สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ : บทวิจารณ์โดย เจตนา นาควัชระ และ คำอธิบายตอบกลับโดยผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท

ที่มาบทวิจารณ์ http://www.facebook.com/note.php?note_id=224505744244486

 

บทวิจารณ์โดย เจตนา นาควัชระ

 

การที่ “คณะละครสองแปด” กล้าที่จะย้อนรอยตัวเองและนำละครเพลงเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเมื่อปี 2530 กลับมาแสดงใหม่อีกครั้ง ต้องถือได้ว่าเป็นการรับคำท้าของตัวเอง เพราะถ้าไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพได้เท่ากับฉบับแรกก็จะถูกกล่าวหาว่าฝีมือตก ข้อวินิจฉัยของผมเกี่ยวกับการแสดงครั้งที่สองนี้ก็คงจะเป็นว่า “คณะละครสองแปด” มีความเป็นละครอาชีพ (professional) มากขึ้น เพราะเมื่อปี 2530 ผมได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “การแสดงโดยทั่วไปก็อยู่ในมาตรฐานที่เทียบเคียงได้กับละครสมัครเล่นชั้นดีในประเทศตะวันตก” (ดูหนังสือ ครุ่นคิดพินิจนึก :2544, หน้า 192)

 

 

ผมคงจะต้องเริ่มบทวิจารณ์นี้ด้วยคำสารภาพบางประการ โดยทั่วไปผมมีความขยาดกลัวละครประเภทmusical เพราะประสบการณ์ล่าสุดจากตะวันตกที่ได้ดู Les Miseacuterables ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อปี1990 ทำให้ผมเลิกดูละครประเภทนี้ในประเทศตะวันตกไปเลย เพราะออกมาจากโรงละครในครั้งนั้นแล้วทั้งปวดหูและปวดหัว เนื่องจากเสียงดังมากและการแสดงเร่งรีบมากเสียจนทั้งคนเล่นและคนดูต้องกระหืดกระหอบไปตามกัน คือเกินพอดีไปเสียทุกอย่าง สำหรับละครเพลงของไทยนั้น ผมได้ชมมาบ้าง แม้จะแสดงดีเพียงใดก็ตาม แต่จะหาเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยสาระ เช่น สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ มิได้ สำหรับ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับปี 2530 นั้น สร้างความประทับใจที่ลึกซึ้งกับผมมาก ทั้งๆที่มีข้อบกพร่องในเชิงเทคนิคอยู่ไม่น้อย ผมเดินออกจากโรงละครแห่งชาติในครั้งนั้นด้วยความรู้สึกว่าละครยังไม่จบ ยังมีข้อขัดแย้งที่อยู่ในสมองของผม ซึ่งผมต้องกลับไปขบคิดต่อด้วยตนเอง แต่เมื่อผมเดินออกจากรัชดาลัย เธียเตอร์ เมื่อคืนวันที่ 14 มิถุนายน 2551 ผมมีความรู้สึกว่าละครเพลงจบลงอย่างสมบูรณ์ ไม่มีประเด็นใดๆค้างคาใจ ไม่ปวดหู และปวดหัว รู้สึกสบายใจ และก็ชื่นชมกับความสามารถของนักแสดง และทุกคนที่ร่วมงานในครั้งนี้ เพราะดูว่าองค์ประกอบต่างๆ จะเข้ากันด้วยดีและลงตัวไปเสียทั้งหมด ถ้าเทียบกับ Les Miseacuterables ที่ผมเอ่ยถึงมาข้างต้นนั้น ยุทธนา มุกดาสนิท กับผู้ร่วมงานดูจะเข้าใจเรื่องรสนิยมได้ดีกว่ามือโปรของเมืองแห่งศิลปะ ณ ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเสียอีก

แต่ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ความคิดหลัก (concept) ของ “คณะละครสองแปด“ ผู้กำกับการแสดงและนักแสดงได้เปลี่ยนไปแล้ว สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับที่ 1 เน้นความขัดแย้งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งอุดมคติ และไม่พยายามจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้บนเวทีละคร ณ โรงละครแห่งชาติในครั้งนั้น คือทิ้งปัญหาค้างคาไว้เช่นนั้นเพื่อให้ผู้ชมกลับไปทำการบ้านต่อ ถ้าว่ากันตามทฤษฎีการละครของตะวันตก ก็คงจะถือว่าในครั้งนั้น ยุทธนา มุกดาสนิทกับคณะของเขาไม่สนใจที่จะสร้างความโล่งอารมณ์ (catharsis) ตามหลักของปราชญ์อริสโตเติล แต่พร้อมที่จะฝากตัวไว้กับนักประพันธ์ละครเอกชาวเยอรมัน Bertolt Brecht ซึ่งในช่วงนั้นมีอิทธิพลต่อวงการละครไทยเป็นอย่างมาก เพราะละครสอนใจและละครสอนคนจะต้องไม่ให้คำตอบที่สมบูรณ์กับผู้ชม ความคิดหลักที่เปลี่ยนไปในปี 2551 เป็นไปในทางที่ว่า ผู้ดูผู้ชมจะต้องถูกชักจูงให้ไปถึงขั้นที่ยอมเชื่อว่าอุดมคติเป็นฝ่ายชนะ คือเมื่อตัวเอกฝ่ายหญิง คือ อัลดอนซา เดินสวนทางตนเองกลับมารับมรดกแห่งอุดมคติของ ดอน กิโฮเต้ ไปได้อย่างน่าประทับใจ การแสดงในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คือ เร็วกว่าเมื่อปี 2530 เป็นอันมาก ให้คำตอบเสร็จสรรพว่าอะไรเป็นอะไร ละครจบอย่างไร สารที่ชัดเจนคืออะไร ดูแล้วโล่งอารมณ์ แต่สำหรับผมซึ่งมักจะอยู่ข้างHerr Brecht กลับอดรู้สึกไม่ได้ว่ามีอะไรที่ขาดหายไปจากความสำเร็จอันสมบูรณ์ของ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับปี 2551 นี้

ผมลองกลับมาพิจารณาว่าอะไรคือตัวแปรที่กำกับความเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดในครั้งนี้ และในท้ายที่สุดผมก็ต้องหวนระลึกไปถึงภาพการแสดงบทเวทีโรงละครแห่งชาติเมื่อปี 2530 ผู้แสดงที่โดดเด่นที่สุดในรอบสุดท้ายที่ผมได้ดู คือ นรินทร ณ บางช้าง ผู้สวมบทอัลดอนซา เธอเป็นนักแสดงที่มีบุคลิกภาพทางศิลปะที่โดดเด่นมาก ผมอยากจะพูดว่าเธออยู่ในฐานะของผู้ตีความบทละครที่มีอิทธิพลต่อการตีความโดยองค์รวมของละครทั้งเรื่อง บทบาทของอัลดอนซากว่าค่อนเรื่องเป็นเรื่องราวของหญิงสาวซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอดชีวิต (และถูกกระทำอย่างรุนแรงที่สุดด้วยการถูกข่มขืน) จะให้เธอเชื่อในเรื่องของอุดมคติอย่างง่ายดายนั้นเป็นไปไม่ได้ เธอจึงเหยียดหยาม ดอน กิโฮเต้ว่าเพ้อคลั่งไปในโลกที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ลีล่าท่าทางของเธอ คำพูดของเธอ การแสดงของเธอ จึงเปี่ยมไปด้วยการเย้ยหยัน เป็นคำประกาศของการต่อต้านโลกแห่งอุดมคติ เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เป็นการตอกย้ำความขัดแย้งที่อยู่ภายในเนื้อเรื่องระหว่างความจริงกับอุดมคติ และถึงแม้ว่าในตอนท้ายเรื่องเธอจะเปลี่ยนใจมารับเงื่อนไขของ ดอน กีโฮเต้ เราในฐานะคนดูก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าผู้แต่งพยายามจะเปลี่ยนทัศนะของเราด้วยความจงใจ แต่ก็มาช้าเกินกว่าที่จะกู้สถานการณ์ไว้ได้แล้ว ผมไม่ต้องการตอกย้ำว่า

“คณะละครสองแปด” มุ่งเน้นละครดารา แต่เมื่อเนื้อเรื่องเป็นเช่นนี้ บทที่ผู้แต่งดั้งเดิมสร้างมาเป็นเช่นนี้ (และเราเป็นเพียงผู้แปลและแปลง) ตัวละครเอกจึงกลายเป็นดาราขึ้นมาโดยปริยาย จึงกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางของเรื่อง จึงกลายเป็นผู้ส่งสารอันสลักสำคัญมาให้เราอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในละคร สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ปี 2551 นี้ ผู้ที่กลายเป็นดาราขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้มิใช่ผู้แสดงนำฝ่ายหญิง แต่คือผู้แสดงนำฝ่ายชาย เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ผู้รับบท ดอน กีโฮเต้ ทั้งความสามารถในการแสดง ทั้งความสามารถในการร้องเพลง และความสามารถในการตีบทของเขาอยู่ในระดับที่สูงมาก การแสดงครั้งนี้จึงอยู่ในมือของเขา และใครจะปฏิเสธได้ว่า “The Impossible Dream” อาจจะเป็นความฝันที่กลายเป็นจริงขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ทั้งบนเวทีและนอกเวที ณ จุดนี้ผู้ที่อาจจะไม่ต้องการจะเป็นดาราก็กลายเป็นดาราขึ้นมา แต่การเป็นดาราในลักษณะนี้คงจะมิใช่ดาราตลาดๆอย่างที่เรารู้จักกัน แต่เป็นดาราที่สามารถกำหนดทิศทางได้(ผมเองก็อยากจะรู้ความนัยเช่นกันว่าผู้กำกับการแสดงต้องการให้เป็นเช่นนี้หรือไม่)

 

เราคงจะมุ่งพิจารณาแต่เฉพาะเรื่องของการแสดงมิได้ ละครเรื่องเดียวกันเมื่อได้รับการนำขึ้นสู่เวที ณ จุดที่ต่างกันในกระแสของประวัติศาสตร์ย่อมจะมีความหมายที่ต่างกัน เพราะผู้ดูผู้ชมก็เดินเข้ามาในโรงละครจากโลกความเป็นจริงนอกโรงละคร ซึ่งเราก็ทราบดีว่าสังคมไทย ณ จุดปัจจุบันเป็นอย่างไร ความหมักหมมโสมมของการประพฤติปฏิบัติที่ฉ้อฉลในโลกแห่งความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งสังคม การเมืองและธุรกิจ เป็นสิ่งที่อยู่กันคนละฟากโลกกับโลกแห่งความคิดและการกระทำอันบ้าบิ่นของดอน กีโฮเต้ สิ่งที่เรามิอาจเห็นได้ มิอาจสัมผัสได้ มิอาจสร้างขึ้นมาได้ ในสภาพแห่งความเป็นจริงกลับปรากฏอยู่บนเวทีรัชดาลัย เธียเตอร์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที ปรากฏอยู่ด้วยความมั่นใจ ด้วยคุณค่าทางสุนทรียะ และด้วยแรงชักจูงเชิงจริยธรรม ซึ่งทำให้เราท่านมิอาจปฏิเสธได้ว่า เราหนีร้อนจากภายนอกมาพึ่งเย็นในโรงละคร แต่ความเย็นที่ว่านี้กอปรด้วยไออุ่นแห่งความเป็นมนุษย์ ผู้ไม่ยอมให้โลกเป็นอย่างที่เป็นอยู่ แต่พยายามจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งถึงระดับโลกอันพึงประสงค์ ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่าการที่ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ปี 2551 ให้คำตอบสำเร็จรูปว่าอุดมคติเป็นฝ่ายชนะนั้น คงจะเป็นการตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนผู้มีสัญชาตญาณใฝ่ดี และเป็นการตอบโต้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จมปลักอยู่ในห้วงแห่งสัญชาตญาณใฝ่ต่ำ ผมเขียนไว้ในบทวิจารณ์เมื่อปี 2530 ถึง “การไต่บันไดเสียงไปสู่โลกแห่งอุดมคติ“มา ณ ปี 2551 เราคงทำแค่นั้นไม่พอเสียแล้ว เพราะเราถูกบังคับให้ไต่บันไดแห่งจริยธรรมไปสู่โลกแห่งอุดมคติให้ได้

 

 

เมื่อได้กล่าวถึงประเด็นเชิงเทคนิคมาบ้างแล้วในตอนต้น ก็จะขอจบลงด้วยการอภิปรายในแนวนี้ โรงละครรัชดาลัยเป็นโรงละครที่ใหญ่มาก และเวทีก็ใหญ่มากเช่นกัน การใช้พื้นที่บทเวทีกลางจึงไม่เหมาะกับการแสดงในทุกๆตอน ผู้กำกับการแสดงผู้เดียวกับการแสดงเมื่อปี 2530 จึงจะต้องใช้มุมซ้ายของเวที(ด้านขวาของผู้ชม) สำหรับการแสดงบางตอน เช่น ฉากที่ ดอน กีโฮเต้ สิ้นลมก็แสดง ณ มุมเวทีนี้ ซึ่งก็อาจจะเป็นการเลี่ยงปัญหาของเวทีที่ใหญ่เกินขนาดไปได้ แต่การใช้เวทีเพื่อสร้างความประทับใจ โดยเฉพาะเมื่อตัวเอกฝ่ายชายร้องเพลงเอก “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” กลางเวทีใหญ่ ท่ามกลางดาวประดับฟ้านั้นน่าประทับใจยิ่ง เมื่อผมเทียบกับการแสดงเมื่อปี 2530 แล้ว จุดที่ชวนให้คิดอีกจุดหนึ่งคือนาฏศิลป์ การเต้นบางฉากก็ยังไม่ลงตัวอยู่นั่นเอง เช่น ฉากระบำแขกมัวร์ แต่สิ่งที่ขาดไปสำหรับคนที่ได้มีโอกาสชมการแสดงครั้งแรกก็คือ ความสามารถในการเต้นของตัวเอกฝ่ายหญิง ซึ่งทำให้นรินทร ณ บางช้าง โดดเด่นมากในการแสดงครั้งนั้น ผมได้วิเคราะห์ฉากที่อัลดอนซากลับมาพบดอน กีโฮเต้หลังจากที่เธอถูกประทุษร้ายมาแล้วว่า ทั้งเพลง ทั้งลีลาท่าทาง และการเต้นน่าประทับใจเพียงใด (ดูบทวิจารณ์เรื่องเดียวกัน หน้า 195-196) แต่ครั้งนี้ดูจะไม่มีฉากใดที่โดดเด่นกว่าฉากใด เพราะอยู่ในระดับโปรเท่าๆกันหมด

 

