วงดนตรีคือสายใยแห่งมิตรภาพ

วงดนตรีคือสายใยแห่งมิตรภาพ

Supreeti Ansvananda

เจตนา  นาควัชระ

          ผมห่างเหินจากวง BSO ไปนาน  แต่เมื่อได้กลับไปฟังวงนี้อีกครั้งเมื่อคืนวันที่ 27  มีนาคม 2559  ผมก็ได้รับประสบการณ์ค่อนข้างประหลาด  รายการเริ่มต้นด้วย Classical Symphony  ของ Prokofiev  ซึ่งทำให้ผมใจหายใจคว่ำว่าจะไปรอดหรือไม่  วาทยกรรับเชิญ Wim Steinmann พยายามจะเน้นความโปร่งใสและความสามารถของส่วนต่างๆ ของวง  จึงยิ่งทำให้เห็นข้อบกพร่อง  แต่พอ “คนใน”  คือ สุปรีติ  อังศวานนท์  หัวหน้าเฟรนซ์ฮอร์นขึ้นเวทีมาเพื่อเดี่ยว  Horn Concerto ของ Mozart เท่านั้น  วงตื่นขึ้นมาทันที  สำหรับผู้แสดงเดี่ยวนั้น  ไว้ใจได้ว่าเล่นได้อย่างสมภาคภูมิ  เสียงฮอร์นของเขาหลากหลายและไพเราะมาก  (ผมได้ทึ่งในฝีมือของ
สุปรีติมาแล้ว  เมื่อเขาออกแสดง Horn Trio ของ Brahms  เมื่อปีที่แล้ว)  โดยเฉพาะตอน cadenza  น่าประทับใจมาก (เจ้าตัวแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน  บอกกับผมหลังการแสดงว่าวืดหลายครั้ง  แต่ผมไม่เคยคิดว่าเราจะต้องทำตัวเป็นเครื่องจักรกล  Lord Yehudi Menuhin ก็วืดบ่อยเหมือนกัน  แต่ในด้านความลึกซึ้ง  มีใครสักกี่คนที่ทาบท่านได้)  ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ  เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไรว่า  คนเล่นฮอร์นปลุกเพื่อนเขาทั้งวงให้ตื่นได้

Win Steinman

          เมื่อเครื่องร้อนแล้ว  รายการครึ่งหลังจึงบรรเลงได้มาตรฐาน  สำหรับ Overture  จากอุปรากรเรื่อง Don Giovanni  นั้น  วงเล่นตามที่วาทยกรต้องการ  แต่ผมว่านักดนตรีที่ไม่รู้จักอุปรากรทั้งเรื่อง  (แม้จะฟังจากการอัดเสียงก็ยังดี)  จะไม่เข้าใจว่าเพลงโหมโรงต้องการอะไร  ความพิเศษของงานชิ้นนี้ก็คือ  การที่ Mozart สามารถทำคนเลวให้พราวเสน่ห์ได้  เพื่อที่ตอนเขาลงนรกจะได้ฝังใจคนดู/คนฟัง  (Mozart ถึงกับขนแตร trombones ออกมาช่วยถล่มในตอนท้ายเรื่อง  ซึ่ง Mozart ไม่ค่อยใช้เครื่องดนตรีนี้)  แต่จุดสูงสุดของการบรรเลงครั้งนี้  คือ Symphony No. 101 in D major  (The Clock) ของ Haydn ต้องยอมรับว่าวงเล่นอย่างมีสไตล์  บทจะเข้มก็คม  บทจะอ่อนก็ละเมียด  แต่มันก็ยังไม่ใช่วงที่อยู่ในระดับที่ Ikotaro Yazaki  ได้สร้างเอาไว้เมื่อกว่าทศวรรษมาแล้ว  เพราะก็ยังมีขึ้นๆ ลงๆ ในงานชิ้นเดียวกัน  หรือบางครั้งแม้แต่ในกระบวนเดียวกัน  ผมอดย้อนหลังกลับไปคิดถึง Symphony No. 3 ของ Beethoven และ Symphony No. 4 ของ Brahms  ที่ BSO เล่นกับ Yazaki  ไม่ได้  ซึ่งยังฝังใจผมอยู่มาจนทุกวันนี้

ผมยังเชื่อว่า  วงอย่าง BSO ต้องการวาทยกรประจำ  นักดนตรีกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวในด้านของความรู้สึกสูงมาก  สูงกว่าวงคลาสสิกอื่นๆ  แต่จะต้องมีใครสักคนที่สร้างความคงที่ในมาตรฐานการบรรเลงให้แก่พวกเขา  เพียงแค่หัวหน้ากลุ่มฮอร์นยังช่วยทำหน้าที่นี้ได้เลย    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  นักดนตรีระดับหัวหน้ากลุ่มของ  BSO ออกแสดงดนตรีประเภทเชมเบอร์ที่จุฬาฯ  ได้อย่างน่าทึ่ง  (โดยไม่ยี่หระว่าจะมีคนมาฟังสักกี่คน!)  ผมเหมาเอาว่าเพราะเราเล่นด้วยกันมาในวง  พอผันมาเป็นกลุ่มเล็กก็ยิ่งสมานไมตรีกันได้ดียิ่งขึ้น  สายใยแห่งมิตรภาพคือแก่นของวงดนตรี  ผมไม่ได้ฝันไป  ผมได้ยินอย่างนั้นจริงๆ  ไม่เชื่อคำของมิตรก็แล้วไป

(ขออนุญาตเขียนสั้นๆ เพียงเท่านี้  ฉบับยาวจะเป็นงานของคุณวฤธ  วงศ์สุบรรณ ผมไม่ทราบว่าเขาจะเขียนแบบไหน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *