ความเบิกบานของอาจารย์ผู้สูงวัย

ความเบิกบานของอาจารย์ผู้สูงวัย[*]

 

 

เจตนา  นาควัชระ

ผมได้เคยปรารภไว้ในบทความชื่อ “ความเบิกบานของอาจารย์ภาษาต่างประเทศ” (ตีพิมพ์รวมเล่มใน
การวิจารณ์กับทวิวัจน์ข้ามชาติ, 2560) ว่า  ผู้ที่ตัดสินใจมาทำอาชีพครูภาษาต่างประเทศ  โดยเฉพาะครูภาษาตะวันตกนั้น  ต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมาย  ในการที่จะศึกษาค้นคว้างานในสาขาของตนให้ถึงขั้นที่จะได้รับการยอมรับจากเจ้าของวัฒนธรรม  การขาดความมั่นใจในลักษณะนี้  อาจจะมิได้เป็นผลมาจากท่าทีของเจ้าของวัฒนธรรมต้นกำเนิด  แต่เป็นภาวะของความนอบน้อมถ่อมตนของอาจารย์ภาษาต่างประเทศของไทยเอง  ที่ด่วนสรุปว่า  ถึงอย่างไรเราก็ไม่มีทางที่จะสร้างงานวิชาการขึ้นมาทาบกับงานของเจ้าของภาษาได้  ผมได้ศึกษามาในมหาวิทยาลัยโบราณในประเทศตะวันตก 2 แห่ง  และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษในฐานะครูภาษาตะวันตก ก็ยังคิดว่า  ถ้าเราไต่ตรองให้ดีและสามารถเลือกเฟ้นโจทย์วิจัยที่เรามั่นใจได้ว่าจะหาคำตอบได้  เราก็น่าที่จะสร้างงานวิชาการที่อยู่ในระดับที่จะสนทนากับเพื่อนร่วมงานได้ทั้งในระดับของเจ้าของภาษาเอง  และในระดับนานาชาติ

          แต่การเรียกร้อง “ผลกระทบ” ของงานวิจัยอย่างที่กำลังทำกันในปัจจุบันอาจทำให้นักวิชาการทางด้านภาษา  วรรณคดี และวัฒนธรรมท้อแท้ได้ง่าย  เพราะงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์โดยทั่วไปต้องใช้เวลานานกว่าที่จะซึมซับลงไปในประแสของพัฒนาการทางวิชาการ

          ตัวอย่างที่ผมจะยกมาอภิปรายเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง  โดยจะขออนุญาตอ้างประสบการณ์ของตนเอง  วิทยานิพนธ์ของผมเป็นหัวข้อตะวันตกล้วนๆ คือ อิทธิพลของนักคิดและนักวิจารณ์ยุคโรแมนติคชาวเยอรมัน ชื่อ เอากุสต์  วิลเฮล์ม  ชเลเกล (August Wilhelm Schlegel: ค.ศ. 1767-1845) ที่มีต่อวงการวิจารณ์ของฝรั่งเศส ค.ศ. 1807-1835 (ชื่อภาษาเยอรมันว่า August Wilhelm Schlegel in Frankreich. Sein Anteil an der französischen Literaturkritik 1807-1835)  การศึกษาค้นคว้าในหัวข้อนี้  นอกจากจะใช้การตีความอันเป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในด้านมนุษยศาสตร์แล้ว  ยังต้องอาศัยหลักฐานปฐมภูมิเป็นหลัก  อันทำให้ผมต้องเดินทางไปค้นคว้าหลายครั้งในช่วงเวลา 3 ปี ณ หอสมุดแห่งชาติที่กรุงปารีส  วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้นักวิชาการไทยเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อความสัมพันธ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี  ซึ่งผมได้ติดตามศึกษาต่อเนื่องมา ดังเช่นในหนังสือชื่อ Brecht and France 1993  ซึ่งตีพิมพ์ในสวิตเซอร์แลนด์  และในปัจจุบันก็กำลังค้นคว้าเรื่องการฟื้นตัวของวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบในเยอรมนีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  อันเป็นเครื่องช่วยสมานไมตรีระหว่างชาติทั้งสอง

         

         

ผมได้อาจารย์ผู้คุมวิทยานิพนธ์ผู้ซึ่งเป็นครูที่ประเสริฐ  เพราะนอกจากจะชี้ทางอันเหมาะสมให้แล้วก็ยังให้กำลังใจศิษย์อยู่ตลอดเวลา  ผมส่งต้นฉบับให้ท่านอ่านทั้งหมดในฤดูร้อน ค.ศ. 1965  ท่านใช้เวลาหยุดภาคการศึกษาอ่านงานอย่างละเอียด  เมื่ออ่านไปได้เพียงครึ่งเดียวก็เรียกผมไปพบ  และบอกว่า “ครูได้นัดผู้จัดการสำนักพิมพ์ Max Niemeyer อันมีชื่อเสียงแล้ว  เราจะไปพบเขาสัปดาห์หน้า  เพราะครูมั่นใจวิทยานิพนธ์ของเธอสมควรที่จะได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม”  ผมสอบปากเปล่า (ตามขนบของเยอรมัน  ในวิชาเอก 1 วิชา และวิชาโทอีก 2 วิชา)  และจบการศึกษาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1965 โดยกลับมาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1966  ได้รับงานด้านพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นองค์การ SEAMEO)  หน้าที่ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับวิชาที่เรียนมาโดยตรงและวิทยานิพนธ์เล่มนั้นเลย  และตลอดปีนั้นต้องหาเวลาตรวจปรู๊ฟหนังสือเล่มแรกของตน  โดยมีการส่งปรู๊ฟกลับไปกลับมาทางไปรษณีย์อากาศในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต (ช่วงไหนงานพิมพ์หนังสือเร่งมากก็จำต้องนั่งรถประจำทางไปส่งไปรษณีย์ที่สนามบินดอนเมือง)  หนังสือเล่มนั้นตีพิมพ์เสร็จในปลายปี 1966  ด้วยบารมีของครูและด้วยเครือข่ายอันมีประสิทธิภาพของสำนักพิมพ์  หนังสือได้รับการวิจารณ์ในวารสารวิชาการหลายฉบับ  โดยศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีศึกษาที่มีชื่อเสียงของยุโรปและอเมริกา  สรุปได้ว่าครูของผมได้หาที่ยืนทางวิชาการให้แก่เราแล้ว  เมื่ออายุ 20 ปลายๆ  แต่เนื่องจากเป็นงานที่ให้รายละเอียดมากมาย และต้องการความรู้เฉพาะด้าน ความสนใจจึงอยู่ในวงแคบ  มีการอ้างถึงอย่างประปราย  และในช่วง 5 ปีแรกมีเพียงนักวิชาการชาวรูเมเนียนเพียงคนเดียวที่ได้นำงานชิ้นนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง

แล้วผลงานวิจัยชิ้นแรกนี้ก็ถูกกลืนไปในกระแสของวิชาการที่พัฒนาไปในทิศทางซึ่งล่าสุดเป็นการเน้นทฤษฎีมากกว่าเนื้อหา  การศึกษาในลักษณะที่มีกลิ่นอายของปฏิฐานนิยม (Positivism) เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยทำกันในปัจจุบัน  แต่แล้วโชคก็เข้าข้างผม  ในปี ค.ศ. 2016  รอเจอร์  พอลิน (Roger Paulin)  ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตีพิมพ์หนังสือเล่มมหึมาออกมา ชื่อว่า  ชีวิตของเอากุสต์  วิลเฮล์ม  ชเลเกล นักคิดผู้มีความเป็นสากลในด้านศิลปะและวรรณคดี  (The Life of August Wilhelm Schlegel, Cosmopolitan of Art and Poetry)  ซึ่งมีความหลากหลายและลึกซึ้งถึงขนาดที่ทำให้ชเลเกล “เกิดใหม่” ขึ้นมาได้ในวงวิชาการ   และผมก็ได้รับอานิสงส์จากหนังสือเล่มใหม่นี้ด้วย  อาจารย์พอลินให้การยอมรับว่างานของผมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องานของท่าน   และการอ้างอิงของท่านนั้นคงจะไร้ความหมายถ้าจะนับเป็นจำนวนครั้ง  (ดังที่วงวิชาการและทางการของไทยนำมาทำเป็นข้อกำหนดตามแบบแผนทางวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตก) เพราะสารที่ผมส่งถึงท่านและท่านส่งต่อไปยังวงวิชาการนานาชาตินั้น  เป็นเรื่องของความคิดบุกเบิกที่สามารถสร้างความตื่นตัวทางปัญญาในลักษณะข้ามชาติได้ อันเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภูมิปัญญาโรแมนติคตะวันตก  ซึ่งวัดไม่ได้ด้วยปริมาณ 

โชคเข้าข้างผมที่มีอายุยืนนานมาพอที่จะได้เห็นผลงานของตนได้รับการยอมรับทางวิชาการจากผู้รู้ในวัฒนธรรมต้นกำเนิด  หลังจากที่รอคอยมา 51 ปี  ขอให้นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์  รุ่นน้อง  รุ่นลูก  รุ่นหลาน  โปรดฝึกหายใจยาวๆ เอาไว้ด้วยเถิด

————————

[*] (บทความฉบับสมบูรณ์ ชื่อ “ทวิวัจน์ข้ามชาติ: กรณีศึกษาเชิงอัตชีวประวัติทางวิชาการ” จะลงพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ฉบับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *