บทปัจฉิมวิจักษ์ เพราะรัก…จึงถักคำร้อย (4)
บทปัจฉิมวิจักษ์
เพราะรัก…จึงถักคำร้อย (4)
อภิสันต์ ทัศนาญชลี
11 พฤษภาคม 2559
MOZART SONATAS
‘พรพรรณ-ทัศนา’ ช่างหาญกล้านำมาเล่น
เวลาเย็นย่ำใกล้ค่ำของวันระหว่างฤดูร้อนที่ลากล้ำมาถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 แม้จะสื่อถึงความผิดปกติของธรรมชาติ แต่หากยังไม่สามารถลบเลือนความฉงนที่เกิดจากความพลุกพล่านของผู้คนในแวดวง ดนตรีคลาสสิก รวมตัวรอเวลาอย่างแน่นขนัดอยู่ในร้านกาแฟชื่อดังซึ่งตั้งอยู่เคียง สยามสมาคม สถานที่จัดการแสดงดนตรีคลาสสิกรายการ The Mozart บทประพันธ์ของ Wolfgang Amadeus Mozart คีตกวีอัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่จากยุคคลาสสิก ซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดด้วยการบรรเลงของ อาจารย์ ทัศนา นาควัชระ นักไวโอลินผู้จงรักในการบรรเลงดนตรีเชมเบอร์ ควงคู่มากับ ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษา นักเปียโนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยกัน ที่ร่วมงานกับอาจารย์ทัศนามาอย่างช่ำชอง จนสามารถจะกล่าวได้ว่า เป็น ‘Duo’ ที่จับคู่กันได้เหมาะสมที่สุดคู่หนึ่งในวงการดนตรีเชมเบอร์ของไทยในปัจจุบัน
ด้วยเพราะไม่ค่อยมีใครนิยมนำบทเพลง Sonata ออกมาแสดงต่อสาธารณะให้ได้ฟังกันบ่อยๆ เนื่องจากเป็นการบรรเลงแบบเชมเบอร์ ซึ่งไม่เลิศอลังการเท่าการแสดงคอนแชร์โตร่วมกับวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าขนาด ใหญ่ และยิ่งเป็นบทเพลงของ Mozart ที่นักดนตรีต่างยอมรับกันว่า ‘ยากยิ่ง’ ด้วยแล้ว จึงกล้าเกริ่นไว้ได้ว่า ‘พรพรรณ-ทัศนา ช่างหาญกล้านำมาเล่น’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
การที่จะหาญเล่นบทเพลง Sonata ของ Mozart จะต้องเป็นนักดนตรีที่มีความรัก และ ชื่นชมผลงานของ Mozart ถึงขนาดจะต้องใช้ธรรมที่เรียกว่า อิทธิบาท ๔ อันประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา เป็นหลักยึดเหนี่ยวกันเลยทีเดียว ซึ่งนอกเหนือจากจุดเด่นที่ Mozart ริเริ่มเขียนเพลง Sonata ให้ไวโอลิน และ เปียโน มีบทบาทเสมอกัน ปรองดองกัน และมีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนการเล่นกีฬาประเภทคู่ หรือที่เรียกกันว่า equal partnership แล้ว บทประพันธ์ของ Mozart ยังล้นไปด้วยอารมณ์ที่แปรปรวนแบบฉับพลัน จากรุนแรงเป็นหวานฉ่ำชั่วพริบตา จึงทำให้ผู้แสดงต่างจะต้องให้ใจซึ่งกันและกัน และฟังกันตลอดเวลา จึงจะสามารถบรรเลงได้อย่างสอดคล้อง ต้องจังหวะ ตามอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างงดงาม
นับเป็นความโชคดีโดยบังเอิญของผู้ฟังในการจัดแสดงครั้งนี้ ที่อาจารย์ทัศนา นาควัชระ อาศัยจังหวะเวลาก่อนหน้าการแสดง 1 ชั่วโมง เชิญคณะกรรมการพิจารณาบทวิทยานิพนธ์การศึกษาระดับปริญญาเอก ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารับฟังการเสนอรายงานที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ มาผนวกเป็น Pre-concert Talk ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปูพื้นความรู้และความเข้าใจในเรื่อง ราวชีวิตของ Mozart ที่ทำให้ได้ล่วงรู้ถึงขีวิตที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งในเรื่องความรัก การครองชีพที่ลุ่มๆดอนๆแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ตลอดถึงความขัดแย้งกับบิดาที่คอยกำหนดชะตาชีวิต และรวมไปถึงความขัดแย้งกับเจ้านายที่สร้างความอึดอัดให้กับการทำงานของ อัจฉริยะ และที่เหนือกว่าสิ่งใด ก็คือการที่ อาจารย์ทัศนาได้เปิดเผยเบื้องหลังของการฝึกซ้อมบทเพลง Sonatas ของ Mozart ที่กล่าวกันว่า เป็นบทเพลงที่มีความสง่างามด้วยลีลาเชิงชั้น และการสื่ออารมณ์เพลงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘Great Sonatas’ อันอุดมด้วยคีตอัตตลักษณ์ที่โดดเด่น เจิดจ้าด้วยคีตจินตนาที่ลึกล้ำ และสาดฉายด้วยแสงแห่งอัจฉริยะอย่างยากที่จะหาใครเทียบเทียม
ห้องต่อห้อง บางครั้งต้องสมานเป็นสองให้สอดคล้องเพื่อสนองคีตวลีที่ตีความได้จากงานของ ผู้ประพันธ์ การร่วมกันค้นหาอัตราความเร็วของท่วงทำนองให้รองรับกับอารมณ์ร้อยเรียง ตลอดไปถึงสำเนียงทั้งหนักเบา และสั้น-ยาว ในการที่จะสาวไปสู่การบรรเลงบทเพลงที่มีอายุกว่า 230 ปี คือ ‘งานยาก’ ที่เหล่าผู้ฟังต่างพากันชื่นชมในความตั้งใจมั่นของ อาจารย์ทัศนา และอาจารย์พรพรรณ ที่อุทิศเวลาให้กับการวิเคราะห์ เพื่อมุ่งสู่ความเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น ในการที่จะแสดงผลงานประพันธ์ของคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ของโลก ต่อหน้าผู้ฟังที่พากันมาเป็นประจักษ์พยานอย่างล้นหลามห้องประชุมของ สยามสมาคม อย่างที่คงจะไม่ปรากฏบ่อยครั้งนัก
เมนูเพลงที่ถูกจำหลักไว้บนกระดานดำ ด้วยลายอักษรสีขาวของชอล์ค สื่อให้คล้อยคิดไปถึงความตั้งใจของผู้ปรุงแต่งที่จะใบ้บอกว่า รายการอาหารที่นำมาเสนอ เป็นรายการอาหารพิเศษของวันนี้ (Today’s Special) ที่น่าเสพสมเป็นยิ่งนัก
WOLFGANG AMADEUS MOZART
SONATAS FOR PIANO AND VIOLIN
SONATA IN F MAJOR K.377
SONATA IN E-FLAT MAJOR K.380
SONATA IN G MAJOR K.379
SONATA IN F MAJOR K.376
รายการ เพลงที่จัดแสดงขึ้นในครั้งนี้ เป็นบทเพลงจากชุด Sonatas 6 บทของ Mozart ที่ประพันธ์ขึ้นในช่วงแรกที่ย้ายไปพำนักที่เวียนนา ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่า Mozart กำลังเริ่มรื่นรมณ์กับอิสรภาพที่ได้เป็นตัวของตัวเอง หากแต่ก็ยังคงครองคราบของความหม่นหมองแห่งรอยอดีตที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ อาจารย์ทัศนาได้เลือกเฟ้นมาแสดงเพียง 4 บทเพลง และจัดร้อยเรียงสลับหมายเลขลำดับของเพลงให้เหมาะสมกับการฟังอย่างมีอรรถรส
Sonata in F Major K.377 ได้รับการจัดวางให้เป็นเพลงประเดิมเริ่มต้นด้วยความหนักแน่น ประดุจดังเพลงโหมโรง และเสมือนดังจะจงใจใช้บทเพลงนี้เป็นการอุ่นเครื่อง และปรับคุณภาพของเสียงจากเปียโนให้กลมกลืนกับเสียงไวโอลิน ซึ่งแสดงในห้องที่มีจำนวนผู้ฟังถึง 100 คน ด้วยความคุ้นเคยจากการบรรเลงดนตรีเชมเบอร์ทำให้ทั้งอาจารย์ทัศนา และอาจารย์พรพรรณ ใช้เวลาแค่เพียงการบรรเลงกระบวนแรก ก็สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจนในการบรรเลงกระบวนที่ 3 ในลีลา Tempo di Menuetta ว่า สามารถเล่นเข้ากันได้อย่างแม่นยำ
พลันที่เครื่องร้อน Sonata in E-flat Major K.380 ตาม มาเป็นบทเพลงที่สอง เพื่อสนองอารมณ์เพลงที่เร่งเร้า สลับหนักเบา วูบวาบ กระชับกระชั้น หั่นช่วงทำนองวลีเพลงดุจบั่นสายบัวไม่ให้เหลือเยื่อใยจากเสียงที่เกิดจากการ ชงักปลายคันชักของนักแสดงไวโอลิน จนได้รับการปรบมือจนเสียงลั่นห้องก่อนที่จะหยุดพักครึ่งการแสดง
หลัง จากได้พักเหนื่อยจากการที่ทั้งพูดระหว่าง Pre-concert Talk เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง และต่อเนื่องด้วยการแสดง 2 บทเพลงในช่วงที่ 1 อาจารย์ทัศนาก้าวคืนกลับสู่เวทีด้วยรอยยิ้มพร้อมกับ อาจารย์พรพรรณ เพื่อเริ่มบรรเลงคอนเสิร์ตช่วงที่ 2 ด้วย Sonata in G Major K.379 ซึ่ง เป็นบทเพลงที่ประกอบด้วยเพียง 2 กระบวน หากแต่ในกระบวนที่ 2 เป็นการนำเสนอ Variations 5 ตอน ในเพลงสำคัญบทนี้ อาจารย์ทัศนา ได้โอกาสแสดงศักยภาพที่โดดเด่นในความเป็น ‘พ่อค้าขนมหวาน’ ด้วยการเปิดหัวเพลงที่หวานระรื่นชื่นใจด้วยท่วงลีลาจังหวะ Adagio และปรับแปลกไปสู่ Allegro ก่อนที่จะเคลื่อนกระบวนเข้าสู่ท่อนที่ 2 ด้วยท่วงจังหวะ Andantino Cantabile ด้วยการยืนนิ่งเป็นขุนเขา ปล่อยให้นักเปียโนบรรเลงเดี่ยวนำดั่งเค้าโครงบทเพลง Cannon in D ของ Johann Pachelbel เพื่อรอเวลาสอดสวน แลกเปลี่ยนบทสนทนา ต่อปากต่อคำด้วยคารมหลากหลายรูปแบบ แสดงออกมาทางเทคนิคการดีดสายเคล้าคลออย่างกระหนุงกระหนิง ไม่ทิ้งความเจนจัด ที่ส่อให้เห็นชัดถึงความช่ำชองของ Mozart ที่เชี่ยวชาญในการประพันธ์บทโอเปร่า อาจจะกล่าวได้ว่า Sonata K.379 เป็นตัวอย่างของบทเพลงในรูปแบบพรรณนา (descriptive) อย่างชัดเจน
Sonata in F Major K.376 ได้รับการวางตำแหน่งให้เป็นไม้ตายไม้สุดท้าย ที่จะอวดให้เห็นถึงการปรับโฉมบทเพลง Sonata ให้ไวโอลิน และเปียโน เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทเสมอภาคเทียมกัน เป็นการปฏิวัติรูปแบบเดิมที่เคยให้บทบาทเด่นเพียงเครื่องมือใดเครื่องมือ หนึ่งเพียงเครื่องมือเดียว ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบของการประพันธ์เพลง Sonata ต่อเนื่องมาจนถึงนักประพันธ์รุ่นหลัง บทเพลงสุดท้ายของรายการ The Mozart Project Part 2: The Early Viennese Sonatas จึงเป็นบทเพลงที่ ‘เข้าทาง’ ของผู้แสดงที่ต่างพรั่งพร้อมด้วยความสามารถทั้งในทางเทคนิค และความเจนจัดในการสื่ออารมณ์เพลงได้อย่าง ‘เอาอยู่’ จะเห็นได้ชัดจากอากัปกริยาของอาจารย์ทัศนา ที่สื่อภาษากายด้วยการก้าวย่าง ถ่ายน้ำหนักปลายเท้าไปมา ดังเริงลีลาศ ด้วยสีหน้าที่เอิบอิ่มเปล่งประกายสีชมพูเรื่อดุจดังคีตเทพสราญเริง พราวเพลิงเมื่อยามร้อนแรง สนุกสนาน กรีดหวานสอดซ้อน ยอกย้อนรองรับทำนองด้วยความชัดเจนของเสียงโน้ตครบถ้วนทุกตัว
เสียงปรบ มือดังกึกก้องพลันเสียงโน้ตตัวสุดท้ายสิ้นสุดลงอย่างฉับพลัน ความชื่นชมอย่างถล่มทลายกลายเป็นสัญญาจากผู้ชมอย่างชัดเจนว่า ดนตรีเชมเบอร์ที่แสดงในห้องเล็กๆ แต่ด้วยความยิ่งใหญ่จากฝีมือและความตั้งใจที่จะเชิดชูในศิลปะที่งดงามของ ทั้งนักดนตรีและนักประพันธ์ จะได้รับการสนับสนุนและอุ้มชูจากผู้ฟังให้ดนตรีเชมเบอร์คงความเป็นคีตศิลป์ ที่ทรงคุณค่า และยังคงมีชีวิตสืบทอดต่อไป แม้ในสังคมไทยของเราที่อับจนในเรื่องศิลปะในขณะนี้
ต้องขอยอม รับว่า การมาฟัง Sonatas ของ Mozart ในครั้งนี้ มีเวลาแค่เพียงได้เห็นแจ้งว่า ‘ทำไม พรพรรณ-ทัศนา จึงหาญกล้าเอา Mozart Sonata มาเล่น’ หากจะให้สมใจทั้งผู้เขียนและผู้ฟังที่หลงรักดนตรีเชมเบอร์แล้วไซร้ ขอให้รีบกลับมาแสดง Part III ให้พวกเราได้ฟังในเร็ววันนี้ และถ้าจะให้ดี ในอนาคต น่าจะมีการแสดงโซนาตาทั้งหมดทวนอีกสักครั้ง เพื่อเหล่าผู้ฟังที่มีจิตสวามิภักดิ์จะได้เสพคีตรสจากบทเพลงของ Mozart ให้สมใจ