สิ่งที่ควรจะกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของดนตรี ซึ่งต้องถือว่านักดนตรีและวาทยกรสร้างงานที่อยู่ในระดับโปรอีกเช่นกัน แต่การตัดสินใจที่ใช้แต่เฉพาะเครื่องเป่าและเครื่องเคาะจังหวะในครั้งนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะเพลงส่วนใหญ่ขาดรสไป เพราะขาดเสียงอันละเมียดของเครื่องสาย โดยเฉพาะเพลงเอกที่บทแปลเป็นภาษาไทยตัดจังหวะเป็นช่วงๆ และผู้ร้องก็จำเป็นต้องร้องเป็นช่วงๆเช่นกันนั้น เมื่อไม่มีเครื่องสายมาหนุน เพลงจึงขาดเสน่ห์ไปมาก ทำให้อดหวนคิดถึงรอบสุดท้ายเมื่อปี 2530ไม่ได้ที่วงดนตรีกรมศิลปากรเล่นคลอนักร้องได้อย่างประทับใจยิ่ง ทั้งๆที่โดยปกติแล้ววงดนตรีวงนั้นอาจจะมีข้อบกพร่องทางเทคนิคอยู่มาก การจะสร้างความต่อเนื่องด้วยเสียงเครื่องเป่า เช่น ปี่โอโบเป็นตัวหลักนั้นทำได้ยากมาก ทั้งๆที่ตัววาทยกรเองเป็นนักโอโบมือหนึ่งของเมืองไทย (ผมอดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวว่า ก็คงมีแต่ Mozart กับ Brahms เท่านั้นที่ทำได้) ประเด็นเกี่ยวกับดนตรีอีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ การที่พึ่งเทคโนโลยีมากเกินไป โดยคิดว่าจอมอนิเตอร์แก้ปัญหาทุกอย่างได้ โดยไม่ให้วาทยกรยืนกำกับทั้งวงดนตรีและทั้งผู้ร้องจากจุดที่ทุกคนมองเห็น การร้องบางตอนโดยเฉพาะการร้องหมู่จึงยังขาดความแม่นยำอยู่มาก เพราะผู้ร้องมองไม่เห็นวาทยกรโดยตรง โรงละครที่ขาด

“หลุม” สำหรับวงดนตรีหน้าเวที (orchestra pitch) ย่อมต้องถือว่าเป็นจุดบกพร่องที่จำเป็นต้องแก้ไข ถึงอย่างไรก็ดี ข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มิได้ทำให้การแสดงครั้งนี้ขาดคุณภาพลงไปโดยองค์รวม

 ประเด็นที่เรายังแก้ไม่ได้สำหรับละครเพลงสมัยใหม่ของเราก็คือ ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์มากขึ้นเพียงใดก็ตามในด้านของการแสดง ในด้านของเทคนิค ในด้านของการร้องเพลง ในด้านของการจัดการ (อันอาจรวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์) สิ่งที่เป็นแก่นของละครเพลงก็คือตัวบทและเพลงที่ไพเราะติดหู จนกลายเป็นเพลงอมตะไปได้ ดังเช่นในกรณีของ musical ตะวันตกหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องนี้ ปัญหาของละครเพลงสำหรับบ้านเราจึงมิใช่ปัญหาของละครโดยเฉพาะ แต่เป็นปัญหาของวรรณศิลป์และคีตศิลป์ที่ยังเฝ้ารอการมาถึงของคู่นักประพันธ์เอกกับนักแต่งเพลงเอก ในท้ายที่สุด ผู้สูงอายุก็จำต้องหวนกลับไปหาจุฬาตรีคูณ และลงความเห็นว่าชายสองคนนั้น คือ เอื้อ สุนทรสนาน กับแก้ว อัจฉริยะกุล ที่ทำงานร่วมกันเป็นเวลาหลายสิบปี สามารถแต่งเพลงละครเพียง 6 เพลงให้กลายเป็นเพลงอมตะมาได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เราทำได้ในอดีต เหตุใดเราจึงจะทำไม่ได้ในโลกปัจจุบัน

 

เบื้องหลังการทำละครเวที สู่ฝันอันยิ่งใหญ่..โดยสังเชป

 

สืบเนื่องจาก…บทวิจารณ์ละครเวทีเรื่องสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ฉบับปี 2551 จากทัศนะของอาจารย์เจตนา นาควัชระ

http://www.facebook.com/note.php?note_id=224505744244486

“….ถ้าว่ากันตามทฤษฎีการละครของตะวันตก ก็คงจะถือว่าในครั้งนั้น ยุทธนา มุกดาสนิทกับคณะของเขาไม่สนใจที่จะสร้างความโล่งอารมณ์ (catharsis) ตามหลักของปราชญ์อริสโตเติล แต่พร้อมที่จะฝากตัวไว้กับนักประพันธ์ละครเอกชาวเยอรมัน Bertolt Brecht ซึ่งในช่วงนั้นมีอิทธิพลต่อวงการละครไทยเป็นอย่างมาก เพราะละครสอนใจและละครสอนคนจะต้องไม่ให้คำตอบที่สมบูรณ์กับผู้ชม ความคิดหลักที่เปลี่ยนไปในปี 2551…… “

“สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ปี 2551 นี้ ผู้ที่กลายเป็นดาราขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้มิใช่ผู้แสดงนำฝ่ายหญิง แต่คือผู้แสดงนำฝ่ายชาย เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ผู้รับบท ดอน กีโฮเต้ ทั้งความสามารถในการแสดง ทั้งความสามารถในการร้องเพลง และความสามารถในการตีบทของเขาอยู่ในระดับที่สูงมาก การแสดงครั้งนี้จึงอยู่ในมือของเขา…….(ผมเองก็อยากจะรู้ความนัยเช่นกันว่าผู้กำกับการแสดงต้องการให้เป็นเช่นนี้หรือไม่)”

……บทวิจารณ์โดย เจตนา นาควัชระ

 

เมื่อผมได้อ่านงานวิจารณ์อย่างเป็นวิชาการนี้แล้ว จึงมีแรงจูงใจอยากจะตอบ…อยากจะเล่าบางมุมของการทำละครเรื่องนี้เป็นครั้งแรก…. จากแง่มุมของคนดูคนแรก ที่ปรับปรุงแก้ไขทุกอย่างได้…ผู้กำกับการแสดง^^

ที่จริงได้เล่าตอบข้อสงสัยของอาจารย์ไปแล้ว ในหน้านั้น…แต่เห็นว่าถ้าคัดลอกแยกออกมาใส่เป็นบันทึกอีกหน้าหนึ่ง น่าจะดีกว่าครับ

 

…..ถึงตรงนี้ ก็อยากจะเล่าถึงบางมุมจากเบื้องหลังการทำละครเรื่องนี้ทั้ง2ครั้งให้ฟังพอเป็นสังเขป  ที่อาจเป็นประโยชน์ และเป็นคำตอบต่อ คำถามที่อ.เจตนาตั้งขึ้นจากบทวิจารณ์อันแหลมคมชิ้นนี้ ทั้งที่ถามตัวเอง ผู้ชม และถามตรงมาถึงผมเลยทีเดียวได้บ้าง……

 

เสน่ห์ของละคร “สู่ฝันอันยิ่งใหญ”นี้อยู่ตรง เมื่อโลกแห่งความฝันและความจริงได้มาเผชิญหน้ากัน…โดยมีดอนกิโฮเต้เป็นตัวแทนแห่งความฝัน และโสเภณือัลดอลซ่าเป็นตัวแทนโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย แม้บทจะให้ลงเอยด้วยโลกแห่งอุดมคติเป็นฝ่ายมีชัยอย่างที่ควรจะเป็น….แต่การตีความของผมทั้งสองครั้งนั้นมิได้แตกต่างกัน โดยเน้นไปที่การเผชิญหน้าของทั้งสองโลกอย่างใกล้ชิด โดยมีเพียงเส้นบางๆคือ ความเชื่อและความศรัทรา ของผู้ชมนั่นแหละที่ควรจะเป็นคนเอาเนื้อหาและความคิดนี้ไปใคร่ครวญและตัดสินได้ด้วยตัวเอง

 

 

 

ในการทำละครนั้นต่างจากหนังมาก เพราะหนังเราตีความผ่านมุมกล้องและเทคนิคต่างๆเสริมเข้าไปนอกเหนือจากการแสดงต่างๆได้อีกชั้น แต่ละครนั้น ผ่านนักแสดงล้วนๆ ฉากแสงสีของละครเวทีเป็นเครื่งช่วยให้คนดูเห็นและเชื่อตามสถาณการณ์ที่กำลังปรากฏอยู่กับตานั้นเท่านั้น…. เมื่อเป็นดังนี้การซ้อมละครเวทีเพื่อให้นักแสดงไปสู่จุดที่ผกก.ตีความจึงมีความสำคัญมาก..ละครกึ่งอาชีพที่มีขนาดใหญ่เท่านี้เราจึงใช้เวลา 12 อาทิตย์หรือ 3 เดือนทุกวันเว้นวันอาทิตย์ในช่วง6สัปดาห์แรก และทุกๆวันจริงๆไปจนถึงวันการเริ่มแสดง…เพื่อให้นักแสดงเล่นได้ดังตีความเมื่อม่านเปิด….

 


 

….เมื่อความฝันและความเป็นจริงต้องมาเผชิญหน้ากัน ตัวละครทั้งสองขั้วต้องเล่นให้เสมอกัน จึงจะทำได้ผลดีต่อการไปครุ่นคิดต่อ….ในการแสดงครั้งแรกที่โรงละครแห่งชาติ เราซ้อมนานถึง20อาทิตย์ เพราะต้องฝึกสอนพื้นฐานในการเต้นที่ผู้แสดงมีน้อยมากในสมัยนั้นด้วย…คุณนรินทรนั้นแม้ว่าจะไม่เคยแสดงอะไรมาก่อน แค่ก็ผ่านการทดสอบ ทั้งร้อง แสดง และการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือการเต้นมาอย่างเข้มข้น อันเป็นคุณสมบัติที่นักแสดงละครเพลงต้องมี…..ผมเน้นว่าต้องมีจึงจะพาละครเพลงไปได้เป็นอันดับแรก….และคุณนรินทร ก็ได้ใช้เวลาทุกวันตลอด5เดือนฝึกซ้อมและพัฒนาบทไปจนถึงจุดที่ผมพอใจ…ตัวแทนโลกแห่งความจริงไปถึงฝั่งแล้ว^^

 

ทีนี้ลองหันมาดูพี่ดอนบ้าง 17 อาทิตย์ที่ได้ซักซ้อมมาอย่างหนักนั้น..หาใช่คุณศรัญญูหรือคุณจรัล ที่ปรากฏต่อสายตาผู้ชมไม่! ผู้นั้นคือ คุณพรศิลป์ ผู้เคยรับบทเป็น กาลิเลโอ ในละครเรื่องแรกของ28ได้อย่างน่ายกย่องและแทบไม่มีที่ติเลย ส่วนเรื่องการร้องเพลง เขาเป็นคริสเตียนที่ได้ฝึกฝนการร้องมาแต่เยาว์วัยจึงร้องเป็นและทำได้ดี มีแต่การเต้นเท่านั้นที่ไม่ผ่าน!!! แต่ผมเห็นว่าในบทกิโฮเต้นี้ ไม่มีด๊านซ์นัมเบอร์อะไร มีเพียงการเคลื่อนไหวเล็กน้อยในเพลงที่เขาร้องเท่านั้น จึงให้ผ่านได้และซักซ้อมไปเรื่อยๆจนอีก2อาทิตย์ก่อนแสดงก็แตกหัก!!!

 

ผมคิดผิดที่ไม่เชื่อกฎเหล็กของละครเพลง คือ ผู้แสดงต้อง ร้องดี เล่นดี และเต้นได้เสมอ…เพราะในกรณีนี้แค่การเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆประกอบร้องก็ไม่สามารถฝืนเขาไปได้ จนพาลให้การร้องและการแสดงกลับลดลงไม่พัฒนาไปไหน เพราะความกังวลกับการเคลื่อนไหวตามที่ผู้ออกแบบท่าเต้น แม้จะช่วยถอดท่าออกให้ง่ายจนอีกนิดเดียวจะไม่เต้นแล้ว ผมก็เครียดเพราะเห็นว่าไม่พอ เขายิ่งเครียดเพราะพยายามเท่าไรก็ไม่ได้ดี…ในที่สุดเขาถึงกับบอกผมว่า เขาไม่สามารถจะทำทั้ง3สิ่งคือร้อง เต้น และแสดงไปพร้อมๆกันได้…ถ้าจะให้เขาแสดง ร้องต้องไม่เต้น เต้นต้องไม่ร้อง!!..งั้นก็ไม่ต้องเล่นผมตอบหน้าเฉยๆขณะในใจเหงื่อตก…เหลืออีก 3 อาทิตย์เท่านั้นจะหาใครมาเล่นล่ะ แค่ท่องบทที่เยอะแยะของพี่ดอนให้ได้ดีก็นับว่าบุญแล้ว…..

 

อาทิตย์ต่อมาคุณศรัญญูจึงตอบรับเข้ามาแทนที่ และอีกอาทิตย์ต่อมาคุณจรัลจึงเข้ามาเพิ่มให้เล่นสลับกัน เพราะผมเห็นว่าเสียงคุณศรัญญูไม่มีทางพัฒนาไปถึงจุดผ่านได้ในระยะเวลาแค่นี้….เมื่อคุณจรัลเข้ามาก็เหลือเวลาอีกไม่ถึง 10 วันก่อนแสดง…..การซ้อมบทดอนนี้ต้องทำไปพร้อมๆกันทั้งสองคนวันละ18 ชั่วโมง โดยให้คุณรัศมีช่วยดูคุณจรัลในอีกห้องซ้อมติดๆกันในแต่ละเฟร้นซ์ซีนที่มีดอน…..เมื่อการแสดงเริ่มคุณจรัลถึงกับป่วยเลย และ เมื่อละครจบต้องเข้าร.พ.เพราะหักโหมมาๆๆๆทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

นี่ละครับ สาเหตุที่ตัวแทนโลกแห่งความฝันไม่สามารถพุ่งไปเสมอโลกแห่งความจริงของนรินทรได้ทัน ในขณะที่ตัวเรื่องนั้นฝืนให้เชื่อในอุดมคติ จึงเกิดความขัดแย้งในใจผู้ชมขึ้นอย่างไม่น่าสงสัย…ที่เล่านี่ไม่ได้เล่าเพื่อออกตัวหรือแก้ตัวอะไรนะครับ แค่เล่าเบื้องหลังที่เกิดขึ้นจริงให้ฟังเท่านั้น^^…ในแง่ดีคือทำให้อาจารย์เจตนาไม่เกิดความ โล่งอารมณ์(catharsis)ตามทฤษฏีของอริสโตเติ้ลที่อาจารย์ไม่ได้นับถือ เท่ากับละครสอนใจของHerr Brechtd กระมังครับ…..ส่วนผมนั้นก็ไม่โล่งอารมณ์เช่นกันครับ!!!! อิอิอิ

 

 

 

จึงเป็นเหตุให้ผมยอมกลับมาทำงานซ้ำอีกหน…ทั้งๆที่เคยบอกกับตัวเองและคนอื่นว่าจะไม่ทำงานตัวเองซ้ำทั้งหนังและละครเสมอมา……แต่เหมือนโชคชะตาแกล้งกัน การแสดงครั้งใหม่นี้ก็มีเหตุให้ต้องเกิดความโล่งอารมณ์ขึ้นแทน เพราะเกิดจากตัวละครฝ่ายหญิงแทนฝ่ายชายเมื่อครั้งก่อนแทน…เมื่อตัวแทนโลกแห่งความเป็นจริงอ่อนแอ โลกแห่งความฝันที่แข็งแรงและบทที่ส่งให้อุดมคติเป็นฝ่ายชนะ….จึงชนะได้ใสๆ…โล่งอกโล่งใจและอารมณ์อย่างที่อาจารย์ไม่ชอบและผมก็ไม่ได้ต้องการให้เป็นเช่นนั้น…ในทันทีโดยอัตโนมัติเลยครับ^^

 

เจมส์นั้นชนะขาดลอยเด่นจากผู้ที่เข้ามาคัดเลือกจำนวนมากในบทดอน…จากเสียงร้องแนวละครเพลง และการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นอันดับต่อมา…แต่ถึงแม้เขาจะผ่านการแสดงหนังและละครมาแล้ว แต่การแสดงละครเวทีนี่ในบทที่ซับซ้อนต้องสลับไปมาถึง 3 ตัวละครนั้นเป็นสิ่งที่ผมกังวลมากเช่นกันในช่วงแรก…แต่เขาก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับอย่างน่าพอใจ

จนอีก2อาทิตย์ละครจะแสดง ผมได้ขอให้ย้ายจากห้องซ้อมที่ใต้ถุนโรงรัชดาลัย มาเป็นที่เวทีจริงเพื่อดูบล๊อกกิ้งในสเกลจริงและให้นักแสดงประเมิณการส่งพลังถึงคนดู…..ผมมาร์คบล็อกแล้วสั่งให้รันทรูทั้งเรื่องโดยไม่หยุดเพื่อจะจับเวลาความยาวด้วย

เมื่อละครจบ…..ผมอึ้ง เพราะใจหาย ละครช่างน่าเบื่อและเต็มไปด้วยการเสแสร้งอะไรขนาดนั้น!!! เวลา10อาทิตย์ที่เหนื่อยซ้อมกันมาในห้องซ้อมที่ผมเห็นว่ามีการพัฒนาในทุกด้านโดยลำดับ.ทำไมผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้เมื่อลองบนเวทีจริง คนที่โดนหนักสุดวันนั้นคือเจมส์!

 

 

………ผมตะโกนขึ้นไปจากที่นั่งว่างเปล่าในโรงละครที่นักแสดงและทีมงานทั้งหมดรอฟังคอมเม้นท์อยู่บนเวทีเต็มเสียง….เฟค!! อย่าเล่นจำอวด อย่าเสแสร้งให้ผมดูอีก!! แล้วก็ลุกออกจากโรงละครไป

…….เจมส์ก็น่ารักรีบตามมาขอคำปรึกษาอย่างไม่มีอีโก้ ด้วยความรู้สึกผิดที่ตัวผมเองโวยวายไม่เข้าท่า..ผมจึงรีบคิดหาวิธีให้เขาจับการแสดงที่ดีมาเป็นหลักยึด..จากภูมิหลังของเขาเอง^^..ก็นับว่าโชคดีมากที่ได้ผล

หลังจากนั้นการแสดงของเจมส์ก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็วจนผมไม่มีอะไรจะอธิบายต่อแล้ว…เมื่อตัวแสดงเข้าใจตัวละครแล้ว ยิ่งแสดงก็จะยิ่งเข้าใจและแสดงออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา มีสีสัน ตัวแทนโลกแห่งความฝันได้บรรลุสู่เป้าหมายที่ผมต้องการแล้ว ยิ่งเรื่องพาไปให้เขาเป็นฝ่ายชนะ ชัยชนะของโลกแห่งอุดมคติก็มองอยู่เห็นๆ…..ตัวแย้งคือโลกแห่งความจริงก็จำต้องเพิ่มการแย้งให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก…เมย์

 

 

เมย์เป็นนักแสดงอาชีพที่มีความสามารถสูง เป็นนักเต้นที่ฝึกฝนมาแต่เล็ก และเป็นนักร้องที่เคยออกเทปมาแล้ว…..แต่ปัญหาของเมย์คือ อ่านภาษาไทยไม่คล่อง และสำเนียงพูดออกจมูกแบบฝรั่ง ความเข้าใจในบทละครภาษาไทย ที่แปลงมาแนวกวียิ่งยากกับความเข้าใจภาษาของเธอ…ต้องใช้ผู้ช่วยผมทั้ง2คนผลัดกันติวแยกเรื่องการออกเสียง และความหมายของศัพท์ระหว่ารอคนอื่นซ้อมอยู่ตลอดเวลา ….แต่ก็เห็นพัฒนาการอย่างที่ไม่มีอะไรน่าวิตก

ในการรันทรูครั้งแรกที่ผมไม่พอใจการแสดงของเจมส์นั้น เมย์กลับเป็นผู้แสดงที่เล่นได้ดีที่สุดในรอบนั้น…ทำให้ผมเบาใจมาก………แต่ .

…มีแต่อีกแระ ฮือๆๆๆๆ..ก่อนการแสดงเพี่ยง 1 อาทิตย์ เมย์ก็มาบ้างไม่มาบ้างผิดกว่าที่เคย…แล้วจู่ๆเธอก็ไม่มาไปเลย!!!

จนวันซ้อมใหญ่วันแรกและวันที่2ก็ยังหาตัวไม่พบ จนผมต้องเชิญคุณภัทราวดีที่รู้จักกันอยู่มาช่วยตามหาลูกสาวเธออีกแรง!!

ในการซ้อมต้องใช้ตัวแสดงแทนหรืออันเดอร์สตัดดี้ ซึ่งในการทำละครเวทีต้องมีอยู่แล้วสำหรับบทนำ ในกรณีที่นักแสดงหลักประสบปัญหาแข้งขาหักแสดงไม่ได้…

ผมเองเคยประสบปัญหามาแล้วในการทำละครเวทีเรื่อง “แค้น”เมื่อผู้แสดงนำฝ่ายชายไปมีเรื่องชกต่อยจนตาปิดปากฉีกจนพูดไม่ได้!!! วันก่อนการแสดงรอบสุดท้าย!!! ….รู้ก่อนการแสดงเริ่มไม่กี่ชั่วโมง ไม่มีตัวแทน…………ผมต้องโดดขึ้นไปเล่นเอง!! ทุกข์ทรมานมาก แม้ว่าผกก.จะรู้จักบทดีที่สุด แต่ใช่ว่าจะจำบทได้เพราะไม่ใช่หน้าที่….. เล่นไปก็ต้องหันไปเรียก”บทๆ”จาก ผกก.เวทีตลอด ทุลักทุเลมาก….จนละครจบไปได้แทบหมดสติ อิอิ….จึงต้องมีอันเดอร์สตัดดี้ในละครเพลงใหญ่อย่างนี้

 

 

แม้ผู้แสดงแทนจะทำให้การซ้อมใหญ่ในละครสู่ฝันดำเนินไปได้ทั้ง 2 วัน แต่ข้อเสียคือนักแสดงที่เล่นอยู่ด้วยก็จะไม่มีการพัฒนาในแง่ความสัมพันธ์กับตัวละครด้วยกัน ชนิดเล่นให้เข้าขากันได้เพราะต่างไม่คุ้นและรู้ว่าเป็นตัวแทน….ซึ่งจะเกิดกับผู้ที่หายไปด้วยเช่นกันทั้งแง่ความสัมพันธ์และแง่ความต่อเนื่องของการทำความเข้าใจในตัวละคร…..

 

เมย์ มาเมื่อการซ้อมใหญ่วันสุดท้ายก่อนการพรีวิวกับผู้ชมจริงในวันรุ่งขึ้น เมื่อละครความยาวสองชั่วโมงครึ่งเล่นไปแล้วครึ่งชั่วโมง!! ผู้ช่วยมารายงานผมว่าจะให้ขึ้นไปเล่นหรือให้ดูจนจบแล้วค่อยคุย….ให้เขาไปเปลี่ยนชุดและขึ้นไปแสดงทันที ผมบอก…เพราะนี่เป็นโอกาสสุดท้ายของทั้งเขาและผม ที่จะให้คุ้นกับเสื้อผ้า ฉาก และเทคนิคที่เมื่อยืนผิดจุดอาจเป็นอันตรายได้!!!

 

ยังจำหน้าเจมส์และนักแสดงอื่นๆที่กำลังเล่นอยู่กับอีกคนหนึ่ง…อยู่ๆหันมา ก็เจอเมย์ออกมาเล่นตามบทบาทไปได้ไม่เคยลืม……555   เป็นอารมณ์ประหลาดใจสดๆของทุกคนที่แปลกมาก…..หากเป็นละครตลกที่เตรียมมาเช่นนี้คงจะฮาระเบิด…แต่ในความเป็นจริงตอนนั้น มีแต่ความเครียด ความหวั่นไหว และ ความเครียดอีก เท่านั้น

 

ผมไม่ได้พูดถามอะไรในกรณีที่หายไปกับเมย์อีกเลย เพราะถามไป รู้ไปก็ไม่มีประโยขน์อะไร ละครเล่นพรุ่งนี้แล้ว แลไปข้างหน้าดีกว่า…มีแต่ผู้ช่วยผมมารายงานว่า..เรื่อง”ส่วนตัว”!!!!

 

แล้วก็เป็นดังคาด การพัฒนาการแสดงและความเข้าใจตัวละครของเมย์นั้นไม่ใช่แค่หยุดกับที่ก่อนหายไป แต่ถอยหลังไปมาก และไม่อาจพัฒนาขึ้นมาให้ทันเท่าเทียมเจมส์และคนอื่นๆก่อนม่านจะปิดลงไปได้ อย่างน่าเสียดายยยย

 

 

 

เมื่อตัวแทนฝ่ายโลกแห่งความจริง..ได้พ่ายแพ้ตัวแทนโลกแห่งอุดมคติ คือ ความถูกต้องและความดีงาม ไปเสียตั้งแต่ม่านยังไม่ทันเปิดแล้ว…..ละครจึงจบด้วยอุดมคติเป็นฝ่ายชนะตามบทที่เขียนมา ทำให้เกิดความโล่งอารมณ์แก่ผู้ชมได้ไม่ยากเย็นอะไร…ด้วยประการฉะนี้ครับ ^______^

 

ปกสูจิบัตรปี 2530

ปกสูขิบัตรปี 2551

สูจิบัตร 2551

 

บทส่งท้าย….เมื่อคุณศรันย์ ซึ่งเป็นนักแสดงคนเดียวที่แสดงนำในบทเดียวกัน จากสู่ฝันฯ 30 – สู่ฝันฯ 51 ที่พอจะรู้ว่าผมคาใจอะไรบ้าง จึงกลับมาทำอีกครั้ง..เดินเข้ามาถามผมเมื่อละครเรื่องนี้กำลังแสดงอยู่ว่า

“เป็นไงครับ…หายคาใจรึยัง”

“ตายตาหลับแล้ว…” ผมตอบ^

 

 

หมายเหตุ ขอบคุณคุณยุทธนา มุกดาสนิท ที่อนุญาตให้นำข้อมูลมาเผยแพร่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *