Transcribing Schubert : โปรมูสิกากับการแสดงผลงานชูเบิร์ตฉบับเรียบเรียงใหม่
Transcribing Schubert : โปรมูสิกากับการแสดงผลงานชูเบิร์ตฉบับเรียบเรียงใหม่
วฤธ วงศ์สุบรรณ
หากนึกถึงฟรันซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert, 1797-1828: คีตกวีชาวออสเตรีย) หลายท่านคงต้องนึกถึง Unfinished Symphony, Trout Quintet หรือเพลงร้อง (Lieder) ภาษาเยอรมันจำนวนมากซึ่งชูเบิร์ตถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานด้านนี้ และมีผลงานเหนือใครๆ ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ อย่างไรก็ตามผลงานด้านเชมเบอร์มิวสิคของชูเบิร์ตก็เป็นที่เลื่องลือเช่นกัน ทั้งในด้านความไพเราะและความหลากหลายของการผสมเครื่องดนตรี นับเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งอย่างยิ่งที่กลุ่มเชมเบอร์ชื่อดังของเมืองไทยอย่าง Pro Musica จะนำผลงานของคีตกวีคนสำคัญท่านนี้มาบรรเลงในรูปแบบวงสตริงออร์เคสตรา (วงเครื่องสายล้วน) โดยได้คัดเลือกผลงานที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดีอันได้แก่ Sonata for Arpeggione และ Death and the Maiden Quartet มาบรรเลง ในคอนเสิร์ตชื่อ “Transcribing Schubert” ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมอันตราสยาม ถนนราชดำริ
ในบทเพลงแรก Sonata in A Minor D821 “Arpeggione” เป็นบทเพลงเดี่ยววิโอลา ร่วมกับวงสตริงออร์เคสตรา ซึ่งเดิมเป็นโซนาตาสำหรับเครื่องดนตรี Arpeggione (เครื่องสายลักษณะผสมระหว่างเครื่องตระกูลเชลโลและกีตาร์ มี 6 สาย ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเล่นกันแล้ว) กับเปียโน โดยมี อ.ทัศนา นาควัชระ เป็นผู้เดี่ยววิโอลา และมีลุยจิ ปิโอวาโน (Luigi Piovanno) นักเชลโลและวาทยกรฝีมือระดับโลกเป็นผู้เรียบเรียงดนตรี
เท่าที่ผมฟัง เสียงวิโอลาของ อ.ทัศนา พุ่งออกมาเป็นอย่างดี มีพลัง ช่วงเสียงต่ำจะรู้สึกว่าหนักแน่นไพเราะเป็นพิเศษ ส่วนช่วงเสียงกลางและเสียงสูงก็งดงามดี ช่วงที่ดีดสาย (pizzicato) ก็น่าฟังยิ่ง (ตรงนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผม ซึ่งเท่าที่ผมได้สอบถามกับผู้ฟังท่านอื่นๆ บางท่านก็บอกว่าเสียงชัดเจนดี แต่บางท่านก็บอกว่าเสียงไม่ค่อยดังนัก บางช่วงก็โดนวงกลบ ผมคิดว่าอาจจะอยู่ที่ตำแหน่งที่นั่งของผู้ฟังด้วย ผมอาจจะได้เปรียบที่ได้นั่งแถวที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเวทีจนเกินไป) ส่วนวงนั้นก็มีความหนักแน่นและมีลีลาที่ไพเราะงดงาม มีทั้งความหวานและความหม่นอยู่ในที ส่วนกระบวนที่ 2 ค่อนข้างจะหวานลึกซึ้ง วงจะเปลี่ยนมาใส่เครื่องลดเสียง (mute) กันทั้งวง เพื่อขับให้วิโอลาโดดเด่นยิ่งขึ้น แม้ว่าในบทนี้จะค่อนข้างเนิบช้า แต่ก็มีบางช่วงที่เปลี่ยนลีลามาคึกคักสดใสขึ้น ส่วนในกระบวนที่ 3 ซึ่งมีจังหวะที่รวดเร็ว สนุกสนานปนขึงขังเล็กน้อย เป็นช่วงที่วิโอลาได้โชว์ลีลาที่ค่อนข้างผาดโผน ซึ่ง อ.ทัศนา ก็เล่นได้อย่างดุดัน มั่นใจ และมีความไพเราะน่าฟัง เช่นเดียวกับส่วนของวงที่เล่นเคียงคู่กันได้เป็นอย่างดี ในส่วนของการเรียบเรียงดนตรีของวงนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าปิโอวาโนนั้นนำเอาลีลาแบบอุปรากรอิตาเลียนมาแฝงไว้กับเสียงของวงได้อย่างแนบเนียนเลยทีเดียว ส่วนนักฟังท่านอื่นก็รู้สึกว่าผู้เรียบเรียงนั้นยังติดความเจิดจ้าของทะเลเมดิเตอเรเนียนอยู่มาก โดยให้ข้อสังเกตว่าชูเบิร์ตนั้นมี 2 บุคลิก ทั้งสนุกสนานและเคร่งขรึม ซึ่งดุริยางคนิพนธ์บทนี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ปิโอวาโนอาจจะให้น้ำหนักด้านสว่างมากกว่าด้านหม่น กล่าวโดยรวมแล้ว ความไพเราะนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และทำให้คิดว่าเพราะเหตุนี้นี่เองที่ทำให้บทเพลงของชูเบิร์ตยังคงความเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้
ในบทเพลงหลังคือ String Quartet in D Minor D810 “Death and the Maiden” เดิมนั้นเป็นบทเพลงสำหรับวงสตริงควอร์เต็ตแบบมาตรฐานทั่วไป (ไวโอลิน 2 ตัว วิโอลา และเชลโล) มาในรายการนี้ เป็นการนำเอาบทการเรียบเรียงของกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler, 1860-1911) คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นรุ่นหลังชูเบิร์ตกว่าครึ่งศตวรรษมาบรรเลง ต้องขออนุญาตเล่านอกเรื่องเล็กน้อย ผมเคยได้ฟังบทเพลงนี้ในการเรียบเรียงของมาห์เลอร์เช่นกันโดยวงนักศึกษาสถาบันแห่งหนึ่ง ผมคิดว่าบทเพลงนี้ยากเกินกว่าที่วงของนักเรียนหรือนักศึกษาจะเล่นได้ เพราะมีส่วนที่ซับซ้อนอยู่มากมาย แม้เมื่อฟังวงโปรมูสิกาเล่นแล้ว ก็ยังคิดว่าวงอาจจะต้องซ้อมมากกว่านี้จึงจะเล่นได้ดีในระดับมาตรฐานของเพลงอื่นๆ ที่วงเคยเล่นมา ในช่วงแรกๆ เสียงของวงค่อนข้างกระหึ่มเป็นอย่างดี กลุ่มที่ผมคิดว่าโดดเด่นเป็นพิเศษคือวิโอลา ซึ่งแม้จะมีแค่ 3 คันแต่ก็มีเสียงที่ก้องกังวานและเข้าขากันเป็นอย่างดี ส่วนเชลโลนั้นคิดว่าค่อนข้างบาง ไม่เข้มข้นนัก แต่เมื่อเล่นไปได้สักพัก เสียงของวงก็เริ่มตกลง โดยเฉพาะกลุ่มไวโอลินทั้ง 1 และ 2 ที่เสียงเริ่มไม่สม่ำเสมอในช่วงเสียงสูงๆ และยิ่งช่วงไหนที่ไม่มีเสียงดับเบิลเบสมาช่วยพยุง ก็รู้สึกว่าวงจะบางและขาดน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัด และบางครั้งเสียงของวงก็ขาดความชัดเจน เมื่อเทียบแล้วรู้สึกว่าเวอร์ชันสตริงควอร์เต็ตจะมีความคมชัดและโปร่งใสยิ่งกว่า แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าวงกลับมาเล่นได้ดีขึ้นในกระบวนที่ 3 และ 4 เลโอ ฟิลลิปส์ ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าวง และลูกทีมคงต้องทำงานหนักกันมากขึ้น ผมคิดว่าบทเพลงนี้แม้แต่วงสตริงควอร์เต็ตที่ช่ำชองยังต้องระมัดระวัง เพราะมีส่วนที่ทั้งยากและลึกซึ้งมากมาย ในส่วนของการเรียบเรียงนั้น ผมยังคิดว่ามาห์เลอร์นั้นท่านก็ไม่ได้ดัดแปลงอะไรชูเบิร์ตมากนัก เพราะเพลงนี้ก็ค่อนข้างสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ทำให้มันอลังการขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้มีสีสันที่แปลกออกไปกว่าเดิมเล็กน้อย
โดยสรุปแล้ว คอนเสิร์ตครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เราได้รับความสุขและความอิ่มเอิบใจจากบทเพลงคลาสสิกชั้นเยี่ยมโดยนักดนตรีของเราเอง และครั้งนี้ก็มีความพิเศษคือมีแขกรับเชิญชาวได้หวัน Chen-Hung Ho (วิโอลา) และTsao-Lun Lu (เชลโล) ซึ่งเป็นเพื่อนนักดนตรีของเลโอ ฟิลลิปส์ มาช่วยนำการเล่นของนักดนตรีรุ่นเยาว์ของเรา ผมคิดว่าเป็นการสร้างประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับนักดนตรีของเรา หากได้บรรเลงบทเพลงที่มีความยากและท้าทาย รวมทั้งได้ความรู้และแนวทางในการบรรเลงจากผู้ที่มีประสบการณ์ ก็จะยิ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวเองได้มากขึ้นด้วย ส่วนผมเองในฐานะแฟนเพลงของชูเบิร์ตก็รู้สึกดีที่ได้ฟังเพลงของชูเบิร์ตในสุ้มเสียงที่แปลกใหม่ไม่เหมือนต้นฉบับ แต่ก็มีความไพเราะอยู่ใม่เสื่อมคลาย และน่าจะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่ยังใหม่กับชูเบิร์ตได้มากขึ้นด้วย
สิ่งที่อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม ผมเองได้ยินมาว่าในคอนเสิร์ตครั้งนี้ สปอนเซอร์บางรายขอบัตรฟรีไปเป็นจำนวนไม่น้อย จนทำให้ผู้ฟังบางส่วนมาถึงหน้างานแล้วปรากฏว่าไม่มีตั๋วให้ซื้อ เพราะที่นั่งเต็ม จนต้องรอจนใกล้เริ่มการแสดงแล้วจึงนำที่นั่งที่ว่างมาขายให้แก่ผู้ที่รอชม ซึ่งในที่สุดแล้วก็ได้ชมกันถ้วนหน้า แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้แก่ทั้งผู้จัดและผู้ที่รอชม เหตุการณ์เช่นนี้ผมก็เคยประสบมากับหลายรายการทั้งที่เป็นรายการฟรีและไม่ฟรี โดยสรุปแล้วอยากเตือนนักฟังทั้งหลายว่า อย่าชะล่าใจในการจองตั๋ว เพราะสิ่งที่ท่านคาดไม่ถึงอาจเกิดขึ้นได้ และท่านอาจจะต้องกลับบ้านไปด้วยความผิดหวัง แต่ในส่วนของโปรมูสิกาเองนั้น นับว่าน่าปลื้มใจแทนที่มีผู้ฟังให้ความสนใจมากจนที่นั่งเต็ม และคงเป็นกำลังใจที่จะผลิดผลงานสร้างสรรค์ให้แก่แฟนๆ ในการแสดงครั้งต่อๆ ไป