ฟังได้รู้จักกับบทเพลงที่จะบรรเลงในคอนเสิร์ตในแต่ละครั้ง ทำให้เข้าใจที่มาและบริบทของยุคสมัยและความงดงามของตัวเพลงในแต่ละกระบวนด้วย ต่อมาก็ได้รู้จักในบทบาทวาทยกร จากละครเพลงเรื่อง “อิน-จัน เดอะมิวสิคัล” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ดนตรีของณรงค์ ปรางค์เจริญ คีตกวีรุ่นใหม่ไฟแรงของไทยอีกคนหนึ่งที่มีผลงานระดับนานาชาติ และล่าสุดในฐานะคีตกวี ด้วยการประพันธ์ดนตรีประกอบละครเวทีเรื่อง “Seasons Change: The Musical” ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าธนพลเป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ที่มีความสามารถรอบด้านคนหนึ่งในวงการดนตรีคลาสสิกเมืองไทย และเมื่อธนพลได้โอกาสเป็นวาทยกรให้กับวง TPO เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ย่อมอดที่จะตื่นเต้นและยินดีแทนมิได้
คอนเสิร์ตในค่ำคืนนั้น ใช้ชื่อว่า “Scottish & Spanish” มีบทเพลงที่บรรเลง คือ Symphony No.3 in A minor, Op.56 (Scottish) ของเฟลิกส์ เมนเดลโซห์น (Felix Mendelssohn,1809-1847: คีตกวีชาวเยอรมัน) กับ Tam o’Shantar Overture, Op.51 ผลงานของเซอร์มัลคัม อาร์โนลด์ (Sir Malcolm Arnold, 1921-2006: คีตกวีชาวอังกฤษ) ซึ่งเป็นอีกเพลงหนึ่งที่มีสำเนียงแบบสก็อตติช และ Fantasia para un Gentilhombre for Guitar and Orchestra ของโจอาคิน รอดริโก (Joaquin Rodrigo,1901-1999: คีตกวีชาวสเปน) บรรเลงเดี่ยวโดย ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งเป็นนักกีตาร์รุ่นเยาว์ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันหลายเวที นอกจากนี้ยังมีบทเพลง ปี๋ใหม่เมือง ดนตรีพื้นบ้านล้านนา ซึ่งเรียบเรียงเสียงประสานโดย พันโทประทีป สุพรรณโรจน์ วาทยกรประจำของ TPO ซึ่งก็เข้ากับเทศกาลปีใหม่อีกด้วย
คอนเสิร์ตเริ่มด้วยเพลง ปี๋ใหม่เมือง ซึ่งเป็นนโยบายของวง TPO ที่ต้องการจะสนับสนุนเพลงสำเนียงไทยเดิม ให้เป็นที่รู้จักของผู้ฟังในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการเรียบเรียงสำหรับวงออร์เคสตรา ซึ่งเท่าที่ผมได้ฟังผลงานการเรียบเรียงของพันโทประทีปมาหลายเพลง คิดว่าการเรียบเรียงของเขาเน้นสีสันและความหลากหลายของเครื่องดนตรี ใช้จังหวะที่ค่อนข้างจะสมัยใหม่ และมีการประสานเสียงที่มีทั้งคอร์ดที่กลมกลืนและคอร์ดกระด้าง ฟังดูบางครั้งกระเดียดไปทางตะวันตกเสียมากโดยเหลือเพียงทำนองหลักที่เป็นเพลงไทยเดิม ซึ่งในเพลงนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่โดยรวมผมคิดว่าเพลงปี๋ใหม่เมืองนี้ พันโทประทีปเรียบเรียงได้ค่อนข้างน่าฟัง มีความตื่นเต้นคึกคักสมกับเป็นเพลงฉลองปีใหม่ มีการใช้เครื่องดนตรีและจังหวะที่หลากหลาย แต่สำเนียงไทยอาจจะถูกการเรียบเรียงแบบตะวันตกชิงความโดดเด่นไปสักนิด
