Andrey Gugnin โชคดีเพียงไหนที่ผู้ฟังชาวไทยได้ต้อนรับศิลปินระดับโลกถึงสองครั้งในปี 2560
Andrey Gugnin โชคดีเพียงไหนที่ผู้ฟังชาวไทยได้ต้อนรับศิลปินระดับโลกถึงสองครั้งในปี 2560
วฤธ วงศ์สุบรรณ
อันเดรย์ กุกนิน (Andrey Gugnin เกิด ค.ศ. 1987) นักเปียโนหนุ่มชาวรัสเซีย นับว่าเป็นนักดนตรีคนหนึ่งที่มีความผูกพันกับเมืองไทย เพราะมาแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับกลุ่มโปรมูสิกาแล้วหลายครั้ง และเคยมาเล่นกับวง Bangkok Symphony Orchestra อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการมาแต่ละครั้งของเขาก็มีดีกรีชนะการแข่งขันรายการระดับโลกห้อยท้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีนี้เขาก็เพิ่งได้รางวัลชนะเลิศในรายการ Sydney International Piano Competition ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ “หิน” มาก เพราะผู้ประกวดต้องเล่นดนตรีในทุกสไตล์ ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ถึงเพลงสมัยใหม่ และต้องเล่นทั้งคอนแชร์โต โซนาต้า และเป็นผู้บรรเลงคลอ (accompanist) ด้วย ดังนั้นผู้ที่ชนะเลิศได้จะต้องมีความสามารถรอบตัวอย่างสูงมากในทุกๆ ด้าน ซึ่งหากท่านเคยฟังกุกนิน หรือได้มาฟังเขาบรรเลงในครั้งนี้จะรู้สึกได้ว่า เขามีความยอดเยี่ยมที่หลากหลายจริงๆ ซึ่งในปี 2560 กุกนินก็ได้มาบรรเลงร่วมกับโปรมูสิกาอีกเช่นเคย รวมทั้งอีกรายการที่บรรเลงร่วมกับ BSO ด้วย
(จาก FB Pro Musica)
การแสดงของกุกนินกับกลุ่มโปรมูสิกา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท ประกอบด้วยบทเพลง Trio élégiaque No.2 in D minor, Op.9 ‘In memory of Tchaikovsky’ ของเซอร์เกย์ รัคมานินอฟ (Sergei Rachmaninoff, 1873-1943 : คีตกวีชาวรัสเซีย) บรรเลงร่วมกับทัศนา นาควัชระ นักไวโอลินชาวไทยและหัวหน้ากลุ่มโปรมูสิกา และไอริส เรเกฟ (Iris Regev) นักเชลโลชาวอิสราเอล ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในเมืองไทยและเป็นสมาชิกของวง Royal Bangkok Symphony Orchestra และอีกบทเพลงคือเพลงบรรเลงเดี่ยวเปียโน Pictures at an Exhibition ‘A Remembrance of Viktor Hartmann’ ของโมเดส มูสซอร์กสกี (Modest Mussorgsky, 1839-1881 คีตกวีชาวรัสเซีย) ซึ่งทั้งสองบทเพลงนี้ประพันธ์ขึ้นเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้วายชนม์ที่คีตกวีนับถือ อันตรงกับแนวคิดของการจัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้เพื่อถวายความอาลัยแด่รัชกาลที่ 9 และในอีกแง่หนึ่งเราผู้ฟังก็ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ดนตรีจากสำนักรัสเซีย (Russian School) ที่ยิ่งยงในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเราอาจจะรู้จักเพลงเหล่านี้ไม่มากนัก และไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ฟังการแสดงสดๆ ในประเทศไทย เพราะดนตรีคลาสสิกประเภทวงซิมโฟนีเป็นหลัก
การแสดงเริ่มต้นด้วย Trio élégiaque ซึ่งเป็นเพลงที่มีหลากหลายอารมณ์มาก ทั้งสุดแสนจะเศร้าสร้อย หม่นหมอง แต่ก็ยังมีความเร่งเร้ารุนแรง และแฝงไปด้วยสำเนียงดนตรีพื้นบ้านรัสเซียด้วย การประสมเครื่องดนตรีนั้น เรียกว่าไม่มีใครเด่นเกินใคร เพราะทุกคนมีบทบาทมากทัดเทียมกัน ซึ่งเรียกร้องความสามารถของนักดนตรีในระดับสูง โดยเฉพาะเปียโนที่ต้องใช้เทคนิคที่แพรวพราวในระดับที่เทียบได้กับคอนแชร์โตเลยทีเดียว ซึ่งกุกนินทำได้อย่างดีไม่มีที่จะติอันใด เสียงเปียโนของเขาแสดงออกได้หลากหลาย มีทั้งอารมณ์ที่เคร่งขรึม ดุดัน เศร้าโศก และอ่อนโยน ซึ่งน่าจะมีส่วนให้นักไวโอลินและนักเชลโลของบ้านเรานั้น มีความมั่นใจในการเล่นมากขึ้น คือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้ผลงานการบรรเลงออกมาได้เป็นอย่างดี ในส่วนของ อ.ทัศนา ก็ยังคงมาตรฐานของฝีมือไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าเพลงจะเรียกร้องความต้องการทางด้านเทคนิคหรือความลึกซึ้งทางอารมณ์ อ.ทัศนาก็ถ่ายทอดออกมาอย่างไพเราะ โดยส่วนตัวผมจะชอบในกระบวนที่ 1 มากที่สุด เพราะมีอารมณ์ที่หลากหลายมาก ส่วนไอริส เรเกฟ นั้น เสียงเชลโลของเธอมีความหวานนุ่มนวล ค่อนข้างจะบางเล็กน้อย แต่ฝีมือของเธอก็อยู่ในระดับที่เคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อนร่วมวงได้อย่างสบาย ซึ่งมีผู้ฟังอาวุโสที่ไปร่วมชมคอนเสิร์ตด้วยกันกับผม ตั้งข้อสังเกตว่าเสียงเชลโลของเธอมีลักษณะที่ต่างจากนักเชลโลดังๆ ในยุคศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นคาซาลส์ รอสโตรโปรวิช หรือโย โย มา แต่ชวนให้คิดไปถึงนักเชลโลชาวอิตาเลียนชื่อ อันโตนิโอ ยานิโกร (Antonio Janigro: 1918-1989) ผู้เป็นตัวแทนสำนักเชลโลที่โดดเด่นอีกสำนักหนึ่ง ซึ่งก็ทราบในภายหลังว่ายานิโกรเป็นครูของครูของเธอนั่นเอง
ส่วนการบรรเลงเดี่ยว Pictures at an Exhibition ในครึ่งหลังนั้น บทเพลงนี้นักฟังจำนวนมากจะคุ้นเคยในเวอร์ชันออร์เคสตรา ที่โมริซ ราแวล (Maurice Ravel, 1875-1937 : คีตกวีชาวฝรั่งเศส) นำมาเรียบเรียงสำหรับวงออร์เคสตรา (orchestration) ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นเวอร์ชันที่โด่งดังยิ่งกว่าต้นฉบับดั้งเดิม และอาจทำให้หลายคนกังขาว่าต้นฉบับเดิมคงจะไม่ดีนักจนราแวลทนไม่ได้ต้องเอามาแปลงเสียใหม่ แต่การแสดงครั้งนี้ กุกนินก็ได้เผยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของมูสซอร์กสกี้ ในรูปแบบดั้งเดิมคือการเดี่ยวเปียโน ซึ่งต้องใช้ความสามารถระดับสูง รวมไปถึงการตีความและการแสดงออกทางอารมณ์ที่หลากหลาย แม้แต่ในท่อน Promenade ซึ่งเป็นท่อนเชื่อมไปยังท่อนอื่นๆ นั้น กุกนินยังจงใจเล่นไม่ให้เหมือนกัน เพื่อไม่ให้ซ้ำซากและแสดงออกถึงอารมณ์ที่ยังค้างจากการบรรเลง (หรือชม) ภาพก่อนหน้านั้นด้วย รวมทั้งในแต่ละท่อนก็มีความหลากหลายของท่วงทำนอง ลีลา และอารมณ์ กุกนินก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ทั้งในด้านฝีมือการบรรเลงที่ต้องการเทคนิคขั้นสูงทั้งหลาย และความลึกซึ้งของอารมณ์เพลง ชวนให้คิดว่าบทเพลงนี้ของเดิมก็มีความยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ราแวลอาจจะอยาก “ขยาย” ความยิ่งใหญ่ด้วยการ “แปลง” ให้เป็นเพลงสำหรับวงออร์เคสตราเพื่อให้คนฟังจำนวนมากได้รับรสไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เปียโนตัวเดียวก็สามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่นี้ได้ เพียงแต่ต้องการผู้บรรเลงที่มีฝีมือและมีความเข้าใจบทเพลงเพียงพอ
การแสดงของกุกนินในครั้งนี้นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟังจำนวนมาก บทเพลงอย่าง Trio ของรัคมานินอฟนั้น แม้แต่ในประเทศตะวันตกก็หาฟังการแสดงสดได้ยากมาก (ผู้ฟังอาวุโสท่านหนึ่งบอกว่าในประสบการณ์การฟังดนตรีอันยาวนานร่วมกึ่งศตวรรษของท่านทั้งในเมืองไทยและตะวันตกนั้น ท่านไม่เคยฟังบทเพลงนี้ในการบรรเลงสดมาก่อนเลย) อาจจะเพราะความยากในการบรรเลงและความไม่แพร่หลายของบทเพลง แต่เมื่อเราได้ฟังแล้วก็รู้สึกได้เลยว่าสำนักรัสเซียนี้มีอะไรที่ไม่ธรรมดาอยู่อีกมากที่เราไม่ค่อยรู้จัก ต้องขอบคุณกุกนินในฐานะทูตวัฒนธรรมที่เผยแพร่สิ่งดีๆ ของบ้านเกิดให้ชาวโลกได้ชื่นชม เช่นเดียวกับผลงานของมูสซอร์กสกี้ที่เราไม่ค่อยได้รับฟังเวอร์ชันต้นฉบับ จะเรียกว่ากุกนินมาช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีให้ก็คงไม่ถูก เพราะบทเพลงนี้ก็ยิ่งใหญ่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วยเปิดประสบการณ์ให้คนไทยจำนวนมากที่เคยฟังแต่เวอร์ชันออร์เคสตรา (ที่วาทยกรบางคนเน้นบรรเลงอย่างโฉ่งฉ่างมุ่งแต่ความโอ่อ่าทางเสียง) ได้สัมผัสต้นฉบับที่อาจจะเป็น “อีกโลกหนึ่ง” ของการตีความบทเพลงเดียวกันนี้ด้วย
(Royal Bangkok Symphony Orchestra)
ส่วนคอนเสิร์ตถัดมาของเขา คือการบรรเลงร่วมกับวง Royal Bangkok Symphony Orchestra เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ยูริ เมเดียนิค (Yuri Medianik) วาทยกรชาวรัสเซีย เป็นผู้ควบคุมวง ซึ่งก่อนจะถึงการแสดงของกุกนิน คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยการเดี่ยวบายัน (Bayan) หรือแอคคอร์เดียนรัสเซีย โดยตัววาทยกรเอง ในผลงานชื่อ Bacarolle in G minor Op.10 No.3 ของรัคมานินอฟ ซึ่งทำให้ผู้ฟังได้ทราบถึงศักยภาพอันมหาศาลของเครื่องดนตรีประเภทแอคคอร์เดียนชิ้นนี้ (อันที่จริงแอคอร์เดียนก็เป็นที่นิยมในสังคมไทยอยู่ช่วงหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ครูเพลงไทยสากลหลายท่านก็เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ด้วย แต่ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยคีย์บอร์ดไฟฟ้าซึ่งสร้างเสียงได้หลากหลายกว่า) และแสดงให้เห็นถึงฝีมือที่ไม่ธรรมดาของวาทยกร (ซึ่งในประวัติก็ระบุว่าเขาก็มีความสามารถในด้านไวโอลินด้วย โดยเป็นระดับมือรางวัลเลยทีเดียว) ชี้ให้เห็นว่าการจะเป็นวาทยกรนั้น ต้องเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือเสียก่อน เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความรู้ความเข้าใจในทางดนตรีและการตีความ มิเช่นนั้นนักดนตรีในวงจะไม่เชื่อถือและอาจจะถูก “ลองของ” ได้
จากนั้นจึงมาถึงเพลงเอกของรายการ คือ Piano Concerto No.3 in D minor, Op.30 ของรัคมานินอฟอีกเช่นกัน ซึ่งก็ทราบกันดีว่าท่านผู้นี้นอกจากจะเป็นคีตกวีที่เลื่องชื่อแล้ว ยังเป็นนักเปียโนเอกของยุคอีกท่านหนึ่งด้วย ดังนั้นเปียโนคอนแชร์โตของท่านก็ย่อมจะบรรจุความจินตนาการและเทคนิคการบรรเลงที่สูงสุดที่ท่านต้องการไว้ ซึ่งจากการฟังการบรรเลงของกุกนินนั้น ผมคิดว่าฝีมือของเขาอยู่ในระดับที่สามารถบรรเลงผลงานของรัคมานินอฟได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งด้านเทคนิคและการตีความ เขาสามารถตรึงสมาธิของผู้ฟังได้อย่างดี ทำให้เพลงที่ยาวประมาณ 40 นาที ไม่มีช่วงเวลาที่น่าเบื่อเลย และมีความลึกซึ้งทางอารมณ์ที่สูงมาก ทั้งช่วงที่อ่อนหวาน ละเมียดละไม และช่วงที่ขึงขังรุกเร้า ทำได้อย่างดีจนแทบหาที่ติไม่ได้ นอกจากนี้ บุคลิกภาพของเขายังชวนให้วาทยกรและวงบางกอกซิมโฟนีบรรเลงร่วมกับเขาได้อย่างเข้ากันเป็นอย่างดี ไม่มีความรู้สึกว่าแปลกแยกหรือไปคนละทิศละทาง เสียงของวงกระหึ่มและมีพลัง ทั้งหวานทั้งเข้มข้น ที่ผมสนใจมากคือกลุ่มเครื่องสายที่บรรเลงได้เป็นอย่างดี เสียงมีความฉ่ำหวานน่าฟังเป็นอันมาก ผมคิดว่าน่าจะเป็นแรงฮึดของนักดนตรีบ้านเราที่ได้เล่นกับยอดฝีมือระดับนี้ จึงต้อง “สู้” กับผู้แสดงเดี่ยวให้ได้ จะเรียกว่าศิลปินสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันก็คงได้
ถัดมาในครึ่งหลัง เป็นบทเพลง Symphony No. 4 in F minor, Op.36 ของปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี้ (Peter Ilyich Tchaikovsky, 1840-1893 : คีตกวีชาวรัสเซีย) ซึ่งก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ผู้ฟังรู้จักกันดี ส่วนตัวผมเองก็เพิ่งได้รับชมไปเมื่อไม่นานนี้โดยการบรรเลงของวงดุริยางค์ราชนาวี ร่วมกับวง Sangrok Orchestra จากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการบรรเลงที่มีคุณภาพสูงมาก ในส่วนของวงบางกอกซิมโฟนีนั้น บรรเลงด้วยความแปลกหูเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาทยกรกำหนดให้พวกเขาเล่นช้าเป็นพิเศษ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความต้องการของวาทยกรที่จะนำเสนอไชคอฟสกี้ในแบบที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย คือเขาพยายามทำให้ไชคอฟสกี้เป็นนักคิดที่สุขุมลึกซึ้ง การจงใจบรรเลงให้ช้าก็น่าจะเพื่อให้เห็นความชัดเจนของทุกเสียงทุกโน้ตที่เขียนเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนที่ 3 ที่เป็นการดีดสาย (pizzicato) ของกลุ่มเครื่องสายทั้งวงนั้นบรรเลงช้ามาก จนผู้ฟังบางท่านมองว่าจงใจช้ามากเกินไปจนเสียรส ซึ่งไชคอฟสกี้นั้นท่านค่อนข้างเป็นคนที่มีความอ่อนไหวและแสดงออกทางอารมณ์สูง หากเป็นเพลงร่าเริงก็ควรจะเติมความมีชีวิตชีวาลงไปด้วย ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ไชคอฟสกี้นั้น แสดงออกทางอารมณ์อย่างพอเหมาะพอเจาะ ไม่ล้นเกินไปจนกลายเป็นสิ่งไร้รสนิยม และก็ไม่สุดโต่งมาแบบการตีความของวาทยกรเมเดียนิคท่านนี้ที่ทำให้ไชคอฟสกี้เป็น academic เสียจนจืดชืดไร้จิตวิญญาณ (ซึ่งผู้ที่ผมคิดว่าทำได้ดีและผู้ฟังหลายๆ ท่านน่าจะคิดตรงกัน คือวาทยกร Hikotaro Yazaki นั่นเอง) โดยส่วนตัวนั้นผมถือว่าเป็นการตีความอีกแบบหนึ่งซึ่งเราอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่สำหรับการบรรเลงของวงนั้น ผมคิดว่าในวันนี้ถือว่า “ท๊อปฟอร์ม” ทั้ง 2 ช่วง ซึ่งแน่นอนว่าในครึ่งแรกบรรเลงร่วมกับนักเดี่ยวเปียโนได้อย่างเข้ากันดี ส่วนในครึ่งหลังนั้น เสียงของวงก็ยังอยู่ในระดับที่ดีมีมาตรฐานสูง เสียงที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษคงไม่พ้นช่วงที่โอโบได้บรรเลงทำนองหลักในกระบวนที่ 2 ซึ่งนักโอโบของเราบรรเลงได้อย่างไพเราะหมดจด (ที่จริงเขาก็ได้เดี่ยวเพลงนี้ท่อนนี้ไปเมื่อคอนเสิร์ตของวงราชนาวี แต่ผมคิดว่าครั้งนี้เขาบรรเลงได้ไพเราะกว่าครั้งนั้นเสียอีก) รวมไปถึงกลุ่มเครื่องลมไม้ทั้งกลุ่ม และกลุ่มเฟรนช์ฮอร์น ที่มีบทบาทโดดเด่นน่าฟังในหลายๆ ช่วง เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องสายที่มีความไพเราะของเสียงในระดับที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
โดยสรุปแล้ว การมาเยือนเมืองไทยของกุกนินแต่ละครั้ง โดยเฉพาะในปีนี้ทั้ง 2 ครั้ง ในรูปแบบการบรรเลงที่แตกต่างกันนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ฟังชาวไทย ที่มีนักดนตรีมือระดับโลกมาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็ได้นำเสนอบทเพลงที่ค่อนข้างจะหาฟังได้ยากในเมืองไทย (ผมเคยเขียนบทวิจารณ์ถึงการแสดงของเขาไว้ 2 ครั้ง สามารถอ่านได้ตามลิงค์นี้ http://172.27.49.39/thaicritic/?p=3054 http://172.27.49.39/thaicritic/?p=2554 ) น่าเป็นห่วงอย่างเดียวคือเมื่อเขาเป็นมือระดับโลกขนาดนี้แล้ว ค่าตัวในการแสดงในครั้งต่อๆไปของเขาจะเพิ่มสูงขึ้นจนผู้จัดในบ้านเราจ่ายไม่ไหวหรือไม่
ในความเห็นของผม ผมคิดว่าวงการดนตรีคลาสสิกของไทยในช่วง 2-3 ปีนี้มีความคึกคักอยู่มาก มีวงดนตรีคลาสสิกรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยที่วงดนตรีหลักในวงการอย่าง RBSO รวมถึง Thailand Philharmonic Orchestra ก็นำเสนอการบรรเลงที่มีคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงศิลปินนักดนตรีรับเชิญที่มีฝีมือจากต่างประเทศ ก็ได้มาเปิดการแสดงและให้ความรู้แก่เยาวชนไทยอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผมรู้สึกว่า แม้ผมไม่เคยได้มีประสบการณ์ในการไปฟังดนตรีถึงต่างประเทศ (โดยเฉพาะที่แหล่งกำเนิดวัฒนธรรมดนตรีตะวันตก) ก็ยังมีโอกาสรับสุนทรียรสจากดนตรีคลาสสิกได้อยู่บ่อยครั้งในเมืองไทยเอง ทั้งนี้ก็เพราะนักดนตรีในบ้านเราก็ยกระดับฝีมือขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเล่นกับนักดนตรีชั้นนำของตะวันตกได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรพัฒนาขึ้นอีกอย่างยิ่งคือการสร้างฐานผู้ฟังให้มีมากขึ้น เพื่อให้นักดนตรีของเราไม่ตกงานและมีความสุขในการสร้างเสียงดนตรีให้แก่ผู้ชมต่อไป