สุปรีติ อังศวานนท์ กับ BSO: กว่าจะมาถึง Horn Concerto ของโมสาร์ต
สุปรีติ อังศวานนท์ กับ BSO: กว่าจะมาถึง Horn Concerto ของโมสาร์ต
วฤธ วงศ์สุบรรณ
ผมมีความโชคดีประการหนึ่ง คือแม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักดนตรีหรืออยู่ในแวดวงดนตรีคลาสสิกโดยตรง แต่ก็ได้รู้จักนักดนตรีคลาสสิกจำนวนไม่น้อยเลย ทั้งที่เป็นครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่และดาวรุ่งพุ่งแรง ทำให้ได้ทราบเหตุการณ์ความเป็นไปต่างๆในวงการได้มากพอสมควร นักดนตรีคนหนึ่งที่ผมค่อนข้างนิยมชมชอบคือ สุปรีติ อังศวานนท์ ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้ากลุ่มฮอร์นของวง BSO และอาจารย์ประจำของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมชื่นชมทั้งในแง่ฝีมือและความคิด เป็นผู้ที่รอบรู้ทั้งในด้านดนตรีและบริบทต่างๆ ของวงการดนตรีทั้งในและนอกประเทศเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อทราบข่าวว่า อ.สุปรีติ จะบรรเลงเดี่ยว Horn Concerto No.4 ของ Mozart ซึ่งเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดเพลงหนึ่งของเพลงฮอร์นทั้งปวง กับวง Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้รับฟังเป็นอย่างยิ่ง
ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านั้นผมได้ติดตามการแสดงของ อ.สุปรีติ มาในหลายวาระ เช่น Horn Trio ของ Brahms, Woodwind Quintet, Horn Recital และ Horn Concerto No.3 ของ Mozart (เฉพาะกระบวนแรก ซึ่งเล่นกับ BSO เช่นกันที่สวนลุมพินี) รวมไปถึงผลงานการอำนวยเพลงกับวง Silpakorn University Wind Orchestra ทำให้ผมรู้สึกว่าฝีมือของ อ.สุปรีติ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ผมอยากขอเล่าถึง Horn Recital ของ อ.สุปรีติ ซึ่งการบรรเลงในวันนั้นผมคิดว่ามีมาตรฐานสูงมาก บทเพลงที่อาจารย์เลือกมาบรรเลงก็มีความหลากหลาย เช่น Horn Concerto No.3 ของ Wolfgang Amadeus Mozart (1756-1791, คีตกวีชาวออสเตรีย), Romance Op.35 No.6 ของ Reinhold Glière (1875-1956, คีตกวีชาวรัสเซีย) (ร่วมกับ อ.สุมิดา อังศวานนท์ น้องสาว อ.สุปรีติเอง) , Appel Interstellaire ของ Olivier Messiaen (1908-1992, คีตกวีชาวฝรั่งเศส) และ Trio for Horn, Violin and Pianoของ Erik Ewazen (1954- , คีตกวีชาวอเมริกัน) (ร่วมกับ อ.ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ และ อ.ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา) อยากตั้งข้อสังเกตว่า การที่อาจารย์เริ่มต้นด้วยโมสาร์ตนั้น ประการหนึ่งนั้นเป็นการ “เรียกลูกค้า” ด้วย เพราะเป็นเพลงที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้รักดนตรีคลาสสิก แต่อีกประการหนึ่งคือต้องการแสดงออกถึงความไพเราะลึกซึ้งของดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะในยุคคลาสสิกด้วย ส่วนในเพลงต่อๆ มา ถือว่าเป็นการ “เปิดประสบการณ์ใหม่” ให้แก่ผู้ฟัง ที่อาจจะไม่คุ้นเคยองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ของฮอร์นมากนัก โดยเฉพาะ Appel Interstellaire นั้นถ้าได้ฟังแล้วจะรู้สึกว่าฮอร์นทำเสียงได้หลากหลายมาก และอาจารย์ก็สามารถถ่ายทอดความแตกต่างหลากหลายของเสียงฮอร์นได้อย่างดีเยี่ยม เป็นเพลงที่ต่างจากโมสาร์ตโดยสิ้นเชิง ส่วน Trio ของ Ewazen นั้น ก็เป็นการแสดงถึงความจัดเจนในการเล่นเชมเบอร์มิวสิคของอาจารย์ โดยที่ได้รับแรงหนุนจากนักดนตรีชั้นหนึ่งเช่นกัน ทำให้บรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยมและมีชีวิตชีวา ส่วนการแสดงที่สวนลุมพินีนั้น ผมยังคิดว่าสถานที่แบบนั้นทำให้เสียงค่อนข้างออกมาไม่ดีนัก แต่อาจารย์ก็ยังสามารถรักษามาตรฐานการบรรเลงไว้ได้ อาจมีหลุดบ้างเล็กน้อย แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความงดงามของเสียงฮอร์นที่แม้จะผ่านเครื่องขยายเสียงก็ยังไพเราะอยู่
ส่วนการแสดงในครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2559 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในรายการแสดงนั้น นอกจากจะมี Horn Concerto No.4 แล้ว ยังมี Symphony No.1 in D major Op.25 ของ Sergei Prokofiev (1891-1953, คีตกวีชาวรัสเซีย), Overture to Don Giovanni ของ
โมสาร์ต และ Symphony No.101 in D major (The Clock) ของ Joseph Haydn (1732-1809, คีตกวีชาวออสเตรีย) สังเกตได้ว่าเพลงที่แสดงจะตรงกับชื่องานคือ “Classical Concert” ส่วนซิมโฟนีของโปรโคเฟียฟนั้นก็มีชื่อเล่นว่า “Classical Symphony” ซึ่งแม้ว่าจะแต่งในสมัยศตวรรษที่ 20 และมีเสียงสำเนียงที่เป็นสมัยใหม่ แต่ก็เป็นความตั้งใจของคีตกวีที่จะยึดรูปแบบของซิมโฟนีของยุคคลาสสิกเอาไว้ เข้าใจว่าผู้ที่เลือกเพลงนี้มาแสดงคงจะมีความตั้งใจให้ผู้ฟังได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่เปรียบเทียบกับเพลงครูของยุคคลาสสิกในรายการเดียวกัน
ในบทเพลงแรก Classical Symphony ของโปรโคเฟียฟ ผมรู้สึกว่าวงยังเล่นได้ไม่ออกนัก วาทยกรรับเชิญ วิม สไตน์มันน์ (Wim Steinmann) พยายามแยกเสียงของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน สังเกตได้จากการที่แยกไวโอลิน 1 กับไวโอลิน 2 ไว้ตรงข้ามกัน เพื่อให้ได้ยินรายละเอียดของทั้งสองกลุ่มนี้มากขึ้น (แต่กลับเป็นว่าในบางช่วงได้ยินไวโอลิน 2 เล่นได้แน่นกว่าไวโอลิน 1 เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วงที่เล่นเสียงสูงๆ ดูกลุ่มไวโอลิน 1 จะขาดเอกภาพอย่างบอกไม่ถูก) กลุ่มเครื่องลมไม้ก็ฟังดูไม่ค่อยประสานสอดคล้องกันนัก ยิ่งพอเสียงไม่กลมกลืนก็ทำให้ได้ยินจุดบกพร่องไปด้วย (อย่างไรก็ตามมีผู้เล่นคนหนึ่งที่ผมรู้สึกสะดุดตาเป็นพิเศษ คือนักดับเบิลเบสรับเชิญชาวญี่ปุ่น ซึ่งดูมีความสุขในการเล่นแทบตลอดเวลา ทั้งยิ้มอย่างอารมณ์ดีให้กับเพื่อนร่วมวงและวาทยกร) โดยรวมผมคิดว่าเพลงนี้อาจจะต้องซ้อมมากกว่านี้จึงจะเล่นได้ดีขึ้น
แต่พอในเพลงถัดมาคือ Horn Concerto ซึ่ง อ.สุปรีติเป็นผู้แสดงเดี่ยวนั้น วง BSO กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างน่าแปลกใจ เล่นร่วมกับนักแสดงเดี่ยวของเราได้อย่างกลมกลืนและไพเราะ เสียงของวงแน่นและมีพลังขึ้น ในส่วนนักฮอร์นของเรานั้น เขาเล่นด้วยความมั่นใจ เสียงของเขาไพเราะ กังวาน ออกไปในทางหวานมากกว่าฮึกเหิม (ซึ่งผมคิดว่าอาจถอดแบบมาจากบุคลิกส่วนตัวของผู้แสดงเดี่ยวเอง) ซึ่งทำให้ผมรู้สึกชอบกระบวนที่ 2 (Romanza Andante) เป็นพิเศษ ในกระบวนแรกช่วงที่วงหยุดเล่น และเปิดโอกาสให้ผู้แสดงเดี่ยวได้อวดฝีมือ ในรูปของ cadenza ซึ่งท่อนนี้แต่งโดย James Sommerville อาจารย์ของ อ.สุปรีติเอง ผมคิดว่าสามารถใช้ทำนองหลักมาขยายความได้อย่างหลากหลาย ซึ่ง อ.สุปรีติบรรเลงได้ดีมาก แต่รู้สึกอย่างหนึ่งว่าน่าจะรุกเร้าหรือดุดันกว่านี้อีกเล็กน้อย ส่วนกระบวนที่ 3 นั้น รู้สึกว่าในช่วงประโยคยาวๆ ตอนขึ้นต้นนั้น อาจารย์จะตัดท่อนตรงกลางเพื่อหายใจ ทำให้ปลายโน้ตสุดท้ายของประโยคแรกเสียงเบาไปเล็กน้อย (ทราบเพิ่มเติมมาว่าเป็นความจงใจของผู้แสดงเดี่ยวที่ต้องการไม่ให้ต่อเนื่องเป็นประโยคเดียวกัน ซึ่งจะทำให้รู้สึกราบเรียบเกินไป) แต่โดยรวมอาจารย์เล่นได้อย่างไพเราะและมีพลัง ผมคิดว่าถ้าท่านผู้อ่านต้องการฟังเสียงฮอร์นที่งดงามและฟังแล้วสบายใจ โปรดติดตาม อ.สุปรีติในรายการต่อๆ ไปอย่าได้พลาด
มาในครึ่งหลัง วงเริ่มต้นด้วย Overture จากอุปรากรเรื่อง Don Giovanni ซึ่งเป็นผลงานอุปรากรชิ้นเอกอีกเรื่องหนึ่งของโมสาร์ต (ถ้าท่านจำทำนองได้จะพบว่าบทโหมโรงนี้จะขึ้นต้นด้วยทำนองช่วงสุดท้ายของเรื่อง ตอนที่รูปปั้นท่านผู้บัญชาการลุกขึ้นจากหลุมมาหาดอน โจวานนี) วง BSO ของเราเล่นเพลงนี้ได้อย่างน่าฟัง มีชีวิตชีวา วงเริ่มตื่นขึ้นจากฮอร์นคอนแชร์โตของโมสาร์ตแล้ว และก็ต่อเนื่องมาถึงเพลงนี้ เสียงของเครื่องสายและเครื่องเป่าลมไม้ดีขึ้น เครื่องเป่าทองเหลืองก็มีบทบาทมากและสร้างความหนักแน่นให้กับวงได้เป็นอย่างดี และทุกกลุ่มสอดประสานกันได้อย่างลงตัว
ส่วนเพลงสุดท้ายของรายการคือ Symphony No.101 ของไฮเดน (ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “The Clock” เนื่องจากมีกระบวนที่ 2 ที่มีจังหวะและลีลาเหมือนการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา) ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งซึ่ง BSO เล่นได้อย่างดีมาก เครื่องสายดีขึ้นกว่าในเพลงแรกของครึ่งแรกอย่างชัดเจน ช่วงที่บรรเลงในกระบวนที่ 2 ก็ทำได้ดีมาก ทั้งกลุ่มไวโอลิน 2 ซึ่งดีดสาย (pizzicato) ให้จังหวะของเพลง กับกลุ่มไวโอลิน 1 ที่เล่นในเสียงสูงๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนกระบวนที่ 3 ที่มีฟลูตบรรเลงเดี่ยวก็ทำได้น่าฟังมาก รวมไปถึงเครื่องเป่าอื่นๆ ที่ก็บรรเลงได้อย่างลงตัว สังเกตได้ว่าวง BSO สามารถจับวิญญาณของเพลงยุคคลาสสิกได้ดีมาก มีชีวิตชีวา มีจังหวะจะโคน และมีสไตล์ที่ฟังแล้วเป็นคลาสสิก โดยที่ตอบสนองในการกำกับวงของวาทยกร วิม สไตน์มันน์ ได้เป็นอย่างดี
มีวาทยกรชาวไทยท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าวง BSO เล่นเพลงยุคคลาสสิกอย่างไฮเดนและโมสาร์ตได้ดีมาก ในขณะที่วงอื่นๆ ในบ้านเราอาจจะไม่ค่อยได้เล่นเพลงยุคคลาสสิกบ่อยนัก หรือไม่ก็เป็นยุคคลาสสิกตอนปลายที่คาบเกี่ยวกับยุคโรแมนติคอย่างเบโธเฟน ตรงนี้อาจจะทำให้นักดนตรีของ BSO มึความคุ้นเคยกับยุคคลาสสิกมากเป็นพิเศษ ซึ่งผมก็เห็นด้วยบางส่วน เพราะในรายการแรกของ Classical Concert ครั้งแรกของปีนี้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ก็บรรเลงทั้งโมสาร์ตและไฮเดนอย่างละ 2 เพลง ถ้าเราจะอธิบายอย่างนี้ก็คงจะเป็นเหตุผลว่าทำไมวงจึงเล่นโปรโคเฟียฟได้ไม่ดีนัก แต่ผมกลับคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องนี้แต่เพียงอย่างเดียว วาทยกรมีส่วนอย่างยิ่งในการปรับให้วงเล่นได้อย่างเข้ากัน ยิ่งเพลงที่มีจังหวะที่ค่อนข้างยากอย่าง Classical Symphony ยิ่งต้องมีการซ้อมที่เข้มข้น และวาทยกรต้องรู้ศักยภาพของนักดนตรี ว่าต้องแก้อย่างไรจึงจะทำให้การเล่นออกมาดีได้ ผมยังคิดว่าวาทยกรประจำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับวงออร์เคสตรา แฟนเพลงคลาสสิกในบ้านเราเห็นฟ้องกันว่ายุคทองของ BSO คือช่วงที่ฮิโคทาโร ยาซากิ (Hikotaro Yazaki) เป็นวาทยกรประจำให้กับวงอยู่ร่วม 10 ปี วงระดับแนวหน้าของโลกก็มีวาทยกรประจำกันทั้งนั้น BSO คิดว่าตัวเองอยู่ในระดับเดียวกับ Vienna Philharmonic กระนั้นหรือ
อีกประการหนึ่งที่น่าสังเกตคือจำนวนผู้ชมที่แม้แต่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่เต็ม แม้ว่าจะมีคนมาฟังค่อนข้างหนาตา มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน แม้แต่นักแสดงเดี่ยวชาวไทยก็ได้โอกาสบรรเลงในหอประชุมใหญ่ และก็มีผู้ฟังถึงประมาณ 2 ใน 3 ของหอประชุมใหญ่เลยทีเดียว ไฉนปัจจุบันผู้ฟังกลับลดน้อยลงจนน่าใจหาย ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ใช่เกิดขึ้นที่ BSO ที่เดียว แม้แต่ TPO ก็ยังมีปัญหาเรื่องผู้ชมในบางรายการก็น้อยอย่างน่าตกใจเช่นกัน (แต่ในกรณีวงซิมโฟนีของจุฬาฯ กลับพบว่าที่นั่งเต็มจนแทบต้องยืนชม) เราผู้ฟังก็คงต้องช่วยกันบอกต่อกันไปด้วย ในอีกทางหนึ่งนักวิชาการดนตรีก็อาจจะช่วยแนะนำคอนเสิร์ตที่กำลังจะแสดงในเร็วๆ นี้ได้ด้วย ทั้งเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ฟังและกระตุ้นให้เกิดความสนใจอยากฟังด้วย ซึ่งอาจทำได้ในหลากหลายสื่อ ในปัจจุบันโลกอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างสูงในการดึงดูดให้มหาชนเข้ามาสนใจดนตรี ลำพังการโปรโมทเพียงแค่โปสเตอร์หรือใบปลิว (ทั้งแบบกระดาษจริงและภาพในโซเชียลมีเดีย) ที่เป็นภาพนิ่งอาจไม่เพียงพอเสียแล้ว แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของจุฬาฯ ที่ไม่เก็บค่าเข้าชม เก็บนิสิตนักศึกษาคนละ 50 บาทก็ยังดี เพราะเมื่อพวกเขาไปดื่มกาแฟกันที่ห้างเลิศหรูคนละฝั่งกับสยามสแควร์นั้น 100 บาทยังไม่อยู่เลย!