The Spirits of ASEAN โดย ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร : การแสวงหาจิตวิญญาณแห่งประชาชาติอาเซียน
The Spirits of ASEAN โดย ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร : การแสวงหาจิตวิญญาณแห่งประชาชาติอาเซียน
(Facebook Pro Musica)
วฤธ วงศ์สุบรรณ
ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินศิลปาธร นับว่าเป็นบุคคลสำคัญด้านดนตรีคลาสสิกอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย ท่านเป็นทั้งคีตกวีและครูผู้สั่งสอนศิลปะแห่งการประพันธ์ดนตรี มีทั้งผลงานที่เป็นบทเพลงมากมาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานขนาดใหญ่สำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตราและเครื่องดนตรีไทยหลากหลายชนิด) รวมไปถึงผลงานด้านการสอน ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ต่างก็โลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีบ้านเรามากมายเช่นกัน
เท่าที่ผมสังเกตในช่วง 2-3 ปีมานี้ จุดสนใจของ อ.ณรงค์ฤทธิ์ ในด้านการประพันธ์เพลง จะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นที่ทราบกันว่าอาเซียนนั้นเพิ่งยกระดับความร่วมมืออย่างเป็นทางการในฐานะ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันในมิติต่างๆ ดูแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ซึ่งในมิติของศิลปวัฒนธรรมนั้นก็ปรากฏในหลายรูปแบบ เท่าที่ผมคุ้นเคยเป็นพิเศษก็คือ “มหกรรมรามายณะนานาชาติ” ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี) ซึ่งเมื่อปี 2557 นั้น อ.ณรงค์ฤทธิ์ ก็ได้ประพันธ์บทเพลงชื่อ “The Harmony of Chimes” หรือชื่อไทยว่า “ประสานเสียงสำเนียงระฆัง” สำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตราและเครื่องดนตรีพื้นเมืองหลายชนิดของอาเซียน และได้นำออกบรรเลงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยวงบางกอก ซิมโฟนีออร์เคสตรา (BSO)
มาในปีนี้ อ.ณรงค์ฤทธิ์ได้ประพันธ์บทเพลงใหม่ที่เกี่ยวกับอาเซียนอีก โดยใช้วงดนตรีขนาดย่อมลงมา คือ Piano Quintet (เปียโน ไวโอลิน 1, 2 วิโลลา และเชลโล) มีชื่อบทเพลงว่า “The Spirits of ASEAN” ซึ่งจัดแสดงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก (world première) (หลังจากที่ได้ไปซ้อมใหญ่มาแล้วที่หัวหิน) โดยกลุ่ม Pro Musica Ensemble ประกอบด้วย พรพรรณ บรรเทิงหรรษา (เปียโน) ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน 1) เลโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips, วิโอลา) และแขกรับเชิญ 2 นักดนตรีสาวชาวเกาหลีซึ่งพำนักและศึกษาต่ออยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ คือ สเตลลา คิม (Stella Kim, ไวโอลิน 2) และ แซลลี คิม (Sally Kim, เชลโล) เมื่อคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ณ สยามสมาคม
แต่ก่อนจะมีการบรรเลงเพลงของ อ.ณรงค์ฤทธิ์นั้น แขกรับเชิญสาวสองพี่น้องก็มีอีก 1 บทเพลงมอบให้ผู้ฟังก่อน นั่นคือ Duo for Violin and Cello, Op.7 ของโซลตัน โคดายล์ (Zoltán Kodály, 1882-1967: คีตกวีและนักวิชาการดนตรีศึกษาชาวฮังการี) ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีกลิ่นอายความเป็นพื้นบ้านยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังมีความลึกซึ้งทางอารมณ์สูงอีกด้วย ซึ่งทั้งสองสาวก็เล่นได้เป็นอย่างดี มีลักษณะของการสนทนากันระหว่างเครื่องดนตรีทั้งสองชิ้น มีทั้งลูกล้อลูกขัดและการประสานเสียงอย่างเหมาะเจาะ ไม่มีใครเด่นไปกว่ากัน แต่เดินไปด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านติดตามการแสดงของ Pro Musica มาโดยตลอดจะทราบว่าทั้งสองสาวนี้ก็เคยมาเยือนเมืองไทยโดยเป็นส่วนหนึ่งของวงเปียโนทริโอ ชื่อ Trinity Trio (ร่วมกับนักเปียโนเพื่อนร่วมวง Tina Kim) เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนนั้น จะพบว่านักดนตรีกลุ่มนี้เล่นได้เข้าขากันอย่างดีมาก แม้ว่าจะมีอายุน้อยแต่ฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และการที่ได้เล่นเชมเบอร์ด้วยกันมาหลายปี (เริ่มก่อตั้งวงเมื่อปี 2013) และออกแสดงอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเคี่ยวกรำฝีมือที่ได้ผลอย่างดียิ่ง หากจะมีข้อติงเล็กน้อย ผมคิดว่าเสียงเชลโลของแซลลี คิม ในคืนนั้นค่อนข้างบางอยู่บ้างเป็นบางตอน ดูจะทำให้เสียงไวโอลินของเพื่อนร่วมวงดูมีน้ำหนักและพลังมากกว่า แต่โดยรวมแล้วทั้งคู่เล่นกันได้อย่างดีเยี่ยมและไพเราะน่าฟังมาก
ส่วนในครึ่งการแสดงหลัง คือเพลงเอกของรายการ The Spirits of ASEAN ซึ่งเป็นเพลงที่ค่อนข้างยาว (ประมาณ 45 นาที) ประกอบด้วยกระบวนย่อยๆ ในเพลงถึง 12 กระบวน หากผมเล่าเป็นความรู้สึกต่อแต่ละกระบวนคงไม่เป็นไร เพราะยังไม่เคยมีการแสดงเพลงนี้มาก่อน คงไม่ถือว่าเป็นการเล่าสิ่งที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว ในภาพรวมนั้นผมคิดว่า อ.ณรงค์ฤทธิ์ พยายามที่จะสกัดเอาสิ่งที่เป็น “จิตวิญญาณ” ร่วมกันของชาวประเทศอาเซียนมาแสดงออกในแต่ละกระบวน อย่างเช่นกระบวนแรก Prelude นั้น นำเสนอทำนองหลักก่อน โดยหยิบยืมทำนองมาจากเพลง แขกอาหวัง แล้วดัดแปลงลีลาให้มีความหลากหลายและมีสุ้มเสียงที่แปลกแปร่งออกไปจากเดิม โดยถือว่าทำนองนี้คือ ทำนองอาเซียน (ASEAN theme) ต่อมาในกระบวนที่ 2 The Chant of Rattanatri นั้น อาจารย์บรรยายว่าได้แรงบันดาลใจจากเสียงระฆังเล็กๆ จากวัด ซึ่งก็ไปเชื่อมโยงกับพระรัตนตรัย หรือก็คือพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบพุทธของหลายประเทศในอาเซียนนั่นเอง กระบวนนี้ฟังแล้วดูสงบๆ ใช้เสียงเปียโนจำลองเสียงระฆังออกมาได้อย่างน่าฟัง ส่วนกระบวนที่ 3 Lam Sipandon นั้น ก็มีลีลาแบบเพลงอีสานและเพลงลาวอย่างที่เราค่อนข้างคุ้นเคย ซึ่งหมายถึงแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวประเทศอาเซียนบนภาคพื้นทวีปอย่างไม่แบ่งแยกวัฒนธรรม แต่กลุ่มคนอีสานและคนลาวนั้นอาจจะใกล้ชิดแม่น้ำโขงมากเป็นพิเศษ จึงใช้เสียงและลีลาแบบนี้สะท้อนวิญญาณของแม่น้ำโขง และในกระบวนที่ 4 Gala ซึ่งหมายถึงหน้ากาล หรือ เกียรติมุข ซึ่งอยู่ตามปราสาทหินต่างๆ ที่เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ซึ่งก็มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากเช่นเดียวกัน โดยมีทำนองที่ค่อนข้างตื่นเต้นรุกเร้า เหมือนกาลเวลาที่กลืนกินสรรพสิ่ง โดยใช้เสียงเปียโนที่ดุดัน และเสียงเครื่องสายหวีดร้องไปมา
(Facebook Pro Musica)
ต่อมาในกระบวนที่ 5 Gejok Lesung ซึ่งหมายถึงเพลงตำข้าวในวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ซึ่งจริงๆ แล้วชนชาวอาเซียนนั้นต่างก็มีวัฒนธรรมข้าวทั้งสิ้น จึงเป็นเสียงการเคาะเครื่องสายทั้งหลายแทนเสียงการตำข้าว แล้วเปียโนค่อยมารับต่อด้วยทำนองอาเซียน ถัดมาเป็นกระบวนที่ 6 Kakula ซึ่งเป็นชื่อเครื่องดนตรีพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ตอนใต้และหมู่เกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกาเมลัน และฆ้องวง ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นวัฒนธรรมร่วมอีกอย่างหนึ่งของประชาชาติอาเซียนเช่นกัน แม้รูปร่างและสำเนียงจะแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าก็มาจากรากเหง้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันภายในภูมิภาคนี้ โดยทำนองในกระบวนนี้จะมีลีลาที่คึกคักสนุกสนาน ซึ่งดัดแปลงมาจากสำเนียงของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ส่วนกระบวนที่ 7 Kyo ซึ่งเป็นคำเรียกรวมเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของพม่า อันมีทั้งประเภทพิณ จะเข้ และซอ แน่นอนว่าแม้ว่าทำนองของกระบวนนี้จะหยิบยืมทำนองพม่ามา แต่ก็มีความหมายว่าดนตรีเครื่องสายในอาเซียนก็มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเช่นกัน โดยในกระบวนนี้เครื่องสายอย่างเชลโลได้รับบทบาทเด่นเป็นพิเศษ และตามด้วยกระบวนที่ 8 Borobudur หรือบุโรพุทโธ ผมคิดว่าเป็นอีกกระบวนหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของชุดการแสดงนี้ เนื่องจากมีทำนองที่ยิ่งใหญ่ สง่างาม บางครั้งก็รุกเร้ารุนแรง และจบลงด้วยความสงบ เหมือนจะสื่อว่าความยิ่งใหญ่ของบุโรพุทโธนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ทางจิตวิญญาณมากกว่าทางวัตถุ ทั้งนี้บุโรพุทโธอาจจะถือว่าเป็นตัวแทนของศาสนสถานโบราณที่ยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจริงๆ ก็มีมากมาย ซึ่งเมื่อครั้งที่ก่อสร้างขึ้นมานั้นก็เพื่อวัตถุประสงค์ในทางจิตวิญญาณและเพื่อบูชาองค์ศาสดาและพระผู้เป็นเจ้าของตนทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันความหมายเหล่านั้นอาจเลือนหายไปมากจนเหลือเพียงแต่ความเป็นวัตถุและแหล่งท่องเที่ยวไป
ส่วนกระบวนที่ 9 I-nao and Bussaba ซึ่งเป็นวรรณคดีไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากนิทานพื้นบ้านชวา แสดงถึงความสัมพันธ์และการถ่ายวัฒนธรรมซึ่งกันและกันในภูมิภาคนี้ ซึ่งแม้แต่นิทานพื้นบ้านก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แต่ละดินแดนสามารถผูกพันกันได้ ซึ่งจากที่ฟังกระบวนนี้ผมเองรู้สึกว่าจะมีความเป็นท่วงทำนองไทยเป็นหลัก เช่นมีการหยิบยืมทำนองเพลงค้างคาวกินกล้วยมาอยู่ในกระบวนนี้ด้วย แต่ก็มีเทคนิคสมัยใหม่บางประการที่สร้างสุ้มเสียงที่แปลกหู เช่นการตีสายเปียโนที่ทำให้เสียงออกมาหม่นและลี้ลับ ตามมาด้วยกระบวนที่ 10 Inle Lake ซึ่งก็คือทะเลสาบที่สวยงามแห่งรัฐฉาน ประเทศพม่า ท่วงทำนองที่ไพเราะ งดงาม และสงบเยือกเย็น ชวนให้เรานึกถึงความยิ่งใหญ่และงดงามของธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นจิตวิญญาณร่วมกันอีกอย่างหนึ่งของมนุษยชาติและชาวประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนที่ 11 The Gong Ensemble of Hmong ในทำนองที่เรียบง่ายแต่ไพเราะงดงาม ซึ่งสองกระบวนหลังนี้จะเป็นการกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยในรัฐชาติสมัยใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือชาวไทใหญ่ในพม่า และชาวม้งในพื้นที่ภูเขาแถบจีนตอนใต้และทางตอนเหนือของกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นการชี้ให้เห็นว่ายังมีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่อีกมากมายในภูมิภาคนี้ จิตวิญญาณของอาเซียนจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากละเลยการมีอยู่และความมีอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยต่างๆ และบทเพลงก็มาสรุปปิดท้ายด้วยกระบวนที่ 12 Postlude ซึ่งเอาทำนองหลักหรือทำนองอาเซียนที่ปรากฏขึ้นในกระบวนแรกกลับมาเล่นใหม่ และหยิบเอาบางส่วนของกระบวนต่างๆ มาร้อยเรียงกันอย่างน่าฟัง ก่อนจบบทเพลงอย่างยิ่งใหญ่และมีพลัง
สำหรับการบรรเลงของนักแสดงทั้ง 5 ท่านนี้ เนื่องจากเป็นการแสดงครั้งแรก เราคงไม่มีข้อเปรียบเทียบกับการแสดงที่เคยมีมาแล้ว และยิ่งได้รับการแนะนำการซ้อมและการเล่นโดยตัวคีตกวีเอง คาดว่าน่าจะเป็นที่พอใจของคีตกวีอยู่แล้ว นักดนตรีทุกคนมีบทบาทต่อเพลงโดยไม่มีใครด้อยกว่าใคร ทุกเครื่องได้โอกาสในการเล่นทำนองหลัก แต่ว่าทุกส่วนก็มีความสำคัญที่เติมเต็มบทเพลงให้สมบูรณ์ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเปียโนนั้นมีความเป็นผู้นำและเป็นผู้ควบคุมจังหวะให้กับวงมากเป็นพิเศษ ซึ่ง อ.พรพรรณ ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี และนักดนตรีทุกคนก็ค่อนข้างช่ำชองในการเล่นเชมเบอร์มิวสิคอยู่แล้ว จึงปรับตัวเข้าหากันได้เป็นอย่างดี อนึ่งการที่ได้รับความเอื้อเฟื้อให้ยืมเปียโนขนาดใหญ่มาแสดงในครั้งนี้ เอื้อให้เราได้ฟังเสียงเปียโนที่โดดเด่นและสง่างามเป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนของบทเพลงนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นบทเพลงที่น่าฟัง มีความหลากหลาย แต่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือการสกัดเอาความเป็นประชาชาติอาเซียนในแต่ละมิติออกมานำเสนอ ทั้งในรูปแบบของจังหวะและทำนอง มาผสมผสานกับการประสมวงแบบตะวันตกได้อย่างลงตัวและมีพลังอย่างมาก ซึ่งผมคิดว่ากลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้านของแต่ละประเทศนั้นก็ยังแฝงอยู่ ซึ่งถ้าคนประเทศนั้นๆ มาได้ยินเข้าก็คงแอบยิ้มอยู่ในใจว่านี่คือสำเนียงที่เขาคุ้นเคย อีกประการคือ อ.ณรงค์ฤทธิ์ไม่ได้ต้องการให้เพลงนี้เป็นเพลงที่มีความคงแก่เรียนมากเสียจนแห้งแล้งหรือฟังยากแต่ประการใด แต่อาจารย์ได้ทำเพลงออกมาอย่างเรียบง่าย (แฝงความซับซ้อนในบางช่วง) เพื่อให้มหาชนได้ชื่นชมผลงานชิ้นนี้ได้อย่างสบายต่อโสตประสาท แต่ก็มิได้ง่ายจนไม่เหลือชั้นเชิงอันสลับซับซ้อนของท่วงทำนองและการประสานเสียงระดับบรมครูเอาไว้
ผมคิดว่าวง Pro Musica และสยามสมาคม ได้สร้างสิ่งที่เป็นคุณูปการแก่วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการเผยแพร่ผลงานขนาดใหญ่ (ในรูปแบบวงขนาดเล็ก) ของคีตกวีไทย ซึ่งแต่งเพลงในโจทย์ที่ท้าทายมาก คือการแสวงหาจิตวิญญาณร่วมกันของชาวประเทศอาเซียน และผมคิดว่าอาจารย์ก็ตอบโจทย์นั้นได้เป็นอย่างดี (แม้ว่าผมจะมีข้อโต้แย้งเล็กน้อยว่าอาจารย์ยังไม่ได้บรรจุเรื่องวัฒนธรรมอิสลามและเรื่องวัฒนธรรมเวียดนามเข้ามาในงานชิ้นนี้ด้วย) และการนำเสนอด้วยรูปแบบเปียโนควินเต็ตนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลของวงดนตรีขนาดเล็กชนิดนี้ ซึ่งเรียกได้ว่า “จิ๋วแต่แจ๋ว” จริงๆ และยังเอื้อให้สามารถนำบทเพลงนี้ออกแสดงได้บ่อยครั้งขึ้นด้วย ซึ่งทราบมาว่าวง Tacet(i) Ensemble ซึ่งเป็นวงคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรงก็จะเล่นเพลงนี้เช่นกัน ในมหกรรม Thailand International Composition Festival 2016 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2559 ด้วย (แต่เล่นไม่ครบทุกกระบวน) และวง Pro Musica จะบรรเลงเพลงนี้อีกครั้ง ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ณ หอแสดงดนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งหากใครพลาดการฟังที่สยามสมาคมในครั้งนี้ ก็ไม่ควรพลาดอีกเป็นอย่างยิ่ง