“LEN LIKAY” PLAY OF MY LIFE OR BE YOURSELF AND OTHER PEOPLE WIIL APPRECIATE YOU !
“LEN LIKAY” PLAY OF MY LIFE
OR BE YOURSELF AND OTHER PEOPLE WIIL APPRECIATE YOU !
(FB: Vipatsaya Ome U-poon)
รูปแบบการวิจารณ์ที่ยังนิยมกันมากในบ้านเราคือการอภิปรายหลังการแสดง ภาพที่เห็นเป็นการอภิปรายหลังการแสดงของ ประดิษฐ ประสาททอง เมื่อคืนวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ซึ่งใช้ชื่อการแสดงเป็นภาษาอังกฤษว่า “LEN LIKAY” PLAY OF MY LIFE (ผู้ที่อยู่ในภาพจากซ้ายไปขวาคือ อ.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ประดิษฐ ประสาททอง อ.สุกัญญา สมไพบูลย์ [ผู้แสดงร่วม] อ.เจตนา นาควัชระ) ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเชิญมาอภิปราย การให้ทัศนะจึงเป็นการด้นสดเช่นเดียวกับลิเกแบบประเพณี
การแสดงครั้งนี้ให้ทั้งความบันเทิงและสาระ ถ้าจะปรับเนื้อหาให้เป็นรูปแบบปาฐกถาหรือการบรรยายก็ทำได้ ประดิษฐให้ประวัติลิเกในฐานะรูปแบบของศิลปะที่อยู่ยงคงกระพันต่อมาได้ยาวนาน และก็ยังรอดชีวิตได้ในสังคมปัจจุบัน ชื่อการแสดงก็บอกว่าเป็นอัตชีวประวัติ แต่การเสนออัตชีวประวัติในรูปแบบนี้นับได้ว่ามีชีวิตชีวามาก บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งออกไปคลุกกับวงการลิเกด้วยตัวเอง ได้วิชามาจากบรมครูหลายท่าน ถ้าเป็นนักแสดงธรรมดาก็คงทำได้แต่เพียงเล่าประวัติของตนไปตามลำดับก่อนหลัง แต่อานิสงส์ของอุดมศึกษาไทย (ผมต้องทำทุกอย่างในขณะนี้เพื่อสนับสนุนให้อุดมศึกษาของไทยอยู่รอดได้ เพราะใกล้จะสิ้นลมแล้วด้วยความอ้วน) ช่วยให้ประดิษฐสามารถวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนเองได้อย่างชัดเจนและสื่อมายังผู้ชมได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
(FB: Tua Pradit Prasarthong)
สำหรับคนที่ชอบลิเกมาตั้งแต่เด็กอย่างผม การได้รับรู้เรื่องจากภายใน รวมทั้งเรื่องเบื้องหลังเวที นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่า สังคมไทยครั้งหนึ่งเป็นสังคมที่ผู้สร้างกับผู้รับอยู่ในประชาคมเดียวกัน ตัวอย่างของการด้นกลอนสดที่ประดิษฐนำมาใช้ในการแสดงครั้งนี้มีนัยทางวัฒนธรรมและทางการศึกษาสูงมาก เพราะเมื่อเขาจงใจเว้นว่างสัมผัสปลายวรรคเอาไว้ แล้วถือไมโครโฟนเข้าไปจ่อปากผูชมคนใดคนหนึ่ง ก็ยังไม่มีใครที่เติมช่องว่างนั้นไม่ได้เลย ช่องว่างนี้ต่างจากการเติมช่องว่างในข้อสอบปรนัย เพราะเป็นการเติมเต็มที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมการแสดงที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวรรณศิลป์ ผมดีใจที่ศักยภาพนี้ยังไม่ตาย คนรุ่นผมมีประสบการณ์ที่เห็นผู้แสดงด้นแล้วติด เพราะหาสัมผัสปลายวรรคไม่ได้ และก็ยินดีรับข้อเสนอของผู้ที่ตะโกนมาจากด้านหลังของกลุ่มคนดู และที่วิกเมรุปูนตรงข้ามวัดสระเกศ ซึ่งเป็นโรง “อุปรากร” ของผมในวัยเด็ก ผู้ชมแถวหลังๆ ก็คือแม่ค้าและพ่อค้าจากตลาดมหานาคนั่นเอง สัมพันธภาพแนวนอนระหว่างผู้แสดงกับผู้ชมที่ว่านี้เป็นความใฝ่ฝันของปรมาจารย์ แบร์ทอลท์ แบรคชท์ (Bretolt Brecht) แต่เขาทำไม่สำเร็จในสังคมตะวันตกของเขา แต่บ้านเราทำได้และก็ยังทำได้ในสังคมที่ถูกครอบด้วยสื่อสมัยใหม่
“LEN LIKAY” PLAY OF MY LIFE เคยนำแสดงออกแล้วในต่างประเทศ และผู้ชมในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม ส่วนหนึ่งก็เป็นชาวต่างชาติ ผู้ร่วมอภิปรายจึงต้องสรุปประเด็นสำคัญๆเป็นภาษาอังกฤษ บทเรียนที่ผมได้จากการสัมผัสศิลปะของไทยแบบประเพณีที่ยังอยู่ได้ในสังคมร่วมสมัยก็คือ ผู้ที่ไม่ขาดรากและรากไม่ขาดเท่านั้นที่จะสร้างนวัตกรรมและสื่อความข้ามพรมแดนแห่งวัฒนธรรมได้ ประดิษฐ ประสาททองพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าเราเป็นตัวของตัวเองให้สุดทางแล้วคนอื่นเขาจะชื่นชมเราเอง (Be yourself and other people will appreciate you!) ดีแล้วที่ไม่อยากทำอย่างพวก “วานรชำราบ”
เจตนา นาควัชระ