อ่านบทกวีชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๕๙)

อ่านบทกวีชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๕๙)

%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%9e%e0%b8%a4%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b9%8c_signature

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com

 

หากอยากจะลองสำรวจทิศทางของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย การประกวดในเวทีซีไรต์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแห่งหนึ่ง เพราะจากหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ออกมาใหม่ในรอบสามปีย้อนหลังจำนวน ๘๘ เล่มจากทั่วฟ้าเมืองไทย คณะกรรมการก็ได้คัดสรรกลั่นกรองผลงานที่โดดเด่นจำนวน ๑๘ เล่มในรอบ Longlist และเหลือเพียง ๖ เล่มในรอบ Shortlist ในที่สุด ซึ่งก็ต้องถือเป็นการคัดเลือกกันอย่างเข้มข้น เพื่อเฟ้นหาหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ที่หนักแน่นและสร้างสรรค์มากที่สุดเพื่อประกาศให้รางวัลกันต่อไป โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ ก็มีหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์จากกวีหกท่านที่เข้ารอบสุดท้ายดังรายชื่อตามลำดับตัวอักษรของชื่อหนังสือดังนี้

 

  • ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ โดย โรสนี นูรฟารีดา
  • ทางจักรา’ โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ
  • นครคนนอก’ โดย พลัง เพียงพิรุฬห์
  • บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ โดย บัญชา อ่อนดี
  • พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล’ โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม
  • เพลงแม่น้ำ’ โดย โขงรัก คำไพโรจน์

 

และในระหว่างที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลกำลังถกเถียงพิจารณาเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ผู้เขียนก็ขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ลองสัมผัสโวหารกวีของผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายว่ามีความแตกต่างหลากหลายประการใดกันบ้าง และที่สำคัญคือเพื่อร่วมสำรวจว่าทิศทางบางส่วนของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยมีหน้าตาเป็นอย่างไร แตกต่างไปจากขนบแห่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย หรือมีการประดิษฐ์ฉันทลักษณ์ใหม่ ๆ กันประการไหนเป็นรายเล่มไปดังนี้

1 ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา โดย โรสนี นูรฟารีดา

%e0%b9%84%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b2

หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของนักเขียนหญิงมุสลิม โรสนี นูรฟารีดา ที่อาจทำสถิติผลงานของนักเขียนสตรีชิ้นแรกสองปีติดต่อกันที่ได้รับรางวัลซีไรต์ หลังจากที่ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ของ วีรพร นิติประภา เพิ่งจะคว้าชัยไปเมื่อปีกลาย ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ เป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่มีเนื้อหาว่าด้วยเหตุการณ์และความเป็นไปร่วมสมัยอันหลากหลาย แบ่งเนื้อหาออกเป็นสาม Part โดยแต่ละ Part จะเปิดนำด้วยบทกวีภาษาอังกฤษซึ่งแปลมาจากบทกวีภาษาไทยที่รวมอยู่ใน Part นั้น ๆ นั่นคือ Part One: หลงทางในประเทศตัวเอง (Lost in Homeland) / Part Two: ที่ซึ่งต้นลั่นทมทอดเงาทาบตลอดวัน (A Place Lantom Shade Over) และ Part Three: กางแผนที่ดาวนำทางทุกค่ำคืน (Starry Map Guiding Me Every Night) แต่หลังจากที่ได้อ่านบทกวีในแต่ละ Part ซึ่งประเดิมด้วยบทกวีภาษาอังกฤษที่ค่อนไปทาง Broken English แล้ว ก็อาจยังไม่ได้ภาพชัดว่าแต่ละ Part มีความเฉพาะเชิงเนื้อหาในระดับภาพรวมที่แตกต่างกันอย่างไร เพราะดูเหมือนหลาย ๆ ชิ้นก็สามารถสลับ Part กันไปมาได้ ด้วยน้ำเสียงและความคิดที่มีเอกภาพอันน่าสนใจจนอาจไม่จำเป็นต้องแบ่ง Part อะไรเลยด้วยซ้ำ

ความพิเศษของรวมบทกวีเล่มนี้คงอยู่ที่มุมมองของ โรสนี นูรฟารีดา ในการตั้งข้อกังขากับสภาพความวิปริตของโลกร่วมสมัยด้วยสมองและหัวใจที่ทั้งสงสัยและห่วงใย ส่องสะท้อนสถานการณ์โหดอำมหิตด้วยภาษาอันละเมียดและละมุนละไมโดยไม่ได้แสดงอาการกราดเกรี้ยวไม่พอใจเหมือนกวีร่วมรุ่นรายอื่น ๆ  ดังจะเห็นได้จากบทกวีที่เสียดเย้ยมนุษย์งานที่ชื่อ ‘เก็บกู้มาประกอบใหม่’

                                “จนกว่าร่างจะแหลกสลายถึงระดับอะตอม

                                ไม่มีชิ้นส่วนไหนเก็บกู้ได้

                                คนต่อไปจึงเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทนที่

                                ประกอบแขนขาซึ่งเหลืออยู่เข้ากับเก้าอี้ตัวใหม่

                                เคลื่อนไหวด้วยอะไหล่ที่ไม่ครบสามสิบสอง

                                รักษาเนื้อตัวจากรอยขูดขีด

                                รอวันบุบบี้

                                กระทั่งทุกชิ้นส่วนแหลกสลาย

                                คนต่อไปจึงเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทนที่

                                วัฏจักรซ้ำเดิมไม่รู้จบ…”

 

นอกจากนี้บทกวีหลาย ๆ ชิ้นก็เฝ้ามองพฤติกรรมและความเป็นไปของผู้คนร่วมสมัยผ่านการกระแนะกระแหนเชิงหยิกแกมหยอกแฟชั่นการดื่มกาแฟเพื่อความเท่ ชีวิตบนไทม์ไลน์ที่ตัดสินกันด้วยดัชนียอดไลค์ และกระแสชีวิตแบบ slow life ซึ่งก็มีท่าทีของการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปอย่างไรโดยไม่ได้มีน้ำเสียงของการชี้วัดตัดสิน ซึ่งเนื้อหาใกล้ตัวเหล่านี้ก็จะถูกสลับกับความเป็นไปในโลกใบใหญ่ทั้งสงครามและความรุนแรงที่ไม่เคยมีทีท่าว่าจะยุติลงได้ รวมถึงภัยร่วมสมัยอย่างเหตุการณ์ควันไฟจากอินโดนีเซีย หรือกรณีของเที่ยวบิน MH370 เป็นต้น

และด้วยความที่กวีก็เป็นสตรีมุสลิมที่เกิดเติบโตและพำนักอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทกวีหลาย ๆ ชิ้นจึงสะท้อนกลิ่นอายของวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวมุสลิม ไม่ว่าจะเป็น ‘เจ้าสาวในกุโบร์’, ‘รอมฎอนติดปีก’ และที่น่าสนใจมากที่สุดก็เห็นจะเป็น ‘แมวตัวหนึ่งกระโดดข้ามกำแพง’ ที่เทียบเคียงวัฒนธรรมอิสลามกับพุทธผ่านการรับรู้อันอันบริสุทธิ์ของแมวได้อย่างชวนให้เห็นภาพ

                                “กำแพงกุโบร์กั้นพื้นที่แห่งความเป็นตาย

                                 เท่ากันกับกุโบร์ทั้งโลก

                                 แว่วเสียงอาซานจากสุเหร่าขาดห้วงตามแรงลม

                                ไม่ผิดเพี้ยนจากเสียงอาซานทั้งโลก

                                ที่ใช้บอกเวลาละหมาด

                                กำแพงวัดก็คงไม่ต่างกัน

                                แมวตัวหนึ่งข้ามกำแพงกุโบร์มุดเข้ากำแพงวัด

                               ไล่จับหนูสักตัวในแถวซับซ้อนของโกฏิบัวหลากสี

                               ขุดคุ้ยตะกุยเล็บไปตามรายชื่อบนป้ายหินอ่อนข้างกำแพง…”

 

                ซึ่งการใช้ภาพเทียบลักษณะนี้เองที่ดูจะเป็นลีลาอันโดดเด่นสำคัญของรวมบทกวีเล่มนี้ โดยเฉพาะการใช้วิธีเทียบภาพตรงข้ามในลักษณะ ‘ปฏิพจน์’ หรือ oxymoron นำสิ่งที่ไม่น่าจะไปด้วยกันมาอยู่ด้วยกันแสดงน้ำเสียงของการประชดประชันและแดกดันอันอ่อนโยน ดังจะเห็นได้จากในบท ‘ความตายสีพาสเทล’

                                                “…ทาแฮนด์ครีมก่อนบรรจุกระสุนลงรังเพลิง

                                                 ความอ่อนโยนถูกส่งผ่านไปยังลำกล้อง

                                                รดน้ำต้นกุหลาบหน้าบังเกอร์ทุกๆ เช้า

                                                รอเถากุหลาบไต่เลื้อยขึ้นมาเป็นซุ้ม

                                                เลือกตุ๊กตาคิตตี้ตัวที่ใส่ชุดเอี๊ยมเป็นที่กำบัง

                                                ฮัมเพลงชินจังขณะเหนี่ยวไกปืน

                                                โอะ โอะ โอ๊ะ โอย

                                                กระสุนลายพอลก้าดอทสีแดงขาวเฉี่ยวแขนใครสักคน…”

 

                ซึ่งก็เป็นวิธีที่ขับเน้นภาพความรุนแรงด้วยขั้วตรงข้ามแห่งความน่ารักได้อย่างมีพลัง

                อย่างไรก็ดีแม้ว่าเนื้อหาและลีลาใน ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ จะมีความร่วมสมัยและให้น้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างชัดเจนอย่างไร แต่ในภาพรวมแล้วบทกวีทั้งเล่มก็ยังคงขาดความ ‘เข้ม’ ในระดับที่จะไปประชันขันแข่งกับเล่มอื่น ๆ ที่อาจจะมี ‘น้ำหนัก’ มากกว่าได้ ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ จึงนับเป็นงานกวีร่วมสมัยที่ ‘น่าอ่าน’ ไม่น้อยกว่าเล่มใด ๆ แต่จะเข้าเส้นชัยซีไรต์ได้หรือไม่นี่ก็ต้องมาลองดูว่ามีเล่มไหนที่ ‘ปัง’ กว่าหรือเปล่า

2. ‘ทางจักรา โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ

%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b2-1

ศิวกานท์ ปทุมสูติ ถือได้ว่าเป็นกวีที่เจนสนามการเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มากที่สุดแล้วในบรรดากวีทั้งหกรายที่กำลังลุ้นรางวัลกันในปีนี้ โดยหากจะนับเฉพาะเล่มที่ใช้นามปากกา ศิวกานท์ ปทุมสูติ จริง ๆ ‘ทางจักรา’ นับเป็นรวมบทกวีพินธ์เล่มที่ห้าแล้วที่ได้เข้ารอบลึก ต่อจาก ‘กวีนิพนธ์ร่วมสมัย’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ‘สร้อยสันติภาพ’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ‘ครอบครัวดวงตะวัน’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และ ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่ง ‘ทางจักรา’ ไม่เพียงแต่จะสร้างนิมิตหมายใหม่ ๆ ให้กับผลงานที่เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ เองเท่านั้นด้วยการนำเสนอในรูปแบบ ‘ปรัชญนิยายกวีนิพนธ์’ แต่ยังถือว่าเป็นกวีนิพนธ์เล่มแรกในประวัติศาสตร์การประกวดรางวัลซีไรต์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้โดยไม่ได้เป็นผลงานรวมบทกวี ทว่ามีการเล่าเรื่องราวในรูปแบบนิยายละม้ายกับที่ มาลา คำจันทร์ เคยนำเสนอไว้ในบทประพันธ์ ‘เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน’ ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ในหมวดนวนิยายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จนโดนประณามสวนกลับแบบทันทีว่ามันถือเป็นนิยายร้อยแก้วหรือนิราศร้อยกรองกันแน่?

แต่สำหรับ ‘ทางจักรา’ แล้ว ก็นับได้ว่าเป็นผลงานที่สะท้อนความ ‘ป๋า’ ในลีลาการประพันธ์ร้อยกรองหลากฉันทลักษณ์ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถร้อยเรียงเรื่องราวอันเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายจนกลายเป็นกวีนิพนธ์ความยาวเกือบ ๒๖๐ หน้า ไม่ต่างจากนิทานคำกลอนขนาดยาวสมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่าง ‘พระอภัยมณี’ หรือ ‘ขุนช้าง ขุนแผน’ เลย

                ‘ทางจักรา’ เล่าเรื่องราวการเดินทางด้วยจักรยานของครูชายวัยชรากับลูกศิษย์หนุ่มนาม ‘ภูผา’ ดั้นด้นไปตามท้องที่ต่าง ๆ พบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา สำรวจภาวะความเปลี่ยนแปลงแห่งสังคมร่วมสมัยผ่านสายตาของครูผู้มากประสบการณ์ กับศิษย์หนุ่มผู้กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ชีวิต ความแพรวพราวที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดในกวีนิพนธ์เล่มนี้ก็คงอยู่ที่การใช้รูปแบบฉันทลักษณ์อันหลากหลายสลับสับเปลี่ยนกันไปเพื่อเล่าเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่ต่อเนื่องกัน สร้างจังหวะจะโคนและลูกเล่นด้านสัมผัสที่อุดมไปด้วยสีสัน เรียกได้ว่าจะสุ่มหยิบฉันทลักษณ์แบบไหนหรืออย่างไรมา ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็ ‘สามารถ’ ร่ายรจนาออกมาเป็นกวีเพื่อเล่าเรื่องราวให้ได้ทั้งหมด ฉันทลักษณ์ที่พบเห็นในเล่มนี้จึงมีทั้ง กลอนสุภาพ กลอนกลบท โคลงสี่สุภาพ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒ และยังมีการเล่นกับขนาดตัวอักษร และการใช้ตัวเอน เพื่อแสดงเสียงเล่าที่แตกต่างกันออกไป ให้รสชาติเหมือนกำลังอ่านนิยายที่ใช้ภาษาซึ่งร้อยไว้ด้วยสัมผัสอันพริ้งพรายไหลลื่นไปตั้งแต่ต้นจนจบ

                เนื้อหาของ ‘ทางจักรา’ แบ่งออกเป็นสี่ภาคตามช่วงฤดู นั่นคือ ภาค ๑: ปลายฤดูหนาว / ภาค ๒: เข้าฤดูร้อน / ภาค ๓: สู่ฤดูฝน / ภาค ๔: ฟากฤดูกาล เพื่อเล่าถึงภาพชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกันไป แต่เรื่องราวก็ได้แถลงไว้ตั้งแต่ภาคแรกแล้วว่าการเดินทางครั้งนี้ทั้งครูและ ‘ภูผา’ ก็ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนว่าต้องการไปยังแห่งหนใด มีเพียงรถจักรยานคู่กายเท่านั้นที่จะพาพวกเขาออกเดินทางสู่โลกกว้าง คล้ายเป็นสัญลักษณ์อยู่ลาง ๆ ว่าจักรยานก็อาจเป็นเสมือนพาหนะแห่งการใช้ชีวิตที่สุดท้ายก็ต้องขับเคลื่อนดำเนินไปอย่างตัวใครตัวมัน ซึ่ง ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็แฝงนัยยะแห่งการหัดปั่นจักรยานเอาไว้ตั้งแต่กาพย์ยานี ๑๑ ในหน้าแรกว่ามันอาจไม่ได้ต่างจากการฝึกใช้ชีวิต

                                “…เพียงพักสักครู่ครา                           พ่อก็พาให้ข้าหัด

                              บ่ายนั้นในลานวัด                                  สัมผัสรักรู้จักลาน

                              อ้ายหนูดูพ่อไว้                                     กายกับใจให้ผสาน

                              กบก้นอยู่บนอาน                                  เป็นหนึ่งเดียวกับล้อกง

                              ขึ้นคร่อมทะมัดทะแมง                           ตีนขวาแกร่งพร้อมแรงส่ง

                             ตีนซ้ายปลายเหยียดตรง                         ลงแตะลานกระทั้นแรง…”

 

                โดยในระหว่างการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็สะท้อนเส้นทางการใช้ชีวิตของมนุษย์ผ่านสภาพความแตกต่างระหว่างครู-ศิษย์ผู้ต่างวัย โดยเฉพาะการยอมรับสภาพความชราของผู้เป็นครู ที่เฝ้าดูลูกศิษย์ที่ยังมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมจะดำรงชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่อไปจากการปลูกฝังของท่อนไม้แก่ที่กำลังใกล้ฝั่ง

 

                                     “ลอบแลวัยหนุ่มของภูผา                                เขาพุ่งตัวไปข้างหน้าได้เต็มที่

                                ครั้นต้องคอยรอยชราอยู่ช้าที                               เผลอมีอารมณ์ขมรำคาญ

                                แต่เขาก็เรียนรู้การดูแล                         ปรับแปรกิริยาอย่างกล้าหาญ

                                ผ่อนชะลอรอข้าที่คืบคลาน                  ตามสภาพสังขารอันควรเป็น…”

 

                แต่เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของ ปรัชญนิยายกวีนิพนธ์ เรื่องนี้ ก็มักจะเป็นการสนทนาธรรมระหว่าง ครู กับศิษย์ภูผา ผ่านคำปุจฉาวิสัชนาถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาได้พบเจอ ตั้งคำถามถึงครรลองโลก ไปจนถึงถกปรัชญาค้นหานิยามของความสุข ความทุกข์ และชีวิต สะท้อนความคิดโต้ตอบกันไปมาอย่างผู้มีปัญญา ซึ่งก็นับเป็นเนื้อหาที่เปิดโอกาสให้ ศิวกานท์ ปทุมสูติ สามารถใช้รูปแบบฉันทลักษณ์อันหลากหลายและแพรวพราวมาบอกเล่าองค์ความคิดที่เป็นนามธรรมได้อย่างน่าฟัง ดังเช่นการใช้กลอนกลบทมาเล่นคำกระทู้หน้าหลัง เดิน-หา-คา-เท้า เปิดปิดบาท

                                                “เดิน ไปกลับสดับใดใคร่ดู เดิน

                                                หา ค้นใดให้เพลินเพลินค้น หา

                                                คา ที่ใจใดเปล่าเงาร่าง คา

                                                เท้า มีคำนำพาตามี เท้า

                                               เดิน ดูใคร่ใดสดับกลับไป เดิน

                                              หา ค้นเพลินเพลินให้ใดค้น หา

                                             คา ร่างเงาเปล่าใดใจที่ คา

                                            เท้า มีตาพานำคำมี เท้า

 

                ซึ่งเหมือนจะเป็นการเล่นคำที่แฝงปริศนาธรรมชวนให้ต้องคิดตามในทุก ๆ วรรคประโยค

                อย่างไรก็ดี เมื่อมองภาพรวมของบทสนทนาปริศนาธรรมระหว่างครู ภูผา และตัวละครอื่น ๆ ที่วนเวียนกันเข้ามาไปตลอดทั้งเล่มแล้ว ก็อาจเกิดความรู้สึกได้ว่า บทประพันธ์ยังไม่มีความหลักแหลมและคมคายเท่าหนังสือรวมบทกวีเล่มอื่น ๆ ที่ ศิวกานท์ ปทุมสูติ เคยตีพิมพ์ออกมา โดยเฉพาะกับเล่ม ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ ซึ่งตั้งคำถามต่าง ๆ ได้อย่างเปิดโลกและลึกซึ้งชวนคิดกว่ากันมาก เนื้อหารวม ๆ ของ ‘ทางจักรา’ จึงอาจจะดูเบาเกินไปสำหรับคำเรียกขานว่า ‘ปรัชญนิยายกวีนิพนธ์’ เพราะหลาย ๆ คำปุจฉาของมันก็ยังเวียนวนอยู่กับประเด็นพื้น ๆ ไม่ได้น่าตื่นเต้นหรือไปได้ไกลเท่ากับงานชิ้นอื่น ๆ ที่เขาเคย Top Form มามากกว่า เป็นได้ได้หรือไม่ว่าความหมกมุ่นอยู่กับรูปแบบกลับเป็นอุปสรรคขวางกั้นไปให้คิดเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งได้กว่านี้   แต่หากจะมองว่าน่าจะถึงเวลาเสียทีที่ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก้าวถึงเส้นชัยซีไรต์กับเขาบ้าง หลังจากเฉียดฉิวมาแล้วหลายสมัย ข้าพเจ้าก็พร้อมจะเข้าใจ ก่อนที่เขาจะหมดไฟไม่สามารถแม้แต่จะปั่นจักรยานต่อไปได้!

3. ‘นครคนนอก โดย พลัง เพียงพิรุฬห์

%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%81

สำหรับร่วมบทกวีที่ถือว่า ‘ฮิป’ และ ‘วัยรุ่น’ มากที่สุดที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้น ‘นครคนนอก’ ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ซึ่งเคยมีผลงานรวมบทกวี ‘โลกใบเล็ก’ เข้ารอบสุดท้ายมาแล้วเมื่อสามปีก่อน ซึ่งเมื่อได้อ่านเทียบกันก็คงจะเห็นได้ชัดว่า ‘นครคนนอก’ ฉีกแนวไปจากรวมบทกวีใส ๆ แต่อบอุ่นอย่าง ‘โลกใบเล็ก’ อยู่พอสมควร ทั้งการเลือกใช้รูปฟอร์มใหม่ ๆ ในการประพันธ์ และการขยับขยายมุมมองของเนื้อหาให้สะท้อนปัญหาของสังคมและผู้คนในวงกว้างมากขึ้น

                ความโดดเด่นของ ‘นครคนนอก’ คือการใช้ฉันทลักษณ์แหวกขนบอันหลากหลายสะท้อนความอิสระไร้กรอบของโลกร่วมสมัยที่ไม่ติดอยู่กับโซ่ตรวนแห่งธรรมเนียมในอดีตอีกต่อไป บทกวีในเล่มนี้จึงผสมผสานทั้งฉันทลักษณ์ดั้งเดิมอย่าง คำกลอน โคลงสี่สุภาพ กาพย์ฉบัง ๑๖ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เข้ากับฉันทลักษณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ เช่น บทกวีวรรณรูปร่วมสมัย ร่ายยาวแฮชแท็ก และเนื้อเพลงแร็พแบทเทิลกับเดธเมทัล เป็นต้น ซึ่งรูปเล่มของรวมบทกวีเล่มนี้ก็มีการใช้ภาพประกอบลายเส้นอันโดดเด่นสะดุดตา โดยเฉพาะกับบทกวีลีลาวรรณรูปลักษณะเดียวกับผลงานหลาย ๆ ชิ้นของ ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ซึ่ง พลัง เพียงพิรุฬห์ ก็ได้ปรับให้ร่วมสมัยด้วยการเล่นกับสัญญะเชิงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังจะเห็นในบทกวีวรรณรูปที่ชื่อ ‘อีโมติคอนซิมโบลิสม์’ ซึ่งใช้ภาพการ์ตูนใบหน้าแสดงอารมณ์ emoticon ที่ผู้คนร่วมสมัยต่างคุ้นเคยมาเรียงตัวเพื่อย้ำความสำคัญทางอารมณ์ของ ‘ตัวกู’ ได้อย่างเจ็บแสบและเฉียบคม

%e0%b8%81%e0%b8%b9

เนื้อหาในบทกวีฉันทลักษณ์ส่วนใหญ่ใน ‘นครคนนอก’ มักจะกล่าวถึงชีวิตอันดิ้นรนปากกัดตีนถีบของผู้คนชนชั้นแรงงานร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋ารถเมล์ คนงานหั่นปลา ยาม ช่างก่อสร้าง คนงานโรงกลึง แม่ค้าไข่ปิ้ง ไปจนถึงชาวประมงหาปลา ว่าพวกเขาต้องใช้ความพยายามในการหาเลี้ยงตัวเองกันอย่างยากลำบากขนาดไหนในสังคมที่อุดมไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันกันเช่นนี้ สิ่งที่กวีโอดครวญไว้ในบทร้อยกรองเหล่านี้จึงมีท่าทีเชิงวรรณศิลป์แบบติดดินใช้คำง่าย ๆ ที่ผู้อ่านคุ้นชินกันในชีวิตประจำวัน แถมฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้คาดคั้นว่าจะต้องถูกต้องตรงตามแบบแผนด้วยจำนวนคำและการลงสัมผัสที่ไม่ได้ถึงกับเคร่งครัดตามตำรับการประพันธ์แบบดั้งเดิม โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ พลัง เพียงพิรุฬห์ เอง ก็ตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์เราได้วิวัฒน์พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาถูกทางแล้วจริงหรือไม่ โดยมีการตบสรุปอย่างคมคายในบทกวีที่ชื่อ ‘มนุษย์ต่างดาว’ ซึ่งนำเอาสภาวะเหนือชั้นของสิ่งมีชีวิตนอกโลกผู้ถึงพร้อมด้วยอารยะมาประจานความอ่อนด้อยและล้าหลังของพวกเราเหล่ามวลมนุษย์ได้อย่างน่าพินิจ

                                “… ดาวของผมนะ                                 ไม่มีภาระให้ต้องบ่น

                                ไม่มีเขตแดนให้เดินชน                           ไม่ต้องค้นเลขบัตรประจำตัว

                                ไม่มีสงคราม ไม่จำเป็น                           ยังไม่เคยเห็นใครทำชั่ว

                                ยิ่งทำงานจมปลักหนักเหมือนวัว                 คุณไม่ต้องกลัว สบายสบาย

                               ไม่ต้องใช้โทรศัพท์หรอกสักนิด                  ใช้แต่โทรจิตเป็นเครือข่าย

                               ไม่ต้องเติมเงินให้วุ่นวาย                          ไม่ต้องย้ายค่ายให้เรื่องยาว

                               บินโลว์คอสต์ไฮไพรซ์ไม่ต้องกลัว               อยากหายตัวไปในหนก็แค่หาว

                               อยากเหาะกระเดาะลิ้นก็บินพราว                ดวงดาวของผมร่มเย็นจริง…”

 

                แต่บทกวีที่สร้างนิมิตหมายด้านฉันทลักษณ์ใหม่ ๆ ให้กับวงการกวีนิพนธ์ร่วมสมัยของไทยก็เห็นจะเป็น บทกวีที่มาในลีลาของเนื้อเพลง ‘แร็พแบทเทิล’ ระหว่าง เอ็มซี อวตาร กับ วิทยาธร เอ็นวีเอ็น ด้วยฉันทลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของการไล่สัมผัสสระเรื้อรังท้ายคำเป็นชุด ๆ กับการผสมสำเนียงภาษาต่างถิ่นได้ทั้งกลิ่นอายและจังหวะจะโคนของดนตรี Hip Hop แบบอเมริกันอันทันสมัยยิ่งนัก ในขณะที่เนื้อหาก็ว่าถึงพฤติกรรมเหลิงอำนาจที่อาจส่งผลบานปลายไปถึงการก่อสงครามและความรุนแรง นับเป็นบทกวีที่หนักแน่นและเข้มข้นทั้งรูปแบบการประพันธ์ที่แปลกใหม่และสาระใกล้ตัวที่ยังคงความร่วมสมัยไม่ว่าความเจริญจะวิวัฒน์ไปถึงระดับไหนแล้วก็ตาม

                                  แร็พ แบทเทิล

                                “วิทยาธร เอ็นวีเอ็น:

วอทซับโย่..โย่… เวคอัพโฮ่..โฮ่ นี่ พวกคุณมาดูนี่ สงครามคือสินค้า มันคือมัจจุราชไร้โฉมหน้า คือลูกปืนประหารปัญญา คือเรื่องราวของคนบ้า วันนี้มาเจอเอ็มซีอวตาร พูดไปพูดมามีแต่เรื่องอันทรมาน สงครามคือปัญหา อำนาจคือความบ้า บ้าอำนาจคือความเสียสติสิ้นดีเลยคุณ ว่าไหม โย่…”

 

                ความสดใหม่ แตกต่างและไม่เหมือนใครของรวมบทกวี ‘นครคนนอก’ จึงน่าจะเป็นภาพแทนของงานกวีนิพนธ์จากคนรุ่นใหม่ผู้ไม่ได้หันหลังละเลยให้กับธรรมเนียมปฏิบัติของขนบการประพันธ์แขนงที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน หากเป็นการต่อยอดวัฒนานำพาบทกวีร่วมสมัยของไทยให้แผ่กิ่งก้านออกไปด้วยความหลากหลาย ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่าหากคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์จะมีแต่นักอ่านรุ่นหนุ่มสาวหน้าใส รวมบทกวี ‘นครคนนอก’ ก็คงจะเดิน chill เข้าเส้นชัยไปได้ไม่ยาก แต่ดูจากสถานการณ์แล้วแม้นจะไม่ทราบชัดว่าอายุอานามของกรรมการแต่ละท่านเป็นเท่าใด หากในทางคุณวุฒิแล้วก็มาเต็มทั้งในด้านความน่าเลื่อมใสและประสบการณ์อันลายคราม ก็คงต้องหวังกันสักหน่อยว่าคณะกรรมการตัดสินในปีนี้จะมีหัวใจเยาว์วัยและพร้อมจะดีดแขนสบัดมือโย่ โย่ โย่ ไปกับ พลัง เพียงพิรุฬห์ ได้ ซีไรต์จะได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ว่าเพลงร็อคเพลงแร็พร่วมสมัยก็สามารถมีคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์กับเค้าได้เช่นกัน!

 4. บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ โดย บัญชา อ่อนดี

%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%88%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b9%84

หลังจากนวนิยายเรื่อง ‘เสือตีตรวน’ เข้ารอบสุดท้ายการประกวดรางวัลซีไรต์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญชา อ่อนดี ก็เพิ่งจะมีผลงานหนังสือเข้ารอบสุดท้ายอีกครั้งในปีนี้กับรวมบทกวีที่ชื่อ ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ ผลงานเล่มนี้ของ บัญชา อ่อนดี เป็นการรวบรวมกวีนิพนธ์ ๓๙ สำนวนจากต่างกรรมต่างวาระ โดยเนื้อหาหลักก็มุ่งสะท้อนภาพชีวิตเล็ก ๆ ของผู้คนชนชั้นทำมาหากินซึ่งเคยผ่านหูผ่านตาเราไปทว่าไม่เคยได้รับความใส่ใจ ทั้ง ๆ ที่เส้นทางการดำรงชีวิตของพวกเขาก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มากมายเพียงแต่เราจะลองเข้าไปทักทายถามไถ่ และแม้มันจะเป็นเรื่องราวที่อาจไม่มีอะไรน่าพิสมัยแต่มันก็สะท้อนสัจธรรมแห่งชีวิตได้ว่า เรากำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิ่งใดกัน ตัวละครในบทกวีต่าง ๆ ใน ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ จึงประกอบไปด้วย จับกัง คนเก็บขยะ คนขายของเก่า ผีในสวนสนุก คนขับแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก หมอนวด พ่อค้าชาชัก สาวโรงงาน สาวคาราโอเกะ ลิเก หนังเร่ แม่ค้าน้ำผึ้งป่า ไปจนถึงอาบังขายถั่ว ด้วยฉันทลักษณ์ของกลอนตลาดที่ไม่เคร่งครัดจำนวนคำอันเรียบง่ายเสียเป็นส่วนใหญ่ จะมีฉันทลักษณ์อื่น ๆ เช่น กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ แทรกอยู่บ้างเพียงประปราย ก่อนที่เนื้อหาจะค่อย ๆ ขยายวงกว้างออกไปกล่าวถึงสงครามและความรุนแรงร่วมสมัยในโลกสากลมากขึ้นในบทท้าย ๆ

                บทกวีหลาย ๆ สำนวนถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผู้คนเหล่านี้อย่างมีสีสันแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงบทกวีสั้น ๆ เพียงไม่กี่บท แต่ บัญชา อ่อนดี ก็สามารถนำเสนอภาพชีวิตของพวกเขาออกมาได้ว่าต้องพบเจอกับชะตากรรมใด โดยมุ่งจับไปที่รายละเอียดพลิกผันอันสำคัญ ดังปรากฏในบทกวีร่ายชีวิตนักมวยบ้านนอกที่โด่งดังเพียงเพื่อจะดิ่งดับชื่อ ‘แชมป์เก่ากลับบ้าน’

                                “… ศึกสุดท้าย ‘ซ้ายเมฆคลั่ง’ ยังจำได้                  โดนคู่ชกเตะใส่แขนซ้ายขวา

                                แพ้คะแนนแขวนนวมท่วมน้ำตา                           โดนส่ำเซียนชี้หน้าด่าทุกคำ

                                เมื่อหมดค่าหัวหน้าค่ายให้เลิกชก                        ‘ซ้ายเมฆคลั่ง’ ดวงตกชะตาต่ำ

                                พ่ายทุกอย่างย่อยยับกลับบางระกำ                      ต้อนเข้ามุมรุมซ้ำกระหน่ำมา

                                หนแห่งไหนบ้านเคยอยู่อู่เคยนอน                        เตลิดตะลอนเดียวดายไร้คุณค่า

                                นี่แชมเปี้ยน! ใครจะคิดอนิจจา                            บักโกรกโรคชราหมานายพราน…”

 

                แม้ในเชิงของฉันทลักษณ์บทกวีต่าง ๆ ใน ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ ก็อาจไม่ได้มีอะไรแพรวพราวมากนัก แต่จุดเด่นที่สุดในโวหารกวีของ บัญชา อ่อนดี คือความสามารถการใช้คำพื้น ๆ ง่าย ๆ สร้างจินตภาพและบรรยากาศของเรื่องราวออกมาราวกำลังสัมผัสเห็น ดังเช่นการพรรณาภาพของร้านอาหารอีสานข้างถนนในบท ‘Pre Wedding ของ ‘หำ’ (งานแต่งกลางทุ่งความฝันพหลโยธิน)’

 

                                “นัว แซ่บ แบบที่ทราบลาบยโส                            แขวนเนื้อโชว์ชวนลิ้มชิมของใหม่

                                  อ่อม ลาบขม นมสาว ตำลาว ไทย                       จิ้มจุ่ม นุ่มนอกใน สไบนาง

                                  ทุกรายการปรุงสดรสเข้มข้น                              ริมถนนเริ่มใกล้พลบจบรุ่งสาง

                                  เก๋งปิ๊กอัพขับมาจอดตลอดทาง                          จากเพิงร้างสร้างรสล้ำต้นตำนาน

                                 หนุ่มหน้าขาวสาวหล่อหมอลำซิ่ง                         สั่งลวกปิ้งย่างจี่แซ่บอีสาน

                                 จิ้มข้าวเหนียวเปรี้ยวเผ็ดเด็ดทุกจาน                     ผักพื้นบ้านสรรหามาวางเคียง…”

 

                ซึ่งก็ทำให้บทกวีเนื้อหาเล็ก ๆ สามัญธรรมดาของ บัญชา อ่อนดี มีรสชาติของการอ่านที่ให้ภาพเป็นรูปธรรมจากการเลือกเฟ้นคำที่ผู้อ่านสามารถนึกตามได้ทันที นอกจากนี้บทกวีหลาย ๆ บทใน ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ ก็มีลูกเล่นเชิงวรรณศิลป์แปลกใหม่ด้วยการเล่นสัมผัสของคำผวนมาเล่นเสียงเล่นความหมายในหลาย ๆ บท อาทิเช่น

                                   ‘เก็กเดิน เกินเด็ก ตัวเล็กดำ’ ในบท ‘ผีกลางสวนสนุก’

                                  ‘นักเดินทาง นางเดินทัก พยักเพยิด’ ในบท ‘กบไม้ในเกสต์เฮ้าส์’

                                 ‘จำคุก จุกคำ มาย้ำเยือน’ ในบท ‘สตาร์บัง’

                                ‘ไร้โอสถ อดโซ โถ มนุษย์!’ ในบท ‘สิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง’

 

                และที่เด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นในบท ‘ดวงดาวเท่าเทียม’ ที่มีการเล่นผวนเสียงชื่อไทย-ฝรั่งในต้นบาทสดับ นับเป็นการขับเน้นความจงใจในการเล่นสัมผัสเสียงรูปแบบใหม่นี้ในบทกวีอย่างเห็นได้ชัด

                                “พอล สมิท-พิสมร อยู่คอนโด                            ห้องไม่โตซื้อมานานหกล้านห้า

                                    มีคลับหรูดูดาวหยาดบนดาดฟ้า                         ริมฝั่งเจ้าพระยามหานคร

                                   สายัณห์-ซันญ่า หาห้องเช่า                           บนเกาะเต่าเข้าพำนักเพื่อพักผ่อน

                                   ห่างฝั่งสุดถนนคนสัญจร                                  ราคา ๔๐ ดอลล์นอนดูดาว

                                  เจนสันกับจันทร์เสนเป็นชาวไร่                         ปลูกองุ่นรุ่นใหม่ทำไวน์ขาว

                                 หุบภูน่านธารใสชายแดนลาว                               ค่ำคืนหนาวทั้งคู่ดูดาวพราย…”

 

                แม้ว่าในหลาย ๆ จุดของ ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ อาจมีลูกเล่นลีลาเชิงกวีพรรณาที่ใช้ภาษาอันเรียบง่ายทว่าคมคายได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยภาพรวมแล้วเนื้อหาและฉันทลักษณ์ทั้งหมดของ ‘บางคนอาจเดินสวนทางเราไป’ ก็อาจยังไม่ถึงระดับ ‘สดใหม่’ เพียงพอที่จะไปประกวดประชันกับเล่มอื่น ๆ ที่เข้มข้นกว่าได้ โอกาสคว้าชัยของบทกวีเล่มนี้จึงอาจไม่สูงสักเท่าไหร่ แม้ว่ามันจะยังมีเสน่ห์ที่เปล่งประกายจากความง่ายงามที่ไร้การประดิดประดอยของมัน

5. ‘พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล โดย วิสุทธิ์ ขาวเนียม

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%94%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87

สำหรับรวมบทกวีที่อ่านแล้ว ‘อึน’ มากที่สุดในบรรดาที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวนหกเล่ม ก็คงจะหนีไม่พ้น ‘พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล’ ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ที่หลาย ๆ ชิ้นก็มาในลีลาสุดมหัศจรรย์คลาคล่ำไปด้วยสัญลักษณ์อันเกินจะตีความ ทว่ายังคงงดงามในท่วงทำนองแห่งวรรณศิลป์ที่ชวนให้รู้สึกอยากอ่านไปตลอดทั้งเล่ม หลังจากมีรวมบทกวี ‘อาณานิคมของความเศร้า’ เข้ารอบ Longlist ซีไรต์ไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มาปีนี้ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ก็ดูจะมีวิทยายุทธ์ในเชิงกวีที่แก่กล้ามากขึ้นทั้งทางด้านการใช้สำนวนโวหารและสารที่ทั้งหนักแน่นและลุ่มลึกยิ่งขึ้น โดยบทกวีใน ‘พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล’ ก็ถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นสามภาคด้วยกัน นั่นคือ ภาค ๑: หลับฝันอยู่ในกระเพาะนกกระจาบ / ภาคที่ ๒: พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล / ภาคที่ ๓: จำนวนที่เหลือของนกฝูงหนึ่ง และแม้บางบทในรวมบทกวีเล่มนี้ จะมีการดึงเอาบทที่เคยตีพิมพ์ใน ‘อาณานิคมของความเศร้า’ มาใช้ซ้ำอยู่บ้าง อาทิ ‘หน้าตู้แช่เครื่องดื่ม’ , ‘ในลำไส้วัวหนุ่ม’ , ‘ลูกสาวของผู้(ต้อง)สงสัย’ , ‘เมธีหลงทาง’ , ‘ครอบครัวของสงคราม’ และ ‘เสียงของปลอกกระสุน’ แต่บทที่เหลือก็ดูจะเป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงพัฒนาการที่ไปไกลกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

                ฉันทลักษณ์หลัก ๆ ในรวมบทกวีเล่มนี้เป็นการใช้กลอนสุภาพสลับกับบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แทรกด้วย กาพย์ยานี ๑๑ และกาพย์ฉบัง ๑๖ อย่างพอเป็นกระสาย ซึ่งการแบ่งบทกวีทั้งหมดออกเป็นสามภาคก็มีภาพรวมที่สะท้อนความเป็นกลุ่มก้อนได้ชัดเจนกว่ากวีนิพนธ์เล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบมาด้วยกัน ซึ่งให้บรรยากาศโดยรวมในการสะท้อนรากเหง้าความเป็นมาของผู้ประพันธ์ซึ่งเกิดและเติบโตในพื้นที่เขตชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางธรรมชาติและป่าเขาลำเนาไพร และใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายซึ่งเกิดกับสังคมไทย-พุทธ-มุสลิม สำหรับเนื้อหาใน ภาค ๑: หลับฝันอยู่ในกระเพาะนกกระจาบ ส่วนใหญ่ก็จะกล่าวถึงชีวิตเกษตรกรอันเรียบง่ายในดินแดนถิ่นเกิดภายใต้การปกป้องเลี้ยงดูของผู้เป็นบุพการี ด้วยภาษาที่ยังคงความเรียบง่าย แม้หลาย ๆ บทก็จะเริ่มขยายความคิดไปสู่ความเป็นนามธรรม ซึ่งลักษณะเด่นของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ในการประพันธ์กวีนิพนธ์ในเล่มนี้ ก็คือเขามีการใช้ภาษาเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนมุมมองและความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ออกมาได้อย่างคมคาย แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เราก็อาจจะไม่ได้เข้าใจในทุก ๆ สิ่งที่เขาเอ่ยอ้างอย่างกระจ่างแจ้งเลยก็ตาม ดังจะเห็นได้จากบทกวี ‘สวนข้างนอกเสกสร้างสวนข้างใน’ ซึ่งเทียบเคียงชีวิตอันสงบงามท่ามกลางธรรมชาติของเหล่าชาวสวนซึ่งดูจะสวนทางกับการแก่งแย่งแข่งขันของบรรดาผู้ทรงอำนาจในสังคมเมืองทั้งหลายได้อย่างแฝงนัย

                                “…โลก สายทางชาวสวนอันอวลค่า                   ไม่มีขวา ไม่มีซ้ายเลือกกรายกล้ำ

                                     มีแต่เดินฝ่าข้ามความมืดดำ                        ออกจากทุกวาทกรรมของถ้ำเท็จ

                                    โปรดอย่าเพรียกฉันสู่ลู่สนาม                       ยุทธศาสตร์สงครามความเบ็ดเสร็จ

                                    ฉันมีแต่พืชฝันพันธุ์เมล็ด                            และคืนวันทั้งเจ็ด รอบสัปดาห์

                                    หากคุณเหนื่อยจากสงครามสนามรบ              เบื่อระบบฝักฝ่าย โลกซ้าย ขวา

                                   โปรดเช็ดเลือดซับหมอกออกจากตา               แล้วก้าวมาเพรียกนกสู่อกคุณ”

 

                ซึ่งการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ‘ความมืดดำของถ้ำเท็จ’ , ‘หมอกในตา’ และ ‘นกในอก’ ก็นับเป็นตัวอย่างลักษณะของลีลาอุปมาโวหารที่ วิสุทธิ์ ขาวเนียม เลือกใช้ไปตลอดทั้งเล่มได้อย่างดี ที่แม้หลาย ๆ ครั้งก็อาจสร้างความยากลำบากในการตีความว่าเขากำลังพูดถึงอะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นสัญญะที่ให้อรรถรสทางความรู้สึกได้ชัดเจนดีเหลือเกิน

                แต่เมื่อดำเนินมาถึง ภาค ๒: พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทกวีก็จะเริ่มมีอาการแฟนตาซีจนหลุดโลกมากยิ่งขึ้น ชนิดที่บางชิ้นเมื่ออ่านจบแล้วก็ไม่อาจประเมินได้เลยว่า วิสุทธิ์ ขาวเนียม กำลังพาดพิงถึงสิ่งใดอยู่หรือไม่อย่างไร ค่าที่บางครั้งภาษาก็เหมือนจะไหลเลื่อนไปตามกระแสจินตนาการที่หลุดพ้นไปจากตรรกะแห่งเหตุผลจนป่วยการที่จะคิดตีความอะไรต่อไป และต้องปล่อยใจรับสัมผัสสุนทรียะแห่งอักษรป่าหิมพานต์ที่ร้อยเรียงออกมาได้อย่างวิจิตรพิสดารดีเหลือเกิน ดังจะเห็นได้ชัดจากบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ‘ในนามของอูฐป่วยตัวหนึ่ง’

                               “หลังศพของทหารหนุ่มกลายเป็นกลุ่มควันไต่หายสู่เวิ้งฟ้า

                                ข้าปิดประตูบ้านขังตัวเองไว้กับหนังสือประวัติศาสตร์โลกเก่าคร่ำ

                                สังเคราะห์สารคาร์บอน-14 ขึ้นจากรอยหยักสมองตื้นเขิน

                                หยั่งวัดกระดูกไหปลาร้าของสันติภาพ

                                นานๆ ครั้งจะเงยหน้าขึ้นมองกระจก

                                เห็นภาพสะท้อนนัยน์ตามิต่างนัยน์ตาอูฐป่วย

                                คล้ายว่าข้ากำลังกลายเป็นอูฐ…”

 

                ซึ่งหากผู้อ่านท่านใดมีรอยหยักสมองที่ฝังร่องจนสามารถเข้าถึงความหมายของบทกวีชิ้นนี้ ก็ขอได้โปรดกรุณาแสดงวิธีถอดแก้สมการเป็นวิทยาทานให้ได้ตาสว่างกันหน่อยเถิดว่า เจ้า ‘อูฐป่วย’ ที่ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ได้เล่าไว้มันพยายามจะบอกกล่าวอะไร ค่าที่ต่อให้อ่านจนจบทบทวนวนมาวนไปอีท่าไหน ก็ไม่ได้นำพาไปสู่ความเข้าใจอะไรใด ๆ เลย อย่างไรก็บทกวีอีกส่วนหนึ่งในภาค ๒ นี้ ก็มีการกล่าวถึงชีวิตท่ามกลางความรุนแรงบนความขัดแย้งของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อ่านแล้วยังพอจับความได้ว่ากำลังกล่าวถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด แม้ท่วงทำนองการใช้ภาษาก็ยังรักษาระดับความเป็นนามธรรมอยู่อย่างคงเอกลักษณ์

                สำหรับบทสรุปใน ภาค ๓: จำนวนที่เหลือของนกฝูงหนึ่ง ที่อาจฟังดูคล้ายโจทย์คณิตศาสตร์ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ก็ได้ขยับขยายเนื้อหาไปว่าถึง ประวัติศาสตร์ ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ และอารยธรรมอันยาวนานของมวลมนุษยชาติ ซึ่งดูจะเป็นภาคที่ความเป็นนามธรรมของเนื้อหาเข้าขากันกับลีลาภาษาของผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในหลาย ๆ บท วิสุทธิ์ ขาวเนียม ก็มีลูกเล่นการใช้คำที่ทำให้เกิดจินตภาพควบคู่ไปกับสัญลักษณ์หนักสมองทั้งหลาย อย่างจะเห็นในบท ‘ความผุดผาดของชาติพันธุ์’ ซึ่งกล่าวถึงความบริสุทธิ์ของมนุษย์ผู้ได้รับการกล่อมเกลาจากหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสนาต่าง ๆ โดยใช้คำว่า ‘ความผุดผาด’ มาประกาศภาวะภายในที่ต้องการสื่อได้อย่างเห็นภาพ

                                “…บนความเชื่อหลากชุดพราหมณ์ พุทธ ผี        เวท โองการ คัมภีร์ มนตร์ต่างต่าง

                                   หลอมผสานศิลป์ศาสตร์เขียนวาดวาง            เป็นโครงสร้างผุดผาดของชาติพันธุ์

                                   อัตลักษณ์ข้ามฟากจากปูมหลัง                   พันธุกรรม เลือด เนื้อหนังเหมือนดั่งฝัน

                                   ธาตุอดีตทอดยื่นผ่านคืนวัน                        เป็นเลือดเนื้อปัจจุบันชีพสัญญาณ

                                   เราก่อเกิดจากสำนึกด้านลึกซึ้ง                    เยี่ยงฝูงผึ้งสะสม บ่มความหวาน

                                   ฉากชีวิตใหม่ของเรามีเก่ากาล                    เปล่งประกายฉายฉานผ่านดวงใจ”

 

                ซึ่งความคลุมเครือจนเหลือจะอธิบายทั้งหมดในกวีนิพนธ์ ‘พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล’ ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม เล่มนี้ นับเป็นความไม่ชัดเจนที่สร้างเสน่ห์เย้ายวนควรค่าแก่การค้นหา ด้วยภาษาอันคมคายเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงในการถ่ายทอดความสับสนอลหม่านให้กลายเป็นงานที่น่าอ่านได้อย่างอัศจรรย์ ชวนให้ตะลึงพรึงเพริดไปกับจินตนาการและภาพฝันที่เราอาจไม่มีวันทำความเข้าใจ นับเป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเล่มนี้แหละที่คู่ควรเหลือเกินกับรางวัลซีไรต์ แต่ว่าคณะกรรมการเขาพร้อมใจจะเพ้อเจ้อฟุ้งลอยไปกับพวกเราด้วยหรือไม่ ข้อนี้ก็ไม่ค่อยจะแน่ใจเหมือนกัน

6. ‘เพลงแม่น้ำโดย โขงรัก คำไพโรจน์

%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3

เช่นเดียวกับ วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีหนุ่ม โขงรัก คำไพโรจน์ ก็เคยมีกวีนิพนธ์ ‘คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง’ เข้ารอบ Longlist ซีไรต์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และเพิ่งจะมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายครั้งแรกกันในปีนี้ กับรวมบทกวี ‘เพลงแม่น้ำ’ ซึ่งก็ยังคงเล่าถึงชีวิตของ ‘ลูกแม่น้ำโขง’ ผู้เติบใหญ่มาด้วยความผูกพันราวกับสายน้ำนั้นมันคือสายเลือด โดยกวีนิพนธ์ ‘เพลงแม่น้ำ’ ก็สร้างเอกภาพด้วยการใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพไปตลอดทั้งเล่ม แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามภาค นั่นคือ ภาคต้นน้ำ: เพลงของพ่อ / ภาคกลางน้ำ: เพลงบ้าน เพลงเมือง / ภาคปลายน้ำ: เพลงแม่น้ำ ซึ่งภาคต้นน้ำก็จะเป็นการเล่าถึงชีวิตในวัยเยาว์ของกวีที่เรียนรู้วิถีการใช้ชีวิตแบบชาวบ้านริมแม่น้ำโขงจากผู้เป็นพ่อ ในขณะที่ภาคกลางน้ำจะเป็นการจากลาไปหาประสบการณ์ยังดินแดนต่างเมือง ก่อนจะกลับมาในภาคปลายน้ำที่เน้นย้ำถึงความยิ่งใหญ่แห่งห้วงมรรคาซึ่งเปรียบเสมือนมารดาผู้สานต่อสายธาราแห่งชีวิต

                น้ำเสียงเชิงกวีโดยรวมของ โขงรัก คำไพโรจน์ มีความอ่อนโยนอันเรียบง่าย ถ่ายทอดประสบการณ์และความคิดต่าง ๆ อย่างเรียบซื่อและจริงใจ ไร้จริตแห่งการใช้ภาษาหรือท่าทีเยี่ยงปัญญาชน โดยเฉพาะในภาคแรกที่เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงภาพชีวิตง่าย ๆ ของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำใหญ่ ซึ่งสามารถมีความสุขตามอัตภาพได้ด้วยการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ซึ่งกวีในวัยเด็กก็ได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ จากผู้เป็นบิดา ดังจะปรากฏในบทกวี ‘ไซที่พ่อสาน’ ซึ่งถ่ายทอดได้อย่างเรียบง่าย น่ารักและอบอุ่น

                             “…แทรกแล้วเสย เกยแล้วก่าย ย้ายขยับ            ส่งแล้วรับ สับแล้วเรียง เคียงสัดส่วน

                                 มุ่งแล้วมุด สุดแล้วทบ ครบแล้วทวน               สอดแล้วสวน กระบวนสร้างทางแห่งไซ

                                ตลอดลายคลายและเค้นเอ็นและข้อ                ขยาย-ย่อพอจะหัดพ่อจัดให้

                                วนและเวียนเนียนกระหวัดนิ้วจัดไป                 นอกและในอะไรถนัดพ่อจัดทำ

                                ยกสองเส้นยังยืนยันวันลองยก                      เส้นสองยกยังยืนยันวันยังค่ำ

                               เส้นอวบหนีบเส้นลีบเหน็บพ่อเก็บกำ               ลูกจดจำงามระเรื่อเหงื่อระริน…”

 

                ซึ่งนอกจาก โขงรัก คำไพโรจน์ จะใช้ภาษาซื่อ ๆ ง่าย ๆ ระบายภาพชีวิตในช่วงเยาว์วัยให้ผู้อ่านเห็นภาพแล้ว ในภาคกลางน้ำที่เขาได้เล่าถึงช่วงเวลาแห่งการออกไปเผชิญหน้ากับโลกกว้างอย่างลำบาก ผ่านการทำงานอันหลากลาย การได้พบกับแม่น้ำสายใหม่ในเมืองใหญ่ รวมถึงการเดินทางไปสู้ชีวิตในต่างแดน เขาก็สามารถใช้ภาษาสื่อแทนความรู้สึกภายในเหล่านี้จนชวนให้ผู้อ่านมีอารมณ์ตามไปด้วยได้อย่างเต็มใจ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งการได้พบเจอกับแรงกดดันก็ทำให้เขาต้องหันไปหวนถึงชีวิตที่ใกล้ชิดอ้อมอกของบิดา โดยเฉพาะในเวลาที่เขาสามารถกลายเป็นพ่อคนได้ดังในบทกวี ‘ลูกชายผู้กลายเป็นพ่อ’

                      “เส้นทางสายรู้สึกเคยต้อนรับ                     บุตรชายผู้พ่ายพับเคยกลับบ้าน

                       เคยพ่ายความอ่อนแอแผ่อาการ                 บนพื้นฐานขายแรงแข่งกับคน

                      โทษนี่  นั่น ขุ่นมัวคือตัวแม่                        บ้างพ่ายแพ้แก่บ้านการพร่ำบ่น

                      ระหว่างวัยเง้างอนและร้อนรน                     เขายังหนุ่มดุ่มด้นไปคนเดียว

                      เมื่อมีเมีย มีลูก จึงเป็นพ่อ                         การหัวร่อต่อถนนเริ่มเด็ดเดี่ยว

                      ขันแข็ง สามารถและปราดเปรียว                 อยู่บนเสี้ยวรู้สึกผลึกหวังโปรย…”

 

                เนื้อหาของบทกวีจะเริ่มขยับขยายและทวีการสื่อความหมายในระดับนามธรรมมากขึ้นใน ภาคปลายน้ำ เมื่อ โขงรัก คำไพโรจน์ เริ่มพิเคราะห์ถึงความยิ่งใหญ่อันเป็นหลอดเลือดหัวใจสำคัญของชีวิตผู้คนของสายธารน้ำ ทั้ง โขง ชี มูล ไปถึงสงคราม (ชื่อแม่น้ำสายสำคัญในภาคอีสานตอนบนซึ่งไหลสู่แม่น้ำโขง) สะท้อนความเป็นมารดาผู้ทำนุดูแลและรักษาเหล่าทายาทตัวน้อย ๆ ที่ต้องคอยพึ่งห้วงความรักอันยิ่งใหญ่นี้เรื่อยไปทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการกล่าวถึงผู้เป็นมารดาของกวีจริง ๆ การใช้ภาษาจึงอาจจะมีการใช้ศัพท์บาลี สันสกฤต เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นคำศัพท์ที่นิยมใช้ในการประพันธ์บทร้อยกรองทั่วไป ไม่ถึงกับต้องไปพลิกเปิดหาความหมาย ตัวอย่างของบทกวีที่แสดงองค์ความคิดของภาคปลายน้ำได้ดีก็เห็นจะเป็น ‘จากแม่โขงถึงสงคราม’

                                “แม่ยังคงเคลื่อนไหลไม่เคยหยุด                      ขณะมวลมนุษย์ไม่หยุดฆ่า

                                นับตั้งแต่แม่โขงเรื่อยลงมา                              สู่ห้วงมรรคาแห่งสงคราม

                                บอบช้ำพร่ำระบายสายน้ำโลก                          บริโภคพัฒนาไหลบ่าท่าม

                                กระแสข่าวขัดแย้งอันลุกลาม                            แม่ยังคงงดงามยังธรรมดา

                                ราวจะสอนปรัชญาธรรมชาติ                            มนุษย์เหวยมิอาจประกาศว่า

                                เธอคือผู้กำหนดกฎกติกา                                เกิด-ตาย สายน้ำ…ข้าบัญชาการ…”

 

                โดยภาพรวมแล้ว ‘เพลงแม่น้ำ’ ของ โขงรัก คำไพโรจน์ จึงเป็นรวมบทกวีที่มีดีที่ความเรียบง่ายและจริงใจ กับสำนวนโวหารที่บริสุทธิ์ซื่อใสในแบบลุกทุ่ง ๆ ที่มีเสน่ห์อยู่พอตัว แต่เมื่อมาเจอกับคู่แข่งที่เปี่ยมด้วยกลเม็ดอันน่ากลัวเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบมาด้วยกันแล้ว ‘เพลงแม่น้ำ’ ก็อาจจะวิ่งเข้าเส้นชัยได้ยากอยู่สักหน่อย เว้นเสียแต่คณะกรรมการจะเป็นผู้มักน้อยนิยมชีวิต slow life ชอบอะไรเรียบ ๆ ง่าย ๆ ในแบบพอเพียง โดยไม่ต้องมาเอียงตัวหกคะเมนตีลังกาแสดงลีลาอะไรให้ต้องกลายเป็นความ ‘เยอะ’ อันเกินจำเป็น

 

                สำหรับการประกาศผลรางวัลในปีนี้ที่อาจจะต้องล่าช้าไปด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ แต่คณะกรรมการตัดสินและผู้จัดงานก็ยืนยันแล้วว่า จะต้องออกมาแถลงให้ได้รู้ทั่วกันแน่ ๆ ภายในสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่กี่ราตรี เราก็จะได้ทราบกันแล้วว่าตราซีไรต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นี้จะไปประทับอยู่บนปกกวีนิพนธ์เล่มไหน และสมค่าคู่ควรแล้วหรือไม่ก็คงต้องว่ากันไปหลังการแถลงอย่างเป็นทางการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *