เพลงกระบี่ไร้เทียมทานของ ซาราห์ ชาง กับปัญหาการเติบโตของหนูน้อยมหัศจรรย์

เพลงกระบี่ไร้เทียมทานของ ซาราห์  ชาง กับปัญหาการเติบโตของหนูน้อยมหัศจรรย์

(ที่มา:  กรุงเทพธุรกิจ  (จุดประกาย). วันที่ 8 กรกฎาคม 2552, หน้า 4)

SARAH

(http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056604)

เจตนา  นาควัชระ

นักฟังเพลงคลาสสิกชาวไทยตั้งความหวังไว้สูงมากกับการมาเยือนของนักไวโอลินชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซาราห์ ชาง (Sarah Chang) หลักฐานการอัดเสียงที่เธอทำเอาไว้เมื่อตอนยังไม่บรรลุนิติภาวะทำให้พวกเราที่มีสิทธิที่จะตั้งความหวังเอาไว้  แต่โลกของดนตรียุคนี้ก็เช่นเดียวกับธุรกิจบันเทิงทั้งหลาย  การโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นตัวชี้ขาดในเรื่องของความสำเร็จ  สำหรับการแสดงของเธอในงานอันยากยิ่ง (ทั้งในด้านของเทคนิค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการตีความ)  คือ Violin Concerto in D Major ของ Johannes Brahms ในคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2552 นั้น  ผมคงจะไม่จำเป็นต้องวิจารณ์เพลงไปในรายละเอียด  เพราะเท่าที่ได้สนทนากับเซียนเพลงคลาสสิกชาวไทยหลายคนก็ได้รับการยืนยันว่า  ดุริยางคนิพนธ์บทนี้คือยอดเขา Everest ทางดนตรีที่เธอไต่ไปไม่ถึง  ผมจะขอกลับมาอภิปรายการแสดงของเธอในตอนท้าย  แต่อยากจะขอเสนอความเห็นกว้างๆ เกี่ยวกับปัญหาการเติบโตของหนูน้อยมหัศจรรย์ (child prodigy) ในวงการดนตรีเสียก่อน เพราะเป็นปัญหาที่มิได้กระทบต่อนักดนตรีเช่น Sarah Chang แต่เพียงผู้เดียว  แต่เป็นปัญหาของอีกหลายๆคน

จะขออ้างบทสัมภาษณ์ของ Itzhak Perlman มาเป็นอุทาหรณ์ เพราะเขาเป็นคนที่คิดลึกซึ้ง และถึงแม้จะพิการต้องนั่งรถเข็น แต่ฝีมือไม่เคยตก เขารักษาระดับมาได้ตลอด ก้าวข้ามจากความเป็นหนูน้อยมหัศจรรย์มาสู่ความเป็นนักดนตรีระดับโลกผู้ยิ่งยงที่อยู่ในวงการได้อย่างเต็มภาคภูมิเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายทศวรรษ เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อเขาประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่เมื่ออายุ 9 ปี เขาเล่นดนตรีเท่ากับเด็กอายุ 9 ขวบ จะว่าเก่งก็ได้ แต่เป็นการเก่งแบบเด็ก 9 ขวบ ไม่ใช่เก่งเกินอายุ เขากล่าวอย่างหนักแน่นต่อไปอีกว่า ในประวัติของโลกดนตรีมีหนูน้อยมหัศจรรย์เพียงผู้เดียวที่เล่นดนตรีอย่างมีวุฒิภาวะเทียบได้กับผู้ใหญ่ คือ Yehudi Menuhin นอกนั้นก็พอๆกับเขา ไม่เลวไม่ดีกว่าเขา

เรื่องของ Menuhin ตอนเด็กนั้นวงการยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการศึกษา พ่อแม่เสียสละให้เขาอย่างมากมาย ยอมลงทุนไปหาครูดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เริ่มต้นที่ Louis Persinger หัวหน้าวงซานฟรานซิสโกซิมโฟนี จากนั้นก็ข้ามไปยุโรป เรียนกับ Georges Enesco ดุริยกวี และนักไวโอลินเอกชาวรูเมเนีย ผู้เป็นครูอันประเสริฐ เมนูฮินยกย่องครูท่านนี้ของเขามาก (ถึงกับมีการกล่าวกันว่า ที่ผู้คนยังไม่ลืม Enesco ก็เพราะความกตัญญูของศิษย์ที่ชื่อ Menuhin) ทั้งๆที่รู้ว่าเขากำลังสอนอัจฉริยะซึ่งหาใครเทียบไม่ได้  Enesco ก็ไม่ปล่อยให้หนูน้อยมหัศจรรย์เหลิงและหลงตัวเอง  Menuhin เล่าถึงการที่เขาตาม Enesco จาก Paris ไป Bucharest และการเรียนครั้งสุดท้ายที่นั่น  เขาเล่าว่า Enesco บีบให้เขาเล่น Chaconne ของ Bach หลายครั้งจนเขาแทบหมดแรง เรื่องการเติบโตของเมนูฮินฟังดูคล้ายนิยายไทยโบราณที่ผู้ใฝ่วิชาไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ “พระเจ้าตา” เมื่อท่านบอกว่าท่านถ่ายทอดความรู้ให้จนหมดแล้ว ท่านก็แนะนำให้ศิษย์ไปเรียนกับ “พระเจ้าตา” อีกท่านหนึ่ง  Enesco บอกกับศิษย์ว่าวิชาที่เขาให้ได้นั้นมีข้อจำกัด ระเบียบแบบแผนของคลาสสิกที่ละเอียดลึกซึ้งนั้น เมนูฮินต้องไปเรียนกับปรมาจารย์อีกท่านหนึ่งที่เบอร์ลิน คือ Adolf Busch เมนูฮินสารภาพว่าเขาชอบวิธีของ Enesco มากกว่า แต่เขาก็สำนึกบุญคุณของ Busch ที่ถ่ายทอดวิชาอีกแนวหนึ่งให้เขา (แต่ครูทั้งสองก็กระซิบบอกกันเองว่า ไอ้หนูน้อยมหัศจรรย์คนนี้มหัศจรรย์จริงๆ เพราะวุฒิภาวะของมันอยู่ในระดับผู้ใหญ่) ที่ผมเล่าเรื่อง Menuhin มาอย่างยืดยาวนี้ ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า Sarah Chang ไม่มีโชคดีอย่าง Menuhin เพราะเธอถูกวงการที่มีตลาดเป็นตัวกำกับกระชากลากถูไปสู่ความเป็นดารา จนไม่มีโอกาสที่จะได้เพาะตัวอย่างเหมาะสม  เพื่อที่จะได้ก้าวข้ามจากสภาวะของหนูน้อยมหัศจรรย์ไปสู่วุฒิภาวะแห่งดุริยางคศิลป์

Menuhin เองก็ใช่ว่าจะไม่ประสบปัญหา ช่วงอายุ 20 เศษๆ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอาสาออกไปเล่นดนตรีให้เหล่าทหารฟังในแนวหน้า เดินทางจากที่นั่นไปที่นี่ เหน็ดเหนื่อยมาก เวลาซ้อมแทบไม่มี เทคนิคเขาจึงตกไป และเมนูฮินก็มีปัญหาเรื่องเทคนิคต่อเนื่องมาตลอด แต่ในด้านการตีความ ในด้านความลึกซึ้งทางความคิด (ที่เกินเลยไปจากขอบเขตของดนตรี) ไม่มีใครจะทาบเขาได้ สำหรับผมเองนั้นได้ฟัง Violin Concerto ของ Brahms ที่ Menuhin แสดงที่ลอนดอนในฤดูหนาวปี 1960 และก็จำฝังใจมาจนทุกวันนี้ ว่าเป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่ซาบซึ้งกินใจที่สุดในชีวิตการฟังดนตรีของผม เมนูฮินและพ่อแม่ของเขาเป็นคนฉลาด เขารู้ดีว่า “ตลาด” เป็นอย่างไร และก็ใช้ตลาดให้เป็นประโยชน์ แต่ไม่ยอมให้ตลาดมาครอบงำ เมนูฮินกล่าวในตอนแก่ว่า เมื่อมองย้อนไปสมัยที่เรียนกับ Busch เขารู้สึกละอายใจที่เขากลายเป็นดาราไปแล้วในตอนนั้น โดยที่ตัวชี้วัดก็คือค่าตัวของเขา เด็กอายุ 13 ปี มีค่าตัวสูงกว่า Busch ถึง 10 เท่า! ผมพยายาม “ลากเข้าวัด” ให้ได้ว่าที่เมนูฮินเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้นานหลายทศวรรษก็เพราะเขารู้จักละอายใจในเรื่องที่ควรละอายใจ  เห็นคงจะไม่ต้องพูดอะไรมากไปกว่านี้

ในโลกปัจจุบัน เทคนิคเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว หนูน้อยอายุ 14 ปี ก็อาจจะมีเทคนิคที่เทียบได้กับ Jascha Heifetz ถ้าท่านได้ไปยุโรปในขณะนี้ จะพบว่าวงดนตรีชั้นนำ โดยเฉพาะส่วนเครื่องสายเต็มไปด้วยนักดนตรีชาวตะวันออก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หนูน้อยเหล่านั้นได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่ดีมาจากบ้านของตน มีโอกาสได้เรียนดนตรีอย่างเข้มมาแต่เยาว์วัยอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งประเทศในยุโรปละเลยเรื่องของการประคบประหงมหนูน้อยมหัศจรรย์อย่างต่อเนื่องไปนานแล้ว เพราะเข้าใจผิดว่าดนตรีตะวันตกอยู่ในสายเลือดของคนตะวันตก) ชาวเอเชียเหล่านี้มาต่อยอดในยุโรปและอเมริกา ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทคนิคมีติดตัวมาดีอยู่แล้ว ก็ได้รับวิชาชั้นสูงจากครูในยุโรป ในด้านของสไตล์ รสนิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ผมมีโอกาสดีที่ได้ไปสังเกตการสอนไวโอลินของศาสตราจารย์หัวหน้าฝ่ายเครื่องสายของสถาบันดนตรีชั้นสูงที่เมือง Leipzig ในเยอรมนี (ซึ่ง Mendelssohn เป็นผู้ก่อตั้ง) ผมเฝ้าสังเกตนักเรียนไวโอลินชาวตะวันออก 2 คน ต่อเนื่องกัน และก็ยืนยันได้ว่า ครูชาวยุโรปไม่ต้องพะวงเรื่องเทคนิคเลย และก็สามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในเรื่องของการตีความ และในเรื่องของมโนทัศน์ และวิญญาณของงานที่จะต้องแปลออกมาเป็นเสียงให้ได้

การแสดงของ Sarah Chang เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการตีความ แต่เป็นการอวดเทคนิค และเป็นการแสดงละครฉากยาวๆให้เราได้ชม (ถ้ากล่าวเป็นภาษาอังกฤษคงจะต้องพูดว่าเธอเน้นลักษณะ histrionics)  แต่ก็อีกนั่นแหละ เทคนิคขนาดนี้ถ้าเราเดินเข้าไปในสถาบันดนตรีชั้นนำในยุโรป เราก็คงจะได้พบสาวชาวเอเชียอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่กล้าเปรียบมวยกับคุณซาราห์ได้อย่างไม่หวั่นเกรง ลีลาท่าทางในการแสดงของเธอ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้น เป็นการเน้นบุคลิกภาพส่วนตัวของเธอมากกว่าเป็นการแสดงบุคลิกภาพทางดนตรีผ่านเครื่องดนตรีคือ “ไวโอลิน” เธอใช้พื้นที่ (ทางกายภาพ) สำหรับการแสดงมากกว่านักไวโอลินระดับโลกอื่นๆที่ผมเคยได้เห็นมา ซึ่งส่วนใหญ่จะยืนอยู่กับที่และโยกตัวไปมาบ้างเล็กน้อย เพื่อให้การเล่นมีชีวิตชีวาในบางตอน แต่สำหรับคุณชาง เธอเดินเข้าเดินออกเป็นระยะทางประมาณ 1-2 เมตร นัยว่าเป็นการใช้ลักษณะทางกายภาพเพื่อเน้นความเคลื่อนไหวทางอารมณ์ที่อยู่ในเพลง เวลาจะเล่นให้ดังก็กดคันชักเสียจนเกิดเสียงที่ไม่เพราะออกมา เวลาจะเล่นให้ค่อยก็ค่อยเสียจนคนฟังไม่ได้ยิน ผมคิดว่าเธอไม่ตามโน้ตที่บราห์มส์เขียนเอาไว้ในเรื่องดัง-ค่อย บางครั้งจึงถูกวงกลบ เพราะจะบังคับให้วาทยกรกำกับให้นักดนตรีไม่เล่นตามโน้ตที่คีตกวีแต่งมาได้อย่างไร ส่วนที่เตะตา (ไม่ใช่ต้องตา) ผู้ชมก็คือช่วงที่เธอเล่นจบบางตอนและไวโอลินมีช่วงพัก เธอจะถอนคันชักออกมาด้วยท่าทางของนักรบ เป็นการกระชากคันชักออกมาจากสาย แล้วกวัดไปกวัดมาราวกับเป็นกระบี่ ผมจึงขอตั้งชื่อบทความนี้ว่า “เพลงกระบี่ไร้เทียมทาน” ปัญหาที่หนักหน่วงที่สุดของซาราห์ ชาง คือ เธอไม่ได้สร้างมโนทัศน์ (concept) ที่เกี่ยวกับยอดเขาเอเวอเรสท์แห่งดุริยางคนิพนธ์ตะวันตกชิ้นนี้ไว้เลย ผมเฝ้าสังเกตว่าระหว่างกระบวนที่ 1 ผ่านกระบวนที่ 2 ไปจนจบกระบวนที่ 3 เธอจะมีมโนทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างไร แต่ก็จับไม่ได้ เพราะเธอไม่ได้ใช้ความคิดแนวนี้ในการแสดง สำหรับเธอดนตรีก็คือโน้ตที่มาเรียงรายต่อกัน และหน้าที่ของเธอก็คือเล่นโน้ตเหล่านั้นไปให้น่าตื่นเต้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ กระบวนที่ 1 ซึ่งเป็นตัวกำหนดแนวคิดหลักของผู้แต่งจึงสะเปะสะปะไร้ทิศทาง กระบวนที่ 2 ซึ่งน่าจะเปลี่ยนอารมณ์ไปในทางลึก ก็กลับเสียรส เพราะเธออด “ทึ้ง” บางช่วงบางตอนไม่ได้ ผมนั่งภาวนาเอาใจช่วยว่ากระบวนที่ 3 ซึ่งมีจังหวะร่าเริงเร้าใจนั้นน่าจะเหมาะสำหรับเธอ แต่ที่ไหนได้ เธอเล่นเป็นแบบฝึกหัด กระแทกคันชักลงบนสายอย่างรุนแรงเสียจนสิ้นความงาม การวิจารณ์รายละเอียดในการแสดงของเธอไร้ประโยชน์ ทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเธอในการแสดงออก เธอมิได้รับใช้ดนตรี แต่เธอนำเอาดนตรีมารับใช้เธอ

ถ้าถามว่ามีตอนใดบ้างในการแสดงของเธอที่ประทับใจผม ผมก็ต้องตอบว่ามีอยู่ 1 ตอน คือตอนจบของ cadenza ในกระบวนที่ 1 ซึ่งกำลังจะส่งต่อให้วงดนตรีเข้ามารับ ถ้าเธอสร้างความประทับใจได้เช่นนี้สัก 10-20 ตอน เราก็ควรจะได้รับรสแห่งดนตรีมากกว่านี้ ความจริงผมยังให้ข้อวินิจฉัยที่รุนแรงน้อยกว่าผู้ฟังบางคน ที่บอกผมว่าตลอดเวลาการแสดงไม่มีตอนใดที่ประทับเขาเลย

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมก็คงจะต้องคิดถึงนักแสดงผู้เลอโฉมอีกคนหนึ่ง คือ Anne-Sophie Mutter นักไวโอลินชาวเยอรมัน ซึ่งอาจารย์ไวโอลินอาวุโสท่านหนึ่งตั้งสมญานามให้เธอว่า “รถถังประจันบาน” และผมก็เชื่อตามอาจารย์ท่านนั้นมาตลอด เมื่อได้ฟัง ซาราห์ ชาง แล้ว ผมต้องสารภาพว่า ผมควรจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมานักดนตรีเยอรมันผู้นั้น เพราะรถถังประจันบานของเธอนั้นยังมีสไตล์ มีรสนิยม เพียงแต่ดุเดือดไปบ้างเป็นบางช่วงบางตอนเท่านั้น ซาราห์ ชาง ดุดันกว่านั้นมาก คงจะต้องเปรียบเธอกับรถสีเหลืองของ กทม. ที่วิ่งเป็นพายุบุแคมไปสุดทางที่หนองแขม

นักวิจารณ์ที่เอาแต่ติและไม่ได้ชี้ทางออกก็คือนักวิจารณ์ที่เลว ทางออกสำหรับซาราห์ ชาง ก็คือ หยุดเล่นคอนแชร์โตขนาดใหญ่เสียสักปี แล้วหานักเปียโนอาวุโสมือดีมาร่วมงานด้วย โดยเล่นเฉพาะ Sonatas for Piano and Violin ของ Mozart ให้ครบทุกบท แล้วพยายามใคร่ครวญไตร่ตรองว่าความเป็นดนตรีที่แท้จริงที่แฝงอยู่ในงานของ Mozart ที่ดูประหนึ่งว่า “ง่าย” นั้นคืออะไร (จากนั้นอาจจะออกแสดงทั่วโลกก็ได้ ผู้คนจะได้มีโอกาสพบมิติใหม่ในการแสดงของเธอ) ถ้าไม่ฟื้นภายใน 1 ปี ก็อาจจะต้องหาทางเยียวยาทางอื่น อาจจะต้องผันตัวไปสอนไวโอลินสักพักหนึ่ง เพื่อจะได้เข้าใจว่าการสร้างนักไวโอลินที่ยอดเยี่ยมจากหนูน้อยมหัศจรรย์นั้นควรจะเป็นอย่างไร

ผู้ที่น่าสงสารที่สุดในคืนวันนั้น คือ วาทยกร Giordano Bellincampi เขาจำเป็นต้องรักษามารยาทและวิ่งไล่ตามสาวงามอย่างสุดแรงเกิด วง BSO ที่ในปีนี้ทั้งปี เพิ่งจะได้เล่นดนตรีคลาสสิกเป็นครั้งแรกก็เรื้อเวที สังเกตได้ชัดจากเครื่องเป่าที่เคยเป็นจุดเด่น Symphony No. 7 ของ Beethoven จึงไม่ค่อยมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะกระตุ้นจังหวะให้เร้าใจเพียงใด

ฝ่ายจัดการของ BSO คงจะต้องกลับไปคิดให้หนักเสียแล้วว่า จะยอมเสียเงินเป็นเลขเจ็ดหลักเพื่อจัดรายการเช่นนี้ต่อไปละหรือ เก็บเงินไว้จัดคอนเสิร์ตคลาสสิกได้อีกถึง 4-5 ครั้งจะมิดีกว่าหรือ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *