สองเรื่องสองรส : ข้อคิดจากเทศกาลละครกรุงเทพ 2560
สองเรื่องสองรส : ข้อคิดจากเทศกาลละครกรุงเทพ 2560
เจตนา นาควัชระ
เทศกาลละครกรุงเทพ 2560 เปลี่ยนพฤติกรรมของการดูละครของคนรุ่นผมซึ่งเติบโตมากับงานวัดอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสมัยที่จัดที่ถนนพระสุเมรุ ผมรู้สึกว่าเป็นธรรมชาติดี เพราะผันตัวจากการชมละครเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งได้ตามสบายใจ บางครั้งก็ดูจบเรื่องบ้างไม่จบเรื่องบ้าง แต่ไม่รู้สึกเสียรสแต่ประการใด เพราะเคยชินกับขนบของงานวัด มาครั้งนี้ต้องปรับตัวเองเข้าระบบของการแสดงละครที่มีรอบ มีกำหนดเวลาที่ตายตัว การถูกจัดเข้ากรอบก็เป็นการศึกษาอย่างหนึ่งเช่นกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2530 ผมตัดสินใจไปชมละครเพียง 2 เรื่องใน 2 รอบต่อกัน และก็อดชื่นชมผู้จัดไม่ได้ที่รู้จักรักษาเวลา รักษาระเบียบ เพื่อให้คณะละครคณะหนึ่งแสดงจบได้ทันเวลา โดยเอื้อให้ต่อไปได้เตรียมฉากสำหรับรอบต่อจากนั้นให้เรียบร้อย เพื่อนร่วมงานผมบางคนดูมากกว่า 2 เรื่องเสียด้วยซ้ำในวันเดียวกัน ไม่ทราบว่าเขาปรับอารมณ์ได้อย่างไร
ละครเวทีเรื่องแรกที่ผมได้ชมคือ #มันจะพังๆ หน่อย ซึ่งดัดแปลงมาจากต้นฉบับอเมริกันที่ได้รับรางวัล
พูลิเซอร์มาแล้ว เห็นชื่อภาษาไทยแต่แรกก็เริ่มหงุดหงิดแล้วตามประสาของผู้สูงอายุ ดูราวกับว่าต้องการจะเรียกร้องความสนใจด้วยการตั้งชื่อให้น่าตื่นเต้น เพราะถ้ายึดตามต้นฉบับเดิมที่มีชื่อว่า Crimes of the Heart แล้ว ชื่อใหม่ดูราวกับจะไม่ให้ความเคารพต่อต้นฉบับ แต่เมื่อละครเล่นไปได้สัก 10 นาที สิ่งที่ค้างคาใจผมก็อันตรธานไปสิ้นด้วยการแสดงที่ลงตัวอย่างน่าทึ่ง ตัวละครเอกคือสามสาวพี่น้องต่างก็มีชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ กันไป และแต่ละคนก็จัดการกับปัญหาของตัวด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน การหาผู้แสดง 3 คนที่สะท้อนบุคลิกภาพอันแตกต่างกันอย่างนี้ย่อมจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็โชคดีนักหนาที่ผู้กำกับการแสดงเฟ้นหานักแสดงที่ตีบทได้แตก และสร้างบุคลิกภาพให้แก่ตัวละครต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจ สำหรับฝ่ายชายสามคน แม้บทจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นได้มากกว่าตัวประกอบ โดยเฉพาะคุณทนายที่ตอนจบเล่นบทของผู้ตระหนักในจริยธรรมและเลิกล้มความตั้งใจที่จะแก้แค้นสามีที่เลวร้ายของน้องสาวคนสุดท้องไปเสีย เป็นการตั้งประเด็นที่หนักหน่วงด้วยภาษาที่สุดแสนจะธรรมดาได้อย่างซาบซึ้งกินใจ ทำให้ละครสุขนาฏกรรมปรับตัวขึ้นมาเป็นโศกนาฏกรรมขนาดเล็กที่มีความสง่างามได้อย่างคาดไม่ถึง
แต่ใครก็ตามที่ได้ชมการแสดงครั้งนี้ก็คงจะต้องยอมรับว่า นักแสดงจัดได้ว่าอยู่ในระดับที่แสดงได้แคล่วคล่องไม่ขัดเขิน การดำเนินเรื่องและการแสดงลื่นไหลไม่ติดขัด และที่น่าชมเชยก็คือ ทุกคนพูดได้ชัดเจนเหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละตอน ราวกับว่าเรากำลังอยู่ใน “โรงละครแห่งชาติ” ในเมืองใหญ่ในประเทศตะวันตกแห่งใดแห่งหนึ่งก็ไม่ปาน ผู้กำกับการแสดงของไทยย่อมรู้ดีว่า การหานักแสดงที่รู้ว่าตัวบทหมายความว่าอะไร เขากำลังพูดอะไร และสื่อสารได้ชัดเจนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ความจริงผู้กำกับการแสดงไม่ควรออกมาเล่าภายหลังถึง “เบื้องหลังการถ่ายทำ” ในทางเฟซบุ๊กเลย เพราะถ้าไม่บอกก็เดาได้ว่าต้องทำงานหนักกันมาแล้ว สิ่งที่ดึงดูดใจมากก็คือ การใช้อารมณ์ขันเป็นช่วงๆ มิใช่ในฐานะของเครื่องมือในการสร้างความบันเทิง แต่ในฐานะตัวสื่อของการมองชีวิตด้วยวิธีการที่ตรึงคนดูให้คิดคล้อยตามได้ เมื่อไม่ได้เห็นต้นฉบับก็จำต้องเดาเอาว่า เชื้อไฟของศิลปะการละครอันยิ่งใหญ่น่าจะมีอยู่ในต้นฉบับแล้ว แต่ในตอนท้ายเรื่อง เมื่อสามสาวหันมาพินิจชะตากรรมของตัวเองแล้วหัวเราะออกมาพร้อมกันเป็นเวลานานนับนาทีนั้น คนดูที่มีอารมณ์อ่อนไหวก็คงแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ทำอย่างไรเสียงหัวเราะจึงเรียกน้ำตาได้ นั่นคือข้อประกันความสามารถของผู้เขียนบท ผู้แปลงบท ผู้กำกับการแสดง ผู้แสดง และทุกคนที่มีส่วนร่วมในการแสดงครั้งนี้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้ชมจำนวนหนึ่งเหมาเอาว่าเมื่อตัวละครหัวเราะ พวกเขาจำจะต้องหัวเราะตาม ซึ่งก็น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอกาสที่จะได้ชมละครชั้นดีที่เล่นกับอารมณ์อย่างไม่ตรงไปตรงมานั้นอาจจะมีน้อย และคงแทบไม่มีเลยในละครโทรทัศน์ของบ้านเรา
ละครจบลงโดยมิได้ไขปริศนาทั้งหมด ยังมีเรื่องที่ผู้ชมคงจะต้องเก็บกลับไปคิดเป็นการบ้านต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากการแสดงบนเวทีด้วยบทที่ตรึงใจก็คือ พี่น้องสามคนได้พบคำตอบร่วมกันสำหรับปัญหาชีวิตของพวกเขาที่ดูจะแตกต่างกัน และไออุ่นจากความเป็นมนุษย์ที่ผูกพันพวกเขามากกว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือด ดูจะเป็นสิ่งที่ส่งสารที่หนักแน่นมากมายังผู้ดูผู้ชม และก็อาจจะอยู่นอกกรอบของละครที่เราดูกันเป็นส่วนใหญ่ ผมอยากจะมีโอกาสได้ดูละครเวทีในระดับนี้บ่อยครั้งกว่าที่เป็นมา และท่านทั้งหลายที่ยังไม่เข้าใจว่าควรจะหัวเราะตรงไหนจึงจะเหมาะ ก็ควรจะได้ดูละครในลักษณะนี้บ่อยครั้งเช่นกัน
แม้ชื่อละครจะไม่สื่อความเชิงปรัชญา แต่ผมก็คิดว่ามันมีปรัชญาชีวิตที่แฝงอยู่ ซึ่งผู้ดูผู้ชมสามารถสกัดสารนั้นออกมาได้ด้วยตนเอง นับเป็นโชคดีที่ละครเรื่องที่สองที่ผมได้ชมในวันเดียวกันเป็นเรื่อง ไร้ชื่อ (No Name: ซึ่งตามธรรมดาแปลว่า “ไม่มีชื่อเสียง”) ซึ่งเป็นละครแนวปรัชญาที่ นิกร แซ่ตั้ง ถนัดอยู่แล้ว ดังเช่นเรื่อง เกิด-ดับ ซึ่งผมได้ชมในปี 2554 และได้เขียนวิจารณ์ไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย) วันที่ 4 มกราคม 2555 ครั้งนี้ผู้เขียนบทตั้งใจจะสร้าง “ละครพอเพียง” โดยใช้ตัวแสดงเพียง 2 คน และฉากที่ใช้ก็มีลักษณะเป็นศิลปะจัดวาง (installation) โดยนำเสื้อผ้าจำนวนมากมากองไว้เต็มเวที และมีกระเป๋าเดินทางวางอยู่ ชวนให้คิดตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางอย่างแน่นอน และเมื่อเรื่องดำเนินไปก็เป็นจริงดังที่คาดไว้ แต่เป็นการเดินทางที่มีนัยเชิงปรัชญา นั่นคือ การเดินทางไปสู่ปรโลก วิธีการเล่าเรื่องเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยเป็นการเล่าเรื่องของการจากไปที่ละคนของผู้อาวุโสในครอบครัว ซึ่งนิกรทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง (narrator) ด้วยตัวเอง ในขณะที่ธา เบบี้ไมม์ เป็นผู้ร่วมสนทนาและใช้ความสามารถในการแสดงละครใบ้เข้ามาเสริมเรื่องเป็นตอนๆ ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ผู้ชมก็คงตั้งคำถามตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเสื้อผ้ากองใหญ่กับกระเป๋าเดินทางที่ตั้งรอไว้นั้น และในตอนจบ ผู้แสดงทั้งสองก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมจากทางบ้านมาเป็นอย่างดีด้วยการพับเสื้อผ้าได้อย่างเรียบสุดๆ ก่อนที่จะบรรจุลงในกระเป๋าเดินทางด้วยความลงตัวอีกเช่นกัน ราวกับจะบอกว่า คนกลุ่มนี้ถ้าจะไปถึงจุดจบ เขาก็คงเตรียมตัวไว้พร้อมแล้วที่จะเดินทางครั้งสุดท้าย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาทั้งสองคิดเป็นปรัชญาอยู่ตลอดเวลา และดูจะไม่หวั่นไหวกับเรื่องของวัฏสงสาร
ผมมีความเชื่อว่าการคิดเป็นละครของนิกรนั้น แม้พื้นฐานจะมีลักษณะเป็นนามธรรม แต่ความเป็นละครก็อยู่ได้ด้วยรูปธรรม การใช้วัสดุอันเรียบง่าย อันได้แก่เก้าอี้ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบุคคลที่ผู้เล่าเรื่องกล่าวถึง การใช้เสื้อผ้าที่บ่งบอกบุคลิกภาพของบุคคล การใช้เรื่องของการเดินทางในการบ่งชี้เส้นทางและจุดจบของชีวิต ทำได้อย่างประทับใจ แต่ในท้ายที่สุด ผู้ดูผู้ชมก็คงจะต้องถามตัวเองว่า ละครเรื่องนี้ราบเรียบเกินไปหรือไม่ เพราะไม่มีจุดเน้นที่จะดึงดูดความสนใจเป็นพิเศษเลย ซึ่งต่างจาก เกิด-ดับ ที่ใช้ความเป็นละครในหลากลักษณะ ทั้งในการใช้ทวิวัจน์ (dialogue) และการแสดงเชิงกายภาพ (physical action) วาทกรรมเชิงปรัชญาก็ดำเนินไปด้วยบทสนทนาซึ่งเป็นภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ภาษาในระดับดังกล่าวเพียงพอหรือที่จะดึงดูดความสนใจ ถ้าเป็นมหากวีเชกสเปียร์เป็นผู้เขียน บทละครเรื่องนี้คงได้รับการหนุนด้วยภาษาที่อยู่สูงกว่าระดับของภาษาพูดประจำวัน คือเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ และกลเม็ดเด็ดพรายที่ยกระดับขึ้นสู่กวีนิพนธ์เชิงปรัชญา ถ้าเป็นแบร์ทอล์ท เบรคชท์ (Bertolt Brecht) เขาก็คงจะตั้งเป็นประเด็นให้เราต้องขบคิด และย่อมจะรู้จักที่จะสร้างการแสดงที่หลอมประเด็นนั้นให้เป็นรูปธรรม เช่น ประเด็นที่ว่าด้วยความผูกพันทางสายเลือดมีความสำคัญน้อยกว่าความผูกพันที่มาจากความรักของแม่(เลี้ยง)ในละคร วงกลมคอเคเชียน ซึ่งแม้จะมิได้ใช้ภาษากวีแบบเชกสเปียร์ แต่สิ่งที่เราเห็นบนเวที คือการที่แม่จริงกับแม่เลี้ยงถูกกำหนดให้แย่งลูกกันใน “วงกลม” สามารถที่จะทำให้เราตื้นตันใจได้ด้วยอารมณ์ที่เปี่ยมล้น นิกรเองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ใน เกิด-ดับ ว่า ละครต้องมีองค์ประกอบที่มากกว่าการสนทนาแบบพื้นๆ ในชีวิตประจำวัน
ผมไม่คิดว่าการสร้างจุดสนใจจะมีวิธีการที่ตายตัว ผู้เขียนบทและนักแสดงแต่ละคนก็ย่อมจะหาทางออกที่เป็นของตัวเองได้ ประเด็นที่ผมคิดว่านิกรมองข้ามไปในครั้งนี้ก็คือ ความเป็นธรรมดาสามัญโดยปราศจากการเบี่ยงเบนไปจากสภาพดังกล่าวนั้น จะทำให้ละครน่าสนใจได้ละหรือ การปรุงแต่งมิใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ไม่ว่านักแสดงจะเก่งกาจเพียงใด ถ้าปราศจากจุดเน้นที่ตรึงคนดูได้ การแสดงนั้นก็ยอมจะกลายเป็นสิ่งที่ “จืด” ไปได้ แม้แต่นักปรัชญาที่ใช้ความเรียงเป็นสื่อ เช่น อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ก็ยังพร้อมที่จะหันไปหาวิธีการทางวรรณศิลป์อยู่เป็นครั้งคราว ผมกำลังรอละครเชิงปรัชญาเรื่องต่อไปของนิกรที่มีความลึกซึ้งทางความคิดและความเฉียบคมในทางภาษา
ขอจบด้วยการอ้างข้อคิดของผู้กำกับการแสดงเอกชาวอังกฤษ เซอร์ ปีเตอร์ ฮอลล์ (Sir Peter Hall) อดีตผู้อำนวยการโรงละครแห่งชาติ และโรงละครเชกสเปียร์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเพิ่งจะถึงแก่กรรมไปในปีนี้ว่า “ผมเชื่อว่า ละครเริ่มต้นด้วยคำพูด แน่นอนที่สุด เพราะว่าถ้าไม่มีคำพูด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างองค์ประกอบอื่นๆ ของละครขึ้นมา ถ้าละครมีแต่คำพูด มันก็เป็นแค่วรรณกรรมที่น่าเบื่อ ไร้พลัง กลายเป็นวิชาการแห้งๆ ไป”
เราจะหาทางสายกลางที่ทำให้ละครแห่งความคิดมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้หรือไม่