Betrayal : หรือมีอะไรอยู่เบื้องหลังการทรยศ
อภิรักษ์ ชัยปัญหา
เรื่องรักสามเส้า…ยังเข้ากับคนยุคที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อนไปกว่านั้นไหม…
แล้วเรื่องการ “ทรยศ” หักหลังเพราะรักล่ะ คนยุคเราเขายัง “อิน” กันอยู่หรือเปล่า
หลังจากผมได้ชมละครเวทีเรื่อง Betrayal รักทรยศ จากบทละครเอกของโลกอีกเรื่องหนึ่ง ผลงานของ Harold Pinter (นักเขียนรางวัลโนเบล) ในเวอร์ชั่นไทย (แปลบทโดยจีราวรรณ ด้วงนาง) ภายใต้การกำกับการแสดงของ ดำเกิง ฐิตะปิยศักดิ์ ณ Democrazy Theatre Studio (พื้นที่สร้างสรรค์ของคนรักละครเวทีร่วมสมัย) ผมก็พบความจริงว่าเรื่อง รักสามเส้า นั้นอาจไม่กระทบใจคนดูเท่าเดิม แต่อารมณ์ ความรู้สึก การทรยศ หักหลัง ของมนุษย์นั้น ยังไงก็เป็น อกาลิโก คือ อยู่เหนือกาลเวลา
ด้วยบทอันแสนชาญฉลาดของพินเตอร์ ที่เล่าเรื่องย้อนกลับไปในทำนองจาก ผลไปหาสาเหตุ ทำให้ผู้ชมจะ
ค่อยๆ ทำความเข้าใจจิตใจของมนุษย์สามคนที่มีมุมมองในเรื่อง “ความรัก” ในสามรูปแบบ ความสนุกของการชมละครประเภทเล่าเรื่องย้อนกลับ (flash back) เช่นนี้ คือการเล่นกับความรู้สึกของผู้ชมว่าเมื่อได้เห็น “ผล” ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ก็มักจะคาดเดาถึง “เหตุ” ของเรื่องราวนั้น โดยอาจใช้กรอบความคิดของผู้ชมแต่ละคนไปตัดสินตัวละครล่วงหน้า…แต่ขอสารภาพว่า พินเตอร์ฉลาดกว่าผมไปสักสิบเท่าตัว ผมเดาผิดตลอด ! ไม่ใช่การเดาเรื่องผิด แต่เดาเหตุผลทางอารมณ์ของตัวละครผิดต่างหาก
เรื่องเริ่มที่หญิงคนหนึ่ง (ภาวิณี สมรรคบุตร) มารอชายอีกคน (กมลพัชร พิมสาร) ที่ร้านอาหาร เพื่อที่จะบอกเขาว่าเมื่อคืนเธอเพิ่งบอกสามีของเธอ (พีระพล กิจรื่นภิรมย์สุข) ว่าเธอเป็นชู้กับเขา ฉากนี้จบลงด้วยการมีปากเสียงกัน เพราะฝ่ายชายโมโหมากที่หญิงสาวทำเช่นนั้น โดยอ้างว่าตนกับสามีของเธอเป็นเพื่อนสนิทกัน ฉากต่อมาเขาจึงไปพบสามีของเธอเพื่อหยั่งเชิง เรื่องกลับกลายเป็นว่าสามีของเธอบอกเขาว่ารู้มานานแล้ว ไม่ใช่เธอเพิ่งบอกและไม่ได้ต่อว่าอะไร และยังบอกว่าไม่มีปัญหาเพราะเราเป็นเพื่อนกัน
รายละเอียดในฉากนี้ที่ได้คือ ผู้ชายสองคนนี้เป็นทั้งเพื่อนและเป็นพาร์ทเนอร์ในธุรกิจเกี่ยวกับสำนักพิมพ์ ตัวละครสามีถูกนำเสนอให้รู้ว่าเป็นนักธุรกิจ ในขณะที่ชายชู้ทำหน้าที่คล้าย ๆ เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ เขา มีครอบครัวแล้ว และดูเหมือนว่าทั้งสองครอบครัวนี้จะค่อนข้างสนิทกันมาก ฉากนี้จบลงด้วยการพูดถึงผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ ว่าจะสามารถทำกำไรให้กับบริษัทมากเพียงไร….
จากนั้นเรื่องก็ย้อนกลับไป ในฉากของการย้ายของออกจากคอนโดมิเนียม รังรักของ เธอกับชายชู้ เธอถามเขาว่าเขาไม่มีปัญญาส่งเงินค่า “บ้าน” ของคนทั้งคู่ใช่ไหม เขายอมรับว่า เขาไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายของ “คอนโดมิเนียม” ห้องนี้ได้ และอีกอย่างเธอก็เปิดแกลลอรี่ทำให้ไม่สามารถมาใช้เวลาอยู่กับเขาในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีได้ ฉากนี้ทำให้คนดูสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นทัศนะต่อพื้นที่ของพวกเขาที่แตกต่างกัน ฝ่ายหญิงเห็นว่าที่นี่คือบ้าน (แล้วที่บ้านของเธอล่ะ?) ส่วนฝ่ายชายกลับคิดว่าที่นี่คือ ห้องเช่าชั่วคราว (ส่วนที่บ้านซึ่งมีภรรยา และลูกอีก 2 คน นั่นคือบ้านที่แท้จริง)
หาก ดำเกิงจะเน้นการกำกับการแสดงไปในเชิงชิงรักหักสวาทแต่เพียงอย่างเดียว ละครเรื่องนี้ก็คงได้รสชาติที่แสบสันไปมากกว่านี้ แต่สำหรับการกำกับการแสดงครั้งนี้ ดำเกิง จงใจให้ผู้ชมได้สังเกตเห็น” เงื่อนไข” ทางสังคมที่ผูกติดมากับตัวละครทั้งสามด้วย เพื่อทำให้เรื่องชู้สาวนี้ ได้เป็นตัวแทนของการแสดงการขัดขืนต่อค่านิยมทางสังคมที่ครอบงำพวกเขาไว้ ในที่นี้ การต้องอยู่ในภาพนำเสนอ (representation) ที่พวกเขาต้องการบอกไปกับสังคมว่า พวกเขาเป็นคนสมบูรณ์แบบ มีบ้านสวย ๆ มีชีวิตสมรส มีลูกสองคน มีการงานที่มั่นคง มีไลฟ์สไตล์ที่ดี (การบริโภคอาหารดี ๆ การเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศ การอ่านหนังสือดี ๆ ) ได้กลายเป็นสถานจองจำทางจิตวิญญาณของพวกเขาไว้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
ตัวละครทั้งสามต่างเป็นเหยื่อการสร้างและส่งความหมายเรื่อง “ความสมบูรณ์แบบ” ของครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างสูงในสังคมบริโภคนิยม (ละครให้ภาพซ้ำของการนั่งรับประทานอาหารบ่อย ๆ) แต่ด้วยอาชีพทำให้พวกเขาเองก็อยากจะหนีจากการจองจำอันนั้น หากสามีเป็นตัวแทนของนักธุรกิจ ชายชู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหรือแมวมองของวงการนักเขียน ส่วนเธอโดยอาชีพบอกว่าเธอเป็นเจ้าของแกลลอรี่ นั่นเท่ากับว่า ตัวละครหญิงสาวและชายชู้มีโอกาสเข้าไปสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ผ่านงานศิลปะอยู่เป็นนิจ และนั่นอาจเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้พวกเขาก้าวข้ามเส้นเขตทางศีลธรรม ไปสู่โลกแฟนตาซีของคนทั้งสองเพื่อหลีกหนีชีวิตจริง (คล้าย ๆ วรรณกรรมพาฝันที่ตัวละครทั้งสองชอบอ่าน) แต่เมื่อลงในรายละเอียดแล้วกลับพบว่า ความรู้สึกของคำว่ารักของคนทั้งคู่นั้นต่างกัน
เธอรักชายชู้ เพราะนึกว่าเขาอยากใช้เวลาอยู่กับคนประเภทเดียวกัน ส่วนเขารักเธอตราบเท่าที่เธอยังสามารถตอบสนองความต้องการทางเพศของเขาได้ตามที่เขาต้องการ และไม่กระทำการใด ๆ กระทบกับชีวิตของเขาในโลกเสมือนจริง ( ทันทีที่เขารู้ว่าเธอท้องและไม่ทำตามกติกาของเขา เขาก็เป็นฝ่ายยุติความสัมพันธ์นั่นลง) ส่วนตัวละครสามีนักธุรกิจนั้นเขาก็ต้องต่อสู้กับภาวะอารมณ์ของตัวเองพอสมควร แต่ในทีสุดเขาก็ใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง โดยใช้คำว่า “เพื่อน” มาเป็นข้ออ้างให้เขาได้แสดงบทบาทของชายหนุ่มผู้เข้าใจโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หากมองในมิติของละคร ดำเกิงกำกับละครเรื่องนี้ในแบบ stylization ตามกลิ่นของบทได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งการออกแบบโปรดัคชั่นดีไซน์ (วสุรัชต อุณาพรหม) ที่พยายามบอก theme ของเรื่องว่าความซับซ้อน และโชว์การประกอบสร้าง และรื้อทิ้งของฉากแต่ละฉากให้ผู้ชมเห็น ๆ จนกลายเป็นอีกเส้นเรื่องหนึ่งที่เดินคู่ขนานกับเส้นเรื่องรักสามเส้าของตัวละครได้อย่างวิเศษ (แม้ว่าจะดูพยายามสวยมากไปนิด) แต่เมื่อกลับมาดูนักแสดง จะพบว่า โจทย์ที่ดำเกิงให้กับพวกเขานั้นอาจคาดหวังศักยภาพที่สูงเกินไปจากพวกเขา เพราะไหนจะต้องถ่ายทอดความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละคร ในขณะเดียวกันก็ต้องซ่อนความจริงทางอารมณ์นั้นผ่านการแสดงที่บิดไปไม่ให้สมจริงมากไปอีกชั้นหนึ่ง ยิ่งการกำกับการเล่าเรื่องคมชัด มั่นใจ และการโปรดัคชั่นดีไซน์ที่แม่นยำมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เห็นว่าการแสดงของนักแสดงทั้งสามนั้นไปคนละทางกับทิศทางของละครมากขึ้นเท่านั้น บางฉากที่พวกเขาเข้าใจก็เล่นกันได้ดีมาก ในขณะที่หลาย ๆ ฉาก ผมยังรู้สึกว่ามา “พ่นบท” ให้ฟังทำไม ผลรวมที่ออกมาสำหรับผมคือละครเรื่องนี้สนุกดีที่ได้คิด แต่ไม่ทำให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก…
อย่างไรก็ตาม การนำบทละครคลาสสิคของโลกมาจัดแสดงในพากย์ไทยเช่นนี้ ก็ยังนับว่ามีคุณค่ามาก อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นว่าบทละครที่เป็นอมตะนั้น เนื้อในไม่เคยเชย (หากเราอ่าน “แตก” และเราไม่ได้หยุดทำความเข้าใจละครแค่การดู “เอาเรื่อง” เท่านั้น ) ดีใจที่ดำเกิงให้ความสำคัญกับ “สาร” ของบทละครที่มากกว่าเรื่องชิงรักหักสวาทดาด ๆ และกำกับการเล่าเรื่องออกมากได้อย่างมีชั้นเชิง แต่โจทย์ที่ต้องฝากต่อคือการถ่ายทอดความเข้าใจของเขาให้แก่นักแสดงมากยิ่งขึ้น เพราะบทละครเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่อง “รักทรยศ” เท่านั้น
ที่มา : คอลัมน์ reporter Theatre นิตยสาร Madame Figaro ฉบับ เดือน กันยายน 2554
ที่จุดเริ่มของละครแต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเรื่องราว..เมื่อเธอกับเขากลับมาพบกันอีกครั้ง
ภายใต้ภาพนำเสนอครอบครัวที่สมบูรณ์แบบของเธอกับสามี-มีบางอย่างรอการปะทุ
ภาวิณีสวยและเปราะบางสมบทบาทหญิงที่เป็นเหยื่อ
สำหรับชายชู้เขารักเธอแบบไหนกัน…
ภาพโดย Somjed Roobklom