Woodwind Weekend โดยวงสวัสดี วู้ดวินด์ ควินเต็ต: มิตรไมตรีระหว่างพี่-น้องที่น่ายกย่อง
Woodwind Weekend โดยวงสวัสดี วู้ดวินด์ ควินเต็ต: มิตรไมตรีระหว่างพี่-น้องที่น่ายกย่อง
วฤธ วงศ์สุบรรณ
ในบรรดาวงเชมเบอร์มิวสิคขนาดเล็กนั้นมีการประสมวงที่หลากหลายมากมาย แต่รูปแบบที่เป็นมาตรฐานที่สำคัญก็มีอยู่ไม่กี่ประเภท เช่น piano trio (ไวโอลิน เชลโล เปียโน) string quartet (ไวโอลิน 1,2 วิโอลา เชลโล) brass quintet (ทรัมเป็ท 1,2 ฮอร์น ทรอมโบน ทูบา) และ woodwind quintet (ฟลูต โอโบ คลาริเน็ต ฮอร์น บาสซูน) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมีความชื่นชอบวง woodwind quintet เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวงมีสีสันหลากหลายที่สุด ในขณะที่วงเครื่องสายหรือวงเครื่องเป่าทองเหลืองนั้น จะเป็นเครื่องที่มีสีสันหลักๆ แบบเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนขนาดและช่วงของเสียง ดังนั้นวงประเภทนั้นๆ จะมีความเข้ากันของเสียงอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สำหรับวงเครื่องเป่าลมไม้นั้นแต่ละเครื่องดนตรีล้วนแต่มีลักษณะเสียงเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีธรรมชาติและเทคนิคการเล่นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเล่นให้เป็นวงอย่างผสมกลมกลืนด้วยความต่างของทั้ง 5 เสียงนั้น จึงเป็นความไพเราะที่มีเสน่ห์ และในขณะเดียวกันมีความยากอยู่ในตัวด้วย เพราะแต่ละเสียงสอดคล้องเข้าหากันได้ไม่ง่ายนัก หากเล่นไม่ดีก็คงจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อโสตประสาทเป็นแน่
ประสบการณ์ในการฟังดนตรีประเภทวู้ดวินด์ควินเต็ตของผมนั้นค่อนข้างน้อย จำได้ว่าแผ่นบันทึกเสียงแรกที่เคยฟังคือวง Ensemble Berlin-Wien ซึ่งก็คือวงที่รวมตัวจากหัวหน้ากลุ่มเครื่องเป่าของวง Berlin Philharmonic และ Vienna Philharmonic ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนคือนักดนตรีระดับยอดของวงการ ส่วนประสบการณ์ในไทยนั้นค่อนข้างมีน้อยเช่นกัน เท่าที่จำได้คือวงเครื่องเป่าจากกลุ่ม Pro Musica ในคอนเสิร์ต Gone with the Woodwind (ซึ่งก็คือคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร) วง Ensemble Bangkok-Tokyo (กลุ่มนักดนตรีจากวง BSO ทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น) และกลุ่ม CU Woodwind Ensemble (กลุ่มนิสิตและศิษย์เก่าของจุฬาฯ ซึ่งมีการประสมวงหลายรูปแบบ และวู้ดวินด์ ควินเต็ตเป็นหนึ่งในนั้น)
นอกจากนี้อีกวงหนึ่งที่ผมติดตามผลงานสักระยะหนึ่งแล้วคือวงสวัสดี วู้ดวินด์ ควินเต็ต ซึ่งเป็นวงที่มีความน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรวมตัวของนักดนตรีเครื่องเป่าฝีมือดีจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งแต่ละคนก็เป็นทั้งอาจารย์และนักดนตรีในวงออร์เคสตราหลักๆ ของบ้านเราทั้งนั้น สมาชิกของวงประกอบด้วย กัลยาณ์ พงศธร (ฟลูต) สมชาย ทองบุญ (โอโบ) ธีระพงษ์ ทรัพย์มูล (คลาริเน็ต) คมสัน ดิลกคุณานันท์ (ฮอร์น) และกิตติมา โมลีย์ (บาสซูน) ต่อมาก็มีสมาชิกเพิ่มเติมอีกคนคือ สุมิดา อังศวานนท์ (เปียโน) ที่น่าสังเกตคือวงนี้ไม่ได้มีจุดร่วมคือการเป็นเพื่อนเรียนจากสถาบันเดียวกัน หรือเป็นนักดนตรีในวงเดียวกันมาก่อน แต่มีความผูกพันธ์กันด้วยการเล่นดนตรีร่วมกัน แล้วค่อยๆ ชวนกันมาตั้งกลุ่ม และมีความต่อเนื่องในการเล่นดนตรีร่วมกันมาถึง 8 ปีแล้ว ซึ่งนอกจากการบรรเลงดนตรีแล้วนักดนตรีกลุ่มนี้ยังเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเหล่านักเรียนเครื่องเป่าลมไม้ จึงได้จัดกิจกรรม “Woodwind Weekend” ขึ้น เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) 2 วัน ภายใต้แนวคิด “สร้างเสียง สร้างสรรค์ กับสวัสดี” ซึ่งมีทั้งการมาสเตอร์คลาส และการแนะนำการเล่นดนตรีสมัยใหม่ด้วยการด้นสด ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2559 ณ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่งหลังจากการสัมมนาฯ แล้ว ได้มีการแสดงคอนเสิร์ตจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม และวงสวัสดี ในช่วงเย็นของวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ด้วย
การจัดเวิร์คชอปวันแรก เริ่มด้วยการแสดงของวง BSRU Woodwind Quintet จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในบทเพลง Early Hungarian Dances from the 17th Century for Wind Quintet (เฉพาะกระบวนที่ 1 และ 5) ของ Ferenc Farkas ตามมาด้วยวง KU Wind Quintet จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในบทเพลง Minuet ของ Blai Maria Colomer และวง CU Woodwind Chamber จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทเพลง Serenade for Winds in C Minor ของ W.A. Mozart โดยมี อาจารย์ชนันนัทธ์ มีนะนันท์ หรือ อาจารย์หมอก นักโอโบระดับแนวหน้าของไทยมาเป็นวิทยากรในการให้คำแนะนำการเล่นของวงเหล่านี้ ในส่วนของวงบ้านสมเด็จฯ นั้น ผมคิดว่าวงนี้ยังค่อนข้างใหม่กับการเล่นวู้ดวินด์ควินเต็ต อาจารย์หมอกก็ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์หลายด้าน ทั้งเรื่องการฟังกันเอง บุคลิกภาพ การแสดงออกบนเวที และการเอาใจใส่เรื่องทำนอง (melody) เสียงประสาน (harmony) และจังหวะ (rhythm) ซึ่งแต่ละเครื่องมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถสลับกันทำหน้าที่เหล่านี้ได้ทุกเครื่อง รวมไปถึงการเน้นความดังค่อย (dynamic) และการเปล่งคีตวลี (phrasing) ของเพลง ซึ่งจะทำให้เพลงมีมีติและสีสันมากขึ้น ส่วนวง KU Wind Quintet นั้น ผมคิดว่ามีประสบการณ์มากขึ้น แต่อาจจะเปลี่ยนสมาชิกไปตามโอกาส ยังไม่มีสมาชิกที่ถาวรนัก ซึ่ง อาจารย์หมอกก็ให้คำแนะนำว่าในการเล่นนั้น ประโยคแรกของเพลงนั้นสำคัญที่สุดควรจะต้องมีความพร้อมเพรียงเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟัง นอกจากนี้ยังแนะทำให้ฝึกการเปล่งเสียงและการเล่น articulation ต่างๆ พร้อมกันทั้งวงด้วย ส่วนวง CU Woodwind Chamber นั้น นับว่าเป็นวงที่ค่อนข้างมีประสบการณ์ในการเล่นมามากพอสมควร การบรรเลงรอบแรกจึงค่อนข้างดี ซึ่ง อาจารย์หมอกก็มีคำแนะนำให้แก่วงเพื่อให้เล่นได้ดียิ่งขึ้น เช่นการปรับสมดุลเสียงของวง การเน้นความดังค่อยในบางช่วงที่สำคัญเช่นช่วงที่โอโบเด่น และเน้นให้ฟังซึ่งกันและกัน อันเป็นหัวใจสำคัญของการเล่นดนตรีร่วมกัน ซึ่งจากการสังเกตของผม คิดว่าเด็กๆ ทุกวงนั้นมีความเข้าใจและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การเล่นรอบหลังสามารถเล่นได้ดีขึ้นและมีความแตกต่างจากการเล่นรอบแรกพอสมควร ซึ่งต้องยอมรับว่านักดนตรีประสบการณ์สูงอย่างอาจารย์หมอกนั้น สามารถมองจุดบกพร่องบางประการได้อย่างชัดเจน และให้ข้อแนะนำได้อย่างตรงจุด ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนในภาคบ่ายเป็นการเวิร์คชอปด้านการด้นสด (improvisation) โดยมีวิทยากรคือ ดร.ฌอง-ดาวิด คาอิลลูเดต์ (Dr.Jean-Davide Caillouët) อาจารย์ประจำของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ซึ่ง อาจารย์ฌอง-ดาวิด กล่าวว่าดนตรีทั่วโลกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีที่ไม่ได้มีการจดบันทึกเป็นตัวโน้ต แต่มาจากการฟังและการด้นสด นักดนตรีที่มาในวันนี้ส่วนใหญ่จะเรียนมาทางสายคลาสสิกที่มีการบันทึกโน้ตชัดเจน อาจารย์จึงจะมาแนะนำและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ด้วยการด้นสด โดยที่อาจารย์จะมีกรอบความคิดในการด้นสดให้ อันเป็นการแต่งเพลงตามคำขวัญของสถาบันฯ คือ “ดนตรีแห่งชีวิต ดนตรีแห่งแผ่นดิน” (Musique de la Vie et de la Terre) ซึ่ง อาจารย์ฌอง-ดาวิด มีแนวคิดที่เชื่อมโยงกับคำว่า เครื่องเป่าลมไม้ (woodwind) แยกมาเป็น “ไม้” (wood) และ “ลม” (wind) โดยแผ่นดินเชื่อมโยงกับไม้ และชีวิตเชื่อมโยงกับลม(หายใจ) จึงกลายมาเป็นแนวคิดของเพลงคือเรื่องการกำเนิดโลกและการกำเนิดชีวิต โดยใช้ “เสียง” ลักษณะต่างๆ เป็นตัวแทนของขั้นตอนของการกำเนิดโลกและชีวิต ซึ่งจากกรอบความคิดนี้ อาจารย์ก็จะแนะให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปสร้างเสียงตามแนวคิดเหล่านี้ เท่าที่ผมสังเกตในช่วงแรกๆ ผู้เข้าร่วมอาจจะยังไม่มีความคิดในการสร้างเสียงนัก ก็คงใช้ความรู้ดั้งเดิมของตนมาเป็นพื้นฐาน แต่พอได้เล่นร่วมกันสักระยะ และได้รับการอธิบายแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์เสียงเพิ่มเติมจากวิทยากร ผู้เข้าร่วมก็เริ่มจะมีจินตนาการที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็เริ่มมีเอกภาพมากขึ้นด้วย
ในวันที่สองของกิจกรรม เป็นการพูดคุยสนทนาระหว่างผู้จัดคือวงสวัสดีกับผู้เข้าร่วม โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเล่นดนตรีวงเล็ก หรือที่เรียกว่า ensemble ซึ่งมีมิติที่แตกต่างจากการเล่นดนตรีวงใหญ่ (ซึ่งมีวาทยกร ผู้อำนวยการดนตรี หรือฝ่ายจัดการของวงเป็นผู้กำหนดทิศทาง) โดยเฉพาะการคิดร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และไม่ได้มีลักษณะเป็นแค่ “เพื่อนร่วมงาน” แต่เป็นการรวมตัวกันแบบ “ครอบครัว” ที่จะต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นอันมาก ซึ่งบางครั้งก็มีบ้างที่เข้ากันไม่ได้ มีผู้เข้าร่วมหลายท่านเล่าว่าได้ผ่านการรวมกลุ่มกันหลายครั้งแล้ว บางครั้งก็เอาฝีมือเป็นตัวตั้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงนั้นอายุยาวหรือสั้น คือความเข้ากันได้ของสมาชิกของวง บางวงเป็นวงเฉพาะกิจตั้งขึ้นเพื่อแข่งขัน แต่พอแข่งขันเสร็จก็อาจจะแยกย้ายกันไป ไม่ได้มีความต่อเนื่องของการรวมวง อาจจะเรียกเป็นภาษาวัยรุ่นได้ว่า “เคมีไม่ตรงกัน” อีกประเด็นหนึ่งของการรวมวงขนาดเล็กคือ วงอาจจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็ต้องมีการประนีประนอม มีความยืดหยุ่น มีความเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งหลายคนเห็นว่าสมาชิกของวงไม่จำเป็นต้องคิดให้เหมือนกันหมด มิเช่นนั้นคงจะน่าเบื่อและไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ แต่ทุกคนต้องลดอัตตาและยอมรับในความต่าง เหมือนกับการเล่นวงซึ่งสมาชิกแต่ละคนบางครั้งก็เป็นผู้นำ บางครั้งก็เป็นผู้ตาม แต่เป้าหมายก็เพื่อสร้างเสียงดนตรีที่มีความเข้ากันได้และสอดคล้องเหมาะสมกัน
ถัดมาจึงเป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตนักดนตรีอาชีพของ อาจารย์หมอก ซึ่งสิ่งที่ อาจารย์หมอกเน้นย้ำมากที่สุดคือนักดนตรีต้องมีวินัย และต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่ซ้อมจะทำให้ฝีมือตก การซ้อมที่ อาจารย์หมอกแนะนำให้ต้องทำทุกวัน คือต้องซ้อมทักษะพื้นฐานของเครื่องดนตรี เช่น การเป่าเสียงยาว การออกเสียง การฝึกเสียงดังค่อย (dynamic) ความสั้นยาวของเสียง (articulation) การไล่บันไดเสียง (scales) อีกส่วนหนึ่งคือการซ้อมเพลงที่จะต้องเล่น ทั้งนี้ อาจารย์หมอกยังแนะนำว่าถ้าเรามีเวลาไม่มาก ก็ต้องฝึกซ้อมให้มีประสิทธิภาพ บางครั้งซ้อมมากแต่ซ้อมไม่ถูกจุด ก็ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร สิ่งที่ควรซ้อมมากคือสิ่งที่ยังทำได้ไม่ค่อยดีนักเพื่อจะได้พัฒนาขึ้น ส่วนที่เล่นได้ดีแล้ว ก็ต้องซ้อมบ้างเพื่อทบทวนแต่ไม่ต้องเน้นมาก นอกจากนี้ อาจารย์หมอกก็แนะนำว่าโดยส่วนตัว อาจารย์จะเป็นคนที่แบ่งการซ้อมเป็นหลายๆ ช่วงในแต่ละวัน เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากเกินไป และอาจารย์ก็จะชอบจดบันทึกเป้าหมายของการซ้อมและสิ่งที่ซ้อมในแต่ละวัน เพื่อทบทวนความจำและเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้
นอกจากนี้ อาจารย์หมอกยังเล่าว่าหากต้องเล่นกับวง chamber นั้นจะต้องอุทิศเวลาการซ้อมและการเตรียมตัวมากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีคนกลางอย่างวาทยกรมาช่วยตีความ ผู้เล่นทุกคนต้องเป็นผู้ตีความเอง และหากความคิดเห็นไม่ตรงกันต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ ซึ่งตรงนี้ อาจารย์หมอกเน้นย้ำว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา และต้องใช้คำพูดที่สุภาพและรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน (เพราะบางครั้งใช้คำพูดผิดไปนิดเดียวก็เกิดหมางใจกันได้โดยง่าย) ถ้าเป็นไปได้การเล่นวงเล็กนี้ควรจะเล่นกับคนที่สนิทใจกัน ส่วนประสบการณ์ในการเล่นต่างประเทศนั้น อาจารย์ก็เน้นย้ำว่าเรื่องวินัยและความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นักดนตรีที่่ดีต้องเตรียมตัวมาอย่างดี และมาถึงก่อนเวลาเพื่ออุ่นเครื่องให้พร้อม ส่วนเรื่องการทดสอบเข้าวง (audition) นั้น อาจารย์ให้คำแนะนำว่า คือการเสนอตัวเราให้กับวง ให้เล่นอย่างมั่นใจอย่างที่เราต้องการเล่น โดยที่ผ่านการเตรียมตัวและทำความเข้าใจหรือวิเคราะห์เพลงที่จะสอบมาแล้วอย่างดี ซึ่งหากเตรียมตัวดีก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว
ในช่วงเย็นเป็นการบรรเลงคอนเสิร์ตของวงที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย วง CU Woodwind Chamber และวง KU Wind Quintet (ส่วนวงบ้านสมเด็จฯ สมาชิกมาไม่ครบจึงถอนตัวไป) ในส่วนของวง CU นั้น ผมคิดว่าวงเล่นได้ดีขึ้นมากจากที่ฟังวันแรก เสียงของวงทั้งแน่นและมีความพร้อมเพรียงกันสูง ในช่วงที่มีเครื่องเดี่ยวนั้น วงก็ลดเสียงลงให้เกิดความสมดุลและทำให้เครื่องเดี่ยวโดดเด่นขึ้น รวมทั้งความดังค่อยของเสียงก็ทำได้อย่างดีและมีความหลากหลาย เครื่องดนตรีที่โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นโอโบ 1 ซึ่งมีช่วงเดี่ยวค่อนข้างมาก ส่วนอื่นๆ ของวง ทั้งกลุ่มคลาริเน็ต ฮอร์น และบาสซูน ก็เล่นได้อย่างดี นับว่าเป็นวงเด็กรุ่นใหม่ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของวง KU นั้น มาแปลกด้วยการยืนเล่น และเมื่อเล่นไปได้สักครู่เราผู้ฟังก็รู้จุดมุ่งหมายที่พวกเขายืนเล่นแล้วว่าพวกเขาต้องการเล่นกับลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับจังหวะเพลง ซึ่งเป็นจังหวะเพลงเต้นรำนั่นเอง พวกเขาก็โยกตัว ขยับตัวไปกับลีลาเพลง และช่วงที่ฟลูตเล่นเดี่ยวทำนองหลัก เขาก็เคลื่อนกายเข้ามาอยู่กลางวงและเต้นรำพร้อมบรรเลงไปกับจังหวะเพลง ซึ่งเป็นภาพที่น่ารักน่าประทับใจ (ปนขบขัน) แต่ที่น่าสนใจคือคุณภาพการบรรเลงนั้นก็ค่อนข้างดีขึ้นกว่าในวันแรกด้วย เหมือนพวกเขาจะพบว่าการยืนเล่นนั้นก็ช่วยให้บรรเลงได้อย่างผ่อนคลายและสะดวกยิ่งขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กของเรานั้น นอกจากจะเล่นดนตรีได้ดีแล้ว ยังมีความคิดสร้างสรรค์ให้การบรรเลงของเขามีสีสันและความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย
ถัดมาเป็นเพลง improvisation ของ อาจารย์ฌอง-ดาวิด โดยนักดนตรีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน ผมคิดว่าวงเล่นได้ดีขึ้นจากวันแรกมาก มีความหนักแน่นของเสียง น่าจะเนื่องจากทุกคนมีความเข้าใจแนวคิดของเพลงอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้ง อาจารย์ฌอง-ดาวิด ก็ได้ให้แนวทางของการด้นสดที่มีเอกภาพมากขึ้น เพลงจึงเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อประกอบกับภาพ presentation ประกอบการบรรเลงที่อาจารย์เตรียมมาและจัดให้ได้ชมระหว่างการบรรเลง ก็ทำให้ผู้ฟังจินตนาการเชื่อมโยงระหว่างภาพและเสียงได้อย่างชัดเจนและเข้าใจมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวนั้นผมมีข้อสงสัยอยู่ประการหนึ่งว่าหากไม่มีภาพประกอบดนตรีเหล่านี้ ผู้ฟังจะสามารถจินตนาการถึงการกำเนิดโลกและการกำเนิดชีวิตตามแนวคิดของเพลงนี้ได้หรือไม่ ผมเองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบเองได้เพราะอยู่ร่วมกิจกรรมมาโดยตลอดและเข้าใจแนวคิดของเพลงมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเพลงนี้คงเป็นประสบการณ์ใหม่ของนักดนตรีรุ่นเยาว์ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยเล่นเพลงสมัยใหม่มาก่อน หรือแม้กระทั่งไม่เคยเล่นดนตรีที่ไม่ได้เขียนด้วยตัวโน้ตแต่มาจากจินตนาการและการสร้างสรรค์ขึ้นโดยฉับพลัน และคาดว่าประสบการณ์ในครั้งนี้อาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักดนตรีรุ่นเยาว์เหล่านี้ในการศึกษาหาความรู้และการสร้างสรรค์ดนตรีแบบใหม่ๆ ต่อไป
และในเพลงสุดท้ายของรายการ เป็นการแสดงของวงสวัสดี ผู้จัดรายการนี้เอง โดยการสร้างสรรค์ดนตรีประกอบการแสดงนิทานเรื่อง “ลูกหมูสามตัว” ซึ่งเราคงทราบกันดีว่าเป็นเรื่องราวของลูกหมูสามตัวที่สร้างบ้านด้วยฟาง ไม้ และอิฐ ซึ่ง 2 หลังแรกถูกหมาป่าทำลายไปได้ แต่บ้านที่สร้างด้วยอิฐ หมาป่าก็ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งเป็นนิทานที่สอนใจเกี่ยวกับเรื่องความอุตสาหะพากเพียรนั่นเอง สำหรับการแสดงของวงสวัสดีนั้น เป็นการนำท่วงทำนองจากบทเพลงต่างๆ ของ Mozart มาร้อยเรียงกันเป็นดนตรีประกอบนิทาน โดยที่ ลูกหมูที่สร้างบ้านด้วยฟางแทนด้วยเพลง Flute Concerto ลูกหมูที่สร้างบ้านด้วยไม้ แทนด้วยเพลง Oboe Concerto ลูกหมูที่สร้างบ้านด้วยอิฐ แทนด้วยเพลง Bassoon Concerto แม่หมู แทนด้วย Clarinet Concerto ส่วนหมาป่านั้น แทนด้วยเพลง Horn Concerto No.2 ของ Carl Maria von Weber แทน (ด้วยเหตุผลที่ว่าฮอร์นคอนเชร์โตของโมสาร์ตนั้นมีแต่เพลงที่สำเนียงสดใส ไม่มีเพลงที่สำเนียงหม่น หรือออกแนวน่ากลัว) ส่วนเปียโนจะทำหน้าที่เป็นผู้เล่นทำนองหลักของแทบทุกเพลง เปรียบเสมือนผู้เล่าเรื่อง นอกจากนี้ยังมีเพลงอื่นๆ ของโมสาร์ต เช่น The Magic Flute Overture และ Eine kleine Nachtmusik มาเป็นเพลงกระกอบขณะเล่าเรื่องด้วย โดยการเล่าเรื่องนั้นไม่ได้เล่าด้วยเสียงผู้บรรยาย แต่เป็นการเล่าเรื่่องด้วยภาพ (ซึ่งเป็นภาพนิ่งการ์ตูนนิทานลูกหมูสามตัว) ร่วมกับการแสดงลีลาท่าทางของนักดนตรีของวงสวัสดีเอง ซึ่งมีทั้งลูกหมูกำลังสนทนากันด้วยเครื่องดนตรี หมาป่ากำลังถล่มบ้านของลูกหมู ลูกหมูวิ่งหนีหมาป่า และการรับฟังคำสอนของแม่หมูในตอนท้าย ซึ่งเป็นการแสดงที่สนุกสนานและน่าประทับใจเป็นอันมาก ในส่วนของคุณภาพการบรรเลงนั้นอาจจะไม่เต็มร้อยเหมือนกับนั่งเล่น เพราะต้องเดินเล่นวิ่งเล่นขยับร่างกายไปด้วย เครื่องดนตรีบางอย่างที่ค่อนข้างอ่อนไหวเช่นโอโบหรือบาสซูนจะค่อนข้างเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังบรรเลงได้อย่างไพเราะน่าฟังมาก และยังทำให้เราผู้ฟังรู้สึกว่าดนตรีคลาสสิกนั้นสามารถแสดงออกได้อย่างหลากหลายตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเดิมๆ ตลอดเวลา แต่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสถานที่และกลุ่มผู้ฟังได้ ซึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั้งสองวันนั้น ผมคิดว่าวงสวัสดีได้กระทำตามแนวคิดของงานที่ว่า “สร้างเสียง สร้างสรรค์ กับสวัสดี” อย่างครบถ้วน
วงสว้สดี วู้ดวินด์ ควินเต็ต เป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมวงจากกลุ่มเพื่อนผู้มี “ใจ” ตรงกัน และพัฒนาฝีมือไปด้วยกัน รวมทั้งมี “ความต่อเนื่อง” ของการรวมวงและการแสดง ถึงแม้จะไม่ถี่มาก แต่ก็มีอยู่เป็นระยะๆ ให้ผู้ฟังได้หายคิดถึง และเป็นตัวอย่างให้แก่นักดนตรีรุ่นใหม่ด้วยว่าวงดนตรีกลุ่มเล็กนี้ก็มีความเข้มข้นของบทเพลงและการบรรเลง สามารถเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ฟังได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องฟังวงซิมโฟนีออร์เคสตรา หรือวงวินด์แบนด์ขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าเยาวชนก็เริ่มตื่นตัวในด้านการเล่นเชมเบอร์มิวสิคแนวเครื่องเป่ามากขึ้นเช่นกัน และหวังว่าจะมีความต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าในส่วนของเครื่องสายนั้นยังมีความคึกคักมากกว่า รวมทั้งยังมีการประกวดแข่งขันวงเชมเบอร์เครื่องสายระดับเยาวชนอีกด้วย ส่วนวงการเครื่องเป่านั้นความคึกคักยังไปอยู่ในวงขนาดใหญ่มากกว่า ทั้งวงโยธวาทิตระดับโรงเรียนมัธยม และวงวินด์แบนด์ในระดับมหาวิทยาลัย ก็ได้แต่หวังว่ากิจกรรมดีๆ ของวงสวัสดีในครั้งนี้ คงจะเป็นการจุดประกายให้เยาวชนเครื่องเป่า ได้หันมาตั้งวงเล็กๆ เล่นกันเองมากขึ้น และถ้าพวกเขาเล่นเชมเบอร์ได้ดีแล้ว เพลงอย่างอื่นและวงขนาดใหญ่ขึ้นเขาก็คงเล่นได้อย่างดีเช่นกัน