ถัดมาคือเพลง Tam o’Shantar Overture ก็เป็นอีกเพลงที่น่าสนใจมาก โดยนำเรื่องราวเกี่ยวกับความลี้ลับของชาวสก็อตมาทำเป็นดนตรีพรรณนา มีทั้งช่วงที่ไพเราะฟังสบาย ลี้ลับน่ากลัว และตื่นเต้นเร้าใจ บางช่วงก็แฝงสำเนียงแบบปี่สก็อตไว้ด้วย ในส่วนของวงผมคิดว่าบรรเลงได้ค่อนข้างดีมาก มีเสียงและลีลาที่หลากหลาย ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวเพลงได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเครื่องเป่าชนิดต่างๆ ที่สร้างเสียงและสำเนียงต่างๆ ได้อย่างน่าฟัง
มาถึงเพลงสเปน คือ Fantasia para un Gentilhombre for Guitar and Orchestraได้หนุ่มน้อยชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ เป็นผู้แสดงเดี่ยวกีตาร์ การบรรเลงของเขานั้นผมคิดว่ามีเขามีสุ้มเสียงที่ไพเราะน่าฟัง และมีเทคนิคลีลาการบรรเลงที่แพรวพราว เพลงนี้เป็นการนำท่วงทำนองหลักจากบทเพลงของกาสปาร์ ซานส์ (Gaspar Sanz, 1640–1710: คีตกวีและนักกีตาร์ชาวสเปน)ในยุคบารอคมาขยายเป็นแนวกีตาร์บรรเลงร่วมกับออร์เคสตรา ดังนั้นเราจึงได้ยินสำเนียงของยุคบารอคในลีลาที่หลากหลาย มีทั้งนุ่นนวล สนุกสนาน และหม่นหมอง นับว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของผู้ฟังที่อาจจะไม่คุ้นเคยเพลงนี้เท่าConceirto de Aranjuez ของ รอดริโก (เช่นกัน) แต่ความไพเราะผมคิดว่าไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย แต่รู้สึกแปลกใจเพียงเรื่องเดียวคือเหตุใดต้องใช้เครื่องขยายเสียงให้กับกีตาร์ ก็เดาว่าเนื่องจากหอประชุมมหิดลสิทธาคารนี้มีขนาดใหญ่โตจนเกรงว่าผู้ฟังแถวหลังๆ จะไม่ได้ยินเสียงกีตาร์อย่างชัดเจน (อย่างไรก็ตาม ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเคยฟังนักกีตาร์เอกของโลก Andrés Segovia บรรเลงกับวงออร์เคสตรามาแล้ว ท่านเล่าว่าในยุคนั้นก็ไม่เห็นจะต้องใช้ลำโพงขยายเสียงแต่อย่างใด เสียงกีตาร์ก็สู้กับวงได้) อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ต้องให้เครดิตกับทาง TPO ที่ให้โอกาสนักดนตรีรุ่นเยาว์ (ระดับมือรางวัล) ได้แสดงฝีมือกับวงใหญ่ค่อนข้างบ่อยครั้ง
ในครึ่งหลังซึ่งเป็นเพลงเอกของรายการ คือ Symphony No.3 in A minor Op.56 (Scottish) ซึ่ง
ธนพลได้แสดงออกถึงการตีความบทเพลงซิมโฟนีอย่างเต็มที่ เท่าที่ผมฟังโดยรวมแล้ว ผมคิดว่าเขาทำให้เสียงของวงมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ผมได้เคยมาฟัง ทั้งนี้เท่าที่ติดตาม TPO มาหลายครั้งก็มีทั้งที่บรรเลงได้ดีมาก แต่บางครั้งก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยถูกใจเท่าไร มาในครั้งนี้ผมคิดว่าเสียงของวงค่อนข้างจะดีมาก ไม่ด้อยไปกว่าวาทยกรคนอื่นๆ เลย โดยเฉพาะเครื่องเป่าทองเหลือง บรรเลงได้ค่อนข้างดีขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนกลุ่มอื่นๆ อย่างเครื่องสายหรือเครื่องเป่าลมไม้ ก็มีมาตรฐานที่ดีโดยส่วนตัวผมชอบในกระบวนที่ 2 ที่มีลีลาคึกคักเร้าใจและเสียงเครื่องเป่าที่หลากหลายและไพเราะมากเป็นพิเศษ เท่าที่สังเกตผมคิดว่าการตีความของเขาก็ไม่ได้โลดโผนแหวกแนวมาก ยังอยู่ในกรอบรสนิยมอันดีงาม และวงก็ดูมีความสดชื่นในการเล่นอาจเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน ด้วยความใหม่ซึ่งกันและกันก็เป็นได้ ผมคิดว่าเขาสามารถสื่อใจไปหานักดนตรีได้ และนักดนตรีก็สามารถตอบสนองและบรรเลงได้อย่างมีคุณภาพ ธนพลแม้ว่าเป็นศิษย์สำนักมหิดล นักดนตรีหลายคนในวงก็เป็นครูบาอาจารย์ของเขา แต่ในวันนี้เขาคือผู้นำนักดนตรีทั้งวง และเขาก็สามารถกำหนดทิศทางให้นักดนตรีในวงสามารถเล่นไปในแบบที่เขาต้องการได้เป็นอย่างดี
หลังจากการแสดงจบลง ผมเองได้มีโอกาสอยู่ร่วมในวงสนทนาระหว่างธนพลกับบรรดาเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของเขาถึงการแสดงที่ผ่านไปเมื่อครู่ ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าธนพลมีความกระตือรือร้นในการทำงานและติดตามผลการทำงานของเขาอยู่เสมอ เพื่อเป็นข้อมูลนำมาปรับปรุงการแสดงครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และบรรดาเพื่อนๆ ทั้งหลายก็ให้ความเห็นที่ค่อนข้างเข้มข้นจริงจัง ส่วนใหญ่วิจารณ์กันในเรื่องเชิงเทคนิค เช่น dynamic, phrasingและการให้จังหวะ (โดยเฉพาะในกระบวนที่ 3 ซึ่งมองว่าเขาให้จังหวะเร็วเกินไปจนทำให้ความแตกต่างระหว่างทั้ง 4 กระบวนน้อยไป) ซึ่งธนพลเองก็ยอมรับว่าเขาก็ยังมีส่วนที่ยังทำได้ไม่ดีนักและยังมีปัญหาอีกหลายจุดที่ยังหาทางแก้ไม่สำเร็จ ซึ่งจะหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป ตรงนี้อาจจะเป็นโชคดีของผมที่ได้เห็นการทำงานเบื้องหลังของนักดนตรีซึ่งผู้ฟังทั่วไปไม่ค่อยได้รับทราบกัน
เท่าที่ได้ติดตามวง TPO มาหลายสิบคอนเสิร์ตเมื่อปีที่แล้ว ผมเห็นว่าวง TPO (ซึ่งใช้ระบบนักดนตรีประจำมีเงินเดือนและมีคอนเสิร์ตที่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี) มีข้อได้เปรียบวงอื่นๆ ในแง่ของความสม่ำเสมอ และการได้ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นตลอดเวลา ในขณะที่วงออร์เคสตราใหญ่อีกวงหนึ่งคือ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ซึ่งขาดการจัดการที่เรียกได้ว่าเป็น professional และย่อมจะต้องมีโปรแกรมที่หลวมกว่า และนักดนตรีอาจจะไม่ได้มีเวลาซ้อมมากเท่า แต่ด้วยช่องว่างของคอนเสิร์ตที่ไม่ถี่นัก ทำให้นักดนตรีของ BSO สามารถทำกิจกรรมดนตรีในรูปแบบอื่นๆ ได้บ่อยครั้งกว่า เช่น เชมเบอร์มิวสิค ละครเพลง การเสวนา หรือ master class ซึ่งก็สุดแท้แต่นักดนตรีแต่ละคนว่าจะเลือกไปทางไหน เท่าที่ผมพอจะประเมินได้คือ การซ้อมหนักของ TPO ทำให้นักดนตรีค่อนข้างมีระเบียบวินัย มีความพรักพร้อม และตัวนักดนตรีเองก็ไม่มีการเปลี่ยนหน้ากันบ่อย ทำให้มีความคุ้นเคยกันและประสานงานกันได้อย่างรวดเร็ว ส่วน BSO นั้น อาจจะเรียกได้ว่ามี “ความปรารถนา” ในการเล่นมากกว่าเพราะโอกาสเล่นเพลงคลาสสิกแบบจริงจังมีน้อยกว่า ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีส่วนเสีย เพราะนักดนตรีที่อยากเล่นดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังบางคนถึงกับทนไม่ได้ แล้วลาออกไปเลย นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นข้อเสียเปรียบด้วยที่นักดนตรีของ BSO มีการเปลี่ยนหน้ากันบ่อยกว่า บางครั้งซ้อมกันยังไม่เข้าที่ก็ต้องขึ้นแสดงแล้ว แต่เท่าที่ได้ฟังการแสดงของทั้งสองวงเปรียบเทียบกัน ผมยังคิดว่าคงฟันธงไม่ได้ว่าวงไหนดีกว่ากัน แต่เป็นลักษณะบางวันก็ดี บางวันก็ไม่ค่อยสมบูรณ์แบบนักแล้วแต่วาทยกร นักแสดงเดี่ยวที่มาเล่นกับวง และความใส่ใจของนักดนตรีในบทเพลงที่จะเล่นในรายการนั้นๆ เสียมากกว่า
ในส่วนของวาทยกรนั้น TPO มีความเหมือนกับ BSO อยู่บ้าง คือเน้นวาทยกรชาวต่างชาติมากกว่าวาทยกรชาวไทย แต่ที่ดีกว่าคือวาทยกรชาวต่างชาติของ TPO (เช่น Claude Villaret, Alfonso Scarano และ Gudni Emilsen) ได้ทำงานร่วมกับวงมาเป็นเวลานานพอสมควร สามารถที่จะสื่อสารและแสดงความต้องการในการบรรเลงต่อนักดนตรีได้ในระดับที่ลึกกว่าวาทยกรของ BSO ซึ่งปีที่แล้วตลอดทั้งปีเป็นวาทยกรรับเชิญที่แทบจะไม่ซ้ำหน้ากันเลย บางคนเคยร่วมงานกับวงครั้งหรือสองครั้ง บางคนไม่เคยเลย ซึ่งอาจจะทำให้ยังไม่สามารถสื่อการตีความของตนเองไปให้วงถ่ายทอดออกมาได้ และอาจจะยังไม่รู้ศักยภาพของนักดนตรีที่มีอยู่ ว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนด้านไหน และตรงไหนควรต้องเน้นซ้อมมากเป็นพิเศษ ผู้รักดนตรีคลาสสิกหลายคนยืนยันกับผมว่า ยุคทองของ BSO คือช่วง10 ปีที่ Hikotaro Yazaki ทำหน้าที่เป็นวาทยกรประจำ และเอาจริงเอาจังกับงานมากกว่าวาทยกรที่ “รับบริจาค” มาผ่านสถานทูตต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวงก็ยังเปิดโอกาสให้วาทยกรไทยได้แสดงฝีมือไม่มากนัก โดย TPO จะมีพันโทประทีปเป็นวาทยกรหลักชาวไทยได้กำกับวงประมาณปีละ 4-5 ครั้ง ส่วนธนพล ซึ่งเป็นรุ่นลูกศิษย์ของพันโทประทีปนั้นเพิ่งได้รับโอกาสเป็นครั้งแรก แต่ TPO ก็อาจจะถือว่ายังให้โอกาสวาทยกรไทยมากกว่าวาทยกรระดับครูบาอาจารย์ของ BSO เช่น นรอรรถ จันทร์กล่ำ, วานิช โปตะวนิช หรือดำริห์ บรรณวิทยกิจ ซึ่งมีโอกาสควบคุมวงในการบรรเลงเพลงคลาสสิกน้อยยิ่งกว่า (และมักจะได้ควบคุมวงในรายการดนตรีสมัยนิยมหรือดนตรีในสวนเป็นส่วนใหญ่) ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ก็จำเป็นต้องไปกำกับวงดนตรีระดับมหาวิทยาลัยหรือตามโอกาสอื่นๆ เช่น กำกับละคร
มิวสิคัล ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักดนตรีและนักฟังว่าฝีมืออยู่ในระดับที่กระทบไหล่กับวาทยกรต่างชาติได้แล้ว มิหนำซ้ำยังเป็นนักดนตรีระดับแนวหน้าของบ้านเราอีกด้วย หมายความว่ารู้จักวงดนตรีจากภายในมาอย่างดี เหตุไฉนจึงได้รับโอกาสควบคุมวงเล่นเพลงคลาสสิกเต็มรูปแบบน้อยเหลือเกิน
ที่จริงนั้น ธนพลก็อยู่ในภาวะเดียวกับวาทยกรไทยหลายๆ ท่านที่กล่าวมาแล้ว เมื่อไม่ค่อยได้กำกับวงใหญ่ ก็ต้องไปทำวงเด็กหรือวงขนาดเล็ก ทั้งวงออร์เคสตราและวงเครื่องเป่าของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่จริงก็เป็นการฝึกฝนเด็กให้มีฝีมือในการเล่นรวมวงมากขึ้น แต่ผมคิดว่าเขาสามารถทำได้มากกว่านั้น ด้วยนักดนตรีระดับอาชีพที่มีความสามารถสูง ผมก็หวังว่าวง TPO จะเปิดโอกาสให้เขามากขึ้น และในอีกทางหนึ่ง ผมคิดว่าเขาน่าจะออกไปหาประสบการณ์กับวงอื่นๆ นอกมหาวิทยาลัยมหิดลบ้าง เช่น วงออร์เคสตราอาชีพวงอื่นๆ วงออร์เคสตราของมหาวิทยาลัยอื่นๆ หากมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้วยการสลับวาทยกรไปเล่นกับวงอื่นๆ บ้าง ก็น่าจะสร้างความสดชื่นและคึกคักให้กับวงการได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่การไปคุมวงเยาวชนหรือวงสมัครเล่น ก็จะได้เป็นการสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่นักดนตรีกลุ่มอื่นๆ ด้วย ที่จริงคอนเสิร์ตครั้งนี้ ทำให้เรารู้ว่าเขามีความพร้อมที่จะคุมวงใหญ่ได้ เพียงแต่อาจจะต้องรอโอกาสอีกสักระยะจึงจะได้ควบคุมวงอย่างจริงจังและสม่ำเสมอมากขึ้น
ในส่วนของผู้แสดงเดี่ยวนั้น ผมรู้สึกว่า TPO ก็ยังให้โอกาสนักดนตรีเดี่ยวชาวไทยค่อนข้างมาก ในระดับใกล้เคียงกับแขกรับเชิญจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักดนตรีรุ่นเยาว์ที่มีฝีมือและมีผลงานได้รับรางวัลระดับชาติหรือนานาชาติมาด้วย (สังเกตว่าถ้าหากเป็นศิษย์เก่าของมหิดลเอง ก็จะยิ่งได้รับโอกาสมากเป็นพิเศษ) ส่วนนักดนตรีรุ่นใหญ่นั้น ก็ได้รับโอกาสบ้างเป็นครั้งคราว หากเปรียบเทียบกับ BSO นั้น ผมคิดว่า BSO ให้โอกาสนักดนตรีรุ่นใหญ่มากกว่า แต่กลับให้เล่นในหอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งหากเป็นนักดนตรีเดี่ยวจากต่างประเทศจะได้เล่นในหอประชุมใหญ่ และโฆษณาอย่างครึกโครม ตรงนี้ผมคิดว่า TPO เห็นศักดิ์ศรีของนักดนตรีชาวไทยเท่ากับนักดนตรีต่างชาติอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยการให้โอกาสและการโปรโมทการแสดงในระดับเดียวกัน
ข้อเสียเปรียบอย่างเดียวของ TPO คือหอแสดงดนตรีอยู่ห่างใกลย่านใจกลางเมืองมากเกินไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้มีใจรักเสียงดนตรีติดตามมาชมคอนเสิร์ตอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามที่เปรียบเทียบเช่นนี้ มิใช่หมายความว่าผมจะเห็นทั้งสองวงเป็นคู่แข่งกัน (หรือหากเป็นคู่แข่งก็มิใช่คู่แข่งที่จำเป็นต้องห้ำหั่นกันแต่เป็นคู่แข่งที่พัฒนาฝีมือของตนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ) เพียงแต่ผมคิดว่าทั้งสองวงมีการจัดการวงที่แตกต่างกันพอสมควร และถ้าหากเป็นไปได้ แต่ละวงอาจนำข้อดีของอีกวงหนึ่งมาพัฒนาวงของตนให้ดีขึ้นได้ อย่างไรเสียกลุ่มผู้ฟังของทั้งสองวง ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันคือผู้รักดนตรีคลาสสิกที่คาดหวังจะได้ดูการแสดงที่ดีมีคุณภาพและยกระดับจิตวิญญาณได้
มีเพื่อนๆ ผมพูดกันเล่นๆ ว่า ถ้า BSO เป็นหนังสือพิมพ์ก็น่าจะ “ขายหัว” ให้คนอื่นเขาไปทำได้แล้ว!