Violin recital by Ryan Yee and Jessica Leong : ผู้มาเยือนฝีมือดีจากต่างแดน

Violin recital by Ryan Yee and Jessica Leong : ผู้มาเยือนฝีมือดีจากต่างแดน

13483246_1151191941617473_5105345481515470680_o

ธันฐกรณ์ ลัคนาศิโรรัตน์

 

ศาลาสุทธสิริโสภาเป็นหอแสดงดนตรีอีกแห่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความลงตัวและสมบูรณ์แบบในด้านอุโฆษวิทยาที่ยอดเยี่ยมเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบรรเลง  นอกจากนี้ด้านการตกแต่งออกแบบก็น่าสนใจ  เพราะใช้ศิลปะทั้งไทยและเทศอย่างสวยงามผมเคยมาฟังดนตรีที่ศาลาแห่งนี้หลายครั้ง  แต่ละครั้งก็จะได้ความประทับใจทั้งจากการบรรเลงดนตรีและการชมสถาปัตยกรรมอันงดงาม  และในวันที่ 12 มิถุนายน 2559  ผมมีโอกาสอีกครั้งที่ได้มาฟังดนตรีดีๆ ซึ่งบรรเลงโดยนักศึกษาจาก  Nanyang Academy of Fine Arts ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับตัวผมที่จะได้เปิดโลกทัศน์  เพราะบทเพลงที่บรรเลงในวันนี้เป็นบทเพลงที่ต้องใช้เทคนิคที่ยากมากและการตีความที่ลึกซึ้งจึงจะบรรเลงได้อย่างดี

รายการในเย็นวันนี้เริ่มต้นด้วย Rondo in C Major for Violin and Orchestraผลงานลำดับที่ 373 ของ Wolfgang Amadeus Mozart ต่อเนื่องด้วยPoème ผลงานลำดับที่ 25 ของ Ernest Chausson นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสจากยุคโรแมนติก  ตามด้วย Violin Sonata No.2 in D Major ผลงานลำดับที่ 94 ของ Sergei Prokofiev นักประพันธ์ชาวรัสเซีย  และปิดท้ายคอนเสิร์ตด้วย “ ของหนัก “ อย่าง Tzigane  ผลงานการประพันธ์ของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส Maurice Ravel บรรเลงไวโอลินโดย Ryan Yee และเปียโนโดย Jessica Leong

การแสดงเริ่มต้นด้วย Rondo in C Major for Violin and Orchestra  ผลงานของโมสาร์ต 9 Ryan Yee เริ่มต้นบรรเลงด้วยความสดใส  เสียงไวโอลินของเขาหวานและอุ่น  ฟังแล้วไม่บาดหู  ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มเขาไป  บทเพลงมีบางตอนมีการเปลี่ยนอารมณ์จากสดใสเป็นหม่นหมองลงเล็กน้อย  ราวกับโมสาร์ตได้ระบายสีดำลงไปในผลงานของเขา  ซึ่งเท่าที่ผมฟังดู Ryan เลือกที่จะไม่ทำให้ในจุดนั้นหม่นหมองจนเกินไป  นับเป็นการตีความบทเพลงที่น่าสนใจและชาญฉลาด  ส่วนทางด้าน Jessica Leong ก็บรรเลงประกอบได้อย่างเหมาะสมและเข้ากับเสียงไวโอลินเป็นอย่างดี  เสียงเปียโนของเธอนุ่มนวลอ่อนหวาน

 

13442684_1151192198284114_1551123292350276828_o

รายการดำเนินต่อด้วย  Poème  ของ Chausson ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ขึ้นเพื่ออุทิศแด่  Eugène  Ysaÿe ยอดนักไวโอลินชาวเบลเยี่ยม  บทเพลงเริ่มต้นด้วยเสียงเปียโนที่แผ่วเบาและเศร้าสร้อย  แล้วไวโอลินจึงบรรเลงขึ้นด้วยอารมณ์เดียวกัน  ราวกับทั้งคู่ได้ตัดขาดจากโลกของโมสาร์ตอย่างสิ้นเชิง   บทเพลงทวีความรุนแรงและความโกรธเกรี้ยวมากขึ้น  และเปิดโอกาสให้ไวโอลินได้แสดงเทคนิคของผู้บรรเลง  ซึ่งตัวYee สามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดี  ทางฝั่งเปียโนเองก็ต้องใช้ความสามารถอย่างสูงเช่นเดียวกัน  เพราะไม่เป็นการง่ายเลยที่จะทำให้สามารถบรรเลงไปในทิศทางเดียวกันกับไวโอลินอีกทั้งต้องคอยระวังไม่ให้เสียงของตนนั้นกลบเสียงไวโอลิน  อีกด้วยแต่ Jessica สามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดีเพียง  แต่ว่าในบางจุดเธออาจจะขาดความรุนแรงในการบรรเลงไปบ้าง  แต่ก็ไม่ถึงขั้นเสียหายอะไร

การแสดงในบ่ายวันนี้ไม่มีการพักครึ่งการแสดง  ดังนั้นจึงดำเนินต่อไปด้วยViolin Sonata No.2 in D Majorผลงานของโปรโคเฟียฟ  เดิมนั้นไวโอลินโซนาต้าบทนี้ประพันธ์ขึ้นสำหรับฟลุทและเปียโนแต่ด้วยความร่วมมือของนักไวโอลินของรัสเซีย  David Oistrakh  ทำให้เกิดเป็นไวโอลินโซนาต้าบทนี้ขึ้นมา  ทั้งคู่บรรเลงอย่างดุเดือดราวกับติดลมมาจากบทเพลงที่แล้ว  ทำให้การแสดงน่าสนใจมาก  เมื่อบรรเลงถึงกระบวนที่ 3 บทเพลงกลับเปลี่ยนอารมณ์มาเป็นสงบนิ่งและอ่อนหวานอีกครั้งทำให้ทั้งผู้ชมและผู้บรรเลงได้พักบ้างเมื่อถึงกระบวนที่ 4 ซึ่งเป็นกระบวนสุดท้าย  Yee ก็บรรเลงอย่างดุเดือดอีกครั้งส่วนทางด้าน Leong Jessica ก็สามารถปรับอารมณ์และการบรรเลงของตนให้เข้ากับ Yee ได้อย่างดีเยี่ยม  เพียงแต่ในบางจุดนั้นเสียงเปียโนจะเริ่มกลบไวโอลินไปบ้าง  กล่าวโดยรวมทั้งคู่ก็สามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดีและประทับใจผู้ฟังมาก

บทเพลงสุดท้ายในวันนี้คือ  Tzigane  เริ่มบทเพลงด้วยเสียงไวโอลินที่เข้มข้นและสื่ออารมณ์โกรธเกรี้ยว  เมื่อผมฟังโน้ตตัวแรก  ผมต้องอึ้งไปเลย  เพราะเป็นเสียงที่แสดงออกทางอารมณ์ได้ดีมาก  ไวโอลินแสดงเทคนิคอันโลดโผน  ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นไฮไลท์ในรายการนี้เลยก็ว่าได้  เพราะว่าทั้งคู่บรรเลงได้น่าประทับใจ  ได้อารมณ์อันหลากหลายในบทเพลงเดียวทั้งโกรธเกรี้ยวเศร้าสร้อยรวมไปถึงความน่ารักสดใสซึ่งผมคิดว่าตัว  Yee จะสื่ออารมณ์ความสดใสได้ดีเป็นพิเศษเหมือนกับว่าเป็นความน่ารักบริสุทธิ์ของเด็กน้อยไร้เดียงสา  ซึ่งผมเองก็เผลอคิดไปว่านั่นอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของ  Yee  ก็ว่าได้  ในบทเพลงนี้เปียโนดูจะไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไรนัก  แต่อย่างไรก็ดี  Leong  ก็ยังคงรักษาคุณภาพของการบรรเลงไว้ได้อย่างคงเส้นคงวาตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง

คอนเสิร์ตในวันนี้จบลงไปได้ด้วยดีพร้อมกับเสียงปรบมืออันกึกก้องของผู้ฟังที่ประทับใจการบรรเลงของศิลปินผู้มาเยือนทั้งคู่นับว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ดีมากๆ  อีกคอนเสิร์ตหนึ่งเลยทีเดียว  ชวนให้ผมคิดต่อไปว่าการดนตรีในต่างประเทศเขาพัฒนากันไปไกลแล้ว  แต่ความสามัคคีระหว่างสถาบันดนตรีในบ้านเราดูจะขาดหายไป    ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง  เพราะถ้าพูดถึงระดับนักเรียน นักศึกษาดนตรีแล้ว  พวกเราเป็นมิตรข้ามสถาบันกันได้อย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ เลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *