พบรัก : บางช่วงเวลา..เราก็ “หิว” ความไหวหวั่น

อภิรักษ์  ชัยปัญหา

ในวงจรชีวิตของ ‘ความรัก’  ช่วงเวลาไหน ที่ทำให้เรารู้สึกกับมัน…มากที่สุด

ผมตอบใครต่อใครเวลาที่มีใครถามโดยไม่ลังเลว่า ช่วงเวลาที่เรา ‘ตกหลุมรัก’ ใครสักคนไง…จี๊ดที่สุดแล้ว ในช่วงเวลาแบบนั้น  อะไร ๆ มันช่างดูคลุมเครือ…ใช่…ไม่ใช่…ใจผมสั่น และหน้าผมแดง…บ่อย ๆ

น่าแปลก พอเราใช้ชีวิตของเราไปเรื่อยๆ ต่อม ความอ่อนไหว ต่อความรักของเรา มันก็เริ่ม “เสื่อมสภาพ” ลง

เรื่อย ๆ ..จนในที่สุด สัดส่วนชีวิตของเรา ก็เต็มไปด้วย งาน..หน้าที่..และสิ่งที่ “ต้องทำ”   และก็เหมือนกับทุกครั้ง พอสิ่งเหล่านั้นมันชนะน๊อคเรา  เราเองก็มักจะกลายสภาพเป็น “ผักตากแอร์มาเป็นวัน ๆ ในซุปเปอร์มาเก๊ต”  ที่ดูเหมือนจะดี..แต่ไม่มีชีวิต…เพราะงั้น…เวลาที่ผมรู้สึกว่าชีวิตมันหนักเกินไปหน่อยแล้ว ผมจึงหาเรื่องพาตัวเองไปอินกับเพลงรัก  หนังรัก..และละครเวทีที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความรัก”  เสมอ..ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเรียกและรั้งต่อมความรู้สึกนั้นไว้ให้ได้นานที่สุด

“พบรัก”  อีกหนึ่งผลงาน re-stage ของนิกร แซ่ตั้ง ในนามกลุ่มละครแปดคูณแปด ที่เปิดแสดงที่ bluebox @ M Theatre  ดูจะเป็นผลงานละครเวทีโรงเล็กอีกเรื่องที่ทำให้ต่อมความรู้สึกของผมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น..

พบรัก  เคยทำมาแล้วในเทศกาลละครกรุงเทพ เมื่อปี 2549 โดยเปิดแสดงเพียง 2 รอบ และนำกลับมาเล่นใน project รวมรสละครรัก อีกเพียง 4 รอบเท่านั้น ที่โรงละครแปดคูณแปด แถวสามย่าน (ตอนนี้ไม่มีแล้วครับ ที่ดินถูกเวนคืน)  ในตอนนั้น พบรัก ประกอบไปด้วยเรื่องราวของเหตุการณ์ของคนที่ตกหลุมรักกัน 3 เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาเรียง ต่อ ๆ กัน  โดยนำเสนอเป็นละครเวทีที่ใช้ฉากเดียว คือ ร้านอาหาร  เป็นจุดเชื่อมเรื่องทั้งสาม  ส่วนการกลับมาครั้งล่าสุด เขาได้เพิ่มอีก 1 เรื่องสุดท้าย เข้าไปด้วย โดยที่เขาวางพลอตไว้ แล้วขอให้ จตุรชัย  ศรีจันทร์วันเพ็ญ มาร่วมเขียนบท  และมาร่วมแสดงในเวอร์ชั่นล่าสุดด้วย

จตุรชัย ไม่ใช่นักแสดงใหม่เพียงคนเดียว  เพราะ ทั้งมนทกานติ รังสิพราหมณกุล  (กรี๊ด) และ อาคีรา โหมดสกุล (วิ๊ดวิ้ววว) นับเป็นสามนักแสดงทีมใหม่ ที่มาร่วมแสดงกับ สมศักดิ์  ศิริพันธุ์ นักแสดงเพียงคนเดียวจากเวอร์ชั่นก่อน…

จุดเด่นของละครเรื่องนี้คือ การวาง concept   ในด้านบทและ เทคนิคการนำเสนอ ที่นิกรได้ทำข้อตกลง “กติกา”  กับผู้ชมในละครเรื่องนี้ (การใช้พื้นที่ การใช้เพลง  การใช้โปรเจคเตอร์  การใช้อุปกรณ์ กลวิธีการแสดง ) จนสามารถพาผู้ชมไปสู่ประสบการณ์เฉพาะแบบละครเวที black box เท่านั้น ได้สำเร็จ…ซึ่งหากคอนเซปชัดเพียงใด แต่ได้นักแสดงที่ไม่เข้าใจหรือฝีมือด้อยฝีมือ ก็ไม่แน่ว่าละครจะสามารถพาไปยังจุดที่นิกรตั้งใจไว้ได้..แต่โชคดีมาก..ทุกอย่างลงตัว

นักแสดงทั้ง 4 ต้องเปลี่ยนบทบาทกันไป  ในแต่ละเรื่องสั้น ๆ นั้น  ตอนที่ดูรู้เลยว่านักแสดงสนุกมากที่ได้ออกมาเล่นละครเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้  แล้วที่สำคัญคือนักแสดง “อยู่กับบท” (commitment) ดีมาก ถือเป็นทีมนักแสดงที่ดีที่สุดทีมหนึ่งสำหรับละครเวทีที่ผมได้ชมมาในปีนี้

บททั้ง 4 ตอนนั้น จัดเรียงมาตั้งแต่เรื่องพบรักแบบตรงไปตรงมา อย่าง เส้นด้ายสีแดง ที่เชื่อว่าเราไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากว่าขอให้เชื่อในพรหมลิขิต  แล้วเริ่มเปลี่ยนไปสู่การพบรักข้ามรุ่น อย่างเรื่องรักฝังใจ  แล้วเปลี่ยนไปสู่รักซ่อนเร้นระหว่างชายหนุ่ม อย่างเรื่อง เพื่อนฟังเพลง  ไปจนสู่บทสรุปสุดท้ายในเรื่อง หายไปเลย ที่ว่าด้วยเรื่องความรักทำให้เราเห็นเฉพาะคนที่เราหลงรักเท่านั้น มาเป็นพลอตหลัก แต่ว่าประเด็นที่จะพูดนั้นกลับอยู่ที่พลอตรองของเรื่อง  นั่นคือการพยายามกลับมารักกันให้ได้อีกครั้งของคู่รักหนุ่มสาวรุ่นใหญ่ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป (โดยส่วนตัวชอบตอนที่ 2 มากที่สุด ขำ ๆ อยู่ แต่สักครู่ถึงกับน้ำตาซึม แล้วก็ชอบไอเดียแสนเก๋ของพลอตเรื่องตอนที่ 4 )

การเรียงลำดับการเล่าเรื่องแบบนี้  จึงเท่ากับเป็นการวางหมากให้เรื่องราวต่าง ๆ นั้นมาสู่บทสรุปที่ว่า “จำได้ไหมว่าเราเคยพบรักกันได้อย่างไร…แล้วเราจะกลับมาตกหลุมรักกันได้ใหม่อีกครั้งไหม..หรือเราจะปล่อยให้เรากลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันตลอดกาล”

พบรักเวอร์ชั่นนี้ ยังคงหมกหมุ่นอยู่กับการพูดคุยบนโต๊ะอาหาร  การกินดื่ม  ราวกับว่ามนุษย์เราต่าง “หิวโหย” ความรักเสียนี่กระไร…โชคดีที่อาหารที่เขากินดื่มกันนั้น..ได้รับการปรุงแล้วจากพ่อครัวฝีมือดีผู้มีรสนิยม  จึงทำให้อาหารที่แก่หวานจานนี้ทานแล้วอิ่มแบบ “เบาๆ”  ไม่น้อยและไม่แน่นจนเกินไป

แม้ว่าชื่อของ นิกร กับ ละครที่ว่าด้วยของ “ความรัก” ช่างเป็นอะไรที่ไม่ค่อยคุ้นมากนัก เพราะลายเซ็นของเขามักจะเกี่ยวข้องกับละครเวทีที่ว่าด้วยคนกับสังคม และวิพากษ์สังคม ด้วยลีลาเสียดเย้ย…แต่เมื่อดูจนจบแล้วก็ยังรู้สึกว่า ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร  แต่มุมมองต่อโลกและชีวิต รวมทั้งวิธีการนำเสนอนั้น ยังคงลายเซ็นของเขาอย่างคมชัดเช่นเดิม

ผมก็รู้นะว่าของหวานน่ะทานแล้วมันจะเลี่ยน ๆ แต่คุณก็รู้ใช่ไหมว่า ในที่สุดใครจะไปปล่อยให้ความรู้สึกของเรา “หิว” ไปได้นาน ๆ กันล่ะ

*************************************

 

ที่มา : คอลัมน์ reporter theatre นิตยสาร Madame Figaro ฉบับ เดือน ตุลาคม 2554

 


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *