บังเอิญพลัดหลงมาในดงคนยาก หรือสุดยอดของดนตรีคือทานบารมีที่พึงสร้าง

บังเอิญพลัดหลงมาในดงคนยาก  หรือสุดยอดของดนตรีคือทานบารมีที่พึงสร้าง

 

 

เจตนา  นาควัชระ

 

For our friends who do not read Thai, please see a summary of the review by Chetana Nagavajara at the end of this article.

 

นักฟังเพลงหรือผู้รับงานศิลปะไม่ว่าในสาขาใดในบ้านเรามักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา(ชวนเชื่อ)  พวกเราถนัดนักที่จะเขียนโฆษณาการแสดงล่วงหน้าในรูปของพรีวิว (preview)เสียจนผู้อ่านบางครั้งนึกว่าเป็นการวิจารณ์ (review) การแสดงที่เกิดขึ้นแล้ว  ไม่ว่าศิลปินจะมีฝีมือฉกาจสักเพียงใด  ไม่ว่าการแสดงในครั้งนั้นจะยอดเยี่ยมสักเพียงใด  ถ้าผู้จัดไม่โหมโฆษณาอย่างสุดๆ แล้วละก็  อย่าหวังเลยว่าสยามเมืองยิ้มจะให้ความสนใจ  ของดีที่ตกมาถึงมือเราก็คงจะต้องเรียกได้ว่าเป็นการพลัดหลงมาในดงคนยาก ซึ่งในที่นี้หมายถึงความยากไร้ทางวัฒนธรรม  ทั้งๆ ที่พื้นฐานดั้งเดิมเปี่ยมด้วยความมั่งคั่งในด้านนี้  การจะสู้กับความมักมากในสิ่งบันเทิงของยุคปัจจุบัน  ซึ่งมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบนั้น  ไม่มีอะไรดีกว่าการที่ผู้รับเชื่อใจตนเอง โดยไม่ต้องสนใจการโฆษณาใดๆ ทั้งสิ้น  รับประสบการณ์ที่ผ่านมา  แล้วก็ผ่านไป ด้วยใจที่เปิดกว้าง  และไม่ช้าไม่นานนักก็จะค้นพบด้วยตัวเองว่า  แม้แต่ในเรื่องของการรับงานศิลปะจากต่างแดน  ตนก็เป็นที่พึ่งแห่งตนได้  ก็เช่นเดียวกับการอ่านหนั้งสือนั่นแหละ  ขณะนี้มีผู้คัดกรองให้เราเสร็จหมดแล้วด้วยการโปะรางวัลไปให้แก่หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง  และผู้ที่ยังอ่านหนังสืออยู่ในสังคมนี้  ก็มักจะมีโอกาสได้อ่านแต่เฉพาะเรื่องที่ได้รับรางวัล  นานๆ ครั้งจะพลัดหลงเข้าไปในร้านหนังสือที่มีหนังสือหลากหลายให้เราเลือกเอง และก็อาจจะเอื้อให้เราได้ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ในทางวรรณศิลป์ที่ผู้อื่นค้นไม่พบก็ได้  การแสวงหาเช่นที่ว่านี้แหละ คือการต่อสู้กับความยากไร้ทางวัฒนธรรมของสังคมไทยร่วมสมัย

ใครก็ตามที่พลัดหลงเข้าไปฟังการแสดงดนตรีคลาสสิกในคืนวันที่ 29 กันยายน 2554 ณ หอประชุมมหิศร  ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่  ก็เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ได้รับโชคโดยมิได้คาดฝัน  สำหรับตัวผมเองต้องออกแรงในเชิงกายภาพมากทีเดียวกว่าจะพาสังขารอันอ่อนเปลี้ยไปถึงเมืองเมกกะแห่งคีตศิลป์แห่งนั้นได้  และฝนเจ้ากรรมก็มักจะชอบตกอย่างรุนแรงทุกครั้งที่มีการแสดงดนตรีคลาสสิก  ณ ที่นั่น  มีอยู่ครั้งหนึ่งฝนไม่ตก  แต่รถติดแบบอภิมหาอมตะนิรันดรกาล  จนทำให้ผมต้องเกาะมอเตอร์ไซค์จากสถานีรถใต้ดินพหลโยธินไปถึงที่นั่นจนได้  ผมฟังเพลงคลาสสิกมานานทั้งในบ้านเราและในประเทศตะวันตก  และตะวันออก เช่น  โตเกียว และฮ่องกง  แต่ประสบการณ์ในคืนวันที่ 29 กันยายน จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการแสดงดนตรีคลาสสิกที่ประทับใจผมมากที่สุดในชีวิต  ผมกำลังกล่าวถึงการแสดงเชลโล่คอนแชร์โต้ (Cello Concerto) ของอันโทนิน  ดวอชาค (Antonin Dvořák)  โดยนักดนตรีชาวอิตาเลียน  ลุยจิ  ปิโอวาโน (Luigi Piovano) ร่วมกับวงดนตรีของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา  ซึ่งมีวาทยกรชาวอังกฤษ เลโอ
ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) เป็นผู้กำกับวง  ในระยะสามสี่ปีมานี้  ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยที่กรุงเบอร์ลิน  และก็มักจะใช้โอกาสนั้นข้ามไปเยี่ยมเพื่อนที่ลอนดอนทุกครั้ง  จึงไม่ลังเลที่จะกล่าวด้วยความมั่นใจว่า  การแสดงของปิโอวาโนที่หอประชุมซึ่งลักษณะทางอุโฆษวิทยาไม่ดีนักที่ถนนรัชดาภิเษกในคืนนั้น  มาตรฐานสูงกว่าการแสดงทั้งหลายทั้งปวงที่ผมได้ยินมาในระยะหลังในมหานครทั้งสองมากนัก  ผมคงจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงของนักเชลโล่ผู้นี้  เพราะคาดว่าจะมีผู้รู้ที่เล่าเรียนมาทางดนตรีบางท่านเขียนวิจารณ์การแสดงครั้งนี้อยู่แล้ว  แต่ผมจะให้ทัศนะของผู้รักสมัครเล่นไว้เป็นหลักฐานว่า  บ้านเราก็ใช่ว่าจะอับโชคไปเสียในทุกๆ เรื่อง  ผมเคยได้ฟังนักเชลโล่ระดับโลกมาแล้วหลายคน  อาทิ อันโทนิโอ  ยานิโกร (Antonio Janigro) มิติสลาฟ  รอสโทรโปวิช (Mstislav Rostropovich) ปิแอร์  ฟูร์นิเอ (Pierre Fournier) และเมื่อไม่กี่ปีมานี้  มิชา  ไมสกี้ (Mischa Maisky) ก็มาแสดงที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ผมไม่ได้รักใคร่หรือชิงชังใครเป็นพิเศษเลย  แต่ก็ต้องยืนยันว่าคุณปิโอวาโนเบียดนักเชลโล่รุ่นพ่อและรุ่นพี่ตกเวทีไปได้อย่างไม่ยากนัก  คุณูปการของปิโอวาโนเป็นไปในหลายทาง

ในขั้นแรก  เขารับใช้ดวอชาคได้อย่างปราศจากที่ติ  เขาย้ำแสดงให้เห็นว่าคอนแชร์โต้บทนี้เป็นดุริยางคนิพนธ์ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ สมดังที่คีตกวีรุ่นพี่ของดวอชาค คือ โยฮันเนส  บราห์มส์ (Johannes Brahms) ได้กล่าวชมไว้ว่า  “ถ้าฉันรู้ว่ามีคนเขียนคอนแชร์โต้สำหรับเชลโล่ได้อย่างนี้ละก็  ฉันคงเขียนขึ้นมาด้วยตัวเองเสียนานแล้ว”  มันเป็นคำชมที่ดวอชาคจดจำไปตลอดชีวิต  และมันก็เป็นคำคมที่ยังฝังใจผมมาอยู่ตลอดเวลา  ศักยภาพของเครื่องดนตรีชิ้นนี้แสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ในงานของดวอชาค ไม่ว่าจะเสียงต่ำหรือเสียงสูง  ไม่ว่าจะเสียงดังหรือเสียงค่อย ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า  ไม่ว่าจะเล่นให้ซึ้งหรือเล่นให้ร่าเริง  เครื่องดนตรีชิ้นนี้ทำได้หมด (หมายความว่า  นักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ในครั้งนี้ทำได้หมด)  เสียงของเครื่องดนตรีที่เผยแสดงออกมาในคืนวันที่ 29 กันยายนนั้น  เป็นเสียงที่หลากหลาย  บางตอนฟังแล้วแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้  เพราะความลึกของเสียงฝังตัวเข้าไปในส่วนลึกของหัวใจผู้ฟัง  ไม่มีคำพูดใดที่จะพรรณนาประสบการณ์นี้ได้  และก็คงไม่มีเทคนิคการบันทึกเสียงใดที่จะสร้างปรากฏการณ์นี้ซ้ำได้เช่นนั้น  ผมอดคิดถึงคำคมของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส  ชาโตบริอองด์ (Chateaubriand)  ไม่ได้ว่า “ดนตรีที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้นฟังแล้วชวนเศร้า  แม้ว่ามันจะพยายามแสดงออกซึ่งความสุขก็ตาม”  ผมไม่เคยได้ยินเสียงเชลโล่ในหลายๆ แบบเช่นนี่ที่ปิโอวาโนเล่นให้เราฟังได้  แม้แต่ในช่วงที่เขา“อัด”อย่างเต็มที่  ก็หาได้ก่อให้เกิดความหยาบกร้านแต่ประการใดไม่  แต่กลับกลายเป็นความหนักแน่นของอารมณ์  แปลกที่ว่าในช่วงที่ต้องการความสามารถทางเทคนิคที่สูงมาก  เขาเล่นได้ถึงขั้นที่ผู้ฟังส่วนใหญ่ลืมไปเลยว่าเทคนิคคืออะไร  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างดูจะลงตัว  และเสียงที่ออกมาก็ดูราวจะเป็นไปโดยธรรมชาติ  ความยิ่งใหญ่ของดนตรีอยู่ที่ความหลากหลาย  ในคอนแชร์โต้บทเดียวที่มีสามกระบวนนั้น  ความหลากหลายมิใช่เป็นความหลากหลายเฉพาะในแต่ละกระบวน  แต่เป็นความหลากหลายที่แฝงอยู่ในเนื้อในของดนตรี และแสดงออกมาให้เราได้รับฟังอย่างต่อเนื่องไม่มีขีดจำกัด  ถ้าดวอชาคยังมีชีวิตอยู่และได้ยินชายหนุ่มที่มาจากดินแดนอันแสนไกลจากแคว้นโบฮีเมียบ้านเกิดของเขา  คือจากอู่อารยธรรมริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  เขาอาจจะหยิบโน้ตเพลงทั้งเล่มออกมา และเขียนคำอุทิศลงไปบนหน้าแรกว่า “แด่ชายหนุ่มผู้รู้ใจข้าพเจ้า  ดีกว่าตัวข้าพเจ้าเองเสียด้วยซ้ำ”

ผมเริ่มต้นกล่าวถึงความหลากหลายในเรื่องของเสียงเป็นลำดับแรก  แต่เสียงในงาน
ดุริยางคนิพนธ์มิใช่เสียงที่ดำรงอยู่ในสภาวะของเสียง แต่เป็นเสียงที่บอกกล่าวประสบการณ์มนุษย์ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ทางอารมณ์  เราจะต้องไม่ลืมว่าดนตรีตะวันตกถ่ายทอดด้วยวัฒนธรรมลายลักษณ์  ผู้แต่งบันทึกผลงานของเขาเป็นตัวโน้ตออกมา  ผู้แสดงรุ่นหลังไม่เคยได้มีโอกาสได้พบกับผู้แต่ง  สิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำให้ได้ก็คือการอ่านใจผู้แต่งให้ออก  จริงอยู่ความต่อเนื่องของการแสดงจากรุ่นเก่ามาสู่รุ่นใหม่ย่อมมีอยู่  และนักดนตรีทุกคนก็เป็น “ศิษย์มีอาจารย์” เยี่ยงศรีปราชญ์ของเราทั้งสิ้น  แต่ในท้ายที่สุดแล้ว  การแสดงเป็นเรื่องของการตีความ  ซึ่งเป็นผลมาจากการครุ่นคิดพินิจนึกและการศึกษาตัวบท   ซึ่งผู้แสดงหลอมรวมกับการหยั่งรู้ด้วยสัญชาตญาณ  ที่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนจำต้องมี  และคงไม่มีผู้ใดบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้  ปิโอวาโนมีคุณสมบัติทั้งสองประการนี้อย่างครบถ้วน  เขาคงได้ไตร่ตรองและได้ทดลองแสดงมาแล้วอย่างโชกโชนว่ามีอารมณ์ประเภทใดบ้างที่แฝงอยู่ในเนื้อในดุริยางคนิพนธ์บทนี้  ที่เขาจะต้องนำมาเสนอด้วยเสียงของเครื่องดนตรี  การแสดงในคืนวันที่ 29 กันยายน  พิสูจน์ให้เห็นว่าดวอชาคเป็นผู้ที่เข้าถึงจิตใจมนุษย์และมีเครื่องมือเครื่องไม้ของดุริยางคศิลป์ที่ยืนยันให้เห็นได้ว่า  จิตของมนุษย์นี้ไซร์ (มิได้) ยากแท้หยั่งถึง

ผู้โชคดีทั้งหลายที่ได้ชมและฟังการแสดงไปพร้อมกันในคืนวันนั้นคงจะเห็นได้ว่า  การแสดงดนตรีส่วนหนึ่งเป็นกิจกรรมเชิงกายภาพ และลักษณะทางกายภาพของผู้แสดงก็บอกถึงบุคลิกภาพของเขาได้เช่นกัน  ส่วนที่น่าสังเกตมากก็คือ  ช่วงที่วงดนตรีเล่นนำ  หรือเล่นระหว่างช่วงที่นักเชลโล่พักการแสดงเดี่ยวเป็นตอนๆ นั้น  ปิโอวาโนไม่ได้พักทั้งร่ายกายและจิตใจ  เขาฟังดนตรีที่ผู้อื่นเล่นอย่างใจจดใจจ่อ  บางครั้งก็โยกตัวเล็กน้อยตามไปด้วย  เหมือนกับจะดื่มรสของดนตรีที่ผู้อื่นกำลังเล่นนั้นมาเสริมการเล่นของเขาเองเมื่อโอกาสมาถึง  ลีลาของเขาชวนให้ผมคิดถึง ลอร์ดเยฮูดิน  เมนูฮิน (Lord Yehudi Menuhin)  ผู้ซึ่งปิโอวาโนเคยติดตามไปแสดงดนตรีร่วมด้วยในวง Camerata Lysy (ตั้งชื่อตามผู้อำนวยการของสถาบันดนตรี International Menuhin Music Academy – IMMA) บางครั้งปิโอวาโนอดไม่ได้ที่จะใช้มือกำกับวงไปด้วย ทั้งๆ ที่หันหลังให้กับวง (ปิโอวาโนเป็นวาทยกรที่มีความสามารถสูงเช่นกัน)  เขาสำนึกดีว่าเขากำลังเล่นคอนแชร์โต้  ไม่ใช่เป็นการแสดงเดี่ยวแต่ผู้เดียว  และต้องเล่นให้เข้ากับวงดนตรีให้ได้  เขาจึงช่วยวาทยกรทำงานไปด้วยเพื่อที่ผู้แสดงเดี่ยวกับวงดนตรีจะได้ประสานกันแนบสนิท (ผมได้ยินมาว่าในการซ้อมครั้งแรกนั้น  เขาขออนุญาตหันหน้าเข้าหาวงเลย)

เมื่อพูดถึงอารมณ์แล้วก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า  การเล่นดนตรีร่วมกันนั้น  คือ การส่งกระแสอารมณ์สู่กัน  สังเกตได้อย่างชัดเจนจากเสียงที่เราได้ยินจากวงดนตรีของสถาบันกัลยาณิวัฒนา  และจากท่าทางและสีหน้าของนักดนตรีในวงว่า  พวกเขาได้รับแรงดลใจโดยตรงจากศิลปินเดี่ยวผู้นี้  ทำให้พวกเขาตอบสนองการเชื้อเชิญของปิโอวาโนอย่างสุดฝีมือ  อันที่จริงวงดนตรีวงนี้ถือว่าเป็นวงเฉพาะกิจ  เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่าเป็น crash orchestra  คือรวมตัวกันมาเล่นเพื่องานนี้  นักดนตรีรุ่นผู้ใหญ่คือสมาชิกของ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ผนวกด้วยอาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร  และนักศึกษาและนักเรียนอีกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งยังมีประสบการณ์ในการเล่นวงซิมโฟนีค่อนข้างน้อย  แต่ทุกอย่างสำคัญที่ใจ  ถ้าใจสวามิภักดิ์เสียแล้ว  ฝีมือก็ตามมาเอง  น่าประหลาดใจที่ว่า  วงดนตรีเฉพาะกิจบรรเลงได้ราวกับวงดนตรีถาวรที่เล่นด้วยกันมาแรมปี  ปิโอวาโนเป็นผู้ที่มีบุคลิภาพที่โดดเด่น  และเปี่ยมด้วยวัฒนธรรม  รู้จักวางตัวอย่างเหมาะสม  ทำให้นักดนตรีรู้สึกเป็นกันเองกับเขา  และก็ไม่ยากที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับเขาในด้านอารมณ์ความรู้สึก  อันส่งผลให้เกิดเอกภาพในการบรรเลง (ลูกศิษย์ชาวไทยที่เคยเรียนภาคฤดูร้อนกับเขารู้ดีว่าเขาเป็นครูถ่ายวิชาให้ได้ด้วยวิธีการที่เป็นธรรมชาติเพียงใด)  นั่นคือคุณูปการที่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่จะฝากให้ไว้กับผู้ที่มอบใจให้แก่ดนตรี  แม้จะต่างชาติ  ต่างภาษา  ต่างวัฒนธรรมกัน  แต่ก็สื่อกันได้ด้วยภาษาของดนตรี

เมื่อผู้คนปรบมือกันสนั่นหวั่นไหวเมื่อจบการบรรเลงเชลโล่คอนแชร์โต้  ปิโอวาโนก็เล่นเพลงแถม (encore) ที่เป็นการแถมที่ประหลาด  เพราะเขาเลือกเอาเพลงที่ต้องเล่นให้เบาที่สุดจึงจะได้รส  และความเบาของการเล่นเชลโล่ก็กลายเป็นตัวกำกับให้ผู้ฟังในหอประชุมต้องรักษาความเงียบราวกับว่าคนเล่นกับคนฟังกำลังร่วมกันประกอบศาสนบูชาทีเดียว  เขาเล่นเพลงพื้นบ้านที่มาจากงานวิจัยของบิดาของเขา  ผู้ซึ่งเป็นนักดนตรีและชอบทำงานประเภทเดียวกับ เบลา  บาร์ทอค (Béla Bartók) ในการเก็บรวบรวมเพลงพื้นบ้านจากชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลวัฒนธรรมเมือง  เขาเหล่านั้นยังรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของผู้ที่อยู่ติดกับโลกแห่งธรรมชาติเอาไว้ จนถึงกับมองเครื่องอัดเสียงที่ผู้วิจัยถือติดมือไปว่าเป็นปีศาจ (devil) เสียด้วยซ้ำ  เพลงที่นำมาเล่นเป็นเพลงกล่อมเด็ก  เป็นเพลงของคนยากที่พร่ำวิงวอนเทวดาองค์แล้วองค์เล่าให้ลงมาโปรดพวกเขาบ้าง  ปิโอวาโนเล่นไปพร้อมกับฮัมเพลงบางตอนไปด้วย  เป็นประสบการณ์ที่ซาบซึ้งกินใจเสียจนเราคงต้องกล่าวว่า  ถ้าเล่นนานกว่านั้น  ผู้ฟังส่วนใหญ่ในหอประชุมก็คงจะผ้าเช็ดหน้าเปียกกันไปตามๆ กัน  ก่อนจะบรรเลงเขากล่าวสั้นๆ แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมจากอุทกภัยในประเทศไทย  และผลที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือกล่องรับบริจาคที่ผู้จัดการแสดงนำมาตั้งไว้หน้าเวทีนั้นมีธนบัตรอยู่เต็มในตอนสิ้นสุดช่วงพักครึ่งเวลา

ผมขออนุญาตไม่วิจารณ์การแสดงในช่วงที่สอง  ซึ่งเป็นการแสดง Symphony No. 5 in E flat major, Opus 82 ของ ฌอง ซิเบลิอุส (Jean Sibelius) ทั้งนี้เพราะญาติสนิททำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง  คงจะกล่าวแต่เพียงว่า วงดนตรีดูจะแผ่วลงไปบ้าง  หลังช่วงพักครึ่งเวลา  ราวกับว่าได้มอบกายถวายชีวิตให้กับดวอชาคไปหมดแล้ว

ปิโอวาโนจะเดินทางต่อไปเพื่อแสดงคอนเสิร์ตอีกหลายครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น  รวมทั้งจะแสดงเชลโล่คอนแชร์โต้บทนี้ด้วย  ผมก็ได้แต่ภาวนาว่า  ขอให้ผู้รักดนตรีชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสดีเท่ากับผู้ฟังไทยที่ดั้นด้นไปที่หอประชุมมหิศรในคืนนั้นบ้าง  ดนตรีมิใช่เครื่องจักรกล  นักดนตรีคนเดียวกันบรรเลงเพลงเดียวกัน  แต่ต่างกรรมต่างวาระกัน  มาตรฐานก็อาจจะแตกต่างกันได้ เราในฐานะผู้ฟังจึงควรจะให้โอกาสกับตัวเองที่จะได้ฟังการแสดงจริงให้บ่อยครั้งที่สุด  พร้อมที่จะเสี่ยงว่าการแสดงอาจจะออกมาดี หรือไม่ดีก็ได้  แต่ผมใคร่จะขอกล่าวซ้ำว่าประสบการณ์การฟังดนตรีที่สร้างความปีติให้กับผมที่สุดในชีวิตเกิดขึ้นในเมืองไทยเรานี่เองแล้วหลายครั้ง  ผมยังไม่ลืมการแสดงของนักไวโอลินชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌอง ปิแอร์  วัลแลส (Jean-Pierre Wallez) ในตอนบ่ายวันหนึ่งในปี 2527  ณ สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) รายการนั้นแทบไม่มีการโฆษณาและก็มีคนฟังไม่เต็มห้อง  แต่ผมไม่เคยได้ฟังการแสดงเดี่ยวไวโอลินร่วมกับเปียโนที่ซาบซึ้งกินใจเช่นนั้นเลย  เช่นเดียวกับการแสดงเดี่ยวเปียโนของนักดนตรีชาวรัสเซีย คือ  มิคาอิล  เพลทเนฟ (Michaïl Pletnev) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 ซึ่งผมได้เขียนบรรยายไว้แล้วโดยพิสดาร (ดูหนังสือ จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์, หน้า 201-207) ผมต้องสารภาพว่า ผมอาจจะพลาดรายการดีๆ ไปบางรายการแล้วก็ได้  เพราะถ้ามีประชาสัมพันธ์อย่างหนัก  ผมมักจะเกิดอคติว่าสิ่งนั้นไม่ดีจริง  สำหรับ ลุยจิ  ปิโอวาโน  นั้นเคยมาแสดงดนตรีในเมืองไทยหลายครั้งแล้ว และก็เคยมาช่วยสอนในรายการฝึกอบรมภาคฤดูร้อนให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร  แต่เนื่องจากครั้งนี้ผู้จัดไม่มีทุนในการโฆษณา  จึงมีผู้ที่ได้รับประสบการณ์จากการแสดงของเขาน้อยเกินไป เป็นที่น่าประหลาดใจว่าหอประชุมมหิศรนั้น  แม้จะอยู่ไกล  การเดินทางไปก็ไม่สะดวกสำหรับผู้ที่ไม่มีพาหนะของตนเอง  แต่ทุกครั้งที่มีการแสดงดนตรีคลาสสิก  จะมีผู้คนรวมทั้งเยาวชนจำนวนมากไปฟังอยู่เป็นประจำ  ซึ่งต่างจากสถานที่แสดงอีก 2 แห่ง  ซึ่งได้เสนอดนตรีคลาสสิกประเภทเชมเบอร์ที่มีคุณภาพสูงมากอยู่เนืองๆ   แต่กลับไม่มีผู้สนใจไปฟัง  นั่นคือพระราชวังพญาไท และโรงแรม Four Seasons ถนนราชดำริ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวคงจะอธิบายได้ยากด้วยเหตุผลในทางดนตรี  เพราะคงจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและพฤติกรรมทางสังคมมากกว่า  ถ้าเราจะขอบคุณลุยจิ  ปิโอวาโน ให้ดีที่สุด  ก็คงจะต้องกล่าวว่า  เขาได้สร้างทานบารมีให้แก่มิตรผู้ที่รักดนตรีในบ้านเมืองแห่งหนึ่ง (ที่กำลังจะป่าเถื่อนลงไปทุกที)  และหวังว่าคอนเสิร์ตครั้งต่อไปคงจะอยู่ในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้

นี่ถ้าเขาเป็นชาวอเมริกันและมีผู้จัดการที่จัดเจนในด้านการตลาดระดับนานาชาติ   ป่านนี้เขาคงดังทะลุฟ้าไปแล้ว  และทีมงานของเขาก็คงจะมองไม่เห็นว่าประเทศไทยอยู่บนแผนที่โลกก็ได้

 

 

————————-

For our friends who do not read Thai, here is a summary of the review by Chetana Nagavajara

A chance for the culturally deprived: the ultimate goal of music is an act of selfless giving

A concert given by the Galyani Vadhana Institute Orchestra, conducted by Leo Phillips, in the rainy evening of 29 September 2011 at the Mahisorn Hall of the Siam Commercial Bank turned out to be a musical experience of a lifetime. The Italian solo cellist, Luigi Piovano, transformed Dvořák’s Cello Concerto into a rare spiritual experience, whereby the range of emotions created by the composer was matched by the range of expressions and tonal varieties at the command of the musician. The perfect rapport between the orchestra and the soloist proved beyond any doubt that Piovano could inspire this “crash” ensemble, half of which consisted of young students, to excel beyond its normal capacity.

Piovano responded to the audience’s ovation with a lullaby from the Abruzzo region, played with an almost unheard-of pianissimo and accompanied by the soloist’s occasional humming, a heart-rending rendition that transformed the hushed concert hall into a holy communion.

The reviewer maintains that just by strokes of luck, the deepest musical experiences he has had in his long life of classical concert-going have been performances given by visiting artists in Thailand. There could be no greater act of giving than music-making by artists whose artistry is conveyed through selflessness.

God job that Piovano is not managed by, say, a business-minded tycoon with worldwide connections, or else his management would not have deigned to recognize this culturally impoverished political boiling pot called Thailand!

—————-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *