สายใยความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครูในการแสดงของ Roland Baldini กับกลุ่ม Pro Musica

สายใยความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครูในการแสดงของ Roland Baldini กับกลุ่ม Pro Musica

pic

วฤธ วงศ์สุบรรณ

นี่เป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ผมติดตามรับชมกลุ่มดนตรี Pro Musica ในโปรแกรมเชมเบอร์มิวสิคที่หลากหลายและน่าสนใจ ซึ่งในปีนี้เริ่มต้นด้วยการแสดงของกลุ่มเล็กประกอบด้วย ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน) ศาสตราจารย์ โรลันด์ บัลดินี (Roland Baldini) (วิโอลา) และวรพล กาญจน์วีระโยธิน (ฟลูต) ซึ่ง ศ.บัลดินี คือ“ครู” ของ อ.ทัศนา เมื่อครั้งที่ไปศึกษาต่อที่ Vorarlberg Conservatory ประเทศออสเตรียนั่นเอง

โปรแกรมในค่ำคืนวันที่ 21 มกราคม 2559 ณ โรงแรมอนันตรา สยามได้แก่ Duo in G major for Violin and Viola, K423 ผลงานของโมสาร์ตตามมาด้วย “Syrinx” for Solo Flute ผลงานของเดอบุซซี และ“Sarata” (สรตะ) for Solo Violin (1989) ผลงานของศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร และในครึ่งหลังเป็น Serenade in D major for Flute, Violin and Viola Op.25 ของเบโธเฟนแต่ละเพลงก็มีความน่าสนใจในตัวอย่างยิ่ง

เพลงแรก Duo in G major for Violin and Viola ของโมสาร์ต เป็นผลงานที่ผมเพิ่งเคยได้ฟังครั้งนี้เป็นครั้งแรก คาดว่าเพลงนี้เป็นเพลงครูอีกเพลงหนึ่งของนักเรียนไวโอลินและวิโอลาซึ่งเอาแนวทำนองเสียงแหลมกับเสียงกลางสลับกันเล่นได้อย่างไพเราะน่าฟังและมีชีวิตชีวา สังเกตได้ว่าการแสดงครั้งนี้เป็นการเล่นดูโอระหว่างครูกับศิษย์ โดยครูถอยไปเล่นแนวเสียงกลางที่จะมีน้ำเสียงสุขุมกว่า แต่บทบาทไม่ได้น้อยเลย วิโอลาก็มีบางช่วงผาดโผน มีลูกล้อลูกขัดมากพอสมควร (ชวนให้นึกถึงบทเพลง Sinfonia Concertante for Violin and Violaของโมสาร์ตเช่นกัน ที่มีแนวไวโอลินและวิโอลาที่ไพเราะลึกซึ้งและทั้งสองเครื่องต่างได้แสดงฝีไม้ลายมืออย่างเต็มที่ไม่น้อยหน้ากัน ซึ่งผู้รู้หลายท่านบอกว่าแนววิโอลาจะเด่นกว่าเล็กน้อยด้วย เนื่องจากโมสาร์ตแต่งไว้ให้ตนเองเล่น) การแสดงในครั้งนี้ทั้ง อ.ทัศนา และ อ.บัลดินิเล่นได้ยอดเยี่ยมทั้งคู่ ซึ่งนักวิโอลาฝีมือระดับนี้ ไม่ได้มีมาให้ฟังบ่อยๆ (แม้ว่าผู้ฟังบางท่านมองว่าช่วงแรกอ.บัลดินีเครื่องยังไม่ร้อน เล่นไม่ค่อยเต็มที่นัก แต่พอเล่นได้ซักพักก็เล่นได้เข้าที่) และทั้งคู่ก็หันมาสบตาและฟังกันตลอด ยิ้มน้อยๆ ให้แก่กัน เหมือนจะเป็นการบอกผู้ชมด้วยว่า เชมเบอร์มิวสิคเล่นกันอย่างนี้

เพลงถัดมาเป็น “Syrinx” for Solo Flute ผลงานของโคลด เดอบุซซี ถือเป็นมาตรฐานอีกเพลงหนึ่งของนักฟลูต โดยเพลงนี้มีท่วงทำนองที่ค่อนข้างเศร้าและโหยหวน ชวนให้นึกถึงท่อนเดี่ยวฟลูตจากอีกบทเพลงของเดอบุซซี คือ Prelude to the Afternoon of a Faun ซึ่งมีลีลาคล้ายๆ กัน ซึ่ง อ.วรพล ก็บรรเลงได้อย่างน่าฟัง เสียงฟลูตมีความคมและกังวาน ส่วนเทคนิคเสียงสั่น (vibrato) ก็ทำได้หวานซึ้ง เสียงช่วงต่ำก็หนักแน่น ฟังแล้วรู้สึกสบายใจว่านักฟลูตของไทยเราก็เล่นเพลงมาตรฐานอย่างนี้ได้อย่างไพเราะแทบไม่ต่างจากการฟังจากแผ่นบันทึกเสียงของนักดนตรีชื่อดังเลย

 

ในครึ่งแรก ปิดท้ายด้วย “สรตะ” หรือ “Sarata” for Solo Violin (ซึ่งขอให้ อ.ณรงค์ฤทธิ์เขียนให้นักไวโอลินหนุ่มชื่อ ทัศนา  นาควัชระ เมื่อ ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2534) เมื่อครั้งที่ทัศนาเล่น recital เพลงสมัยใหม่ทั้งหมด) โดย อ.ณรงค์ฤทธิ์ให้ความหมายของชื่อเพลงว่า เป็น impromptu หรือ improvisation โดยเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยท่วงทำนองแบบไทยมาประดิษฐ์เป็นแนวด้นสด จากที่ได้ฟังพบว่าเพลงนี้จะมีสำเนียงที่เป็นไทยมาก แต่ก็ยังแฝงด้วยการประสานเสียงแบบตะวันตกที่ค่อนข้างหม่น มีลีลาที่หลากหลาย (เพราะประกอบด้วยท่อนย่อยๆ สั้นๆ ถึง 5 ท่อนด้วยกัน) ทั้งเนิบช้า รื่นเริง และรุกเร้า มีเทคนิคที่หลากหลาย เช่น การเล่นพร้อมกัน 2 สาย (double stop) และการเล่นที่ข้างๆ หย่อง (bridge) ที่ให้น้ำเสียงที่แปลกหู แต่โดยรวมน่าฟังมากทีเดียว ซึ่งนักฟังอาวุโสท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่า ท่านได้ฟัง อ.ทัศนาบรรเลงเมื่อปี 1989 ครั้งนั้นอาจจะยังจับวิญญาณของเพลงนี้ได้ไม่เต็มที่นัก โดยเฉพาะในส่วนที่เอามาจากสำเนียงดนตรีไทย แต่ในครั้งนี้ อ.ทัศนาเล่นได้ดีและมีความลึกซึ้งมาก และได้ทราบมาว่า อ.ณรงค์ฤทธิ์ก็พอใจในการบรรเลงครั้งนี้มาก เรียกได้ว่า อ.ทัศนา ได้สนองคุณ “ครู” ของท่านได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการนำผลงานของครูมาตีความและเผยแพร่ให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึง “ของดี” ที่มีอยู่ ซึ่งผมคิดว่าด้วยความยาวที่ไม่มากนักของบทเพลงนี้ น่าจะเล่นได้บ่อยครั้ง หรือนักไวโอลินท่านอื่นน่าจะนำไปเล่นบ้าง ก็น่าจะเพิ่มความน่าสนใจในแง่มุมของการตีความด้วย หรือแม้กระทั่งนำบางท่อนของบทเพลงนี้มาเป็นเพลงแถม (encore) ก็จะดีมิใช่น้อย เพราะมีลีลาที่น่าฟังและยังแสดงออกถึงความเป็นสำเนียงเพลงไทยอีกด้วย

ในครึ่งหลัง เป็นบทเพลงใหญ่ของเบโธเฟน Serenade in D major for Flute, Violin and Viola, Op.25 เพลงนี้มีท่วงทำนองที่หลากหลาย ทั้งท่อนที่เร็วสนุกสนาน ท่อนที่เป็นจังหวะแบบเพลงเต้นรำ และท่อนที่อ่อนหวานฟังสบาย ซึ่งตรงกับชื่อเพลงคือ serenade ที่หมายถึงเพลงที่บรรเลงในยามค่ำคืนเพื่อความรื่นรมย์ อาจเรียกได้ว่าเป็น light music หรือ pop music ในสมัยนั้นก็ว่าได้ ในส่วนของ อ.วรพลนั้น เล่นได้อย่างไพเราะน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง ในการประสมวงแบบนี้ฟลูตถือว่าเป็นผู้นำเพราะมีเสียงที่โดดเด่นและแตกต่างจากเครื่องสาย ซึ่ง อ.วรพลสามารถเล่นในทำนองหลักได้อย่างไพเราะและมีพลัง ส่วนตัวผมเองค่อนข้างชอบท่อนแรก (Entrata. Allegro) เป็นพิเศษ เพราะมีทำนองที่สดใสน่ารัก เหมาะกับเสียงฟลูตเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของไวโอลินนั้น อ.ทัศนาก็เล่นได้อย่างไพเราะ เพราะเพลงนี้ได้ให้บทบาทของเครื่องดนตรีอย่างทัดเทียมกัน เสียงไวโอลินก็มีทั้งโลดโผนเล่นในเสียงที่สูง บางครั้งก็ช่วยประสานและตอดไปมาขับความเด่นให้กับฟลูต ส่วนวิโอลานั้น ค่อนข้างจะรับบทหนักพอสมควร เพราะเป็นเครื่องที่เสียงต่ำสุดในวง ซึ่งต้องทำหน้าที่คล้ายกับการเป็นเชลโลไปในตัว ขณะที่หน้าที่หลักในแนวทำนองเสียงกลางก็ขาดไม่ได้ ซึ่ง อ.บัลดินีก็เล่นได้อย่างไพเราะ ช่วยคุมจังหวะและสร้างความหนักแน่นให้กับวง ได้ยินมาว่า อ.บัลดินี ไม่เคยรู้จักเพลงนี้มาก่อน แสดงว่าเป็นเพลงที่รู้จักกันในหมู่นักฟลูตเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปมากนัก ซึ่งการที่นำบทเพลงนี้มาแสดง ก็ช่วยให้ผู้ฟังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ จากบทเพลงที่หาฟังไม่ได้ง่ายนัก

ผมเองมีข้อสังเกตจากคอนเสิร์ตครั้งนี้อยู่ประเด็นหนึ่ง นั่นคือความผูกพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เราจะเห็นว่า อ.บัลดินี กับ อ.ทัศนา ก็เป็นครู-ศิษย์กัน ในขณะที่ อ.ทัศนา (และ อ.วรพล) ก็เป็นศิษย์ของ อ.ณรงค์ฤทธิ์ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน ผมเห็นว่า อ.บัลดินี ซึ่งที่จริงนั้นเป็นนักไวโอลินฝีมือเยี่ยม ถอยไปเล่นวิโอลาซึ่งมีเสียงที่โดดเด่นน้อยกว่า เพราะต้องการให้ศิษย์คือ อ.ทัศนาได้แสดงออกอย่างเต็มที่ โดยที่ตนเองคอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง (คล้ายกับทฤษฎี “ระนาดทุ้ม” ของ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ) ในขณะที่ อ.ณรงค์ฤทธิ์นั้นก็ได้แต่งเพลงให้ อ.ทัศนา ก็โดยหวังว่าศิษย์จะได้แสดงออกถึงฝีมืออย่างเต็มที่เช่นกัน และ อ.ทัศนาก็ไม่ทำให้ครูต้องผิดหวัง ทั้งยังเป็นการเชิดชูฝีมือการประพันธ์ของครูอีกด้วย ในส่วนของ อ.วรพลนั้น ดูเผินๆ อาจจะไม่เกี่ยวข้องนัก แต่ผมคิดว่าบทเพลงที่เลือกมาบรรเลงนั้น น่าจะถือว่าเป็น “เพลงครู” ของนักฟลูตด้วย ซึ่ง อ.วรพลก็แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์นั้นหนักแน่นและลึกซึ้งขนาดไหน ผมคิดว่าอาจารย์ชาวไทยทั้งสองท่านนี้เป็นทั้งศิษย์ที่เก่ง และยังเป็นครูที่ดีอีกด้วย เพราะลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งสองนี้ก็ก้าวเข้ามาเป็นนักดนตรีคลาสสิกอาชีพในวงการมากมายหลายคนแล้ว ซึ่งก็มั่นใจได้ว่ามาจากการอบรมสั่งสอนที่ดีมาและได้รับสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์ที่มีฝีมือเช่นกัน และนอกจากความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ระหว่างครูกับศิษย์แล้ว เรายังได้เห็นความยิ่งใหญ่ของดนตรีเชมเบอร์ขนาดเล็ก (ที่จิ๋วแต่แจ๋ว) ว่ามีบทเพลงที่ไพเราะลึกซึ้งและมีการประสมวงที่หลากหลาย ซึ่งบทเพลงที่เราได้ฟังในค่ำคืนนั้น ไม่สามารถจะหาฟังได้ง่ายนัก จึงอยากขอเชื้อเชิญผู้ที่มีใจรักดนตรีคลาสสิกทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่ชอบเพลงประเภทซิมโฟนี หากท่านได้มาฟังดนตรีเชมเบอร์แล้ว ท่านจะรู้ว่าโลกของดนตรีคลาสสิกยังมีอะไรที่น่าค้นหาอีกมากมายนัก

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *