BSO กับ Jasmine Choi นักฟลูแดนโสมผู้มากด้วยความสามารถ
BSO กับ Jasmine Choi นักฟลูแดนโสมผู้มากด้วยความสามารถ
วฤธ วงศ์สุบรรณ
คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกของวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา (BSO) นั้น นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักดนตรีชาวไทยได้แสดงฝีมือแล้ว ก็ยังเป็นเวทีให้นักดนตรีฝีมือดีในระดับนานาชาติได้มาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟังชาวไทยด้วย ซึ่งในคอนเสิร์ตคลาสสิกครั้งที่ 3 (BSO Classical Concert No.3) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นั้นก็ได้แขกรับเชิญเป็นนักฟลูตยอดฝีมือชาวเกาหลี จัสมิน ชอย (Jasmine Choi) ซึ่งกำลังมีผลงานโดดเด่นอยู่ในยุโรปและอเมริกา สำหรับชอยนั้นเพิ่งมาเยือนเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้วในเทศกาล Flute Festival ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเธอนอกจากจะสอน masterclass ให้แก่นักฟลูตรุ่นเยาว์ของเราแล้ว ยังเปิดการแสดงเดี่ยว (recital) อีกหนึ่งครั้ง ผมเองได้ไปฟังการแสดงของเธอและรู้สึกประทับใจในความสามารถของเธอเป็นอย่างมาก ซึ่งการแสดงครั้งนั้นได้คัดสรรบทเพลงฟลูตจากหลากหลายยุคตั้งแต่บารอคจนถึงยุคศตวรรษที่ 21 มาบรรเลง ทำให้ผู้ฟังได้ติดตามพัฒนาการของการเล่นฟลูตจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเธอกลับมาแสดงที่เมืองไทยอีกในครั้งนี้ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบรรดามิตรรักแฟนเพลงและเหล่านักฟลูตทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่แทบจะทั้งวงการฟลูตเมืองไทยเลยทีเดียว
คอนเสิร์ตครั้งนี้เริ่มต้นด้วย Overture to Orfeo ed Euridice ของกลุค (Christoph Willibald Gluck: ค.ศ. 1714-1787: คีตกวีชาวเยอรมัน) เป็นเพลงยุคคลาสสิกที่ยังมีกลิ่นอายของยุคบารอคอยู่ด้วย ผมคิดว่าเพลงนี้วงยังเล่นได้ไม่เต็มร้อยนัก ความสมดุลของเสียงค่อนข้างมีปัญหา เสียงเครื่องเป่าจมหายไป มีบางช่วงที่ดังขึ้นมาได้บ้าง ผมไม่แน่ใจว่าทางวงกับวาทยกรรับเชิญชาวอิตาเลียน สเตฟาโน มิเชลี (Stefano Miceli) ได้ซ้อมร่วมกันมามากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่ดูแล้วรู้สึกว่าการบรรเลงยังไม่แนบสนิทกันนัก
พออุ่นเครื่องจากเพลงโหมโรงเสร็จแล้ว ก็ตามมาด้วยไฮไลท์ของรายการ นั่นคือ Flute Concerto No.2 in D Major K.314 ของ โมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart: ค.ศ. 1756-1791 : คีตกวีชาวออสเตรีย) ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ Oboe Concerto in C Major ของโมสาร์ตเอง แต่เลื่อนไปอยู่บันไดเสียงที่สูงขึ้น โดยส่วนตัวผมเองนั้นมองว่าฉบับที่เป็นโอโบนั้นมีพลังมากกว่า ซึ่งเสียงที่นุ่มนวลของฟลูตนั้น บางช่วงก็ไม่สามารถแหวกเสียงของวงออกมาได้อย่างชัดเจนนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ทราบเลยว่าเพลงนี้มีฉบับโอโบด้วย ก็นับว่าเป็นเพลงฟลูตคอนแชร์โตที่ไพเราะงดงามมาก
ในส่วนของจัสมิน ชอย นั้น ผมคิดว่าเธอคือยอดฝีมือตัวจริง เรื่องเทคนิคความสามารถนั้นไม่มีข้อกังขาแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องเสียงและความไพเราะของการบรรเลงนั้น ผมคิดว่าเสียงฟลูตของเธอค่อนข้างเล็ก บางและสดใส แต่ในช่วงเสียงต่ำก็มีพลังมากเช่นกัน โดยรวมแล้วเธอเล่นโมสาร์ตได้อย่างเรียบร้อย มีความหลากหลายของลีลาอารมณ์ในแต่ละกระบวน โดยในกระบวนที่ 2 เธอเล่นได้มี dynamic ที่ชัดเจนและหลากหลายมาก ในส่วนของ cadenza ก็เล่นอย่างนุ่มนวล ไม่ผาดโผนมาก ให้เสียงที่หวานสดใส ส่วนช่วงเสียงต่ำก็ค่อนข้างดี ให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น ส่วนในกระบวนที่3 เธอเล่นอย่างรวดเร็วมากจนวงตามไม่ทัน แต่ก็ยังกลับมาได้ทันโดยที่มีการหลุดออกจากกันไม่มากนัก ผมคิดว่าชอยเล่นโมสาร์ตในแบบทางสายกลาง ตรงไปตรงมา ไม่ทึ้งหรือแปลงโมสาร์ตให้แหวกแนวนัก มีแต่เพียงเรื่องจังหวะเท่านั้นที่ผมคิดว่าเธอกับวาทยกรอาจจะคิดไม่ตรงกัน เลยทำให้เกิดอาการผู้แสดงเดี่ยวหลุดออกจากวงในบางช่วง
พอมาในบทเพลงที่สอง Introduction and Rondo Capriccioso for Flute, Op.28 ของแซงต์ซองส์ (Camille Saint-Saëns: ค.ศ. 1835-1921 : คีตกวีชาวฝรั่งเศส) เป็นเพลงที่น่าสนใจมาก แต่เดิมเป็นเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลินร่วมกับวงออร์เคสตรา มีสำเนียงหม่นๆ รวมถึงมีลีลาอารมณ์ที่หลากหลาย ได้รับการดัดแปลงให้บรรเลงด้วยฟลูตและออร์เคสตราโดยชอยเอง และYoomi Paick ซึ่งในการดัดแปลงนี้ยังคงความยากและปรับให้ใช้เทคนิคที่หลากหลายของฟลูต นับว่าเป็น virtuoso piece ที่น่าสนใจมากอีกชิ้นหนึ่ง เท่าที่ฟังสำเนียงของชอยนั้นมีความไพเราะน่าฟังมาก โดยเฉพาะช่วงที่ไล่เสียงขึ้นลง หรือเล่นกระจายคอร์ด (arpeggio) เคียงคู่กับไวโอลิน 1 ก็ทำได้อย่างดียิ่ง หากเทียบเคียงจากประสบการณ์ในการฟังนักฟลูตรุ่นใหญ่ฝีมือระดับนานาชาติอีกคนหนึ่งคือ มาร์ค กรอแวลส์ (Marc Grauwels) ผมคิดว่าเสียงของชอยค่อนข้างใสกว่า ส่วนกรอแวลส์จะเสียงใหญ่กว่า แต่ก็คงบอกไม่ได้ว่าชอบใครมากกว่ากัน เพราะทั้งคู่มีบุคลิกในเสียงฟลูตของตนเอง
นอกจากนี้ ชอยยังมีเพลงแถมให้กับแฟนๆ ที่ปรบมือกันอย่างกึกก้องและยาวนาน ด้วยเพลง Caprice No.24 ของ Paganini ซึ่งถือว่าเป็นเพลงประจำตัวของเธออีกเพลงหนึ่ง เพลงนี้เป็น virtuoso piece ของไวโอลิน และได้รับการดัดแปลงไปเล่นกับเครื่องดนตรีอื่นๆ อย่างแพร่หลาย และการดัดแปลงให้เล่นกับฟลูตในครั้งนี้ก็เป็นการโชว์ความสามารถของเธอทั้งการเล่นอย่างรวดเร็วและสร้างสีสันของเสียง (tone colours) ที่หลากหลายและแปลกหู อีกเพลงหนึ่งซึ่งค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ฟังคือเพลง ค้างคาวกินกล้วย ซึ่งตอนขึ้นต้นเธอด้นทำนองและสำเนียงที่ฟังคล้ายๆ เพลงจีนขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาเฉลยว่าเป็นเพลงไทยนี่เอง ซึ่งก็ได้ความรู้สึกที่แปลกใหม่และสนุกสนาน บวกกับเทคนิคที่แปลกและหลากหลายทำให้เพลงนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
มาในครึ่งหลัง เป็นบทเพลง Symphony No.4 in A Major, Op.90 (Italian) ของเมนเดลโซห์น (Felix Mendelsshon: ค.ศ. 1809-1847 : คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งเป็นเพลงดังที่นักดนตรีและนักฟังคุ้นเคยกันดี (วง TPO ก็เพิ่งเล่นเพลงนี้ไปเมื่อต้นปีนี้) ในความเห็นของผมคิดว่าวงเล่นได้ดีขึ้นกว่าในครึ่งแรก น่าจะมาจากความคุ้นเคยในบทเพลงนี้ของนักดนตรี อีกทั้งจำนวนเครื่องสายในวงที่มากขึ้นก็ทำให้มีเสียงที่หนักแน่นขึ้น และดูเหมือนจะตอบสนองความต้องการของวาทยกรได้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนที่ 2 ที่ดับเบิลเบสมีความสำคัญในการควบคุมจังหวะมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเสียงของกลุ่มเครื่องสายมีความเปลี่ยนแปลงจากครึ่งแรกเป็นอันมาก กลุ่มเครื่องเป่าก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเล่นเร็วๆ ส่วนที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือฟลูตที่เล่นได้ถึงใจ ขณะที่เครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งคือโอโบ ซึ่งเป็นนักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรง ก็เล่นได้อย่างน่าฟังเช่นกัน
สำหรับคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งหนึ่งที่ผู้ฟังบ้านเราได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาชมการแสดงจากยอดฝีมือจากต่างแดน ซึ่งจริงๆ ก็คือชาวเอเซียเหมือนกัน คงทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า ดนตรีคลาสสิกตะวันตกนั้น มิใช่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะเจ้าของวัฒนธรรมดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่คนที่อยู่ต่างวัฒนธรรม หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจแล้ว ก็สามารถประสบความสำเร็จเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวตะวันตกได้เช่นกัน (ขณะที่ผมเขียนบทวิจารณ์นี้ นักดนตรีสองสาวชาวเกาหลีกำลังซ้อมอย่างขะมักเขม้นอยู่กับควินเตทของ Pro Musica เพื่อเตรียมแสดงรอบปฐมฤกษ์ของดุริยาคนิพนธ์ชิ้นใหม่ของอาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร) จะว่าไปบ้านเราในปัจจุบันก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่มีฝีมือจำนวนไม่น้อยเลย และบางส่วนก็มีโอกาสที่ดีที่ได้ไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตก อันเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมดนตรีเหล่านี้ (แต่ที่พูดมาไม่ใช่ว่าคนที่เรียนในไทยจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ แต่วัฒนธรรมบางอย่างยังผูกอยู่กับถิ่นที่ด้วย การได้ไปสัมผัสต้นกำเนิดวัฒนธรรมโดยตรงนั้นย่อมได้เปรียบอย่างปฏิเสธไม่ได้) เราก็หวังว่านักดนตรีรุ่นใหม่เหล่านี้จะมาเป็นอนาคตของวงการคลาสสิกบ้านเรา หรือถ้าเขาเก่งถึงระดับนานาชาติหรือระดับโลกได้ ก็คงเป็นเรื่องที่สร้างความคึกคักให้แก่สังคมไทยได้อย่างแน่นอน และก็หวังว่าในตอนนั้นผู้ชมคงจะมีเพิ่มมากขึ้น (ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ) เพื่อเป็นฐานลูกค้าให้แก่นักดนตรีที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป
ท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทาง BSO และอาจารย์วรพล กาญจน์วีระโยธิน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนนักดนตรีทั้งหลาย ที่จะได้มีโอกาสมาดูนักดนตรีรับเชิญฝีมือสูงผู้นี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีต่อไป (โดยเฉพาะนักเรียนฟลูต) จึงมีบัตรราคาถูกเป็นพิเศษสำหรับนักเรียน ซึ่งก็หวังว่าทางวงจะสนับสนุนเยาวชนของเราในลักษณะนี้ต่อไปเพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ดนตรีที่กว้างขวาง ไม่แน่ว่าเด็กเหล่านี้อาจจะมาเป็นกำลังสำคัญของ BSO ในอนาคตก็เป็นได้ (ถ้าวงนี้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ผมก็เพียงแต่ขอภาวนาให้เป็นเช่นนั้น)