สิทธิชัย เพ็งเจริญ กับ 2 โปรแกรม Violin Virtuoso ในรอบ 3 วัน

สิทธิชัย เพ็งเจริญ กับ 2 โปรแกรม Violin Virtuoso ในรอบ 3 วัน

image1

วฤธ วงศ์สุบรรณ

 

ผมค่อนข้างจะตื่นเต้นและแปลกใจพอสมควร ที่ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์สิทธิชัย เพ็งเจริญ นักไวโอลินลำดับต้นๆ ของไทย จะมีการแสดงร่วมกับวงออร์เคสตราและทำรีไซทัลร่วมกับเปียโน ในระยะเวลาที่ห่างกันเพียงวันเดียว (11 กับ 13 มีนาคม 2559)ผมเองนั้นรู้จักผลงานของ อ.สิทธิชัยมานาน ตั้งแต่เป็นหัวหน้าวง (Concertmaster) ของวง Bangkok Symphony Orchestra(BSO) และ Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) แต่ไม่ค่อยได้ฟังการแสดงเดี่ยวบ่อยครั้งนัก เมื่ออาจารย์จะมี 2 การแสดงใน 3 วัน ทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษ

รายการแรกในวันที่ 11 มีนาคม 2559 ณ โรงละครแห่งชาติ เป็นการแสดงร่วมกับวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร (National Symphony Orchestra ซึ่งก็มีนักดนตรีจากวงอื่นๆ มาเสริม) โดย อ.สิทธิชัยเป็นทั้งผู้อำนวยเพลงและผู้แสดงเดี่ยว ในบทเพลงแรก Cossack Danceของ Peter Ilytch Tchaikovsky ตามด้วย Suite in A minor for Violin and Orchestraของ Christian Sindingและ Zigeunerweisen ของ Pablo de Sarasate ปิดท้ายด้วยเพลงยอดนิยมอย่างCarmen Suite No.1 ของGeorge Bizet (ส่วนในครึ่งหลังนั้นเป็นบทเพลงร้องโดยนักร้องของกรมศิลปากร ซึ่งผมเองไม่ได้อยู่ฟังต่อเนื่องจากมีเหตุขัดข้อง จึงต้องขออภัยที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้)

ผมขออนุญาตกล่าวถึงเพลงที่ อ.สิทธิชัยบรรเลงก่อน Suite in A minor ของ Sinding นั้น เป็นบทเพลงที่เรียกร้องความสามารถเชิงไวโอลินอย่างสูง ในกระบวนแรกเป็นการเล่นไวโอลินด้วยความรวดเร็วราวกับเป็นแบบฝึกหัดไวโอลินชั้นสูง แต่ในส่วนของออร์เคสตราช่วยให้บทเพลงมีอารมณ์ที่ไม่แข็งกระด้างเกินไปนัก เสียงไวโอลินของ อ.สิทธิชัยค่อนข้างเบาจนฟังบางช่วงได้ไม่ค่อยชัดนักแต่เท่าที่ดูนั้นเทคนิคของอาจารย์ก็อยู่ในระดับที่สูงมาก สามารถถ่ายทอดเนื้อหาที่คีตกวีเขียนออกมาได้เป็นอย่างดี  ส่วนในกระบวนที่ 2 นั้น เป็นท่อนที่มีทำนองลึกซึ้ง ผมคิดว่าอาจารย์คงเข้าใจว่าโรงละครแห่งชาติค่อนข้างมีปัญหาด้านอุโฆษวิทยา (acoustic) พอสมควร จึงพยายามเล่นให้หนักขึ้นเพื่อให้เสียงชัดเจน แต่ก็ทำให้รู้สึกว่าเสียงไวโอลินค่อนข้างกร้าวไปเล็กน้อย ในกระบวนที่ 3 บทเพลงมาในจังหวะเต้นรำโบราณ ซึ่งอาจารย์ก็เล่นได้อย่างถึงอารมณ์ ในส่วนของวงนั้นก็สามารถตามผู้แสดงเดี่ยวได้ดีพอสมควร แต่ก็มีบางครั้งที่จังหวะยืดก็มีหลุดกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งหากมีวาทยกรมากำกับวงแทนผู้แสดงเดี่ยวการบรรเลงโดยรวมก็อาจจะดีขึ้น

ส่วนเพลง Zigeunerweisen (Gypsy Airs) หนึ่งในเพลงยอดนิยมที่โชว์ความสามารถอันผาดโผนพิสดารของไวโอลิน อ.สิทธิชัยก็เล่นได้อย่างดุดันมีพลังในท่อนที่รวดเร็วและเร่งเร้า แสดงความสามารถด้านเทคนิคที่หลากหลาย ทั้งการดีดสายด้วยมือซ้าย การสีครั้งละหลายสาย ในช่วงที่ช้าและหวานซึ้งก็เล่นได้อย่างถึงอารมณ์ อันที่จริงบทเพลงนี้ผมเองก็เคยฟังอาจารย์บรรเลงทางโทรทัศน์เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมคงไม่สามารถเปรียบเทียบกับการแสดงครั้งนี้ได้เพราะเวลาห่างกันนานเกินไป แต่เท่าที่รู้สึกคือ อ.สิทธิชัยฝีมือไม่ตกเลย

ในบทบาทการเป็นวาทยกรนั้น เท่าที่ได้ฟัง 2 เพลง ผมคิดว่า อ.สิทธิชัย ก็สามารถอำนวยเพลงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้าวงมาอย่างยาวนานและได้ร่วมงานกับวาทยกรมามาก มีนักดนตรีของวงคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า อ.สิทธิชัยจะคอยชี้แนะในจุดสำคัญ ปรับวง แนะนำเทคนิคต่างๆ ในการบรรเลง และให้นักดนตรีฟังกันเองให้มากขึ้น (เพราะมีหลายช่วงที่วาทยกรต้องละจากวงมาบรรเลงเดี่ยว) แต่ผมคิดว่าวงกรมศิลปากรอาจจะเครื่องร้อนช้าไปนิด เพิ่งมารู้สึกว่าบรรเลงได้อย่างถึงอารมณ์เอาในท่อนสุดท้ายของ Carmen Suiteนอกจากนั้นเสียงของวงยังไม่เข้าที่ในบางช่วง มีหลุดกับผู้แสดงเดี่ยวบ้างเล็กน้อย ซึ่งผมเดาว่าอาจจะมีเวลาซ้อมมาน้อยไปสักหน่อย แต่โดยรวมก็ถือว่ามีชีวิตชีวาและน่าฟัง

image2

          ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2559 อ.สิทธิชัยออกแสดงในรายการชื่อ “Violin Virtuoso Recital” คู่กับ อ.ดร.อโณทัย นิติพน ณ หอประชุมสังคีตวัฒนา สถาบันดนตรีกัลยานิวัฒนา ซึ่งมีบทเพลงหลากหลายยุคสมัย ตั้งแต่ Partita No.2ของ Johann Sebastian Bach,Sonata No.3 ของ Eugène Ysaÿe, Variations on “God Save the King”ของ Nicolò Paganini, Poème Op.25ของ Ernest Chausson, Suite in A minor Op.10 ของ Christian Sindingและ Louangeà l’Immortalité de Jésus ของ Olivier Messiaen

ในครึ่งแรก อ.สิทธิชัยเริ่มต้นด้วยการ “ไหว้ครู” ก่อน ด้วยเพลง Partita No.2 ของบาค ซึ่งนักไวโอลินทั้งหลายต่างรู้กันดีว่าเพลงชุดนี้ของบาคเป็นหนึ่งในเพลงไวโอลินที่ลึกซึ้งที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อน Ciacona(หรือChaconne ในภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งลอร์ด เยฮูดิ เมนูฮิน ยอดนักไวโอลินแห่งศตวรรษที่ 20 เรียกบทเพลงนี้ว่า “เพลงเดี่ยวไวโอลินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา” เป็นการเลือกเพลงอย่างฉลาดของ อ.สิทธิชัย ว่าถ้าจะแสดงในทางเดี่ยวไวโอลินแล้ว ต้องเล่นเพลงที่ลึกซึ้งที่สุดเสียก่อน (ต่อจากนั้นค่อยไฟแลบ) ซึ่งอาจารย์ก็บรรเลงได้อย่างกินใจกอปรด้วยความเข้มข้นและดุดัน อีกทั้งเสียงในหอประชุมสังคีตวัฒนาก็ค่อนข้างดีมาก จึงให้เสียงออกมาเต็มอย่างไม่ต้องพยายามเค้นหรือ“อัด”จนเกิดพอดี  (มีเพื่อนในวงการบางคนเล่าให้ผมฟังว่าความสมบูรณ์ในเชิงกายภาพของสถาบันแห่งนี้  เป็นผลงานของกลุ่มอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเข้าใจผิดในตอนต้นว่าสถาบันใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร ยังไม่มีใครอธิบายให้ผมฟังเข้าใจว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร) เมื่อเล่นเพลงในเชิงลึกแล้ว อ.สิทธิชัยก็เริ่มบรรเลงเพลง “โชว์” ได้แก่ Sonata No.3 ของ Ysaÿe และ Variations on “God Save the King” ของ Paganini ซึ่ง อ. สิทธิชัยเล่นได้อย่างเหนือชั้นเต็มไปด้วยเทคนิคอันแพรวพราว และที่สำคัญคือไพเราะอย่างไม่รู้สึกว่าเป็นเพลงโชว์ แต่เทคนิคต่างๆ ที่นำมาแสดงนั้นมีไว้เพื่อรับใช้ดนตรี

มาในครึ่งหลัง จะเป็นการบรรเลงไวโอลินร่วมกับเปียโนโดย อ.อโณทัยเริ่มจาก Poème Op.25 ของ Chausson เป็นเพลงที่เน้นอารมณ์ลึกซึ้งมากกว่าเทคนิคแพรวพราว (แต่เท่าที่สังเกตเทคนิคของเพลงนี้ก็ยังมีความยากอยู่มากเช่นกัน) มีลีลาอารมณ์เพลงที่หลากหลาย ซึ่งทั้งคู่ก็เพลงได้อย่างน่าฟัง แต่เท่าที่สังเกตคือในช่วงต้นเพลงจะแยกเปียโนกับไวโอลินสลับกันเล่น เหมือนต่างคนต่างเล่าเรื่องของตนเองก่อน มาในช่วงกลางเพลงจึงเป็นการสนทนาร่วมกัน ซึ่งก็น่าสนใจเป็นอันมาก ถัดมาเป็น Suite in A minor ของ Sinding อีกครั้งหนึ่งโดยเปลี่ยนจากวงออร์เคสตราเป็นเปียโนแทน เท่าที่สังเกตคือ อ.สิทธิชัยจะเล่นได้สบายและชัดเจนมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะโดนวงกลบ และเมื่อเล่นเพลงนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน ยิ่งจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย ส่วนเพลงสุดท้าย Louange à l’Immortalité de Jésus ของ Messiaen เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองหม่นแต่ลึกซึ้ง เน้นการบรรเลงของไวโอลินที่สีเป็นเสียงยาวๆ เสียดแทงอารมณ์ ส่วนเปียโนเล่นเพียงคอร์ดสั้นๆ เป็นจังหวะๆ ขับเน้นอารมณ์และทำนองหลักของไวโอลินมากกว่า จะไม่มีบทบาทในการเล่นทำนอง ในเพลงนี้เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยที่ อ.สิทธิชัยเกิด “ลืมโน้ต” ขึ้นมา เมื่อเล่นไปได้สักครู่หนึ่ง จึงได้เริ่มเล่นใหม่ แต่ก็เรียบร้อยดีในการเล่นใหม่ ที่จริงแล้วก่อนนี้ อ.สิทธิชัยก็เกิดอาการ “มือชา” ในระหว่างที่เล่น Partita ของบาค ทำให้ต้องไปพักหลังเวทีอยู่ครู่หนึ่งจึงกลับมาเล่นต่อได้ ซึ่งอาจารย์บอกว่าเนื่องจากซ้อมมากไปสักหน่อยจึงเกิดอาการล้า แต่พอกลับมาเล่นต่อ เราผู้ฟังก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเล่นตกลงไปเลย

การแสดงทั้งสองรายการนี้ อาจเป็นการ “เปิดตัว” อ.สิทธิชัย กับต้นสังกัดใหม่ของเขา คือสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (แม้ว่าอาจารย์จะอยู่ในวงการดนตรีคลาสสิกมาร่วม 30 ปีแล้วก็ตาม และเพลงที่อาจารย์เล่นในวันนี้ ผมคิดว่าเมื่อ 30 ปีก่อนอาจารย์ก็น่าจะเล่นได้แล้ว) จึงต้องแสดงฝีมือให้วงการได้ประจักษ์ แต่ด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้เพลงเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงการอวดฝีมือเท่านั้น แต่เป็นเครื่องแสดงความลึกซึ้งของดนตรีคลาสสิกตะวันตกด้วย แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าผู้ฟังในทั้ง 2 รายการ (โดยเฉพาะในรายการหลัง) นั้นจะรับสารความลึกซึ้งทางดนตรีที่อาจารย์พยายามสื่อออกมาได้มากน้อยเพียงใด (ดูผู้ฟังจะตื่นตาตื่นใจไปกับเทคนิคอันตระการตาเสียมากกว่า) การตั้งชื่อการแสดงว่า virtuoso อาจทำให้ผู้ฟังบางส่วนเขวได้ ผมยังคิดว่าอาจารย์ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องใช้คำนี้เพราะอาจารย์ มาถึงสถานะของ guru ของวงการไวโอลินแล้ว  ผมเป็นผู้หนึ่งที่รักดนตรีคลาสสิกตะวันตกเป็นชีวิตจิตใจ  โดยเฉพาะเชมเบอร์จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า  อาจารย์ไม่ได้สนทนากับอาจารย์ของอาจารย์ในเรื่องขององค์แห่ง
คีตนิพนธ์ (repertoire) บ้างเลยหรือ  อย่างไรก็ตามผมหวังว่าในโอกาสต่อไปของอาจารย์ อาจเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟัง ยังมีไวโอลินโซนาตา สตริงควอร์เต็ต หรือเชมเบอร์มิวสิคอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายที่เราผู้ฟังทั้งหลายยังรอรับฟังอยู่ และจะเป็นการพัฒนาผู้ฟังด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *