บันทึกประสบการณ์ดนตรีจากค่าย SSMS (2016) จากนักเรียนไวโอลินคนหนึ่ง
บันทึกประสบการณ์ดนตรีจากค่าย SSMS (2016) จากนักเรียนไวโอลินคนหนึ่ง
(Facebook SSMS)
ธันฐกรณ์ ลัคนาศิโรรัตน์
บทนำ
ผมมีความรู้สึกอยากเข้าร่วมกิจกรรมค่าย SSMS ขึ้นมาทันที เมื่อได้ทราบว่า ฮิโคทาโร ยาซากิ จะมาเป็นวาทยกรให้กับค่ายนี้ เพราะว่าอาจารย์ยาซากิเคยเป็นวาทยกรประจำของวงซิโฟนีกรุงเทพ และผมก็เคยฟังอาจารย์ควบคุมวงโปร มูสิกามาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้นเป็นคอนเสิร์ตที่ผมประทับใจเป็นอย่างมาก และคิดว่าจะต้องร่วมงานกับท่านวาทยกรในฐานะนักดนตรีให้ได้ ส่วนวิทยากรคนอื่นล้วนมีฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดาเช่นเดียวกัน อาทิเช่น อาจารย์ลีโอ ฟิลลิปส์ ซึ่งเคยทำหน้าที่หัวหน้าวง London Philharmonic Orchestra และเคยควบคุมวงชั้นนำของตะวันตกและของไทยมาแล้วหลายครั้ง อาจารย์ทัศนา นาควัชระ อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งฝีไม้ลายมือของอาจารย์ก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน และอาจารย์อีก 2 ท่าน ที่ผู้จัดเชิญมาจากยุโรปคือ อาจารย์ Sophia Reuter หัวหน้ากลุ่มวิโอลาของ Gewandhaus Orchestra ประจำเมือง Leipzig และอาจารย์ Sally Jane Pendlebury อดีตหัวหน้ากลุ่มเชลโลของ Philharmonia Orchestra และปัจจุบันยังเล่นประจำอยู่กับวง Chamber Orchestra of Europe การเข้าร่วมค่าย SMMS จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนพี่ และน้องนักดนตรีในค่ายด้วย อีกทั้งสถานที่ฝึกซ้อมก็มีความสวยงามช่วยให้เกิดความผ่อนคลายได้อีกด้วย
(Facebook SSMS)
ตารางการฝึกซ้อมเริ่มวันแรกที่เราไปถึง โดยเริ่มที่การรวมวงเพื่อให้ทราบว่าแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรีมีจุดเด่นจุดด้อยด้านใด และทำให้ผู้เข้าร่วมวงทราบจังหวะในแต่ละเพลงที่อาจารย์ยาซากิต้องการอีกด้วย ในวันที่ 2 เป็นการซ้อมแยกตามเซกชัน โดยมีอาจารย์ในแต่ละเซกชันเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อม ซึ่งผมฝึกซ้อมอยู่ในกลุ่มไวโอลิน 1 มีอาจารย์ฟิลลิปส์เป็นผู้ควบคุม กลุ่มนี้สบายกว่ากลุ่มอื่น เพราะซ้อมแค่ในช่วงเวลา 10:00-12:30 และช่วงเวลา 14:30-17:00 ส่วนในเซกชันอื่นมีซ้อมเพิ่มเติมในตอนค่ำด้วย
วันที่ 3 และ 4 เป็นการฝึกซ้อมเพื่อรวมกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องเป่า ทั้งในเวลาเช้าและบ่าย โดยอาจารย์ยาซากิเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมด้วยตัวเอง ในตอนค่ำเป็นการแยกซ้อมกันตามเซกชัน
วันที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นสองวันสุดท้ายของการฝึกซ้อมเป็นการรวมวงใหญ่ทั้งในช่วงเช้า บ่าย และค่ำ โดยอาจารย์ยาซากิควบคุมการฝึกซ้อม การแสดงดนตรีจะจัดขึ้นในสองวันสุดท้ายของกิจกรรมค่าย SSMS
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการควบคุมการฝึกซ้อมของอาจารย์ฟิลลิปส์คือ การเน้นเรื่องความเกาะกลุ่มของเสียง ลักษณะเสียง และเรื่องของความเป็นดนตรี ซึ่งผมสังเกตว่าอาจารย์จะไม่เน้นให้เล่นโน้ตให้ได้หรือเน้นให้นักเรียนเล่นให้ฟังทีละคน เพราะอาจารย์ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าฝึกอบรม ซึ่งในที่นี้คือการฝึกซ้อมและทำการบ้านในส่วนของเราด้วยตนเองให้ได้อย่างแม่นยำ และในส่วนของอาจารย์ยาซากิเน้นในเรื่องของจังหวะ การแสดงออก และสื่อถึงอารมณ์ของเพลงออกมา โดยไม่ค่อยเน้นในเรื่องของการสร้างเสียงลักษณะต่างๆ
สิ่งที่ได้เรียนรู้
การเล่นดนตรี
– การใช้ความคิดนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่นดนตรี การเล่นดนตรีจะต้องใช้ความคิดในหลายๆ ด้าน เช่น ระดับเสียง อินโทเนชัน การนับจังหวะ รวมถึงเทคนิควิธีการเล่นต่างๆ และการซ้อมจึงจำเป็นต้องใช้ความคิดเป็นหลัก คือ ไม่ใช่เพียงซ้อมเล่นๆ เท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าเป้าหมายการเล่นดนตรีคืออะไร และจะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้ซ้อมดนตรีแล้วมีประสิทธิภาพมากขึ้น
– การร้องออกมาเป็นเพลงมีความสำคัญเช่นกัน หากผู้เล่นดนตรีไม่สามารถร้องออกมาได้ ก็ไม่สามารถเล่นดนตรีให้ไพเราะได้ การเล่นดนตรีจึงต้องคิดด้วยว่าจะร้องอย่างไร ที่จะทำให้คนฟังชอบ และการเล่นดนตรีให้เหมือนกับที่กำลังร้องเอาไว้ในใจ
– การนับจังหวะ ผู้เล่นดนตรีต้องนับจังหวะในใจเสมอ และต้องนับย่อย หรือ subdivide ด้วย เพื่อให้จังหวะถูกต้องและแม่นยำ ไม่ช้าลงหรือเร็วขึ้น
การเล่นในวงออเคสตร้า
– ความกลมกลืนของเสียง เสียงในกลุ่มเครื่องดนตรีควรจะออกมาพร้อมกัน ไม่มีใครเล่นนำหน้ากลุ่ม หรือตามหลัง เล่นเสียงที่มีลักษณะเหมือนกัน เช่น intonation, dynamics, articulation ซึ่งหากมีใครคนใดคนหนึ่งเล่นไม่เหมือนกับคนอื่นในกลุ่ม ความกลมกลืนของเสียงก็ขาดหายไปและ ทำให้เสียอรรถรสในการฟัง
– การเตรียมตัวซ้อมส่วนตัวมาเป็นอย่างดี: การที่นักดนตรีบางคนมาเล่นอย่างไร้วินัยในการซ้อมรวมวงนั้นไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี เพราะนอกจากจะเสียเวลาของวาทยกรแล้ว ยังอาจทำให้เพื่อนร่วมวงเกิดความสับสนในโน้ตที่ต้องเล่นอีกด้วย
เรื่องอื่นๆ
– ความตรงต่อเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะสำหรับนักดนตรีและอาชีพอื่น และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรไปให้ถึงที่นัดหมายก่อนเวลานัด เพื่อเตรียมความพร้อมของตัวเอง
– การฝึกซ้อมที่ดีควรเริ่มจากซ้อมช้าๆ แต่ให้คิดเหมือนกับว่าซ้อมเร็วอยู่ สำหรับเครื่องสายคือใช้ส่วนของโบว์ ใช้นิ้วให้เหมือนกับการเล่นเร็วๆ ไม่ใช่แค่เล่นช้าแล้วลากโบว์ แต่นักดนตรีต้องคิดระหว่างที่ฝึกซ้อมด้วย
เป็นธรรมเนียมของค่าย SSMS ที่อาจารย์จะแสดงแชมเบอร์ให้นักเรียนฟัง โดยกลุ่มอาจารย์เครื่องสายได้เล่น Haydn : String Quartet No. 62 in C Major ที่รู้จักกันในชื่อ The Emperor Quartet และอาจารย์กลุ่มเครื่องเป่าได้เล่นเพลงที่หลากหลาย ทั้งจากภาพยนตร์ อุปรากร เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นการจุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนให้อยากจะพัฒนาตนได้เป็นอย่างดี
การมีวิทยากรเป็นชาวต่างชาติ ในบางครั้งเกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกันบ้าง หากไม่ถามให้เกิดความกระจ่างแล้วอาจเกิดความผิดพลาดในการบรรเลงเพลงได้ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมควรปรับปรุงฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เข้มข้นขึ้น เพื่อที่จะติดต่อสื่อสารกับวิทยากรต่างชาติได้อย่างถูกต้อง หรืออย่างน้อยนักดนตรีควรสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ เพื่อจะได้เข้าใจผู้อื่นได้ และแสดงออกความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งช่วยให้ก้าวหน้าได้ในระดับสากลอีกด้วย
สรุป
การได้เข้าร่วมค่าย SSMS ผมรู้สึกสนุก และได้รับความรู้เกี่ยวกับดนตรีที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการซ้อมส่วนตัว และการแสดงบนเวที การเล่นวงไม่ว่าจะแชมเบอร์หรือออเคสตรา รวมไปถึงการสอนผู้อื่นอีกด้วย สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตนั้นบรรเลงออกมาได้เป็นอย่างดี แม้จะยังมีข้อบกพร่องอยู่แต่ก็ถือว่าพวกเรามีความตั้งใจที่จะแสดงดนตรีให้ผู้ฟังได้รับฟังอย่างเต็มที่ ส่วนตัวผมเองเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะลองเล่นเชมเบอร์กับเพื่อน และตั้งใจว่าจากนี้จะฝึกซ้อม หาเพื่อนเล่นดนตรีเชมเบอร์กัน เพื่อให้เป็นประสบการณ์และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผมคาดหวังว่าในอนาคต วงการดนตรีในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้คนจะได้สนใจฟังดนตรีมากขึ้น และหากเทียบวงดนตรีของค่าย SSMS กับวงออเคสตราเยาวชนอื่นๆ เช่น PYO,TYO แล้ว ผมไม่จำเป็นต้องคิดเข้าข้างพวกนักดนตรีของเราเองว่า SSMS เองก็มีฝีไม้ลายมือไม่แพ้อีก 2 วงอย่างแน่นอน ผู้ที่ได้ไปฟังการแสดงครั้งนี้คงจะคิดไม่ต่างจากผม
(ผู้เขียนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)